“คนรุ่นใหม่หลายคนหวังถึงอนาคตที่ดีกว่าเดิม แต่ผมเชื่อว่าความหวังจะเกิดขึ้นได้จริงจำเป็นต้องมีประสบการณ์ควบคู่ เพราะความหวังจะกำหนดทิศทางให้สังคม ขณะที่ประสบการณ์จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้ง่ายและเร็วขึ้น ดังนั้น ผมขอใช้ประสบการณ์ทั้งชีวิตต่อสู้ร่วมกับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นกว่าทุกวันนี้”
ชื่อของ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เป็นที่รู้จักดีในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้ฝากผลงานสำคัญไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคม 3G 4G ไปจนถึง 5G ทั้งเคยผ่านร้อนผ่านหนาวการเปลี่ยนผ่านจากยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุครัฐบาลรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนจะเกษียณจากตำแหน่ง ภายใต้อำนาจรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุคที่มาจากการเลือกตั้ง
หลังอำลาตำแหน่ง ‘นักบริหาร’ ที่ดำรงมาตลอด 11 ปี ฐากรได้ตัดสินใจพลิกบทบาทมุ่งสู่เวทีการเมืองกับพรรคไทยสร้างไทย ที่มีคุณหญิง สุดารัตน์ เกยรุาพันธุ์ เป็นหัวหน้าพรรค โดยรับตำแหน่งใหญ่ เป็นเลขาธิการพรรค และใช้ความรู้เดิมเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
Passion ของฐากร ณ วันนี้คือการผลักดันนโยบาย ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ให้เป็นรูปธรรมชัดเจนจนสามารถสร้างระบบนิเวศใหม่ให้ประชาชนคุ้นชินจนสามารถนำไปต่อยอดในการทำธุรกิจสตาร์ตอัพ ไปจนถึงการนำเทคโนโลยี AI เข้าไปช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ และบัตร 30 พลัส ที่ใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียวก็สามารถครอบคลุมการรักษาทุกโรงพยาบาล
ขณะเดียวกัน เขายังตั้งใจนำประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตเพื่อปูทางอนาคตของประเทศ ไม่ใช่ในฐานะ ‘นักการเมือง’ แต่ในฐานะ ‘พ่อ’ ที่ฝันอยากเห็นคนรุ่นลูกมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีในบ้านเมืองระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบเผด็จการ ที่หูทวนลมทานกระแสความเห็นต่างของกลุ่มคนรุ่นใหม่
เราชวนเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทยมาอธิบายเหตุผลที่ผันตัวเป็น ‘นักการเมือง’ ใต้ชายคาพรรคไทยสร้างไทย พร้อมทั้งขยายความสำคัญของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และความสัมพันธ์ระหว่างเขากับลูกอีก 3 คน ที่เปรียบเสมือนโมเดลต้นแบบร้อยเชื่อมระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ในเวลาที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่จุดตัดสำคัญแห่งยุคสมัย
หลังลาจากตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. เมื่อปี 2563 คุณได้ตัดสินใจลงสู่สนามการเมือง ทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อนเลย
(ยิ้ม) ตลอดระยะ 11 ปี ที่ทำงานในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ผมแทบไม่ได้มีเวลาให้กับครอบครัวเลย พอถึงคราวเกษียณจากตำแหน่งเมื่อปี 2563 ก็ตั้งเป้าไว้ว่า จะทุ่มเทเวลาชีวิตให้กับครอบครัวมากยิ่งขึ้น หาเวลาพักผ่อนไปเที่ยวกับพวกเขาบ้าง ผมก็ทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวเช่นนั้นมา 2 ปี แต่พอถึงจุดหนึ่งเราก็รู้สึกว่า เอ๊ะ! ประสบการณ์การทำงานที่สั่งสมมาตลอดระยะเวลา 33 ปี ไม่ใช่แค่ กสทช. แต่รวมถึงสำนักงบประมาณและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ควรจะนำมาช่วยเหลือพัฒนาประเทศสิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ผมมองว่า เราสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมาสร้างประโยชน์แก่ประชาชนได้
แต่คำถามสำคัญคือ 1. จะมีพรรคการเมืองใดที่สามารถรองรับแนวคิดของเราได้ และ 2. เราต้องอยู่กับพรรคที่เป็นฝั่งประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ผมและครอบครัวเน้นย้ำมาเสมอตั้งแต่ทำงานกับ กสทช. ว่า พ่อต้องมีจุดยืนอยู่ฝั่งประชาชน เพราะที่ผ่านมาในยุครัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เจ้าหน้าที่รัฐที่มีจุดยืนอยู่ฝั่งประชาชนต่างทำงานด้วยความยากลำบาก แทบไม่ได้รับการสนับสนุน ทำให้กว่าจะผ่านพ้นแต่ละวิกฤตไม่ใช่เรื่องง่าย
ในฐานะที่คุณทำงานมาตั้งแต่รัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนมาถึงรัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา คุณเห็นความแตกต่างอย่างไร อะไรที่ทำให้คุณตัดสินใจเลือกอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย
ในสมัยที่ผมยังอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ยุคนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ผมมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ที่ในขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) แน่นอนว่า ตลอดการทำงานกับท่าน 1 ปีครึ่งราบรื่น เพราะท่านให้การเปิดกว้างรับฟังข้อเสนอแนะของฝั่งเรา เพื่อนำไปใช้ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ
ยกตัวอย่างกรณี ปี 2554 ที่ประชาชนพูดว่า ลาวเขาใช้ 3G แล้ว แต่บ้านเรายังไม่มีให้ใช้เลยมันเกิดอะไรขึ้น สาเหตุหลักเพราะตัวบทกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวย จะทำการประมูลคลื่นก็ประมูลไม่ได้ แต่ ณ ตอนนั้น รัฐมนตรีอนุดิษฐ์พร้อมที่ให้ความช่วยเหลือเราเต็มที่ และขอความร่วมมือกับผู้ที่คิดจะยื่นฟ้องขัดขวางการประมูล และยอมนำสัญญาสัมปทานที่อยู่ใต้โต๊ะขึ้นมาพูดกันบนโต๊ะ จนสุดท้ายเดินหน้าต่อมีสัญญาณ 3G ใช้
กระทั่งปัจจุบัน เราพยายามขับเคลื่อนเรื่องเครือข่ายไร้สายความเร็วสูงชนิดพิเศษ ที่ตามหลังเพื่อนบ้านอาเซียนอยู่ 12 ปี ให้ไปสู่สัญญาณ 4G ให้ได้เร็วที่สุด ทว่ารัฐบาลตั้งแต่ยุค คสช. กลับไม่ได้เห็นความสำคัญ แม้แต่การประมูลคลื่นทีวีดิจิทัลที่ไปประมูลแล้วเจ๊ง ก็เพราะไปอิงฐานระบบเดิมจากปี 2548 มาใช้
ทั้งสองกรณีเป็นลักษณะความต่างของการทำงาน ระหว่างรัฐภายใต้ระบอบรัฐบาลประชาธิปไตย ที่เปิดกว้างรับฟังคนทำงาน กับรัฐภายใต้ระบอบเผด็จการที่ไม่ฟังเสียงคนทำงาน ที่พิสูจน์ให้เห็นจากความล้าหลังของเทคโนโลยีบ้านเรา
เหตุใดคุณจึงเลือกร่วมงานกับพรรคไทยสร้างไทย ทั้งที่มีพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยพรรคอื่นอยู่ไม่น้อย คุณมองเห็นอะไรในพรรคนี้
ณ เวลานี้ บ้านเรามีพรรคการเมืองที่ยึดหลักประชาธิปไตยพอสมควร นับเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่จากการที่ผมได้เข้าคุยกับพรรคไทยสร้างไทย ทั้งผมและพรรคมีแนวคิดที่ตรงกัน 3 ข้อ คือ1. นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นนโยบายที่ผมวางแผนไว้ว่า เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนเขาถึง ‘หลักเศรษฐกิจดิจิทัล’ อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สำหรับรองรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ และการจัดการบริหารเงินในกระเป๋าของกลุ่มคนวัยเกษียณ
2. นโยบายด้านสาธารณสุข ผมและพรรคมองร่วมกันว่าจะต้องทำ ‘บัตร 30 บาทพลัส’ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลในระบบสาธารณสุขได้ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เพื่อแก้ปัญหาบัตรทองที่รองรับการรักษาเฉพาะโรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่ง
3. พรรคไทยสร้างไทยมีบุคลากรที่มีประสบการณ์และความพร้อม เคยผ่านการบริหารงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ยกตัวอย่างคุณสุพันธุ์ มงคลสุธี ที่เคยเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและฟื้นฟูธุรกิจเอสเอ็มอี จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมคิดว่าพรรคไทยสร้างไทยนี่ละ คือที่ที่ใช่สำหรับเรา และเชื่อว่า พี่น้องประชาชนพร้อมจะให้การสนับสนุน
ย้อนหลับไปตอนต้นคุณบอกว่า ‘ครอบครัว’ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เลือกพรรคไทยสร้างไทยเช่นกัน
ใช่ ครอบครัวมีส่วนทำให้ผมตัดสินใจเลือกพรรคไทยสร้างไทยง่ายขึ้น โดยเฉพาะลูกคนเล็ก (กฤตธี ตัณฑสิทธิ์) เขาเป็นคนที่มีแนวคิดประชาธิปไตยเต็มใบ แม้แต่ภรรยาผม (พรพาณี ตัณฑสิทธิ์) ที่เป็นคนรุ่นก่อนก็เห็นพ้อง เพราะว่าทุกคนสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ไม่เอารัฐประหารและเผด็จการ ที่สำคัญอยากให้พ่อใช้ประสบการณ์ที่มีร่วมสนับสนุนคนรุ่นใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ
หลายคนอาจจะมีคำถามว่า ไม่กลัวหรือที่ต้องมาอยู่ขั้วตรงข้ามกับฝั่งพลเอกประยุทธ์ อยู่เฉยๆ ก็สบายแล้ว จะไปหาเรื่องใส่ตัวทำไม วันแรกที่เข้ามาทำงานอาจจะมีความรู้สึกนั้นบ้าง แต่จนถึงวันนี้ความรู้สึกที่ว่าไม่มีเหลืออยู่ หมดเวลาให้กังวลใจนานแล้ว เพราะเราเชื่อในจุดยืนที่เราเป็นอยู่
แล้วเหตุใดคุณจึงได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เลขาธิการพรรค ที่ถือเป็นตำแหน่งสำคัญ ขณะที่ตำแหน่งนี้ในพรรคอื่นๆ มักจะเลือกคนที่ผ่านเวทีการเมืองมาโชกโชนเสียมากกว่า
เหตุผลเพราะตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ทำงานเชื่อมโยงกับกลุ่ม ส.ส.แต่ละพื้นที่ ซึ่งพรรคเล็งเห็นว่า ผมเคยทำงานด้านบริหารลักษณะนี้มาก่อนในองค์กรที่มีขนาดใหญ่ และมีโอกาสได้ติดต่อประสานงานกับภาคธุรกิจ รวมถึงภาคประชาชนอยู่เสมอ ฉะนั้น ผมสามารถนำประสบการณ์ดังกล่าว มาปรับใช้ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ แก่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเรา ทั้งในกรุงเทพฯ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสาน ไปสู่การสร้างกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้จริง
นอกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของคุณคือ ประธานคณะกรรมการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ พรรคไทยสร้างไทย ที่คุณยืนยันหนักแน่นว่า หลักเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่คนไทยดีขึ้น แต่จะดีขึ้นในแง่ไหนบ้าง
ก่อนอื่นต้องพูดถึงนิยามของหลักเศรษฐกิจดิจิทัลก่อน
คำว่าเศรษฐกิจดิจิทัล คือการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาต่อยอดและลดต้นทุนด้านต่างๆ สร้างงานสร้างอาชีพ และทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนสะดวกขึ้น
และมองให้ไกลกว่านั้น เรากำลังอยู่ในยุค Transition Period คาบเกี่ยวระหว่างยุคเศรษฐกิจดิจิทัลกับเศรษฐกิจยุคเก่า เหมือนที่หลายคนมีความคิดลังเลอยากลาออกจากงานประจำ ไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร เพื่อมาค้าขายออนไลน์
อีก 3-4 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจดิจิทัลจะกลืนเศรษฐกิจยุคเก่าจนหมด แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะทิ้งเศรษฐกิจยุคเก่าทันที เรายังจำเป็นต้องเดินหน้าหลักเศรษฐกิจทั้งสองไปพร้อมกัน แต่คำถามคือเหตุใดทุกวันนี้หลักเศรษฐกิจดิจิทัล ถึงเอื้อประโยชน์เฉพาะภาคธุรกิจและเฉพาะกลุ่มคนเมือง ทั้งที่ควรเข้าถึงประชาชนทุกคนได้อย่างเท่าเทียมและยั่งยืน เพื่อให้เขากล้าตัดสินใจในการเลือกอาชีพ
ฉะนั้น การจะสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนผมคิดว่ามี 3 องค์ประกอบที่อยากจะผลักดันให้เกิดขึ้นจริง คือ
1. เตรียมทักษะดิจิทัลของคนไทยให้พร้อม เพราะเศรษฐกิจดิจิทัลจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคนที่ทำงานเป็น ขณะเดียวกันจะเป็นการสร้างรายได้และอาชีพใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศ
2. สนับสนุนธุรกิจ Start-Up ที่เกี่ยวกับดิจิทัล ด้วยการตั้ง Cluster เพื่อให้เกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจและนวัตกรรม
3. ภาครัฐจะต้องไม่กำหนดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจ รวมถึงต้องเสนอตัวเป็น Partner เพื่อผลักดันให้เกิดธุรกิจดิจิทัลที่สามารถพลิกโฉมเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้
เมื่อประชาชนคุ้นชินกับระบบนิเวศดิจิทัล เป้าหมายต่อไปคือการทำให้ประชาชนเข้าถึงเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ให้ได้มากที่สุด
ใช่ เพราะแต่ละสายธุรกิจมีปัญหาต่างกันไป ฉะนั้น เครื่องมือ AI จะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่างธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรม เขามีปัญหาระบบสายพานการผลิต ผลิตภัณฑ์ของคุณมีจุดด้อยตรงไหน เราจะนำเทคโนโลยี AI เข้าไปช่วยวิเคราะห์แก้ไข เพื่อเปลี่ยนให้เขาเป็นโรงงานอัจฉริยะ
แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายฝ่ายกังวลว่า AI จะทำให้คนตกงานมากขึ้น หรือแม้แต่เป็นภัยต่อชีวิตมนุษย์ เหมือนที่นักธุรกิจระดับโลกอย่าง อีลอน มัสก์ เคยกล่าวไว้
การใช้ปัญญาประดิษฐ์มาทำงานแทนคนจะมีผลต่อรูปแบบและโครงสร้างงานในอนาคตแน่นอน เพราะจะมีงานจำนวนไม่น้อยที่ปัญญาประดิษฐ์สามารถทำหน้าที่ทดแทนมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ก็จะมีงานใหม่เกิดขึ้นมา เช่น พนักงานที่ทำหน้าที่ควบคุมหุ่นยนต์ หรือผู้พัฒนา Code ต่างๆ
ผมว่าทุกวันนี้ เทรนด์เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่มีใครรู้หรอกว่า ผลลัพธ์จะออกมาเป็นแบบไหน แต่สิ่งสำคัญที่รัฐทำได้คือ เตรียมทักษะคนให้พร้อมกับงานโลกยุคใหม่
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ผมเสนอโครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลระดับชาติผ่าน Online Learning ซึ่งสามารถทำได้ทันที ถ้าทักษะคนไทยพร้อม เราจะมีภูมิต้านทานและได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ ดูจะห่างไกลจากสิ่งที่พลเอกประยุทธ์เคยพูดว่า รัฐบาลได้สร้างระบบ Business Ecosystem ในรูปแบบเศรษฐกิจดิจิทัลไปได้เยอะ คำถามคือเพราะอะไรเราถึงยังไปไม่ถึงจุดนั้น
1. การเข้าถึงแหล่งเงินทุน คุณยังเห็นชาวบ้านต่างจังหวัดมีหนี้สินอยู่เยอะจริงไหมครับ แต่ถ้าเราสามารถตั้ง ‘กองทุนเศรษฐกิจดิจิทัลชุมชน’ เพื่อให้เขาเข้าถึงเงินทุน ไม่ใช่ในฐานะเจ้านี้กับลูกหนี้นะครับ แต่เป็นในฐานะพาร์ตเนอร์ ที่สามารถให้ทุนเขาไปต่อยอดธุรกิจ เมื่อเขาประสบความสำเร็จรัฐก็ค่อยแบ่งกำไรจากเขาไปกี่ปีก็ว่ากันไป
คุณลงทุนแบบนี้ไปสัก 100 คน แล้วประสบผลสำเร็จแค่ 30% ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จ และคุณจะได้คนรุ่นใหม่หันมาพัฒนาวงการธุรกิจสตาร์ทอัพมากขึ้น
ขณะเดียวกันคุณมีชุมชน 8 หมื่นชุมชนอยู่ในมือ คุณสามารถพัฒนา 8 หมื่นชุมชนนี้ ไปสู่ระดับตำบล สู่ระดับอำเภอ สู่ระดับจังหวัด และสู่ระดับประเทศ เพื่อมีส่วนช่วยเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจบ้านเรา เพราะทุกวันนี้เศรษฐกิจระดับมหภาคบ้านเรามันรวยกระจุก จนกระจาย
2. รัฐจะต้องอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจเข้ามาลงทุนทำได้ง่ายขึ้น กฎเกณฑ์การลงทะเบียนต่างๆ เจ้าหน้าที่รัฐควรจัดการให้เขาเสร็จเร็วที่สุด
3. รัฐจะต้องติดตามดูว่าผ่านไป 2-3 ปี เขาทำธุรกิจแล้วมีอุปสรรคตรงจุดไหนบ้าง เพื่อจะได้เข้าไปช่วยเหลืออำนวยความสะดวก และถ้าประสบผลสำเร็จก็ต้องมาประเมินว่า ธุรกิจนี้เป็น Soft Power ไหม เพื่อจะได้ช่วยจดทะเบียนลิขสิทธิ์ให้กับเขา เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็น Soft Power มาจากชาวบ้านต่างจังหวัด แต่ไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วยเรื่องลิขสิทธิ์ จนถูกประเทศอื่นฉกฉวยไปขึ้นทะเบียนเสียเอง
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอีกหลายข้อที่เป็นอุปสรรคต่อคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทยจึงประกาศชัดเจนว่า ถ้าหากร่วมรัฐบาลกับพรรคใดจะต้องออกพระราชกำหนดแขวนกฎหมาย 1,400 ฉบับ ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ต่อการพัฒนาประเทศ เพราะถ้าเรามัวแต่มาแก้ไขกฎหมายทีละฉบับก็เสียเวลาอย่างน้อย 1-2 ปี หมายความว่า 1,400 ฉบับ ก็ต้องรอถึง 1,400 ปี
ผมเคยมีโอกาสปรึกษากับ รศ.ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศพรรคไทยสร้างไทย ท่านบอกว่า ยิ่งเราออกพระราชกำหนดแขวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อประชาชน แล้วออกกฎหมายกลาง 1 ฉบับ เพื่อบังคับใช้ให้ได้จริงแค่นี้เอง ทำทุกขั้นตอนให้ง่าย ให้เร็วที่สุด เหมือนเวลาคุณบัตรทำบัตรประชาชนหายจะไปทำใหม่ แต่ต้องนำเอกสารยืนยันตัวตนเซ็นรับรองสำเนาถูกต้องติดไปด้วย ทั้งที่ในกฎหมายระบุว่า มีรูปถ่ายยืนยันตัวตนก็พอ มันหมายความว่าอะไรครับ ไหนบอกประเทศเราเข้าสู่ระบบดิจิทัลหมดแล้ว หรือความจริงเป็นแค่กฎหมายประกาศให้ดูโก้ไปวันๆ
หรืออย่างอุปสรรคที่ต่างชาติเขาไม่มาลงทุนบ้านเรา แต่เขาเลือกไปลงทุนที่เวียดนามหรืออินโดนีเซียแทน โดยเฉพาะกรณีที่ Facebook หรือ YouTube ไม่มาตั้งศูนย์ระบบ เพราะถ้าสองเจ้านี้เข้ามาลงทุนตัวเลข GDP บ้านเราจะเปลี่ยนจากตัวเลขหลักเดียว เป็นสองหลัก ไหนจะมาลงทุนจ่ายค่าภาษีให้กับเรา คำตอบคือติดกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อเขาแค่ 1-2 ฉบับ ปัจจุบันกลายเป็นว่า คนที่ทำอาชีพยูทูเบอร์ต้องจ่ายค่า VAT 7% จากเดิมที่เขาเสียภาษีขั้นต่ำ 100 บาท ก็เพิ่มเป็น 107 บาท สั้นๆ ง่ายๆ คนไทยจ่ายให้คนไทยกันเอง
และถ้ามีคนตั้งคำถามว่า นี่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับชาวต่างชาติไหม ผมต้องบอกว่า โลกไร้พรหมแดนแล้วครับ และนี่เป็นผลประโยชน์แบบ Win-Win ทั้งสองฝ่าย สมมติมีโรงงานต่างชาติเสนอตัวเข้ามาเปิดโรงงาน เพื่อให้เราสามารถผลิตสินค้าได้ เราก็แค่หาจุดยืน สร้างมาตรฐานร่วมกันก็จบ
นอกจากภาคธุรกิจ ภาคการศึกษาก็เกิดความเหลื่อมล้ำเช่นกัน เพราะเด็กนักเรียนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี
เราเห็นประเด็นนี้ชัดเจนตอนโควิด-19 ระบาด มีนักเรียนต้องขาดเรียนเพราะขาดการเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต และไม่มีอุปกรณ์แทบเล็ตหรือสมาร์ตโฟน ทั้งที่รัฐบาลมีกฎหมายพระราชบัญญัติการศึกษาปี 2542 มาตรา 62 ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีด้านการศึกษา แล้วไฉนตอนโควิดคุณต้องไปวิ่งเต้นร้องขอใช้อินเทอร์เน็ตฟรี
ทำไมคุณไม่ตั้งกฎเกณฑ์กับผู้ประกอบการโทรคมนาคมว่า ถ้าคุณมีกำไรต่อปีหมื่นล้าน สองหมื่นล้าน ผมขอหัก 5-10% เพื่อนำเข้ากองทุนพัฒนาเทคโนโลยีฯ แล้วนำเงินที่ได้กระจายให้กับโรงเรียน ให้กับมหาวิทยาลัย ไปซื้ออุปกรณ์การศึกษา
ข้อต่อมาคือ รัฐต้องประสานงานกับกระทรวงการคลังว่า ใครก็ตามที่นำเงินมาบริจาคสามารถนำหลักฐานมาลดหย่อนภาษีได้ อย่าไปคิดเล็กคิดน้อย ต้องมารอกระบวนการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง รัฐควรทำอย่างไรก็ได้ให้ประชาชนเข้าถึงผลประโยชน์ได้เร็วที่สุด
ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นว่า 8 ปีของรัฐบาลภายใต้พลเอกประยุทธ์ ไม่ได้ใส่ใจเรื่องของการศึกษา มิหนำซ้ำปล่อยให้บริษัทโทรคมนาคมได้ผลกำไร โดยที่ปล่อยปะไม่เรียกระดมเงินปันผลเพื่อช่วยเหลือภาคการศึกษา
อีกสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ ในยุคของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ มีกลุ่มทุนผูกขาดสัมปทานด้านโทรคมนาคมอยู่ไม่กี่เจ้า เช่น กรณีที่ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชัน ได้สัมปทานท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินทั่ว กทม. นาน 30 ปี หรือกรณีที่ทรู-ดีแทค ควบรวมกิจการก็ตาม
ต้องชี้แจงก่อนว่า สัมปทานท่อร้อยสายเคเบิลลงดิน กสทช. ไม่ได้มีหน้าที่เป็น Operator ทำสัญญาสัมปทานจัดจ้าง แต่มีหน้าที่เป็น Regulator ออกใบประกอบอนุญาตกิจการให้ทางกรุงเทพธนาคมเท่านั้น ส่วนเขาจะรับหน้าที่นำสายเคเบิลลงใต้ดินเอง หรือจะไปหาบริษัทมารับเหมาทำนั่นเป็นหน้าที่ของเขา
ในกรณีที่ประชาชนแย้งว่า ทรูฯ ได้สัญญาสัมปทานท่อร้อยสายเคเบิลใต้ดินนาน 30 ปี เป็นการผูกขาด ภายหลัง กสทช. ก็ได้มีการทำหนังสือร้องเรียน และได้ยกเลิกสัญญาเป็นที่เรียบร้อย เพราะถ้าปล่อยให้มีการผูกขาดต่อประชาชนจะต้องรับภาระอัตราค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ที่แพงขึ้น
ทั้งนี้ ผมมีสิ่งหนึ่งที่อยากเสนอและทำร่วมกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถ้าได้เป็นรัฐบาล นั่นคือ หากรัฐยังไม่มีงบประมาณมากพอจะนำสายเคเบิลลงใต้ดินทั้งหมด ผมขอเสนอวิธี ‘จัดระเบียบสายสื่อสาร’ ภายใน 6 เดือน คุณน่าจะนึกออกว่า สายสื่อสารที่พาดอยู่บนเสาไฟฟ้าทุกวันนี้มีอยู่ 3 แบบ คือ
1. สายสื่อสารโทรคมนาคม
2. สายเคเบิลโทรทัศน์
3. สายสื่อสารโทรคมนาคมที่ตกยุค เช่น แพ็กลิงก์
แต่ 2 ข้อหลังส่วนใหญ่เป็นสายที่ตาย ไม่ได้รับการใช้งาน ทว่าหลงเหลือมาจากยุคเคเบิลทีวีเฟื่องฟู ยุคแพ็กลิงก์ได้รับความนิยม เมื่อ 20 ปีก่อน และพอหมดยุคก็ไม่มีผู้ประกอบการไหนมาเอาลง ถ้าคุณแยกสายเหล่านี้ออก จะเหลือจำนวนสายสื่อสารที่ใช้งานจริงอยู่น้อยมาก จนสามารถนำท่อพลาสติกมารวบเก็บเว้นระยะห่างท่อละ 10-20 เมตร โดยติดอุปกรณ์ RFID (Radio Frequency Identification) เพื่อแจ้งเตือนสัญญาณกลับไปหาสำนักงานเขตและ กสทช. กรณีลักลอบติดตั้งสายสื่อสาร ลงทุนไม่ถึง 600 ล้านบาท แค่นี้บ้านเมืองเราก็จะเป็นระเบียบ
เพราะทุกวันนี้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายสร้างท่อร้อยสายเคเบิลลงใต้ดิน 2 หมื่นล้านบาท โดยที่ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายค่าเช่าที่ให้บริษัทกรุงเทพธนาคมกิโลเมตรละ 8,000 บาท จากเดิมที่เสียให้การไฟฟ้าเดือน 1,000 บาท ตอนอยู่บนเสาไฟ นั่นหมายความว่า ประชาชนจะต้องเสียค่าบริการโทรศัพท์มากกว่าเดิม 8 เท่า ซึ่งผมคิดว่า รัฐอย่าเพิ่งคิดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไว้อนาคต 5-6 ปี ข้างหน้า รัฐจำเป็นต้องปรับปรุงหรือสร้างถนนใหม่หลายสาย ก็ถือโอกาสขุดทำท่อแล้วเอาสายเคเบิลพวกนี้ลงใต้ดินทีเดียว
ส่วนเรื่องของการควบรวมผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์ จะควบรวมไม่ควบรวมตรงนี้เป็นหน้าที่ของ กสทช. แม้เรื่องการผูกขาดเราไม่เห็นด้วยแน่นอน แต่เมื่อเขาควบรวม รัฐมีหน้าที่กำกับดูแลผู้ให้บริการโทรคมนาคมตามกฎหมาย โดยเฉพาะเพดานค่าบริการที่ต้องไม่เกินจริงสวนทางกับต้นทุนจนทำผู้บริโภคเดือดร้อน
และเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 พรรคไทยสร้างไทย นำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้มอบหมายให้สมาชิกไปยื่นฟ้องร้องต่อศาลอาญาทุจริตกลาง กรณีเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่มิชอบ จนเกิดปัญหาค่าไฟแพงเกินความเป็นจริง เพื่อให้รัฐกลับมาสำรองไฟในระดับ 15-20% ไม่ใช่ระดับ 50% เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชน ถ้าทำได้เราก็พร้อมถอนฟ้องภายหลัง
ในฐานะที่คุณดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. มานาน 11 ปี สิ่งใดที่คุณอยากจะบอกถึง กสทช. หรือกระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อแก้ไขในยุครัฐบาลต่อไป
1. เร่งคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคที่รั่วไหล นี่เป็นหน้าที่หลักของกระทรวงดิจิทัลฯ ต้องหาสาเหตุว่ารั่วไหลได้อย่างไร
2. แก๊งคอลเซนเตอร์ที่ระบาดหนัก จนมีประชาชนหลงเชื่อสูญเสียเงินไปหลายล้าน ตามหาให้ได้ว่าเซิร์ฟเวอร์ของโจรกลุ่มนี้อยู่ที่ใด เท่าที่ผมทราบเซิร์ฟเวอร์ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้แนวตะเข็บชายแดนประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและกัมพูชา แต่คนพวกนี้ยังต้องพึ่งสายสัญญาณจากบ้านเราที่ดีกว่า ถามว่าเขาลากสัญญาณไปใช้ได้อย่างไร ก็ช้าราชการบ้านเรานี่แหละครับที่อนุญาต
3. กฎเกณฑ์การซื้อซิมโทรศัพท์ คุณต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ถ้าพบว่า คนมาซื้อซิมทีละ 200-300 ซิมในครั้งเดียว ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อตรวจสอบ
4. ตั้งศูนย์ Data Center รองรับเศรษฐกิจดิจิทัลระดับมหาภาค เพื่อเปิดเสรีโทรคมนาคมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเช่า Hub สร้างรายได้เข้าประเทศ โดยมีข้อตกลงกำกับเพื่อใช้ตรวจสอบ ดีกว่าให้เขาไปเช่าในประเทศอื่น ซึ่งผู้ใช้บริการอย่างเราก็ไม่รู้ว่า เขาเอาข้อมูลผู้ใช้งานไปไว้ที่ไหน ข้อมูลหายทีก็ตกใจที แล้วค่อยมานั่งแก้ปัญหาแบบวัวหายล้อมคอก
หลายนโยบายที่คุณคิดก็ได้มาจากการพูดคุยกับลูกและภรรยา แสดงว่าครอบครัวมีบทบาทสำคัญกับคุณในทุกเรื่องพอควร
ถูกต้อง ลูกผมมักแบ่งปันข้อมูลทำให้เราเข้าใจหลายๆ เรื่องมากขึ้นในมุมมองของคนรุ่นใหม่ ฉะนั้นเราจะมีธรรมนูญในครอบครัวว่า ถ้ามีปัญหาพ่อจะต้องไม่คิดเองเออเอง แต่จะต้องนำปัญหามาให้ที่บ้านช่วยแบ่งปันข้อมูลและมุมมองต่างกัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน แต่ไม่ได้หมายความว่า ฟังแล้วเราจะต้องทำตามเขาทำหมดนะ เพียงแต่ต้องนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม
ผมคือคนรุ่นก่อนที่ต่อสู้เพื่อคนรุ่นใหม่ หมายความว่าผมเป็นวัยที่อยู่ระหว่างปัจจุบันกับอดีต แต่คนรุ่นใหม่เขาอยู่กับปัจจุบันกับอนาคต ความฝันสูงสุดในฐานะคนเป็นพ่อ คือเราจะช่วยสานฝันเหล่านี้ให้คนรุ่นใหม่ได้อย่างไร ถ้าทำได้กำแพง Generation Gap ก็จะทลายลง
ยกตัวอย่างกรณี LGBTQ+ เขาออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ในเมื่อเขากล้าออกมาเรียกร้องสิทธิให้ตัวเอง คนรุ่นเก่าที่มีฐานะเป็นพ่อ เป็นแม่ ก็สมควรจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเป็นอีกเสียงเรียกร้องร่วมกับเขา ส่งเสริมให้เขามีความสุข และยินดีกับเขา เพราะสิ่งที่เขาขอไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนหรือทำประเทศเสียหาย
ถึงจุดนี้คุณสามารถได้เต็มปากว่า จุดยืนของพรรคไทยสร้างไทย คือขอไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่เป็นเผด็จการทุกกรณี
ใช่ หลักที่พรรคไทยสร้างไทยยืนยันหนักแน่นเสมอมาคือ 1. อยู่ในฝั่งประชาธิปไตย และ 2. เราไม่เอาเผด็จการ
คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ในอุดมคติของคุณ
1. ต้องเป็นคนที่มีอุดมการณ์และมีวิสัยทัศน์ชัดเจน สามารถตอบประชาชนได้ว่า จะนำพาประเทศไปในทิศทางใด
2. ต้องเป็นคนมีประสบการณ์ สามารถแปลงอุดมการณ์ของคนรุ่นใหม่ให้เป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้จริง
3. สำคัญที่สุดคือ รัฐบาลใหม่จะต้องไม่กีดกัน ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ถ้าเลือกเป็นตัวละครใน Star Wars คุณจะเลือกเป็นตัวไหน
(หัวเราะ) ผมไม่เคยดู Star Wars แต่ลูกๆ ผมบอกว่า พ่อเหมือนตัวละคร ‘อาจารย์โยดา’ ที่มีประสบการณ์มากและคอยเป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับเหล่าอัศวินเจได
ผมได้ฟังแบบนี้ก็อยากจะหาเวลานั่งดู Star Wars เหมือนกันนะ จะได้รู้ว่าที่ลูกผมพูดจริงไหม
Fact Box
- ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สมรสกับ พรพาณี ตัณฑสิทธิ์ อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยมีลูกด้วยกันทั้งหมด 3 คน ได้แก่ 1. ฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ ที่ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด 2. อิสรีย์ ตัณฑสิทธิ์ ที่ปัจจุบันรับราชการเป็นผู้พิพากษา จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขากฎหมาย จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ระดับปริญญาโท สาขากฎหมาย จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) และปัจจุบันรับราชการเป็นผู้พิพากษา และ 3.กฤตธี ตัณฑสิทธิ์ นักเรียนทุนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในระดับปริญญาตรี สาขาสังคมวิทยา จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) และปริญญาโทด้านมานุษยวิทยาการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน
- ตลอดวาระ 2 สมัย ที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการกสทช. (ปี 2555- 2559 และ 2560-2563) ฐากรมีผลงาน อาทิ จัดการประมูลคลื่นความถี่ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐรวมกว่า 4 แสนล้านบาทเศษ โดยเฉพาะในปี 2563 ที่สามารถจัดการประมูลคลื่นความถี่ 5G สำเร็จเป็นประเทศแรกในอาเซียน ออกกฎลงทะเบียนซิมเพื่อจัดระเบียบและสร้างความปลอดภัยให้แก่สังคม และแก้ปัญหาการประมูลทีวีดิจิทัล โดยเสนอให้มีการยกหนี้ทีวีดิจิทัลที่เอกชนต้องจ่ายให้แก่รัฐทั้งหมด พร้อมจ่ายค่าใช้โครงข่ายทีวีดิจิทัลแทนผู้ประมูลทั้งหมด 2 หมื่นล้านบาท ในตลอดระยะเวลาใบอนุญาตที่เหลือ ขณะเดียวกันได้นำคลื่นทีวีดิจิทัลออกประมูลให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมใช้งาน จนสร้างรายได้ให้แก่รัฐราว 5.6 หมื่นล้านบาท
- นอกจากจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค และประธานคณะกรรมการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศพรรคไทยสร้างไทย ในวันที่ 8 มีนาคม 2566 ฐากรยังมีสถานะเป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคไทยสร้างไทย เป็นลำดับสอง รองจาก คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะได้เข้าไปทำงานในสภาผู้แทนราษฎรชุดต่อไป