“ตั๋วช้างคือเรื่องราวของความไม่เป็นธรรมในวงการตำรวจที่ผมรู้สึกว่าพวกเขาถูกทอดทิ้ง และที่สำคัญคือ ไม่มีใครกล้าพูดแทนพวกเขา”

เป้าหมายและที่มาที่ไปของ ‘ตั๋วช้าง’ ประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสำคัญของ รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งวงการตำรวจ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างถึงด้านมืดของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่เขาคาดหวังว่า ความไม่เป็นธรรมที่เห็นเป็นประจักษ์เช่นนี้ ต้องได้รับการ ‘ปฏิรูป’ และลงโทษผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด

“ผมคิดว่าต้องมีคนรับผิดชอบ อย่างน้อยที่สุดคือพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออก เนื่องจากปล่อยให้กระบวนการนี้เกิดขึ้น เอกสารชัดเจนขนาดนี้ คุณจะปัดความรับผิดชอบได้อีกเหรอ คุณยังชี้แจงไม่ได้ด้วยซ้ำว่าทำไมถึงปล่อยให้มีการเอาสถาบันพระมหากษัตริย์และพระปรมาภิไธยมาใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์ให้กับคนไม่กี่คน” 

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ The Momentum ชวนรังสิมันต์มาพูดคุยเกี่ยวกับตั๋วช้างในหลากหลายแง่มุม รวมถึงความวุ่นวายภายในพรรคก้าวไกลที่กำลังเป็นประเด็น โดยเฉพาะเรื่อง ‘งูเห่า’ ที่สร้างความผิดหวังและเสียใจให้กับผู้ที่เชื่อมั่นในอุดมการณ์ของพรรค

ย้อนกลับไปในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกของคุณในประเด็น ‘ป่ารอยต่อ’ ครั้งนั้นคุณแทบไม่ได้อภิปรายเลย สุดท้ายต้องออกมาอภิปรายนอกสภาแทน คำถามคือจากการอภิปรายครั้งนั้นจนถึงครั้งล่าสุดนี้ คุณได้รับบทเรียนหรือมีการเตรียมตัวกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเช่นเดิมอย่างไรบ้าง      

การอภิปรายรอบที่แล้วเป็นการอภิปรายครั้งแรกที่มีความโชคร้ายคือ ผมไม่ได้อภิปรายในสภา ต้องออกมาอภิปรายนอกสภาแทน ซึ่งอาจจะมีข้อดีอยู่บ้าง ตรงที่ไม่มีใครยกมือคัดค้าน ไม่มีใครยกมือประท้วงผม เลยทำให้เป็นการอภิปรายต่อเนื่องไปจนจบ 

แต่ในอีกแง่หนึ่ง ผมก็ได้เรียนรู้ว่า ถ้าเราอยากอภิปรายในสภาจริงๆ ในประเด็นที่สำคัญที่สะเทือนต่อรัฐบาล ที่อาจมีการพาดพิงบุคคลของรัฐบาล เราจะต้องมีวิธีการและเตรียมการให้รัดกุมมากขึ้น

หลังจากอภิปรายเรื่องป่ารอยต่อคราวที่แล้ว ผมก็มีการเก็บข้อมูล ทำการบ้าน และศึกษาการอภิปรายไม่ไว้วางใจในอดีตที่ผ่านมา ไปดูคลิปวิดีโอเก่าๆ ทั้งของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ที่เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดูว่าเขาทำกันแบบไหน เขาสร้างมาตรฐานอย่างไร อย่างเช่นเวลาโดนประท้วง ก็จะดูว่าจะถูกหยิบยกเรื่องไรขึ้นมาบ้าง หรือถ้าจะอธิบายเพื่อให้ประธานสภาเข้าใจต้องทำอย่างไร ทั้งหมดก็เพื่อให้การอภิปรายของเรามีจุดอ่อนน้อยที่สุด ให้การประท้วงมีโอกาสประสบความสำเร็จน้อยที่สุด

แน่นอน เวลาเตรียมการอภิปรายผมคงไม่สามารถไปหยุดฝ่ายรัฐบาลไม่ให้ประท้วงเราได้ ดังนั้นสิ่งที่ผมต้องทำคือ โน้มน้าวให้ประธานสภาอยู่ข้างเรา โดยการพูดถึงข้อบังคับ พูดถึงกติกา ถ้าประธานมีใจเป็นธรรมพอ เราก็สามารถพูดได้จนจบ 

แต่น่าเสียดายที่รอบนั้นผมคิดว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร ผมคิดว่าสภาอยู่ในความกลัวจนเกินเหตุ แล้วในท้ายที่สุด ผมถูกสั่งให้สรุปจนทำให้ไม่สามารถพูดในเรื่องที่เตรียมมาได้จนจบ ทั้งที่จริงๆ แล้วในหลายเรื่อง ผมมีกฎหมายหรือข้อบังคับมายืนยันว่า ผมสามารถอภิปรายในรูปแบบที่ผมนำเสนออยู่ได้

ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาและการอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา ผลลัพธ์ที่ออกมาแตกต่างกันมากไหม

ผมคิดว่าแตกต่างแน่นอน เพราะการอภิปรายนอกสภาเราไม่สามารถรู้เลยว่ารัฐมนตรีได้ฟังไหม เราไม่รู้ว่าเขาได้ดูหรือเปล่า ไม่มีทางรู้ว่าเขาจะตอบคำถามเราอย่างไร แต่ถ้าเราอภิปรายในสภาได้ อย่างน้อยที่สุดคือรัฐมนตรีต้องตอบคำถามเหล่านั้นในสภา

ในการอภิปรายรอบนี้ ผมโชคดีอย่างหนึ่งคือผมอภิปรายไปได้ทั้งสิ้น 50 นาที โดนประท้วงไปทั้งสิ้น 50 นาที (หัวเราะ) แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็พอที่จะทิ้งประเด็นบางอย่างได้ เช่น เรื่องตั๋วของคุณต่อศักดิ์ (พลตำรวจตรี ต่อศักดิ์ สุขวิมล, ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง) ว่าตกลงเป็นตั๋วหรือเป็นเพียงแค่หนังสือธรรมดา ซึ่งท่านรัฐมนตรีก็ต้องตอบ ท่านนายกรัฐมนตรีก็ต้องตอบ 

หรืออย่างกรณีตั๋วช้างที่ผมตั้งคำถามไปในสภา แม้จะไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างน้อยเราก็ได้เห็นปฏิกิริยาชัดเจนว่ารัฐบาลมีท่าทีอย่างไร การที่เขาไม่กล้าตอบอาจหมายความว่านี่เป็นของปลอมหรือเป็นของจริงก็ได้ แล้วยิ่งเขาไม่ให้คำตอบที่ชัดแจ้ง ทำอะไรไม่ถูก ผมเชื่อว่าประชาชนเขาก็จะสามารถตัดสินจากปฏิกิริยา แล้วจะเห็นด้วยกับรัฐบาลหรือผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจได้ง่ายยิ่งขึ้น 

ดังนั้น ผมคิดว่าปฏิกิริยาเหล่านี้จากการที่ได้พูดในสภาทำให้สังคมได้เห็นถึงความถูกต้อง หรือความผิดพลาดของรัฐบาลในขณะนั้น

เวลาจะหยิบสักเรื่องหนึ่งมาอภิปรายในสภา คุณมีวิธีคัดเลือกประเด็นอย่างไร มีการตั้งกฎเกณฑ์ไหมว่าสิ่งไหนนำเสนอได้หรือสิ่งไหนนำเสนอไม่ได้        

หลังจากผมอภิปรายเรื่องป่ารอยต่อเสร็จ ผมอาจจะทำให้คนรู้สึกว่าเรื่องที่ผมอภิปรายเป็นเรื่องสำคัญ จนมีหลายคนส่งข้อมูลมาให้เพิ่มเติม ซึ่งก็ไม่ใช่แค่เรื่องเกี่ยวกับป่ารอยต่อเท่านั้น ผมได้รับเรื่องที่นำไปใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ถึง 6-7 เรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่องก็มีจำนวนข้อมูลที่ไม่เท่ากัน บางเรื่องผมก็ส่งต่อไปให้ทีมงานในพรรค บางเรื่องก็จำเป็นต้องปัดตกไป เพราะมันมีแค่เรื่องราว มีข้อกล่าวหาที่รุนแรง แต่ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ได้ ผมก็จะไม่เลือกนำเสนอประเด็นนั้น

แต่ถ้าหากเรื่องไหนสามารถพัฒนาต่อได้ สามารถพิสูจน์ยืนยันข้อกล่าวหาได้ เราก็จะพยายามขุดคุ้ยกันต่อ ซึ่งก็ต้องมาดูกันต่อว่าเรื่องนี้ใช่สิ่งที่ถนัดหรือเปล่า เช่น ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด-19 อาจจะต้องใช้คนที่เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขน่าจะเหมาะสมกว่า 

แล้วเวลาจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ สิ่งที่จำเป็นคือ ‘ข้อกล่าวหา’ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ตั้งคำถามต่อรัฐบาล โดยที่ไม่ต้องอยู่บนพื้นฐานกฎหมายก็ได้ เพราะในสภามันคือข้อกล่าวหาทางการเมือง ถึงแม้จะไม่ได้เป็นการทำผิดตามกฎหมายของประเทศ แต่ถ้าผู้อภิปรายคิดว่าไม่เป็นธรรม ทำให้เกิดความเสียหายบางอย่าง ซึ่งอาจจะพิสูจน์ทางกฎหมายไม่ได้ แต่สภาแห่งนี้ ผมรู้สึกว่าถ้าปล่อยเอาไว้แบบนี้ ความเสียหายมันจะเกิดขึ้น แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่สภาจะไม่ไว้วางใจคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี มันเลยเป็นกระบวนการที่เราพยายามทำขึ้นมาเพื่อให้สังคมเห็นความผิดพลาดของรัฐบาล

ในการอภิปรายเช่นนี้ สามารถพาดพิงถึงทุกคนเลยไหม

ตัวผมเองก็พยายามตรวจสอบเหมือนกัน เพราะต้องคอยดูด้วยว่าการที่เราพูดถึงใครทำให้ข้อความหรือประเด็นที่อยากส่งถึงรัฐบาลเสียหายหรือเปล่า 

อย่างรอบนี้ ผมก็ยอมรับว่าผมพาดพิงบุคคลที่ 3 หลายคน แต่ผมคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเล่าถึงบุคคลที่ 3 เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลทำเรื่องนี้คนเดียวไม่ได้ เวลาคุณจะทุจริต จะคอร์รัปชัน หรือทำอะไรบางอย่างที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มันต้องมีข้าราชการเข้าไปเอี่ยวด้วย ซึ่งผมต้องเอ่ยชื่อเพื่อให้เห็นว่าคนเหล่านี้เกี่ยวข้องอย่างไร แน่นอนว่าผมไม่สามารถไปปรักปรำคนเหล่านี้ว่าเขาทำผิดอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าไปดูในการอภิปรายผมก็พยายามบอกว่า นี่คือปัญหาที่รัฐบาลจะต้องเป็นคนจัดการ ต้องเป็นคนรับผิดชอบ 

 

การอภิปรายอันร้อนแรงครั้งล่าสุดของคุณอย่างตั๋วตำรวจและตั๋วช้างเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร จุดประสงค์คืออะไร

จริงๆ มันเริ่มจากหลายทาง ผมอยากเราให้นึกถึง ‘จิ๊กซอว์’ ที่มีเต็มไปหมดเลย จิ๊กซอว์ชิ้นแรกคือ ผมก็ทราบมานานแล้วว่ามีตำรวจบางกลุ่มได้รับการยกเว้นหลักเกณฑ์การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ซึ่งก็มีตำรวจบางกลุ่มที่เขารู้สึกไม่สบายใจกับเรื่องนี้มาบ่นให้ผมฟัง ตามม็อบบ้าง เวลาเจอกันบ้าง ซึ่งผมก็รับทราบและเก็บข้อมูลเอาไว้ ซึ่งพอมาค้นคว้าจริงๆ ก็เริ่มเห็นลิสต์รายชื่อตามที่เขากล่าวอ้าง แต่ผมก็ยังไม่รู้ไม่เข้าใจว่าไอ้คำว่า ‘ยกเว้นหลักเกณฑ์’ คืออะไร

จนได้มาเจอจิ๊กซอว์ชิ้นที่ 2 ทางโซเชียลมีเดีย มีคนส่งข้อมูลมาให้ว่ามีตำรวจที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่เขาถูกดึงไปเป็นข้าราชบริพาร ซึ่งเขาต้องออกจากการเป็นตำรวจแล้วไปเป็นข้าราชการอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเขารู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เขาไม่รู้สึกว่าเต็มใจจะอยู่จุดนั้น

ตอนแรกเราก็ไม่ได้รู้สึกว่า 2 เรื่องนี้เกี่ยวกันเลย แต่พอทำไปเรื่อยๆ เริ่มหากฎ ก.ตร. (คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ จนได้เจอเอกสารที่ระบุว่ามีการให้ตำรวจไปอยู่ตามตำแหน่งต่างๆ โดยอ้างเหตุผลในเรื่องของจิตอาสา ตรงนี้เองที่ทำให้ผมเริ่มเห็นว่าจิตอาสากับการแต่งตั้งมันเริ่มใกล้กันมากขึ้นแล้ว พอเราไปหาเพิ่มอีกก็พบว่า คนที่เป็นผู้บังคับการในหน่วยงานเหล่านั้นมีความสัมพันธ์บางอย่าง ทำให้เริ่มโยงเส้นได้ชัดเจน

กระทั่งสุดท้ายเราก็มองเห็นถึงความไม่เป็นธรรมในการดึงตำรวจมาเป็นข้าราชบริพารจาก ‘ตั๋ว’ ชนิดต่างๆ ดังนั้น เพื่อให้เห็นว่าสุดท้ายมันคือเรื่องเดียวกัน ผมจึงใช้คำว่าตั๋ว แต่ถ้าให้พูดจริงๆ ผมอยากใช้คำว่านี่คือ ‘ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในวงการตำรวจ’ นี่คือใจความสำคัญที่อยากสื่อสาร

“ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของความไม่เป็นธรรมในวงการตำรวจ ที่ผมรู้สึกว่าพวกเขาถูกทอดทิ้ง และที่สำคัญคือ ไม่มีใครกล้าพูดแทนพวกเขา”

ทุกคนพูดหมดว่าต้องมีการปฏิรูป แต่ถ้าเราพูดกับเขาในฐานะที่เป็นจำเลยของสังคมที่ทำอะไรสักอย่างผิดพลาด เขาคงอยากให้พวกเรามองไปถึงสาเหตุสำคัญที่มาจากปัจจัยภายนอกมากกว่า ซึ่งผมพยายามแสดงให้เห็นผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องที่พวกเราต้องให้ความสำคัญ

การอภิปรายไม่ไว้วางในเรื่องตั๋วช้างครั้งนี้จะนำไปสู่อะไร จะเปลี่ยนแปลงวงการตำรวจไทยได้จริงไหม

ใครจะว่าผมโลกสวยหรือเปล่าไม่รู้ แต่ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงจริงๆ และผมคิดว่าต้องมีคนรับผิดชอบ อย่างน้อยที่สุดคือพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออก เนื่องจากปล่อยให้กระบวนการนี้เกิดขึ้น เอกสารชัดเจนขนาดนี้คุณจะปัดความรับผิดชอบได้อีกเหรอ คุณยังชี้แจงไม่ได้ด้วยซ้ำว่าทำไมถึงปล่อยให้มีการอ้างอิง เอาสถาบันพระมหากษัติรย์ เอาพระปรมาภิไธยมาใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์ให้กับคนไม่กี่คนได้อย่างไร

อีกอย่างคือผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของตำรวจ ผมเชื่อว่าถ้าเราทำลายเรื่องของระบบตั๋ว แล้วทำให้การโยกย้ายตำรวจเป็นไปอย่างเป็นธรรม ทุกคนรับรู้และอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน โดยไม่สนใจความเป็นเครือญาติของนามสกุลหรืออะไรก็แล้วแต่ ปัญหาการซื้อขายตำรวจจะลดลง มันจะทำให้ตำรวจไม่ต้องแสวงหารายได้จากบ่อน จากหวย จากยาเสพติด จากธุรกิจที่ผิดกฎหมาย เพราะคุณไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินไปซื้อขายตำแหน่ง เลยไม่ต้องเอาตัวเองไปเสี่ยงกับธุรกิจผิดกฎหมาย ซึ่งถ้าตำรวจไม่เข้าไปเสี่ยง เข้าไปพัวพัน เขาก็สามารถจับกุมธุรกิจผิดกฎหมายได้ ทำให้ความเสี่ยงของสังคมไทยจากธุรกิจเหล่านี้น้อยลง

ดังนั้น ผมขอใช้ภาษาแบบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือการคิดเป็นโรดแมป อันดับแรกเราต้องจัดการเรื่องตั๋วก่อน ถ้าทำได้แล้วเรื่องอื่นจะตามมาเอง

เท่าที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจส่วนใหญ่จะไม่นำไปสู่การแก้ไขเท่าไหร่นัก ซึ่งมาจากปัญหาการยกมือโหวตเห็นด้วย คำถามคือทุกวันนี้เป้าหมายการอภิปรายจริงๆ คืออะไรกันแน่

ผมยอมรับว่ากลไกของการอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกวันนี้ ยากที่เราจะเรียกมโนธรรมสำนึกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะจากฝ่ายตรงข้ามให้มาเห็นด้วยกับเราคงไม่ง่าย เรื่องนี้ผมรู้และตระหนักดี

แต่สำหรับผม อีกเป้าหมายสำคัญคือการฟ้องประชาชน ทำให้ประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของประเทศไทยและเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริงได้รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น

“ในสภา มือคุณเยอะกว่าคุณรอดไปได้ แต่ถ้าถึงเวลาที่ต้องนับมือของประชาชน ผมก็หวังว่าเขาจะไม่สามารถรอดไปได้อีก” 

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลยังอยู่ได้ ยังไม่มีการปฏิรูปตำรวจ ก็ขอให้รู้ไว้ว่านี่คือตราบาปของพวกเขา แล้วผมก็หวังว่าในการเลือกตั้งรอบหน้า พวกเราประชาชนชาวไทยก็จงอย่าให้คนเหล่านี้เข้าสภา เพราะคนเหล่านี้ไม่มีความสำนึกถึงบาปและความผิดที่ตัวเองได้ก่อเอาไว้กับประชาชนเลย 

 

การที่จะทำให้คนในสภารับฟังการอภิปรายอย่างเปิดใจอาจจะสายไปแล้ว เปลี่ยนระบบ เปลี่ยนกติกาดีกว่าไหม

