4 ตุลาคม 2562 กระสุนปืนหนึ่งนัดที่ลั่นขึ้นในห้องพิจารณาของศาลจังหวัดยะลา เรียกความสนใจของประชาชนส่วนหนึ่งให้จับตาไปยังการทำงานสถาบันตุลาการ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

แถลงการณ์ 25 หน้า ในคดีที่จำเลยห้าคนถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เขียนโดยคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาที่ใช้อาวุธปืนยิงตนเองในห้องพิจารณาคดีหลังอ่านคำพิพากษา เพื่อระบายความคับข้องใจเรื่องการตรวจร่างคำพิพากษาศาลชั้นต้นก่อนอ่านให้คู่ความฟัง การแก้ไขถ้อยคำในคำพิพากษาของผู้พิพากษาจนแทบไม่เหลือสำนวนเดิม และการถูกสั่งให้ลงโทษจำเลยในคดีที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเห็นว่าพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ทำให้เราตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และการใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้

“คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน” คือข้อเรียกร้องในแถลงการณ์ และเป็นชื่องานเสวนาที่สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดขึ้นเพื่อพูดคุยต่อจากประเด็นในแถลงการณ์ของผู้พิพากษาคณากร เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562

คำถามที่น่าสนใจ คือ หรือผู้พิพากษาของเราไม่มีคุณภาพ จึงมีระบบที่ยอมให้อธิบดีผู้พิพากษาตรวจสำนวนและร่างคำพิพากษา?

ตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกาและการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ. 2562 ระบุให้ผู้พิพากษาต้องส่งสำนวนและร่างคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจ ในประเภทคดีตามที่ระบุไว้ในระเบียบ เพื่อรักษาแนวบรรทัดฐานของคำพิพากษาหรือคำสั่ง และให้การใช้ดุลพินิจของศาลเป็นไปโดยถูกต้องในแนวทางเดียวกัน ในกรณีที่แตกต่างไปจากแนวบรรทัดฐาน ควรมีเหตุผลพิเศษ และแสดงเหตุผลไว้ในร่างคำพิพากษานั้นด้วย

คุณภาพกับความเป็นอิสระ

รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงประเด็นในแถลงการณ์ของคณากรว่า ประเด็นแรกที่ต้องพูดคุย คือ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา เวลาเราคุยหรือสอนกันเรื่องนี้ เรามักจะพูดถึงความเป็นอิสระจากฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร แต่เรื่องที่เกิดขึ้น กรณีคณากรไม่ใช่ความผิดปกติ แต่เป็นเทรนด์โลกในช่วงหลัง แม้แต่ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปก็เพิ่งมาสนใจว่า ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาภายในศาลด้วยกันเองก็เป็นเรื่องสำคัญ การที่ผู้พิพากษาไม่สามารถเป็นอิสระจากผู้พิพากษาผู้ใหญ่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคู่ความ เทรนด์นี้เพิ่งเริ่มประมาณปี 1980

อย่างไรก็ตาม การกล่าวเช่นนี้ของรณกรณ์ไม่ได้หมายความว่า ระบบพระธรรมนูญของศาลยุติธรรมไทย หรือคำสั่งที่ให้มีการทบทวนคำพิพากษาในประเทศไทยได้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะการทบทวนคำพิพากษาที่จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต้องประกอบด้วย 1. เป็นการทบทวนแบบสั่งการ 2. ผู้สั่งการมีอำนาจให้คุณให้โทษ และ 3. ทบทวนคำพิพากษาในข้อเท็จจริง

“ในประเทศไทย ตามระบบแล้วอธิบดีศาล อธิบดีภาค ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษ การจะย้าย จะขึ้นเงินเดือน จะตั้งเรื่องสอบวินัย เป็นเรื่องของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) นี่คือหลักการตามกฎหมาย แต่ที่คดีนี้น่าสนใจ เพราะมีแชทที่คณากรอ้างว่า ตนเองถูกข่มขู่ว่าจะย้ายออกนอกพื้นที่ถ้าไม่ตัดสินตามความเห็นแย้ง นี่ถือเป็นอีกเรื่องและต้องพิจารณาแยกกันเป็นส่วนๆ ส่วนตัวระบบกฎหมายไม่ได้ขัดต่อสิทธิมนุษยชนด้วยตัวของมันเอง เว้นแต่มีการเปิดช่อง หรือใช้อำนาจเป็นรายกรณีนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าผมเห็นด้วยกับระบบปัจจุบัน” อาจารย์นิติศาสตร์ขยายความ

รณกรณ์ชี้ว่า ระบบปัจจุบันที่ปล่อยให้ผู้พิพากษาผู้ใหญ่มาทบทวนคำพิพากษา แสดงให้เห็นจุดอ่อนของระบบศาล 2 ประเด็น คือ หนึ่ง แสดงถึงความไม่เชื่อใจที่ผู้พิพากษาอาวุโสมีต่อผู้พิพากษาที่อาวุโสน้อยกว่า แต่กรณีของคณากรซึ่งอาวุโสน้อยกว่า ก็เป็นผู้พิพากษามาแล้ว 17 ปี 

