กาเบรียล ชาเนล (Gabrielle Chanel) หรือที่ใครๆ เรียกชื่อสั้นๆ ว่า ‘โคโค’ (Coco) ถือกำเนิดในโรงพยาบาลคนยากของเมืองโซมูร์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 1883 เธอคือผู้ค้นพบภาพลักษณ์ของผู้หญิงสมัยใหม่ ด้วยผ้าเจอร์ซีย์และรูปทรงที่สวมสบาย แทนเนื้อผ้าหยาบแข็ง แพรโปร่ง หรือผ้าขน ชุดกระโปรงที่ชายไม่เรี่ยพื้นอีกต่อไป หากเผยให้เห็นเรียวขาถึงหัวเข่า
เธอออกแบบกางเกงสำหรับผู้หญิงเพื่อสวมใส่ออกงาน และชุดกระโปรงสั้นสายสปาเก็ตตีที่มีชื่อเรียกในตำนานว่า ‘The Little Black Dress’ แทนที่จะเป็นเครื่องประดับอัญมณีราคาแพง เธอออกแบบเครื่องประดับที่เข้ากับแฟชั่น ทำให้สร้อยมุกกลายเป็นเครื่องประดับสำหรับชีวิตประจำวัน ส่วนน้ำหอม Chanel No.5 ก็เป็นน้ำหอมชนิดแรกที่ไม่สำแดงกลิ่นดอกไวโอเล็ต ไมยราบ (Mimosa pudica) หรือลาเวนเดอร์ หากแต่เป็นกลิ่นของสตรีผู้พร่างพรมมัน
สาวฝรั่งเศสสมัยใหม่ยุคทศวรรษ 1920s ไว้ผมสั้น สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ขับรถยนต์ และเต้นระบำชาร์ลส์ตัน ลุ่มหลงในสไตล์โคโค ส่วนกาเบรียล ช่างเสื้อผ้าที่มากไปด้วยพลังชอบสวมใส่ชุดเปิดแขน ในช่วงระหว่างสงคราม ปี 1910 ชายคนรักผู้ร่ำรวยลงทุนเปิดร้านหมวกร้านแรกให้เธอในปารีส บูติกแฟชั่นแห่งแรกบนถนนรู คงบง และยังมีร้านในแหล่งตากอากาศอย่างโดวิลญ์ และเบียร์ริตซ์
ในขณะที่ผู้หญิงคนอื่นๆ นิยมสะสมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชาเนล โคโคเองนั้นกลับนิยมสะสมชายคนรัก ในจำนวนนั้นมีหลานพระเจ้าซาร์–ขุนนางใหญ่ ดมิตรี พาฟโลวิตช์ แห่งรัสเซีย (Grand Duke Dmitri Pavlovich of Russia) และดยุกแห่งเวสมินสเตอร์ (Duke of Westminster) ชายผู้มั่งคั่งที่สุดของอังกฤษ นอกจากนั้น ยังมีศิลปินอย่าง ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) และฌอง คอคโต (Jean Cocteau) กลางทศวรรษ 1930s โคโค ชาเนลได้ก้าวถึงจุดความสำเร็จ ในปี 1936 ธุรกิจของเธอมีพนักงานรวมทั้งสิ้น 4,000 คน
ในขณะที่ผู้หญิงคนอื่นๆ นิยมสะสมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชาเนล โคโคเองนั้นกลับนิยมสะสมชายคนรัก
แต่แล้วสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็รุกคืบเข้าในฝรั่งเศส ชาเนลออกคอลเล็กชันด้วยสามสีของธงชาติ ก่อนปิดกิจการ และหนีทหารเยอรมันไปอยู่ใกล้พรมแดนสเปน ในส่วนของฝรั่งเศสที่ไม่ถูกยึดครอง ทว่าไม่ช้าเธออดรนทนอยู่ในท้องถิ่นชนบทไม่ไหว ปลายเดือนสิงหาคม 1940 เธอเดินทางกลับเข้ากรุงปารีสในความถือครองของเยอรมนีอีกครั้ง
โรงแรมริตซ์บริเวณปลาซ วังโดม ที่ซึ่งเธอเคยเช่าห้องสวีทขนาดเล็กเป็นที่พักตั้งแต่ปี 1933 สามารถมองเห็นบูติกของเธอบนถนนรู คงบงได้ ยามนี้มันถูกยึดครองโดยทหารเยอรมัน ชาเนลมุ่งหน้าไปที่โรงแรม และได้รับอนุญาตให้เข้าพักต่อไป “ถ้าเธอเป็นคนสร้างสรรค์ Chanel No.5 ละก็ เธอเข้ามาพักอยู่ได้” นายทหารลงความเห็นยินยอม
