“Ask three then me.” – ถามเพื่อนสามคนก่อน แล้วค่อยถามพี่เลี้ยง
นั่นคือ motto ของสำนักนักโค้ด CoderDojo Thailand ชุมชนการเรียนรู้แบบอิสระเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมสำหรับเด็ก ก่อตั้งโดย มิชารี มุคบิล อดีตซีอีโอของ Proteus Ops บริษัทไอทีชั้นนำของไทย
Coding หรือการเขียนโค้ดกำลังมาแรง พ่อแม่หลายคนเริ่มเห็นความสำคัญ บ้างมองว่าเป็นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 บางคนเพียงอยากให้เด็กเล่นและใช้งานคอมพิวเตอร์แบบรุกมากกว่าตั้งรับ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเริ่มมีสำนักเรียนเขียนโค้ดผุดขึ้นมารองรับ และอาจกลายเป็นดอกเห็ดอีกสายพันธุ์ที่เราคงจะเห็นเกลื่อนเมืองในไม่ช้า
แต่อะไรทำให้สำนักนักโค้ดแห่งนี้เปิดห้องเรียนแบบไม่มีครู มีแต่ mentor หรือพี่เลี้ยงที่มาช่วยแนะมากกว่าช่วยสอน แถมยังเน้นให้เด็กๆ สอนกันเอง ซึ่งเด็กในทีนี้มีตั้งแต่อายุ 7 ขวบไปจนถึง 17 ปี
เพื่อตอบคำถามนี้ The Momentum มีนัดกับคุณมิชารี หรือ ชารี ที่สำนักโดโจบนชั้น 11 อาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์
ในห้องประชุมขนาดย่อมของอนันดา ดีเวลอปเมนต์ ผู้สนับสนุนสถานที่แก่ CoderDojo Thailand มาแต่ต้น มี ‘นินจา’ นักโค้ดจิ๋วนั่งง่วนอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ส่วนตัวแล้วสี่คน บางคนกำลังฝึกเขียนโค้ดกับ code.org อีกคนกำลังเรียนรู้การใช้งาน block programming ด้วยโปรแกรม ScratchJr อีกคนที่ตามเข้ามา เปิดโน้ตบุ๊กและทำแอนิเมชันจากรูปวาดลายเส้นที่เขาวาดขึ้นเอง
เท่าที่เห็นเด็กๆ ดูจะยังไม่มีคำถามที่พวกเขาตอบกันเองไม่ได้
แต่กับ ‘ชารี’ เจ้าสำนักโค้ด เรามีคำถามมากมายที่อยากให้เขาตอบ
คุณอยู่เมืองไทยมานานหรือยัง
ผมเป็นคนไทยเชื้อสายอินเดียรุ่นที่ 4 คุณพ่อของคุณทวดมาจากรัฐคุชราต อินเดีย ก่อนหน้านี้ครอบครัวเราทำธุรกิจกระดาษ แต่ปิดกิจการไปตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ส่วนตัวผมเติบโตมาสายไอที เรียนที่กรุงเทพคริสเตียน แล้วเข้าบางกอกพัฒนา จบปริญญาตรีวิทย์ฯ คอมพ์ (Computer Science) จากออสเตรเลีย
จบกลับมาแล้วทำอะไรบ้างคะ
เข้าไปร่วมงานในโปรเจ็กต์ ก้านกล้วย (กำกับฯโดย คมภิญญ์ เข็มกำเนิด) เขาเชิญให้ไปทำหลังบ้าน ออกแบบและทำระบบ infrastructure ทั้งหมดสำหรับก้านกล้วย แล้วก็อยู่ในวงการ visual effects มาสักพักหนึ่ง หลังจากนั้นก็ทำโน่นนี่ ออกไปทำบริษัททัวร์ แล้วปิดไปหลังเหตุการณ์เสื้อแดงสักพักหนึ่ง ผมก็กลับไปดูแลโปรเจ็กต์ของที่บ้าน แล้วมาเป็นซีอีโอของบริษัทโฮสติ้งอยู่ประมาณสองปี เพิ่งออกมาได้ประมาณสองเดือน
ทำไมถึงลาออก
ที่บ้านผมทำบ้านเรียน (Homeschool) ผมมีลูกสองคนเป็นฝาแฝด ตอนนี้สี่ขวบแล้ว แล้วมันเกิดความขัดแย้งเรื่องเวลา ซึ่งไม่ว่าจะทำอะไรผมจะเลือกลูกก่อนทุกครั้ง ก็เลยตัดสินใจกับคุณภรรยาว่า บทซีอีโออาจจะไม่เหมาะกับผม ก็ถอนตัว ให้คนอื่นเป็นซีอีโอแทน ผมมาดูแลฝ่ายมาร์เก็ตติ้ง แต่เป็นกึ่งอิสระ
เลือกระบบโฮมสคูลให้ลูกแต่ต้นเลยหรือคะ
ใช่ครับ ตอนที่เขาเกิดผมก็ตัดสินใจที่จะทำโฮมสคูลเลย เพราะผมกับคุณภรรยาคิดว่าโรงเรียนนี่มันเสียเวลามาก และคิดว่าด้วยเครื่องมือที่มีอยู่เราน่าจะทำได้ดีกว่านี้
เครื่องมือที่ว่านี้คืออะไร
อย่างตอนนี้เรามีอินเทอร์เน็ตแล้วไงครับ เพราะว่าระบบโรงเรียนถูกออกแบบมาเพื่อที่จะแก้ปัญหาบางอย่าง ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาอีกต่อไป อย่างสมัยโบราณคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ คิดเลขไม่เป็น โรงเรียนก็ถูกออกแบบมาเพื่อที่จะสอนให้เขาอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น เพื่อว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งเขาจะได้ไปเป็นแรงงานในโรงงานได้และมีชีวิตดีขึ้น แต่ว่าตอนนี้ข้อมูลไม่ได้เป็นสิ่งที่หายากอีกต่อไป และเราไม่ได้มีเวลาจำกัดแค่ 12 ปีด้วย เพราะอย่างตัวผมเองสังเกตว่าผมเปลี่ยนบทบาทตลอด ผมข้ามไปทำทัวร์ ทำนี่ทำโน่น เหตุผลที่ผมสามารถจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ ก็เพราะผมถือว่าทุกครั้งที่ต้องก้าวกระโดดไปทำอะไร ผมสามารถเรียนรู้ทุกอย่างใหม่ได้ แล้วทำไมลูกผมจะทำไม่ได้ ถ้าเขาอยากทำอะไรก็สามารถไปเรียนรู้ สักพักหนึ่งเดี๋ยวเขาก็ทำได้
อีกเรื่องคือ ระบบของโรงเรียนค่อนข้างตายตัว มีการวางหลักสูตรมาจากกระทรวงศึกษาฯ ระบบที่เรียนกันจากอนุบาลหนึ่งไปจนถึงมัธยมหกก็ตายตัว แทบจะเหมือนกันทั่วโลก ในระดับหนึ่งมันเป็นเพราะเขาถือว่าโรงเรียนเป็นสถานรับเลี้ยงเด็ก จนกว่าเด็กอายุ 18 แล้วค่อยปล่อยไป แต่สำหรับผม ผมคิดว่าไม่ใช่ เด็กควรรับผิดชอบได้ตั้งแต่เขาอายุยังน้อย ถ้าเป็นอย่างนั้นได้ เขาจะสามารถเลือกและทำอะไรได้มากกว่ากับชีวิตของเขา
แต่คิดไหมว่า ลูกคุณชารีอาจไม่ได้รับประสบการณ์บางอย่างเหมือนเด็กที่ไปโรงเรียน
ขาดครับ เช่นเขาคงไม่มีวันเจอประสบการณ์ที่จะต้องขออนุญาตเข้าห้องน้ำครับ เด็กโฮมสคูลค่อนข้างมีปัญหากับอำนาจ ผมเจอมาเยอะ เวลาเขาไปอยู่ในสถานการณ์ที่มีคำสั่งอะไรลงมาแบบไม่ค่อยมีเหตุผล เขาจะอยู่ไม่ค่อยได้ เขาจะสงสัยและคิดตลอดว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้ แต่เด็กที่อยู่ในระบบโรงเรียนจะไม่ค่อยมีปัญหากับการรับคำสั่ง
ขอยกตัวอย่างว่าที่โดโจ จะรู้เลยว่าเด็กคนไหนเป็นเด็กโฮมสคูล คนไหนไปโรงเรียน เช่น เด็กไม่ไปโรงเรียนเข้ามาแล้วเขาจะเปิดคอมพ์ แล้วเดินไปเดินมาสักพัก ดูว่าคนอื่นทำอะไรบ้าง แล้วเขาก็จะเริ่มทำเอง แต่เด็กไปโรงเรียนเข้ามาแล้วจะเอาคอมพ์มาไว้บนโต๊ะ แล้วไม่รู้จะทำอะไร รอฟังคำสั่ง
แล้วอะไรทำให้คุณก่อตั้ง CoderDojo Thailand ขึ้นมา
ผมคิดว่าผมต้องเริ่มลงทุน คือถ้าผมต้องการโอกาสให้ลูกๆ ผมเติบโตและเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องเข้าโรงเรียน อย่างไรเสีย ผมก็ต้องสร้างพื้นที่ที่เขาจะสามารถเรียนรู้ได้ โดโจถือว่าเป็นการทดลองครั้งแรก โดยใช้โมเดลของ CoderDojo Foundation พวกกีก พวกเนิร์ด จะชอบกังฟู คาราเต้ นินจา เราจึงเรียกเด็กๆ นักโค้ดของเราว่านินจา ผมเองเป็นคนชอบคอมพ์ และจากประสบการณ์ เวลาผมจ้างคนมาทำงานไอที ทั้งๆ ที่เป็นคนที่เรียนคอมพ์และจบออกมา แต่เหมือนว่าผมต้องล้างวิชาความรู้ของเขาใหม่หมด ต้องเริ่มใหม่หมดทุกครั้ง แทบจะทุกคนเลย แต่คนที่สามารถจะมาทำงานได้เลยมักเป็นคนที่สนใจคอมพ์อยู่แล้ว
