งานวิจัยใหม่พบว่า การปิดตัวลงของโรงไฟฟ้าถ่านหินและน้ำมันเตา สัมพันธ์กับการลดลงของอัตราการคลอดก่อนกำหนด
จากการศึกษาผลกระทบภายหลังปิดตัวลงโรงไฟฟ้าถ่านหินและน้ำมันจำนวน 8 แห่งในแคลิฟอร์เนียเป็นเวลาสิบปี ระหว่างปี 2001-2011 พบว่าอัตราการการคลอดก่อนกำหนดในพื้นที่โดยรอบลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ชาวอเมริกา-แอฟริกา และเอเชีย
ดร. โจน เคซี (Joan Casey) แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะนักวิจัยกล่าวว่า ผลที่พบเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น และเป็นข่าวดีเกี่ยวสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
“คนส่วนใหญ่มักให้ความสนใจกับมลพิษทางอากาศและผลเสียต่อสุขภาพที่ตามมา แต่งานวิจัยนี้กลับกัน คือ เราศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้นกับชุมชนภายหลังจากระดับมลพิษในอากาศลดลงแล้ว”
ผลการศึกษาของพวกเขาที่ตีพิมพ์ลงในวารสารระบาดวิทยา American Journal of Epidermiology เมื่อสัปดาห์ก่อนระบุว่า ภายหลังจากปิดทำการโรงไฟฟ้า พบว่า ในพื้นที่รัศมี 0-5 กม. รอบโรงไฟฟ้า อัตราการคลอดก่อนกำหนดลดลงจาก 7.0% เหลือ 5.1% หรือคิดเป็น 20-25% ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติของมารดา ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่า การคลอดก่อนกำหนดทำให้ทารกมีโอกาสที่จะเสียชีวิต และมีปัญหาด้านสุขภาพตามมา
ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าอีกแปดแห่งที่ยังไม่ปิดทำการในช่วงระยะเวลาเดียว จะพบว่าอัตราการคลอดก่อนกำหนดไม่ได้ลงแต่อย่างใด
แม้ว่าการศึกษานี้จะไม่สามารถระบุว่าการลดลงของโรงงานผลิตเชื้อเพลิงจากฟอสซิลในพื้นที่โดยรอบเป็นสาเหตุโดยตรง แต่งานวิจัยนี้ก็สอดคล้องกับการศึกษาที่ผ่านๆ มาหลายชิ้น ที่พบความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้ากับปัญหาการคลอดของแม่ เช่น งานวิจัยหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Environmental Health พบว่า อัตราการคลอดโดยที่ทารกมีชีวิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหลังโรงงานไฟฟ้าถ่านหินและน้ำมันในละแวกใกล้เคียงปิดทำการ
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยในหนูทดลองที่ตั้งท้อง พบว่า มลพิษทางอากาศที่เป็นอนุภาคละเอียด มีผลต่อความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด และน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์
บางทีอาจถึงเวลาแล้วสำหรับลูกหลานของเราที่จะเกิดมาในสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีมลพิษ
อ้างอิง