“เรายังไม่สามารถเชื่อใจผู้พิพากษาที่ทำงานมา 17 ปีได้หรือครับ? ถ้าเรายังไม่สามารถเชื่อใจผู้พิพากษาที่ทำงานมา 17 ปีได้ ระบบยุติธรรมไทยมีปัญหาแล้วครับ เพราะนั่นแปลว่า ประชาชน จำเลย คู่ความ ถูกทำให้เสี่ยงที่จะถูกพิพากษาโดยคนไร้ความสามารถ ไร้คุณสมบัติ ขาดวิจารณญาณที่เหมาะสมในการพิพากษา แสดงว่าเรายังเห็นว่ามันเป็นส่วนใหญ่จึงต้องทบทวนคำพิพากษา หากจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนคือตรงจุดนี้ เรายังไม่มีผู้พิพากษาที่ดีพอใช่หรือไม่ ถึงต้องมีระบบนี้อยู่?” รณกรณ์ตั้งคำถาม

รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ อธิบายว่า ระบบนี้เคยถูกยกเลิกช่วงสั้นๆ ประมาณ 3-4 ปี หลังมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ผลคือคำพิพากษาศาลชั้นต้นถูกกลับระเนระนาด นี่อาจจะเป็นตัวชี้วัดหนึ่งว่าผู้พิพากษาศาลชั้นต้นของเรามีปัญหาบางอย่าง

อีกประเด็นที่รณกรณ์คิดว่าเป็นปัญหา คือ เราอาจมีผู้พิพากษาที่เคารพ กราบไหว้ได้สนิทใจ แต่ไม่ใช่ทุกท่านที่เรารู้สึกได้แบบนั้น เช่น เราเชื่อว่าในกรณีที่ท่านอาจารย์สมลักษณ์ จัดกระบวนพล จะต้องทำความเห็นแย้ง ท่านจะไม่สั่ง ท่านจะไม่บังคับ ท่านจะไม่ขู่เข็ญ นี่คือความรู้สึกแบบอัตวิสัย ความเป็นอิสระของศาลไม่ใช่เพียงอัตวิสัยว่าตนเองไม่มีข้อรังเกียจ ไม่มีปัญหากับคู่ความ หรือทำตัวเป็นที่น่าเคารพในภาพรวมทั่วไปเท่านั้น แต่ต้องเป็นอิสระในเชิงภววิสัยด้วย หมายความว่า ไม่ว่าใครมองระบบนี้แล้วต้องสิ้นสงสัยทันทีว่าศาลจะไม่ถูกแทรกแซงใดๆ

“ถามตนเองได้ครับว่าเราสิ้นข้อสงสัยหมดจดหรือไม่ว่า คำพิพากษานั้นจะถูกต้องเที่ยงธรรม ทำไมคนที่ไม่ได้นั่งพิจารณาคดี ทำไมคนที่ไม่เห็นอากัปกริยาของจำเลยจึงสามารถมีดุลพินิจ มีวิจารณญาณได้ดีกว่าคนที่พิจารณาคดีด้วยตนเอง อย่าลืมนะครับ ระบบทบทวนคำพิพากษาของศาลไทยที่ใช้ในปัจจุบันไม่ได้อนุญาตให้ทบทวนแค่ข้อกฎหมาย ไม่เหมือนในต่างประเทศ ที่ไม่ว่าศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะไม่กลับข้อเท็จจริง หากอยากกลับข้อเท็จจริงต้องพิจารณาคดีใหม่ ข้อยืนยัน คือ คดีเมื่อปี 2017 ที่ประเทศอังกฤษ นอกจากเราจะอนุญาตศาลสูงให้กลับข้อเท็จจริง เรายังอนุญาตให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคบอกว่า ฉันอ่านรายงานของเธอแล้ว ฉันคิดว่าข้อเท็จจริงน่าจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง คนที่เห็นพยานหลักฐานเอง คนที่ซักถามพยานเองบอกว่า ผมคิดว่าพยานต่างๆ ที่นำมาปรักปรำจำเลยไม่น่าเชื่อ ผมคิดว่าควรยกฟ้อง แต่ระบบของเรากลับยอมให้คนที่เพียงอ่านตัวอักษร แม้จะมีบันทึกกิริยากระสับกระส่าย กระวนกระวาย แต่ไม่ได้เห็นเอง มาทบทวนคำพิพากษาได้อย่างไร ระบบต่างประเทศบันทึกเสียง บางมลรัฐในสหรัฐอเมริกาบันทึกภาพ เขายังไม่ให้กลับข้อเท็จจริงเลย เราอ่านแค่ตัวอักษรแต่กลับเก่งมากๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เคยทำข้อเสนอไปแล้วว่าควรจะต้องแก้ระบบเหล่านี้

“ต่อให้ผมเชื่อว่าอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ท่านเป็นคนดี แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าอธิบดีผู้พิพากษาภาคอื่นๆ จะไม่เป็นแบบนี้ เพราะเราปล่อยให้มีระบบแบบนี้” รณกรณ์กล่าว

หากไม่เห็นด้วย และคิดว่าไม่ควรเลิกการทบทวนคำพิพากษาภายในศาล อาจารย์นิติศาสตร์กล่าวว่าตนยอมถอยครึ่งก้าว คือ หากจะมีการทบทวน ขอให้ทบทวนเฉพาะข้อกฎหมาย ไม่ทบทวนข้อเท็จจริง และหากจะมีการทบทวนและมีความเห็นแย้ง ควรทำเป็นความเห็นแย้งมาเลย 

“ผมไม่ได้บอกว่าท่านอธิบดีทำผิด เพราะระเบียบเปิดช่องให้มีการหารือกันก่อน กรณีนี้หรือทุกกรณี การทำคำพิพากษามีการหารือกับผู้พิพากษาระดับหัวหน้า ระดับรองอธิบดี ระดับอธิบดี และเราเรียกเขาว่าอาจารย์ เรียกด้วยความเคารพ มีคำแนะนำว่าควรจะแก้คำนั้น ไม่ควรจะแก้คำนี้ ควรจะพิพากษาในลักษณะนั้น ควรรับฟังพยานหลักฐานนี้ ถ้าเราอยากให้โปร่งใส ควรเขียนคำพิพากษาเป็นความเห็นแย้งมาเลย ในอังกฤษ ความเห็นแย้งเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในคำพิพากษา ไม่เห็นด้วยในประเด็นไหน อย่างไร ก็เขียนมา เห็นด้วยก็ว่ามาว่าประเด็นไหน ผมว่าแบบนี้จะโปร่งใสมากกว่า” รณกรณ์เสนอ

ถ้าเราอยากให้โปร่งใส ควรเขียนคำพิพากษาเป็นความเห็นแย้งมาเลย ในอังกฤษ ความเห็นแย้งเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในคำพิพากษา ไม่เห็นด้วยในประเด็นไหน อย่างไร ก็เขียนมา เห็นด้วยก็ว่ามาว่าประเด็นไหน ผมว่าแบบนี้จะโปร่งใสมากกว่า

อาจารย์นิติศาสตร์ย้ำว่า เข้าใจข้อจำกัดบางประการของระบบศาล และเห็นเป็นประจักษ์พยานว่า เราเคยยกเลิกการทบทวนคำพิพากษาแล้วมีปัญหา แม้ข้อเสนอในอุดมคติ คือ ยกเลิกระบบทบทวนคำพิพากษาภายใน ที่ถึงจะยังไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ก็ไม่โปร่งใสในเชิงภววิสัย หากยกเลิกระบบทบทวนคำพิพากษาภายในไม่ได้ เพราะมีความจำเป็น เช่น ผู้พิพากษายังไม่มีความสามารถ มีประสบการณ์ไม่พอแม้ทำงานมา 17 ปี ก็ต้องไม่ทบทวนคำพิพากษาในส่วนข้อเท็จจริง และเขียนความเห็นแย้งเป็นลายลักษณ์อักษร

“เป็นอาจารย์มา 17 ปี ถ้าคุณยังไม่มั่นใจพอแล้วคุณจะปล่อยให้สอนนักศึกษาไหม คิดง่ายๆ เท่านี้”

อีกประเด็นหนึ่งที่รณกรณ์เห็นว่าเป็นปัญหาเรื่องความเป็นอิสระของศาล คือ การจ่ายสำนวน พระธรรมนูญศาลยุติธรรมให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาภาคสั่งเปลี่ยนองค์คณะได้หากไม่เห็นด้วย หรือเลือกจ่ายสำนวนให้ผู้พิพากษาชุดใดชุดหนึ่งรับผิดชอบได้ นี่เป็นอีกเรื่องที่น่ากังวล เพราะระบบที่ดีควรจะจ่ายคดีให้กับองค์คณะเรียงตามลำดับไปโดยไม่เจาะจง

อุดมคติความเป็นอิสระของศาลตามมาตรฐานสากล

สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) กล่าวว่า มาตรฐานสากลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของผู้พิพากษา เขียนไว้ชัดเจนเกี่ยวกับระบบการตรวจคำพิพากษาโดยผู้พิพากษาอาวุโส ตามกฎหมายระหว่างประเทศระบุว่า ผู้พิพากษาต้องเป็นอิสระและเป็นกลาง คือ เป็นอิสระจากปัจจัยภายนอก และเป็นกลางจากปัจจัยภายใน นอกจากนี้ ความเป็นอิสระยังหมายถึงความเป็นอิสระเชิงสถาบัน ไม่อยู่ภายใต้องค์กรอื่นใด และตัวผู้พิพากษาเองก็ต้องเป็นอิสระจากผู้บังคับบัญชาและผู้พิพากษาอื่น

หลักการบังกาลอร์ (The Bangalore Principles of Judicial Conduct) และกฎบัตรสากลของผู้พิพากษา (Universal Charter of the Judge) พูดถึงการ review หรือการทบทวนคำพิพากษาไว้ชัดเจนว่า จะต้องทำโดยศาลชั้นสูงกว่าเท่านั้น นั่นคือคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะถูกทบทวนโดยศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา และผู้พิพากษาต้องเป็นอิสระจากทั้งผู้บังคับบัญชาและเพื่อนผู้พิพากษาด้วยกัน เพื่อประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ไม่ให้มีการกระทำหรือทัศนคติของผู้พิพากษาท่านอื่นที่จะส่งผลต่อการพิจารณา แนวทางการพิพากษาคดี หรือทำให้หวาดกลัวต่อสถานะผู้พิพากษา

ผู้พิพากษาต้องเป็นอิสระจากทั้งผู้บังคับบัญชาและเพื่อนผู้พิพากษาด้วยกัน เพื่อประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ไม่ให้มีการกระทำหรือทัศนคติของผู้พิพากษาท่านอื่นที่จะส่งผลต่อการพิจารณา แนวทางการพิพากษาคดี หรือทำให้หวาดกลัวต่อสถานะผู้พิพากษา

ตามหลักการระหว่างประเทศทั้งสอง การขอคำปรึกษาจากผู้พิพากษาอื่นสามารถทำได้ หากผู้พิพากษาต้องการขอยืมแนวคิด หรือต้องการข้อคิดเห็นเพิ่มเติม แต่จะต้องมาจากความสมัครใจของตัวผู้พิพากษาเอง การทบทวนคำพิพากษาไม่ควรเป็นขั้นตอนพื้นฐานที่ต้องทำตลอดเวลา

สัณหวรรณเห็นว่า ในบริบทของประเทศไทย การทบทวนคำพิพากษามีเพื่อรักษามาตรฐานและคุณภาพคำพิพากษาให้อยู่ในระดับเดียวกัน แต่ก็มีความกังวลว่าการทบทวนคำพิพากษาภายในศาลจะกระทบกับความเป็นอิสระของผู้พิพากษา หากตีความตามหลักการระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด จะเห็นได้ว่าไม่ควรให้มีการทบทวนคำพิพากษา แต่สามารถอุดช่องว่างเรื่องมาตรฐานคำพิพากษาได้ด้วยการอุทธรณ์-ฎีกา ในอีกทาง อาจจะต้องทบทวนเรื่องการสนับสนุนทางวิชาการแก่ผู้พิพากษา หรือทบทวนการสรรหาผู้พิพากษา เช่น อาจจะให้เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษานานขึ้นเพื่อให้ผู้พิพากษามีประสบการณ์มากขึ้น หรือทำงานในสายอื่นนานขึ้นก่อนจะมาเป็นผู้พิพากษา หากกลัวว่าผู้พิพากษาอายุน้อยในศาลชั้นต้นจะตัดสินผิดพลาด ในต่างประเทศเอง ก่อนที่จะเรียนกฎหมายได้ อาจต้องจบสาขาวิชาอื่นมาก่อน และจะต้องมีอายุค่อนข้างมากกว่าจะมาเป็นผู้พิพากษาได้

สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ)

ตัวแทนคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลให้ข้อมูลอีกว่า ประมาณเดือนกรกฎาคม 2562 เพิ่งมีหลักสหประชาชาติเรื่องใหม่ออกมา ชื่อปฏิญญาอิสตันบูล (Istanbul Declaration on Transparency in the Judicial Process) เกี่ยวกับกระบวนการดำเนินการของตุลาการ พูดถึงการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยผู้พิพากษา ปัจจุบันกรณีผู้พิพากษาคณากรมีคณะอนุกรรมการของ ก.ต. แต่อาจจะพูดได้ไม่เต็มปากว่าเป็นคณะกรรมการสอบสวนวินัย เพราะทำงานในเชิงค้นหาข้อเท็จจริง ซึ่งอาจจะมีการดำเนินการต่อภายหลัง

หากจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการต่อจากนี้ สัณหวรรณเห็นว่า หลักการระหว่างประเทศที่น่าสนใจ และอาจปรับใช้กับคณะอนุกรรมการที่มีอยู่ขณะนี้ได้ คือ ข้อ 15 ของปฏิญญาอิสตันบูล ระบุเรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยไว้อย่างละเอียดว่า คณะกรรมการสอบสวนวินัยที่เป็นกลางส่วนใหญ่ควรเป็นผู้พิพากษา แต่ต้องผสมผสานกันระหว่างผู้พิพากษาที่ยังทำงานอยู่และเกษียณอายุราชการแล้ว รวมถึงต้องมีคนนอกเพื่อให้เกิดความโปร่งใส การทบทวนวินัยควรต้องโปร่งใสต่อสาธารณะ ดังนั้น นอกจากองค์ประกอบของคณะกรรมการข้างต้น การทบทวนวินัยยังควรเปิดให้นักวิชาการ นักกฎหมาย และสาธารณชนร่วมจับตาระหว่างขั้นตอนและกระบวนการตรวจสอบทางวินัย อนุกรรมการที่ตั้งขึ้นมาใหม่จึงควรปรับใช้มาตรฐานระหว่างประเทศนี้

ข้อ 15 ของปฏิญญาอิสตันบูล ระบุเรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยไว้อย่างละเอียดว่า คณะกรรมการสอบสวนวินัยที่เป็นกลางส่วนใหญ่ควรเป็นผู้พิพากษา แต่ต้องผสมผสานกันระหว่างผู้พิพากษาที่ยังทำงานอยู่และเกษียณอายุราชการแล้ว รวมถึงต้องมีคนนอกเพื่อให้เกิดความโปร่งใส

ข้อเสนอแนะนี้อาจไม่ใช่เฉพาะกรณีผู้พิพากษาคณากร แต่ควรปรับใช้ในวงกว้าง รวมไปถึงข้อเสนอแนะของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลว่า การทบทวนคำพิพากษาต้องทำโดยศาลชั้นสูงกว่าเท่านั้น เพราะนั่นเป็นเหตุผลที่เรามีศาลอุทธรณ์และฎีกาที่มีอาวุโสสูงกว่า หากเรายังไม่มั่นใจในผู้พิพากษาศาลชั้นต้นก็ต้องกลับไปดูที่คุณสมบัติของผู้พิพากษา ก่อนที่เขาจะมานั่งพิจารณาคดีหรือดูแลสำนวน และเมื่อเทียบกับระบบกฎหมายของประเทศอังกฤษ ที่แนวคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงได้ตามโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ต้องเป็นไปตามธงอยู่เสมอ เราก็จะเห็นว่า การที่ระบบของเราต้องส่งร่างคำพิพากษาให้ตรวจเพื่อรักษาแนวบรรทัดฐานนั้น อาจจะทำให้คำพิพากษาขาดความก้าวหน้า ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

ทำไมคณากรตัดสินใจยกฟ้องคดี แย้งความเห็นอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ?

อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความในคดีที่คณากรเขียนแถลงการณ์ถึง เล่าว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้เป็นคดีที่ศูนย์ทนายความมุสลิมให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากจำเลยทั้งห้าผ่านกระบวนการบังคับใช้กฏหมายพิเศษเกี่ยวกับความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่สุดท้ายไม่ได้ฟ้องข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง เพราะมูลเหตุคดีมาจากเรื่องส่วนตัว

ศูนย์ทนายความมุสลิมให้ความช่วยเหลือคดีนี้ตั้งแต่ชั้นแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งนี้ ระหว่างจำเลยถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเคยนำตัวจำเลยไปแถลงข่าว และมีบุคคลอื่นถูกควบคุมตัวจากเหตุการณ์เดียวกันแล้วไม่ถูกดำเนินคดี แต่ถูกกันตัวไว้เป็นพยานในชั้นศาล พยานเหล่านี้ขอสืบพยานโดยไม่เผชิญหน้ากับจำเลย เพื่อยืนยันคำให้การรับสารภาพในชั้นควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษซึ่งซัดทอดมาถึงจำเลย

อย่างไรก็ตาม จากคำบอกเล่าของทนายความ พยานที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษให้การมีพิรุธ วกไปวนมา ใช้เวลาครุ่นคิด นิ่งเฉยสักพัก ไม่มั่นใจในการตอบคำถาม พฤติการณ์เหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในคำเบิกความพยานโดยผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ และถูกยกมาเป็นเหตุผลในการเขียนคำพิพากษาให้ยกฟ้อง ตามที่ระบุไว้ในแถลงการณ์ 25 หน้า

พยานที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษให้การมีพิรุธ วกไปวนมา ใช้เวลาครุ่นคิด นิ่งเฉยสักพัก ไม่มั่นใจในการตอบคำถาม พฤติการณ์เหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในคำเบิกความพยานโดยผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ และถูกยกมาเป็นเหตุผลในการเขียนคำพิพากษาให้ยกฟ้อง

ปกติการพิจารณาคดีความมั่นคงหรือคดีก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 มานั่งร่วมเป็นองค์คณะด้วย คดีนี้ไม่ใช่คดีความมั่นคงแต่เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง อับดุลเลาะห์ทราบว่าจะต้องส่งร่างคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ตรวจก่อนอ่านคำพิพากษาอยู่แล้ว เมื่อมีการเลื่อนอ่านคำพิพากษาจากเดือนสิงหาคมเป็นตุลาคม จึงคาดว่าอาจจะมีการปรับแก้ร่างคำพิพากษา

วันพิพากษาคดีเมื่อ 4 ตุลาคม ทนายความไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ทราบจากญาติของจำเลยว่า หลังอ่านคำพิพากษาแล้ว คณากรพูดคุยระบายความรู้สึกเป็นเวลานานเกือบ 2 ชั่วโมง โดยไม่ให้เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์อยู่ในห้องและล็อกห้องพิจารณา ทั้งห้องจึงเหลือเพียงจำเลย ญาติจำเลย เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ทำหน้าที่ควบคุมตัวจำเลย และเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ที่มาฟังคำพิพากษา คณากรพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ถึงปัญหาและอุปสรรคในกระบวนการยุติธรรม การรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการควบคุมตัวในชั้นกฎหมายพิเศษว่ามีน้ำหนักน้อย รับฟังไม่ได้เพียงใด รวมถึงอธิบายหลักกฎหมายและข้อเท็จจริงทางคดีให้ผู้ที่มาฟังการอ่านคำพิพากษาในวันนั้น ก่อนอ่านถ้อยคำคล้ายคำถวายสัตย์ปฏิญาณ และยิงตนเอง

“ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ไม่พบความผิดปกติหรือเห็นว่าผู้พิพากษามีความกดดัน กระทั่งในคดีอื่นที่ท่านคณากรเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณา ก็ไม่พบความผิดปกติทางสภาวะอารมณ์แต่อย่างใด” อับดุลเลาะห์ให้ความเห็นจากการพบคณากรในศาลมาแล้วหลายคดี

อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความ

ปัจจุบัน แม้คดีจะพิพากษายกฟ้องแต่ยังมีคำสั่งให้ขังจำเลยระหว่างอุทธรณ์ จำเลยทั้งห้าจึงถูกขังที่เรือนจำ จ.ยะลา ทนายความให้ข้อมูลว่า ครอบครัวของจำเลยส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ไม่สามารถหาหลักทรัพย์ประกันตัว ซึ่งคาดว่าจะสูงถึงคนละ 500,000 บาทได้ จึงอยู่ระหว่างติดต่อขอหลักทรัพย์ประกันจากกองทุนยุติธรรม

ปัญหาเรื่องการใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้

อัลดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิม อธิบายถึงลักษณะการใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า เมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้น เจ้าหน้าที่จะมีกลุ่มบุคคลเป้าหมายอยู่แล้ว และจะนำตัวบุคคลเหล่านั้นมาเพื่อเข้าสู่ “กระบวนการซักถาม” ซึ่งควบคุมตัวได้ 7 วัน ภายใต้กฎอัยการศึก และขยายเวลาต่ออีก 30 วันได้ ภายใต้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน กรณีหลังต้องขออนุญาตศาล ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะอ้างคำรับสารภาพในกระบวนการซักถามเป็นหลักฐานเพื่อขอควบคุมตัวต่อ และศาลก็มักจะอนุญาต

“ระยะเวลาควบคุมตัว ถ้าใช้แบบเต็มที่เลย ก็คือ 37 วัน และส่วนใหญ่ก็จะใช้เต็ม 37 วัน ช่วงแรกๆ จะไม่ได้เยี่ยมเลย พออยู่นานๆ ก็จะเยี่ยมได้บ้าง กระบวนการตรงนี้จัดทำโดยเจ้าหน้าที่ทหาร บางคนซักถามจนไม่มีข้อมูลอะไรแล้ว อยู่เฉยๆ แต่ก็ยังควบคุมตัวต่อ เราไม่รู้ว่ากระบวนการนี้มีหลักเกณฑ์อะไร” อัลดุลกอฮาร์ เล่า

อับดุลกอฮาร์ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มใช้บังคับกฎหมายพิเศษเรื่อยมา ศูนย์ทนายความมุสลิมได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านว่า มีการซ้อมทรมานผู้ที่ถูกคุมขังตามกฎหมายพิเศษ พัฒนาการอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง เช่น จากมีบาดแผลก็ทำให้ไม่มีแผล ดังนั้น ผลจากการซักถามในค่ายทหารจึงไม่ใช่กระบวนการสอบสวนปกติ 

อัลดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิม

ทนายความที่ทำงานมาตลอด 15 ปีภายใต้ความขัดแย้งเล่าว่า คดีที่มาอยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ทนายความมุสลิม ใช้หลักฐานจากกระบวนการพิเศษแทบทุกคดี กระทั่งคดีต้นเหตุที่ผู้พิพากษายิงตนเอง ซึ่งไม่ใช่คดีเกี่ยวกับความมั่นคง ก็ยังใช้หลักฐานจากกระบวนการพิเศษ เรื่องนี้เป็นปัญหาในพื้นที่ เพราะเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ก็ไม่ทราบว่า ใครเป็นคนทำ เป็นผลงานของขบวนการหรือไม่ หลายครั้งในคดีความผิดอาญาปกติเจ้าหน้าที่ก็ใช้กฎหมายพิเศษจับกุมและควบคุมตัวนำหน้าไปก่อน 

นอกจากนี้ ในคดีที่เป็นมูลเหตุของกรณียิงตนเอง อับดุลกอฮาร์ทราบมาว่า คนแรกที่เข้าไปเก็บพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ คือ เจ้าหน้าที่กู้ภัย บางคดีเป็นทหารพราน และเมื่อสงสัยใครก็ไปจับกุมตัวมาก่อนค่อยสอบสวนหาหลักฐานภายหลัง ตรงข้ามกับหลักการสอบสวนที่ต้องหาพยานหลักฐานก่อนจึงจะระบุตัวผู้กระทำความผิดได้ สภาวการณ์เช่นนี้เป็นอันตรายมาก เพราะทำให้เกิดการเลือกดำเนินคดีหรือไม่ดำเนินคดีต่อใครก็ได้  ทั้งยังเคยพบคดีที่ผลการซักถามมีคำรับสารภาพของคนวางระเบิด แต่คนที่รับสารภาพว่าวางระเบิดกลับถูกกันตัวไว้เป็นพยาน เพื่อดำเนินคดีต่อคนที่ดูต้นทาง แสดงให้เห็นถึงความไม่มีหลักเกณฑ์ว่าใครจะถูกดำเนินคดีบ้าง

ตามแถลงการณ์ของคณากร เพียรชนะ กล่าวถึงคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำเลย แล้วคณากรเห็นว่าควรลงโทษสถานหนัก แต่ได้รับคำขอแก้ไขโทษให้เบาลง ในเรื่องนี้ อับดุลกอฮาร์เล่าว่า การดำเนินคดีเพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐนั้นประสบปัญหาอย่างมาก ส่วนตัวเคยพยายามหลายครั้ง ทั้งจากเหตุคนตายในค่ายทหาร หรือการวิสามัญฆาตกรรม แต่ไม่เคยเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐได้สำเร็จเลย คดีลักษณะนี้มักจะแพ้ตลอด

ตามแถลงการณ์ของคณากร เพียรชนะ กล่าวถึงคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำเลย แล้วคณากรเห็นว่าควรลงโทษสถานหนัก แต่ได้รับคำขอแก้ไขโทษให้เบาลง

ทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิม คาดการณ์ถึงสาเหตุที่คณากรตัดสินใจจะลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐสถานหนัก อาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐมีสถานะพิเศษกว่าคนอื่น แต่กลับใช้โอกาสนั้นกระทำความผิด จึงควรจะต้องลงโทษหนักเป็นพิเศษ เมื่อนำเจ้าหน้าที่เข้าสู่การดำเนินคดีได้ ผู้พิพากษาจึงอาจจะมองในมุมของประชาชนที่เห็นว่า เจ้าหน้าที่ต้องได้รับโทษ ไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ

ความกังวลต่อการรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาในชั้นกฎหมายพิเศษ

กฎหมายไทยมีการแก้ไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐาน โดยเฉพาะมาตรา 226/3 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่แก้ไขโดยสภานิติบัญญัติหลังการรัฐประหาร 2549 ซึ่งบัญญัติว่า

