ท่ามกลางวิกฤต ทุกวงสนทนามีคำถามสำคัญอยู่ 2 คำถาม
ข้อแรกคือ ‘อนาคต’ ของระบบเศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน วันนี้ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของผลิตผลมวลรวมประชาชาติที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ต่ำที่สุดในอาเซียน และยังไม่มี ‘ฮีโร่’ ที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ในเวลาเดียวกันวิกฤต ‘หนี้ครัวเรือน’ ก็ส่งผลกระทบอย่างหนักกับหลายวงการ ปีนี้ภาคยานยนต์ หนึ่งในตัวชูโรงของเศรษฐกิจไทย ประสบกับยอดขายที่ทรุดหนักที่สุดในรอบ 15 ปี ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็หดตัวรุนแรง กำลังซื้อตกต่ำ ส่งให้เศรษฐกิจภาพรวม ‘ฝืด’ หนัก
สำทับด้วยปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics) ชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริการอบที่ 2 อาจส่งผลกระทบกับไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ เพราะไทยเป็นประเทศที่ส่งออก ‘เกินดุล’ กับสหรัฐฯ มากที่สุดถึง 1 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกัน ชาวบ้านร้านตลาดก็เจอกับปัญหาใหม่ ปัญหาที่ ‘สินค้าจีน’ ทะลักเข้ามาสู้กับผู้ประกอบการรายย่อย สินค้าจีนมีราคาที่ถูกกว่ามาก ตัดราคาโรงงานไทยจนน่ากังวล ชนิดที่ยังหาวิธี ‘สู้กลับ’ ไม่เจอ
อนาคตเศรษฐกิจไทยจึงอยู่บนเส้นด้าย เป็นปัญหาเชิง ‘โครงสร้าง’ ซึ่งยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด และแม้รัฐบาลจะพยายาม ‘อัดเงิน’ ลงไปเท่าไร ก็ยังไม่เห็นผล ไม่มีใครรู้ว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ไทยจะสร้างที่ทางของตัวเองอย่างไรในเวทีโลก
คำถามข้อที่ 2 คือแล้ว ในทางการเมือง เราจะเอาอย่างไรต่อ… การกลับมาของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เมื่อปี 2566 สร้างระบบนิเวศทางการเมืองใหม่ ระบบนิเวศที่ทุกพรรค ทุกขั้ว สามารถจับมือกันได้ โดยเขี่ย ‘พรรคก้าวไกล’ พรรคที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งอันดับหนึ่ง ไปเป็นฝ่ายค้าน เพราะ ‘อันตราย’ เกินไป
ระบบการเมืองแบบนี้ ยังตามมาด้วยการยุบพรรคก้าวไกล ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคนานถึง 10 ปี ด้วยข้อหา ‘ล้มล้างการปกครอง’ พรรคก้าวไกลเปลี่ยนใหม่เป็น ‘พรรคประชาชน’ ชั่วข้ามคืน มีผู้บริหารหน้าใหม่มากหน้าหลายตาที่ยังเดินหน้าสู้กับ ‘นิติสงคราม’ ต่อ ท่ามกลางเส้นทางที่โดดเดี่ยวทางการเมือง เพราะนักการเมืองพรรคอื่นต่างเห็นว่า พวกเขา ‘แรง’ เกินไปจนถึงขั้นเรียกว่า เป็น ‘พรรคปฏิวัติ’
ด้วยคำถาม 2 ข้อนี้ เราชวน ต้น-วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองหัวหน้าพรรคประชาชนหน้าใหม่ถอดด้าม มานั่งตอบคำถามดังกล่าว… อันที่จริงวีระยุทธไม่ใช่ ‘คนใหม่’ มากนัก เขาอยู่เบื้องหลังมาเงียบๆ ตั้งแต่เมื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อนของเขาตั้งพรรคอนาคตใหม่ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว
ขณะเดียวกันเมื่อพรรคอนาคตใหม่เปลี่ยนผ่านสู่พรรคก้าวไกล วีระยุทธก็นั่งเป็นทีมเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล เป็นหนึ่งในกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ในโควตาพรรค
