“ยืดอก พกถุง”

วลีนี้เป็นคำขวัญที่ใช้รณรงค์กันมานานอาจร่วมสิบปีแล้วด้วยซ้ำ ถุงยางอนามัยคือหัวใจสำคัญในการลดความเสี่ยงต่างๆ จากการมีเพศสัมพันธ์ทั้งการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมและเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่จนถึงปัจจุบันการใช้ถุงยางอนามัยยังคงไปไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะในวัยรุ่น ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยเรื่องการถูกตีตราเรื่องการมีเซ็กซ์ จนถึงทัศนคติต่อการใช้ถุงยางอนามัย

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาสังคมไทยได้มีบทสนทนาเรื่อง HIV และการใช้-ไม่ใช้ถุงยางอนามัยกันอย่างเผ็ดร้อน ซึ่งแม้เราจะมียา PrEP มียาต้านที่กินสม่ำเสมอจน U=U แต่แพทย์หลายคนก็ออกมายืนยันว่าถุงยางอนามัยก็ยังคงเป็นวิธีที่ลดความเสี่ยงได้มากที่สุด พ.ญ.มณฑิณี วสันติอุปโภคากร รองผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันในประเทศไทยยังพบผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่ 5,000-6,000 ราย ซึ่งเราต้องยุติให้เหลือจำนวนน้อยกว่า 1,000 รายต่อปีให้ได้ใน 10 ปีนี้ แนวทางหนึ่งคือต้องรณรงค์เรื่องการใช้ถุงยางอนามัยให้เป็นเรื่องปกติ ให้เป็นวัสดุที่คุ้นชินกับการพกไปไหนมาไหน

 “ภาคีเครือข่ายที่จัดทำยุทธศาสตร์ด้านถุงยางอนามัยระบุว่าจากผลสำรวจในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มีอัตราการใช้ถุงยางต่ำลง ถ้าสำรวจวัยรุ่นทุกคนคาดว่าน่าจะใช้อยู่แค่ 45% ทำให้เกิดแนวโน้มติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าตัวนับจากปี พ.ศ.2558  มากที่สุดคือหนองในที่ติดเพิ่มขึ้น 69.7%  ซิฟิลิสก็เพิ่มขึ้นมาก ในวัยรุ่นเรียกว่า 124 คนต่อแสนประชากร หรือ 14 คนต่อวัน  อีกทั้งการไม่ใช้ถุงยางอนามัยในวัยรุ่นยังนำไปสู่การตั้งครรภ์ ซึ่งมีการประเมินว่า วัยรุ่นที่คลอดลูกคือ 190 คนต่อวัน หรือ 3 คนต่อจังหวัด นี่เฉพาะการคลอด ยังไม่นับการทำแท้ง”

“ยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยที่สำคัญคือ การส่งเสริมการใช้ในประชาชนทั่วไป และกำหนดให้ถุงยางอนามัยมีราคาเหมาะกับทุกกลุ่มประชากร ซึ่งปัจจุบันภาครัฐและเอ็นจีโอก็สนับสนุน แต่การสนับสนุนยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีช่องว่างที่ทำให้ถุงยางอนามัยเข้าไม่ถึงบางกลุ่มประชากร ตามที่เราเคยทำสำรวจ คือต้องมีถุงยาง 105 ล้านชิ้นต่อปีจึงจะเพียงพอต่อปริมาณการใช้งาน แต่ที่เราได้จากภาคต่างๆ รวมถึงที่ภาคีต่างชาติสนับสนุน มีการใช้ถุงยางอนามัยตกอยู่ที่ 70 ล้านชิ้นต่อปี”

องค์กรต่างๆ เล็งเห็นปัญหาเรื่องนี้ จึงมีการจับมือร่วมกันทำรณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัย โดยครั้งนี้เป็นการจับมือร่วมกันระหว่างองค์กรอาทิ Aids Healthcare foundation ( AHF ) Thailand, กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส.),  กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ แอพพลิเคชั่นบลูดี จัดอบรมเยาวชนเกี่ยวกับความสำคัญของการใช้ถุงยางอนามัย และให้จัดทำคลิปวีดิโอสั้นเพื่อรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัยในชื่อโครงการ สวมโลกใบใหม่ให้ condom  

