8 ปีที่แล้ว คนกรุงเทพฯ รู้จัก สกลธี ภัททิยกุล ในฐานะ ‘4 ทหารเสือ’ แกนนำ กปปส. ผู้นำฯ ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง โดยมีภารกิจสำคัญคือ Shutdown กรุงเทพฯ เพื่อไล่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยได้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี 

4 ปีที่แล้ว หลังภารกิจของพลเอกประยุทธ์เทอมแรกจบลง สกลธี ได้รับแต่งตั้งจาก พลเอกประยุทธ์ ให้เป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ‘พรรคพลังประชารัฐ’ อีกไม่นานหลังจากนั้น โดยมีอีก 2 ทหารเสือ กปปส. ที่เหลือ อย่าง ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ร่วมกันแตะมือเป็นผู้ก่อตั้งพรรคด้วยกัน

วันนี้ สกลธีประกาศลาออกจากตำแหน่งรองผู้ว่าฯ เพื่อเป็นตัวเลือกชิงชัยลงสนาม ผู้ว่าฯ กทม. ในรูปแบบ ‘อิสระ’ และเป็นหนึ่งในผู้ที่ ‘ได้เปรียบ’ กว่าคนอื่นๆ เพราะผ่านการลงสนามจริง และเข้าใจกระบวนการทำงานของตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ จากการทำงานเคียงข้างใกล้ชิดกับ พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนปัจจุบัน

“แต่การเป็นรองผู้ว่าฯ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น ‘รอง’ คือหน้าที่จะมีแค่งานที่ผู้ว่าฯ มอบหมาย กับงานในสำนักที่เรากำกับ อะไรที่เกินหน้าที่เราทำไม่ได้ หรือทำได้เต็มที่ก็คือประสานงาน ซึ่งตอนที่ผมดำรงตำแหน่งอยู่ มีอะไรที่อยากทำเยอะมาก

“หากได้เป็นผู้ว่าฯ งบประมาณทั้งหมด ผู้ว่าฯ จะเป็นคนวางแผน ซึ่งถ้าเราได้ดำรงตำแหน่ง ก็คงได้ทำอะไรหลายๆ อย่างที่อยากจะทำ แต่ไม่มีโอกาสตอนนั้น”

ด้วยความเชื่อว่า ‘กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้’ สกลธีตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรองผู้ว่าฯ และลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ในฐานะตัวแทนอิสระ โดยชูนโยบายหลักถึงกระบวนการทำงานและเทคโนโลยีที่จะช่วยสนับสนุนปรับปรุงส่วนต่างๆ ของกรุงเทพฯ ที่ ‘ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น’ รวมทั้งการจัดหารายได้เข้าคลังโดยตรง

Close-Up สนทนากับ สกลธี ภัททิยกุล ถึงแนวทางในการสู้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ครั้งนี้ ว่าเขามีอะไรเป็น ‘ไม้เด็ด’ ในการมัดใจคนกรุงเทพฯ และในฐานะ ‘อดีต กปปส.’ จะส่งผลบวกหรือลบต่อคะแนนเสียงของเขา รวมถึงความสัมพันธ์กับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐ และข้อสงสัยจากประชาชนที่ว่า หากขณะที่เขาดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ ดูเหมือนอะไรๆ ก็ยังไม่ดีขึ้น แล้วทำไมครั้งนี้ เขาจึงสมควรเป็น ‘ตัวเลือก’ ในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

บนเส้นทางการเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมา จุดไหนที่คุณรู้สึกว่าเริ่มอยากทำงานในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ

ผมคิดว่าคนเป็น ส.ส. กรุงเทพฯ กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ อยากเข้ามาบริหารกรุงเทพ อยู่แล้ว แต่ไม่มีโอกาส เพราะด้วยงานที่ต้องฟังปัญหาและคอยตามแก้ปัญหาต่างๆ การได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ มันตอบโจทย์ในเชิงบริหารกว่า ซึ่งพอเราได้มาเป็นรองผู้ว่าฯ ก็ยิ่งมั่นใจว่างานแบบนี้มันถูกจริตเรา เลยคิดมาตลอดว่าสักวันหนึ่งจะลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ดูบ้าง

ตอนที่เป็นรองผู้ว่าฯ แล้ว ผมก็ยังไปเจอคน ไปฟังปัญหาอยู่นะ อย่างที่ทุกคนได้เห็นอยู่ตลอดในแฟนเพจหรือเฟซบุ๊กของผม แล้วทุกครั้งที่ไปเห็นปัญหาก็รู้สึกตลอดว่า กรุงเทพ มันดีกว่านี้ได้

 

จากสโลแกน ‘กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้’ ที่ใช้ในการลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ในมุมมองของคุณ อะไรในกรุงเทพฯ ที่ดีอยู่แล้ว และจะดีกว่าเดิมได้อย่างไรบ้าง

สโลแกนที่ใช้ในครั้งนี้เริ่มจากที่ผมคุยกับทีมงานก่อนว่าจะใช้คำว่าอะไรดี ที่ไม่ดูแก่นักแล้วก็จำง่าย เลยคิดว่ากันว่า เอาอักษรย่อ กทม. มารวมกับคำว่า More ภาษาอังกฤษ ให้กลายเป็น ‘กทมMore’ หรือ กรุงเทพ ดีกว่านี้ได้ก็เป็นสโลแกนที่เก๋ดี

ส่วนความหมายจริงๆ ที่ผมจะสื่อคือ เราเคารพการทำงานของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ นะ ที่ผ่านมาเขาทำงานกันดีอยู่แล้ว เจ๋งอยู่แล้ว เพียงแต่คำว่าเจ๋งในตอนนั้น มันอาจจะไม่เหมาะกับตอนนี้แล้ว ซึ่งผมมองว่าเราสามารถทำให้เจ๋งขึ้นได้อีก หากมีการใช้เทคโนโลยี หรือการบริหารจัดการเข้ามาช่วยเหลือ

ในมุมมองของผม การจัดการและใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องมันใช้ได้แทบกับทุกงานในกรุงเทพฯ เลย ยกตัวอย่างในสมัยที่ผมเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ แล้วต้องแก้ปัญหาเรื่องจักรยานยนต์บนทางเท้า คือเรามีการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ปี 2535 มีการปรับเงินมาโดยตลอด ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำการปรับไปทั้งสิ้น 46 ล้านบาท มันแสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันเรามีกฎหมายบังคับใช้ที่ดีอยู่แล้ว

แต่คุณลองคิดดูสิ ถ้าเราสามารถเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ เช่นนำกล้อง CCTV มาติดตั้ง นำระบบ AI มาตรวจสอบทะเบียนรถจักรยานยนต์ แล้วหากใครทำผิดก็ส่งบิลค่าปรับถึงหน้าบ้านเลย แบบนี้จะลดภาระของเจ้าพนักงานที่ต้องมาเฝ้าตามถนน แบบนี้ดีกว่าไหม

 

สรุปว่าคุณมีนโยบายอะไรบ้างในการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่จะทำให้กรุงเทพฯ ดีกว่าเดิม

นโยบายที่ผมจะเสนอในครั้งนี้จะแบ่งย่อยออกเป็น 6 ด้าน เป็นนโยบายที่สามารถทำได้จริง ที่ผมมั่นใจแบบนี้ เพราะเราเคยเป็นรองผู้ว่าฯ มาก่อน ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาเรารู้ว่าปัญหาคืออะไร เพียงแต่ตอนนั้นยังไม่มีโอกาสได้ทำ เพราะสิ่งที่รองผู้ว่าฯ ทำได้คือ งานที่ผู้ว่าฯ มอบหมาย กับงานที่อยู่ในขอบเขตรับผิดชอบเท่านั้น ดังนั้นงานไหนที่ตอนนั้นเรายังไม่มีอำนาจ ก็เก็บเอาไว้ในใจ เอามาพิจารณา เอามาเปลี่ยนเป็นนโยบายในการเลือกตั้งครั้งนี้

ยกตัวอย่าง 3-4 เรื่อง อย่างแรกคือ ปัญหาสาธารณสุข ปัจจุบันกรุงเทพ มีโรงพยาบาลของตัวเอง 11 แห่ง ศูนย์สาธารณสุข 69 ศูนย์ ซึ่งถ้าผมได้เข้าไปบริหารจัดการ ผมมองว่าการเปลี่ยนโรงพยาบาลบางแห่งให้กลายเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง ให้เหมือนกับโรงพบาบาลบางขุนเทียนที่เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางเพื่อผู้สูงอายุ จะทำให้คนได้ใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น เป็นไปได้ไหมที่เราจะเปลี่ยนโรงพยาบาลตากสิน ให้กลายเป็นศูนย์เฉพาะทางเรื่องหัวใจ เป็นต้น

ส่วนศูนย์สาธารณสุขในปัจจุบัน เรามีถึง 69 ศูนย์ แต่ในความเป็นจริงประสิทธิภาพกลับไม่ดีเท่าที่ควร คือเป็นห้องเฉยๆ มีอาสาสมัครและอุปกรณ์ยานิดหน่อย ทั้งที่ในความเป็นจริงมันสามารถดีกว่านี้ได้ เช่นเราอาจทำเป็น Telemedicine ให้ต่อสายตรงกับคุณหมอที่อยู่โรงพยาบาล หรือจัดตั้งอาสาสมัครให้ตรวจอาการป่วยเบื้องต้นก่อน ถ้าไม่รุนแรงก็ให้บริการจัดส่งยาถึงบ้านผู้ป่วย แต่ถ้ามีอาการหนักก็เรียกรถโรงพยาบาลมารับตัวไป แบบนี้มันก็จะประหยัดเวลาของคนที่ต้องมานั่งต่อคิวที่โรงพยาบาล โดยการสร้างศูนย์สาธารณสุขให้เป็น Smart Clinic แทน

ด้านขนส่งและคมนาคม เราพูดถึงเรื่องเชื่อมต่อล้อ-ราง-เรือกันมาตลอด รวมไปถึงการแก้ปัญหารถติด โดยโจทย์ใหญ่ของเราตอนนี้คือทำอย่างไรให้คนมีทางเลือกมากขึ้นในการใช้รถขนส่งสาธารณะ และแก้ปัญหาเรื่องไฟจราจรที่ทำให้การเดินรถเกิดสภาพคล่องมากขึ้น

เรื่องการใช้รถขนส่งสาธารณะ เราต้องยอมรับกันได้แล้วว่าทุกวันนี้ถึงมีรถไฟฟ้า คนก็ไม่ใช้อยู่ดี เพราะจากบ้านไปสถานีรถไฟฟ้ามันไกล มันลำบากสำหรับเขา หลายคนจึงตัดสินใจใช้รถส่วนตัวแทนดีกว่า  

จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องทำระบบขนส่งให้ล้อ-ราง-เรือเชื่อมกันหมด เหมือนที่เรากำลังพยายามทำอยู่ เช่น รถไฟฟ้าที่ให้แต่ละสายสามารถเชื่อมต่อกัน หรือการทำรถ Feeder คือเอารถ EV ขนาดใหญ่มารับคนในแต่ละพื้นที่ เช่นบ้านอยู่รามอินทรา คนอยู่กันเป็นแสน กินพื้นที่ 5-6 เขต แต่กลับมีรถประจำทางอยู่สายเดียว ซึ่งมันไม่ตอบโจทย์พวกเขา ดังนั้นถ้าเราจัดรถมารับเกี่ยวคนตามป้ายสาธารณะ แล้วมาหย่อนไว้สถานนีรถไฟฟ้าสักที่ แบบนี้จะทำให้การใช้รถสาธารณะสะดวกมากยิ่งขึ้นสำหรับพวกเขา

หรือเรื่องการควบคุมไฟจราจรโดยใช้ AI ผมก็มองว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจ สมัยผมเป็นรองผู้ว่าฯ เราเริ่มเอาระบบ ATC (Actual Traffic Control) มาใช้ คือเอา AI มาควบคุมการปล่อยรถ และจะมีการเก็บข้อมูลทิ้งไว้สัก 6 เดือน จำแนกให้เห็นภาพเลยว่าวันจันทร์ถึงศุกร์เวลานี้ปริมาณรถเป็นอย่างไร จุดไหนรถจะติด เวลาไหนรถจะโล่ง ก็ป้อนเข้ามูลเข้าระบบ ให้มันเชื่อมกันในทุกแยก ทำให้ต่อไปเวลาปล่อยรถแต่ละแยกก็จะสัมพันธ์กันไปทั้งเมือง

เรื่องการศึกษา คือกรุงเทพฯ มีโรงเรียน 437 แห่ง แต่เอาเข้าจริงโรงเรียนที่ผู้ปกครองแย่งกันส่งลูกหลานเข้าไปเรียน มีอยู่แค่หลักสิบเท่านั้นเอง ดังนั้นจึงต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้โรงเรียนอื่นเป็นที่ที่ผู้ปกครองอยากส่งลูกเข้าเรียนเหมือนกัน ผมอยากทำให้เหมือนกับประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเขาเป็นเบอร์หนึ่งของการศึกษาโลก คือทำให้โรงเรียนที่ใกล้บ้านของทุกคนมีมาตรฐานใกล้เคียงกัน ไม่ใช่เหมือนทุกวันนี้ที่บ้านผมอยู่ย่านเกษตร แต่ต้องเอาลูกมาเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แต่จะทำอย่างไรให้ผมอยากส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนใกล้ๆ บ้านได้ คือมันต้องทำให้มันมีความเหลื่อมล้ำน้อย มีคุณภาพคล้ายคลึงกัน

เรื่องสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ เรามีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ 38 สวน แต่ก็ยังไม่ครบทุกเขต ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ สมมติถ้าเราอยากจะไปวิ่งออกกำลังกาย ทำไมต้องขับรถมาวิ่งสวนลุมพินี ทำไมเราไม่ทำสวนที่ดีในทุกเขต อาจไม่ต้องใหญ่ขนาด 400-500 ไร่ก็ได้ ผมได้ไอเดียมาจากประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ที่ในหมู่บ้านเขาจะมีสวนไม่ใหญ่มากแค่ 100 กว่าตารางวา แต่เป็นพื้นที่สีเขียวให้คนมาใช้งาน มันก็โอเค มันก็วิ่งได้ ซึ่งในกรุงเทพฯ ก็ทำได้เช่นกัน เพราะเรามีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าเยอะมาก

ผมเคยทำเป็นโมเดลอยู่ที่หนึ่งตรงลาดพร้าว คือเป็นพื้นที่ 13 ไร่ รกร้างเลย ชาวบ้านบุกรุกกันมา 30 หลังคาเรือน ราก็เข้าไปคุยเจรจาให้เขาไปอยู่บ้านมั่นคง จากนั้นก็เริ่มปรับปรุงพื้นที่ เอาต้นไม้มาปลูก ก็กลายเป็นสวน 13 ไร่ คนแถวนั้นก็ได้ใช้งานแล้ว ซึ่งมันทำได้ง่ายมาก เขตอื่นๆ ก็สามารถทำได้ 

 ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเฉพาะราคาโดยสารตลอดสาย 65 บาท คุณมองเรื่องนี้อย่างไร และคิดว่าราคานี้เหมาะสมหรือไม่กับค่าครองชีพของคนกรุงเทพ ในปัจจุบัน

ต้องออกตัวก่อนว่าการที่เขาทำสัญญาอะไรกัน ผมไม่ได้ข้องเกี่ยว แต่หากเอาตามความเห็นของผม ผมคิดว่าเราต้องมองสองฝั่ง คือทั้งฝั่งประชาชนและผู้ประกอบการ ที่ต่างมีทั้งส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ประกอบการมีเงินที่ต้องลงทุนไปก็หวังกำไรกลับมา ประชาชนก็หวังจะได้การดูแลที่ดีจากฝ่ายกรุงเทพฯ เช่นกัน ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องค่อยๆ หาทางแก้กันไป อาจจะดูเรื่องการบริหารงบประมาณของกรุงเทพฯ ว่าสามารถปันส่วนมาแก้ไขเรื่องของราคานี้ได้หรือไม่

ถ้าถามว่าลดค่าโดยสารให้ประชาชนได้ไหม 65 บาท จากปทุมธานี-กรุงเทพสมุทรปราการ ข้าม 3 จังหวัด ระยะทาง 50 กว่ากิโลเมตร แพงหรือ… สำหรับผมก็สมเหตุสมผลระดับหนึ่งนะ แต่ถ้าให้ลดลงกว่านี้ก็เป็นผลดีกับประชาชน ก็ต้องไปดูว่ามีช่องทางพอทีจะทำได้ไหม

 

 งบประมาณกรุงเทพ กว่า 8 หมื่นล้านบาท คุณมองว่าใช้จ่ายได้อย่างคุ้มค่าไหมในช่วงที่ผ่านมา

บางคนอาจมองว่าเยอะ แต่หลายคนไม่ทราบว่าครึ่งหนึ่งคือเงินเดือนนะ อีกส่วนหนึ่งคืองบฯ ผูกพันที่ต้องใช้หนี้ของเดิม ดังนั้นลงทุนจริงจึงมีไม่เท่าไรเอง ยิ่ง สองปีหลัง งบฯ โดนตัดกันหมดทุกหน่วย กรุงเทพ เหลือเงินลงทุนปีละสองพันล้านบาท ซึ่งน้อยมากๆ

ดังนั้นต่อจากนี้ไปคนเป็นผู้ว่า นอกจากมีนโยบายที่ดีแล้ว ต้องรู้วิธีในการใช้เงินให้ถูก และบริหารเงินให้เป็นด้วย สำหรับผมหากได้เป็นผู้ว่าฯ จะใช้งบประมาณปีแรกเน้นเรื่องระบบก่อน เพราะระบบมันจับได้กับงานของทุกสำนัก พอระบบเสร็จ เราก็ค่อยไปดูเรื่องนโยบายแต่ละเรื่องที่อยากจะทำ

 

หลายคนมองว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองของส่วยและผลประโยชน์ คิดเห็นอย่างไรบ้าง

ก็จริงนะ ผมมองว่าปัจจุบันเรื่องระบบการขออนุญาตต่างๆ ก็เอื้อให้เกิดส่วยอยู่แล้ว จึงจำเป้นที่เราจะต้องเอาระบบเข้ามาแก้ไข นำเทคโลยีมาใช้ เช่นเรื่องการยื่นเอกสารที่ดิน หลักฐานขึ้นโชว์บนแอพพลิเคชันครบ คุณต้องอนุมัติทันที ไม่ใช่มาเล่นแง่ติดปัญหาตรงนั้น ตรงนี้ไปเสียหมด หรืออย่างเทศกิจเองที่คนบอกเป็นพื้นที่ของส่วน เป็นไปได้ไหมถ้าติดกล้องวงจรปิด แล้วเอามาย้อนดูว่ามีการปรับเกินจริงหรือละเว้นการปรับไหม คือต้องทำให้เมืองมันโปร่งใสมากยิ่งขึ้น

 

มองว่าเรื่องไหนแก้ไขยากที่สุด ในบรรดาปัญหาทั้งหมดของกรุงเทพ

ยากที่สุดคือความพึงพอใจของคน คือต่อให้ทำดีที่สุดแค่ไหน ทุกอย่างมันติได้หมด อยู่ที่ว่ามุมมองคนจะเป็นอย่างไร คนที่มองโลกในแง่ดี ทุกวันนี้อาจจะบอกว่ากรุงเทพฯ ดีเหลือเกิน แต่ถ้าคนมองในแง่ลบ ทำให้ตายอย่างไร ก็จะติจุดเล็กๆ อยู่ได้ เช่น ถนนทางเท้า 200 กิโลเมตร ดีมาก แต่มีจุดหนึ่งมีปัญหา ก็ไปถ่ายรูป ไปดูตรงนั้นแล้วก็เอาแต่บอกว่าห่วยว่ะ ทั้งที่ความเป็นจริงไม่มีทางอยู่แล้วที่จะทำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ขอให้ได้ทำให้มันดีที่สุดก่อน แล้วถ้าคนเห็นว่าเราตั้งใจจริง ตรงนั้นมันน่าจะโอเค และตอบโจทย์มากกว่า

 

หลังจากคุณตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพ ครั้งนี้ หลายคนถามว่าทำไมต้องเลือกคุณ ในเมื่อตอนคุณดำรงตำแหน่งรองผู้ว่า ปัญหาต่างๆ ก็ไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร

การเป็นรองผู้ว่าฯ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น รองคือหน้าที่จะมีแค่งานที่ผู้ว่า มอบหมาย กับงานในสำนักที่เรากำกับ อะไรที่เกินหน้าที่ เราทำไม่ได้ หรือทำได้เต็มที่ก็คือประสานงาน ซึ่งตอนที่ผมดำรงตำแหน่งอยู่ มีอะไรที่อยากทำเยอะมาก เช่นเรื่องการติด CCTV จับรถจักรยานยนต์บนทางเท้า ผมของบประมาณตั้งแต่ปีที่ 2 ที่เป็นรองผู้ว่า แต่ก็ขอไม่ผ่าน

กลับกันหากได้เป็นผู้ว่า ในการทำงานที่ผ่านมา จะเห็นเลยว่าข้าราชการ เขาทำงานกับตำแหน่งใหญ่ ตำแหน่งอันดับ 1 อยู่ตลอด ดังนั้นถ้าเราได้ดำรงตำแหน่ง ก็คงได้ทำอะไรหลายๆ อย่างที่อยากจะทำ แต่ไม่มีโอกาสตอนนั้นยกตัวอย่างถ้าผมเป็นผู้ว่าฯ แล้วอยากทำถนนสักเส้นหนึ่ง คือถ้ามีอุปกรณ์ครบ สั่งการไป ผมทำได้เลย พรุ่งนี้สามารถเสร็จได้เลย มันถึงขนาดนี้เลยนะ

เทียบกับผู้สมัครท่านอื่น คิดว่าคุณมีข้อได้เปรียบไหมจากการเป็นรองผู้ว่า ได้ลงสนามมาบ้างแล้ว และได้เห็นปัญหามาก่อน

ได้เปรียบแน่นอน ถ้าไม่นับท่านผู้ว่า อัศวิน ขวัญเมือง เพราะถ้าวันนี้เลือกตั้งและผมได้รับเลือก พรุ่งนี้ทำงานเลย แก้ปัญหาได้เลย เพราะผมรู้ว่าต้องทำอะไร และรู้จักข้าราชการหมดอยู่แล้ว

แต่คนที่ไม่เคย คงต้องใช้เวลาปรับตัวตรงนี้ประมาณ 2-3 เดือน แต่ผมอยู่มา 4 ปีแล้ว อะไรที่เป็นปัญหาเราก็เก็บไว้หมด ก็คงเอามาทยอยทำ และไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะสิ่งที่เราเสนอเรามั่นใจว่าทำได้จริง

 

ในถ้อยแถลงของคุณ คุณบอกว่าในการทำงานทุกวัน คุณมีความสุขมาก แต่มองกลับกัน ทุกวันนี้ประชาชนในกรุงเทพฯ มีปัญหาและความทุกข์ไม่น้อยเลยนะ 

ที่ผมพูดแบบนั้น เพราะมันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงๆ ระหว่างการทำงาน คือการลงพื้นที่ ลงไปเจอผู้คนมันสนุก คือคนที่ไม่เคยเป็นจะไม่เข้าใจ เพราะสำหรับผมมันแฮปปี้จริงๆ แฮปปี้ที่เราสามารถแก้ไขปัญหาให้พวกเขาได้ ยกตัวอย่างมีหมู่บ้านหนึ่งร้องเรียนมา เดือดร้อนเรื่องถนนยาว รถวิ่งกันเร็ว ผมเลยบอกว่าสำนักจราจรไปจัดการหน่อย พอปัญหาได้รับการแก้ไข ผมก็มีความสุข เป็นอารมณ์ประมาณนี้มากกว่า

แน่นอนว่ามันยังมีปัญหาเหลืออยู่และอาจทำไม่ได้ทั้งหมด คือต้องเข้าใจก่อนว่ากรุงเทพ มันเหมือนเมืองใหญ่ทั่วไป นิวยอร์กดีไหม ดี แล้วมันมีแหล่งเสื่อมไหม ก็มี ดังนั้นปัญหาจุกจิกมันมีอยู่ในทุกเมืองอยู่แล้ว เราจึงอย่าไปซีเรียสขนาดนั้น เราก็แก้ของเราไปเรื่อยแบบนี้ก็พอ

 

ทำไมคุณจึงตัดสินใจสมัครลงสมัครผู้ว่า ในนามผู้สมัครอิสระ

ด้วยความที่เราอยู่มาหลายพรรคการเมือง เคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์ เคยอยู่พรรคพลังประชารัฐ แล้วเพื่อนก็มีอยู่หลายพรรค พรรคเพื่อไทยก็มี พรรคภูมิใจไทยก็มี พรรคกล้าก็เพื่อนกัน ผมเลยมองว่า ถ้าไปสังกัดพรรคใดพรรคหนึ่ง บางทีความช่วยเหลือจากคนอื่นที่อยู่อีกจุดหนึ่ง เขาอาจไม่สบายใจที่จะมาช่วย

สมมติผมลงในนามประชาธิปัตย์ หรือพลังประชารัฐ คนที่อยู่อีกฝ่ายเขาก็ไม่อยากช่วย มันลำบากใจ แต่ถ้าสังกัดอิสระ มันเหมือนกับการเอาคนหลายจุดที่เห็นตรงกันว่าอยากแก้กรุงเทพ มาช่วยกัน มันคล่องตัวกว่า

อีกอย่างคือผมไม่อยากอยู่ในจุดที่ว่าพอลงในนามพรรค แล้วต้องเอาคนของพรรคสองคนไปเป็นรองผู้ว่า ต้องเอาคนนี้ไปอยู่ในทีม ซึ่งผมไม่อยากทำแบบนั้น ผมอยากเลือกคนที่เหมาะกับงานในส่วนนั้นมาดำรงตำแหน่งมากกว่า

 

กังวลเรื่องฐานเสียงหรือแรงหนุนจากแต่ละพรรคการเมืองของผู้สมัครท่านอื่นที่สมัครในนามพรรคบ้างไหม

เอาเข้าจริงจากประสบการณ์ที่อยู่ในวงการการเมืองกรุงเทพ มาตั้งแต่ 2549-2550 เป็นเวลา 15-16 ปีที่ผ่านมา มันใช้กระแสเป็นหลัก โอเค – การจัดตั้งมีส่วน แต่การจัดตั้งถ้าเทียบกับกระแสของกรุงเทพ ที่ตั้งใจออกมาเลือกตั้ง มันห่างกันเยอะมาก ดังนั้นหน้าที่ของผู้สมัครผู้ว่า คือทำตัวให้ดีที่สุด เสนอนโยบายให้ดีที่สุด ถึงเวลาคนเขาเลือกโดยไม่ต้องใช้แรงสนับสนุนจากการจัดตั้งของพรรคหรือสังกัด

อย่างเช่นการเลือกตั้งปี ’62 ใครจะคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้ศูนย์ คนที่เป็น ส.ส. ประชาธิปัตย์หลายคนก็เป็นบ้านใหญ่เป็นกรุงเทพฯ ทั้งนั้น แต่เอาเข้าจริงเวลาคนเขาตั้งใจว่าจะเลือกอะไร การจัดตั้งแทบไม่มีผลอะไรเลย คนกรุงเทพ ไม่มีใครเป็นเจ้าของคะแนน หรือแม้กระทั่งนโยบายที่เราคุยกัน ผมไม่รู้นะว่าคนอื่นเป็นอย่างไร แต่ถ้าถามผมที่เป็นคนกรุงเทพ คนหนึ่ง ในการเลือกตั้งนี่ผมแทบจะไม่ดูสังกัดเลย ผมดูแค่ว่าคนนี้ผมชอบ เชื่อว่าเขาทำได้

ดังนั้น นโยบายเป็นส่วนประกอบ แต่มันอยู่ที่ว่าความต้องการของเรา ณ ตอนนั้นถูกจริตและสร้างความเชื่อมั่นให้กับใครเท่านั้นเอง

 

พูดถึงความเชื่อมั่นในตัวบุคคล หากย้อนกลับไปในอดีตที่คุณเคยร่วมเวที กปปส. แน่นอนว่าย่อมส่งผลให้ประชาชนอีกขั้วการเมืองหนึ่งตั้งแง่กับการลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพ ของคุณแน่นอน คุณคิดอย่างไรบ้าง

การเข้าร่วมกับกลุ่ม กปปส. ก็เป็นอุดมการณ์ของผมในช่วงนั้น คือมันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย คนที่เขาคิดเห็นเหมือนกันเขาก็จะชอบเรา แต่คนที่คิดไม่เหมือนก็อาจมองผมในแง่ลบ แต่ของแบบนี้อย่างไรมันก็ห้ามกันไม่ได้หรอก ต้องมีคนเห็นต่างกันอยู่แล้วในสังคมมนุษย์

แต่ผมอยากให้มองแบบนี้ดีกว่า อยากให้มองว่า การตัดสินคนนั้น เราไม่ควรตัดสินเขาทั้งหมดเพียงเพราะอุดมการณ์บางอย่าง อย่างเช่นผมเจอคุณ แล้วผมทราบว่าคุณไปม็อบอีกอันที่ผมไม่ชอบ หากจะเกลียดเลยทันที แบบนี้ผมว่าไม่แฟร์ คือเรายังไม่ดูว่าตัวตนอื่นๆ ของเขาเป็นอย่างไร อย่างผมเองถ้าเป็นรองผู้ว่า 4 ปีแล้วไม่ทำอะไรเลย รับเงินเดือนแล้วนิ่งไป แบบนี้จะเกลียดไม่ชอบพอเข้าใจได้ เพราะเราไม่มีผลงานอะไรให้เขาเห็น แต่วันนี้ที่เรามีผลงานก็อยากให้เขาดูและพิจารณาส่วนนี้ประกอบบ้าง

การเลือกผู้ว่ากรุงเทพฯ มันไม่ใช่เลือกตัวแทนสีเสื้อ มันคือการเลือกคนที่มาทำงานแทนคุณในกรุงเทพ ถ้าคนนี้คุณดูทรง ดูแนวทาง ดูนโยบาย แล้วไว้วางใจจะฝากเขาทำงานให้คุณได้ คุณเลือกเขา แค่นั้นเอง คือเราไม่ได้มาดูกันแค่อุดมการณ์ แต่เราดูถึงการทำงานให้กับเมืองกรุงเทพ ได้จริง

 

เรียกว่าคุณไม่ต้องเคลียร์ภาพจำในช่วง กปปสว่า สกลธีคนนี้คือคนใหม่แล้ว 

ไม่ต้องเคลียร์เลย เพราะเป็นตัวตนหนึ่งของเราอยู่แล้ว แต่อย่างที่บอกว่านั่นเป็นอุดมการณ์ของผมในตอนนั้น ส่วนตอนนี้ผมก็มีการเติบโตขึ้นมา เป็นผมที่สวมหมวกอีกใบหนึ่ง ดังนั้นจะทำให้คนลืมภาพเก่ามันยาก สู้ทำให้คนเห็นภาพใหม่ดีกว่า ให้เขาเห็นว่าเราเป็นตัวแทนของเขา ทำงานแทนเขาได้

ภาพ: Reuters

มีการวิเคราะห์ว่าการลงสมัครผู้ว่าฯ แบบอิสระ แต่ที่จริงคุณเป็นตัวแทนของกลุ่ม กปปส

ไม่ใช่เลย คือถ้าผมยังอยู่กับกำนัน สุเทพ เทือกสุบรรณ ผมคงไปอยู่กับเขาตั้งแต่พรรครวมพลังประชาชาติไทยแล้ว คงไม่ออกมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ แต่ด้วยความผูกพัน เหมือนเราคบเพื่อนมา เราคงไม่เลิกคบเขาเพราะเขาคิดไม่เหมือนเราในบางเรื่อง ลุงกำนันเองหลายอย่างก็คิดเหมือนกัน หลายอย่างก็คิดต่าง แต่เราก็ยังรักกันอยู่ ไม่ได้ทะเลาะอะไรกัน หรืออย่าง ปรีชาพล พงษ์พานิช ที่สังกัดพรรคเพื่อไทย โห คนนี้ปรี๊ดแดงแปร๊ด ก็รู้จัก ก็คุยกันได้

 

 เบื่อบ้างไหมเวลาคุณเคลื่อนไหวอะไร จะมีคอมเมนต์ทำนองว่าพวกนกหวีดมาอีกแล้ว

ทุกวันนี้ตั้งแต่ทำงานมา ต่อให้ทำดีแค่ไหน ก็จะมีคอมเมนต์เข้ามาแล้ว สลิ่มว่ะ นกหวีดว่ะ ปรี้ดๆ ว่ะ ตอนเห็นผมก็คิดนะ เฮ่ย – นี่คุณจะไม่อ่านไม่ฟังเลยหรือว่าผมทำอะไรมาบ้าง คือจะแปะป้ายกันอย่างเดียวเลยใช่ไหม ซึ่งผมว่ามันต้องให้ความแฟร์กันหน่อย ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองจะไปต่อได้อย่างไร

 

จากการที่คุณเคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นรัฐบาลขณะนี้ การที่คุณประกาศลาออกก่อนมีการประกาศวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ อย่างชัดเจน รวมถึงมีการเข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา บางกระแสจึงมองว่าการลงสนามผู้ว่าราชการกรุงเทพ ครั้งนี้ คุณอาจมีเอี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐ หรือเป็นตัวแทนของพลเอกประยุทธ์

เอาเรื่องลาก่อน คือลานี่ต้องลาอยู่แล้ว เพราะท่านนายกรัฐมนตรีให้โอกาสผมมาทำงาน นอกจากนี้ท่านผู้ว่า ก็ลา เหมือนการทำงานปกติทั่วไป จะออกจากงานก็ต้องลาผู้ใหญ่ เป็นมารยาทตามปกติ

ส่วนเรื่องมีเอี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐ คนจะคิดแบบนั้นก็ไม่แปลก เพราะเรายังมีความผูกพันกันอยู่ เราจากกันด้วยดี ไม่ได้บาดหมางอะไรกัน ซึ่งเป็นแบบนี้ตั้งแต่วันที่ออกจากประชาธิปัตย์แล้ว เพราะตอนนั้นเราก็ไปลาหัวหน้าอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วนวันที่ออกจากพลังประชารัฐก็ไปลาพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดังนั้นถ้าถามว่ามีเอี่ยวหรือมีการช่วยเหลือไหม ผมไม่รู้ แต่ถ้าเขายินดีช่วยเหลือผมก็ยินดีอยู่ตลอด

 

สรุปว่าคุณสกลธีไม่ได้เป็นตัวแทนของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ไม่ใช่ครับ เพราะถ้าเป็นตัวแทน ท่านก็ต้องพูดแล้วว่าผมเป็นตัวแทน แต่นี้เราลงในนามตัวแทนอิสระ แต่หากท่านจะสนับสนุนเราก็ดี เพราะคนที่รักท่านก็มีเยอะ พูดกันขำๆ นะ ถ้าคุณทักษิณ ชินวัตร จะสนับสนุนผมก็ยินดี เพราะท่านก็มีคนรักของท่าน

คือถ้าใครหนุนผมก็โอเค ถ้าเห็นตรงกันว่าเราจะแก้ปัญหากรุงเทพ ในแบบเดียวกัน ผมไม่ได้คิดว่าคุณเป็นเสื้อแดง คุณมาหนุน ผมไม่เอานะ แบบนี้ไม่ใช่ผมในวันนี้

 

พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่งเคยเป็นผู้บังคับบัญชาของคุณ ก็ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เพื่อลงสมัครชิงตำแหน่งในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ที่ลงมาแข่งกันเองในสนามนี้ หลายคนสงสัยว่าจะมีความบาดหมางในการทำงานร่วมกันมาก่อนไหม

