ศิลปะกับคนเป็นของที่คู่กันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เพราะศิลปะเป็นหนึ่งในกระจกที่ช่วยสะท้อนสภาพสังคมบ้านเมืองในขณะหนึ่งๆ ศิลปะอาจช่วยประโลมใจในช่วงเวลาที่ข้าวยากหมากแพง หรือบันทึกเรื่องราวในยามบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองที่ผู้คนมีกินสุขสบาย ซึ่งในรายละเอียดสำคัญของศิลปะ ‘สี’ ก็เป็นสิ่งบอกเล่าและสะท้อนสถานการณ์บ้านเมืองในแต่ละยุคสมัยเช่นเดียวกัน
สีเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมยุคโมเดิร์นมากขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว โดยเฉพาะยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จะเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของการใช้สีรอบๆ ตัวที่สะท้อนสภาพสังคมได้อย่างชัดเจน แบ่งออกเป็นช่วงยุคสมัย หรืออย่างที่เราเรียกกันจนคุ้นหูในปัจจุบันว่า ‘เทรนด์สี’ ที่มาของเทรนด์สีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นตามใจอยาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้นต่างหากที่ชี้นำว่า เทรนด์สีในแต่ละช่วงเวลานั้นคือสีอะไร
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเทรนด์สีนั้นมีปัจจัยหลักๆ อันได้แก่ การเมือง การเคลื่อนไหวทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และทัศนคติของผู้คนในช่วงเวลานั้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเกี่ยวเนื่องกัน ก่อเกิดเป็นความนิยมของสีในแต่ละช่วงเสมอ และสิ่งที่สะท้อนเทรนด์สีออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุดก็คือเสื้อผ้าและสินค้าต่างๆ
สียุค ’50s สีของความอ่อนโยน
เทรนด์สีของโลกที่เห็นได้ชัดตั้งแต่ยุค ’50s ที่ทั่วโลกทดเวลาบาดเจ็บจากสงครามโลกครั้งที่สอง ในยุค ’50s เกิดการสูญเสียมาก จึงเป็นยุคที่ผู้หญิงเริ่มออกมาทำงานและเน้นเพิ่มประชากรมาทดแทน อัตราการเกิดของเด็กในยุคนี้สูงมาก จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกเจเนเรชั่นว่า ‘เบบี้บูมเมอร์’ สีในยุคนี้ส่งเสริมความอ่อนโยน มองโลกในแง่ดี สีที่ดูเหมือนจะเป็นภาพจำของยุคนี้คงจะเป็นสีชมพูแบบชุดของ มามี ไอเซนฮาวร์ (เฟิร์สเลดีของประธานาธิปดีสหรัฐอเมริกา ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ที่อยู่ในตำแหน่งตั้งแต่ปี 1953 -1961) หรือสีคาลาไมน์ ยาทาแก้คันที่เราในวัยเด็กคงรู้จักกันดี เป็นสีชมพูที่มีความซีดหรือ ‘พาสเทล’ ในภาษาของยุคนี้ ปรากฏอยู่ในทุกที่ รวมถึงสีเฉดอื่นๆ เองก็มีความพาสเทลเช่นเดียวกัน
ยุค ’50s ต้องการที่จะเยียวยาตัวเองจากสงคราม สีสันพาสเทลน่ารักจึงเป็นปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจอย่างมาก รวมถึงภาพลักษณ์ที่ยิ้มแย้มแจ่มใส (และดูปลอมเปลือกอย่างบอกไม่ถูก) เหมือนกับหลอกตัวเองอยู่ในทีว่าชีวิตที่เป็นตอนนี้มีความสุขเสียเหลือเกิน
สียุค ’60s สีแห่งการเกิดใหม่