โดยมีเยาวชนผ่านการฝึกอบรมทั้งสิ้น 42 ทีม และประกวดคลิปวีดิโอในเทศกาลวันแห่งความรัก วันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร จากนั้นจะนำคลิปวีดิโอเผยแพร่ทางช่องทางต่างๆ ขององค์กรภาคีผู้จัดงานต่อไป  การกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการใช้ถุงยางอนามัย พร้อมทั้งส่งสารให้สังคมลดการตีตราเยาวชนที่พกถุงยางอนามัย จากที่มองว่าพวกเขา “มีเพศสัมพันธ์ในขณะที่ยังรับผิดชอบตัวเองไม่ได้” ให้เปลี่ยนเป็นความเข้าใจว่า “การมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องความต้องการตามธรรมชาติ” และการใช้ถุงยางอนามัยคือความรับผิดชอบต่อตัวเอง ครอบครัว และสังคม โดยโครงการนี้สนับสนุนให้เยาวชนส่งเสียงไปถึงสังคมที่อยู่รอบข้างพวกเขาเอง

ผู้หญิงกับถุงยางอนามัย

เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการอบรม สวมโลกใบใหม่ให้ condom มีตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ในทั้ง 42 คลิปวีดิโอความยาว 1 นาทีที่ผ่านการอบรม และผลิตออกมา ต่างก็สะท้อนแนวคิดที่แตกต่างกันไป ภายใต้หลักใหญ่ใจความคือ “วัยรุ่นพกถุงยางอนามัยเป็นเรื่องปกติธรรมดา” ไปจนถึงการสร้างภาพลักษณ์ว่า ถุงยางคือสิ่งที่พกแล้วสามารถภูมิใจที่ได้รับผิดชอบต่อการมีเพศสัมพันธ์ และยังเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยด้วย ในงานยังมีการจัดนิทรรศการเสริมคือการออกแบบแพ็คเกจจิ้งสำหรับบรรจุถุงยางอนามัยอีกชั้นหนึ่งให้ดูเป็นแฟชั่นหรือดีไซน์ที่น่าพกพา  โดยมีศิลปินและคนดังมาออกแบบแพคเกจลวดลายต่างๆ ด้วย

ทางด้านผลงานของผู้เข้าร่วมโครงการ เสียงสะท้อนที่น่าสนใจของเยาวชนผ่านคลิปวีดิโอเหล่านั้นคือ เกือบครึ่งของคลิปวีดิโอที่ประกวด พบว่า เป็นคลิปวีดิโอที่ผู้หญิงเองเป็นฝ่ายพูด รณรงค์เรื่องการพกถุงยาง นัยว่า “ผู้ชายไม่พกเราพกเอง”  ซึ่งคัดง้างกับความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กดผู้หญิงไว้อย่างวาทกรรม ‘รักนวลสงวนตัว’ หรือ ‘สุภาษิตสอนหญิง’ ของกวีเอกสุนทรภู่ที่ยังคงส่งต่อความคิดจากยุคเก่ามาถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการกดทับเรื่องความต้องการทางเพศของผู้หญิง ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่นกรณีที่มีการรณรงค์ให้ยุติลงให้ได้คือเรื่องการขลิบอวัยวะเพศหญิงในพื้นที่แถบแอฟริกา-ตะวันออกกลางที่มีธรรมเนียมตัดคลิตอริสของผู้หญิงออกเพื่อไม่ให้เธอมีอารมณ์ทางเพศ

