เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ปัญหาหนี้สิน และปัจจัยภายนอกอย่างสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศกำลังส่งแรงกระแทกอย่างหนัก แม้ภาคการท่องเที่ยวจะมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ก็ยังไม่กลับมาคึกคักเท่ากับช่วงก่อนหน้านี้
ถึงจุดหนึ่ง การท่องเที่ยวไทยต้องการ Turning Point ครั้งใหญ่ เพื่อสร้างจุดขายเพิ่ม นอกเหนือจาก Sea Sand Sun ที่เคยขายมาโดยตลอด ‘ต้นทุน’ ที่ต้องการเพิ่มคือ ผ่านเรื่องใหญ่และเรื่องอัน ‘หมิ่นเหม่’ มีคนพยายามทำ แต่ไม่เคยทำได้มาก่อน อย่าง Entertainment Complex ที่มี ‘คาสิโน’ เป็นส่วนประกอบ
กระนั้นเองความพยายามริเริ่ม Entertainment Complex ที่นับหนึ่งผ่านการออกร่างกฎหมาย ก็เต็มไปด้วยคำถามมากมายเกี่ยวกับความคุ้มค่า ผลกระทบทางสังคม และความเป็นไปได้จริง รวมถึงคำถามที่ว่า โครงการยักษ์ใหญ่มูลค่านับหมื่นล้านโครงการนี้จะเป็น ‘โอกาสทอง’ หรือเป็น ‘ความเสี่ยง’ ที่ต้องเผชิญในอนาคต และถึงที่สุดแล้วโครงการนี้จะ ‘คุ้มค่า’ มากเพียงใดในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยผ่านการท่องเที่ยว
The Momentum ชวน จอม-ศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ในฐานะเป็น 1 ในคณะทำงานร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex นั่งคุยถึงภาพฝันของรัฐบาลภายใต้ภาพสถานบันเทิงครบวงจร
ในมุมมองคุณ ปีนี้คุณมองภาพรวมเศรษฐกิจไทยโดยรวมเป็นอย่างไร
ปีนี้เศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายค่อนข้างมาก เรามีปัญหาเกี่ยวกับหนี้สินที่เกิดจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาสักพักหนึ่งแล้ว ส่งผลให้ต้องมีการสร้างโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการ Digital Wallet, การพัฒนา Data Center, การปลดล็อกวีซ่า และโครงการ Entertainment Complex ซึ่งถือเป็น 1 ในโครงการที่น่าสนใจและคิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับประเทศด้านเศรษฐกิจ
ส่วนปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบเราก็พยายามจะแก้อยู่ แต่มันเป็นวงจรที่ค่อนข้างยากเหมือนกัน ถือเป็นความท้าทายมาก นอกจากนี้เรายังต้องติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เป็น โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อไทย เราก็มีการตั้งทีมเพื่อดูเรื่องนี้
แม้ว่าการท่องเที่ยวไทยในปีนี้จะมีสัญญาณฟื้นตัว ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ทำไมยังไม่กลับมาเฟื่องฟูเท่าเดิม
ปัจจัยสำคัญไม่ได้ขึ้นอยู่กับไทยเพียงฝ่ายเดียว มันต้องดูสภาพเศรษฐกิจของประเทศต้นทางด้วย ลูกค้าหลักของเราก็คือ ‘จีน’ แต่ตอนนี้มันอาจจะไม่เติบโตเหมือนเมื่อก่อน อย่างไรก็ตาม เราก็มีโอกาสและลูกค้าใหม่ อย่าง ‘อินเดีย’ ซึ่งเป็นประเทศ Emerging Economy
