ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา คนไทยจ่าย ‘ค่าไฟ’ ในราคาที่แพงขึ้นเป็นอย่างมาก 

คำถามก็คือเป็นเรื่องที่สมควรแล้วหรือ ที่ประชาชนจำเป็นต้องจ่ายค่าไฟในราคาที่ไม่สมควรกับความเป็นจริง หรืออาจเรียกง่ายๆ ว่าถูก ‘มัดมือชก’ ให้จำต้องยอมจ่าย ขณะเดียวกัน เรื่องผลประโยชน์ของค่าไฟแพงล้วนไปตกอยู่ในกลุ่มทุนทางพลังงาน และไปตกกับใครก็แล้วแต่จะสืบหาต้นตอ

กระทั่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมา รัฐสั่งตรึงค่าไฟภายในครัวเรือนด่วนให้อยู่ที่ราคา 4.72 บาทต่อหน่วย ขณะเดียวภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมยังโอดโอยกับราคาที่พุ่งสูงกว่าร้อยละ 20

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ประเทศไทยมีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) หลายฉบับ แต่ไม่มีฉบับไหนที่พูดถึงการให้ประชาชนมีส่วนร่วมหรือแนวทางในการผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ มีเพียงการกล่าวถึงแนวทางความสวยหรู เปลี่ยนจากความมั่นคงทางพลังจากเชื้อเพลิงฟอสซิล สู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Net Zero) ตามข้อบรรลุที่ตกลงไว้กับนานาประเทศ

เรื่องซับซ้อนว่าด้วย ‘ค่าไฟแพง’ โยงไปถึงการตั้งคำถามว่าด้วยการกำหนดแผนพลังงานที่แปลกประหลาด และทำให้กลุ่มทุนบางกลุ่มมีทุนในมือเพิ่มขึ้นมหาศาล สุดท้ายกลายเป็นประชาชนคนไทยที่ต้องแบกรับค่าไฟที่แพงขึ้นทะลุเพดาน

ในบทสัมภาษณ์นี้ สฤณีจะค่อยๆ คลี่ประเด็นให้เห็นความผิดปกติของเรื่องดังกล่าวว่าเกิดจากอะไร และมีตัวละครอะไรที่พัวพันบ้าง…

สถานการณ์ค่าไฟแพงเกิดจากอะไร

สาเหตุที่ค่าฟ้าแพงต้องแยกเป็นสองส่วน หนึ่งส่วนที่เป็นยอดภูเขาน้ำแข็งและสองส่วนที่อยู่ใต้น้ำ 

เริ่มจากปลายยอดภูเขาน้ำแข็งที่ทุกคนมองเห็น ซึ่งคือสิ่งเดียวกับที่รัฐไทยมักพูดให้เราเข้าใจถึงสาเหตุของค่าไฟแพงอยู่บ่อยๆ นั่นคือเชื้อเพลิงราคาแพงขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเราใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า และผู้ส่งออกก๊าซรายใหญ่คือประเทศรัสเซีย ซึ่งอยู่ในภาวะของสงครามยูเครน-รัสเซีย ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีปริมาณลดน้อยลงและกำลังจะหมดในไม่ช้า

เราจึงจำเป็นต้องหันไปพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเหลวจากต่างชาติซึ่งราคาสูง เป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจได้

ต่อมาคือส่วนที่อยู่ใต้น้ำหรือส่วนกลางของภูเขาน้ำแข็ง ประชาชนอาจมองเห็นได้ยากหรืออาจมองไม่เห็นเลย ประกอบด้วยเรื่องแรกคือ ‘การพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริง’ อันเกิดจากการพยากรณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงเกินความเป็นจริง เมื่อมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเติบโตสูง การใช้ไฟจะสูงขึ้น ก็ยิ่งมีการสร้างโรงไฟฟ้าตามมามากขึ้น หรือสนับสนุนการซื้อไฟจากแหล่งต่างๆ ผลก็คือทำให้ต้นทุนที่ไม่จำเป็นต่างๆ เหล่านั้นกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของค่าไฟฟ้าที่ทุกคนจำเป็นต้องจ่าย 

 เรื่องต่อมาคือ ‘ความไม่เป็นธรรมของโครงสร้างค่าไฟฟ้า’ เกิดจากความไม่เป็นธรรมด้านการจัดการทางพลังงานของประเทศเรา 

ปัจจุบันประชาชนไม่เพียงจ่ายค่าไฟฟ้าที่ใช้ในครัวเรือน แต่ยังต้องจ่ายค่าผลตอบแทนที่รัฐการันตีให้กับเอกชนที่มาลงทุนในโรงไฟฟ้า รวมถึงต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของรัฐที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝพ.) เป็นผู้ดำเนินการ 

เพราะฉะนั้นการตั้งคำถามถึงค่าไฟจะมองเพียงส่วนยอดหรือปัจจัยภายนอกอย่างเช่น ราคาเชื้อเพลิง ราคาตลาดโลก เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ควรจะตั้งคำถามถึงความไม่เป็นธรรมที่อยู่ใต้น้ำ ที่เกิดจากโครงสร้างการวางแผนทางพลังงานของประเทศเราควบคู่ไปด้วย

รัฐพูดเสมอว่าการประหยัดค่าไฟฟ้าเริ่มได้จากตัวเอง

นึกถึงคำกล่าวหนึ่งช่วงโควิดคือ ‘ประชาชนทำทุกอย่างแล้ว’ ถ้าผลิตวัคซีนได้เองคงทำไปแล้ว เลิกพูดเสียทีคำพูดแนวนี้ เพราะมันเป็นคำพูดที่ไม่รับผิดชอบ 

หนึ่ง ต้องคิดก่อนว่าประชาชนไม่ได้โง่ 

สอง ค่าไฟฟ้า 4 บาทต่อหน่วย ทุกคนลำบาก ประชาชนก็ประหยัดกันหมดอยู่แล้วนั่นคือส่วนที่ทำได้ แต่ส่วนที่ทำไม่ได้คือเรื่องเชิงโครงสร้างหรือระบบ

ปัจจัยทั้งสองที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนที่รัฐมักอ้างถึงบ่อยๆ หรือไม่

ใช่ อาจต้องเท้าความกันนิดหนึ่งว่าในยุคแห่งพลังงานอาจจะแบ่งแบบหยาบๆ ได้ 2 ยุค ประกอบด้วยยุคก่อนที่จะมีประเด็นปัญหาเรื่องโลกร้อน และยุคหลังที่ภาครัฐตื่นกับกระแสโมเดลสีเขียว 

ในยุคก่อน เวลาพูดเราถึงเรื่องพลังงาน มักจะเน้นไปที่เรื่องความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) เป็นหลัก คำว่า ‘พลังงาน’ นั้นเป็นเรื่องใหญ่ ผูกพันกับความมั่นคงของประเทศ คงไม่มีใครอยากเห็นทั้งประเทศไฟดับ หรือหากใครผูกขาดการผลิตพลังงานได้ ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงในแง่ความมั่นคงเช่นกัน ฉะนั้นเลยเป็นเรื่องที่ทุกคนต่างรู้สึกตรงกันว่าต้องให้รัฐมีบทบาทหลักในการจัดการ

อาจสรุปได้ว่าความมั่นคงทางพลังงานหมายความว่า ทำอย่างไรให้ประชาชนมีไฟฟ้าและพลังงานใช้อย่างไม่ขาดช่วง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผูกพันกับความมั่นคงของชาติ 

เมื่อนำแนวคิดดังกล่าวเป็นตัวตั้ง จึงสัมพันธ์กับการคาดการณ์ว่าในอนาคตเราจะใช้ไฟเท่าไร การพยากรณ์ก็มาจากการพยากรณ์เศรษฐกิจ เพราะว่าทั้งสองมีความสัมพันธ์กันในทุกมิติ ถ้าเรายิ่งพยากรณ์สูงความต้องการใช้ไฟตัวนี้ก็ยิ่งสูงขึ้น

ดังนั้นแปลว่าต้องสร้างระบบผลิตไฟฟ้าเยอะขึ้นหรือต้องสร้างเขื่อนเยอะ เพื่อให้ตอบโจทย์ตัวเลขนี้ได้ 

หากรัฐคาดการณ์ตัวเลขที่ค่อนข้างใกล้เคียงความจริงก็ไม่เป็นไร แต่ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เห็นชัดว่าทุกคนต่างอยู่บ้านเป็นหลัก การใช้ไฟฟ้าก็น่าจะสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ทำให้มีการผลิตไฟฟ้าสำรองสูงขึ้นกว่า 60% แต่เมื่อโควิดเริ่มห่างหาย รัฐเริ่มเปิดประเทศ ที่น่าสังเกตคือตัวเลขกำลังไฟสำรองก็ยังสูงมากอยู่ดี 

นอกจากนี้ อย่างที่กล่าวไปว่าค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่ายรวมถึงค่าตอบแทนการสร้างโรงไฟฟ้าของเอกชนที่รัฐการันตีด้วย เพราะเอกชนจะสร้างโรงไฟฟ้าตรงไหนก็ตาม สุดท้ายก็ต้องมาผลิตไฟฟ้าจ่ายให้รัฐ เพราะฉะนั้น เหมือนว่าผู้บริโภคก็ถูกมัดมือชกไงในแง่นี้ด้วย หากเอาโจทย์ยุคก่อนตั้งก็เป็นไปตามนี้

แต่ในปัจจุบัน โลกเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง ปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชัดเจนขึ้น ทำให้เข้าสู่ยุคถัดมาที่คนต่างตื่นรู้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม โจทย์ที่ตั้งจึงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และภาคพลังงานทั่วโลกก็ถือว่าเป็นตัวการหลักที่ส่งผลให้โลกร้อนขึ้น เนื่องจากกว่า 20% ของก๊าซเรือนกระจกมาจากภาคพลังงาน 

ดังนั้น ภาคพลังงานทั่วโลกต้องเปลี่ยนเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ซึ่งต้องใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนให้ได้มากที่สุด เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าหรือพลังงาน จะมองแค่การพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนหรือต้นทุนในกรอบแคบๆ ไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องมองไปถึงต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย

โมเดลการจัดการพลังงานในประเทศเป็นแบบใด

เริ่มด้วยหากเราสนใจโมเดลตลาดเสรี พบว่าการมาลงทุนในกิจการไฟฟ้าต้องเป็นแบบตลาดการแข่งขันกันระหว่างผู้ประกอบการเข้ามาเสนอราคาแข่งกัน ใครเสนอราคาต่ำสุดก็ได้ไป หากใช้โมเดลตลาดเสรีก็ต้องเป็นแบบนี้ 

แต่หากหลายคนบอกไม่เอาโมเดลตลาดเสรี เพราะเหตุผลว่าไม่ไว้ใจ หรือไม่อยากให้ไฟฟ้ากลายเป็นสินค้า ก็จำเป็นต้องเป็นโมเดลแบบสังคมนิยมที่รัฐมีอำนาจในการควบคุม แต่ก็ต้องควบคุมในทางที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ใช่ขึ้นราคาหรือผลิตไฟฟ้าจนประชาชนลำบาก

แน่นอนว่าบ้านเราอาจจะคล้ายโมเดลแบบที่ 2 คือรัฐเป็นผู้ดูแล ดังนั้นเราอาจต้องตั้งคำถามแล้วว่า บริษัทด้านพลังงานในการควบคุมของรัฐมีกำไรขนาดนี้ได้อย่างไร

เพราะฉะนั้นเรื่องพลังงานเมืองไทยเลยดูประหลาด จะบอกว่าเป็นตลาดเสรีก็ไม่ใช่ เพราะไม่เป็นตลาดเสรีเต็มที่ พอจะมาแบบโมเดลสังคมนิยมก็มีคำถามเต็มไปหมดเลยว่าทำไมเราใช้ไฟฟ้าแพงขนาดนี้ แล้วทำไมบริษัทของรัฐได้กำไรมโหฬารขนาดนี้ เลยกลายเป็นแบบลูกผีลูกคน คือไปไม่สุดสักทางและไม่รู้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายคืออะไร 

ส่วนตัวคิดว่ามาถึงจุดที่ประชาชนต้องมองเรื่องความไม่เป็นธรรม ประชาชนไม่ควรรับสภาพค่าไฟแพงไปเรื่อยๆ แล้วเขาก็อธิบายว่าเพราะอะไรแล้วจบไป

ความผิดปกติของค่าไฟเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร 

มีความผิดปกติมาสักระยะเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องความไม่เป็นธรรม เราจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปี 2557 ซึ่งตรงกับที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารบ้านเมือง

อาจเรียกได้ว่าแทบจะทันทีหลังรัฐประหาร คสช. ก็เข้าครอบงำองคาพยพทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนพลังงานของประเทศ นอกจากนี้ เราจะเห็นความเชื่อมโยงบางอย่าง เช่น ความสนิทสนมระหว่างนักธุรกิจทางพลังงานกับคณะผู้บริหารประเทศ 

ไม่เพียงเท่านี้ ภายหลังจาก คสช. เข้ามา ก็ไม่มีการเปิดประมูลสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP)  ซึ่งก่อนหน้านั้นการประมูลก็เป็นไปด้วยความกำกวมและมีแนวโน้มว่าอาจเกิดจากความไม่โปร่งใสในการประมูลก็เป็นได้ แต่บางฝ่ายกล่าวว่าที่ไม่มีการประมูล อาจจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะกำลังไฟฟ้าสำรองเรามีมากเกินไปแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องประมูลกันอีก แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ได้แปลว่าบริษัทหรือเจ้าของทุนทางพลังงานไม่ได้สร้างโรงไฟฟ้าหรือขยายโรงไฟฟ้า เขาก็ทำอยู่ดี เช่น อย่างที่ล่าสุดบริษัทยักษ์ใหญ่ทางพลังงานบ้านเราเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญที่กำลังสร้างเขื่อน 4 แห่งในประเทศลาว 

(ย้อนอ่าน‘การฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ (7): มหกรรม ‘กินรวบ’ โรงไฟฟ้า ที่ สฤณี อธิบายถึงการมาถึงของ คสช. กับการกินรวบโรงไฟฟ้า ได้ที่ https://themomentum.co/citizen2-0-ipp/)

เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิดการแทรกแซงหรืออาจจะเป็นความตั้งใจของใคร

คงต้องเป็นเรื่องที่ตั้งคำถามกันว่าใช่หรือไม่ แต่ที่แน่นอนคือต้องมีความไม่ปกติอะไรสักอย่างในกระบวนการดังกล่าว

ช่วงโควิดที่ผ่านมา ทุกคนยอมรับว่าเศรษฐกิจแย่เพราะว่าหลายประเทศต่างปิดเมือง และแน่นอนพอเศรษฐกิจแย่ หลายกิจการก็ปิดบริษัท อัตราการใช้ไฟฟ้าก็ลดน้อยลง แต่ไปเพิ่มในสัดส่วนครัวเรือน เมื่อมาดูกำลังไฟสำรองพบว่าเกินอย่างล้นเหลือ ทำให้ไม่จำเป็นต้องเดินเครื่องเพราะเดินเครื่องไปไฟก็เกินอยู่ดี แต่ปัญหาคือต่อให้เครื่องไม่เดิน เราก็ยังจำเป็นต้องจ่ายค่าดำเนินการดังกล่าว ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่รัฐใช้มาตลอดเพื่อจูงใจให้เอกชนลงทุน

ระบบแบบ Take all pay คือแม้ไม่ผลิต รัฐก็ต้องจ่ายอยู่ดี เช่น มีโรงไฟฟ้าทั้งหมด 12 โรง แต่ 8 โรงไม่ต้องเดินเครื่องก็ได้เงินไปฟรีๆ

เมื่อเราเห็นปัญหาตรงนี้จึงควรจะเป็นโอกาสหรือไม่ ที่รัฐและภาคต่างๆ มาคุยกันใหม่ว่าระบบนี้ควรจะยกเลิกหรือควรจะมีวิธีการเสรีอะไรใดๆ ไหม เพราะว่ามันอาจไม่ใช่ครั้งแรกก็ได้ที่เราจะเจอปัญหาแบบชะงักงันแบบนี้ 

สุดท้ายแล้วคำถามทั้งหมดนี้พุ่งไปสู่เรื่องแกนกลางของปัญหาความไม่ยุติธรรม หรือความไม่ยุติธรรมในระบบพลังงานที่ประชาชนถูกมัดมือชก ไม่มีสิทธิ์ในการตัดสินใจทั้งๆ ที่เราควรจะเข้าสู่โลก ที่ภาคประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าเองได้แล้ว คือเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคไปในตัว (Prosumers)

รวมถึงความไม่ปกติตรงนี้ ก็ต้องถามว่าสุดท้ายใครเป็นได้ประโยชน์ เชื่อว่าทุกคนพอจะเห็นแล้วว่าใครได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันแสดงว่าเขาต้องมีพาวเวอร์มาก เราถึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ได้

แปลว่าเรื่องค่าไฟแพงนั้นเกี่ยวข้องกับนายทุนด้านพลังงานโดยตรง

เกี่ยวข้องแน่นอน เพราะเขาได้ประโยชน์ จริงๆ ไม่ใช่แค่นายทุนบริษัทเดียว แต่ยังมีรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของรัฐก็ได้ประโยชน์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตั้งคำถามกับตัวละครด้านพลังงานทั้งหมด

ในส่วนภาคเอกชน แน่นอนว่าถ้าอนุญาตให้เขาทำกำไร เขาก็ทำ แต่สิ่งที่สำคัญคือองค์กรหรือหน่วยงานตรวจสอบอยู่ที่ไหน ทำไมปล่อยให้เขาทำอะไรได้แบบนี้ หรือในระดับของคนเขียนนโยบายก็ต้องถามรัฐว่า ทำไมเราถึงยังยึดติดกับนิยาม ‘ความมั่นคงของพลังงาน’ ในความหมายของฟอสซิลที่มันดูคับแคบ ตกยุค ทำไมเราไม่ประกาศตัวเลขเรื่องพลังงานหมุนเวียนที่สามารถไปได้ไกลกว่า 50% ได้แล้ว

ในขณะที่กระแสโลกเขาไปไกล ยกเลิกพลังงานถ่านหิน ทำไมเราถึงขอเวลาอีก 15 ปี ดังนั้นจึงเป็นคำถามสำคัญที่รัฐต้องตอบให้ได้ว่าใครจะได้ประโยชน์ต่อไปอีก 15 ปี

หลายฝ่ายเตือนให้ระมัดระวังอย่างมากในการพูดถึง ‘กลุ่มทุนพลังงาน’ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

ในแง่ธรรมเนียมปฏิบัติของกลุ่มทุนพลังงาน ก็เห็นชัดว่ามีความก้าวร้าวเป็นอย่างมาก สิ่งที่สะท้อนให้เห็นความก้าวร้าวของบริษัทคือ เหตุการณ์ที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา คุณ เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล เปิดประเด็นเรื่องกลุ่มทุนทางพลังงานในอีอีซี (EEC) ภาคตะวันออก โดนฟ้องดำเนินคดีหมิ่นประมาท เนื่องจากเขาถูกพาดพิง

ต่อมา รังสิมันต์ โรม อภิปรายเรื่องโทรคมนาคมว่าด้วยดาวเทียมไทยคมก็ถูกฟ้องหมิ่นประมาทเช่นกัน เรียกค่าเสียหายร้อยล้าน 

ถ้าดูในแง่การกระทำ พอเข้าใจได้ว่าเป็นบริษัทที่ดูจะไม่ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์เท่าไร แม้แต่การอภิปรายในสภาฯ

ถามว่าบริษัทมีสิทธิไหม ก็ต้องตอบว่าใช่ เป็นสิทธิของเขา แต่ในยุคแห่งความยั่งยืนเช่นนี้ บริษัทควรจะคำนึงถึงคำว่าความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนด้วย 

การเคารพสิทธิมนุษยชน คือหัวใจที่สำคัญของการทำงาน เคารพในการทำงานของ คนที่ลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องสิทธิชุมชน หรือว่าพูดอะไรเพื่อสิทธิประโยชน์ของสังคม (Human Rights Defenders) 

จริงๆ ในหลายบริษัทต้องให้คำมั่นเลยว่าจะไม่มีการฟ้อง การไล่ล่า คนที่ลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องสิทธิ ถึงแม้จะขัดแย้งหรือวิจารณ์การทำงานของบริษัทก็ตาม โดยเฉพาะการไปไล่ฟ้อง ส.ส. ที่อภิปรายในสภาฯ กำลังสะท้อนว่าบริษัทกำลังเดินคนละทางกับสิ่งบริษัทต้องมี คือความรับผิดชอบต่อสังคม 