ถูกต้อง รวมไปถึงบรรดาหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องด้วย อย่างเรื่องตำรวจมันไม่ใช่แค่นายกฯ และคณะรัฐมนตรี แต่มันทุกภาคส่วนเลย 

คุณเคยโพสต์เฟซบุ๊กว่าหลังจากนี้อะไรจะเกิดขึ้นไม่เสียดายแล้ว เพราะได้ทำหน้าที่ของตัวเองเต็มที่แล้ว ไม่คิดว่านี่เป็นการพลีชีพเหรอ พอจะมีวิธีที่ดีกว่านี้ไหม ที่ไม่ต้องให้ใครมาแบกรับภาระและราคาที่ต้องจ่ายแบบนี้เพียงลำพัง

ผมอยากเห็นแบบนั้น ผมอยากเห็นการพูด การนำเสนอเรื่องนี้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกันเป็นสิ่งที่อยากเห็น เพียงแต่วันนี้ ผมอยู่ในจุดที่ผมพูดได้ ผมอยู่ในจุดที่มีสถานะบางอย่างที่คนจำนวนมากไม่มี ผมจึงต้องทำงานของผม ทำหน้าที่ของผมให้เต็มที่ จริงๆ เรื่องนี้จะบอกว่าง่ายก็ง่าย จะบอกว่ายากก็ยาก ทุกอย่างมันตั้งอยู่ตรงหน้าคุณ คุณแค่ต้องเลือกว่าคุณจะทำสิ่งที่ถูกหรือคุณจะไม่ทำ มันก็มีแค่นี้ 

ผมก็ต้องถามตัวเองอยู่เหมือนกันว่าเราจะอภิปรายเรื่องนี้จริงเหรอ เราจะเลือกทำสิ่งที่ถูกต้องไหม หรือเราจะทำเหมือนกับที่สมาชิกผู้แทนราษฎรคนอื่นเคยทำ คือการเพิกเฉย อยู่ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจอะไร แต่คำตอบของผมคือผมทำไม่ได้ ผมจะรู้สึกว่าถ้าไม่ทำแล้วเราจะเข้ามาตรงนี้ทำไม ถ้าไม่คิดจะทำอะไรอย่างอื่นแล้ว ผมไปทำอาชีพอื่นดีกว่า ผมไม่ได้คิดอยู่แล้วว่าเข้ามาอยู่ตรงนี้เพื่อจะมีชีวิตสุขสบาย ผมคิดแค่ว่าต้องทำหน้าที่ของผมให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุด ให้คุ้มกับเงินภาษีประชาชนที่เขาเสียให้กับผมเป็นแสนบาท

มองย้อนกลับไปผมก็ไม่เสียใจนะ ย้อนกลับไปวันนั้นก็คงทำเหมือนเดิม อาจจะต้องพูดให้แรงขึ้นกว่านี้อีกเล็กน้อย

ตอนนี้เริ่มมีคนพูดกันบ้างแล้วว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องตั๋วช้างคือการใช้คุณเป็นเครื่องมือเพื่อเลื่อยขาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบัน คุณรู้สึกอย่างไร

ผมก็ไม่รู้หรอกว่าใครเป็นเครื่องมือของใคร ผมมองว่าผมเป็นเครื่องมือของประชาชนได้ไหม มองผมแบบนั้นดีกว่า 

สิ่งที่ผมพยายามทำคือ ถ้าสิ่งที่ผมทำสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดพลาด มีระบบบางอย่างที่ไม่ควรจะเป็นแบบนั้น ต่อให้ใครได้ประโยชน์ผมก็ไม่สนใจ ผมสนแค่สิ่งที่ทำไปมันถูกต้องหรือเปล่า ถ้าใช่ ก็จงมุ่งไปตรงนั้น

ดังนั้น ต่อให้หลายคนบอกว่าจะมีคนนั้นคนนี้เขาได้ประโยชน์จากการที่ผมไปพูดถึงศัตรูในตำแหน่งหน้าที่การงานของเขา ก็ขอบอกว่าผมไม่สน ผมไม่รู้จักใครเหล่านั้น สิ่งที่ผมทำก็คือทำให้เรื่องตั๋วแบบนี้หมดไป ดังนั้น ถ้าผมมีหลักฐานว่าอีกฝั่งขั้วอำนาจทำแบบเดียวกัน ผมก็จะหยิบเรื่องนี้มาพูดอยู่ดี ซึ่งถ้ามีจริงก็อาจจะได้เห็นตั๋วช้างภาค 2 ในรอบถัดไปก็ได้ อาจจะเป็น ‘ตั๋วพญาช้าง’ 

แสดงว่ายังมีเรื่องตั๋วให้อภิปรายอีกใช่ไหม 

ล่าสุดผมได้รับเรื่อง ‘ตั๋วช้างน้อย’ มา 

ถ้าเล่าแบบขำๆ หน่อย รอบที่แล้วผมเข้าป่า ผมเข้าไปที่ป่ารอยต่อ เขาบอกว่าป่ารอยต่อมีช้างอยู่เยอะ ผมก็ได้ช้างมา เป็นช้างที่ตัวใหญ่พอสมควร แต่แล้วพอพูดถึงการมีอยู่ของมัน ก็มีข้อมูลส่งมาเพิ่มเติมถึงช้างตัวอื่นๆ ที่ยังหลบอยู่ในป่า ซึ่งตอนนี้ผมก็เริ่มเก็บข้อมูลแล้ว เริ่มทำอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว ผมได้ตั๋วช้างน้อยมาแล้ว ซึ่งก็อาจจะได้เห็นอีกรอบหนึ่ง ต้องดูเรื่องน้ำหนักและความเป็นเหตุเป็นผลว่ามากน้อยแค่ไหน 

มีหลายคนบอกว่า การอภิปรายในสภาก็ควรพูดถึงคนที่อยู่ในสภา ทำไมถึงต้องพาดพิงถึงบุคคลนอกสภา เช่น การพูดถึงพลอากาศเอก​ สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขาธิการด้วย

ผมพูดจริงๆ นะ เราช่วยทำให้ทุกอย่างมันดูเป็นปกติหน่อยได้ไหม หยุดคิดเรื่องว่าคนนี้มีสถานะอย่างนั้น คนนั้นมีสถานะอย่างนี้ที ผมโคตรเบื่อเลยว่ะ

ผมเป็นถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้วถ้ายังต้องคอยระวังว่าเดินไปแล้วเท้าจะไปเตะใคร ไปสะดุดขาใคร ผมคงไม่ต้องทำอะไรกันพอดี ผมโคตรไม่ชอบกับการอยู่ในสังคมแบบนี้เลย ดังนั้น ผมพูดเลยว่าผมไม่สน ช่างมันเถอะ เขาจะเป็นราชเลขาธิการ เป็นน้องราชเลขาธิการ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือนายกรัฐมนตรี ผมไม่สน

สิ่งที่ผมสนคือ นั่นเป็นตั๋วใช่ไหม นั่นเป็นการทำให้ตำรวจนับแสนได้รับความไม่เป็นธรรมหรือเปล่า ผมพอแล้วกับการที่ต้องเห็นตำรวจที่เข้าไปทำธุรกิจผิดกฎหมาย แล้วสุดท้ายก็กลับมาทำร้ายสังคมเพื่อเอาไปซื้อตำแหน่ง ผมไม่อยากเห็นแบบนั้น ผมไม่อยากเห็นตำรวจน้ำดีที่ต้องอยู่กับระบบเลวๆ แบบนี้ แล้วก็หวังว่าวันหนึ่งนายคงจะได้เห็นความดีของตัวเอง แต่พออยู่ไปนานวันเข้า ความดีกลับไม่เห็นผล สุดท้ายก็กลายเป็นคนในระบบเหล่านั้น ซึ่งผมไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย

ดังนั้นผมจึงไม่สนว่าจะเป็นใครมาจากไหน ผมแค่อยากเห็นระบบที่ดีและการเปลี่ยนแปลง 

ที่ผ่านมา พรรคการเมืองของคุณได้พูดถึงคนที่มีความเห็นไม่ตรงกับนโยบายของพรรคว่าเป็น ‘งูเห่า’ เลยอยากชวนคุณมาพูดคุยว่าในแวดวงนักการเมืองว่ามีสาเหตุอะไรบ้าง ที่จะทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันทรงเกียรติสามารถกลายร่างเป็นงูเห่าได้

ผมก็ไม่เคยเป็นงูนะ ผมก็ไม่รู้ว่าการลอกคราบต้องทำอย่างไร แต่ว่าผมคิดว่ามันคือความอ่อนแอที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนอาจจะไม่เชื่อแบบเดิม ในตอนที่เข้ามาวันแรกๆ ผมเชื่อว่าคนจำนวนมากที่เดินเข้ามาในพรรคอนาคตใหม่ ทุกคนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง แล้วหลายคนก็มีความตั้งใจให้มันเป็นแบบนั้น 

แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ บางคนอาจรู้สึกว่ามันอาจเปลี่ยนอะไรไม่ได้ จนกลับมาตั้งคำถามว่า ถ้าเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้วจะอยู่ไปทำไม ลองเปลี่ยนฝั่งดูไหม ซึ่งพูดกันตรงไปตรงมา มันคือเรื่องปกติในสภาของเมืองไทย ทุกตารางนิ้วมันเป็นพื้นที่ซื้อขายกัน เหมือนซื้อขายวัวควายหรือซื้อขายกันตามตลาดที่เกิดได้ตลอดเวลา ในห้องน้ำซึ่งพื้นที่ที่คุณควรจะยืนฉี่เฉยๆ คุณก็ถามว่าราคาเท่าไหร่ คุณจะเอาเงินเท่าไหร่ มันมีเรื่องแบบนี้จริงๆ เพียงแต่ว่าคุณทนกับมันได้ไหม คุณทนที่จะอยู่ในจุดที่คุณเปลี่ยนแปลงสังคมแล้วคุณไม่ขายวิญญาณของคุณให้กลายเป็นข้าทาสบริวารได้หรือไม่

ผมก็อาจลงรายละเอียดไม่ได้ เพราะหน้าอย่างผมไม่เคยมีใครทาบทามเลย ไม่มีใครมาบอกว่า น้องรังสิมันต์ราคาเท่าไหร่ ไม่เคยเจอ (หัวเราะ) แต่กับคนอื่น ผมได้ยินตลอดว่ามันมีอยู่ แล้วทำให้บางคนทนไม่ไหว จึงปฏิเสธที่จะอยู่กับเรา ซึ่งผมก็ไม่รู้หรอกว่าคนที่กลายเป็นงูคือเรื่องนี้หรือเปล่า แต่เข้าใจว่าจำนวนไม่น้อยก็เป็นแบบนี้ 

มีอะไรอยากจะฝากคนที่กลายเป็นงูเห่าไปแล้วบ้างไหม

ผมเสียใจที่พวกเขาต้องมาทำกันแบบนี้ ผมเสียใจที่คนที่ร่วมทางกับเราท้ายที่สุดเขาเดินจากเราไป ในพรรคการเมืองอาจจะมีปัญหานั้นปัญหานี้จนคุณทนไม่ไหวแล้วต้องตะโกนออกมาว่า ไม่อยากอยู่ตรงนี้แล้ว ขอไปอยู่พรรคอื่นดีกว่า แต่เราต่างรู้กันดีว่าทั้งหมดนี้เป็นแค่คำโกหก เป็นแค่สิ่งที่ใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการที่คุณได้หักหลัง คุณก็แค่ไม่มีอุดมการณ์อีกต่อไป และลอกคราบกลายเป็น ‘สัตว์ประหลาด’ อย่างหนึ่ง

 

แล้วสำหรับคนที่เขาได้เลือกตัวแทนพรรคที่กลายเป็นงูเห่าไปแล้ว ในนามตัวแทนของพรรคมีอะไรอยากบอกเขาไหมว่า ทำไมเราถึงดูแลคนเหล่านี้ไม่ได้

ต้องพูดกันตามตรงว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคของเราจำนวนหนึ่งได้กลายร่างเป็นงูเห่าจริงๆ แต่อีกจำนวนหนึ่งมันหายไปจากกลไกของศาล แน่นอนว่ามันทำให้พวกเราทำงานยากขึ้น เพราะหลายเรื่องในการทำงานสภาเป็นเรื่องของโควต้า ซึ่งมันก็จะอิงกับจำนวนที่นั่งที่อยู่ในสภา ตอนแรกมันควรมี 88 ด้วยซ้ำ ตอนนี้เหลือแค่ 50 กว่าที่นั่งเท่านั้นเอง

ผมก็ได้แค่ขอโทษพี่น้องประชาชนจริงๆ ที่เราไม่สามารถโน้มน้าวให้ทุกคนทำเพื่อประชาชนได้อย่างครบถ้วน ซึ่งพวกเราก็พยายามที่จะชดเชย พยายามจะทำหน้าที่แทนคนที่เขาเปลี่ยนอุดมการณ์ พยายามทำหน้าที่แทนคนที่เขาไม่ซื่อสัตย์ต่อพี่น้องประชาชน พวกเราสัญญาว่าทำงานหนักขึ้นเพื่อชดเชยสิ่งนั้น ก็ขอโทษอีกครั้งหนึ่ง

ทุกวันนี้เจอหน้ากันยังทักทาย พูดคุยกันได้ตามปกติไหม

ผมพูดจริงๆนะ ผมสะดวกใจที่จะคุยกับพรรครัฐบาลอื่นๆ มากกว่าคนที่เคยอยู่กับเราแล้วย้ายไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่นอีก 

เพราะอย่างน้อยที่สุด ผมรู้สึกว่าคนที่เป็นงูเห่าเหล่านี้เขาหักหลังเรา แค่คุณธรรมพื้นฐานแค่นี้ คุณยังรักษาไม่ได้ ผมเลยทำใจที่จะคุยกับพวกเขาลำบากจริงๆ ผมว่าผมเจ็บปวดเรื่องนี้ แต่คงไม่เจ็บปวดใจเท่าประชาชน