เมื่อพรรคก้าวไกลแปลงร่างสู่พรรคประชาชน วีระยุทธตัดสินใจเข้ามาช่วยพรรคอย่างเต็มตัว เขาลาออกจากการเป็นรองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ National Graduate institute for Policy Studies (GRIPS) มหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านนโยบายสาธารณะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กลับมายังประเทศไทย รับบทบาท ‘รองหัวหน้าพรรคประชาชน’ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา หวังใช้ความรู้บนเส้นทางวิชาการมาใช้กับ ‘โลกจริง’ ในทางการเมือง
The Momentum ชวนรองศาสตราจารย์หนุ่มผู้นี้ นั่งคุยยาวๆ ชวนหาอนาคตประเทศไทย และอนาคตของ ‘พลังสีส้ม’ ท่ามกลางห้วงเวลาที่ ‘สิ้นหวัง’ ทั้งในทางเศรษฐกิจและในทางการเมืองไทย
GDP ของประเทศไทยโต 3% ในฐานะทีมเศรษฐกิจพรรคประชาชนมองเห็นอะไรในตัวเลขนี้
ถือว่าเป็นข่าวดีเพราะ 3% ที่สภาพัฒน์แถลงออกมา ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการคาดการณ์ไว้ แต่ยังมีปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่อย่างน้อย 3 เรื่องคือ
1. เงินลงทุนน้อย ที่ผ่านมาเศรษฐกิจบ้านเราโตได้ด้วยการท่องเที่ยว และอาศัยงบลงทุนของภาครัฐที่เป็นหลัก
2. ภาคเกษตร ยังคงได้รับผลกระทบจากความผันผวนของสภาวะอากาศ นับเป็นความน่ากังวลในระยะต่อไป
3. การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หลากหลายภาคส่วนมีความสําคัญ ตัวเลข GDP 3% ในไตรมาสที่ผ่านมาถือว่ายังดี แต่ก็ยังมีปัญหาใหญ่ซ่อนอยู่
เราจะทำอย่างไรให้นักลงทุนกลับมาลงทุนในประเทศไทย
โจทย์นี้เกี่ยวข้องกับการขึ้นมาของทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เมื่อทรัมป์ชนะเลือกตั้ง ปีหน้าก็จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ ทั้งเรื่องการค้า-การลงทุน ซึ่งไทยจะได้รับผลกระทบจากการกลับมาครั้งที่ 2 ของทรัมป์หรือเรียกกันว่า ‘Trump 2.0’ ทั้งหมด 3 ประการ
1. ปัจจุบันประเทศไทย ‘เกินดุลการค้า’ กับสหรัฐฯ ประมาณปีละ 1 ล้านล้านบาท การขึ้นมาของทรัมป์มีแนวโน้มที่จะตั้งกำแพงภาษีที่เพิ่มขึ้นกับประเทศที่ได้ดุลการค้า แปลว่า สินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะราคาแพงขึ้น ผู้ผลิตอาจตัดสินใจลดการผลิต หรืออาจจะย้ายฐานเลยด้วยซ้ำ หากประเมินแล้วว่าเข้าไปแข่งขันไม่ได้
2. ‘จีน’ เป็นเสมือนผลกระทบทางอ้อม เพราะไทยนําเข้าสินค้าจากจีนซึ่งมีสถานะขาดดุล ในปีนี้น่าจะถึง 1.5 ล้านล้านบาทสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เท่านั้นยังไม่พอ หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้ากับจีน ผลกระทบก็จะเด้งกลับมาประเทศที่พร้อมรับก็คือ ‘ไทย’ และอาเซียน ความน่ากังวลยังไม่นับเรื่องของค่าเงินที่จีนอาจจะสู้กับสหรัฐฯ ผ่านมาตรการการลดค่าเงินหยวน เพื่อให้ราคาสินค้าแข่งขันได้ ซึ่งหากจีนลดค่าเงินก็มีโอกาสที่สินค้าจีนจะทะลักเข้ามาในไทยมากขึ้นในยุค Trump 2.0
3. การลงทุน ผมว่า 6 เดือนต่อจากนี้ บริษัทใหญ่จากทั้งยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น จะอยู่ในภาวะ ‘Wait and See’ เพื่อรอดูว่าจะไปลงทุนที่ภูมิภาคใดที่จะได้เปรียบมากกว่า เพราะปัจจุบันเอกชนยังไม่ทราบว่า ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่จะขึ้นภาษีนำเข้ากับประเทศใด ภาคอุตสาหกรรมส่วนใด และในสัดส่วนที่เท่าไร