“ข้อความซึ่งเป็นการบอกเล่าที่พยานบุคคลใดนำมาเบิกความต่อศาลหรือที่บันทึกไว้ในเอกสารหรือวัตถุอื่นใดซึ่งอ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาล หากนำเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความนั้น ให้ถือเป็นพยานบอกเล่า

ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่

(1) ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ หรือ

(2) มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น

ในกรณีที่ศาลเห็นว่าไม่ควรรับไว้ซึ่งพยานบอกเล่าใด และคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องร้องคัดค้านก่อนที่ศาลจะดำเนินคดีต่อไป ให้ศาลจดรายงานระบุนาม หรือชนิดและลักษณะของพยานบอกเล่า เหตุผลที่ไม่ยอมรับ และข้อคัดค้านของคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องไว้ ส่วนเหตุผลที่คู่ความฝ่ายคัดค้านยกขึ้นอ้างนั้น ให้ศาลใช้ดุลพินิจจดลงไว้ในรายงานหรือกำหนดให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นคำแถลงต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวน”

สัณหวรรณกล่าวว่า คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) เคยทำข้อเสนอแนะเรื่องนี้ว่า พยานบอกเล่าไม่ใช่ผู้ประสบเหตุโดยตรง ปกติจึงจะไม่รับฟังพยานเช่นนี้ เพราะควรจะรับฟังจากผู้ประสบเหตุโดยตรง กรณีในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีพยานบอกเล่าที่ได้มาจากการควบคุมตัวโดยใช้กฎหมายพิเศษ คือ ผู้ถูกควบคุมตัวให้การต่อเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ก็จดบันทึกคำให้การในชั้นควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ หลายครั้งเป็นคำให้การรับสารภาพและถูกส่งเป็นพยานในชั้นศาล พยานลักษณะนี้ควรถือเป็นพยานบอกเล่า เพราะผู้ถูกควบคุมตัวไม่ได้ส่งข้อมูลให้ศาลโดยตรง ศาลจึงไม่ควรรับฟัง แต่ในมาตรา 226/3 มีข้อยกเว้นว่า ถ้าข้อเท็จจริงแวดล้อมน่าเชื่อถือ หรือเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้สามารถรับฟังพยานบอกเล่าได้

“สภาพที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ เมื่อขึ้นสู่ชั้นศาล ผู้ถูกควบคุมตัวมักจะกลับคำให้การ โดยบอกต่อศาลว่าไม่ได้รับสารภาพแต่ถูกบังคับให้รับสารภาพ ทำให้การทำคำพิพากษาเป็นการชนกันของข้อมูลสองชุด ระหว่างข้อมูลที่ได้จากการซักถามขณะถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร กับข้อมูลที่จำเลยปฏิเสธต่อศาลว่าข้อมูลที่ได้จากการซักถามไม่เป็นความจริง เพราะขณะนั้นถูกบังคับ” สัณหวรรณกล่าว

ปกติแล้วศาลไม่ควรรับฟังพยานบอกเล่ามากกว่าพยานผู้ประสบเหตุที่มายืนยันต่อศาลโดยตรง แต่ด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 226/3 ทำให้ศาลสามารถรับฟังพยานบอกเล่าได้ บางคดีศาลจึงเชื่อข้อมูลจากเจ้าหน้าที่มากกว่า โดยมองว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยจึงไม่จำเป็นต้องโกหก และใช้ข้อมูลที่ได้จากการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษมาลงโทษจำเลย แต่ก็ต้องมีข้อมูลอื่นประกอบด้วย ซึ่งหากข้อมูลอื่น คือ DNA หรือข้อมูลการใช้โทรศัพท์ก็อาจจะพอเชื่อได้ แต่มีบางคดีที่ข้อมูลได้มาจากการควบคุมตัวบุคคลตามกฎหมายพิเศษ เช่น การพาไปชี้สถานที่เกิดเหตุในระหว่างถูกควบคุมตัว ทำให้เกิดความกังวลว่า ข้อยกเว้นดังกล่าวกว้างเกินไป เพราะการสืบสวน สอบสวน นำชี้ และควบคุมตามกฎหมายธรรมดามีการประกันสิทธิในทุกขั้นตอน แต่สิทธิจะหายไปในการถูกคุมขังตามกฎหมายพิเศษ เช่น ไม่มีการพาตัวไปศาลโดยเร็ว เพื่อให้ศาลช่วยไต่สวนว่าถูกขังเพราะอะไร มีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องขังไว้ แต่เป็นการทำให้คนหายไปโดยเจ้าหน้าที่เป็นเวลาประมาณ 37 วัน อาจจะไปศาลแต่ก็ไม่จำเป็นต้องพาผู้ถูกควบคุมตัวไปด้วย

ปกติแล้วศาลไม่ควรรับฟังพยานบอกเล่ามากกว่าพยานผู้ประสบเหตุที่มายืนยันต่อศาลโดยตรง แต่ด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 226/3 ทำให้ศาลสามารถรับฟังพยานบอกเล่าได้

“ข้อยกเว้นควรเป็นกรณีที่จำเป็นมาก เช่น พยานไม่สามารถมาให้การต่อศาลได้ เพราะเราควรให้โอกาสจำเลยมากกว่าที่จะไปรับฟังพยานบอกเล่า และเราเรียกร้องไม่ให้ควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ ควรกลับไปใช้กฎหมายทั่วไป” สัณหวรรณย้ำ

