ไม่แปลกที่หนึ่งในกติกาแสบๆ จากเกม Coconut Empire อย่าง “อุ้มหมากตัวไหนก็ได้ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงและเนรเทศหมากตัวนั้นไปอยู่บนเกาะ” จะแอบคุ้นหูคุ้นตาชาวไทยอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะ Coconut Empire เป็นบอร์ดเกมที่ย่อส่วนเอาวัฒนธรรมการเมืองแบบไทยๆ มาใช้ในการออกแบบกติกา

‘Coconut Empire’ เป็นเรื่องราวของอาณาจักรกะลามะพร้าว อาณาจักรที่กำลังตกอยู่ในช่วงเวลาแห่งความเคว้งคว้าง เพราะผู้ปกครองคนเก่าเพิ่งจะตายไปและยังไม่มีผู้ปกครองคนใหม่ขึ้นมาเถลิงอำนาจ และแน่นอนว่าไม่ต่างจากคำพูดของ ‘อันโตนิโอ กรัมชี’ นักทฤษฎีการเมืองชาวอิตาลีที่เคยบอกเอาไว้ว่า “อำนาจเก่ากำลังจะตาย อำนาจใหม่ยังไม่สถาปนา เป็นเวลาของปีศาจ” เหล่าผู้เล่นจะต้องรับบทเป็นกลุ่มอำนาจต่างๆ ในอาณาจักรแห่งนี้ที่พยายามจะบรรลุภารกิจต่างๆ เพื่อแย่งชิงกันขึ้นเป็นใหญ่ในอาณาจักร โดยความสนุกของเกมอยู่ตรงที่คุณจะ ‘ซื้อตัว’ ‘ฮั้วกัน’ หรือ ‘โกงกิน’ มากแค่ไหนก็ได้

แถมถ้าได้เป็นรัฐบาลเมื่อไร การจะออกกฎหมายเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามหรือช่วยให้ตัวเองสามารถสืบทอดอำนาจได้ก็กลายเป็นเรื่องหมูๆ นอกจากนี้ยังไม่ใช่การแค่ทำภารกิจของตัวเองเท่านั้นที่จะทำให้คุณกลายเป็นผู้ชนะ แต่ยังมีกติกาเพี้ยนๆ อย่าง การใช้ ‘แต้มความดี’ ที่ถูกมอบให้ตามความชอบใจของรัฐบาล หรือการจับคนเข้าคุกแล้วเปลี่ยนประเทศให้เป็นเผด็จการอยู่ด้วย!

แค่อ่านกติกายังสนุกขนาดนี้ แล้ว The Mo Ju จะพลาดการพูดคุยกับผู้ก่อตั้งประเทศกะลามะพร้าวตัวจริงอย่าง ‘นานา-วิภาพรรณ วงษ์สว่าง’ ไปได้อย่างไร

B.C. ที่หมายถึง Before Coconut Empire

นานาเล่าให้เราฟังว่า เธอเริ่มพัฒนาเกมนี้มาตั้งแต่ช่วงที่ยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีจุดเริ่มต้นง่ายๆ คือการ ‘อยากทำเกม’ ซึ่งเป็นสื่ออย่างเดียวที่เธอไม่เคยได้ลองทำมาก่อนในชีวิต โดยที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าอยากให้มันเป็นเกมเกี่ยวกับการเมืองมาตั้งแต่ทีแรก

“เกมนี้มันเริ่มมาจากงานที่เราทำส่งในวิชา Spacial Project ก่อนเป็นทีสิสของศิลปากร ซึ่งจริงๆ ตอนแรกเราไม่ได้ตั้งใจจะทำเป็นเกมการเมืองอะไรเลย เราแค่อยากทำเกม เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นสื่อที่เรายังไม่เคยทำ เราทำกราฟิก ทำภาพประกอบ เล่าเรื่องมาทุกอย่างแล้ว แต่ยังไม่เคยเล่าผ่านเกม เราก็เลยตัดสินใจว่าจะทำเกม ซึ่งตอนแรกที่ทำออกมามันก็ไม่ได้เป็นเกมการเมืองอะไรเลย เป็นเกมผจญภัยธรรมดานี่แหละ แต่พอทำไปเรื่อยๆ เราก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะสามารถทำอย่างไรให้มันแตกต่างไปจากคนอื่นได้บ้าง”

เมื่อเกิดความสงสัยขึ้นในใจครั้งนั้น นานาก็กลับไปสำรวจตัวตนและความสนใจของตัวเองอีกครั้ง จนพบว่าสิ่งที่เธอสนใจและตั้งคำถามกับมันมาตลอดชีวิตก็คือเรื่องของ ‘ความดี-ความเลว’ และ ‘การเมือง’

