เมื่อพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา The Momentum ชวน ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. พรรคก้าวไกล หนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 และรักชนก ศรีนอก ตัวแทนกลุ่มคลับเฮาส์เพื่อประชาธิปไตย พูดคุยถึงการ ‘แบ่งงบประมาณ’ ภายใต้รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมกับข้อเสนอแนะถึงการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมกับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

นี่คือข้อสรุปของการพูดคุยในวันนั้น

1.การแบ่งงบประมาณในอุดมคติ ควรแบ่งสัดส่วนอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับคำว่าประชาธิปไตย

ศิริกัญญา เริ่มต้นด้วยการเซ็ตตัวเลขสมมติเพื่อให้ใกล้เคียงกับงบประมาณในปัจจุบันคือ 3 ล้านล้านบาท และอธิบายว่าหลักการในโลกอุดมคติของตัวงบประมาณควรสะท้อนอะไรบ้าง โดยบอกว่า หากประเทศเป็นประชาธิปไตยจริง ตัวประมาณควรต้องสะท้อนนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองได้หาเสียงไว้ หากใครได้เสียงส่วนมากในสภาก็สามารถจัดตั้งรัฐบาล และก็ดำเนินตามนโยบายที่เคยได้หาเสียงไว้กับประชาชน

ดังนั้น สมมติว่าพลังประชารัฐได้คะแนนเสียงมากสุด เราก็คาดหวังว่าเราจะได้เห็นโครงการอย่างเช่น มารดาประชารัฐ โครงการที่บอกว่าจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรเป็นเท่านั้นเท่านี้ หรือเรื่องเงินเดือนปริญญาตรี 1.8 หมื่นบาท ถึง 2 หมื่นบาท 

หรือหากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล ก็ต้องใช้นโยบายที่เคยหาเสียงไว้ตอนที่เป็นพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งสัดส่วนของงบประมาณที่จะให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษคือเรื่องของสวัสดิการ เพราะว่าอนาคตใหม่หาเสียงเรื่องรัฐสวัสดิการ การให้การช่วยเหลือ และสวัสดิการต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนถึงแก่ชรา

ขณะที่ รัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสมจากหลายๆ พรรคการเมือง ก็ต้องต่อรองกันไปว่า นโยบายไหนที่แต่ละพรรคเคยหาเสียงไว้ จะถูกนำมาบังคับใช้จริง แล้วสัดส่วนของงบประมาณ ก็ควรต้องสะท้อนของความเป็นรัฐบาลผสมด้วย

ทางด้าน รักชนก เสริมเรื่องงบประมาณในส่วนของภาคประชาชนว่า ต้องมองว่าสถานการณ์ของประเทศในขณะนั้นเป็นอย่างไร และปรับงบให้เข้ากับสถานการณ์ตอนนั้น เช่น ตอนนี้มีโรคระบาด งบประมาณก็ควรต้องมาโฟกัสในส่วนของเรื่องสาธารณสุขมากขึ้น หรือถ้าในอนาคตมีเทคโนโลยีไหนบูมขึ้นมา ก็ควรที่จะโยกงบประมาณให้กระทรวงเทคโนโลยีได้ขับเคลื่อนไปมากขึ้น 

แม้กระทั่งเรื่องท่องเที่ยว หากบูมหรือซบเซา ก็ต้องโยกกงบไปที่กระทรวงการท่องเที่ยว การเพิ่มงบประมาณให้สิ่งใดก็ควรทำอย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช่สถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน แต่กองทัพจะมาของบไปซื้ออุปกรณ์ ซื้อรถถัง เรือดำน้ำ ไม่อย่างนั้น ประชาชนจะไม่พอใจว่าเอาภาษีของเขาไปทำอะไร

