จากเลคเชอร์ในชั้นเรียนวิชาประวัติศาสตร์การเมืองภาคพื้นยุโรปกลาง ชื่อของบุคคลที่ผูกโยงลัทธิคอมมิวนิสต์กับประเทศฮังการีไว้ด้วยกันก็มีเพียง น็อก อิมเร (Nagy Imre) นักการเมืองคอมมิวนิสต์ผู้ประกาศถอนฮังการีออกจาก Warsaw Pact สนธิสัญญาวอร์ซอที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อตอบโต้เยอรมนีตะวันตกที่เข้าร่วมองค์การ NATO แต่ในทางปฏิบัติแล้วคือการเข้าแผ่อำนาจและขยายกำลังทางทหารเข้าสู่ประเทศในยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง กับอีกคนหนึ่งคือมัทยาช ราโกชี (Mátyás Rákosi) นักการเมืองคอมมิวนิสต์อีกคนที่ถูกเรียกว่าเป็นสตาลินแห่งฮังการี

แต่นอกเหนือจากนั้น เรากลับไม่รู้อะไรมากนัก เรื่องราวของการปฏิวัติปี 1956 ก็แทบไม่อยู่ในความทรงจำ

โชคดีที่การมาเยือนบูดาเปสต์ของเราในครั้งนี้ เราได้เจอโปรแกรมทัวร์ตามรอยคอมมิวนิสต์ในหมวด ‘ประสบการณ์’ ของ Airbnb จึงตัดสินใจจองไป เพราะเผื่อเวลาไว้ที่นี่หลายวันพอสมควร

ทัวร์นี้เป็นการเดินเท้า 3 ชั่วโมงเต็ม แถมด้วยการนั่งรถรางอีกเล็กน้อย ในฐานะนักเรียนที่ไม่เคยฟังเลคเชอร์ความยาวเกิน 1 ชั่วโมงในรวดเดียวรอด เราแอบกลัวเล็กๆ ว่าสมองจะระเบิดไปก่อน แถมการเดินถนนท่ามกลางคลื่นความร้อนแบบยุโรปก็ไม่ใช่เรื่องน่าสนุก โชคดีของเราที่เช้าวันนั้นมีลมพัดเย็นสบาย การทัวร์จึงเริ่มขึ้นแบบผ่อนคลาย

ด้านหลังของอาคารแบงค์ชาติมีพื้นที่สีเขียวเล็กๆ และอาคารตลาดหลักทรัพย์ตั้งอยู่

เรจินา ไกด์ทัวร์ของโปรแกรมนัดเราที่หน้าโรงแรม Kempinski เพราะอยู่ไม่ไกลจากแลนด์มาร์คที่เราจะไปเยือน เธอพาเราและเพื่อนร่วมทริปชาวนอร์เวย์ขาลุยอีกสองคนไปยัง Elizabeth Park ที่ตั้งของชิงช้าสวรรค์ Budapest Eye (เธอบอกว่าคนฮังกาเรียนชอบควีนเอลิซาเบธ ‘ซีซี่’ ของจักรวรรดิออสโตร-ฮังกาเรียนมาก เลยมีสถานที่ที่ตั้งชื่อว่าเอลิซาเบธเต็มเมืองไปหมด) และเล่าประวัติศาสตร์ยุคไกลของประเทศฮังการีให้เราฟังคร่าวๆ ก่อนจะย้ายกันไปที่หน้าแบงค์ชาติ อันเป็นแลนด์มาร์คแรกของทัวร์ในวันนี้

ในยุคที่ระบอบคอมมิวนิสต์มีอิทธิพลมาก ตำรวจลับของฮังการีได้เก็บเอกสารจำนวนมากไว้ในตู้เซฟของธนาคาร แต่เมื่อมาถึงยุคเปลี่ยนผ่านกลับพบว่ากุญแจตู้เซฟหายไป เปิดเท่าไรก็ไม่ออก แต่พอจ้างนักงัดแงะมืออาชีพมาเปิด กลับเปิดออกในครึ่งชั่วโมง เอกสารเหล่านี้เป็นผลงานของสายลับจำนวนกว่า 80,000 คนในระบอบคอมมิวนิสต์ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต ขณะที่ข้อมูลทางการบอกจำนวนสายลับเอาไว้น้อยกว่านั้น