ถัดมาในยุค ’60s ที่เหล่าเบบี้บูมเมอร์กลายเป็นวัยรุ่น ยุคนี้จึงกลายเป็นยุคแห่งความเคลื่อนไหวทางสังคม การเริ่มต้น และการเกิดใหม่ เต็มเปี่ยมไปด้วยไอเดียใหม่ๆ และวัฒนธรรมอันเข้มข้น ก่อกำเนิดป็อปคัลเจอร์ในทุกศาสตร์สาขา การฉีกกฎปฏิวัติออกจากกรอบความคิดเดิมๆ ของคนรุ่นพ่อแม่ การต่อต้านสงครามและการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเพศทางเลือกก็เริ่มต้นขึ้นในยุคนี้ และที่ขาดไปไม่ได้เลย คือความตื่นเต้นของผู้คนที่มีต่อวงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
สีของยุค ’60s จึงเต็มไปด้วยความสดใส ดูแล้วรู้สึกเต็มไปด้วยแรงขับเคลื่อนของวัยหนุ่มสาว การเลือกใช้คู่สีนั้นก็แสบสัน ใช้สีสดมาเข้าคู่กันแบบไม่เคอะเขิน และด้วยกลุ่มวัยรุ่น ‘ฮิปปี้’ และศิลปะแนวไซคีเดลิก (ที่เป็นวัฒนธรรมย่อยจากป็อปคัลเจอร์อีกทีหนึ่ง) ดนตรีร็อกแอนด์โรล และการเสพกัญชาทำให้ผู้เสพมีแนวโน้มที่จะถูกดึงดูดด้วยสีสด อย่าง Hot pink, ส้ม Vermillion หรือ Cyan blue
ในวงการอุตสาหกรรม สินค้าที่เป็นตัวแทนก็คงเป็นรถยนต์ ซึ่งสีที่ใช้บนรถยนต์นั้นจะมีราคาต้นทุนที่ต่างกัน แน่นอนว่าสีที่ถูกที่สุดคือสีพื้นอย่างสีขาวและดำ แต่ด้วยความเฟื่องฟูทั้งเศรษฐกิจและนวัตกรรม ทำให้รถยนต์มีเฉดสีที่กว้างขึ้น แปลกใหม่ขึ้น และสดขึ้น อย่างรถคลาสสิกยอดนิยมอย่างฟอร์ดมัสแตงก็มีสี Hot pink ออกมาเช่นกัน เรียกได้ว่ายุคนี้น่าจะเป็นยุคที่มีการใช้สีสันได้อย่างระห่ำที่สุดยุคหนึ่ง
สียุค ’70s คืนความสันติหลังสงคราม
ต่อมาในยุค ’70s ซึ่งเป็นช่วงกลางและปลายของสงครามเวียดนาม ผลกระทบจากการสูญเสียอย่างมากมายทำให้ผู้คนต่างโหยหาความสงบสันติ กลุ่มเฟมินิสต์มีบทบาทที่แข็งแกร่งขึ้นหลังจากเริ่มต้นมาตั้งแต่ยุค ’60s ที่บทบาทของผู้หญิงยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก แต่ในยุค ’70s นี้ ผู้หญิงเริ่มเข้ามาแย่งสัดส่วนพื้นที่ในหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เห็นได้ชัดอย่างการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรอย่าง มากาเร็ต แทชเชอร์ หรือ อิซาเบล มาติเนซ เดอ เปรอง ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอาร์เจนตินา
ทัศนคติและอารมณ์ของผู้คนในยุค ’70s นั้นยังไม่ตัดขาดออกจากยุค ’60s มากนัก เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญที่คาบเกี่ยวกันค่อนข้างมาก รวมถึงประชาชนเริ่มมีอิสระทางความคิดมากขึ้น แต่จุดเด่นของยุคนี้คือความต้องการหวนคืนสู่ความสงบสุข ความเป็นธรรมชาติ ชุดสีของยุค ’70s จึงสุขุมขึ้น แม้จะยังคงสีสันเอาไว้อยู่ก็ตาม แต่เฉดและโทนของมันมีความ Earthy มากขึ้น มีสีของเปลือกไม้เข้ามาผสมผสาน อย่างสีตุ่นๆ ก่ำๆ แบบ Harvest Gold, Avocado และ Pumpkin ดูจะเป็นโทนโดยรวมของยุคนี้ ยังมีความเป็ยวัยรุ่น แต่สุขุมมากขึ้น
สียุค ’80s ความบันเทิงและสีสังเคราะห์
ในขณะที่ยุค ’80s เป็นยุคที่เฟื่องฟูและรุ่งเรืองของเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประชากรที่ขยายจำนวนอย่างมหาศาล ยุคนี้ก่อกำเนิดวัฒนธรรมอันแข็งแกร่งและกลายเป็นยุคคลาสสิกที่คนรุ่นหลังนำกลับมาใช้อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบันเทิงและแฟชั่น ยุค ’80s น่าจะเรียกได้ว่าเป็นยุคที่มีความสนุกสนานและผู้คนมีความสุขมากที่สุดยุคหนึ่ง