ส่วนทางด้าน ธนากร ไพรวรรณ์  ตัวแทนจากกลุ่มพลังคลับ ระบุว่า ในมุมข้าราชการประชาชน มองว่าหนึ่งในหน้าที่ของรัฐคือการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของประชาชน ในระบบประชาธิปไตยที่เราให้ตลาดในการแข่งขันเสรี ต้องมีผู้เสียประโยชน์หรือได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว ซึ่งการใช้จ่ายจากภาครัฐจะมีผลอย่างมากต่อการลดความเหลื่อมล้ำ และยับยั้งปิดช่องเหล่านี้

ธนากรเสริมว่า สัดส่วนรายจ่ายสวัสดิการของรัฐของประเทศไทยต่องบประมาณประจำปีอันนี้ อยู่ที่ 13.9 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ประเทศที่เจริญแล้วอย่างอังกฤษอยู่ที่ 28 เปอร์เซ็นต์ หมายถึง เขาดูแลประชาชนได้ดีกว่าพอสมควร ดังนั้น สวัสดิการควรเป็นสิ่งที่ต้องลงทุน หากอยากเห็นประเทศพัฒนาทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ

2.ข้อสังเกตอะไรเกี่ยวกับการจัดทำระบบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 งบประมาณส่วนไหนที่มากเกินความจำเป็น และไม่จำเป็น

ศิริกัญญา กล่าวว่า ปีนี้ แม้จะเป็นปีที่งบประมาณถูกตัดลดลงจากปีก่อนหน้า จากเดิมเกือบ 3.3 ล้านล้านบาทมาเหลืออยู่แค่ 3.1 ล้านล้านบาท แต่ก็มีข้อสังเกตหลายอย่างที่พิลึกพิลั่น หลายหน่วยงานคาดหวังว่าจะลดงบประมาณมากกว่านี้ก็ไม่ได้ลด เช่น กรทะทรวงกลาโหม

ขณะเดียวกัน งบบางส่วนที่ไม่ควรจะต้องถูกลด แต่กลับถูกปรับลดลงไปมาก เช่น งบสวัสดิการของประชาชน ที่หากดูเฉพาะสวัสดิการ ส่วนของประชาชนจริงๆ ที่ไม่ได้รวมสวัสดิการของข้าราชการ จะอยู่แค่ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท คือเกือบๆ 10% เท่านั้น และหากวิเคราะห์กันไปอีกขั้น  ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็จะพบว่างบสวัสดิการส่วนใหญ่เป็นพวกค่าใช้จ่ายที่เรียกว่างบดำเนินการ หรือ เงินอุดหนุน ซึ่งจะเป็นเป้าที่จะถูกตัดเป็นอันดับต้นๆ เวลาที่มีการปรับลดงบประมาณ 

เนื่องจากตัวกฎหมายที่มีกำหนดว่า งบรายจ่ายลงทุนจะต้องไม่ต่ำกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่าย  ดังนั้นถ้างบลงทุนตัดยาก ก็จะไปมุ่งตัดเอาที่มันเป็นงบดำเนินงาน งบรายจ่ายอุดหนุน เลยกลายเป็นว่า สวัสดิการประชาชนกลายเป็นเป้าที่ถูกปรับแก้ได้ง่ายที่สุด ในขณะที่งบกระทรวงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย จะถูกตัดลดลงไม่มาก เพราะถ้าเป็นการซื้ออาวุธ ซื้อเรือดำน้ำ เขาถือว่าเป็นรายจ่ายลงทุนของประเทศ ดังนั้น ก็จะไม่ถูกตัด งบประมาณที่ออกมาจึงพิกลพิการ เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้เช่นนั้น

ส่วนรักชนกเสริมว่า การจัดสรรงบกระทรวงสาธารณสุขในปีนี้ที่เป็นปีแห่งโรคระบาด ควรมีการจัดสรรให้มากกว่านี้ ในขณะที่งบสถาบันพระมหากษัตริย์ได้งบสามหมื่นล้าน ซึ่งไม่ค่อย make sense ในขณะที่กระทรวงเล็กๆ หลายกระทรวงได้น้อยกว่า