“ตอนเด็กอะเราเป็น ‘คนดี’ แล้ววันหนึ่งมันเกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า สิ่งที่เราคิดว่าดี จริงๆ แล้วมันอาจจะไม่ได้ดีเสมอไป เราก็เลยเริ่มสนใจประเด็น ‘ความดีและความเลว’ มาตั้งแต่ตอนนั้นว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไร มันสามารถจะเป็นอย่างอื่นได้บ้างไหม ซึ่งมันน่าจะเริ่มมาจากช่วงที่เราไปแลกเปลี่ยนที่ฝรั่งเศส เพราะพอไปอยู่ต่างประเทศแล้วคุณจะไม่ได้เป็นใครเลยในโลกใบนี้ ถ้าอยู่ไทยเราอยู่ที่โรงเรียนเราก็อาจจะเป็นคนนั้นคนนี้ของเพื่อนๆ มีคนรู้จักอยู่รอบตัว แต่พอเราไปเป็นคนที่ไม่มีอ้างอิงอะไรเลย มันเริ่มเกิดคำถามว่าแล้วจริงๆ เราเป็นใคร เราคิดอะไร เราเลยเริ่มตระหนักรู้ตั้งแต่ตอนนั้นว่าบทสนทนาที่เราคุยกับเพื่อนที่ไทยมันไม่ได้ออกมาจากการที่เราอยากจะคุยอะไรจริงๆ แต่มันออกมาจากว่าเพื่อนคุยอะไรและเราจะตอบอะไรมากกว่า

หน้าตาของเกมเวอร์ชั่นแรก

“ส่วนความสนใจเรื่องการเมืองก็มาพร้อมๆ กัน คือช่วงที่เราไปแลกเปลี่ยน ช่วงนั้นเป็นช่วงรัฐประหารปี 2549 เป็นช่วงที่มีอีเวนต์มอบดอกไม้ทหาร ทีวีออกข่าว ตอนนั้นเราอยู่ ม.6 เรายังไม่รู้ว่ารัฐประหารคืออะไรหรือมันสำคัญอย่างไร แต่พอมาถึงที่นี่เราต้องอธิบายสิ่งนี้ให้โฮสต์แฟมิลี่ที่เป็นคนฝรั่งเศสฟัง ซึ่งชุดคำตอบที่ใช้ที่ไทยมันใช้ที่นี่ไม่ได้เลย เขาไม่เข้าใจ เราก็เลยเริ่มไปศึกษาเพิ่มเพื่ออธิบายให้เขาเข้าใจตั้งแต่ตอนนั้น”

“สุดท้ายเราก็เลยหยิบเรื่องของการเมืองที่เป็นความสนใจของตัวเองมาใช้ แล้วเราก็คิดว่าเกมเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของต่างประเทศที่เคยเล่นมา เนื้อหากับระบบมันได้ก็จริง แต่ความรู้สึกมันไม่ได้ aesthetic มันไม่ได้เลย เราก็เลยมาคิดว่ามันมีอะไรในวัฒนธรรมการเมืองที่มันไทยๆ แล้วก็ห่วยแตก ซึ่งมันเป็นความสนุกที่ยังไม่ถูกจับเอามาทำบ้าง สุดท้ายก็เลยได้ออกมาเป็นเกมล้อการเมืองที่เอาความไม่เป็นธรรมเข้ามาทำให้เป็นกลไกหนึ่งในการเล่น คือเป็นเกมที่ห่วยแตกแต่ทุกคนต้องยอมรับได้แล้วก็ใช้ประโยชน์จากความห่วยแตกนั้น เกมมันเลยไม่ได้ล้อเชิงระบบแบบ Tropico หรือ เกมยูโร แต่ล้อในเรื่องของความรู้สึกที่ว่า ‘โคตรไทยเลยว่ะ’ แบบนี้มากกว่า เพราะเราไม่ได้อยากให้มันเป็นสื่อการเรียนการสอน เราอยากให้มันสนุก”

เกมเวอร์ชั่นแรก ให้คนพิมพ์ออกมาเล่นด้วยตัวเอง

Coconut Empire ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว

กว่า Coconut Empire จะคลอดออกมาเป็นเวอร์ชั่นเต็มที่เปิดให้ทุกคนได้พรีออเดอร์และจับจองกันอย่างทุกวันนี้ นานาใช้เวลาในการพัฒนาเกมยาวนานกว่า 4 ปี เพื่อให้ทั้งกติกา เนื้อหา และภาพ ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด ตั้งแต่วันที่เพิ่งเกิดการรัฐประหาร 2557 ไปหมาดๆ จนมาถึงวันที่ประเทศกลับเข้าสู่การเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อต้นปี 2562 ในที่สุดวันนี้ Coconut Empire เวอร์ชั่นใหม่ก็ได้ออกสู่สายตาชาวโลก

“ปกติเราเป็นคนไม่เล่นบอร์ดเกม แต่เราชอบดูงานออกแบบเกมแล้วก็ชอบดูรีวิวเกมอยู่แล้ว ตั้งแต่เด็กเราก็จะทำเกมลงกระดาษ แต่เราจะไม่ได้เป็นคนไปเล่น เราจะเป็นคนคิดเกมไปให้เพื่อนเล่น เพราะเราสนุกกับการเป็นพระเจ้าในเกมมากกว่า

“พอมาทำ Coconut Empire เราก็เริ่มทำเหมือนตอนเด็กๆ เลย เอากระดาษมาวาด มาตัด แล้วก็คิดว่าเราอยากให้ในเกมมีอะไรแบบไหนบ้าง ทำเสร็จแล้วก็ลองชวนเพื่อนชวนน้องมาเล่น พอคนเล่นคอมเมนต์ เราก็เอากลับมานั่งคิดแล้วแก้ไปทีละจุดๆ ค่อยๆ เพิ่มเนื้อหาหรือกติกาใหม่ๆ เข้าไป ทำซ้ำอยู่แบบนั้น แล้วระหว่างที่ทำไปการรีเสิร์ชมันก็ค่อยๆ เข้ามาทีหลัง เพราะตอนเริ่มทำมันเป็น spacial project ที่อยู่ในการเรียนวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ ซึ่งมันควรจะเป็นการออกแบบภาพอย่างเดียว แต่พอทำไปเรื่อยๆ เรากลับรู้สึกว่าภาพช่างมัน เราอยากทำตัวเกมมากกว่า ซึ่งก็คือช่วงที่เราตัดสินใจอยากจะหาคำตอบว่าความสนุกแบบโลกที่สามเป็นอย่างไรนี่แหละ เราก็เลยเริ่มไปหาพวกเปเปอร์ต่างๆ เกี่ยวกับการเมืองไทยมาอ่าน ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าการเมืองการปกครองไทยมันประหลาด มันมีลักษณะเด่นอะไร แล้วก็หยิบเอากลิ่นของมันมา”

ยิ่งอ่านมากขึ้นเรื่อยๆ นานาก็พบว่าการได้มาซึ่งอำนาจที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องของระบบหรือกฎกติกาเพียงอย่างเดียว กลับเต็มไปด้วยปัจจัยต่างๆ มากมายหลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่เธอรู้สึกติดใจและเลือกหยิบมาใช้กับเกมมากที่สุดก็คือเรื่องของ ‘รัฐนาฏกรรม’ หรือ ‘Theater Stage’

“มันเป็นเรื่องของคำว่า ‘การเมืองคือเรื่องเล่า’ เพราะรัฐนาฏกรรมมันพูดถึงรัฐในแง่ของการแสดง การมีตัวละคร มีบทบาท การมีตัวดีตัวร้าย ซึ่งนี่คือสิ่งที่ทำให้เราคิดว่าการเมืองของประเทศฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันแปลกๆ เพราะไปให้ความสำคัญกับเรื่องของตัวละครและการแสดงบทบาทมากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องแนวคิด ระบบ หรืออุดมการณ์ ดังนั้นเกมเราจะต้องไม่ได้เน้นที่ระบบแต่เน้นที่เรื่องราว เน้นว่าจะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้มีเครื่องมือต่างๆ มาให้คนผูกเรื่องมาใช้สู้กัน ส่วนตัวละครในเกมก็จะมีทั้งนักลงทุน ขุนนาง ทหาร คนดี ปีศาจ เราก็เลือกมาจากการตีความคำว่าอำนาจ ว่าถ้ามันเป็นคนมันก็คงจะมีหน้าตาประมาณนี้”

เมื่อเราขอให้เธอยกตัวอย่างกติกาที่เธอถูกใจเป็นพิเศษ นานาบอกว่า ในฐานะคนทำเกมเธอชอบกติกาที่เกี่ยวข้องกับ ‘การเซ็นเซอร์คำพูด’ มากที่สุด

“อันนี้เป็นอันที่เราคิดออกมาเอาฮา แต่ปรากฏว่ามันดันเอฟเฟ็กต์กับเกมมากๆ คือกติกาเซ็นเซอร์คำพูด โดยกติกานี้มันจะระบุเอาไว้ว่า รัฐบาลสามารถกำหนด ‘คำต้องห้าม’ ที่ถ้าผู้เล่นคนไหนพูดจะถูกรัฐบาลปรับเงินได้ มันเหมือนกับการที่เราต้องพูดคำว่า ‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร’ หรือต้องคิดคำบางอย่างมาใช้สื่อสารในเรื่องที่อันตราย แล้วมันตลกเพราะนี่ไม่ใช่การห้ามพูดนะ เป็นแค่การปรับ แต่มันกลับทำให้ทั้งเกมเงียบลงทันที มันทำให้เกิดการสื่อสารโดยไม่พูด มีการทำภาษาขึ้นใหม่ คือมันจะเกิดปรากฏการณ์ทางสังคมบางอย่างจากไพ่ใบนี้เสมอ และบางทีต่อให้กติกานี้มันถูกถอนฤทธิ์ออกไปแล้ว แต่ความเงียบหรือการไม่กล้าพูดคำนั้นๆ ก็จะยังอยู่ต่อในสังคมไปอีกสักระยะหนึ่ง”

Neo-Coconut Empire

ด้วยระยะเวลาในการพัฒนาเกมที่ยาวนานถึง 4 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากมายหลายรูปแบบ เราสงสัยว่าในสายตานานา วัฒนธรรมการเมืองไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงที่เธอเริ่มทำเกมมากน้อยขนาดไหน และเธอมีประเด็นอะไรที่อยากจะหยิบไปสร้างเป็นเกมใหม่หรือภาคเสริมของ Coconut Empire บ้าง

“เราคิดว่าสิ่งที่มันยังเหมือนเดิมคือเรื่องของภาพรวมที่ดูเหมือนจะมีระบบแต่ก็ไม่มีระบบ และมันก็ยังเป็นเรื่องของตัวละครและการแสดงอยู่เหมือนเดิม อีกอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือ เราเริ่มทำเกมตอนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพิ่งเข้ามามีอำนาจใหม่ๆ ทำเกมนานมาก แต่ตอนนี้ก็ยังมีอำนาจอยู่เลย ตอนแรกที่ทำเราก็มีความคิดนะว่าต้องรีบทำเกมให้มันเสร็จทันกระแส แต่กระแสนี้มันดันอยู่นานจนเริ่มไม่ใช่กระแส แต่มันกลายเป็นระบบอย่างหนึ่งไปแล้ว แต่ก็อาจจะดีนะ คือเกมกูนี่ทันสมัยมาก”

“ส่วนสิ่งที่เราคิดว่าอยากเอามาทำเป็นภาคเสริมหรือเอามาแตกเป็นเกมใหม่ เราสนใจเรื่อง ‘การเมืองภายในองค์กร’ มากกว่า เพราะในช่วงปีที่ผ่านมานี้เราได้มีโอกาสไปทำพรรคการเมือง คือเราทำในส่วนของเยาวชนมาตั้งแต่ช่วงการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งตอนนี้ในส่วนนี้ก็ได้ถูกยุบไปแล้ว ตรงนี้มันทำให้เราเห็นเลยว่าพอไปทำการเมืองจริงๆ มุมมองเราก็จะเปลี่ยนไป ตอนที่เราทำ Coconut Empire มันเป็นมุมมองจากคนนอกแบบสุดๆ เป็นมุมมองของผู้ชมในโรงละคร ประเด็นมันเลยอยู่ที่การจะทำอย่างไรให้ได้มาซึ่งอำนาจ แต่พอได้เข้ามาทำการเมืองจริงๆ การเมืองภายในมันคือพอคุณเข้าไปอยู่ในอำนาจแล้ว จะทำอย่างไรให้อำนาจนั้นยังอยู่กับคุณ มันเป็นการเล่นกับอำนาจที่ต่างกัน”

ความหวังของคนทำงานศิลปะในแดนกะลา

ก่อนจากกัน เราถามถึงความคาดหวังและความรู้สึกที่นานาได้รับจากการทำบอร์ดเกมของตัวเองออกมาวางจำหน่ายได้สำเร็จเป็นครั้งแรกและพบว่า สำหรับเธอ Coconut Empire ได้ทำให้การทำงานศิลปะบนอาณาจักรกะลามะพร้าวแห่งนี้พอจะดูมีความหวังขึ้นอีกครั้ง