ด้านรณกรณ์ บุญมี เห็นว่าประเด็นที่ควรจะพูดกัน คือ คำให้การ ข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ รวมถึงคำรับสารภาพที่เกิดขึ้นในช่วงใช้กฎหมายพิเศษควรรับฟังหรือไม่ ในประเด็นนี้เขาอยากจะถอยไปถึงเรื่องที่ว่า ยังควรมีกฎหมายพิเศษหรือไม่

รณกรณ์กล่าวว่า ประโยคหนึ่งของคณากรที่จับใจเขามาก คือ “ผู้ต้องสงสัยนี้มีศักดิ์ความบริสุทธิ์เหนือกว่าผู้ต้องหา แต่กลับมีสิทธิทางกฎหมายด้อยกว่าผู้ต้องหา” สถานการณ์ในภาคใต้กลายเป็นว่า คนที่ถูกจับกุมในฐานะผู้ต้องสงสัยไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่พื้นฐานที่สุดสำหรับการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ คือ สิทธิได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ปัจจุบันผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษไม่มีสิทธิมีทนายความ หรือติดต่อญาติเพื่อรับประกันว่า เขาจะไม่ถูกบังคับให้สูญหาย และที่แย่ที่สุด คือ สิทธิได้เจอตุลาการที่จะพิจารณาว่า การควบคุมตัวนั้นชอบหรือไม่

“ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง วางมาตรฐานระยะเวลาการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยก่อนพาตัวไปศาลไว้ที่ 48 ชั่วโมง สำหรับกฎหมายในอังกฤษกำหนดให้เพียง 24 ชั่วโมง ถ้าเป็นคดีสำคัญควบคุมตัวได้ 36 ชั่วโมง คดีก่อการร้ายควบคุมตัวได้ 72 ชั่วโมง แต่ในประเทศไทย กฎอัยการศึกให้ควบคุมตัวได้ 7 วัน นี่คือราคาที่เราต้องจ่าย แต่ไม่ใช่เราที่นั่งหล่อๆ สวยๆ อยู่ในกรุงเทพฯ เป็นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่”

ระบบศาลที่เป็นอยู่

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา กล่าวว่า เหตุการณ์ที่ผู้พิพากษายิงตนเองนั้นสร้างความกระทบกระเทือนใจมาก เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น ตลอดจนเกิดความสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นกับระบบศาลทุกวันนี้ 

สมรักษ์ให้ข้อมูลว่า ภายในศาลมีระบบที่ผู้พิพากษาต้องส่งร่างคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจก่อน ระบบนี้ใช้มาตั้งแต่เริ่มเป็นผู้พิพากษาเมื่อปี 2515 และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 กำหนดให้ประธานศาลต่างๆ และอธิบดีผู้พิพากษา มีอำนาจนั่งพิจารณาและพิพากษาคดีใดๆ ของศาล เมื่อได้ตรวจสำนวนแล้วก็มีอำนาจทำความเห็นแย้งติดไว้ในสำนวนได้

กรณีที่เกิดขึ้นกับคณากรจนต้องยิงตัวเองนั้น อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาไม่ทราบว่า มีความขัดแย้งอะไรเกิดขึ้น เพราะหากอธิบดีผู้พิพากษาภาคมีความเห็นไม่ตรงกับผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ก็สามารถทำความเห็นแย้งได้เลย ก่อนหน้านี้เคยมีคดีการสลายการชุมนุมปี 2553 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต เมื่ออัยการฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรี ศาลอาญาสั่งไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่าเป็นการทำตามหน้าที่ แต่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทำความเห็นแย้งติดสำนวนไว้ เห็นว่า ควรรับคดีนี้ไว้พิจารณา กระบวนการทำความเห็นแย้งเช่นสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องถกเถียงกันก่อน

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา

สมลักษณ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับ รวมทั้งฉบับปี 2560 เขียนรับรองหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาไว้ ฉบับปัจจุบันอยู่ในมาตรา 88 แม้แต่ประธานศาลฎีกาก็เข้ามาแทรกแซงการทำคำพิพากษาของผู้พิพากษาไม่ได้ ถ้าใครเข้ามาแทรกแซงก็ถือว่ามีความผิด ซึ่งคณากร ในฐานะผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลาก็ทราบดี หากเห็นว่าสิ่งใดถูกต้องก็ต้องยืนยันเขียนคำพิพากษาไปตามนั้น แม้อธิบดีผู้พิพากษาภาคจะเห็นต่างและเรียกไปคุยเพื่อปรึกษาหารือกัน ก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังหากไม่เห็นด้วย แต่ต้องเขียนไปตามที่องค์คณะที่พิจารณาเห็นร่วมกัน

สำหรับคำถามจากผู้เข้าร่วม ที่ถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ทุกวันนี้อำนาจทหารมีอำนาจนำตุลาการ สมลักษณ์เล่าถึงข้อครหาที่มีต่อสถาบันศาลในปัจจุบันว่า กลายเป็นเครื่องมือรับรองอำนาจให้การทำรัฐประหาร และยอมรับว่า ปัจจุบันมีเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้สังคมสงสัยสถาบันศาล และเมื่อถามย้ำอีกครั้งว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ทหารจะเข้ามากำหนดแนวนโยบายทางคดีให้กับศาล สมลักษณ์ตอบว่า “ก็เป็นไปได้”

Tags: , , , , , ,