3.ทำไมงบประมาณถึงไม่ได้ใช้ไปกับเรื่องโควิดอย่างที่ควรจะเป็น

ศิริกัญญา อธิบายว่า ความจริงถูกใช้ในเรื่องเยียวยาเยอะรวมทั้ง 3 รอบไปประมาณ 7 แสนกว่าล้าน แต่เมื่อเทียบกับขนาดของผลกระทบ จะรู้สึกว่าไม่ได้สัดส่วน เพราะส่วนที่เหลือ กลายเป็นว่าไปติดปัญหาของภาครัฐในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างเป็นหลัก ความจริงในมุมสาธารณสุขมีเงินเหลือเฟือเพียงพอที่จะทั้งซื้อวัคซีน ทั้งจัดหา Rapid Antigen Test หรือขยายหรือค่าตอบแทนพิเศษให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานหนักมากในช่วงนี้

แต่ปัญหา ก็วนไปเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง ที่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐค่อนข้างซับซ้อนและกินระยะเวลานานมาก แม้จะมีอนุมัติเงินกู้สำหรับการซื้อเครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยชีวิตคนที่ติดโควิด ก็ยังไม่สามารถที่จะเบิกจ่ายได้อย่างคล่องตัว คือพอจะบอกว่าเบิกงบการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจ ก็ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ต้องมีการประกาศจัดซื้อจัดจ้างล่วงหน้า 2 สัปดาห์ ให้คนเข้ามาประมูล ประมูลเสร็จแล้ว ก็ต้องทิ้งไว้อีก 1 เดือนครึ่ง 

ทั้งหมดนี้ เป็นกระบวนการที่มันซับซ้อนแล้วก็กินระยะเวลานานมาก ทำให้ภาครัฐไม่สามารถตอบสนองกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที  นายกรัฐมนตรีซึ่งกอดพรก. ฉุกเฉินไว้กับตัว หากมีสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนและมีนัยยะสำคัญกับการช่วยเหลือชีวิตคน ก็ควรจะต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษที่ลัดขั้นตอนบางอย่างได้ แต่ว่าเขาก็กลับเลือกที่จะไม่ทำ

ดังนั้น ปัญหาไม่ใช่ว่าไม่มีงบประมาณ แต่เป็นเรื่องการตัดสินใจ วิสัยทัศน์ และภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรี ที่สุดท้ายมันไม่สามารถที่จะตอบสนองกับปัญหาได้อย่างทันท่วงที

ในขณะที่ จิตเจริญ อัศวศรีพงศ์ธร ตัวแทนจากกลุ่มพลังคลับ สอบถามว่า นอกจาก สส. ฝ่ายค้าน แล้ว ภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมในการเคาะงบประมาณทั้งก่อนและหลังของรัฐบาลได้อย่างไร ศิริกัญญา บอกว่า ภาคประชาชนน่าจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบได้ดีกว่าฝ่ายค้านด้วยซ้ำ เพราะว่าฝ่ายค้านมีกันอยู่ประมาณ 200 กว่าชีวิต ซึ่งก็สามารถตรวจสอบได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าภาคประชาชนช่วยเข้ามาตรวจสอบก่อนที่จะมีการอนุมัติงบ และช่วยกันส่งเสียง จะเป็นสิ่งที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีนัยยะสำคัญมาก

4.งบสถาบันพระมหากษัตริย์ ปัญหาทับซ้อนคืองบส่วนพระองค์ และสิ่งที่ควรแก้ไข

จิตเจริญ เสนอว่า หากพิจารณางบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งบางอันอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง อย่างเช่นโครงการหลวงหรือโครงการในพระราชดำริ ศิริกัญญา บอกว่า เรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องที่ยังถกเถียง เพราะหากบอกว่างบส่วนนี้ ไม่ได้เกิดประโยชน์กับคนในประเทศเลย ก็พูดยากว่า พระมหากษัตริย์ ควรจะมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศผ่านโครงการลักษณะนี้หรือไม่