ไม่เลย มันเป็นเส้นทางของแต่ละคน จนถึงวันที่ผมลาออก ผมไม่เคยรู้ว่าท่านผู้ว่า จะลงสมัครหรือไม่ เพราะท่านไม่เคยคุยกับผม แล้วผมเองก็ไม่เคยบอกท่าน พอถึงเวลาก็ตัดสินใจลงเลย บางคนก็อาจจะมองว่าคุณเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาแล้วมาลงสมัครตำแหน่งเดียวกัน มันจะเกิดความขัดแย้งกันไหม แต่ในมุมของผม ผมกลับมองว่ามันเหมือนเพิ่มทางเลือกให้คนกรุงเทพ มากกว่า

 ขอคำนิยามผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร’ ‘ที่ดีที่เหมาะสมต่อการบริหารเมืองนี้

กรุงเทพ เป็นเมืองที่จุกจิก แค่เดินออกจากบ้านมาก็เจอปัญหาแล้วทั้งขยะ ทั้งฟุตบาท ดังนั้นคนที่เป็นผู้ว่า ต้องลุย ต้องมีพลัง อายุไม่สำคัญ วัดกันที่มีพลังในการทำงานว่ามีมากขนาดไหน

ดังนั้น ถ้าได้ผู้ว่า สไตล์จี้ปัญหา คอยตามจิก ตามแก้ไขจนเห็นผลจริง คนนั้นดีแน่ เพราะเอาเข้าจริงปัญหากรุงเทพฯ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ก็เป็นเรื่องที่พูดกันมาตลอด เพียงแค่ขาดคนที่ลงมือทำ

 

หากคุณสกลธีได้เป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพ จริงๆ ภายในระยะเวลา 1-2 ปีนี้ เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ อย่างไรบ้าง

ถ้าเข้าไปผมจะวางระบบก่อน ก็จะมาดูว่างานอันไหนเอาระบบมาใช้ได้บ้าง จะพัฒนากับเรื่องดิจิทัล แล้วค่อยมากแตกเป็นปัญหาต่างๆ ที่อยากทำ รวมไปถึงเรื่องงบประมาณ ต้องเอามากางดูว่าจะใช้จ่ายอย่างไร

เรื่องงบประมาณนี้น่าสนใจ ที่ผ่านมาตั้งแต่ผู้ว่า คนแรกถึงปัจจุบัน ยังไม่เคยมีใครคิดระบบหาเงินเข้ากรุงเทพ มาก่อน คือปกติเงินจะมาจากเงินอุดหนุนรัฐบาลกับการเก็บภาษีต่างๆ เท่านั้น แต่พอช่วงโควิด-19 ระบาด งบฯ ส่วนนี้ก็ง่อยเลย เพราะในขณะที่เก็บเงินเพิ่มเติมไม่ได้ งบประมาณยังลดลงอีก

แต่ในความเป็นจริง พระราชบัญญัติกรุงเทพมหานครเปิดโอกาสให้กรุงเทพ หาเงินได้หลายทาง เช่น ออกพันธบัตร นำสินทรัพย์ค้ำประกัน หรือปล่อยให้เช่าพื้นที่ ดังนั้นหากผมเข้าไป นอกจากจะรอเงินรัฐบาลกลางและภาษี เราจะหาเงินใหม่ๆ โดยใช้สินทรัพย์กรุงเทพ หาเงินเข้าหลวงมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดรับกับการวางระบบในช่วงหนึ่งและสองปีแรก

ส่วนสิ่งแรกที่จะทำแน่ๆ คือเปลี่ยนทางเท้า ผมก็สงสัยเหมือนทุกคนว่าทำไมทางเท้าต้องปูด้วยกระเบื้องที่มันเคลื่อนตัวกระแด๊กๆ แบบนั้น คือถ้าทำได้ ก็จะเรียกฝ่ายโยธาฯ มาก่อนเลย ว่าต่อไปนี้สเปกทางเท้าขอให้เป็นอีกแบบที่เราอยากให้เป็น

Fact Box

  • สกลธีเป็นลูกชายของ พลเอก วินัย ภัททิยกุล อดีตเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ร่วมทำรัฐประหารในปี 2549 เขาเริ่มอาชีพด้วยการเป็นข้าราชการในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 
  • หลังจากลาออกจากราชการ สกลธีก้าวเข้าสู่วงการการเมือง โดยลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพ เขต 4 (จตุจักร บางซื่อ หลักสี่) สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับเลือกในปี 2550 แต่แพ้การเลือกตั้งให้กับ สุรชาติ เทียนทอง ในปี 2554 
  • สกลธีถือเป็นแนวร่วมคนสำคัญคนหนึ่งของกลุ่ม กปปส. ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวระหว่างเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามหมายศาลที่ออกมาในข้อหาการชุมนุม แต่ได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมาในวงเงิน 6 แสนบาท 
  • ในปี 2561 สกลธีได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดย พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากรุงเทพ ซึ่งใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร มาตรา 49(3) และมาตรา 55 และคำสั่งหัวหน้า คสช. โดยให้ พลตำรวจเอก ชินทัต มีศุข รองผู้ว่าฯ ในขณะนั้นพ้นจากตำแหน่ง
Tags: , , , , , ,