นอกจากนี้เป็นสัญญาณกลายๆ ว่าเขาพร้อมจะปกป้องผลประโยชน์ตนเองมากกว่าสังคม รวมถึงไม่ชอบให้คนมาวิพากษ์วิจารย์ในที่สาธารณะ แนวความคิดแบบนี้เป็นเรื่องที่ตกยุค 

ค่านิยมวันนี้คือความโปร่งใส โดยเฉพาะคนเหล่านี้เขาไม่ได้วิพากย์วิจารณ์เรื่องส่วนตัวอะไรเลย แต่เขาวิจารณ์การทำงานและประโยชน์สาธารณะ หากตรงไหนที่คิดว่าพูดแล้วไม่ถูกต้อง ก็ควรจะเอาข้อมูลมาแย้ง

เราไม่เคยเห็นด้วยเลยกับการที่บริษัทไปฟ้อง เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและเป็นการไม่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

ทำไมเรื่องพลังงานจึงไม่มีหน่วยงานตรวจสอบ หรือช่องทางพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไข

ในความเป็นจริง เรามีองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่กำกับดูแล (Regulators) ด้านพลังงาน คือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แต่ถามว่ามีใครรู้จักบ้าง เราจะได้ยินแต่กระทรวงพลังงานซึ่งทำทุกสิ่ง แทบจะไม่เคยได้ยินหรือเห็นบทบาทของ กกพ. เลย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ว่าเขาไม่ทำอะไร แต่ดูเหมือนว่างานที่เขาพยายามผลักดันยังไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในทิศทางที่มุ่งไปสู่การเปิดเสรีพลังงาน มุ่งไปสู่การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน 

ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฯ 2022 ให้ความสำคัญกับ Net Zero เรากำลังเดินไปตรงกับเป้าหมายหรือไม่

กระทรวงพลังงานเปิดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan: PDP) ปี 2022 และยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงทางพลังงานอยู่ เพียงแต่มีการเพิ่มเติมเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) คือการจำกัดปริมาณปล่อย CO₂ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายพลังงานชาติและนโยบายของไทย คือความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)

อย่างไรก็ตาม หากไปดูเนื้อในพบว่าจะเป็นการพูดที่สวยหรู แต่ยังไม่ใช่การทำให้เกิดพลังงานหมุนเวียนอย่างแท้จริง

ล่าสุด รัฐมนตรีด้านพลังงานบอกว่า แผน PDP 2022 คือแผนที่จะตอบโจทย์ Net Zero เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50% ซึ่งหลายคนก็ตั้งคำถามและวิพากย์วิจารณ์ว่าปีนี้ 2022 แล้ว ทำไมถึงได้แค่ 50% ทั้งๆ ที่ควรจะเดินหน้าได้มากกว่า 80% 

ด้วยเหตุนี้ รัฐอาจตรึงพลังงานหมุนเวียนไว้แค่ครึ่งหนึ่ง แต่ที่เหลือก็ต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิลอยู่ดี สุดท้ายจึงกลับมาสู่คำถามสำคัญว่าจะสอดคล้องกับ Net Zero ได้อย่างไร 

ปัจจุบัน ทุกประเทศมุ่งหน้าบรรลุ Net Zero ปี 2050 ส่วนประเทศไทยขอต่อเวลามากกว่าประเทศอื่น 15 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ดูตลกร้าย

มาดูสัดส่วนของประเทศไทยที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับโลก เราปล่อยเพียง 1% กว่าๆ คือเราไม่ใช่ประเทศที่ปล่อยเยอะ หรือเป็นผู้ส่งออกหรือผู้ผลิตแหล่งผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่ของโลกแบบจีน อเมริกา ซึ่งจีนเขาขอเพิ่มแค่ 10 ปี แต่เราขอเพิ่มถึง 15 ปี 

สำหรับพลังงานไทยวันนี้ย่อมมีโจทย์ใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น จากเมื่อก่อนคิดถึงแค่ว่าไฟฟ้าคือเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน แต่ทุกวันนี้ยังต้องมองไปถึงเรื่องต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ต้นทุนทางสังคม มีเรื่องของประชาคมโลกอีกด้วย

เมื่อทุกคนหันมามองที่ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม สิ่งหนึ่งที่ตอบโจทย์คือพลังงานสะอาด มองมาที่พลังงานหมุนเวียน สิ่งที่น่าสนใจของพลังงานหมุนเวียนคือระบบพลังแสงอาทิตย์ ซึ่งสามารถติดที่หลังคาบ้านได้ จึงอยู่ในวิสัยที่ประชาชนคนธรรมดาสามารถจะผลิตเองได้ 

หมายความว่าเราก็เปลี่ยน เพราะสามารถเป็นผู้ผลิต (Producer) และผู้ซื้อ (Consumer) ดังนั้นถ้ารัฐจะรองรับหรือว่าสนับสนุนการทำแบบนี้ก็คิดระบบที่มีการสร้างแรงจูงใจขึ้นมาเป็นผลตอบแทน ซึ่งทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะใช้คำว่า ‘ประชาธิปไตยพลังงาน’

ประชาธิปไตยพลังงานคืออะไร

ประชาธิปไตยพลังงาน คือประชาชนไม่จำเป็นต้องพึ่งพารัฐในการผลิตไฟฟ้า เราต่างมีทางเลือกอื่นที่น่าสนใจ ในการที่จะผลิตพลังงานของตัวเอง หรือในระดับชุมชนก็เริ่มมีการทำโซลาร์ในระดับชุมชน รวมไปถึงพลังงานชีวมวล (Biofuels) ทั้งหลาย 

เพราะฉะนั้น คำว่าความมั่นคงทางพลังงานก็สามารถกระจายมาที่ระดับชุมชนหรือระดับประชาชนได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เราสามารถทำให้เป็นพลังงานที่ทำให้ตอบโจทย์ทุกส่วน ไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือเรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียว แต่อีกด้านหนึ่งก็สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะแทนที่การผลิตพลังงานจะกระจุกตัว กลายเป็นทำให้คนจำนวนมากมีบทบาท มีส่วนร่วม

แต่ก็ไม่ได้อยากเห็นว่าบริษัทที่ลงทุนพลังงานฟอสซิลอยู่ตอนนี้ จะเปลี่ยนไปเป็นคนทำฟาร์มโซลาร์ เปิดฟาร์ม แผงโซลาร์ฟาร์มละเป็นหมื่นๆ เราคงไม่อยากเห็นอย่างนั้น หรือแม้แต่บอกว่าต้องการพลังงานสะอาดก็ลงทุนทำเขื่อน

เขื่อนเป็นพลังงานสะอาดจริงหรือไม่

ถ้าเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำที่มีความสำคัญมาก เช่น แม่น้ำโขง ต้องตั้งข้อสังเกตก่อนเลยว่ามีความสุ่มเสี่ยงอยู่แล้วที่จะสร้างผลกระทบสูงทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าหากมองเฉพาะเรื่องการปล่อยก๊าซเรื่องกระจก พูดได้ว่าเป็นพลังงานที่สะอาด แต่ถามว่าเราพอใจแค่ไหนกับการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยแต่มีกลไกที่ส่งผลกระทบกับสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านอื่นๆ อีกมากที่ไม่ใช่ก๊าซเรือนกระจก

ดังนั้นการจะพูดว่าเป็นพลังงานสะอาด หรือโครงการอะไรก็ตามที่ประกาศอ้างว่าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดีเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป วันนี้เองการทำทุกธุรกิจอาจต้องอธิบายให้ชัดเจนกับการดูแล ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เท่ากับว่าคุณไม่สามารถอ้างว่าเป็นเขียวหรือ Green แต่ละเลยมิติด้านอื่นๆ เช่น มิติด้านสิทธิมนุษยชน เรื่องผลกระทบของสังคม 

แนวทางที่ตามมาจาก Net Zero คือคาร์บอนเครดิต สามารถใช้ได้จริงหรือไม่

เป็นแนวทางที่ใช้ได้จริง และถูกใช้จริงมาหลายประเทศ เพียงแต่ว่ายังมีปัญหาในทางปฏิบัติเยอะพอสมควร

เนื่องจากว่า Net Zero คือความพยายามในการลดปริมาณคาร์บอนให้เหลือ 0 ซึ่งอาจจะไม่ใช่การลดจริงๆ เพราะว่าคงเป็นไปได้ยากที่ลดให้เหลือ 0 แต่วิธีการคือมีกลไกที่ช่วยชดเชยในการลดคาร์บอนขึ้นมาแทนที่

จริงๆ อาจจะอธิบายได้ดังนี้ ในหลักการเวลาพูดคำว่า Carbon Neutral หรือ Net Zero ควรจะหมายความว่าจำเป็นต้องลดก่อน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้เยอะที่สุดเท่าที่ทำได้ เช่น เลิกผลิตพลังงานฟอสซิล ไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทน แล้วในส่วนที่ลดไม่ได้ก็ค่อยไปซื้อคาร์บอนเครดิต หรือหาวิธีชดเชยเอา

อาจจะต้องบอกว่าเป็นความยากในทางปฏิบัติของหน้าตาตลาดแบบนี้ จึงทำให้หลายคนที่ทำงานด้านนี้เกิดความกังวลตามมา เช่น บริษัทที่มีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณมาก เช่น ฟอสซิลจะไม่ค่อยสนใจลดคาร์บอนของตัวเอง ไม่ค่อยสนใจเรื่องลดการลงทุนเรื่องก๊าซ เพราะก็ถือว่าก็เอาเงินไปซื้อคาร์บอนเครดิตเพียงอย่างเดียว 

แย่กว่านั้นอีกก็คือว่ากลไกการตรวจสอบไม่เวิร์ก คือมีทั้งการ OverSell บ้าง หรือเอาพื้นที่ที่ไม่ใช่ป่าจริงๆ ไม่ใช่ป่า Net Zero จริงๆ ไม่ใช่ป่าใหม่มาอ้าง