เพราะถ้าพูดถึงหลักการ The King can do no Wrong ถ้าหากงบประมาณถูกใช้ แล้วมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น หรือเกิดเป็นความผิดพลาดของหน่วยงานรัฐเอง ก็กระทบถึงพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ได้เช่นเดียวกัน ก็ต้องตั้งคำถามว่า ควรมีโครงการในลักษณะนี้อยู่ในงบประมาณแผ่นดินอยู่หรือเปล่า

ประเด็นถัดมา คือปัญหางบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ที่ได้รับงบประมาณ 8,760 ล้านบาท ปัญหาไม่สามารถตรวจสอบอะไรได้ แม้แต่จะพูดว่าซ้ำซ้อนกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ หรือไม่ก็ยังไม่รู้ เช่น พ.ร.บ.โอนหน่วยทหาร ซึ่งแยกออกไปใหม่ ใช้งบประมาณในส่วนใด ก็ไม่สามารถพูดได้ เพราะไม่มีรายละเอียดอะไรเลย ว่าถูกใช้อะไรบ้าง ในสัดส่วนเท่าใด ก็ยังเป็น ‘กล่องดำ’ ที่กรรมาธิการ พยายามให้เปิดเผยรายละเอียด

ทั้งหมดนี้ ทุกปีในชั้นกรรมาธิการต้องมีการให้หน่วยงานรับงบประมาณเข้ามาชี้แจง แต่ก็ไม่เคยมีปีใด ที่ส่วนราชการในพระองค์จะส่งตัวแทนเข้ามาชี้แจง จึงทำให้พูดได้ไม่เต็มปากว่าซ้ำซ้อนหรือไม่ มากเกินไปหรือว่าน้อยเกินไป งบถูกใช้ไปกับเรื่องอะไรบ้าง มีบุคลากรกี่ชีวิตที่จะต้องจ่ายเป็นเงินเดือน ดังนั้น ปีนี้ก็ต้องผลักดันให้หน่วยงานส่งตัวแทนมาชี้แจงกับทางกรรมาธิการ เพราะควรจะต้องเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทุกหน่วยงานควรจะต้องทำเหมือนกัน หากจะต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตถึงงบประมาณที่งอกออกมา อย่างส่วนของการถวายอารักขาและรักษาความปลอดภัย ที่ได้งบประมาณประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท ทั้งที่มีหน่วยงานอารักขาความปลอดภัยในสังกัดของส่วนราชการในพระองค์อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีการตั้งงบเกี่ยวกับการถวายอารักขาความปลอดภัยอยู่ ในสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมไปถึงสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี  ซึ่งต้องเริ่มตั้งคำถามว่า งบส่วนที่อยูในส่วนราชการในพระองค์ใช้จ่ายไปในส่วนใด และทำไมถึงจะต้องใช้งบประมาณของหน่วยงานอื่นในการรักษาความปลอดภัยอีก

นอกจากนี้ จิตเจริญและธนากร ยังตั้งข้อสังเกตกับงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับซุ้มเฉลิมพระเกียรติทั้งหลายว่า เป็นโครงการของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการเทิดทูน พิทักษ์ หรือเฉลิมพระเกียรติสถาบันฯ แต่งบประมาณกลับอยู่ในมือของกองทัพ และตำรวจต่อเนื่องในงบประมาณหลายส่วน ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมจึงไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเทิดทูนสถาบันฯ เอง และต้องตั้งคำถามว่า หากโอนย้ายงบประมาณบางส่วนที่อยู่ในมือกองทัพ หรือตำรวจมาอยู่ในซีกของประชาชนมากขึ้น ก็อาจจะมีเงินเพียงพอในการดูแลประชาชนมากขึ้น ในยามวิกฤตเช่นนี้