การกำเนิดของวิดีโอเกม ทำให้มีสีสังเคราะห์ สีเลเซอร์ และสีนีออนเกิดขึ้น การจับคู่สีที่หลากหลาย สวมใส่เสื้อผ้าแบบสีตัดกัน ได้รับอิทธิพลจากศิลปะแนวเมมฟิสต์ วัฒนธรรมการเที่ยวคลับ ส่งผลให้ชุดสีในยุคนี้เริ่มกลับมาฉูดฉาด แสบสัน และหลากหลาย ผู้คนที่โตมาในยุคนี้เริ่มใช้สีสันในการแสดงอัตลักษณ์ตัวตนได้ค่อนข้างชัดเจนและไม่เคอะเขิน
สียุค ’90s ความขบถที่เรียบง่าย
ช่วงต้นของยุค ’90s ยังได้รับอิทธิพลความสดใสจากยุค ’80s มาไม่น้อย รวมถึงแฟชั่นและไลฟ์สไตล์แบบ Grunge และศิลปะกราฟิตีเป็นที่นิยมของยุค ’90s รวมถึงความคิดแบบขบถยังทำให้ภาพรวมของสีในยุคนี้ ยังคงมีสีสันที่สดใสหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะสีเขียว Lime Green
แต่ความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันเนื่องจากภาวะวิกฤต Y2K และภาวะฟองสบู่แตกทำให้ผู้คนในยุค ’90s ตกอยู่ในความมืดหม่น จากที่เคยใช้ชีวิตอู้ฟู่ก็ต้องประหยัด วิถีชีวิตของคนในช่วงกลางจนถึงปลายยุค ’90s จึงมุ่งเข้าสู่ความเรียบง่าย เบสิก พื้นฐานมากที่สุด ข้าวของเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ที่เคยมีตัวเลือกสีสันสดใสถูกลดทอนเหลือเพียงสีพื้นๆ เพราะต้องการใช้ต้นทุนการผลิตให้ลดลง จึงเกิดเป็นการเข้าคู่กันระหว่างสีโทนกลางไปถึงอ่อน กับสีสันสดใสสำหรับชุดนี้ของยุค ’90s
สียุค 2000s สีแห่งเทคโนโลยี
การผลัดเปลี่ยนขึ้นศตวรรษใหม่ของยุค ’00s หรือตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2009 ผู้คนทั่วโลกมุ่งหวังไปในทิศทางเดียวกัน คือการเริ่มต้นใหม่และการเติบโตไปข้างหน้า ในช่วงยุค ’00s นั้นมีการเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี วิทยาการและนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดียที่ย่นระยะคนทั้งโลกให้ใกล้ขึ้น
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดทางวัตถุ ที่ทำให้ผู้คนใฝ่หาความเจริญทางจิตใจเช่นเดียวกัน บริษัท Pantone ได้ประกาศว่าสีฟ้า Cerulean คือสีประจำปี 2000 และยังบอกอีกว่าเป็นสีที่เหมาะสมสำหรับยุคมิลเลเนียล เพราะผู้คนต่างต้องการสิ่งที่เข้ามาเติมเต็มจิตวิญญาณในช่วงเวลาแห่งอนาคตที่น่าตื่นเต้นแต่ไม่แน่นอน ซึ่งสีฟ้าเทานี้ได้มอบความรู้สึกที่ปลอบประโลมจิตใจได้ดีและนำพาซึ่งความสงบในจิตใจ
วิถีชีวิตแบบ Minimalism นั้นได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุค ’90s แต่มามีบทบาทเด่นชัดที่สุดในยุคมิลเลเนียลนี้ ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างการทำตัวให้เรียบง่ายสมถะกับการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ตัวตน ผู้คนไม่ได้ละทิ้งสีสันไปเสียทีเดียว จึงทำให้ภาพรวมของสีในยุคนี้ออกมาเป็นสีสันหลากหลาย แต่มีเฉดและโทนที่อมเทาและเงิน สะท้อนถึงความเป็นดิจิตอล เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมได้ดี
สียุค 2010s ความสงบท่ามกลางยุคไฮสปีด
ต่อมาจนถึงยุค 2010s ซึ่งเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต และชีวิตไร้สายเฟื่องฟูจนถึงขีดสุด แม้จะยังไม่ครบสิบปีก็ตามที แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมากมาย สีประจำแต่ละปีที่บริษัทแพนโทน (Pantone) ประกาศออกมา แสดงให้เห็นถึงภาพรวมทัศนคติของคนในยุคนี้ ที่ต้องการความก้าวหน้า แรงบันดาลใจ ความสุข และการเติมเต็มฟื้นฟูจิตวิญญาณ
ตัวอย่างของสีที่เป็นที่นิยมและเป็นจุดเด่นของยุค 2010s ก็ได้แก่สี Turquoise ในปี 2010 ที่กลายเป็นที่นิยมอย่างมากในปีนั้นและมีผลมาจนถึงปัจจุบัน หรือสีที่เป็นสัญลักษณ์ ตัวแทน และกระบอกเสียงที่ขับเคลื่อนสังคมอย่างสี Millennial Pink ที่ปรากฏขึ้นให้เห็นตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2014 และยังเป็นที่คลั่งไคล้จวบจนปัจจุบัน
ส่งไม้ผลัดจากสีเขียว Greenery ในปี 2017 มาสู่สีประจำปี 2018 ที่ประกาศโดยแพนโทน นั้นก็คือ Ultra Violet สีม่วงอมน้ำเงินที่ดูลึกลับแต่เสริมสร้างแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ เฉดสีม่วงเป็นสีที่แทนค่าความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความเป็นอัตลักษณ์ตัวตนอยู่แล้ว สีม่วงคือสัญลักษณ์แห่งความขบถและความเป็นเลิศทางศิลป์ ที่ศิลปินระดับตำนานอย่าง พรินซ์ เดวิด โบวี และ จีมี เฮนดริกซ์ นำมาใช้จนกลายเป็นสีที่โดดเด่นในวงการป็อปตะวันตก
สี Ultra Violet เดิมทีแล้วก็เป็นสีที่มีคุณสมบัติเกี่ยวกับจิตวิญญาณ เชื่อมโยงไปถึงการทำสมาธิและการยกระดับจิตใจ ในโลกที่สับสนวุ่นวายและผู้คนต่างใฝ่หาการหลีกหนีจากภาวะที่อลหม่าน ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในสังคม สงคราม และปัญหาผู้อพยพ ผู้คนต่างสงสัยและแคลงใจต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ดังนั้นสี Ultra Violet จะช่วยขับกล่อมให้สงบและทำให้เกิดการค้นพบสิ่งใหม่ ทั้งทางวัตถุและจิตใจ เพื่อนำไปสู่การทดลองและทำสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมายในปี 2018 นี้
สีเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราและเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน บนพื้นฐานของอารมณ์และความรู้สึก สีมีส่วนที่ทั้งสะท้อนทัศนคติ ความมุ่งหวังของผู้คน และทั้งเป็นสิ่งที่ชี้วัด ชี้นำ และขับเคลื่อนอารมณ์ของคนทั้งโลกไป มันก็น่าสนใจว่า เหตุการณ์รอบตัวเราที่เกิดขึ้นในแต่ละปี หรือทุกๆ ช่วงสิบปี จะก่อให้เกิดเทรนด์สีอะไรออกมาบ้าง และในอนาคตจะมีสีใดบ้างที่ขึ้นมามีบทบาทในสังคมของเรา
อ้างอิง:
https://www.fastsigns.com/blog/detail/2014/07/17/pantone-colors-of-the-year-reminiscing-the-2000s
https://www.pantone.com/pages/pantone.aspx?pg=21111&ca=90
https://www.pantone.com/color-of-the-year-2018
https://www.color-meanings.com/the-history-of-color-by-decade-popular-colors-over-time/
Tags: การออกแบบ, graphic design, color, สี, design