บรรยากาศภายในโรงแรมริตซ์ จากเดิมที่คลาคล่ำด้วยผู้คนแต่งกายตามสมัยนิยม พลิกเปลี่ยนเป็นผู้คนในชุดเครื่องแบบทหาร ไม่นานหลังจากนั้นสัมพันธ์รักก็เริ่มต้นขึ้น ระหว่างนักออกแบบแฟชั่นวัย 57 ปี กับหนุ่มเยอรมันวัยอ่อนกว่า 13 ปี รวมทั้งสัมพันธ์รักกับนายพลสังกัดหน่วยเอสเอส และกับเชื้อพระวงศ์ในราชสำนักอังกฤษ ในช่วงเวลานั้นชาเนลใช้ความกล้า พยายามเคลื่อนไหวเพื่อสร้างสันติภาพขึ้นระหว่างอังกฤษและเยอรมนีท่ามกลางสงคราม
ไม่มีใครรู้ในรายละเอียดว่า โคโค ชาเนลกับหนุ่มเยอรมันอย่าง บารอน ฮานส์ กึนเทอร์ ฟอน ดิงคลาเก (Baron Hans Günther von Dincklage) รู้จักมักคุ้นกันได้อย่างไร ชาเนลพูดเล่าในภายหลังว่า เธอและ ‘นกกระจอก’ ของเธอ (ชื่อที่เธอเรียกดิงคลาเก) เคยเป็นเพื่อนเก่ากันมาก่อน แต่การมาเป็นคู่รักกันน่าจะเกิดขึ้นหลังจากเยอรมนีเข้ายึดครองกรุงปารีส ในโรงแรมริตซ์
ดิงคลาเก ทายาทของขุนนางแห่งฮันโนเวอร์และสตรีอังกฤษผู้สูงศักดิ์ รูปร่างผอมสูง เป็นนักเต้นรำที่ดี และมีชื่อเรื่องผู้หญิง ตำแหน่งอย่างเป็นทางการของดิงคลาเกคือ ฝ่ายข่าวประจำสถานทูตเยอรมนี แต่ก็มีกิจกรรมอย่างอื่นอีกมากมาย เขาดูไร้แก่นสารในสายตาผู้ร่วมงาน และในความเป็นจริงแล้วดิงคลาเกไม่ใช่นักการทูต เขาเดินทางถึงกรุงปารีสในปี 1933 เพื่อปฏิบัติราชการลับภายใต้คำสั่งของกระทรวงโฆษณาการของโยเซฟ เกิบเบล (Joseph Goebbel) จะเป็นภารกิจอะไรนั้น ไม่มีใครล่วงรู้ตราบถึงทุกวันนี้ แต่เสียงร่ำลือที่ว่าบารอนเป็นสายลับนั้น มีคนกล่าวถึงจริง
ดูเหมือนว่าชาเนลและคนรักชาวเยอรมันจะตกหลุมรักกันอย่างลึกซึ้ง แม้ว่าทั้งสองจะชื่นชอบปาร์ตี้ แต่พวกเขากลับเลี่ยงออกงานสังคม หันมาใช้เวลาอยู่ร่วมกันตามลำพังสองต่อสอง ‘นกกระจอก’ เล่นเปียโนให้โคโคของเขา ส่วนชาเนลนั้นร้องเพลงให้คนรักฟัง ช่วงเวลานั้นสงครามดูคล้ายจะห่างไกลจากบุคคลทั้งสอง
‘นกกระจอก’ เล่นเปียโนให้โคโคของเขา ส่วนชาเนลนั้นร้องเพลงให้คนรักฟัง ช่วงเวลานั้นสงครามดูคล้ายจะห่างไกลจากบุคคลทั้งสอง
ฤดูร้อนปี 1943 ดิงคลาเกแนะนำให้โคโครู้จักเพื่อนร่วมกองทัพสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งยามนี้ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาดูแลอุตสาหกรรมสิ่งทอของฝรั่งเศส เธโอดอร์ มอมม์ (Theodor Momm) ทหารหนุ่มมีพื้นเพเดิมจากเบลเยียม และเป็นบุตรชายของผู้อำนวยการโรงย้อม ครอบครัวของเขาทำธุรกิจสิ่งทอมานานถึงห้ารุ่นแล้ว ชาเนลพบและรู้สึกวางใจในตัวเพื่อนของคนรักแทบจะในทันที
มอมม์เข้ามาเป็นตัวกลางในแผนปฏิบัติการที่กลายเป็นหมายเหตุอ้างอิงในประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 และมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ข้อเสนอหนึ่งที่ฟังดูเหลือเชื่อของแผนการก็คือ โคโค ชาเนลต้องการนัดพบนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ–วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) และร่วมแผนการลับในการเจรจาต่อรองกับฝ่ายเยอรมัน
วิธีการคือ โคโคจะเดินทางไปยังกรุงแมดริดเพื่อเข้าพบเซอร์ แซมวล โฮร์ (Sir Samuel Hoare) เอกอัครราชทูตอังกฤษ ซึ่งเธอรู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี จากนั้นเธอจะขอให้เขาติดต่อกับเชอร์ชิลล์ แต่มอมม์ลังเล ไม่แน่ใจกับแผนการ ท้ายที่สุดเขาจึงเดินทางไปกรุงเบอร์ลิน และนำแผนการดังกล่าวไปรายงานต่อกระทรวงการต่างประเทศ กุสตาฟ ชเตนกราคต์ ฟอน มอยลันด์ (Gustav Steengracht von Moyland) ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีขณะนั้น กล่าวตำหนิมอมม์อย่างไม่ไว้หน้า แผนการจึงถูกพับเก็บไป
เรื่องไปถึงกองบัญชาการความปลอดภัยของนาซี วาลเทอร์ เชลเลนแบร์ก (Walter Schellenberg) นายทหารยศพลโทสังกัดหน่วยเอสเอส ซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานการต่างประเทศ รับฟัง แต่ก็คิดว่าเป็นแผนการที่แปลก ตัวเขาเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวดยุคแห่งวินด์เซอร์จากประเทศโปรตุเกส และเคยขัดขวางสายลับอังกฤษที่บริเวณเขตแดนฮอลแลนด์ อันทำให้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ใช้เป็นข้ออ้างในการรุกรานเนเธอร์แลนด์ส
ในช่วงเวลาที่สตาลินกราด (ปัจจุบันคือ วอลโกกราด เมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซีย) แข็งข้อต่อเยอรมนีของฮิตเลอร์ วาลเทอร์ เชลเลนแบร์กคือคนที่คอยปรับลดท่าทีแข็งกร้าวของไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ ที่มีต่อประเทศฝั่งตะวันตก แล้วจู่ๆ แผนการจากปารีสดูเหมือนจะสอดคล้องกับแนวทางของเขายามนี้ แม้ว่าโอกาสจะน้อย แต่มันก็มากกว่าเป็นศูนย์ นายพลโทจึงตกปากรับคำ และคิดรหัสลับให้กับโคโค ชาเนล เพื่อปฏิบัติแผนการนี้ว่า ‘ภารกิจหมวกแฟชั่น’
แม้ว่าโอกาสจะน้อย แต่มันก็มากกว่าเป็นศูนย์ นายพลโทจึงตกปากรับคำ และคิดรหัสลับให้กับโคโค ชาเนล เพื่อปฏิบัติแผนการนี้ว่า ‘ภารกิจหมวกแฟชั่น’
แต่แล้วก็เกิดปัญหาติดขัดขึ้น โคโควางแผนไว้แล้วว่า จะติดสอยเวรา เบต (Vera Bate) ไปพบแซมวล โฮร์ที่กรุงแมดริดด้วย เนื่องจากเพื่อนเก่าและผู้ช่วยของเธอคนนี้สนิทสนมกับคนในสำนักราชวังอังกฤษ และรู้จักกับเชอร์ชิลล์เป็นการส่วนตัว เรื่องมาพังตรงที่เวราบังเอิญไปแต่งงานกับแอนตีฟาสซิสต์หนุ่มอิตาเลียนและใช้ชีวิตแบบหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในกรุงโรม โคโคส่งกุหลาบแดงพร้อมจดหมายถึงเวรา: “ฉันจะกลับมาทำงานอีกครั้ง และอยากให้คุณมาช่วย” เวราตอบปฏิเสธผ่านคนส่งข่าวกลับมา ไม่ช้าหลังจากนั้น เวรา เบต ก็ถูกเกสตาโปจับกุมตัว