5.รัฐบาลกับการให้ความสำคัญกับงบกลาโหม สะท้อนถึงวิธีคิด ถึงวิธีบริหารจัดการอย่างไร

ศิริกัญญา ตั้งข้อสังเกตว่า งบกลางของปีนี้ลดลงจากปีก่อนหน้าเป็นครั้งแรก ในขณะที่ทุกกระทรวงต้องเฉือนเนื้อตัวเองมาโปะในส่วนที่ขาดไป แต่งบกระทรวงกลาโหมกลับลดลงน้อยมาก หากย้อนกลับไปดูวิกฤตเศรษฐกิจ 2 ครั้งที่ผ่านมา ทั้งต้มยำกุ้ง และ Hamburger Crisis กระทรวงกลาโหมต่างลดงบตัวเองไปประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าของปี 65 กลับพบว่ากลาโหมตัดลดงบตัวเองไปไม่มาก

อีกส่วนคือ งบซื้ออาวุธลดลง แต่ว่าส่วนที่เพิ่มขึ้น คืองบบุคลากรของกระทรวงกลาโหมที่เพิ่มขึ้นประมาณเกือบ 2% ทั้งที่ทราบกันดีว่ากระทรวงกลาโหมมีกำลังคนล้นเกินไปมาก ไม่ว่าจะเทียบในมิติใดก็ตาม จึงกลายเป็นภาระงบประมาณในส่วนของบุคลากร เพราะพอนายทหารแก่ตัวลง ก็จะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติอีกเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ สิ่งที่น่าจับตาคือ ขณะนี้ จะยังคงมีการซื้อเรือดำน้ำอีก 2 ลำต่อไป และจะต้องเริ่มจ่ายค่าเรือดำน้ำในปี 2565

ศิริกัญญามองว่า สิ่งนี้ ไม่น่าใช่เรื่องความมั่นคงของประเทศ แต่อาจจะเป็นเรื่องความมั่นคงของรัฐบาล เพราะในช่วงที่ประเทศก้ำกึ่งระหว่างจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย งบกลาโหมก็จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่างบส่วนนี้ คือการติดสินบนไม่ให้รัฐประหาร ถ้าเกิดนายทหารยังกินดีอยู่ดี กระทรวงกลาโหมได้งบประมาณอย่างเพียงพอ อยากได้อะไรก็ได้ เขาก็อาจจะพึงพอใจกับรัฐบาลที่เป็นอยู่ และไม่หาเรื่องที่จะทำรัฐประหาร

จิตเจริญ สงสัยว่า ประเทศนี้เป็นของประชาชนหรือประเทศของทหาร และระบุว่ากระทรวงกลาโหมเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณเพิ่มทุกปี ในฐานะประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงิน ขณะเดียวกัน ก็มองว่าประเทศไม่ได้ต้องการสิ่งเหล่านี้ที่กระทรวงกลาโหมซื้อมา และเป็นการใช้เงินไปอย่างผิดที่ผิดทาง ซึ่งต้องผลักดัน ให้มีการตรวจสอบในสภาให้ได้

ท้ายสุด จิตเจริญ ตั้งคำถามว่า หากวันนี้เราจะต้องรบกับประเทศไหน มีกี่ประเทศที่ไทย สามารถชนะได้ด้วยยุทโธปกรณ์หรือว่างบประมาณที่ประเทศตั้งไว้ ดังนั้น จึงไม่ควรจะต้องใช้งบประมาณเยอะขนาดนี้ หรือแม้กระทั่งว่า มีความเสี่ยงในการเกิดสงครามเหล่านี้เพิ่มแค่ไหนในสภาพ ‘ระเบียบโลก’ แบบนี้ ซึ่งล้วนเป็นคำถามที่ตามมาหลังจากเห็นตัวเลขงบประมาณ

 

Tags: