Bangkok International Fashion Week 2022 (BIFW) ถือเป็นงานแฟชั่นโชว์ครั้งใหญ่ในประเทศไทยที่จัดขึ้นติดต่อกันหลายปี เพื่อให้เหล่าห้องเสื้อและดีไซเนอร์ไทยได้แสดงฝีมือการรังสรรค์ความคิดสร้างสรรค์ฝ่ายเครื่องแต่งกาย และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยมุ่งสู่ระดับโลก เปิดพื้นที่ทั้งดีไซเนอร์ไทยแบรนด์ใหญ่และดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่มาแรง ควบคู่กับความพยายามทำให้แฟชั่นเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และเป็นหนึ่งใน Soft Power ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ในปีนี้ BIFW 2022 จัดงานแฟชั่นโชว์ต่อเนื่อง 5 วัน เปลี่ยนลานพาร์ค พารากอน ให้กลายเป็นโดมรันเวย์ขนาดใหญ่ที่มีแบรนด์ไทยระดับแนวหน้าทยอยนำเสนอผลงานในคอลเลกชัน Autumn/Winter 2022 ทั้ง Absolute Siam (แอบโซลูท สยาม), ASAVA (อาซาว่า), FLYNOW (ฟลายนาว), FRI 27 NOV. (ฟรายเดย์ ทเวนตี้เซเว่น โนเวมเบอร์), GREYHOUND ORIGINAL (เกรย์ฮาวด์ ออริจินัล), ISSUE (อิชชู่), KLOSET (คลอเส็ท), Leisure Projects (เลเชอร์ โปรเจกต์), NAGARA (นาการา), PAINKILLER Atelier (เพนคิลเลอร์ อเตลิเยร์), POEM (โพเอม), TandT (ทีแอนด์ที), VATANIKA (วทานิกา), VICKTEERUT (วิคธีร์รัฐ) และ VVON SUGUNNASIL (วีวอน สุกัณศีล)

The Momentum ได้ร่วมชมแฟชั่นโชว์ Bangkok International Fashion Week 2022 (BIFW) ที่อัดแน่นด้วยความคิดสร้างสรรค์ของดีไซเนอร์ไทย เราไม่ได้เห็นเพียงแค่ผลงานที่ถูกนำเสนอ ทว่ามองเห็นตั้งแต่นางแบบนายแบบบนรันเวย์ที่เผยให้เห็นการ ‘ขยับ’ ของวงการแฟชั่นไทย จากภาพจำเก่าที่ฝังหัวกันมาว่านางแบบนายแบบคือไม้แขวนเสื้อของชุดที่จะนำเสนอ พวกเขาจึงต้องมีรูปร่างที่สวมใส่ชุดแล้วจะสวยงาม สมาร์ต ดูดี งานเดินแบบเลยมักถูกจำกัดอยู่แค่คนผอมที่สูงมากกว่า 170 เซนติเมตร คอยาว โครงหน้าชัด และไม่มีใบหน้าที่โดดเด่นเกินกว่าเสื้อผ้า

จากค่านิยมนางแบบนายแบบเดิมๆ แบรนด์จำนวนมากพยายามปรับเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด และตีโจทย์ใหม่ให้วิ่งตามทันกระแสโลกยุคปัจจุบัน ทำให้เราเห็นผู้คนที่หลากหลายบนรันเวย์ เห็นนักแสดง นักร้อง ดีไซเนอร์ หรือกลุ่มคนนอกจากแวดวงแฟชั่นได้มีส่วนร่วมในการเดินแบบ และไม่ใช่แค่ความหลากหลายทางอาชีพ แต่รวมถึงความหลากหลายทางรูปร่างของโมเดลที่เหมือนย้ำเตือนว่าแฟชั่นถูกสร้างมาเพื่อทุกคน ทุกเพศ ทุกอาชีพ ทุกรูปร่าง 

 

แฟชั่นรันเวย์ไทยในศตวรรษที่ 21

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล หนึ่งในผู้ร่วมงาน BIFW 2022 แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแฟชั่นโชว์ครั้งนี้ว่า ดีใจที่ได้เห็นพลังงานเหลือล้นของเหล่าคนในแวดวงแฟชั่น เพราะหลังจากเกิดโควิด-19 งานแฟชั่นโชว์ใหญ่ๆ ในไทยก็ไม่สามารถจัดได้เกือบสองปี ครั้งนี้ถือเป็นการพบกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตา และได้เห็นการสร้างสรรค์ที่เต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพคนไทย 

“ตอนนี้เราเห็นการทลายกำแพงอุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศไทย เราเห็นว่าแฟชั่นไม่มีเรื่องของเพศสภาพเข้ามาตีกรอบ ไม่มีอายุเกี่ยวข้อง ไม่มีความสูงมาเกี่ยวข้อง สังคมไทยได้พัฒนามาพอสมควร จากสมัยก่อนที่คนเคยเดินแบบอย่างผมถูกคัดออกเพราะมีส่วนสูง 177 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าไม่สูงพอในวงการเดินแบบ ไม่ใช่สิ่งที่สังคมอยากเห็น แต่วันนี้หลายแบรนด์ได้ทำลายกำแพงอันนั้นไปแล้ว”

พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า อีกหนึ่งคนในแวดวงการเมืองที่ร่วมชมแฟชั่นโชว์ของแบรนด์ POEM แสดงความคิดเห็นว่าสิ่งที่เธอได้เห็นไม่ใช่แค่การมาดูว่าเครื่องแต่งกายในคอลเลกชันนี้เป็นแบบไหน แต่ยังได้เห็นการสื่อสารทางการเมือง (Political Message) ที่สำคัญของศตวรรษที่ 21 

“ในชีวิตไม่เคยคิดว่าจะต้องมาแฟชั่นโชว์ แต่คุณฌอน (ชวนล ไคสิริ ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้งห้องเสื้อแบรนด์ POEM) เป็นคนชวน บอกว่าอยากให้มาดูจริงๆ แล้วเขาไม่ได้บอกว่าเพราะอะไรถึงอยากให้มาร่วมงาน ตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงชวนเราที่เป็นนักการเมือง ถึงแม้เราเป็นลูกค้า เราซื้อของอยู่แล้ว แต่ว่าเราก็ยังแอบตั้งคำถามว่าทำไมต้องมา พอมาถึงได้รู้ว่าแฟชั่นโชว์ครั้งนี้มี Political Message ที่สำคัญของศตวรรษที่ 21 คือ Inclusivity คือ Diversity แล้วไม่ใช่แค่คำว่าสวยหรู แต่เราเห็นสิ่งเหล่านี้จริงๆ บนรันเวย์”

  Inclusivity ที่พรรณิการ์เอ่ยถึงคือการรวมความหลากหลายของกลุ่มคน ตามคอนเซปต์แฟชั่นยุคปัจจุบันคำนึงถึงการก้าวผ่านทัศนคติเดิมๆ ที่สังคมเคยกดขี่ความงามแบบแบนราบรูปแบบเดียว จำกัดกรอบความงามว่าแบบไหนถึงจะดี แบบไหนถึงจะสวย แบบไหนถึงจะมีคุณค่า

ส่วน Diversity มีความหมายตรงตัวถึงความหลากหลายของผู้คนในสังคม เช่น อายุ เพศกำเนิด ศาสนา เชื้อชาติ สัญชาติ ชาติพันธุ์ สีผิว การศึกษา วัฒนธรรม สังคม ความพิการ ความเจ็บป่วย รสนิยมทางเพศ สถานภาพการสมรส สถานภาพทางสังคม หรือแม้กระทั่งความเห็นทางการเมือง

ผู้เขียนมองว่าเมื่อทั้งสองสิ่งถูกพูดถึงมากขึ้นในวงการแฟชั่น ควบคู่ไปกับทัศนคติของคนในสังคมเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม เกิดแรงกระเพื่อมในวงการแฟชั่นไทย ทำให้ห้องเสื้อหลายแบรนด์พยายามปรับเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด และตีโจทย์ใหม่ให้วิ่งตามทันกระแสโลกยุคปัจจุบัน ส่งเสริมความมั่นใจฝ่ายเครื่องแต่งกาย ล้อไปกับค่านิยมใหม่ที่ว่า “ทุกคนมีความงามในแบบของตัวเอง” โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

ยกตัวอย่างเช่นแบรนด์ POEM ที่ผู้คนมักมีภาพจำถึงคอร์เซ็ท รูปทรงแบบนาฬิกาทราย ส่วนเว้าส่วนโค้ง พานให้คิดว่าห้องเสื้อแบรนด์นี้ออกแบบเครื่องแต่งกายมาให้กับผู้หญิงและผู้ชายเพียงไม่กี่กลุ่ม แต่แฟชั่นโชว์ครั้งนี้ได้เผยให้เห็นว่า POEM พยายามทลายกำแพงของมาตรฐานความงาม (Beauty Standard) และความเชื่อที่ว่าผู้หญิงเอวเล็กเท่านั้นถึงจะใส่ชุดแบรนด์ได้ ควบคู่ไปกับการตัดเย็บอย่างประณีต และผู้คนที่หลากหลายบนรันเวย์