เอ็นจีโอด้านป่าไม้หลายคนก็แสดงความกังวลว่า จะหาป่าใหม่จากที่ไหนเพื่อให้มาซื้อขายเครดิตได้ หรือคุณจะไปไล่ที่ชาวบ้านแล้วเปลี่ยนเป็นป่า จึงเกิดความกังวลว่าเราจะเดินหน้าสู่แบบนั้น เพื่อให้ชาวบ้านเดือดร้อนในขณะที่จะบรรลุ Net Zero หรือไม่

นี่คือสิ่งที่เขากลัว ซึ่งมันไม่ใช่แค่ทฤษฎี เพราะว่าปัญหานี้มันเกิดขึ้นจริงแล้วในตลาดคาร์บอนหลายประเทศ 

ตลาดคาร์บอนจะเป็นกลายเป็นการฟอกเขียว หากบริษัทไม่ได้ตั้งใจและจริงใจกับการลดปริมาณคาร์บอน แต่พยายามใช้เงินซื้อคาร์บอนเครดิตเพียงอย่างเดียว ที่แย่ไปกว่านั้นคือประเทศไทยไม่ได้มีตลาดที่สมบูรณ์ คือราคาคาร์บอนที่ใช้กันเป็นราคาอ้างอิงในตลาดคาร์บอนที่ต่ำเกินไป ซึ่งอยู่เพียงหลักร้อยบาทเท่านั้น ดังนั้นราคาที่น่าจะต้องไปถึงเพื่อจูงใจให้คนเปลี่ยนจริงๆ คือ 100 เหรียญต่อตัน ซึ่งต้องทำให้ราคาแพง 

เพราะฉะนั้นแนวโน้มความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการฟอกเขียวก็คือ 

หนึ่ง ราคาคาร์บอนต่ำเกินไป ไม่กระตุ้นแรงจูงใจในการลดปริมาณคาร์บอนที่แท้จริง

สอง ปัญหาของตลาดขาดการแข่งขัน หรือโครงสร้างที่ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก คือมีผู้ผลิตพลังงานน้อยราย ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก อย่างไรก็ต้องจ่ายค่าไฟ โดยที่ไม่สามารถโต้เถียงได้ ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่บริษัทจะมีอำนาจเหนือตลาดหรือผูกขาด ซึ่งบริษัทดังกล่าวก็จะยอมจ่ายเงินซื้อคาร์บอนเครดิตในราคาแพงๆ เพราะรู้ว่าสามารถส่งต้นทุนเครดิตคาร์บอนมาในบิลค่าไฟฟ้าได้โดยไม่มีคู่แข่ง

ในฐานะประชาชน เราควรจับตามองไปตรงไหน

หนึ่ง เรียกร้องการเปลี่ยนโครงสร้างพลังงาน ตั้งคำถามต่อองค์กรอิสระที่ปล่อยให้เรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้ เราต้องจับตามองเรื่องนี้ให้มากขึ้น อาจต้องดูไปถึงกรรมการขององค์กรอิสระดังกล่าว ว่าแต่ละคนเป็นใคร กระบวนการสรรหาเป็นอย่างไร หรือมีความเป็นอิสระขนาดไหนในการตัดสินใจแต่ละครั้ง ตั้งคำถามไปถึงองค์กรอิสระว่าทำอะไรอยู่ ทำไมถึงมีการผูกขาดขนาดนี้

สอง ต้องเกิดการปฏิรูประบบการวางแผนทางพลังงาน ในยุคนี้จะยังอ้างแค่พลังงานหมุนเวียน 50% ไม่ได้ 

ที่สำคัญคือประชาชนไม่ควรต้องมาแบกรับภาระค่าไฟแพงเหล่านี้ ยิ่งในยุคนี้เป็นยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) การไปสู่สังคมแบบนี้มันหมดสมัยแล้วกับการมองประชาชนเป็นเพียงผู้บริโภคหรือผู้ใช้เพียงอย่างเดียว ในหลายประเทศมีการทำให้เป็นรูปร่างแล้วให้ประชาชนกลายมาเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟ (Prosumer) การที่จะส่งเสริมให้ประชาชนเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟได้ เรื่องของแหล่งพลังงานก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เราไม่สามารถทำแบบนั้นได้เลยกับเชื้อเพลิงฟอสซิลเพราะเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาสูง แต่เราทำได้แน่นอนกับเชื้อเพลิงที่เป็นพลังงานหมุนเวียน 

เพราะฉะนั้น การที่จะไปสู่สังคมแบบนั้นจึงเป็นเรื่องเหมาะสมมากที่จะพูดกันถึงเรื่อง ‘ประชาธิปไตยพลังงาน’ การกระจายอำนาจ การมองความมั่นคงทางพลังงานในมุมใหม่ๆ เป็นเรื่องที่ปัจเจกชนอย่างพวกเราระดับบุคคลหรือชุมชนสามารถบริหารจัดการเองได้มากขึ้น เราไม่ได้อยากเห็นประเทศไทยมุ่งหน้าสู่พลังงานหมุนเวียนที่มีบริษัทใหญ่ๆ ไม่กี่แห่งทำฟาร์มเป็นเมกะโปรเจกต์แบบนั้น ซึ่งพลังงานหมุนเวียนควรได้รับการกระจายจากศูนย์กลางได้มากขึ้น เรื่องนี้ต้องผลักดันทั้งในส่วนโครงสร้างและการวางแผนพลังงาน และควรจะคุยกันถึงเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเข้าไปด้วย เช่น ท้องถิ่นเองก็ควรมีวิธีการกระจายพลังงานในชุมชน