เดิมจีนและอินเดียเคยมาเที่ยวไทยเป็นกรุ๊ปทัวร์ แต่ตอนนี้กำลังจะพัฒนาตัวเองให้เป็นการท่องเที่ยวแบบมาด้วยตัวเองและใช้จ่ายมากขึ้น มันก็มีโอกาสใหม่ๆ อย่างตลาดงานแต่งงานอินเดีย ซึ่งมาจัดแต่ละทีเป็นสัปดาห์ นอกจากนี้ลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ ‘ตะวันออกกลาง’ พวก Medical Wellness Center มาสร้างรายได้ ภาพใหญ่เราอาจจะเห็นว่ามันน้อยลง เพราะตลาดใหญ่สุดของเรามันช้าลง แต่ยังมีโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชียกลางที่เริ่มเหมาเครื่องบินเข้ามาเรื่อยๆ
คุณสามารถพูดได้ไหมว่า Entertainment Complex มันจะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ในภาคการท่องเที่ยวของไทย
Sea Sand Sun Culture บ้านเราเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำระดับโลกสำหรับนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่การสร้าง ‘Man-made Destination’ ใหม่ๆ จะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สามารถยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเราได้ มันคงไม่ได้ไปแย่งอันเดิมมา แต่เป็นการเพิ่มช่องทางให้นักท่องเที่ยวเข้ามาและมีกิจกรรมมากขึ้น
ผมคิดว่า จุดมุ่งหมายของ Entermainment Complex คือ ดึงดูดการลงทุนขนาดใหญ่เข้ามา โดยเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้เยอะขึ้น ใช้จ่ายมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสสำคัญให้คนไทยได้เข้าถึงกิจกรรมใหม่ๆ อีกด้วย เช่น ในลาสเวกัสและมาเก๊า ทุกสัปดาห์จะมีโชว์ศิลปะการแสดงและคอนเสิร์ตใหญ่ ถ้ามาอยู่ที่นี่คนไทยอาจจะมีโอกาสได้เข้าถึงการโชว์ศิลปะการแสดงและคอนเสิร์ตใหญ่ นักแสดงไทยอาจจะมีช่องทางในการแสดงศักยภาพของตัวเองมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ถ้าไปดูตามห้างสรรพสินค้าที่อยู่ใน Entertainment Complex ต่างประเทศ เขาก็จะมีส่วนที่นำเอาสินค้าเกษตรและสินค้าพื้นบ้านเข้าไปขาย ดังนั้นมันไม่ใช่แค่ภาคการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่มันจะสร้างโอกาสให้คนไทยได้แสดงศักยภาพของตัวเองด้วยในระยะยาว
รัฐบาลกำลังจะใช้ Entertainment Complex นำไปสู่เป้าหมายอะไร
ผมคิดว่า การท่องเที่ยวไทยมีจุดแข็งอยู่แล้ว แต่สามารถจะแข็งแกร่งขึ้นไปได้อีก ถ้าสร้าง Man-made Destination ดึงดูดการลงทุนเข้ามา นอกจากจะเป็นการยกระดับการท่องเที่ยวไทยแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยได้เข้าถึงศิลปะชั้นสูง ที่บางทีอาจจะไม่มีโอกาสได้ไปเล่นที่ต่างประเทศ เพื่อมีเวทีให้ตัวเองได้แสดงศักยภาพด้วย
Entertainment Complex มีจุดประสงค์หลัก 2 อย่าง นอกจากจะดึงดูดการลงทุนภาคการท่องเที่ยวแล้ว อีกเป้าหมายหนึ่งคือ การเอาเงินเข้าระบบ จะเห็นได้ว่ามีคนไทยไปเล่นการพนันตามบ่อนตะเข็บชายแดนกว่า 80-90% ซึ่งเงินตรงนี้มันไหลออกนอกระบบ มันไปเอื้อให้กลุ่มทุนสีเทา คอลเซนเตอร์ และอาชญากรรม เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถดึงสิ่งเหล่านี้เข้ามาในระบบได้ มันคือส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการพนันและลดจำนวนเงินที่ไหลออกนอกระบบได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจ
ใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกยุทธศาสตร์ เพื่อตั้ง Entertainment Complex
ต้องดูความต้องการของนักลงทุน ขั้นตอนคือ ถ้า พ.ร.บ.ผ่าน เราก็จะจัดตั้งสำนักงานมากำกับดูแลสถานบันเทิงครบวงจร หลังจากนั้นเขาจะทำการศึกษาว่า พื้นที่ไหนมีความเหมาะสม พอได้พื้นมาก็จะมาดูว่า ในพื้นที่นั้นต้องการ Man-made Destination แบบไหนบ้าง
สมมติกำหนดว่าเป็นในกรุงเทพ ผมอยากได้สเตเดียมหรือ In-door Stadium อย่างราชมังคลากีฬาสถาน สร้างมาตั้งแต่ปี 2541 แต่จัดการแสดงได้แค่ช่วงต้นปีและท้ายปี เพราะถ้าไม่ร้อนเกินไปก็ฝนตก เราเลยต้องดูว่าพื้นที่ไหนมันเหมาะสมและนายทุนอยากได้มากที่สุด
หลังจากนั้นแต่ละผู้ประกอบการจะส่งแผนมาว่า จะสร้างอะไรบ้างในพื้นที่นี้ รวมถึงแผนการพัฒนาศักยภาพแรงงานไทย แผนในการลดผลกระทบต่อสังคม และรายได้ที่เขาจะจัดเก็บให้รัฐบาล ถ้าถามว่ามีการตกลงกันแล้วหรือยัง มันยังไม่สามารถพูดได้
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมไม่ทำเหมือนลาสเวกัส ไปสร้างกลางป่ากลางเขา แล้วค่อยดึงนักลงทุนไป การลงทุนจะได้ตามมา แต่บริบทมันไม่เหมือนกัน ถ้าเราจะสร้างแบบนั้น เราต้องสร้างถนน สนามบิน หรือสาธารณูปโภคต่างๆ ไปด้วย ซึ่งมันกลายเป็นว่า การลงทุนที่ว่ารัฐบาลต้องไปเอื้อผู้ประกอบการรายหนึ่ง เพื่อสร้างสิ่งปลูกสร้างและสาธารณูปโภค
ในการศึกษาเบื้องต้นที่เราคุยกันในชั้นกรรมาธิการรอบแรกที่สภาฯ เขาก็เห็นว่า Entertainment Complex ควรอยู่ใกล้คมนาคมขนส่งหรือสนามบินนานาชาติไม่เกิน 100 กิโลเมตร และควรมีระบบสาธารณูปโภคที่เข้าถึงแล้ว รวมถึงควรอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ด้วย เพราะเราไม่อยากให้นักท่องเที่ยวไปแล้วอยู่ในนั้นทั้งวันทั้งคืน ถ้าเป็นแบบนั้นยิ่งทำให้ปัญหาการพนันมีมากขึ้น เราเลยอยากให้คนที่เข้ามาได้ไปเที่ยวที่อื่นในประเทศได้ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในประเทศจากการท่องเที่ยวในสถานที่อื่นๆ ทั้งนี้ เราไม่ได้ตกลงสถานที่ไว้ แต่การศึกษาก็ชี้ในระดับหนึ่งว่า พื้นที่ไหนเหมาะสม
รายได้จาก Entertainment Complex ที่รัฐบาลจะจัดเก็บมาจากส่วนไหนบ้าง
จากการคาดการณ์รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บได้ถึง 1-4 หมื่นล้านบาท โดยจะมีรายได้จาก 3 ส่วน ได้แก่
1. ภาษี เช่น Entertainment complex tax และ VAT
2. รายได้จากการพนัน
3. License fee หรือค่าธรรมเนียมใบอนุญาต
มีโพลล์จากนิด้าออกมาว่าประชาชนเกิน 50% ไม่ค่อยเห็นด้วยกับ Entertainment Complex คุณจะสื่อสารอย่างไรกับประชาชนให้เห็นว่า การเปิด Entertainment Complex ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ผมไม่อยากให้ประชาชนไปมองแค่โมเดลที่ล้มเหลว เพราะเราไม่เลือกโมเดลที่ล้มเหลวอยู่แล้ว รัฐบาลต้องแก้เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ให้เกิดขึ้น ทำให้ดี ทำให้เห็นผล เพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งในครั้งหน้า เพราะฉะนั้นผมว่ามันอยู่ที่การทำความเข้าใจ สิ่งที่ผมพยายามอธิบายไปคือ เราเลือกโมเดลที่ ‘ประสบความสำเร็จ’ ในต่างประเทศมาแล้ว และประเทศไทยจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการลงทุน
ก่อนสิงคโปร์จะสร้าง Entertainment Complex สมาคมโรงแรมเขาก็กังวลกันมากแต่สุดท้ายเอาเข้าจริงๆ กลายเป็นว่าอัตราการเข้าพักในโรงแรมทั้งเกาะมันเพิ่มขึ้น ส่วนลาสเวกัสทุกคืนก็มีโชว์ขนาดใหญ่ ส่วนตัวผมคิดว่า ศักยภาพของคนไทยมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะสามารถทำให้มันไปได้ไกลมาก
มีข้อกังวลว่า พ.ร.บ.อาจให้อำนาจกับคณะกรรมการมากเกินไป ในการจำกัดสัดส่วนการมีอยู่ของคาสิโน 10% หรือจำนวนคาสิโนที่สามารถเปิดได้ คิดว่ารัฐบาลให้อำนาจคณะกรรมการมากเกินไหม
เนื่องจากเป็นสิ่งใหม่ในการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศ ดังนั้นคณะกรรมการนโยบายต้องให้นายกฯ เป็นประธานอยู่แล้ว จุดประสงค์คือ เราต้องการให้ความรับผิดชอบของโครงการนี้มันอยู่ในระดับที่สูงสุด การให้อำนาจคณะกรรมการเหล่านี้มีอำนาจในการพิจารณา ไม่ได้จำกัดว่าเป็นรัฐบาลเดียว ถ้ามีรัฐบาลใหม่เข้ามาก็มีโอกาสในการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรก็ตามต้องมีอำนาจที่มากเพียงพอ ที่จะกำหนดโซนนิ่งในธุรกิจและการลงทุนขนาดใหญ่ที่เข้ามา รวมถึงสามารถกำหนดสิ่งที่ต้องการได้ ถามว่าอำนาจเยอะไหม ก็เยอะ แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่เราจะเอาเข้ามาถือเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ การกำกับดูแลต้องทั่วถึง ความรับผิดชอบต้องเป็นระดับประเทศ เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีอำนาจระดับหนึ่ง
โครงสร้างคณะกรรมการนโยบายคร่าวๆ จะมีหน่วยงานอยู่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวฯ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งยังมีข้อถกเถียงกันว่า กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงสาธารณสุขควรอยู่ด้วยไหม
ข้อกังวลเรื่องสัดส่วนว่า มันควรจะมีอยู่ใน พ.ร.บ.หรือเปล่า ส่วนตัวผมยังไงก็ได้ จะใส่เข้าไปเลยก็ได้ 10% หรือจะให้คณะกรรมการเป็นคนประกาศก็ได้ ตอนนี้ทางกฤษฎีกาก็กำลังช่วยดูอยู่ ถ้าไปขั้นกรรมาธิการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็จะมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น แต่ประเทศไทยการเขียนอะไรบางอย่างลงไปใน พ.ร.บ. แล้ว มันแก้ยากมาก กว่าจะแก้ได้มันใช้เวลา 2-3 ปี ซึ่งมันอาจจะเปลี่ยนไม่ทันบริบทก็ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเขียนให้มันเป็นกรอบกว้างๆ ให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายเอาไว้ เพื่อให้สามารถออกประกาศในระเบียบต่อไป
ในแง่ของกลุ่มทุนที่เข้ามาลงทุนที่อาจจะต้องมีใบอนุญาตในราคาที่สูง การที่ใบอนุญาตมันแพงขนาดนี้เพื่อให้กลุ่มทุนเข้ามาลงทุน มันมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร เพราะมีหลายส่วนวิพากษ์วิจารณ์ว่า มันคือการเอื้อให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่
มี 2 โมเดล ในประเทศที่เราไปศึกษามาก็คือ อันแรกเป็นโมเดลที่เปิดให้มาลงทุนทีหนึ่งหลายๆ เจ้าเลย แล้วไปอยู่ตามโรงแรมและสถานที่ต่างๆ อีกอันเป็นโมเดลแบบสิงคโปร์ที่สร้างเป็น Entertainment Complex แล้วมีเจ้าใหญ่ไม่กี่เจ้า เราเชื่อว่าโมเดลของสิงคโปร์เป็นโมเดลที่ได้ผลที่สุด เป็นการดึงดูดการลงทุนขนาดใหญ่ไม่กี่เจ้าแต่ควบคุมได้ง่าย ซึ่งบางที่ที่ให้หลายเจ้าจะควบคุมยาก ไม่มีการลงทุนใหม่ เพราะฉะนั้นเรายึดโมเดลของสิงคโปร์
เราตั้งทุนจดทะเบียนไว้มากถึง 1 หมื่นล้านบาท เพราะเราไม่ต้องการมือใหม่มาทำอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีผลกระทบต่อสังคม ในขณะเดียวกันมันก็ส่งผลกระทบด้านบวกต่อเศรษฐกิจค่อนข้างเยอะด้วย เราเลยอยากใช้ Local Governance ก็คืออำนาจบริหารของคณะกรรมการนี้ที่ให้ใบอนุญาตในการช่วยกำกับดูแลผู้ประกอบการรายนี้ รวมถึงใช้ Global Governance จากการกำกับดูแลของ regulator ระดับโลกอย่างสิงคโปร์ ลาสเวกัส และมาเก๊า
ผมคิดว่า การเลือกโมเดลแบบสิงคโปร์มันมีประโยชน์ 2 อย่างคือ เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ และการกำกับดูแลเป็นไปได้ง่าย
หลายคนอาจบอกว่า ประเทศไทยการบังคับใช้กฎหมายยังไม่ดีเลย แล้วเราจะทำอย่างไร คำตอบของผมก็คือ ถ้ากลุ่มทุนไม่เชื่อใน Local Governance ก็เอา Global Governance มาใช้อีกที ยกตัวอย่างถ้าเขาทำผิดที่นี่ มีการปล่อยให้เกิดการฟอกเงินหรือปล่อยให้เกิดผลกระทบทางสังคมมากเกินไป เขาก็จะโดนลงโทษในต่างประเทศด้วย
ในเรื่องของการป้องกันอาชญากรรมก็มีคนกังวลว่า มันจะกลายเป็นแหล่งฟอกเงินแห่งใหม่ รัฐบาลมั่นใจแค่ไหนว่า มันจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น
อย่างที่บอกไปว่า พอเราเลือกโมเดลของสิงคโปร์และมีมาตรฐานในการลงทุนที่สูงแล้ว แน่นอนว่า ตอนที่แหล่งทุนยื่นโครงการเข้ามา เราก็ต้องมีข้อกำหนดว่า เขาเคยบริหารจัดการธุรกิจแบบนี้มาก่อน เช่น เคยบริหารโรงแรมระดับ 5,000 ห้อง ไม่เคยมีประวัติเรื่องการฟอกเงินหรือมีมาตรฐานการป้องกันการฟอกเงินในระดับโลก ถ้าคิดว่าการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทยอาจจะยังไม่พร้อม 100% ตรงนี้เราจะเอา Global Practice เข้ามาช่วยกำกับอีกที ซึ่งโมเดลนี้ถูกนำไปใช้ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคาสิโนแห่งแรกของญี่ปุ่นที่โอซากาก็จะใช้โมเดลนี้ แสดงให้เห็นว่า โมเดลนี้มันได้ผล
หลายคนกังวลว่า จะไม่มีคนกล้าลงทุนในเศรษฐกิจแบบนี้ หรืออาจจะไม่ได้ผลตามที่หวัง คุณคิดเห็นอย่างไร
ผมฟังจากคนที่เป็นนักลงทุนที่อยากเข้ามาลงทุนและพร้อมที่จะลงทุน ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่า เขาพร้อมมากที่จะมาลงทุนและเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถตอบโจทย์ เราก็ต้องฟังนักลงทุนว่าเขามองอย่างไร ซึ่งเขาสนใจและเชื่อว่ามันจะประสบความสำเร็จ
ฟังจากที่พูดมามีทั้งสเตเดียม คอนเสิร์ต โรงแรม คาสิโน แล้วหน้าตาจริงๆ ของ Entertainment Complex จะเป็นแบบไหน จะสามารถรู้ได้ตอนไหนว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
ขั้นตอนในตอนนี้คือ คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังช่วยให้คำปรึกษา เพื่อเขียนกฎหมายและคำนิยามต่างๆ ให้รัดกุม อย่างที่บอกเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่มีข้อถกเถียงและข้อวิจารณ์มาก จึงอยากจะทำให้แน่ใจว่าขั้นตอนเหล่านี้เขียนออกมาได้อย่างถูกต้อง ตามไทม์ไลน์น่าจะต้นเดือนมีนาคม ยื่นเรื่องที่คณะรัฐมนตรี และส่งต่อให้สภาผู้แทนราษฎร เพื่อตั้งกรรมาธิการ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เป็นตัวแทนของประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็น ให้กฎหมายรัดกุมยิ่งขึ้น และหวังว่าปลายปีนี้จะสามารถผ่าน พ.ร.บ.ได้ หลังจากนั้นอาจจะขอเวลาจัดตั้งสำนักงาน 3 เดือน และใช้เวลา 2-3 เดือนในการทำการศึกษา
ระหว่างทาง บริษัทที่สนใจเข้ามาลงทุนก็ต้องเริ่มเข้ามาจดทะเบียนบริษัทแล้ว พอถึงจุดนั้นมันจะเริ่มมีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เขาจะต้องส่งแผนและยื่นข้อเสนอมาว่าจะสร้างอะไรบ้าง แต่ละบริษัทก็จะถูกเปรียบเทียบกัน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายจะเป็นคนตัดสินใจ ในปี 2570 น่าจะเห็นแล้วว่าหน้าตามันจะเป็นแบบไหน
จากการประเมินว่า Entertainment Complex จะสามารถเปิดให้ใช้ได้ในปี 2572 ซึ่งยังไม่ใช่เร็วๆ นี้ ในระยะสั้นนี้จะมีมาตรการแบบไหนให้การท่องเที่ยวของเรายังอยู่ได้ โดยไม่เป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่ดับไป
ตอนนี้สิ่งที่เราต้องทำคือ สร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว แน่นอนว่าการที่นักท่องเที่ยวถูกหลอกไปเป็นแรงงานทุนสีเทาทั้งหลายก็ส่งผลกระทบ จุดที่สำคัญคือรักษาฟรีวีซ่าเอาไว้ หลังจากนั้นต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวให้ได้ ซึ่งสิ่งที่เรากำลังจะทำคือ ตม.6 ออนไลน์ แต่อาจจะไม่ใช้ชื่อนี้ พอเราทำเราจะมีข้อมูลนักท่องเที่ยวว่าพักอยู่ที่ไหน อีกหน่อยก็จะไปเชื่อมโยงกับ พ.ร.บ.โรงแรม เชื่อมกับศุลกากร หรือจะเชื่อมกับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เราต้องสร้างความสะดวกสบายโดยนำระบบมาใช้
ถ้าประเทศไทยเปิด Entertainment Complex จะสามารถแข่งขันกับทางสิงคโปร์หรือมาเก๊าได้อย่างไรบ้าง
ประเทศไทยเป็น Tourist Destination ที่เหนือกว่าที่อื่นอยู่แล้ว อย่างที่บอกเรามี Sea Sand Sun Culture ที่สวยงาม มีอาหารที่เอร็ดอร่อย มีการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ ดังนั้น Entertainment Complex จะเป็นอีกตัวช่วยมากกว่า ซึ่งจะสร้างทางเลือกให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ขณะที่คนไทยเองก็สามารถเข้าถึงศิลปะการแสดงและการบริการต่างๆ ที่ต้องไปหาที่ต่างประเทศในตอนนี้
คุณเคยคิดไหมว่า เมื่อทำงานกับรัฐบาลนี้จะต้องรับผิดชอบโครงการ Entertainment Complex ตั้งแต่ต้น
ผมไม่ได้คิดว่าจะได้มาทำ แต่ก็เป็น 1 ในโครงการหลัก จริงๆ เราพูดเรื่อง Man-made Destination ไว้แล้วตอนแถลงรัฐสภาว่า Man-made Destination หรือ Entertainment Complex เป็นหนึ่งในนโยบายที่เราต้องขับเคลื่อน ซึ่งผมภูมิใจที่ได้รับมอบหมายให้มาทำ ทั้งนี้มันเป็นอะไรที่ท้าทายมาก มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะเป็นสิ่งใหม่ ในขณะเดียวกันมันเป็นโอกาสที่สำคัญมาและผมคิดว่า มันสามารถสร้างจุดเปลี่ยนของเมืองหนึ่งได้ ทั้งธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยว
จะเห็นได้ว่าคุณได้รับผิดชอบงานใหญ่ๆ ของรัฐบาลเยอะมาก ทั้ง Entertainment Complex บ้านเพื่อคนไทย พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ คุณจัดลำดับความสำคัญอย่างไร ว่าเรื่องไหนควรให้ความสำคัญบ้าง
ผมคิดว่าทุกเรื่องมีความสำคัญหมด ผมก็พยายามจะทำหน้าที่ให้เต็มที่ มันคงไม่มีเรื่องไหนมาก่อน ข้อท้าทายที่สำคัญของเราคือ ต้องสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจน ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยว่า เราไม่ได้มีความต้องการที่จะทำให้มันเป็นเหมือนโมเดลที่ล้มเหลว
สุดท้ายแล้ว Passion ทางการเมืองของคุณคืออะไร
ผมว่าอยู่แบบนี้ก็สนุกดี ได้ช่วยขับเคลื่อนนโยบายหลายๆ อย่าง โชคดีที่ทางรัฐบาลได้มอบหมายงานสำคัญให้ ผมก็รู้สึกภูมิใจและดีใจที่ได้มีโอกาสมาทำตรงนี้แพสชันของผมคือ ‘ได้ทำงาน’
Fact Box
- จอม-ศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ เคยเป็นนักธุรกิจ อยู่ในแวดวงธุรกิจรถยนต์ของครอบครัว เคยดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท โตโยต้า สยามออโต้ ซาลอน และเข้าสู่การเมืองโดยทำงานเคียงข้าง ‘หมอมิ้ง’ นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี หนึ่งใน ‘มันสมอง’ ของพรรคเพื่อไทย
- แม้จะถูกมองเป็น ‘หน้าใหม่’ ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่ก็ได้รับหน้าที่อธิบายเรื่องยากๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐานให้สื่อมวลชนเข้าใจ โดยนอกจากเรื่อง Entertainment Complex ยังได้รับแต่งตั้งให้อยู่ในกรรมาธิการสำคัญอีกชุดอย่างคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการตั๋วร่วม เพื่อนำไปสู่รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
- ปัจจุบันประเทศสิงคโปร์มี Entertainment Complex ทั้งสิ้น 2 แห่งคือ Marina Bay Sands และ Resorts World Sentosa เริ่มต้นพร้อมกันเมื่อปี 2553 และถือเป็นแหล่งท่องเที่ยว Man-made Destination ที่ประสบความสำเร็จ จนหลายชาติต้องการเดินตาม