“คนวงการแฟชั่นต่อสู้เรื่องนี้กันมาเยอะแล้วว่า นางแบบบนรันเวย์ต้องไม่จำกัดแค่คนผอม หรือต้องกดดันนางแบบให้ผอมเพรียวจนขาดสารอาหาร ตอนนี้ค่านิยมเปลี่ยนไป นางแบบไม่ควรผอมแบบไม่เฮลตี้ ไม่สนับสนุนหรือเสริมสร้างทัศนคติผิดๆ ว่าผอมเท่ากับสวย แต่ความงามอยู่ในคนทุกอายุ คนทุกหุ่น คนที่มีเซลลูไลท์ คนที่มีรอยสัก LGBTQ+ ฯลฯ

“เมื่อเราพูดว่าการเมืองอยู่ในทุกอนุของชีวิต พอมาเห็นรันเวย์แฟชั่นแบบนี้ มันชื่นใจที่ว่าในโลกยุคใหม่ ยังมีผู้คนอีกมากที่พยายามเข้าใจจริงๆ ว่าการเมืองไม่ใช่แค่ไปเลือกตั้ง หรือเข้าไปเป็น ส.ส.ในสภา แต่นี่อีกหนึ่งพื้นที่ที่จะได้แสดงจุดยืนทางความคิด อุดมการณ์ การต่อสู้ และจุดยืนในการตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง มันอยู่ได้ทุกที่รวมถึงบนรันเวย์ด้วย”

 

เสื้อผ้าแพง ค่าแรงถูก? งานออกแบบที่ดีควรได้รับค่าแรงให้สมกับความสามารถ

แฟชั่นอาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่หลายคนคาดคิด 

แฟชั่นไม่ใช่แค่การคิดว่าวันนี้เราจะแต่งตัวอย่างไร แมตช์เสื้อผ้าหน้าผมแบบไหน แต่งตัวไปงานอะไร หรือนั่งพินิจว่าเครื่องแต่งกายที่คิดว่าสวยทำมาจากผ้าอะไร หลายคนอาจมองว่าแฟชั่นเป็นเรื่องที่เข้าถึงยากและสงวนไว้เพียงแค่คนบางกลุ่มในสังคม 

เมื่อมองลึกลงไปถึงกระบวนการทั้งหมดของอุตสาหกรรมแฟชั่น เราจะพบว่าในวงการนี้มีผู้คนมากมายที่กำลังดิ้นรนและใช้ความสามารถเฉพาะทางที่ตนมีเพื่อเลี้ยงชีพ ควบคู่ไปกับการทำตามฝัน 

การสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายของแบรนด์จำนวนมากถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมซอฟต์พาวเวอร์ (Soft power) ไม่ต่างกับดนตรี ภาพยนตร์ การแสดงละคร แอนิเมชัน หรือป๊อปคัลเจอร์อื่นๆ เพราะผลงานจะต้องถูกผลิตขึ้นมาจากกระบวนการคิด จินตนาการ และครีเอทีฟ กับสิ่งที่จะต้องมาคิดต่อว่าหากสังคมไทยต้องการผลักดันให้แฟชั่นกลายเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เราจะต้องเริ่มเดินกันแบบไหน และก้าวไปในทิศทางใด เพื่อให้ทุกคนทุกฝ่ายทั้งดีไซเนอร์ แรงงาน และผู้ซื้อ ได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม

พรรณิการ์กล่าวถึงประเด็นนี้ว่าวงการแฟชั่นมีสองส่วนใหญ่ๆ ส่วนหนึ่งคือการออกแบบที่สร้างสรรค์โดยดีไซเนอร์ และอีกส่วนคือฝ่ายผลิต หากฝ่ายออกแบบคิดงานคราฟต์ออกมา แต่ไม่มีฝ่ายผลิตที่มีฝีมือ ไม่มีฝ่ายผลิตที่ไม่มีความเพียรพยายาม ไม่มีทักษะ งานออกแบบสวยหรูก็จะคงอยู่แค่ในกระดาษ ไม่สามารถออกมาเป็นเสื้อผ้าได้ 