ดังนั้นอาจปฏิเสธไม่ได้ว่าหากจะพัฒนาสู่เส้นทางสีเขียว กลุ่มทุนทางพลังงานก็มีส่วนสำคัญ

ด้วยประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เราพึ่งพิงพลังงานฟอสซิลเป็นอย่างมาก ซึ่งพลังงานชนิดนี้เป็นพลังงานที่ใช้ต้นทุนสูงมากในการจัดการ ดังนั้นจึงเอื้อต่อกลุ่มทุนใหญ่ที่จะเข้ามามากกว่าการแข่งขันของบริษัทเล็กๆ หรือ SME จะลงทุน 

ในทุกประเทศ บริษัทใหญ่ๆ ที่ลงทุนพลังงานฟอสซิลจึงเป็นเสมือนฟันเฟืองที่สำคัญในการรับมือหรือกระตุ้นให้เปลี่ยนผ่านไปสู่โลกของพลังงานหมุนเวียนได้ ที่ผ่านมาก็ทำได้หลายวิธีไม่ว่าจะเป็นรัฐอาจจะสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มทุนลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีมาตรการเชิงบังคับด้วยเพื่อให้ภาคเอกชนต้องปรับตัว ซึ่งแน่นอน ความยากลำบากคือในระยะเปลี่ยนผ่านบริษัทเชื้อเพลิงอย่างฟอสซิล ถ้าคุณไม่สนับสนุนความก้าวหน้า ความเปลี่ยนแปลงของโลก และของสังคมไปสู่ยุคของคาร์บอนต่ำ ก็จะเกิดสัญญาณบางอย่างที่ชัดเจนว่าคุณเป็นตัวการที่ขวางความเปลี่ยนแปลง

เท่ากับว่าเป็นยุคที่บริษัทฟอสซิลทำตัวได้ชัดมากเลยว่าคุณอยู่ฝั่งเดียวกับการเปลี่ยนแปลง และคุณเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง หรือคุณจะเป็นฝั่งนายทุนที่ไร้วิสัยทัศน์และอยากจะกอบโกยผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมที่ตกยุคและสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมไปเรื่อยๆ 

นอกจากนี้ การจับตามองและเนื่องจากโลกเปลี่ยนผ่านสู่สังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว เกิดการแชร์ข่าวสารที่รวดเร็วและการแลกเปลี่ยนคำถามข้อมูลทำได้ ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนทำได้เลยคือการจับตามองและตั้งคำถามถึงพฤติกรรมต่างๆ ถึงโครงการต่างๆ ของหลากหลายบริษัทด้านพลังงาน

ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้บริษัทมีความอดทนอดกลั้น ยอมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และเพิ่มความโปร่งใส เนื่องจากจุดเริ่มต้นของการเดินบนเส้นทางความมั่นคงพลังงานคือความโปร่งใส ถ้าบริษัทไม่เปิดข้อมูลออกมาก็ยากที่ใครจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แน่นอนบริษัทเองก็ไม่อยากให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลผิดๆ ที่ทำให้ประชาชนเสียหาย 

ดังนั้นบริษัทอาจต้องเปิดกว้างมากกว่าเดิม ข้อมูลอะไรที่ครั้งหนึ่งอาจคิดว่ามันสุ่มเสี่ยงหรือเป็นเรื่องความลับทางการค้าอาจต้องเปิดเผยมากขึ้นแล้ว เช่น ทุกวันนี้คุยกันเรื่องธุรกิจกับเอกชน บริษัทอาจต้องมีบทบาทมากขึ้น แปลว่าบริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้ค้า หรือห่วงโซ่อุปทานของตัวเองออกมา เพื่อสร้างการยอมรับและการไว้วางใจจากประชาชนว่า บริษัทยินดีจะให้มีคนมาช่วยสอดส่องเผื่อเจอปัญหาที่เกิดขึ้น บริษัทอาจคิดแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว คิดว่า Mindset ความโปร่งใส เป็นจุดตั้งต้นที่ดีและเรื่องการรับผิดชอบอื่นๆ ก็จะตามมาเอง

Fact Box

  • สฤณี อาชวานันทกุล ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ และกำลังดำเนินการวิจัยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ‘การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม’ จึงทำให้เธอกลับมาย้อนดูภาพรวมเรื่องของพลังงานทั้งหมด ทั้งปัญหาและทางออก และประเด็นความยั่งยืนในพลังงาน
  • สฤณียังเป็นนักเขียน นักแปล และนักวิชาการอิสระด้านการเงินและธุรกิจที่ยั่งยืน ปัจจุบันทำงานแปลในฐานะหุ้นส่วนของสำนักพิมพ์ ซอลท์ พับลิชชิ่ง นอกจากนี้ เธอยังเป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ‘Fringer on Board Games’ และ ‘โลกในนิทรรศการ’ 
  • ที่สำคัญ สฤณีเป็นคอลัมนิสต์ให้กับ The Momentum มาอย่างยาวนาน โดยใช้ชื่อคอลัมน์ว่า ‘CITIZEN 2.0’ ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง เศรษฐกิจ และการเมือง

 

 

 

Tags: , , , ,