“สำหรับ Coconut Empire เราปฏิบัติกับมันในฐานะงานศิลปะและการทดลอง เราเลยใช้เวลากับมันนานมาก แต่เราคิดมาตั้งแต่แรกแล้วว่าจะทำลง kickstarter (เว็บไซต์ต่างประเทศที่ให้บริการ platform การระดมทุนแบบ crowdfunding หรือการระดมทุนสาธารณะ) ให้ได้ เหมือนเราไปเห็นเกมอื่นๆ ที่ลงใน kickstarter แล้วมันขายได้ 80 ล้านบาท ก็เลยอยากลองทำเกมที่ขายได้ สะสมได้ แล้วก็เป็นเกมที่มีเสน่ห์เป็นของตัวเอง ส่วนเรื่องการเมืองหรือการตีความต่างๆ เราว่ามันเป็นเรื่องของผลข้างเคียงจากการเล่นมากกว่า ใครได้ไม่ได้ตรงไหนมันแล้วแต่คน จะเล่นเอาสนุกเอามันส์ในกติกาที่มันประหลาดๆ ก็ได้ หรือสำหรับคนที่อยากสะสมเราก็จะเน้นทำอาร์ตให้สวยงามน่าเก็บ

“แต่ที่มันค่อนข้างเกินความคาดหมายก็คือ เราเพิ่งจะทำ crowfunding เกมเวอร์ชั่นภาษาไทยไปเมื่อตอนช่วงก่อนเลือกตั้ง แล้วผลตอบรับมันออกมาค่อนข้างดี ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกว่าอะไรที่ทำให้คนเขาเชื่อมั่นในการโอนเงินมาให้เราก่อนแล้วก็รอให้เราส่งเกมไปให้ ทั้งที่คนซัพพอร์ตหลายๆ คน ก็ไม่เคยลองเล่นมาก่อนด้วยซ้ำ แต่เขาอยากสนับสนุน บางคนโอนเงินมามากกว่า 1 กล่อง แต่ขอรับเกมแค่กล่องเดียวก็มี เราเลยเป็นห่วงมากว่าต้องทำอย่างไรไม่ให้คนเล่นรู้สึกเจ๊งหรือผิดหวัง ยิ่งล็อตแรกมันคือล็อตของ Believer ที่เชื่อมั่นในตัวเรา เราก็ยิ่งอยากจะทำให้คนซื้อรู้สึกคุ้มค่ากับสิ่งที่จะได้รับ

“นอกจากนี้คือเรารู้สึกอยากขอบคุณจริงๆ ขอบคุณที่ทุกคนอยากจะเล่นมัน ไม่ใช่แค่คนที่ไม่เคยเล่น แต่รวมถึงหลายคนที่ตามมาตั้งแต่เกมรุ่นแรกๆ ลองเล่นกันมานาน ช่วยให้คอมเมนต์ในการปรับแก้กับเรามาตลอด มันเป็นชุมชนที่ดีมาก และทำให้เรารู้สึกว่า เออ มันเป็นไปได้จริงๆ นะ ที่เราจะทำงานศิลปะหรืองานที่ต้องใช้ความคิดในประเทศนี้ เพราะถ้าเราตั้งใจทำให้ดี มันก็มีคนที่จะคอยซัพพอร์ตเราอยู่จริงๆ”

 

*ขอบคุณภาพประกอบจาก Nanaaa และ JUNG จัง

Fact Box

  • Coconut Empire เริ่มพัฒนาในปี 2558 และเปิดขายฉบับสมบูรณ์ เวอร์ชั่นภาษาไทย ด้วยการ crowdfunding ในปี 2562 เหมาะสำหรับผู้เล่นอายุ 13 ปีขึ้นไป ใช้เวลาในการเล่นประมาณ 40-60 นาที ผู้เล่น 4-6 คน และใช้เวลาเรียนรู้กติกาประมาณ 15 นาที ในอนาคตจะมีการเปิด crowdfunding ฉบับภาษาอังกฤษอีกครั้งในช่วงเดือนตุลาคมปี 2562
  • ติดตามข้อมูลของ Coconut Empire และ นานา เพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/coconutempiregame/ และ https://www.facebook.com/nanaaafanpage/
  • ตอนนี้นานาและ JUNG จัง ผู้ที่เป็นคนรับผิดชอบงานอาร์ตทั้งหมดของ Coconut Empire กำลังจะมีโปรเจกต์ใหม่คือ RIPproject เกมแนว Point and Click ว่าด้วยชีวิตหลังความตาย โดยได้แรงบันดาลใจจากระยะเวลาสามวันระหว่างงานศพ, การเสียชีวิตในเด็ก, บรรยากาศตรอกซอกซอยในกรุงเทพ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ที่จะตั้งคำถามว่าถ้าวิญญาณมีจริงและมีเวลาไปไหนก็ได้ก่อนเผาศพ วิญญาณจะไปไหน? ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/ordinaryghost/
Tags: , , , ,