 “หากลองตีแบบกว้างเป็นเลขกลมๆ ประเทศหนึ่งมีดีไซเนอร์เต็มที่หลักพันคน หลักหมื่นก็เยอะมากจนเราจินตนาการไม่ออก แม้แต่ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องแฟชั่นอย่างฝรั่งเศสหรืออิตาลี แต่สำหรับช่างเย็บไม่ใช่แบบนั้น ในอุตสาหกรรมสิ่งทอของเรามีช่างเย็บกว่า 6 แสนคน แต่ทุกวันนี้อุตสาหกรรมสิ่งทออยู่ได้ด้วยศักยภาพและการแข่งขันแบบการกดให้ค่าแรงถูก เพื่อที่จะแข่งขันกับเวทีโลก

“ไม่มีทางที่ดีกว่านี้อีกแล้วหรือสำหรับการแข่งขันในเวทีโลก แทนที่จะแข่งขันกันด้วยงานฝีมือแต่กลับแข่งกันด้วยค่าแรงถูก ตอนนี้โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว และเมื่อพูดถึงแฟชั่น หนึ่งเป้าหมายที่ควรจะเกิดขึ้นคือการผลักดันการสร้างงานคราฟต์ งานของช่างเย็บฝีมือ ที่ควรได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม แม้สินค้าอาจจะมีราคาแพงขึ้น แต่มันคือการสร้างอาชีพที่มีศักดิ์ศรีและอยู่ได้จริงให้กับคนทั้งประเทศ ทำให้แฟชั่นกลายเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยได้จริงๆ 

“เมื่อตั้งคำถามว่างานแฟชั่นโชว์เป็นโลกของคนรวยหรือเปล่า ทุกอย่างมีมิติที่หลากหลายในตัวเอง เราไม่ได้ปฏิเสธว่าเสื้อผ้าในแฟชั่นโชว์ไม่ใช่ว่าทุกคนจะซื้อใส่ แต่เวลามองแบรนด์เหล่านี้มันไม่ใช่แค่คนออกแบบ แต่จะเห็นช่างเย็บที่หลังขดหลังแข็ง ช่างปักที่ทำงานเป็นร้อยๆ วันเพื่อชุดหนึ่งชุด 

“เวลาซื้อเสื้อผ้าราคาแพงหรือซื้อผ้าไหมผืนละหมื่นสองหมื่น แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่จะต้องรู้สึกว่ามันแพง แต่รู้หรือไม่ว่าคนทอผ้าผืนนี้ใช้เวลาทำสามเดือน เราจะไม่รู้สึกว่าแพงถ้าเขาได้ค่าแรงที่เป็นธรรม สมกับค่าฝีมือของเขาที่ให้เรามาผ่านผลงาน นี่คือสิ่งที่เรายอมเสียและไม่ใช่ทุกคนในประเทศเสียได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสังคมมีคนที่พร้อมจะจ่าย แล้วคนที่พร้อมจ่ายเหล่านั้นก็ควรเสียเงินจำนวนนี้ให้กับแรงงานที่มีทักษะในประเทศ”

 

รัฐต้องอย่าปล่อยให้คนทำงานต้องยืนอย่างโดดเดี่ยว 

“ถ้าคุณดูงบประมาณของไทย แล้วใส่คำว่าแฟชั่นเข้าไป คุณจะเห็นงบประมาณเท่าไหร่?”

พิธาแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นอุตสาหกรรมแฟชั่นในไทยว่ายังคงมีสิ่งที่ต้องจัดการหลายเรื่อง เมื่อมองภาพที่ลึกลงไปกว่าบนรันเวย์ ก็จะเห็นแรงงานจำนวนมากที่อยู่ในแวดวง มองเห็นตัวเลข และช่องทางที่จะผลักดันให้สิ่งที่มีอยู่ไปได้ไกลกว่านี้ 

“อุตสาหกรรมสิ่งทอในไทยมีเงินหมุนเวียนมากกว่า 2 แสนล้านบาท มูลค่าของอุตสาหกรรมนี้มีมากถึงขนาดนั้น และมีผู้คนที่ทำงานอยู่ในวงการมากกว่า 6 แสนคน แต่รัฐกลับให้งบประมาณเพียงแค่ 100 ล้านบาทเท่านั้น

“ประเทศไทยจะต้องมีการผลิตแบบ High-Tech (การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องการควบคุมสินค้าคงคลัง การผลิต คำนวณยอด เก็บข้อมูลองค์กร และการนำเสนอสินค้า) หรือ High-Touch (ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า) ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ซึ่งตอนนี้เราไม่มีทั้ง High-Tech ไม่มีทั้ง High-Touch

“เวลามองผลงานของดีไซเนอร์ ผมเห็นถึงความสวยงาม ความประณีต เห็นความพิถีพิถันในกระดุมทุกเม็ดที่สะท้อนกลับไปยังคนที่ทำอยู่ในอุตสาหกรรมคราฟต์ ช่างปัก ช่างฝีมือ การขึ้นแพตเทิร์นที่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการทำ สิ่งเหล่านี้คือจุดแข็งของประเทศไทย แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเขากำลังถูกละเลย แรงงานและช่างฝีมือจำนวนมากยังคงต้องต่อสู้ในเรื่องของสิทธิแรงงานที่ถูกเอาเปรียบ รัฐจึงจำเป็นต้องทำงบประมาณคู่กับผลักดันให้คนไทยได้ใช้จุดแข็งในลักษณะแฟชั่นโชว์ ถึงแม้ว่าแฟชั่นโชว์จะเป็นยอดสุดของพีระมิด แต่ในระหว่างนั้นเราได้เห็นช่างฝีมือต่างๆ ที่เราควรที่จะรวมให้เป็นระบบ ทำให้อุตสาหกรรมไทยต่อยอดไปได้ทั้งในเรื่องของนามธรรม รูปธรรม ซอฟต์พาวเวอร์ และอาร์ตพาวเวอร์”

เมื่อรัฐบาลมีงบประมาณให้กับอุตสาหกรรมมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท เพียงแค่ 100 ล้านบาทเท่านั้น พิธามองว่าไทยจำเป็นที่จะต้องสร้างเศรษฐกิจ 3C ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย คือ Creative (เศรษฐกิจสร้างสรรค์) Craft (เศรษฐกิจประณีต) และ Care (เศรษฐกิจใส่ใจ) ผลักดันให้แฟชั่นได้เข้ามาทดแทนอุตสหกรรมเก่าๆ อย่างอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่กำลังอยู่ในช่วงอิ่มตัวแล้ว 

“หากต้องการผลักดัน สิ่งแรกที่ต้องทำคือการเพิ่มงบประมาณที่ใช้ในการสร้างครีเอทีฟ แฟชั่นดีไซเนอร์เก่งๆ ของไทยทุกคนต้องปากกัดตีนถีบ เขาต้องใช้งบประมาณของตัวเองกว่าจะไปถึงระดับโลกได้ ส่วนตรงนี้ก็ควรจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐด้วย อันนี้คือการแก้ไขที่ง่ายและเร็วที่สุด

  “อันที่สองจะต้องจัดระบบช่างฝีมือในประเทศไทย ให้ทุกคนได้อยู่ในระบบเดียวกัน ที่ฝรั่งเศสจะมีสถาบันหนึ่งที่ชาเนล (Chanel) นำช่างฝีมือของฝรั่งเศสให้มารวมตัวกัน และไม่ได้ทำให้แค่ชาเนลอย่างเดียว แต่ทำให้กับยี่ห้ออื่นในฝรั่งเศสที่ต้องการใช้ช่างฝีมือเก่งๆ ด้วยเช่นกัน เราจึงอยากให้เกิดสถาบันหรือการรวมกลุ่มแบบนี้ในประเทศไทยเหมือนกัน โดยมีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพช่วยเข้ามาจัดระบบช่างฝีมือคราฟต์ในประเทศไทย 

“การสร้างตรงนี้จะเป็นฐานให้กับแฟชั่นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ ที่อยากทำตามฝัน มีพื้นที่ให้ลองผิดลองถูกได้เหมือนกับช่างฝีมือทั่วไป คนที่กำลังจะเป็นดีไซเนอร์จะไม่ต้องปากกัดตีนถีบ เพราะมี Common Lab ที่รัฐบาลลงทุนไว้ให้แล้ว พื้นที่ที่สามารถขึ้นแพตเทิร์นได้ ฝึกงานปัก หรือปูแคนวาส ทำได้อย่างเต็มที่ เหล่านี้คือในแง่ซัพพลายของอุตสาหกรรม ทั้งฟังก์ชันคราฟต์ที่อยู่ฐานล่าง และครีเอทีฟที่อยู่ด้านบน”

 

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , ,