“การสื่อสารใดๆ ล้วนเป็นปาฏิหาริย์แห่งการแปลทั้งนั้น” 

เราค่อนข้างเห็นด้วยกับคำกล่าวของ เคน หลิว (Ken Liu) ที่ ณ ขณะหนึ่ง ณ สถานที่แห่งหนึ่ง กระแสประสาทได้เปลี่ยนแปลง ถ่ายทอดเป็นรูปแบบแผนและความคิด จนท้ายที่สุดถูกจัดเรียงแปลออกมา และปรากฏสัญลักษณ์ขึ้นบนกระดาษ

การอ่านและการเขียนก็เป็นเช่นนั้น เราใช้สายตาในการอ่าน ใช้มือในการเขียน กระแสประสาทภายในเซลล์ถ่ายทอดตัวอักษร และสัญลักษณ์ต่างๆ ถูกจัดเรียงตัวใหม่กลายเป็นความคิด เนื้อหา เรื่องเล่า ที่ถูกบรรจุบนหน้าหนังสือ

นี่คงเป็นคำอธิบายเรื่องเล่าของคนส่วนใหญ่ แต่สำหรับคนที่มีหนังสือให้อ่านอย่างจำกัด กระแสประสาทจากเริ่มที่ดวงตาถูกแปรเปลี่ยนเป็นผัสสะอื่น เช่น การสัมผัสและการฟัง พวกเขาต่างอ่าน เขียน และเรียนรู้ในที่มืด

ในวันที่หนังสือสำหรับคนตาบอดมีเพียงหยิบมือ หนังสือเสียงหลายเทปถูกอ่านค้างเติ่งไว้เพียงครึ่งเล่ม แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้า แต่ก็ปฏิเสธความจริงที่ว่า หนังสือสำหรับคนตาบอดมีไม่ครอบคลุมและครบถ้วน

เรานัดคุยกับ พลอย-สโรชา กิตติสิริพันธุ์ บรรณาธิการฝึกหัดผู้มองไม่เห็น จากสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง หนอนหนังสือผู้มีใจรักการอ่าน และตระหนักว่า นอกจากสื่อสำหรับคนตาบอดที่มีไม่เพียงพอแล้ว พื้นที่สำหรับถ่ายทอดเรื่องราวจากผู้พิการก็ร่อยหรอเช่นกัน นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นการเปิดพื้นที่ให้คนพิการมาเขียนบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้คนตาดีรับรู้

[1]

ใครจะรู้ จริงไหม

‘ฉันไม่ใช่เด็กเรียบร้อย แต่ก็ไม่ถึงกับเกเร

เพียงเป็นคนเฮไหนเฮนั่น รักเพื่อนฝูง

ใครชวนไปไหนก็ไปหมด-

เมื่ออายุ 17 ก็เริ่มติดเหล้า ฉันมีเรื่อง

เตะต่อยกับใครต่อใครไปทั่ว

ที่จริงฉันก็ไม่ชอบใช้กำลังหรอก

แต่ทนเห็นความอยุติธรรมบนโลกนี้ไม่ได้จริงๆ-

หากฉันมองเห็น

นี่อาจเป็นประวัติช่วงหนึ่งของฉันก็ได้

ใครจะรู้ จริงไหม-’  หนังสือ |จนกว่า |เด็กปิดตา |จะโต

สโรชามองไม่เห็นตั้งแต่จำความได้ เพราะป่วยเป็นมะเร็งที่ขอบประสาทตา รักษาจนผ่าตัดนำดวงตาออกเมื่ออายุประมาณ 3 ขวบ เพราะฉะนั้น เธอจึงไม่มีความรู้สึกหรือภาพจำผ่านทางดวงตาเลย แน่นอนว่าอาชีพในฝันอย่างการเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ จึงเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน 

แต่… ใครจะรู้ จริงไหม?

