“เป็นตัวของตัวเอง เป็นมุสลิม เป็นผู้หญิงข้ามเพศ เป็นนักปกป้องสิทธิทางเพศ เป็นนักนโยบาย” วลีที่ยกมาข้างต้นเป็นคำที่ อั๊ส-อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ นักสื่อสารนโยบายแห่งศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) นิยามตนเองในเพจเฟซบุ๊ก

อาจกล่าวได้ว่า การนิยามตัวตนบางอย่างของอั๊สมีความลักลั่นขัดแย้งกันในตัว เช่น การเป็นมุสลิมที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+)

อั๊สมองว่า การเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศในร่มมุสลิมถึงจะเป็นเรื่องผิด แต่หาใช่บาปจนสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ไม่ อีกทั้งอัตลักษณ์ทั้งหมดนี้เป็นการบ่งบอกความเป็นตัวเอง นี่คือสิ่งที่ประกอบสร้างเธอขึ้นมา และอั๊สจะไม่มีวันลืมรากเหง้าของตัวเอง 

ด้วยปณิธานที่แน่วแน่ อั๊สเป็นคนแรกๆ ที่เริ่มออกมาพูดเรื่องความหลากหลายทางเพศในศาสนาอิสลามอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงการขับเคลื่อนเพื่อสิทธิของคนในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยมองว่าเป็นเสรีภาพที่ทำได้ อีกทั้งสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางพลเมืองที่ประชาชนในรัฐไทยพึงได้รับ

The Momentum ชวนคุยกับหญิงข้ามเพศที่เป็นทั้งมุสลิมและนักสื่อสารนโยบายท่านนี้ ว่าเธอมีจุดมุ่งหมายในการขับเคลื่อนอย่างไร ทั้งหมดนี้ขัดกับหลักศาสนาหรือไม่ และเพราะอะไรเธอยังขับเคลื่อนแม้โดนโจมตี และรับแรงต้านจากทุกสารทิศ

คุณเริ่มขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศและสิทธิของคนในชุมชนตั้งแต่เมื่อไร และต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างไรบ้างเพื่อให้ครอบครัวและสังคมยอมรับ

เป็นตอนที่เราทำงานอยู่ที่องค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งหนึ่ง เราขับเคลื่อนในหลายประเด็น เช่น การซ้อมทรมาน การบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิที่ร้ายแรงและไม่ควรจะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นสังคมไหนก็ตาม และการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การละเมิดสิทธิในการตรวจเอกสารพันธุกรรม (DNA) หรือกระทั่งการจดจำใบหน้าเพื่อระบุอัตลักษณ์ตัวตนตอนที่เราจะลงทะเบียน (Facial Recognition) นี่เป็นการละลาบละล้วงโดยที่คนส่วนใหญ่ไม่ทันได้คิดว่าเอาข้อมูลส่วนตัวไปทำอะไร 

การทำงานส่วนนี้ทำให้มีความรู้และตระหนักในเรื่องสิทธิมากขึ้น เราก็รู้สึกว่าเรื่องนี้ก็เช่นกัน มันเป็นเรื่องที่ถูกกดทับอยู่ในสังคมมุสลิม ไม่ใช่แค่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่แทบจะทุกสังคมที่เป็นมุสลิมทั่วประเทศ เป็นเรื่องที่ถูกซ่อนอยู่ใต้พรมเหมือนพยายามทำให้คนรู้สึกว่า “ไม่ควรออกมาพูด”, “ออกมาพูดจะเป็นปัญหาเปล่าๆ” หรือกระทั่ง “ทำไมจะต้องสร้างประเด็นปัญหาความแตกแยกให้สังคมด้วย”