ทั้ง 3 ปัจจัยนี้มีโอกาสเป็น ‘ผลลบ’ กับไทยทั้งหมด เราพึ่งพา ‘การส่งออก’ ต่อ GDP ในสัดส่วนที่สูง หากการส่งออกได้รับผลกระทบ มีการนําเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับการลงทุนที่น้อยลงไปอีก จะเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน ซึ่งอาจส่งผลสะเทือนไปถึงการจ้างงาน และเศรษฐกิจรากหญ้าอีกด้วย
ภาคการเกษตรที่มีสัดส่วนแรงงานสูงถึง 30% ของแรงงานทั้งหมด วันนี้เกษตรของไทยมีความน่ากังวลมากน้อยเพียงใด
ถ้าเป็นบริษัทแปรรูปขนาดใหญ่ พวกเขาส่งออกได้ในปริมาณสูงอยู่แล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ภาคเกษตร ‘ขนาดกลาง’ และ ‘ขนาดเล็ก’ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ต้องบอกว่า ถ้าดูแค่ตัวเลข การส่งออกสินค้าเกษตรอาจจะไม่น้อยลง เพราะไทยมีสินค้าเกษตรแปรรูป ซึ่งเป็นของบริษัทใหญ่ยังสามารถส่งออกไปได้ดีและดีขึ้นเรื่อยๆ
แต่ที่น่าห่วงคือ รายเล็กที่กำลังเจอทั้งปัญหาการแข่งขันที่รุนแรง ต้นทุนสารเคมีและต้นทุนปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น รวมถึงไม่มีอำนาจในการต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง เพราะรัฐไม่มีระบบส่วนกลางระดับพื้นที่ที่เข้ามาช่วย
อีกอย่างคือ เวลาเราพูดว่าอยากให้เกษตรกรแปรรูปสินค้า พวกเขาก็จะเกิดความกังวลทันทีว่า เขาจะต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกหรือไม่ เพราะปัจจุบันเกษตรกรไทยมีหนี้มากอยู่แล้ว พอเราไปพูดว่า ต้องทําอะไรเพิ่ม เขาย่อมรู้สึกเป็นกังวล เกษตรกรเลยตัดสินใจขายผลผลิตทางการเกษตรให้กับพ่อคนกลางไปเลย ได้เงินเร็วกว่า แล้วเอาไปใช้หนี้ หรือเอามาทำทุนทำการเกษตรต่อได้เร็วกว่า
ดังนั้นเวลาจะพูดเรื่องการแปรรูป จําเป็นต้องมีคนเข้าไปช่วยดูเรื่องการลงทุน ให้รู้ว่ามีบทบาทภาครัฐระดับพื้นที่เข้าไปช่วย
ในภาคอุตสาหกรรมอย่างยานยนต์ที่เคยเป็นที่พึ่งให้เศรษฐกิจไทย มาวันนี้ดูเหมือนอ่อนแรงลดลงไป สาเหตุเป็นเพราะอะไร
ต้องบอกว่ายานยนต์เป็นอุตสาหกรรม ‘เดอะแบก’ เศรษฐกิจไทยมา 20 ปี ตั้งแต่วิกฤตต้มยํากุ้ง ดังนั้นโดยธรรมชาติไม่แปลกที่วันหนึ่งจะโดนดิสรัปต์ (Disrupt) แต่ความปั่นป่วนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่า ปัจจัยหลักที่มีผลกระทบมากคือ ‘หนี้ครัวเรือน’ ขณะที่การเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) เป็นแค่ปัจจัยรองเท่านั้น
รถยนต์ โดยเฉพาะรถกระบะในต่างจังหวัด ถือเป็นตัวขับเคลื่อนการผลิตของไทย เป็นเป็นการขายสินเชื่อ เป็นระบบไฟแนนซ์ที่ทํามายาวนาน พอหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นเกือบ 90% ธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าปล่อยกู้ ไฟแนนซ์ก็ไม่กล้าปล่อยกู้ คนเลยโดนยึดรถกันเยอะมาก
ส่วนปัจจัยรองอย่างการเข้ามาของรถยนต์ EV ถ้าไปดูสัดส่วนจริงๆ ก็ไม่ได้มาแทนที่รถยนต์สันดาปขนาดนั้น
คิดว่าศักยภาพแรงงานที่อยู่อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ พร้อมหรือไม่ที่จะเข้าไปแข่งขันกับตลาดโลก?