“เคยคิดบ้างไหม จากเด็กนอนหนุนตักฟังพ่อแม่อ่านหนังสือ วันหนึ่งได้มีหนังสือเป็นของตัวเอง และกลายเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์”

“ไม่เลย แค่เขียนหนังสือเรายังเห็นภาพตัวเองไม่ชัดเลย แต่อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญ เราเคยเปิดดูระเบียนสะสมตอนเรียนมัธยม เขาให้เขียนอาชีพที่อยากเป็น คณะที่อยากเข้า เราก็เขียนคณะอักษรฯ ไป ส่วนอาชีพก็เป็นนักเขียน คือเรานึกอาชีพอื่นไม่ออก และไม่ได้รู้สึกว่ามันจะเป็นจริง แค่เขียนไว้เฉยๆ ยิ่งบรรณาธิการยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย”

ปัจจุบัน สโรชามีหนังสือที่เขียนเองทั้งหมด 3 เล่ม และกำลังก่อร่างสร้างสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่อยากเป็นพื้นที่แข็งแรงสวนทางกับชื่อสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ‘ปีกบาง’ ให้แก่ผู้พิการทั่วประเทศ

เด็กปิดตาในวันนั้นเติบโตมาเป็นบรรณาธิการในวันนี้

[2]

พื้นที่สนุกของเด็กปิดตา

ตัวอักษร สัญลักษณ์ รูปประโยคต่างๆ ที่เรียงร้อยบนหน้ากระดาษ ถูกส่งต่อผ่านถ้อยคำให้สโรชาจนก่อตัวเป็นนิสัยรักการอ่าน ผ่านการฟังจากพี่สาวและครอบครัวอ่านหนังสือ หากใครว่างเว้นเมื่อใด หรือเธอได้ยินเสียงใครพลิกหน้ากระดาษหนังสือ ก็จะขอให้คนในบ้านอ่านออกเสียงให้ฟังเมื่อนั้น

“เราโชคดีที่มีพี่สาว มีลูกพี่ลูกน้องที่อยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ มีอาเจ็ก อากง อาม่า อาโกว เมื่อก่อนอยู่กันแบบอุ่นหนาฝาคั่ง ดังนั้น เราจึงได้เห็นกิจกรรมหลายๆ อย่าง เขาเล่นอะไรกัน เขาทำอะไรกัน สิ่งหนึ่งที่พี่ๆ ชอบทำกัน คืออ่านหนังสือการ์ตูน สมัยก่อนจะมีร้านเช่าหนังสือการ์ตูนอยู่ซอยแถวบ้าน ให้เช่าเล่มละ 3 บาท 10 บาท 

“พอเราเรียนอยู่ชั้นประถม พ่อก็จะชวนไปงานสัปดาห์หนังสือ พี่สาวก็เอาเงินแต๊ะเอียวันตรุษจีนไปซื้อหมดเลย เขาซื้อหนังสือกันเยอะมาก ดูมีความสุขกับการอ่านมาก ทุกคนจะอ่านไปหัวเราะไป หรือมีสมาธิจดจ่อกับการอ่านมากแบบไม่ทำอย่างอื่นเลย

“พ่อก็อ่านหนังสือให้เราฟัง เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย!  มีเรื่องราวอย่างนี้อยู่ในหนังสือด้วยเหรอ มันสนุกมาก ดีมากเลย แต่เราก็เข้าไม่ถึงต้องรอให้คนอื่นอ่านให้ฟัง”

นอกจากนิสัยรักการอ่าน อีกทักษะที่สโรชาได้ติดตัวมา คือการปะติดปะต่อร้อยเรียงเรื่องราวต่างๆ เพราะต้องฟังหนังสือตามใจคนอ่าน และขึ้นอยู่กับว่าผู้อ่าน อ่านถึงองก์ไหนหรืออ่านถึงบทใด

“แต่มันก็มีความอึดอัดนิดหนึ่งตรงที่เราอ่านเองไม่ได้ เราเข้าไม่ถึง แต่มันก็สนุกแหละ เราได้รู้ว่าหนังสือเป็นพื้นที่ที่เราสนุกและชอบ”

นิสัยรักการอ่านขอสโรชาพัฒนามาเรื่อยๆ จากช่วงมัธยมสนใจเรื่องวรรณคดี อ่านกวีนิพนธ์ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และคมทวน คันธนู เพราะสนุกกับการอ่าน ฟังเสียงบทกลอนที่คล้องจองกัน เธอจึงเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะทำอย่างไรถึงจะได้อ่านวรรณกรรมเยอะๆ และได้เรียนรู้เทคนิคการเขียนว่าเขียนอย่างไร เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาจึงเลือกเรียนต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“พลอยคิดแค่ว่า เราสนใจอะไรเราก็เรียนอันนั้นไปก่อนแล้วกัน สนุกกับมัน ตอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยก็พยายามทำที่เราสนใจ เวลาสนใจวิชาไหนก็จะไปลงเรียน สนใจกิจกรรมอะไรก็จะเข้าร่วม เช่น เราเล่นเปียโนกับ CU Band ก็ลองทำหลายๆ อย่างเพื่อให้รู้จักตัวเองว่าชอบหรือไม่ชอบ ก็เรียนรู้จากการลองมาเรื่อยๆ 

“ประมาณปี 3 เราไปเจอวิชาเสวนาบรรณาธิการ อยู่ในสาขาบรรณารักษศาสตร์ ของคณะอักษรศาสตร์ เราก็เฮ้ย มันคืออะไร คือเรารู้เรื่องการเขียนหนังสือ แม้ชื่อจะคุ้นหูรู้จักแต่ก็ไม่รู้อยู่ดีว่าคืออะไร ก็คิดแค่ว่าชื่อมันดูแปลกๆ เท่ดี น่าจะเกี่ยวกับหนังสือ ไม่รู้แหละลองไปเรียนก่อน”

จากการลงเรียนวิชาชื่อแปลกแต่คุ้นหูกับ มกุฏ อรฤดี เจ้าของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ส่งผลให้ |จนกว่า |เด็กปิดตา |จะโต กลายเป็นหนังสือเล่มแรกของสโรชา ผ่านการเขียนบันทึกประจำวันส่งอาจารย์

“สมัยเรียนเราก็พิมพ์ผ่านคอมพิวเตอร์ พิมพ์เสร็จก็พรินต์ส่งอาจารย์ในแต่ละสัปดาห์”

[3]

หากทุกคนได้รับรู้

“พอเป็นเรื่องรูปแบบหนังสือ เราจะไม่รู้แล้วว่าจะจัดหน้าอย่างไร แบบไหนถึงเรียกว่าสวย เราไม่เห็นมันในตอนจบว่า สุดท้ายแล้วหน้าตาจะออกมาอย่างไร ก็เลยรู้สึกว่าจะไปทางไหนต่อ หากเราจะทำงานด้านนี้ต่อจะไปได้หรือเปล่า หรือควรออกไปหาความรู้เพิ่ม” 

หลังจากเฝ้าถามตัวเอง สโรชาตัดสินใจลาออกจากสำนักพิมพ์ผีเสื้อ และเดินหน้าเรียนต่อปริญญาโท สาขาจิตวิทยา เธอบอกว่า นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต เพราะปกติแล้วเธอใช้ชีวิตในสังคมทั่วไป จึงทำให้มีโอกาสสัมผัสกับกลุ่มผู้พิการน้อยมาก แต่เมื่อมาเรียนต่อสาขาจิตวิทยา มีโอกาสออกไปทำกิจกรรมต่างๆ ส่งผลให้เจอกับกลุ่มคนพิการที่หลากหลาย และทำให้ตระหนักว่า การที่คนพิการสามารถสื่อสาร มีคนสื่อสารเรื่องราวของพวกเขาหรือเรื่องราวของพวกเธอออกไปเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก จนอาจเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ได้ หากทุกคนรับรู้และเข้าใจตรงกัน

“เราว่ามันมีประสบการณ์รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ หลายอย่างที่คนไม่ค่อยเข้าใจ เช่น บางทีคนที่ยืนรออยู่บริเวณป้ายรถเมล์ ทำไมไม่ขึ้นรถเมล์เสียที รอเป็นชั่วโมงแล้ว ก็เขามองไม่เห็น ไม่เห็นทั้งสายรถและรถเมล์ มันมีประสบการณ์หลายอย่างที่เรารู้สึกว่า ถ้าคนทั่วไปรับรู้คงจะดีนะ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยมีโอกาสเล่าให้คนในวงกว้างฟัง และเป็นสิ่งที่ไม่ใช่อยู่ๆ เราจะลุกขึ้นมาเล่าให้ใครที่ไหนก็ได้ฟัง เพราะมันไม่มีพื้นที่เหล่านี้”

ภายหลัง สโรชามีหนังสือเป็นของตัวเอง เธอมักได้รับคำถามจากคนพิการทางบ้านว่า ถ้าอยากเขียนต้นฉบับส่งให้สำนักพิมพ์ต้องทำอย่างไร เพราะเคยส่งไปแล้วไม่มีใครตอบกลับ

“เรารู้สึกว่า ถ้ามันมีพื้นที่รองรับต้นฉบับเหล่านี้ ก็น่าจะดีนะ ก็เกิดไอเดีย โอเค เรามองไม่เห็น เราไม่รู้ว่าไอ้กระดาษเรียบๆ หน้าตาเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นคนที่นั่งวีลแชร์ล่ะ เขาไม่ได้เจอปัญหาแบบเดียวกับเรา สิ่งที่เราอ่านไม่ได้ เขาอ่านได้ ก็ให้เขาอ่าน มันจะเป็นไปได้ไหม ที่เราจะทำพื้นที่สำนักพิมพ์ที่คนพิการมาช่วยกันทำหนังสือ ก็คุยกับตัวเองว่า อยากทำ แต่ไม่รู้ว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร จะสำเร็จหรือไม่ จะมีต้นฉบับเข้ามาไหม 

“เพราะเราไม่เคยเห็นมาก่อนเลย สำนักพิมพ์ที่คนพิการเป็นบรรณาธิการให้นักเขียนพิการ แล้วมีคนพิการมาวาดรูปประกอบ มันจะเป็นหนังสืออย่างไรนะเล่มนี้ มันจะเป็นการร่วมมือที่อบอุ่นมากๆ ความช่วยเหลือที่มาจากหลายๆ คน คงทำให้กลายเป็นหนังสือที่มหัศจรรย์มาก”

[4]

เรียนรู้ไปและเติบโตพร้อมกัน

“พอมาเป็นบรรณาธิการก็กังวล เรามักถามคำถามเดิมๆ กับตัวเองว่าจะทำได้ไหม เพราะหนังสือมันเป็นภาพทั้งหมด กระดาษเรียบๆ ที่ทุกคนเห็น เราไม่เห็นอะไรเลย ก็ยังรู้สึกกลัวมันอยู่ แบบว่าฉันจะทำอย่างไรดี จะทำได้ไหม”

บรรณาธิการฝึกหัดอธิบายต่อว่า ปัจจุบันเส้นทางอาชีพของคนตาบอดมีไม่มาก ยังเลือนรางและไม่มั่นคง ดังนั้น ความฝันหรือการวางแผนอาชีพ และอนาคต จึงเป็นภาพที่มองไม่ค่อยเห็น

“เราต้องยอมรับกันหน่อยว่า เส้นทางอาชีพของคนตาบอดในปัจจุบันยังไม่ชัดเจนนัก ไม่มั่นคงนัก ยังไม่สามารถมองภาพที่ชัดเจนขนาดนั้นได้ คนอื่นอาจจะมองเห็นอาชีพหมออยู่เต็มไปหมด ถ้าเรียนจบแล้วฉันจะเป็นแพทย์ เป็นคุณหมอหัวใจ มีเงินเดือนประมาณนี้ แต่คนตาบอดไม่ได้เห็นภาพเหล่านี้ มันไม่ชัดเจน โดยเฉพาะอาชีพที่ดูแปลกใหม่สำหรับคนตาบอด”

ดังนั้น สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบางจึงเปิดพื้นที่ให้คนพิการได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน และเป็นสถานที่โอบรับความ ‘ไม่รู้’ เพื่อให้ทุกคนสามารถลองผิดลองถูก ก้าวข้ามความกลัวและความกังวลไปพร้อมๆ ทุกคนอีกด้วย