คิดว่าเพราะอะไร
ไม่รู้ครับ คงเหมือนกับคนที่เล่นฟุตบอล ซึ่งมีความแตกต่างกันระหว่างคนที่เล่นฟุตบอลเพราะว่าเขาสนใจ กับคนที่เล่นเพราะคิดว่าวันหนึ่งเขาอาจจะได้งาน คนที่ชอบฟุตบอลนั้นเวลาทำอะไรอื่นเขาก็จะฝันถึงฟุตบอล อ่านนี่ดูโน่น แต่คนที่เล่นฟุตบอลเพื่อให้ได้งาน หรือคนที่เรียนเพื่อจบมามีอาชีพ เวลาเรียนความตั้งใจคือเพื่อให้สอบผ่าน และเขาก็อาจจะสอบผ่าน แต่ก็ได้แค่นั้น
หมายถึงมีทักษะ แต่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์
ไม่ใช่แค่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ แต่เขาไม่เข้าใจว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ เขามีความรู้แต่ไม่ได้เข้าใจ
ขนาดนั้นเลย
ซีเรียสมากเลยครับ ผมเจอมาตั้งแต่เริ่มทำงาน นั่นคือปี 2001 สิบหกปีแล้วก็ยังเห็นแบบนั้น ฉะนั้น สำหรับโดโจ ผมอยากให้มองในฐานะชมรม แทนที่จะเป็นชมรมฟุตบอลหรืออะไรอื่น เราก็คือชมรมเขียนโค้ด เวลาเด็กๆ มา เขาจะดูว่าคนอื่นทำอะไรอยู่ และมันจะมีการแข่งขันกันเล็กๆ น้อยๆ เพราะว่าเด็กก็เหมือนผู้ใหญ่ เขาก็มีอีโก้เหมือนกัน ชอบอวด เอางานมาอวดเพื่อน อวดความรู้ของตัวเอง เช่นว่าทำแบบนี้ได้ทำแบบโน้นได้ เพื่อนๆ ก็ไม่ยอมใคร กลับไปศึกษาแล้วก็มาอวดว่าฉันก็ทำแบบนี้ได้
แสดงว่าโดโจไม่ใช่ห้องเรียนสอนเขียนโค้ด ไม่ใช่ว่าเรียนสี่สัปดาห์แล้วเด็กจะเขียนโค้ด Python ได้ ทำแอนิเมชันได้
ใช่ เราไม่มีเลย เราถือว่าทุกคนไม่เหมือนกัน ถ้าเด็กสนใจที่จะเรียนเราก็แนะนำเขาได้ว่าควรเปิดสื่ออะไรในการเรียน หรือผมเองอาจจะคอยแนะนำ แต่เด็กทั่วไปอาจจะยังไม่สนใจ ยังไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร เราจะให้เขาเล่น code.org บางคนอาจนั่งทำแอนิเมชัน วาดรูปเล่น ก็ไม่เป็นไร เพราะมันก็เป็นการเรียนรู้เหมือนกัน
เด็กๆ มาจากไหนกันบ้าง
ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มบ้านเรียนครับ ผมจัดวันพุธบ่ายโมง เด็กไปโรงเรียนคงจะมาไม่ได้ ที่เน้นจัดให้กลุ่มบ้านเรียนเพราะคิดว่ากลุ่มบ้านเรียนเข้าใจคอนเซ็ปต์นี้ แต่ถ้าเด็กไปโรงเรียนผู้ปกครองอาจไม่เข้าใจ ยังอาจคิดว่าต้องมีครูสอน พอจบสี่สัปดาห์แล้วควรจะได้อะไรบางอย่าง ซึ่งไม่ใช่แนวคิดของเรา เราเปิดมาตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคม มีเด็กเปลี่ยนหน้าไปบ้าง บางคนกลับมาเรื่อยๆ บางคนหายไปแล้วกลับมาใหม่ ผมค่อนข้างฟรีสไตล์เรื่องนี้ เพราะถ้าเด็กไม่สนใจ เขาไปทำอย่างอื่นดีกว่า
ที่นี่เราไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับสถานที่ อนันดาดีเวลอปเม้นท์เขาให้ใช้ฟรี แต่กว่าจะได้มาพบกับอนันดาฯ ใช้เวลานานมาก ผมเคยไปคุยกับ TK Park แต่เขาไม่พร้อมที่จะจัดทุกสัปดาห์ หากเป็นกิจกรรมแบบครั้งเดียวจบเขายินดี โดโจหลายที่ก็มีปัญหา เช่นที่ด่านช้าง สุพรรณบุรี เขาคุยกับห้องสมุดท้องถิ่น และห้องสมุดก็ให้พื้นที่ แต่ว่าเจอปัญหาเรื่องอินเทอร์เน็ตโบราณ เขาทำอะไรไม่ได้ ต้องของบประมาณจากจังหวัด ไม่สามารถปรับปรุงอินเทอร์เน็ตของเขาได้ จะเจอปัญหาพวกนี้ ทำให้ผมคิดว่าการทำงานร่วมกับเอกชนเป็นโมเดลที่ดีที่สุด อย่างของเรา วันไหนที่ผมมาไม่ได้ ก็จะมีผู้ปกครองท่านอื่นดูแล เราเรียกว่าเป็น self-led learning ตัวเองเป็นคนนำการเรียนรู้ของตัวเอง
ผมมองว่าปัญหาเรื่องการศึกษาของเมืองไทยรอใครไม่ได้แล้ว อีกอย่างหนึ่งคือกระทรวงศึกษาฯ หรือระบบการศึกษาทั้งหมดไม่มีส่วนได้เสียกับอนาคตของเด็ก อย่างสมัยพวกเราเรียนกัน รัฐมนตรีไม่รู้จักผม นโยบายที่เขาออกมาไม่ได้ตอบสนองความสำเร็จในอนาคตของผม เขาไม่รู้ว่าอนาคตของผมจะเป็นอย่างไร เขาไม่รู้จัก ไม่ติดตาม ไม่ทราบแบ็กกราวนด์ของผม ซึ่งก็ต่างจากคนอื่น กลายเป็นว่าระบบการศึกษาทำให้เสียเวลาเยอะ เพราะเขา…จะเรียกว่ายัดเยียดก็ได้ ฉะนั้นหลายเรื่องจึงเอาไปใช้งานไม่ได้
เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการศึกษาควรถูกกำกับในระดับของชุมชน เหมือนปัญหาอื่นๆ ในประเทศไทย หลายปัญหามันไม่ใช่ปัญหาของคนอื่น แต่เป็นปัญหาของเราเอง ผมถึงชอบโมเดลนี้ เพราะเราให้อนันดาฯ เข้ามามีส่วนร่วม ให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม ถ้ามีปัญหาอะไรเราก็มาหารือและแก้ปัญหากัน เพราะเรารู้จักเด็กทุกคน เรารู้นิสัยของเขา รู้ว่าเขาจะออกมายังไง ผมถือว่าเป็นการฝึกและสร้างวิธีการทำงานร่วมกัน
ในงาน TEDxCharoenkrung ที่ผ่านมา (17 ธันวาคม 2560) คุณเป็นหนึ่งใน ‘คนลงมือทำ’ ที่ได้เล่าถึงแนวคิดและสิ่งที่ทำ อะไรคือประเด็นหลักที่คุณนำเสนอ
ประเด็นหลักคือผมคิดว่าการศึกษาที่เป็นอยู่นี้ล้าสมัยแล้ว ผมเห็นเด็กๆ ที่โดโจพัฒนาตัวเองและเรียนรู้ได้จากศูนย์มาจนถึงระดับที่เขาทำได้นั้น ทำให้ผมเห็นว่าระบบการศึกษาแบบอนุบาลถึงมัธยมหกที่เป็นอยู่ มีความสำคัญน้อยลงไปมาก และการหาประสบการณ์การเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญ ไม่จำเป็นต้องอิงระบบที่ครอบลงมาเหมือนในปัจจุบัน แต่คือการเอาตัวเราเองและคนรอบตัวเข้าไปสู่ประสบการณ์การเรียนรู้บางอย่าง อาจเป็นการเขียนโค้ด การทำแอนิเมชัน การทำกับข้าวก็เป็นประสบการณ์การเรียนรู้ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ การที่เราเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งที่โรงเรียนไม่ได้สอน แต่เมื่อเราไปเจอสถานการณ์อะไรที่เรามีความจำเป็นที่จะเติบโตขึ้นมาโดยการหาความรู้เข้ามาเสริม เพื่อที่เราจะสามารถเติบโตได้ นั่นล่ะคือการเรียนรู้ที่แท้จริง และการที่เราเรียนรู้วิธีการทำแบบนั้นได้บ่อย ก็คือการเรียนรู้วิธีการเรียนรู้
ตอนนี้มีคนถามกันมากว่า ในอนาคตเมื่อ AI (ปัญญาประดิษฐ์) เข้ามามากเข้า แล้วมันจะเหลืออาชีพหรือเหลือความรู้อะไรอีกไหม ที่เอไอทำไม่ได้แน่นอน
นั่นสิครับ แต่คอนเซ็ปต์ของอาชีพนี่เป็นอะไรที่ใหม่นะผมว่า อาชีพเกิดมาแค่ประมาณสองร้อยปีเท่านั้น แต่ก่อนมันมีอาชีพแล้วก็กลายเป็นระบบวรรณะ หรือเป็น guild หรือสมาคมในโลกตะวันตก ซึ่งเป็นเรื่องของคนกลุ่มเล็กมากๆ และคนที่เหลือก็ไม่ใช่อะไรเลย ผมเห็นว่าในอนาคตนั้น เราน่าจะเริ่มถามตัวเองว่าทำไมคนเราต้องมีอาชีพ และก็กลับไปสู่ยุคเดิม อย่างในสมัยก่อนถ้าเราต้องการผลไม้ เราก็ไปหาต้นไม้ เด็ดมากินได้ เป็นเรื่องเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ต้องอาศัยกลไกทางเศรษฐศาสตร์ ทีนี้ในอนาคตในเมื่อเอไอควบคุมทุกอย่าง ผลิตทุกอย่าง เป็นไปได้ไหมที่สินค้าบริโภคหรือสินค้าอำนวยความสะดวกในชีวิตเรา มันจะสร้างขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ (อัตโนมัติ) โดยไม่มีมนุษย์หรือใครควบคุม และเราก็สามารถเข้าถึงมันได้
แต่ก็ยังมีคำถามอยู่ว่า แล้วมนุษย์จะไปทำอะไร จะไปอยู่ตรงไหน
นั่นสิครับ แต่ว่าคนที่ถูกสอนมาหรือเรียนมาตามระบบ เรียน 12 ปี ต่อมหาวิทยาลัยดัง ทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ แล้วคิดว่าชีวิตนี้จะสบาย คนพวกนี้จะลำบาก แต่อย่างผมไม่ลำบาก ข้างหน้าจะทำอะไรก็ว่าไป เราก็ปรับตัว ฉะนั้น การเรียนรู้ที่จะเรียนรู้จึงสำคัญ เพราะเราเปลี่ยนหรือทำสิ่งใหม่ได้เสมอ
จากประสบการณ์ในแวดวงไอที คุณชารีคิดว่าเพราะอะไร คนอินเดีย คนจีน หรือแม้แต่ไทยเอง มีคนเก่งด้านไอทีเยอะมาก แต่เราไม่ค่อยมีคนที่จะขึ้นมายืนแถวหน้า ที่เราจะเรียกว่าเป็น innovator ได้เลย ปัญหามันอยู่ตรงไหน
มันเป็นปัญหาเชิงระบบครับ ผมมีประสบการณ์ทำงานกับโปรแกรมเมอร์ชาวอินเดีย หลายคนก็ไม่ต่างจากคนไทย คือไม่มีความเข้าใจว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ มันกลายเป็นระบบเอกสาร สเป็กเป็นแบบนี้ คนเขียนโปรแกรมก็เขียนตามแบบนี้ เมื่อผลิตออกมาได้ตามสเป็กทุกคนก็แฮปปี้ แต่ถามว่ามันได้ประโยชน์ไหม ไม่ได้ เอาไปใช้งานไม่ได้
ยกตัวอย่างบ้านเราที่เห็นชัดที่สุดคือ ตู้หยอดเหรียญในรถเมล์ที่เพิ่งยกเลิกโครงการไป ทุกอย่างเป็นไปตามสเป็กหมด แต่สุดท้ายแล้วใช้งานไม่ได้ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์บ้านเราเต็มไปด้วยโปรเจ็กต์แบบนี้ อย่างตู้หยอดเหรียญรัฐหมดไปพันกว่าล้าน ซึ่งพันกว่าล้านนี้ก็มีคนได้ตังค์ถูกไหม แล้วพอเขาจบโปรเจ็กต์นี้เขาก็จะไปโปรเจ็กต์หน้า แล้วจะมีงานสำหรับคนกลุ่มนี้อยู่เยอะ ซึ่งไม่สำคัญว่าเขาจะเก่งไหม ตราบใดที่เขาทำตามสเป็กที่อยู่ในกระดาษได้ เขาก็ได้งาน คนที่เก่งจริงๆ ก็มักจะไปกระจุกอยู่ในบริษัทอเมริกัน สำหรับจีนนั้น ประเด็นคือเขาสามารถจ้างโปรแกรมเมอร์ทีมละเป็นพันคนได้ ถ้าดูตามสถิติ จ้างมาพันคนอย่างน้อยก็คงจะมี 5-6 คนที่ทำงานเป็น ซึ่งพวกนี้จะเป็นคนนำทีม แต่ก็ไม่มีใครเป็นพระเอก
อีกอย่างหนึ่ง ที่อเมริกาหรือที่อื่นเขามีการรวมกลุ่ม มีการจัดประชุมสัมมนาให้คนได้มาแลกเปลี่ยนกัน ในไทยเพิ่งเริ่มมีเมื่อไม่นาน แต่จะรอให้รัฐสนับสนุน ผมว่าเขามักสนับสนุนกันผิดที่ และเขาทำระบบนิเวศพัง
แบบไหนที่เรียกว่าสนับสนุนผิดที่