อันที่จริงแบงก์ชาติเป็นเพียงหนึ่งในหลายอาคารที่ตั้งอยู่ในบริเวณ Szabadság tér หรือ Liberty Square (บางครั้งก็เรียกว่า Freedom Square และไม่ใช่ที่เดียวกับ Liberty Statue บนเขาฝั่งบูดา) และในบริเวณนี้ ก็มีอีกหลายแลนด์มาร์คให้เราชม โดยเฉพาะ German Monument ที่การมีอยู่ของมันเป็นที่ถกเถียงในวงกว้าง ไปจนถึงการประท้วงเพื่อให้ทำลายทิ้ง

บรรยากาศวันฟ้าใสหน้า German Monument ที่มีประวัติศาสตร์มืดดำอยู่ด้านหลัง

ส่วนของอนุสาวรีย์ German Monument

สำหรับ German Monument หรือในชื่อเต็มคือ Memorial to the Victims of German Occupation สร้างขึ้นในปี 2014 บนพื้นที่ที่เคยเป็นคุกมาก่อน เจ้าของไอเดียคือรัฐบาลของวิคตอร์ ออร์บาน (Viktor Orbán) นักการเมืองฝ่ายขวาซึ่งยังคงอยู่ในอำนาจต่ออีกสมัยหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่ออุทิศให้กับเหยื่อจากการที่นาซีเยอรมันเข้ามาปกครองฮังการีในปี 1944 ทำให้โดนข้อหาเคลือบน้ำตาลให้ประวัติศาสตร์ ไปจนถึงปลอมแปลงประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว โดยโยนความผิดให้นาซีเยอรมันแต่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งที่รัฐฮังการีในอดีตก็มีส่วนสนับสนุนให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น

เริ่มตั้งแต่การที่ มิคลอช ฮอร์ตี (Miklós Horthy) ผู้สำเร็จราชการแทนกษัตริย์ฮังการีในช่วงเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ได้เปิดดีลกับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เพื่อขอคืนดินแดนบางส่วนของฮังการี แลกกับการช่วยนาซีเยอรมันต่อต้านโซเวียตรัสเซียที่กำลังเริ่มเข้ามามีอำนาจในยุโรป (ซึ่งอย่างที่รู้กันว่าเป็นการเลือกข้างที่ผิด เพราะเยอรมันแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างยับเยิน) แต่ต่อมา ฮอร์ตีก็แตกหักกับนาซีเยอรมัน ทำให้ฮังการีถูกเข้ายึดครอง และเขาก็ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องรับผิดชอบในกรณีนี้

กระเป๋าเดินทางขาดวิ่นและรั้วลวดหนาม

ภาพถ่ายและถ้อยคำอาลัยผู้เสียชีวิต

กลับมาที่ส่วนของอนุสาวรีย์ เราจะเห็นว่านกอินทรีย์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของนาซีเยอรมันกำลังเข้ามาทำร้ายเทพที่ถือไม้กางเขนคู่อันเป็นสัญลักษณ์ของฮังการี (โรมันคาธอลิกเป็นศาสนาหลักของฮังการีตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 จนถึงปัจจุบัน ที่ประชากรฮังกาเรียนนับถือกันถึง 90 เปอร์เซนต์) ส่วนบนพื้นด้านหน้าของอนุสาวรีย์ก็มีการวางก้อนหิน กระเป๋าเดินทางที่ชาวยิวมักถือขึ้นรถไฟไปค่ายกักกัน รั้วลวดหนาม และภาพถ่าย พร้อมข้อความอาลัยเพื่ออุทิศให้ผู้เสียชีวิต

แต่เมื่อมันเป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ ประกอบอนุสาวรีย์ จึงดูเหมือนเป็นการดูแคลนเหยื่อชาวยิวจากฮังการีกว่า 600,000 คนที่เสียชีวิตในค่ายกักกัน โดยที่ 450,000 คนในจำนวนนั้นถูกส่งเข้าไปโดยรัฐฮังการีเอง

จนถึงปัจจุบัน ฝ่ายซ้ายอันประกอบด้วยพรรคสังคมนิยม ฝ่ายประชาธิปไตย และพรรคเสรีนิยม รวมทั้งเอ็นจีโอ และบุคลากรในสถานศึกษา ก็ยังเรียกร้องให้มีการทุบอนุสาวรีย์นี้ทิ้งอยู่ เรจินาเองยังบอกกับเราว่า “ฉันหวังว่าเมื่อพวกคุณกลับมาที่บูดาเปสต์อีกครั้ง อนุสาวรีย์นี้คงจะไม่มีอยู่แล้วนะ”