คิดว่ายังไม่พร้อม เรารู้กันว่ารถยนต์ EV เติบโตได้ดีในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลอัดเม็ดเงินงบประมาณลงไปในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ค่อนข้างสูง โดยงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 มีงบประมาณสําหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 8,600 ล้านบาท ซึ่งอาจดูเป็นงบประมาณก้อนใหญ่ สมน้ําสมเนื้อกับอุตสาหกรรมนี้
ทว่ากว่า 8,000 ล้านบาท เป็นการอุดหนุนคนที่ซื้อรถยนต์ EV ดังนั้นเหลืองบประมาณ 500-600 ล้านบาทที่ไปอยู่ฝั่งการผลิตหรือการรีสกิล (Re-Skill) ทักษะของแรงงาน ต้องบอกว่ามันไม่ได้สมดุลกันเท่าไร งบประมาณดูเหมือนจะเป็นเงินก้อนใหญ่ แต่ส่วนใหญ่เน้นไปที่ฝั่งอุปสงค์อย่างเดียว แต่ฝั่งอุปทานได้น้อยมาก
โจทย์เรื่อง EV ที่เราฝันไว้ตอนก่อนโควิดว่าเราจะเป็น ‘ฐานการส่งออก’ เพราะเราเคยเป็นฐานส่งออกยานยนต์สันดาป เราบอกว่าเรามีแรงงาน มีห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในประเทศอยู่แล้ว เพียงแต่เราลงทุน รีสกิลแรงงานสักหน่อย ก็จะย้ายไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้ กลายเป็นผู้ผลิตส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าให้กับโลกเหมือนที่เคยเป็นในสันดาป ต้องบอกว่า นั่นเป็นก็การ ‘ขาดความเข้าใจ’ ในอุตสาหกรรมไปพอสมควร
เพราะการกระโดดข้ามไปอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามันค่อนข้างตัดขาดกัน คือจะมีส่วนที่เหมือนกันเพียงแค่ตัวถังและเบาะที่นั่งเท่านั้น แต่เครื่องด้านในเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าหมดเลย ซึ่งแรงงานไทยไม่ได้เก่งเรื่องระบบไฟฟ้าหรือซอฟต์แวร์ (Software) พองบประมาณด้านการรีสกิลไม่ได้ทําจริงจัง หรือไม่ได้ทํามายาวนานต่อเนื่อง เราก็ไม่สามารถก้าวกระโดดไปในอุตสาหกรรมที่โลกให้ความสนใจได้
ถ้าวันนี้ต้องเรียงลําดับความสําคัญในการแก้โจทย์ทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยจะต้องทำอะไรก่อน
จริงๆ ปีนี้ตั้งแต่ต้นปีเป็นเรื่องของสินค้าจีน ที่ถือเป็น ‘รูรั่ว’ ทางเศรษฐกิจทำให้เราแข่งขันไม่ได้ ผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) เผชิญการแข่งขันรุนแรง ถ้าเราไล่ไปตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ของใช้ต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนถ้วนหน้า ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะเจอปัญหานี้
สินค้าจีนในส่วนที่ถูกกฎหมายก็มี เพราะเราลงนามเขตการค้าเสรีไว้ แต่ก็มีบางส่วนที่เจอปัญหาเรื่องมาตรฐาน ทําให้ผู้ผลิตไทยก็รู้สึกว่าไม่ยุติธรรม เพราะต้องผลิตในมาตรฐานที่สูงกว่า แต่กลับเจอปัญหาสินค้ามาตรฐานต่ำทะลักเข้ามา ทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันไม่ได้ เพราะต้นทุนไม่เท่ากัน
โจทย์ของปีนี้และปีถัดไปคือ ‘การอุดรูรั่ว’ ไม่ให้การอัดเงินลงในระบบมีปัญหา จริงๆ การอัดเงินในระบบระดับมโหฬารเป็นหมื่นล้าน ผลมันดูไม่ยาก ไม่ต้องรอตัวเลขจากสภาพัฒน์เลย หากได้ผล คุณแค่เดินไปตลาด คุณก็จะเห็นว่า แม่ค้าเอาของออกมาขายหรือลงทุนซื้อรถใหม่ แต่ต้องบอกว่า รอบนี้เราอัดเงินลงไป 1.5 แสนล้านในการแจกเงินหมื่นรอบแรก เรายังไม่เห็นความเคลื่อนไหวลักษณะนั้น ผมคิดว่าบริบททางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปเยอะ
ในแง่หนึ่งเป็นเพราะ มันมีรูรั่วทางเศรษฐกิจ หากคุณอัดเงินลงไปขนาดนี้แล้วมันไม่เห็นผล มันสะท้อนว่า ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สําคัญ และเราต้องมีโมเดลการพัฒนาแบบใหม่
เราจะเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข่งขันกับโลกได้อย่างไรบ้าง
ถ้าปีนี้โจทย์สําคัญอยู่ที่ ‘การอุดรูรั่ว’ และ ‘การสู้กับ Trump 2.0’ ขั้นต่อไปที่ผมคิดว่า อุตสาหกรรมก็ต้องปรับใหญ่คือ เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดจาก ‘Made in Thailand’ เป็น ‘Made with Thailand’ ทลายความคิดเรื่องขอบเขต ยืนยันความสําคัญเรื่องแรงงาน ความสําคัญของการผลิต และขอไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานต่างๆ
‘Thailand’ ยังอยู่ในฐานะของความสําคัญที่อยากมีมูลค่าเพิ่ม ต้องการการจ้างงาน ส่วน ‘Made’ หมายถึง ความสามารถทางการผลิต ซึ่งผมยืนยันว่าเป็นเรื่องสําคัญ แต่ ‘In’ มันเป็นเพียงขอบเขตที่เราต้องดึงเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้เท่านั้น ถ้าเราเปลี่ยนเป็น ‘With’ หมายความว่า อะไรที่เราเก่ง เราพร้อมที่จะไปมีส่วนร่วมกับห่วงโซ่อุปทานโลก เราก็สามารถทําเลย
‘Made with Thailand’ ผมยืนยันว่า ประเทศไทยต้องให้ความสําคัญกับการผลิต หลายคนอาจจะคิดว่า เพียงแค่มีนักท่องเที่ยวกลับมาในประเทศไทยก็พอใจแล้ว แต่สําหรับผมขอยืนยันว่า สิ่งที่จีรังยั่งยืนกว่าคือ การมี ‘เทคโนโลยี’ เป็นของตัวเอง ซึ่งการผลิตจะทําให้เราเรียกว่าแข่งกับโลกได้
ถ้าวันนี้ ‘พรรคประชาชน’ เป็นรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง ให้ไทยกลับไปสู่เวทีการแข่งขันระดับโลกได้อย่างเข้มแข็ง
คิดว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีรูรั่วเยอะมากจําเป็นจะต้องอุดอย่างจริงจัง หมายความว่า การพูดเรื่องเชยๆ อย่างเรื่อง ‘แก้คอร์รัปชัน’ หรือ ‘การโกง’ ยังสําคัญอยู่นะ เพียงแต่มันดูไม่เซ็กซี่ ถ้าไม่แก้ตรงนี้ ต้นทุนทางเศรษฐกิจจะแพงขึ้นเรื่อยๆ แปลว่า คุณอัดเงินลงไปเท่าไรแต่ไม่เห็นผล เงินไม่หมุนเท่าที่อยากให้เป็น ต่อให้คุณอัดเงินลงไปอีกแสนล้านในโครงการแจกเงินหมื่น โอกาสที่มันจะไม่ไหล ไม่หมุนเวียนอยู่ในระบบมันก็สูงมาก เพราะมันมีรูรั่วเต็มไปหมด
สิ่งแรกที่เราอยากประกาศ เรียกว่านโยบาย ‘Lean and Clean Thailand’ ผมคิดว่าพื้นฐานที่สุดทําให้กติกาให้ชัดเจน ประกาศไปเลยว่า ถ้าอยากเข้ามาลงทุนในประเทศไทยต้องเข้าโครงการ Lean and Clean Thailand ตรงไหนที่นักลงทุนเจอจุดว่า รัฐไทยเป็นตัวสร้างต้นทุนโดยไม่จําเป็น สามารถบอกมาได้เลย ตรงนี้จะทําให้ชาวโลกรู้สึกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน
อีกอย่างหนึ่งคือ ประเทศไทยเราเป็น Middle Power หมายความว่า เราพอจะต่อรองได้ เราต้องกล้าที่จะต่อรองระยะสั้น-ระยะกลาง กับมหาอํานาจให้มากกว่านี้
จริงๆ ตั้งแต่รถยนต์ EV สินค้าจีนทะลัก การส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ ทุกเรื่องเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ทั้งนั้นเลย ดังนั้นปี 2568 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจภายในเกี่ยวพันกับภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม แปลว่ารัฐไทยต้องมีความสามารถ มีความกล้าหาญที่จะขึ้นมาต่อรองกับประเทศต่างๆ ด้วย
ในฐานะรองหัวหน้าพรรค อยากให้ประเมิน ‘พรรคประชาชน’ ว่าวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง
การเมืองมันมี ‘เร็ว-ช้า-หนัก-เบา’ เพียงแต่ว่า ต้องเตรียมพร้อมอย่างไรเมื่อต้องสู้ ต้องแข่งแล้วมีความพร้อมมากที่สุด ดังนั้นสิ่งนี้เป็นส่วนที่เราเตรียมพร้อมทํางานไปเรื่อยๆ
ขณะที่ตัวหัวหน้าพรรคเอง ผมคิดว่าลักษณะเด่นของ เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ คือมีองค์ประกอบของหัวหน้าพรรคคนก่อนๆ ทั้งความเป็นพิธา-ธนาธร-ชัยธวัช
จริงๆ ที่คนพูดมากก็คือคุณเท้งนี่คล้ายธนาธร ในความที่เขาเป็น ‘วิศวกร’ เหมือนกัน ฉะนั้นก็จะมี 2 คนในพรรคที่หมกมุ่นกับสมาร์ตมิเตอร์และน้ำประปาดื่มได้ ก็คือคุณธนาธรและคุณเท้งนี่ละ
ขณะเดียวกันเขาก็จะมีความคล้ายกับชัยธวัช (ตุลาธน) ในแง่ที่เป็นนักคิด นักลงรายละเอียด แล้วก็คล้ายกับพิธาในแง่ที่เขาอยู่ในโลกธุรกิจอยู่กับเทคโนโลยีและดิจิทัลมาก่อน เขาเป็นผู้ประกอบการมาก่อน เพราะฉะนั้นเขามีส่วนที่เหมือนกับหัวหน้าพรรคคนก่อนๆ แล้วอีกส่วนหนึ่งคือเขามีความเป็นตัวของเขาเอง
และเขาก็มีความเป็นตัวเองอยู่ โจทย์ตอนนี้คือพรรคจะขับเคลื่อนอย่างไรให้คนเห็นมิติต่างๆ ชัดเจนขึ้นว่า เขาทํางานได้หลายขั้นตอน ทํางานได้หลายส่วน เวลาลงพื้นที่เขาก็คุยกับชาวบ้านได้ ในเวที ในระดับประเทศหรือระดับนานาชาติก็สามารถสื่อสารอีกแบบได้ และเราจะแสดงผลงานในมิติต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้นได้อย่างไร แต่โดยตัวตนของเขา ผมคิดว่าเป็นตัวตนที่เป็นส่วนผสมที่ ‘ลงตัว’
แล้วคุณรู้สึกอะไรไหม เวลาที่คนบอกว่าคุณเท้งไม่ได้เปรี้ยงปร้างเหมือนกับพิธา แม้แต่คุณทักษิณยังเอาไปแซวบนเวที
ผมเองก็อยู่กับพรรคมานาน ตั้งแต่วันที่ธนาธรถูกทักว่าเป็นพี่ บอล-ภราดร ศรีชาพันธุ์ (ยิ้ม) แต่ตอนนี้ คนเจอพี่บอล ก็จะถูกทักว่าเป็นธนารธรแทนแล้ว คือทุกอย่างมันมีจังหวะเวลาของมันนะ เหมือนธนาธรอยู่ดีๆ ก็มีเรื่อง ‘ฟ้ารักพ่อ’ ขึ้นมา บางทีจังหวะบางอย่างมันก็ Random ถ้าเราไปเกร็งมากเกินไป มันก็ไม่เกิด
หรือตอนเวทีหาเสียงเมื่อเลือกตั้งปี 2566 หลายคนพูดเหมือนกับพิธาเลยนะ แต่ไม่ได้มีพลังเท่า เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามีเรื่องจังหวะเวลา แล้วก็มีเรื่องการสั่งสมประสบการณ์ การปรับตัว และเรื่องของการพิสูจน์ตัวเอง เพียงแต่ว่าถ้าโอกาสมาก็ต้องคว้าให้ได้ และต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้
3 ปีหลังจากนี้เราจะเห็นบทบาทของพรรคประชาชนในการทํางานสภาฯ เหมือนพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคก้าวไกลอยู่หรือไม่
ผมคิดว่างานนิติบัญญัติเข้มข้นไม่ลดลงแน่นอน เพราะว่ายังมี ส.ส.จํานวนมากที่ยังไม่เคยได้ออกสื่อ ยังไม่เคยอภิปราย รอวันฟูมฟัก ดังนั้นในการอภิปรายใหญ่ๆ แต่ละครั้ง เช่น การอภิปรายทั่วไป การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะมีสัดส่วนให้กับคนหน้าใหม่ที่ไม่เคยพูดมาก่อนเลยได้มีโอกาสพูด ได้ทดลอง ดูว่ามีความสามารถมากแค่ไหน อันนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากลไกต่อไป
ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่หลายคนมองเห็นก็คือ ‘คู่ต่อสู้’ ของพรรคประชาชนมีอำนาจล้นหลาม และมีพลังล้นเหลือในการจัดการอย่างไรก็ได้ คุณประเมินคู่ต่อสู้ของคุณอย่างไร
พรรคประชาชนหรือพรรคสีส้ม มันเกิดมาด้วยภารกิจนี้ มันก็ต้องทำหน้าที่นี้… แต่ผมยืนยันนะว่า หน้าที่หลักคือการแสวงหาฉันทมติใหม่ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนไปในทิศทางนี้ ดังนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องทำงานทางความคิดกันต่อไป
นอกเหนือจากเรื่องกระแส สิ่งที่สิ่งที่พรรคประชาชนสู้คือ การเมืองที่ว่ากันด้วยนิติสงคราม ว่ากันด้วยการสู้กับ ‘อํานาจเก่า’ สุดท้ายแล้วเราจะเอาชนะได้อย่างไร
เรื่องนี้ต้องทําทั้ง 2 ทางคือ ภารกิจที่ยากของพรรคประชาชน คือต้องแก้กติกาอย่าง ‘รัฐธรรมนูญ’ แต่อีกขาหนึ่งเราเป็นผู้เล่นในเกมไปพร้อมกัน ไม่ว่ากติกาจะเป็นแบบไหน ผมยังเชื่อว่า มันมีฉันทมติใหม่ที่สังคมต้องการ
สุดท้ายผมคิดว่า คนในพรรคประชาชนเห็นเหมือนกันว่า เราต้องการเป้าหมายปลายทางของสังคม พรรคประชาชนหรือพลังสีส้มมันเกิดมาก็เพื่อภารกิจนี้
ดังนั้นมันก็ต้องทําหน้าที่ในการแสวงหาฉันทมติใหม่ที่คนส่วนใหญ่เห็นว่า ประเทศไทยจําเป็นต้องเปลี่ยนไปในทิศทางนี้ ประเทศถึงจะไปรอดได้ มันเป็นการทําความเข้าใจในมิติเหล่านี้มากกว่านโยบายรายตัว ซึ่งก็แน่นอนว่า เราในฐานะพรรคประชาชนต้องทํางานทางความคิดกันต่อไป
ผมคิดว่าสิ่งสุดท้ายที่คนในพรรคประชาชนเห็นเหมือนกันคือ เราต้องการเป้าหมายปลายทางของสังคม ถ้าเราชนะเลือกตั้งก็ดี ได้ทำงานพิสูจน์ตัวเอง แต่หลายเรื่องที่เราไม่ชนะ เราก็ผลัก ก็ขยับสังคมเรื่อยไป
อย่างเรื่องยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร สมัยผมเด็กๆ ไม่มีทางเป็นไปได้ แม้แต่จะพูดถึงเรื่องน้ำประปาดื่มได้ เรื่องสิทธิของ LGBTQIA+ ก็เช่นกัน หรือเรื่องสุราก้าวหน้า 5 ปีก่อน ยังดูเป็นไปไม่ได้เลย
ดังนั้นความสำเร็จของพลังสีส้มจริงๆ ผมคิดว่ามันวัดกันที่มันพาสังคมขยับไปสู่จุดไหน แน่นอน ถ้าเราได้ชัยชนะ ก็มีโอกาสพิสูจน์ตัวเอง แต่ในระหว่างทางก็ต้องทำผลงาน พิสูจน์ผลงานของตัวเองไปด้วย
วันนี้คุณออกจากบทบาทของ ‘นักวิชาการ’ มาสู่ ‘นักการเมือง’ เต็มตัว อะไรที่เปลี่ยนไปมากที่สุด
น่าจะเป็นเรื่องการสื่อสารคือ วิธีคิดไม่ค่อยเปลี่ยน เพราะวิธีคิดตั้งแต่การทำงานวิชาการ เป็นหลัก Social Democratic อยู่แล้ว หรือจุดยืนต่างๆ ในทางเศรษฐกิจการเมืองก็ค่อนข้างชัด
แต่ที่ต่างคือวิธีการสื่อสาร สำหรับงานวิชาการ เราเขียนเปเปอร์ 6 เดือน เสร็จแล้วก็ไปงานสัมมนาสัก 2-3 งาน เสร็จแล้วเราก็เก็บตัว จากนั้นก็กลับไปออกงานสัมมนา ออกไปดีเบตกับผู้คน
แต่พอทํางานการเมือง มันแทบจะต้องสื่อสารรายวัน เพราะมันจะมีวาระใหม่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ที่ต้องสื่อสารกับสังคมบ่อยขึ้น แต่ก็พยายามจะต้องชวนสังคมมองในระยะไกลมากขึ้นด้วยเช่นกัน นี่เป็นความตั้งใจของผม
แล้วในงานวิชาการ ส่วนสุดท้ายมันจะเป็นส่วน ‘ข้อเสนอแนะ’ ที่สั้นที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเปเปอร์หรือหนังสือ ยกตัวอย่าง อาจจะเสนอแนะเพียงว่า ต้องรีสกิล แต่ในทางการเมือง ในงานที่เกี่ยวกับ ‘ราชการ’ คุณพูดแค่นั้นไม่ได้ เพราะรีสกิลมันอาจเป็นจุดเริ่มต้นในการตั้งคำถามต่อว่า ต้องทำอย่างไร มีงบประมาณเท่าไร ยังขาดอะไรบ้าง เป็นความสนุก แต่ก็เป็นความท้าทายส่วนตัวเหมือนกัน
อีกอย่างคือผมเข้าไปทำงานเป็นกรรมาธิการงบประมาณ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ตัวแทนประชาชนจะได้เข้าไปรู้จักกับรัฐราชการมากที่สุด 1 ปีจะมี 4 เดือนที่เราจะได้เข้าไปรู้จักกับระบบรัฐราชการไทย ได้ตั้งคำถามว่า เงินตรงนี้ใช้ทำอะไร แล้วทำไม KPI เป็นแบบนี้
อีกประเด็น ผมคิดว่าปัญหาหนึ่งของรัฐบาลปัจจุบันคือ การ ‘ล้างระบบราชการ’ เพราะระบบราชการมันซับซ้อนกว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วมาก ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใช้เงิน กฎระเบียบที่มันซ้อนทับพัวพันไปหมด ตั้งแต่ไอเดียที่จะทำเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตมาจนถึงการ ‘แจกเงิน’ ซึ่งผมว่า มันชัดและสะท้อนระบบรัฐราชการ สะท้อนตัวกฎหมายที่มันทำให้วิธีคิดต่างจากนโยบายหาเสียง
ระบบราชการเหมือนตัวกรอง เหมือนเครื่องกรองน้ำ ฉะนั้น ถ้าคุณเข้าใจเครื่องกรองน้ำ เข้าใจความเป็นระบบราชการ นโยบายที่ทำออกมาก็จะสมจริงมากขึ้น
Passion ในทางการเมืองของคุณคืออะไร
Agenda ของผมคือเรื่องการผลิตและ Made with Thailand ผมยืนยันว่าประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการผลิต คนอาจไปคิดว่ามีนักท่องเที่ยวมาก็พอใจแล้ว จีดีพีกลับมาส่วนหนึ่ง เพราะนักท่องเที่ยวแตะหลัก 40 ล้านคน เหมือนช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19
แต่ในแง่หนึ่ง ผมยืนยันว่ามันไม่ได้ยั่งยืน สมมติมีประเทศเปิดใหม่ มีเกาะใหม่เปิด หรือพม่ากลับมาเปิดประเทศ-พัฒนาประเทศ คนก็อาจจะแห่ไปพม่า ดังนั้นสิ่งที่จีรังยั่งยืนกว่าคือ เรามีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ซึ่งการผลิตจะทำให้เราแข่งกับโลกได้
บทเรียนหนึ่งของวิกฤตต้มยำกุ้งคือ เราไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง เพราะฉะนั้นแพสชันของผม คือการผลักดันประเทศไทยให้ก้าวเข้าไปสู่ห่วงโซ่อุปทานของโลก ในเรื่องอุตสาหกรรมไฮเทค แล้วพาเรากลับไปเป็นเสืออีกครั้ง
Fact Box
- วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร จบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองจากจุฬาฯ และปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ เคยเป็นอาจารย์สอน National Graduate institute for Policy Studies (GRIPS) อยู่นานหลายปี และยังเคยอยู่ในทีมวิจัยและเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น UNCTAD และ ESCAP
- เรื่องที่วีระยุทธให้ความสำคัญอย่างมากคือการ ‘ไล่กวด’ ทางเศรษฐกิจ ของไทย พาไทยกลับไปเป็นเสือตัวที่ 5 และยืนอยู่บนเวทีโลกให้ได้ ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษของวีระยุทธคือ เรื่องนโยบายสาธารณะ การพัฒนาอุตสาหกรรม และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออก
- บทบาทรองหัวหน้าพรรคประชาชนของเขาคือ การดูเรื่องนโยบายและเรื่องเศรษฐกิจ เป็นบทบาทที่ทำงานควบคู่กับศิริกัญญา ตันสกุล และชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร รองหัวหน้าพรรคอีก 2 คน
- วีระยุทธเป็นแฟนตัวยงของ ‘มังงะ’ ญี่ปุ่น ตอนนี้เรื่องที่ติดที่สุดคือ SPY×FAMILY ที่เขาแนะนำให้แฟนๆ The Momentum ติดตาม