อีกมิติหนึ่ง การที่ผู้หญิงลุกขึ้นมาพูดเองนับเป็นการ ‘เพิ่มอำนาจ’ บนเตียง จากที่เดิมเรามักจะเห็นการรณรงค์ทำนองว่าผู้พกถุงยางคือผู้ชาย (ยืดอก เองก็เป็นกริยาที่สื่อถึงเพศชายมากกว่าเพศหญิง) นั่นคือความหมายแฝงของการเป็นผู้เลือกว่าจะใช้หรือไม่ใช้ แต่คราวนี้ผู้หญิงจะเป็นผู้เลือกไปพร้อมๆ กัน ทั้งยังสามารถเป็นผู้ตั้ง ‘เงื่อนไขของความยินยอมพร้อมใจ’ ไม่ใช่ติดอยู่กับบทบาทการเป็นผู้ถูกกระทำเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ไม่ว่าเพศไหนก็มีบทบาทหน้าที่ในการแสดงความรับผิดชอบในเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกัน

เสียงสะท้อนที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่งของเยาวชนก็คือ “พ่อแม่ผู้ปกครองเองก็ควรจะยอมรับ” ไม่ใช่ตีตราเมื่อเห็นบุตรหลานตัวเองพกถุงยาง ซึ่งนับเป็นอีกโจทย์ที่ยากเมื่อความแตกต่างระหว่างวัยก็ทำให้เกิดความแตกต่างทางความคิดเกี่ยวกับเรื่องศีลธรรมหรือสิทธิในร่างกาย และไม่เพียงแต่พ่อแม่ผู้ปกครอง แต่ในสถานศึกษาก็ควรสร้างความหมายใหม่ของการพกถุงยางอนามัยเสียใหม่เช่นกัน เหล่านี้ เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อภาคีที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในการทำสื่อสารรณรงค์ หรือสร้างบุคลากรที่เยาวชนสามารถพูดคุยปัญหาได้ทุกเรื่อง 

อย่างไรก็ตามในฐานะผู้เข้าชม ก็ต้องยอมรับว่าบางคลิปวีดิโอที่พูดถึงกรณีที่ครอบครัวยอมรับการพกถุงยางหลายๆ คลิปก็ยังเรียกว่า ‘โลกสวย’ เช่นการเน้นเสนอภาพของครอบครัวที่ยอมรับโดยสิ้นข้อสงสัยมากกว่าจะเป็นภาพของครอบครัวที่มีการปฏิสังสรรค์ทางความคิดกัน

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคลิปวีดิโอที่สะท้อนภาพโศกนาฏกรรมอยู่ด้วย เช่นมีคลิปของทีมที่ผู้ปกครองต้องสูญเสียลูกสาวไป (ซึ่งไม่แน่ชัดว่าด้วยเหตุแห่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือการทำแท้ง) เพราะไม่รับการให้ลูกสาวพกถุงยาง หรือคลิปที่เพื่อนผู้หญิงพูดกันว่า “ถ้าตอนนั้นพกถุงยางก็คงไม่ติดโรค”  ซึ่งก็น่าจะเพิ่มการเน้นย้ำตรงนี้ให้สารแข็งแรงขึ้น บางครั้งสารที่แรง หรือกระแทกด้วยอวัจนภาษาก็อาจมีพลังมากกว่าสารที่พยายายามใช้คำพูดว่า“การพกถุงยางมันเป็นเรื่องปกติ” แต่ควรบ่งชี้ถึงโทษของการไม่ยอมรับการใช้ถุงยางให้ชัดไปเลย

สิ่งที่มากกว่าแค่เพื่อวัยรุ่นในเมือง

สารจากคลิปวีดิโอที่ทำมาในหลายๆ ชุดอาจต้องการสื่อสารให้วัยรุ่นพกถุงยางโดยตรง แต่ก็มีวัยรุ่นที่คิดกว้างกว่ากรอบ อย่างการสื่อสารเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มักจะพูดกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนในสังคมเมือง เพราะสามารถเข้าถึงสื่อได้ง่าย เข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่าย แต่ก็มีบางกลุ่มที่ทำคลิปวีดิโอที่พูดถึงความสำคัญของถุงยางกับคนจน หรือคนที่ไม่ใช่กลุ่มในสังคมเมือง ในทำนองว่า ถุงยางมีความจำเป็นต่อเรื่องการวางแผนครอบครัว มันต้องพูดกับคนทุกระดับ (และแน่นอนว่า ควรจะพูดด้วยว่าเขาสามารถหาสวัสดิการถุงยางอนามัยฟรีเหล่านี้ได้จากที่ไหน)  

แม้กระทั่งเรื่องของวัย เรื่องของพ่อแม่ การใช้ถุงยางอนามัยของคนที่มีครอบครัวแล้วก็มีความสำคัญในแง่ของการป้องกันโรคติดต่อที่สามีสามารถส่งต่อเชื้อให้ภรรยาได้ หรือการใช้ถุงยางในกลุ่มผู้ใหญ่วัยกลางคน ก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการช่วยลดอัตราการติดเชื้อ HPV ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นมะเร็งที่มีปัญหาอย่างมากต่อสุขภาวะหญิงไทย

ในส่วนของกลุ่ม LGBT ก็มีคลิปวีดิโอที่พูดถึงการใช้ถุงยางอนามัยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งในกลุ่มเกย์ ขณะนี้กระแสการใช้ยา PrEP และเรื่อง U=U กำลังถูกพูดถึงอยู่มาก แต่มันก็มี ‘ระหว่างบรรทัด’ ที่คงจะอธิบายความผ่านคลิปวีดิโอความยาวแค่ 1 นาทีไม่พอ เรื่องการใช้ยา PrEP นั้น เอ็นจีโอหลายองค์กรแจกฟรีได้ ประเทศไทยได้รับงบสนับสนุนจากโครงการต่างประเทศเช่น UNSAIDS , PEPFA หรือโครงการ Princess PrEP ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และกำลังจะบรรจุเป็นสิทธิ์นำร่องของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในปี พ.ศ. 2563 นี้ แต่ก็นำร่องแค่เพียงไม่กี่โรงพยาบาล และแจกจ่ายไม่กี่กระปุก และ PrEP ป้องกันเฉพาะ HIV

การใช้ยา PrEP ได้รับการยืนยันว่า สามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้เกิน 90% แต่เงื่อนไขในการใช้ยาก็คือการต้องตรวจเลือดก่อนรับยา และต้องติดตามผลเลือดตลอดเพื่อเชคค่าไตและโอกาสติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ซึ่งก็ไม่แน่ว่า การที่พบสถิติหนองในและซิฟิลิสเพิ่มมากขึ้น บางคนติดซ้ำติดซ้อน เพราะไปใช้ PrEP แล้วมีเพศสัมพันธ์แบบสด คือไปตรวจพบในตอนติดตามผลเลือดหรือไม่ หรือหากใช้แต่ไม่ยอมมาติดตามผลเลือด อาจติดซิฟิลิสแฝงจนกว่าจะรู้ตัวก็แสดงอาการ อาจต้องมีการสร้างความหมายว่า PrEP เป็นแค่ตัวเสริมในส่วนที่ถุงยางอนามัยอาจไม่ครอบคลุม เช่น การทำออรัลเซ็กซ์ หรือการที่น้ำอสุจิเข้าตาซึ่งเป็นเนื้อเยื่ออ่อนซึ่งเสี่ยงต่อการติด HIV 

ทางกระทรวงสาธารณสุขยังยืนยันแนวทาง daily PrEP คือต้องมีวินัย กินทุกวันตรงเวลา ในกรณีผู้ที่มีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้ง ( กินกว่า 2 ครั้งต่อ 1 สัปดาห์) แต่มีการพูดถึงเรื่อง PrEP on Demand คือ ‘PrEP ฉุกเฉิน’ ที่ยังถกเถียงกันว่าควรแนะนำหรือไม่ เพราะอัตราการป้องกันจะลดลง การใช้ PrEP on Demand คือการกินยา 2 เม็ดอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนมีเพศสัมพันธ์ และนับไปอีก 24 ชั่วโมงกินอีก 1 เม็ด นับต่อไปอีก 24 ชั่วโมงกินอีก 1 เม็ด แต่ถ้าระหว่างอยู่ในช่วง on Demand แล้วมีเพศสัมพันธ์อีก ก็ต้องกินต่อไปอีก 24 ชั่วโมงต่อ 1 เม็ด 2 ครั้ง กล่าวคือ “ต้องกินอีก 2 เม็ดหลังมีเพศสัมพันธ์ล่าสุด” ซึ่งบางคนก็ยังไม่รู้ตรงนี้ และอาจไม่ตระหนักด้วยซ้ำว่า การกิน PrEP on Demand นั้นก็ต้องตรวจเลือดก่อน กระทั่งหากผ่านภาวะเสี่ยงมา จะขอรับ PEP คือยาป้องกันฉุกเฉินใน 72 ชั่วโมงก็ต้องตรวจเลือดก่อน  

กระทั่งเรื่อง U=U เอง ก็ยังมีคนเข้าใจผิดๆ ว่า เมื่อรับยาต้านถึงจุดหนึ่งแล้วจะมีภาวะเลือดเป็น undetectable ตลอดไป และหยุดยาต้าน ซึ่งทำให้ค่า viral load สูงขึ้นจนกลับมาแพร่เชื้อได้ ยิ่งมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกัน ก็ยิ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเชื้อแล้วเชื้อดื้อยา ต้องใช้ยาสูตรแพงขึ้นไปอีก หรือติดโรคอื่นมาเพิ่ม ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาก็สูงเพิ่มขึ้น แม้จะได้สิทธิบัตรทองหรือประกันสังคมก็ทำให้เป็นภาระของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องเพิ่มเงินรักษา และเรื่อง U=U เป็นกุศโลบายเพื่อให้เลิกตีตราผู้ติดเชื้อ ใช้กับผู้ติดเชื้อที่ไม่เปลี่ยนคู่ เป็นคู่รักผลเลือดต่างเท่านั้น ไม่ใช่ ‘ใบอนุญาตให้สดกับใครก็ได้’ 

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าพูดถึงคือการใช้ PrEP นั้น องค์กรระหว่างประเทศที่สนับสนุนมักจะแจกจ่ายเฉพาะกลุ่มเกย์ เพราะถือเป็นกลุ่มความเสี่ยงสูง ขณะที่ผู้หญิงแทบจะไม่มีการพูดถึงการรณรงค์ให้ใช้ PrEP  เพราะไม่ถูกประเมินเป็นกลุ่มเสี่ยง ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้หญิงก็เสี่ยง ผู้หญิงมีคู่นอนได้ทั้งแบบไม่เปลี่ยนคู่ (ซึ่งคู่นอนก็นำเชื้อมาแพร่ให้ได้) และมีคู่นอนได้ตามความพอใจเช่นกันในยุคสมัยนี้ เงื่อนไขการใช้ PrEP ของชายและหญิงต่างกันตรงระยะเวลาคงค่ายาให้เสถียรในเลือด ผู้ชายสามารถกิน PrEP ก่อนล่วงหน้าก่อนมีเซ็กซ์ได้ 7 วัน แต่ผู้หญิง 21 วัน ความรู้หรือสิทธิ์เกี่ยวกับ PrEP ของผู้หญิงยังไม่แพร่หลาย แม้กระทั่งการรณรงค์ของภาคเอ็นจีโอต่างๆ ก็เลือกใช้เกย์หรือนายแบบ ไม่ค่อยพูดถึงผู้หญิง ที่มีโอกาสติด HIV ได้เช่นกัน

จากที่กล่าวมา ก็หวังว่าจะทำให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยตระหนักถึงการป้องกันตัวจากความเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น และ ณ ปัจจุบันนี้ ถุงยางอนามัยยังคงเป็นคำตอบที่ปลอดภัยที่สุด