ช่องระบายอากาศของหลุมหลบภัย Rakosi’s Bunker

สถานที่ถัดไปที่เราแวะไปชมคือหลุมหลบภัยระเบิดนิวเคลียร์ที่เรียกกันว่า Rakosi’s Bunker เพราะราโกชีสร้างขึ้นเพื่อใช้หลบหนีจากทางเข้าซึ่งเป็นอาคารที่อยู่อาศัยในบล็อกถัดๆ ไป ทะลุรถไฟใต้ดินสาย 2 ไปยังสถานีรถไฟที่ออกนอกประเทศได้ แต่ราโกชีก็ไม่เคยได้ใช้มัน หลุมหลบภัยนี้ลึก 45 เมตร และจุคนได้ถึง 2,500 คน

ในสมัยนั้น ราโกชีทำตัวคล้ายสตาลิน เด็กๆ ในโรงเรียนต้องเข้าแถวโปรยกลีบกุหลาบต้อนรับเขา ราโกชีและรัฐบาลของเขาเป็นพวกเดียวกับโซเวียต และถูกต่อต้านโดย น็อก อิมเร กับเหล่าปัญญาชนในการปฏิวัติปี 1956 เพื่อไล่กองทัพโซเวียตที่เข้ามาบุกในปี 1955 การลุกฮือครั้งนี้จบลงอย่างนองเลือด นั่นคือภายในเวลา 3 สัปดาห์ มีผู้เสียชีวิต 2,500 คน และอีก 3,000 คนต้องหนีออกจากประเทศ

Soviet Momument ที่ดาวแดงด้านบนถูกทาสีทองทับ

ด้านหลังของ Soviet Monument จะมีทางเดินไปยังอาคารรัฐสภา

เมื่อเดินต่อไปยังอีกฝั่งหนึ่งของ Liberty Square เราจะพบกับอาคารสถานทูตสหรัฐฯ ที่ห้ามถ่ายรูปอย่างเด็ดขาด แต่ที่แปลกไปกว่านั้น (หรืออาจจะไม่แปลกอะไรเลย) คือที่จัตุรัสหน้าสถานทูตเป็นที่ตั้งของ Soviet Monument หรือชื่อเต็มคือ Soviet War Memorial ที่สร้างขึ้นโดยโซเวียตในปี 1945 เพื่อเฉลิมฉลองการปลดปล่อยฮังการีจากนาซีเยอรมันโดยโซเวียตเอง (!)

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คที่เป็นที่ถกเถียงไปจนถึงขั้นรังเกียจในหมู่ชาวฮังกาเรียนและนักวิชาการ เพราะใช่หรือไม่ว่าการเข้ามาของโซเวียตนั้นคือการเริ่มต้นของเผด็จการยุคใหม่ที่กดทับเสรีภาพของชาวฮังกาเรียน ทั้งเสรีภาพในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างปกติสุข และเสรีภาพในการเดินทางเข้าออกประเทศ ถึงแม้ฮังการีในสมัยนั้นจะเป็นประเทศเจริญและมีอิสระมากที่สุดในบรรดาประเทศสังคมนิยมในแถบยุโรปกลางและตะวันออก แต่ก็เป็นเพราะการตกลงแลกเปลี่ยนใต้โต๊ะกับโซเวียตในยุคของ ยาโนช กาดาร์ (János Kádár) หลังปี 1956 นั่นเอง

เมื่อเดินต่อไปยังถนนด้านหลัง Soviet Monument ที่นำไปสู่อาคารรัฐสภา เราก็จะพบกับรูปปั้น โรนัลด์ เรแกน (Ronald Raegan) ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับประเทศฮังการีเลย แต่หากมองในแง่อุดมการณ์ทางการเมือง พื้นที่นี้คงถูกทำให้เป็น ‘สมรภูมิรูปปั้นและอนุสาวรีย์’ ของหลายขั้วอำนาจในการเมืองโลกไปเป็นที่เรียบร้อย เพราะเมื่อเดินถัดไปอีกบล็อกหนึ่ง เราก็จะพบกับรูปปั้น น็อก อิมเร ที่ยืนอยู่บนสะพานที่พื้นทำจากชิ้นส่วนรถถังโซเวียตจริงๆ สิ่งที่เราชอบคืออิมเรหันหน้าไปมองรัฐสภาด้วยสายตาแห่งความหวังและความเชื่อที่ว่าระบอบรัฐสภาจะนำมาสู่อนาคตที่สดใสของฮังการี