อย่างเช่นเขาจะสนับสนุนโปรเจ็กต์ที่…มันเกิดขึ้นไม่ได้…(เน้นคำ) หรือเกิดขึ้นได้ยาก ผมเคยเข้าไปมีส่วนร่วมในโปรเจ็กต์ไอทีของรัฐมากกว่าหนึ่งโปรเจ็กต์ มันเป็นแบบนี้ตลอด จัดคณะกรรมการขึ้นมา ทำสเป็ก เบิกงบฯ ทำระบบ สุดท้ายก็ไม่มีใครใช้ แล้วมันเป็นแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ ปัญหาก็คือมันดึงเงินออกจากคนอื่นที่อยากทำอะไรที่มันเวิร์ก คือถ้าผมจะทำอะไรบางอย่าง แล้วผมเป็นสตาร์ตอัปเล็กๆ กำลังหาทุนอยู่ แล้วจู่ๆ มีข่าวว่ารัฐบาลกำลังจะลงเงินสองพันล้านในบริษัทคู่แข่งผม นายทุนผมหนีหมด ไม่มีใครอยากเข้ามาแข่ง แล้วสุดท้ายโปรเจ็กต์นั้นล่ม แล้วผมก็ตายด้วย
ที่อเมริกาหรือที่อื่นเขามีการรวมกลุ่ม มีการจัดประชุมสัมมนา ในไทยเพิ่งเริ่มมีเมื่อไม่นาน แต่จะรอให้รัฐสนับสนุน ผมว่าเขามักสนับสนุนกันผิดที่ และเขาทำระบบนิเวศพัง
อะไรที่ทำให้โปรเจ็กต์พวกนั้นล่ม
มันล่มเพราะไม่ได้ยืนด้วยขาของตัวเองไงครับ โปรเจ็กต์พวกนี้ยังเดินหน้าด้วยวิธีการคิดแบบห้าสิบปีที่แล้ว ซึ่งมันไม่เหมาะกับโลกวันนี้แล้ว อย่างในห้องนี้ (ชี้ไปที่นักโค้ดจิ๋ว) อาจจะมีมาร์ก ซัคเกอร์เบิร์กกำลังเกิดขึ้นก็ได้ เพราะเขาสนใจและเดินหน้าไปเรื่อยๆ ถ้าเขาสนใจจริงๆ ก็อาจจะมาคุยกับผม ผมก็สามารถพาเขาไปแนะนำผ่านคอนเน็กชันที่มี บอกว่าเด็กคนนี้เก่ง ไอเดียเขาเจ๋งมาก เขาก็โตขึ้นมาเป็นลำดับ แล้วถ้าเขาล้มเหลวเขาก็จะ fail fast และไม่เป็นไร เอาใหม่ ครั้งต่อไปอาจประสบความสำเร็จก็ได้ แต่โปรเจ็กต์ของรัฐมักจะ fail big เป็นช้างล้ม เขาสร้างฟองสบู่ขึ้นมา มีคนเจ็บตัวเยอะ แล้วก็ไม่มีใครอยากไปแข่ง บริษัทเล็กๆ ก็ไม่เกิด
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา คุณเห็นแบบนี้มาตลอด
ใช่ครับ 20 ปีมานี้ผมเห็นแบบนี้แหละ และผมก็ไม่คิดว่ามันจะเปลี่ยน เพราะข้าราชการเขาคิดแบบนี้ไง
คุณชารีเห็นด้วยไหมกับความคิดที่ว่า ‘coding is the new literacy’ เป็นอีกภาษาหนึ่งที่จะสำคัญในอนาคต
จริงครับ คือสมัยก่อน เวลาเราต้องการสื่อสารให้ใครทำอะไร ตามกระบวนการอะไรบางอย่าง พื้นฐานก็คืออักษรศาสตร์ แต่ในอนาคตเราจะเห็นว่า โค้ด หรือวิธีการใช้ชุดคำสั่งที่เราออกแบบมาจะมีประสิทธิภาพมาก ฉะนั้นผมเห็นว่าในอนาคตอันใกล้ ในการทำงานบางอย่างเราต้องเขียนโค้ดเป็น ยกตัวอย่างล่าสุด โปรติอุสกำลังพัฒนาภาษาโปรแกรมมิ่งสำหรับทนาย ให้ทนายสามารถนำไปใช้ร่างสัญญาได้ ปัจจุบัน ภาษาพื้นฐานของอาชีพทนายคืออักษรศาสตร์ เวลาเขาเอาไปทำสัญญา ในอนาคตถ้าโปรเจ็กต์นี้สำเร็จ ก็จะเปลี่ยนจากอักษรศาสตร์เป็นการเขียนโค้ด
วิธีการร่างสัญญาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีโอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาดเยอะ เพราะว่ามันจะมี text ที่ยาวอย่างน้อย 2-3 หน้า อย่างมากอาจเป็นพันหน้า แล้วเราไม่มีเครื่องมือที่สามารถตรวจสอบความแม่นยำ ความชัดเจน ตรรกะของเอกสารทั้งหมดได้ แต่ว่าคอมพิวเตอร์ต้องการความชัดเจนความแม่นยำโดยธรรมชาติ อย่างการเขียนโปรแกรม ถ้าเขียนผิดไปตัวเดียวมันจะ crash รันไม่ได้ แล้วมันจะมีระบบที่ถูกออกแบบมาเผื่อทดสอบความสมบูรณ์ของโปรแกรม ตรรกะที่ใช้ ซึ่งเราสามารถเอาเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ในการร่างสัญญาได้ เช่น เราร่างสัญญาแล้วเช็กได้ว่า ก. กับ ข. ที่บอกแบบนี้มันขัดแย้งกันไหม หรืออีกอย่างคือเราอาจใช้ภาษาโค้ดไม่กี่บรรทัดที่สามารถแปลงออกมาเป็นอักษรศาสตร์ได้ หรือสมาร์ต คอนแทร็กต์ได้
เมื่อเราไปเจอสถานการณ์อะไรที่เรามีความจำเป็นที่จะเติบโตขึ้นมาโดยการหาความรู้เข้ามาเสริม นั่นล่ะคือการเรียนรู้ที่แท้จริง และการที่เราเรียนรู้วิธีการทำแบบนั้นได้บ่อย ก็คือการเรียนรู้วิธีการเรียนรู้
จากจุดเริ่มต้นจนถึงตอนนี้ คุณพอใจกับ CoderDojo แค่ไหน
ผมแฮปปี้นะ มีเด็กมาเรื่อยๆ ถ้ามีมาหนึ่งคนผมก็แฮปปี้แล้ว อย่างตอนไปพูดที่ TEDxCharoenkrung ผมได้เล่าถึงน้องโอเค ซึ่งเป็นนินจาคนแรกของเรา ครั้งแรกที่ผมเจอเขา เขาไม่สนใจการเขียนโปรแกรมเลย พอเขาผ่าน code.org จากนั้นเขาก็เขียนเกม และสนใจเรียนคณิตศาสตร์เพื่อจะเขียนเกมได้ดีขึ้น ล่าสุดเขาสนใจเรียนภาษาอังกฤษเพื่อจะสื่อสารกับนักพัฒนาเกมได้ทั่วโลก
พ่อแม่บางคนอาจเกรงว่าสนับสนุนให้เด็กเขียนโค้ดแล้ว เดี๋ยวจะพลอยติดเกมไปด้วย
ผมว่าการชอบเขียนโค้ดกับติดเกมต่างกันนะ เด็กติดเกมเองก็มีหลายแบบ บางคนติดเกมเหมือนติดเฟซบุ๊ก คือมันจะมีปฏิกิริยาบางอย่างในสมองของเรา ซึ่งเฟซบุ๊กและเกมหลายอันมันก็ออกแบบมาให้ติดจริงๆ บ่อยครั้งคนที่ติดเกมจะไม่สนใจในการเขียนโค้ดเลย และผมอยากให้มองว่าการที่เขาติดเกมมันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของเขา สมัยก่อนเด็กออกไปเล่นนอกบ้าน ก็เป็นเกมอย่างหนึ่ง เล่นกันทั้งวันไม่กลับมากินข้าวก็มี เดี๋ยวนี้เขาอยู่หน้ามือถือ มันก็เป็นเกม เป็น process คล้ายๆ กัน
คำถามก็คือ พอเขาเล่นเกมจนเบื่อแล้ว เขาสามารถดึงตัวเองออกมาทำอย่างอื่นได้ไหม หรือว่าเขาติดจนกระทั่งว่ามันมีผลเสียกับเขาหรือเปล่า สมัยก่อนเราเป็นห่วงเด็กติดเกม แต่สมัยนี้ก็มีการแข่งเกมกันระดับโลก มีเงินรางวัลสูงๆ ด้วยซ้ำ
คุณเคยติดเกมไหม
ผมก็เคยชอบเล่นเกมนะ เล่นแบบไม่อยากไปนอนเท่าไร ก็เกมมันสนุกอะ
แล้วมีผลเสียไหม
เสียเวลา
เวลาที่จะเอาไปทำอะไร
เอาไปทำอย่างอื่น พอโตมาผมเห็นแล้วว่าโลกนี้จะมีคนสองแบบคือ producer กับ consumer วันหนึ่งผมตัดสินใจว่าผมไม่อยากเป็นผู้บริโภคแล้ว ผมอยากเป็นโพรดิวเซอร์มากกว่า ถึงจุดนั้นที่ผมพลิก ผมก็เลิกดูหนัง เลิกเล่นเกม เลิกทำอะไรที่ไม่ได้สร้างมูลค่าให้สังคม นั่นคือตอนที่คุณภรรยาเริ่มตั้งครรภ์
มีอะไรอยากฝากถึงคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ไหมคะ
ผมอยากฝากว่าอนาคตของลูกของเขานั้นไม่มีใครสนใจเท่าตัวเขาเอง เขาไม่ควรพึ่งพาโรงเรียนหรือคนอื่น ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ การฝึก การปลูกฝังค่านิยม หรือทักษะต่างๆ ในตัวเด็ก มันเป็นหน้าที่ของเผ่า มันไม่ได้เป็นหน้าที่ของบุคคลนิรนามที่ไหนก็ไม่รู้ และรูปแบบเผ่านั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะเผ่าทั้งเผ่ารับผิดชอบในอนาคตของเด็ก เพราะอนาคตของเด็กและของเผ่ามันผูกพันกัน ถ้าคุณไม่สอนเด็กให้ออกไปล่าสัตว์ สุดท้ายแล้วเผ่าทั้งเผ่าก็จะอดตาย เพราะฉะนั้นเผ่ามีส่วนได้เสีย
ผมอยากให้พ่อแม่พิจารณาว่าควรที่จะตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก เรื่องอะไรก็ได้ เด็กเขาไม่จำเป็นต้องเรียนอะไรที่เป็นทางการก็ได้ ขอให้นั่งทำในสิ่งที่ตัวเองสนุก และในขณะเดียวกัน ถ้าเขามีโอกาสได้ไปเรียนรู้เพื่อจะพัฒนาตัวเองได้ แค่นี้ก็ดีแล้ว
แต่การหันหลังให้โรงเรียนหรือการเรียนในระบบคงต้องอาศัยความกล้าหาญของพ่อแม่ไม่น้อยเลย
ใช่ครับ เพราะมันผิดจากทุกอย่างที่สังคมสอนเรามา เรื่องหนึ่งที่เจอตลอดคือ พ่อแม่คิดว่าการศึกษาของลูกตัวเอง ความสำเร็จของลูกตัวเอง เป็นหน้าที่ของคนอื่น เพราะมันมีโฆษณาชวนเชื่อประเภทที่ว่า ส่งลูกเข้าโรงเรียนนี้แล้วจบมาได้งานดี อะไรประมาณนี้ แต่มันไม่เป็นความจริง
แต่ความจริงอีกครึ่งหนึ่งก็คือ พ่อแม่ที่เป็นครอบครัวเดี่ยวหลายครอบครัว ต้องส่งลูกไปโรงเรียนเพราะต้องไปทำงาน
ก็ต้องดูไงครับว่าพ่อแม่มีความจำเป็นต้องทำงานทั้งคู่ไหม มีปัญหาเยอะมากที่ต้องคลี่คลาย แต่ก็มีครอบครัวบ้านเรียนหลายครอบครัวที่เขาคลี่คลายได้ หรือต้องอาศัยวิธีคิดที่ต่างไป เช่นครอบครัวหนึ่ง ผมถามเขาว่าทำไมไม่ดึงลูกออกจากระบบ เขาบอกไม่มีตังค์ ยังต้องทำงาน ถามว่าทำไมไม่มี เพิ่งไปผ่อนคอนโดฯ ใหม่ ถามว่าทำไม เพื่อที่จะได้อยู่ใกล้โรงเรียน (หัวเราะ) มันชอบเป็นแบบนี้ ผมเองโชคดีตรงที่ผมไม่มีภาระเรื่องค่าเทอมลูก แม้จะตกงาน ชีวิตผมก็ไปต่อได้
แน่นอนครับ การดึงลูกออกมาต้องใช้ความกล้า แต่การเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้ลูกนั้นเขาไม่ต้องใช้ความกล้าเลย เพียงแต่เขาต้องกล้าที่จะเข้าใจว่า การบ้านมันไม่สำคัญ การติวไม่สำคัญ เกรดพวกนี้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มันไม่สำคัญอีกต่อไป และควรเปิดโอกาสให้เด็กไปเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองชอบ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กเขาชอบคอสเพลย์ why not? เขาต้องไปศึกษาคาแรกเตอร์ ศิลปะ หรือกระทั่งประวัติศาสตร์ เขาต้องเรียนเยอะมากนะกว่าจะเข้าวงการคอสเพลย์ได้ ถ้าจะเจาะลึกให้รู้จริง มันก็คือการเรียน และถ้าเด็กลงลึกกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ในอนาคตเขาจะไปทำอะไรอื่นก็สามารถทำได้
ผมถึงอยากให้พ่อแม่ทุกคนสนับสนุนการเล่นของเด็กและการเรียนรู้ของเด็ก
ถ่ายภาพโดย ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย
Fact Box
จบปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จาก RMIT University เมลเบิร์น ออสเตรเลีย
เริ่มงานในฐานะ System Architect ของโปรเจ็กต์ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง ก้านกล้วย (2549) ทำงานในโปรเจ็กต์ไอทีให้กับบริษัททั้งในและต่างประเทศ
ล่าสุด เป็นซีอีโอของ Proteus Ops บริษัทโฮสติ้งสัญชาติไทย ก่อนลาออกมาทำงานกึ่งอิสระเพื่อให้เวลากับการเรียนรู้ของลูกชายฝาแฝดวัยสี่ชวบ – ไซรัส และ ดีลัน
Tags: Programming, code.org, การศึกษา, Education, Coding