เธโอดอร์ มอมม์ ซึ่งกลับเข้ากรุงเบอร์ลินอีกครั้งเพื่อรายงานแผนการเดินทางของโคโคกับเชลเลนแบร์ก แต่กลับรับรู้ข่าวร้ายของเวรา เบตที่นั่น ‘ภารกิจหมวกแฟชั่น’ จึงดูคล้ายถึงจุดจบก่อนที่มันจะเริ่มต้นขึ้นด้วยซ้ำ เวลาผ่านไปไม่นาน เวรา เบตปรากฏตัวที่ปารีส ในเดือนธันวาคม 1943 โคโคและเพื่อนสาวถือหนังสือเดินทางเยอรมัน มุ่งหน้าไปยังประเทศสเปนที่เป็นกลาง
ในกรุงแมดริด โคโค ชาเนลเข้าพบเอกอัครราชทูตโฮร์ ตามความตั้งใจ เวราเองนั้นต้องการให้ความพยายามครั้งนี้เป็นหลักฐาน เผื่อว่าในกาลต่อมาจะไม่มีใครเชื่อเธอหรือเพื่อนสาวของเธอ ทว่าฝ่ายอังกฤษได้รับแจ้งเกี่ยวกับผู้หญิงทั้งสองแล้ว และเฝ้าจับตามองทั้งคู่อย่างเงียบๆ เวลาเคลื่อนผ่านไปเรื่อยๆ กระทั่งวันหนึ่งข่าวหนังสือพิมพ์พาดหัวชวนให้ตระหนกว่า วินสตัน เชอร์ชิลล์ล้มป่วยอาการหนัก ภายหลังเดินทางกลับจากการพบปะกับประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสเวลต์ และโจเซฟ สตาลินในกรุงเตหะราน นายกรัฐมนตรีอังกฤษติดเชื้อไวรัส สัปดาห์ต่อมาทั้งโคโคและเวราต้องเดินทางออกจากกรุงแมดริดด้วยมือเปล่า
จากนั้น โคโค ชาเนลก็ทำในสิ่งที่เรียกเป็นความผิดพลาดของชีวิต ตราบถึงวันนี้ แม้แต่บรรดาคนที่รักใคร่เธอก็ยังแคลงใจกับการตัดสินใจครั้งนั้นของเธอ…
ช่วงปลายเดือนธันวาคมปี 1943 นั้น โคโคเดินทางเข้ากรุงเบอร์ลิน เข้าสู่ถ้ำสิงห์ เธอเข้าพบวาลเทอร์ เชลเลนแบร์กเพื่อปรับความไว้วางใจทั้งในตัวเธอ ดิงคลาเก และมอมม์ เหตุการณ์นั้นน่าจะเป็นฉากที่เหลือเชื่อ…นักออกแบบแฟชั่นวัย 60 ปีผู้มีชื่อเสียงในบทบาทเทพีแห่งสันติภาพ กับฆาตกรล้างเผ่าพันธุ์ในชุดเครื่องแบบทหารเอสเอสสีดำ นักประวัติศาสตร์บางคนถึงกับกล่าวว่า ฮอลลีวูดเองก็คงนึกพล็อตแบบนี้ไม่ออก
การพบกันครั้งนั้นกลายเป็นมลทินที่โคโค ชาเนลสลัดไม่หลุดอีกเลย สองสัปดาห์หลังจากกรุงปารีสหลุดพ้นจากการยึดครองของเยอรมนี เธอถูกจับกุมตัวในฐานะไส้ศึก แม้ว่าเธอจะได้รับการปล่อยตัวภายในเวลาไม่นาน และไม่ต้องถูกไล่ล่าจับกร้อนผมประจานเหมือนผู้หญิงคนอื่นที่คบหาชายเยอรมันเป็นคนรัก แต่ความน่าอดสูก็ยังคงอยู่ เธอไม่เคยพูดถึงเรื่องดังกล่าวอีกเลยหลังจากนั้น ส่วนเรื่องอื่นๆ นอกกายเธอกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง ปี 1953 เสื้อผ้าชุดทวีดของเธอเป็นที่ฮือฮา และกลายเป็นชุดคลาสสิกไปในทันที
โคโค ชาเนลกลายเป็นตำนาน ทว่าเมื่อเธอเสียชีวิตภายในห้องพักที่โรงแรมริตซ์ ในวันที่ 10 มกราคม 1971 ด้วยวัย 87 ปี ความสงบสุขครั้งสุดท้ายของเธอกลับหาไม่ได้ในฝรั่งเศส
ศพของเธอถูกฝังในเมืองโลซานน์ ที่ซึ่งเธอและ ‘นกกระจอก’ ฮานส์ กึนเทอร์ ฟอน ดิงคลาเก เคยพบเจอกันสมัยลี้ภัยไปใช้ชีวิตอยู่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
อ้างอิง:
Spiegel Online
Edmonde Charles-Roux, Coco Chanel: Ein Leben (L’Irreguliete ou mon itineraire Chanel), Fischer Verlag, 2005
Axel Madsen, Chanel: Die Geschichte einer emanzipierten Frau, Kabel Verlag, 1996
Tags: เยอรมนี, ทหาร, สงคราม, แฟชั่น, Chanel, Germany