น็อก อิมเร

ภาพที่อิมเรมองเห็น

เราเดินเลียบอาคารรัฐสภาไปยังริมแม่น้ำดานูบและแวะดู Shoes on the Danube Bank ซึ่งเป็นรูปปั้นรองเท้า 60 คู่ของชาวยิวที่ถอดออกก่อนถูกยิงให้ตกลงไปในแม่น้ำ จุดนี้จึงเป็นอนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2004 เพื่อรำลึกการครบรอบ 60 ปีของเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

และจากที่ก่อนหน้านี้เราอยู่ในฝั่งเปสต์มาตลอด เราก็ได้นั่งรถไฟไปยังฝั่งบูดา นั่งชิลที่ Communist bar ซึ่งเป็นบาร์และคาเฟ่ที่ตั้งอยู่ในอาคารเก่าจากยุคคอมมิวนิสต์ชื่อ Bambi Café ที่ตั้งแต่เปิดร้านในยุค 1970s ก็ไม่ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใดๆ เรียกได้ว่าเป็นคาเฟ่คลาสสิกอย่างแท้จริง

ที่คาเฟ่แห่งนี้ เราสี่คนได้นั่งคุยกันเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในนอร์เวย์และไทย รวมทั้งความแตกต่างทางอุดมการณ์ของคนทั้งสองประเทศ เพื่อนร่วมทริปชาวนอร์เวย์คนหนึ่งเล่าว่า ปัญหาใหญ่ที่เขามองเห็นในเวทีการเมืองนอร์เวย์ก็คือ การที่รัฐบาลจะทำอะไรก็มักจะประนีประนอมกับฝ่ายค้านและเข้าไปถามหาความเห็นเสมอ จนบางทีก็มากเกินไป และเมื่อฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย นโยบายนั้นก็ไม่ถูกนำมาปรับใช้

“ทุกอย่างคือฉันทามติ (consensus)” เขาว่า และการประนีประนอมที่มากเกินไปคือสิ่งที่เขามองว่าไม่ควรเกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตย ระบอบที่เขาย้ำนักย้ำหนาว่า ไม่ใช่ระบอบที่แย่น้อยที่สุด แต่คือระบอบที่ดีที่สุด

แมดเดลีนและเครื่องดื่ม Raspberry syrup ที่มีมาตั้งแต่ยุคคอมมิวนิสต์

บรรยากาศด้านใน Bambi Café

ทัวร์นี้เอาเข้าจริงก็ไม่ได้เจาะลึกมากอย่างที่เราคิด แต่ก็ถือว่าไม่ผิดหวังเลยทีเดียว เรจินาเล่าเรื่องสนุก ทำให้ 3 ชั่วโมงนั้นผ่านไปอย่างรวดเร็ว เส้นทางเดินที่เรจินาวางไว้ก็ไม่ไกลจนเกินไปและไม่วกวน หากอากาศไม่ร้อนจนเลวร้าย ก็เดินได้เรื่อยๆ แบบไม่ทรมาน แถมถ้าเป็นฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูใบไม้ร่วง ก็น่าจะดียิ่งกว่านี้อีกเท่าตัว

Fact Box

  • หากจะไปเยือน Liberty Square เองก็ย่อมทำได้ โดยตามไปที่แผนที่ ส่วนการเดินทางโดยขนส่งมวลชนในบูดาเปสต์นั้นสามารถทำได้ด้วย Google Maps เพราะสะดวกสบายและเที่ยงตรง
  • ทัวร์ Airbnb นี้มีไกด์ทัวร์หลายคน แล้วแต่ว่าเราจะสุ่มเจอใคร เรจินาเป็นไกด์ทัวร์มา 5 ปี ตอนนี้กำลังใช้เวลา gap year พักจากการเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
  • ทัวร์ 3 ชั่วโมงเต็มนี้ ราคา 1,400 บาท เพื่อนร่วมทริปไม่มากทำให้รู้สึกใกล้ชิดและไม่วุ่นวาย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://www.airbnb.com/experiences/223889
  • หรือลองหาทางเลือกอื่นๆ เวลาไปเที่ยวเมืองหลวงหรือเมืองสำคัญในยุโรป มันมีบริการพาเดินทัวร์ โดยอาจค้นหาคำว่า free walking tour ตามด้วยชื่อเมืองในกูเกิล เลือกเส้นทางที่สนใจแล้วลองไปสุ่มดู บริการลักษณะนี้จะฟรี คนเข้าร่วมทริปก็จะให้ทิปเป็นค่าตอบแทน
Tags: , ,