“เราไม่รู้อะไรเลย แต่กระบวนการในการทำหนังสือทำให้เราค่อยๆ เรียนรู้แต่ละขั้นตอน พลอยเชื่อว่าการเรียนรู้ทำให้เราเติบโตขึ้น หากเราทำหนังสือเล่มถัดไป เราก็จะได้เรียนรู้แล้วว่าต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง ต้องระวังอะไรบ้าง 

“พลอยคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะหลายคนมักคิดว่าไม่กล้าให้คนพิการเข้าไปทำงาน เพราะกลัวความผิดพลาด แต่ในความเป็นจริงแล้ว เวลาทุกคนทำอะไรครั้งแรกก็มักจะผิดพลาดกันเสมอ เราเต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่รู้ และทุกคนสามารถพัฒนาได้ แน่นอนว่าคนพิการก็เช่นกัน เมื่อเราพลาดหนึ่งครั้ง ครั้งต่อไปเราก็จะพลาดน้อยลง หรืออาจไม่พลาดตรงนี้อีกเลย ดังนั้น พอมีคนบอกเราว่า ตรงนี้ต้องแก้นะ เราก็จะเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกัน

“เราเริ่มชวนคนตาบอด ชวนคนพิการหลายๆ รูปแบบ ที่เขาอยากเขียนให้ลองเขียนส่งต้นฉบับมา และเราจะเผยแพร่งานเขา ซึ่งพลอยคิดและคาดหวังว่าจะเป็นจุดกระตุ้นให้พวกเขาไม่เลิกเขียน เพราะหลายคนเขียนแล้วไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหน ฉันจะเขียนหนังสือทำไม เพราะไม่มีที่ให้วาง ไม่มีที่ให้เผยแพร่ออกไป ไม่มีคนอ่าน ก็มาเผยแพร่ที่แห่งนี้ และพลอยเชื่อว่าหากเราเขียนไปเรื่อยๆ เราเขียนทุกวัน มันจะสังเกตเห็นความคิดของตัวเอง”

นอกจากการเปิดพื้นที่ให้คนพิการส่งงานเขียนมาแล้ว สโรชายังหวังว่า การที่คนพิการมีพื้นที่สำหรับการสื่อสารเรื่องราวของตัวเอง จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไปถึงระดับโครงสร้างสังคม พร้อมกับความมั่นใจของคนพิการที่เพิ่มมากขึ้น จนส่งผลให้ทุกคนกล้าออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน กล้าออกมาใช้ชีวิตในสังคม และกล้าออกมาเรียนหนังสือ

[5]

สังคมต่างหากที่ ‘พิการ’

สโรชาตั้งคำถามกับเราอย่างเรียบง่ายว่า ถ้าในทุกวันหลังตื่นนอน ต้องกินแต่อาหารบริจาค อาหารทำบุญวันเกิด เราจะมีความรู้สึกต่อการเติบโตของตัวเองอย่างไร

บรรณาธิการผีเสื้อปีกบางขยายความต่อว่า โครงสร้างสังคมไม่ได้เอื้อให้คนพิการรู้สึกภูมิใจในตัวเอง นอกจากสิ่งอำนวยสะดวกต่างๆ ที่ภาครัฐออกแบบไม่ได้ครอบคลุมคนพิการ ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างสะดวกแล้ว อีกสิ่งที่เธอกล่าวว่าบั่นทอนจิตใจไม่แพ้กัน คือประโยคที่ดูสามัญอย่างเช่นคำว่า 

“มันเป็นโอกาสที่ดีมากๆ”

“ปกติไม่รับคนพิการนะ เป็นโอกาสที่ดีมากๆ”

แม้จะเป็นคำพูดที่ดูเหมือนจะแสดงความยินดีหรือดีใจต่อผู้ได้รับ แต่จริงๆ แล้วการศึกษา หรือสิทธิขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิต ควรเป็นสิทธิที่เป็นเรื่องปกติของทุกคนในสังคม 