มันมีที่คนชอบพูดคือเรื่องการแบ่งพรรคพวก แบ่งชนชั้นกัน เลยอยากรู้ว่าเรื่องแบบนี้ในพรรคการเมืองมีจริงๆ ไหม 

ผมก็ไม่รู้จะตอบอย่างไรดี เวลาจะอธิบายอะไรสักอย่างให้คนเข้าใจว่ามันไม่มี คือในพรรคก้าวไกล เราเป็นพรรคที่อยู่กันเหมือนครอบครัว เหมือนพี่น้องมากกว่า ในทางปฏิบัติ เวลาตัดสินใจหรือทำอะไรสักอย่าง เราก็ใช้กลไกของพรรคในการตัดสินใจ ทุกคนมีสิทธิที่จะอภิปราย มีสิทธิที่จะพูดกันได้อย่างเต็มที่ สมมติว่าเวลาคุณต้องการจะโหวตประเด็นนี้ เราก็จะมาคุยกันก่อนว่าจะมีทิศทางอย่างไร

ผมรู้ว่าในทางการเมืองและทางรัฐธรรมนูญ การตัดสินใจมันเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคน แต่เราก็ต้องสมดุลกับเอกภาพของพรรคต้นสังกัดด้วยเช่นกัน ดังนั้นทุกครั้งที่เราจะตัดสินใจเรื่องหนึ่ง เราจะคุยกันก่อน ซึ่งทุกคนจะมีสิทธิเต็มที่ แล้วเราในฐานะคนที่จะผลักดันเรื่อง ถ้าคุณยังโน้มน้าวคนในพรรคไม่ได้ เราไม่มีทางโน้มน้าวคนอื่นในสังคมได้ เพราะขนาดเพื่อนในพรรคที่มีความคิดคล้ายๆ กัน เขายังไม่เห็นด้วยเลย

ดังนั้นเวลาคนบอกว่าพรรคก้าวไกลมีการแบ่งชนชั้นในพรรค ผมก็นึกไม่ออกว่ารูปธรรมคืออะไร แต่ถ้าคุณจะบอกว่าคุณไม่มีสิทธิบางอย่าง คุณพูดได้น้อยกว่าคนอื่น เรื่องนี้ผมพูดได้เลยว่าไม่จริง เพราะที่ผ่านมา เราเปิดพื้นที่อย่างเต็มที่ในการแสดงความคิดเห็นอยู่แล้ว

หลังจากนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงทิศการของการเมืองไทย ซึ่งอาจจะเป็นเลือกตั้งใหม่หรือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คำถามคือทิศทางและบทบาทของพรรคก้าวไกลต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไหม

ผมก็ตอบไม่ได้ว่าในอนาคตจะมีปัจจัยหรืออะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่ผมคิดว่าพวกเราก็จะพยายามทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด แล้วเราก็เชื่อว่าบนหนทางที่เรามั่นใจในอุดมการณ์ ในการพูดทุกเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะในบางเรื่องพรรคการเมืองหลายพรรคไม่กล้าจะพูด เราจะพยายามต่อ บางครั้งเราก็อาจถูกโจมตีว่าไปพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 112 ทำไม มันจะนำมาซึ่งความฉิบหายต่อพรรคที่สังกัด 

แต่พวกเราเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ ถ้าเราไม่พูดแล้วใครจะพูด เราจะปล่อยให้การดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เกิดขึ้นโดยที่เราไม่สนใจได้อย่างไร ถ้าเป็นแบบนี้เราจะมีพรรคการเมืองทำไม เราจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทำหน้าที่พูดแทนประชาชนทำไม

สำหรับบางพรรคการเมืองที่อาจจะยังไม่เห็นด้วยที่คุณไปแตะในบางเรื่อง เช่น มาตรา 112 มีอะไรอยากจะบอกกับพวกเขาบ้าง 

คำถามคือ ทำไมเราไม่ช่วยกันผลักดันให้พรรคการเมืองหรือคนทำงานการเมืองออกมาพูดเรื่องที่ควรจะพูดได้กัน 

ผมเชื่อจริงๆ ว่า ถ้าทุกพรรคการเมืองในสภาเห็นพ้องต้องกันเป็นเอกภาพ ไม่ปล่อยให้มีการใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือในการหากิน ผมเชื่อว่าปัญหาหลายอย่างในหลายประเทศนี้จะค่อยๆ หายไป หลายสิ่งจะถูกแก้ 

ดังนั้น ผมคิดว่าเราไม่ควรมาบอกว่าคนที่กำลังแก้ปัญหาประเทศคือตัวปัญหา แต่เราต้องตั้งคำถามว่า ทำไมคนที่มีหน้าที่ต้องแก้ปัญหาถึงนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ลุกออกมาแก้ปัญหาอะไรสักอย่าง

Tags: , , , , , , , ,