“พลอยคิดว่า ไอเดียที่ทำบุญกับคนพิการที่อยู่ในสังคมไทย ไม่ใช่สิ่งที่ผิดนะ แต่เราแค่มองว่ามันจะมีวิธีไหน หรือความคิดอื่นบ้างไหม ที่จะทำให้คนพิการรู้สึกภาคภูมิใจ คือมันเป็นสิทธิที่เขาควรจะได้รับเท่ากับคนอื่น เขามีสิทธิที่จะต้องได้เรียนหนังสือ ไม่ใช่สิทธิของเขาเหรอที่จะได้กินข้าวที่ดี ข้าวที่อร่อย มันต้องเป็นบุญคุณด้วยเหรอ 

“ความรู้สึกเหล่านี้มันซึมเข้าไปในความรู้สึกของคนพิการ มันทำให้รู้สึกว่า ฉันด้อยกว่าคนอื่น ฉันเป็นพลเมืองชั้นสอง ฉันต้องดูแลตัวเองแบบไม่เรียกร้องอะไร เพราะโลกใบนี้ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับฉัน โลกไม่ได้ออกแบบมาเพื่อคนพิการ ทั้งที่เป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้รับตั้งแต่ต้น 

“พลอยเชื่อว่าคุณภาพชีวิตที่ดี การงานที่ดีเริ่มจากการศึกษา ถ้าคนพิการได้รับการศึกษาที่ดีตั้งแต่แรก เขาก็จะทำงานได้ดี สมมติพลอยเข้าถึงหนังสือได้อย่างจำกัด เข้าถึงเอกสารได้อย่างจำกัด พลอยจะเอาความมั่นใจที่ไหน เราจะเอาความรู้แบบครึ่งๆ กลางๆ ไปใช้เท่ากับคนอื่นได้อย่างไร เพราะคนพิการถูกปูความรู้สึกแบบนี้มาตั้งแต่ต้น

“พลอยไม่อยากให้เกิดความรู้สึกว่า การเป็นคนพิการต้องนอนอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องทำอะไรดีแล้ว เดี๋ยวเป็นภาระสังคมเปล่าๆ เราไม่อยากให้มีความคิดแบบนี้อยู่ในตัวคนพิการ หรือคนรอบตัวคนพิการอีกต่อไป”

[6]

อุปสรรคไม่ได้มีไว้เพื่อคนพิการเพียงผู้เดียว

เป็นคนพิการต้องสู้ชีวิต ต้องฟันฝ่าอุปสรรคหลายอย่าง แต่ขึ้นชื่อว่า ‘ชีวิต’ มักไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าจะร้ายหรือจะดี เราต้องเจอสิ่งติดขัดหรืออุปสรรคย่างกรายมาอยู่เสมอ ขึ้นอยู่ว่าจะมากน้อยเพียงไร

สโรชากล่าวว่า ชีวิตคนพิการ ก็ร้องไห้ ท้อแท้ และหลายคนก็แพ้เป็น การเจออุปสรรคจึงเป็นเรื่องปกติ อุปสรรคไม่ได้หวงแหนไว้แค่ชีวิตผู้พิการ แต่อยู่ที่ว่าใครจะยืนหยัด ต่อสู้ และตั้งรับได้ดีแค่ไหน

สิ่งที่บรรณาธิการผู้มองไม่เห็นวาดหวังไว้ในสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง คือการมีคนเข้าใจคนพิการเพิ่มมากขึ้น มีผู้ฟังคนพิการมากขึ้น วันหนึ่งสิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่การคิดคำนึง การออกแบบบ้านเมืองเพื่อผู้พิการอย่างแท้จริง 

เราไม่รู้หรอกว่าหากสโรชามองเห็น ประวัติชีวิตของเธอจะเป็นอย่างไร 

แต่ ณ วันนี้ หนังสือ และสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง ถูกบรรจุเป็นประวัติช่วงหนึ่งของเธอไปแล้ว

จริงไหม

Fact Box

พลอย-สโรชา กิตติสิริพันธุ์  บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจุบันมีหนังสือ 3 เล่มคือ |จนกว่า |เด็กปิดตา |จะโต, | เห็น และ |ก ไก่เดินทางนิทานระบายสี

Tags: , , , , , , ,