เรารู้สึกว่าจะยอมให้มันเกิดขึ้นต่อไปเช่นนี้หรือ? ตราบใดก็ตามที่มันไม่ใช่ตัวคุณ คุณจะไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้เลยหรือ สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือ ควรมีมนุษย์สักคนไหมที่สมควรถูกกดทับ โดนเลือกปฏิบัติ ทำให้สูญสิ้นความเป็นคน โดยที่เขาไม่ได้ทำอะไรผิด เขาแค่เป็นเพศนี้ นี่คือสิ่งที่จิตสำนึกบอกว่าฉันน่าจะเป็นเพศนี้ แค่มันอาจจะไม่ตรงกับเพศสภาพกำเนิดเท่านั้น

หลายคนชอบอ้างว่า ‘บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นบาป พระเจ้าไม่ยอมรับ’ หรือกระทั่งขับไล่คุณออกจากศาสนา ที่จริงแล้วมีหลักธรรมคำสอนใดของศาสนาระบุไว้อย่างชัดเจนหรือไม่

ก็มีหลายตัวบทที่ค่อนข้างจะบอกว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องผิด เช่น ในคัมภีร์อัลกุรอาน ในเรื่องราวที่บ่งชี้ชัดเจนคือเรื่องราวของ ‘ศาสดาลูฏ’ (โลท) ในเมืองโซโดม คัมภีร์ระบุถึงกลุ่มคนที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันว่า เป็นเรื่องน่ารังเกียจ เป็นเรื่องที่พระเจ้าไม่ยินยอม ไม่ยอมรับ และพระเจ้าจึงเลือกที่จะคว่ำเมืองตรงนั้นไป

แต่อันที่จริง การบอกเล่าเพียงแค่ด้านเดียวของหน้าประวัติศาสตร์มันไม่เพียงพอ เมื่อเราศึกษาบริบทรอบข้างไปเรื่อยๆ จะพบว่า เป็นเรื่องที่กลุ่มคนในเมืองดังกล่าวเดินทางไปบ้านศาสดา แต่ศาสดามีแขกมา ดังนั้น ศาสดาจึงไม่ยินยอมให้พบแขกของท่าน กลุ่มคนในเมืองนั้น (ซึ่งเป็นคนรักเพศเดียวกัน) จึงพยายามพังประตูเข้ามา เขาหมายถึงพฤติกรรมนี้หรือเปล่าที่ท่านไม่ยินยอมแต่ยังคุกคาม สิ่งนี้ควรเป็นสิ่งที่ระบุหรือเปล่าว่า เป็นสิ่งที่พระเจ้าไม่ยินยอม เพราะถ้าจะบอกว่าพระเจ้าไม่ยินยอมเรื่องเพศสัมพันธ์ในกลุ่มของคนรักเพศเดียวกัน ก็น่าจะพลิกคว่ำเมืองนี้ไปตั้งนานก่อนหน้านั้นแล้ว

หากมองในบริบททางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง ภูมิศาสตร์ในพื้นที่ตรงนั้นเป็นรอยแยกจึงส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์แผ่นดินไหว พื้นที่ทรุดตัวลงไปจึงกลายเป็นแอ่งทะเลสาบ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ามีข้อบ่งชี้ที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับคนที่เขาจะไปเก็บข้อมูลและเลือกที่จะเล่าแบบไหน 

หากเราคุยกันในมุมของศาสนาก็ได้อีกขาหนึ่ง แต่ถ้าคุยในขาประวัติศาสตร์เราจะได้อีกเรื่องหนึ่ง มันเป็นเรื่องที่เราใช้ความเชื่ออย่างเดียวก็ไม่ได้ มันต้องพิจารณาร่วมกับหลักข้อมูลข้อเท็จจริงอะไรบางอย่าง เพื่อให้ตกผลึกด้วยว่าท้ายที่สุดแล้วพระเจ้าต้องการจะสื่ออะไรกับเรา 

เรื่องนี้มีขยายอยู่ในหะดีษ ซึ่งเป็นบันทึกวัจนของศาสดาในการเผยแพร่คำสอน ระบุว่า มีครั้งหนึ่งที่สาวกของท่านพาตัวคนที่เป็นคนข้ามเพศในสมัยนั้นมาหาท่านนบี (ศาสดา) เราจะทำอย่างไรกับเขาดี เพราะคนนี้กลายเป็นผู้หญิง ซึ่งแต่ก่อนเขาเป็นผู้ชาย นบีจึงถามว่าเขามีตะลีม็อกหรือเปล่า? (คำกล่าวยืนยันว่าเป็นมุสลิมและนับถือศาสนาอิสลาม) เขาบอกว่ามี เขาละหมาด 5 เวลาหรือเปล่า? เขาก็ตอบว่าละหมาด นั่นแปลว่าเขายังเป็นมุสลิม เราไปกระทำอะไรเขาไม่ได้ เว้นแต่เขาทำอะไรผิดสักอย่าง นี่แปลว่าจริงๆ แล้วเราอยู่ในศาสนาได้ ไม่ได้แปลว่าเราสูญสิ้นความเป็นมุสลิมเพียงเพราะว่าเราเป็นเพศนี้ เราอยู่ในศาสนาไปก็ทำความดีของคุณไป 

เพียงแต่ถ้าอยากจะให้เขาไม่มีความผิดบาปเรื่องนี้ จะเป็นไปได้ไหม ถ้าคุณจะค่อยๆ โน้มน้าวให้เขาอยู่ในร่างนี้โดยไม่ต้องกระทำความผิดอะไรเพิ่มเติม เราเข้าใจและให้มันอยู่แค่ตรงนี้ดีกว่าไหม ไม่ต้องไปกดดัน ไม่ต้องทำให้เขารู้สึกว่าการอยู่ในสังคมมุสลิมมันไม่ตอบโจทย์คนๆ หนึ่งจนต้องเลือกออกจากศาสนาไป

คุณคิดว่าการถือหมวกหลายใบมีความขัดกันในตัวเองบ้างไหม

ถ้าเราหาตรงกลางได้มันจะไม่มีการขัดกันเอง อย่างที่บอกว่า เมื่อตัวบทยืนยันว่า เราไม่ได้สูญสิ้นความเป็นมุสลิมเพราะเราเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ แม้หลายคนจะคิดแบบนั้นก็ตาม เราก็ยังเป็นมุสลิมได้ นั่นหมายความว่าเราก็ละหมาดต่อ ก็วิงวอนขอให้เรายังดำรงอยู่ในศาสนานี้ ในฐานะผู้ศรัทธาคนหนึ่งที่อาจจะมีบาป มีพลั้งพลาดไปบ้าง แต่เมื่อยังไม่หมดลมหายใจก็ต้องทำความดีเพื่อทดแทนไป ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจแล้วพระเจ้ายังไม่เรียกลมหายใจคืนไป ก็ยังมีทางที่เราจะได้เข้าสวรรค์ 

เราเชื่อแบบนี้ ในทุกๆ ความผิดเลยยกเว้น เสียแต่ว่าบาปจากการไม่ละหมาด เพราะเป็นหลักการปฏิบัติข้อแรกที่สำคัญที่สุด ถ้าไม่ละหมาดอันนี้ก็ยากที่จะได้เข้าสวรรค์ นี่คือการหาตรงกลางของตัวเองระหว่างการเป็นคนข้ามเพศกับเป็นมุสลิมมันสามารถไปด้วยกันได้

คุณคิดว่าการเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศขัดกับ ‘ตัวบท’ ของศาสนาตามที่หลายคนกล่าวอ้างหรือไม่

ตัวบทไม่ได้ขัด ยืนยันว่าสุดท้ายแล้วตัวบทไม่ได้ขัดการใช้ชีวิตของเราขนาดนั้น ประเด็นที่รู้สึกขัดและเป็นปัญหาคือคน เป็นสิ่งที่ประกอบสร้างสังคมนี้หรือเปล่า เราสมาทานความคิดในเรื่องของปิตาธิปไตย ในเรื่องของความอคติทางเพศจนไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของคนที่เป็นเพศนี้หรือไม่? แล้วเราก็ยึดมั่นถือมั่นว่านั่นคือศาสนา ยึดมั่นถือมั่นว่านั่นคือหลักการ และเมื่อมีคนในชุมชนสักคนไม่เป็นไปตามเพศสภาพก็ต้องไล่มันออกถ้ายังไม่แก้ไขตัวเอง

แต่ละตัวบท แต่ละวัจนของศาสดามีบริบท คนอ่านต้องดูที่บริบทให้ชัดว่า การที่ศาสดาจะขับไล่ใครสักคนออกจากชุมชนไปเป็นเพราะอะไร ไม่ใช่หยิบยกตัวบทมากล่าวลอยๆ เพื่อกดขี่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ

คิดเห็นอย่างไรกับคำกล่าวที่บอกว่า ‘เป็นมุสลิมจะไม่สามารถสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศได้’ เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม เพราะเรื่องนี้ยังเป็นข้อถกเถียงอยู่ค่อนข้างมาก

เรื่องนี้ค่อนข้างที่จะตลกนิดหนึ่ง คือปลัดเขาก็บอกนะว่าเมื่อเราจดทะเบียนสมรส ไม่ต้องคนหลากหลายทางเพศหรอก ผู้ชายผู้หญิงไปจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ และเขตบอกว่าเป็นสามีภรรยากันแล้วนะ แต่ในทางศาสนาอิสลามคุณยังไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ เพราะคุณยังไม่ได้ทำนิกะห์ (การสมรสในแบบอิสลาม) เพราะฉะนั้น แปลว่าเป็นการแยกอยู่ มันแยกกันอยู่แล้ว คือคุณทำสิ่งใดไม่ได้แปลว่าอีกสิ่งหนึ่งจะได้มาอัตโนมัติ มันแยกกัน

เพราะฉะนั้น เมื่อมันถูกแยกกันระหว่างสิทธิทางพลเมืองกับสิทธิการนับถือศาสนา ประชากรที่อยู่ในประเทศนั้นและจ่ายภาษีให้ประเทศนั้น รัฐพึงต้องจัดการสิทธิขั้นพื้นฐานให้เขา สิทธิสมรสก็คือสิทธิขั้นพื้นฐานของคนทุกคนในประเทศนี้ ถ้าแค่ให้ชายหญิงสมรสกันได้ก็แก้ให้เป็นพลเมืองสมรสได้ จะไปยากอะไร มันต้องคิดด้วยฐานนี้ 

รัฐมีหน้าที่ที่ต้องซัพพอร์ตคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่สนับสนุนคนนับถือทุกศาสนาแต่ต้องซัพพอร์ตทุกเพศเช่นกัน รวมถึงคนที่มีอัตลักษณ์ทางร่างกายในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ในรัฐนี้ได้อย่างเช่นพลเมืองทั่วไป เขามีเงื่อนไขตรงไหนที่ทำให้เขาใช้ชีวิตปกติไม่ได้ เพื่อให้เขาได้รับโอกาสได้ใช้ชีวิตเหมือนกับคนทุกคนได้ นี่คือหลักการของฝั่งรัฐ

ส่วนของศาสนา ถ้ามันปรับแก้ไม่ได้เราก็เคารพในสิ่งที่เขาตีกรอบมาแบบนั้น ถ้าไม่อยากแก้ก็ไม่เป็นไร เรายินดีที่จะอยู่และธำรงอยู่แบบนั้น แต่อย่าใช้คำสอนของศาสนามาอ้างให้อยู่เหนือสิทธิทางพลเมือง เพราะมันคือคนละฝั่งคนละตัว ถ้าอ้างทำนองนี้หลักการรัฐสามารถอ้างกลับไปได้ว่า “ถ้ารัฐไม่รองรับประชากรมุสลิม คุณจะอยู่ประเทศนี้ได้ไหม?” มันก็ไม่ได้นะ เพราะฉะนั้น ก็ต้องคำนึงถึงว่าการใช้ชีวิตอยู่ในรัฐไทยเราอยู่ได้ เพราะว่ารัฐให้สิทธิในการเลือกที่จะอยู่ ฉะนั้นเราต้องเคารพกันและกัน คือไม่สนับสนุนก็ไม่เป็นไร แต่อย่าขัดขวาง

คุณคิดว่าความท้าทายในการขับเคลื่อนที่ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันมีอะไรบ้าง

เราต้องสู้ในความใจแคบของคนที่ยึดในปิตาธิปไตย และคนที่ยึดในความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเพศที่มันผูกขาดตายตัวเป็นเวลานาน ก็คล้ายกับการที่เราจะรื้อโครงสร้างอำนาจนิยมของสถาบันกษัตริย์หรือทุนนิยมทำนองเดียวกัน คุณรื้อถอนโครงสร้างตรงนั้นได้ เรื่องนี้ก็ควรที่จะต้องถูกพูดถึงและถูกรื้อบ้างเช่นกัน 

ไม่ได้รื้อด้วยความก้าวร้าวนะ เรารื้อผ่านการตั้งคำถามว่าสิ่งที่ทำกันอยู่ มันถูกมันควรแล้วหรือ ที่คนกลุ่มหนึ่งสามารถกำหนดทุกอย่างบนหน้าประเทศนี้ได้ แล้วคนอีกส่วนหนึ่งกลายเป็นคนที่ต้องเดินตามสิ่งที่บอก ถ้าไม่เดินตามก็กลายเป็น ‘อีแรด’ ‘อีร่าน’ ‘อีผิดเพศ’ ‘อีตุ๊ด’ ‘อีกะเทย’ แล้วเราไม่ใช่มนุษย์หรือ? แล้วไม่สามารถกำหนดอะไรในชีวิตตัวเองได้เหรอ? 

หรือแม้แต่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพศหรือความสัมพันธ์เชิงคู่รักเราก็ยังพบอยู่มากว่า ท้ายที่สุดคนที่เป็นเพศชายมักจะถือสิทธิอยู่เหนือคนที่เป็นเพศหญิงหรือคนหลากหลายทางเพศตลอด ถือสิทธิในทำนองว่า ฉันสามารถข่มเธอได้นะ ฉันสามารถสร้างคุณค่าหรือลดทอนคุณค่าเธอได้นะ ทั้งที่คุณค่าไม่ควรถูกใครย่ำยีขนาดนั้น เราแค่รู้สึกว่าเราเห็นใจคนที่อยู่ในความสัมพันธ์แล้วต้องถูกกดทับแบบนั้นมากๆ 

เวลาเราเจอความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมแบบนั้น อั๊สอยากเข้าไปโอบแล้วบอกเขาว่า “คุณไม่จำเป็นต้องยอมขนาดนั้น คุณพูดบ้างก็ได้ว่าคุณไม่โอเคกับการที่ใครสักคนมากดทับ มาลดทอน มาด้อยค่า คุณมีคุณค่าของตัวเองคุณไม่จำเป็นต้องยอม” 

น่าสนใจว่า คุณกล่าวว่าเราไม่ได้จะไปทำลายหรือโจมตีอะไร แต่คุณทำผ่าน ‘การตั้งคำถาม’ คุณคิดว่าการตั้งคำถามมีพลังในการขับเคลื่อนอย่างไร

การตั้งคำถามมันมีพลังมาก เพราะท้ายที่สุดแล้ว ถ้าเขาเคยเจอคำถามกับสิ่งที่เขาเชื่อมาตลอดหลายคนจะหัวร้อน หลายคนเหมือนถูกไฟฟ้าสถิตช็อตในร่างกายตัวเอง ทำไมถึงมาตั้งคำถามแบบนี้ สิ่งนี้น่าจะไปจุดอะไรสักอย่างในใจเขาได้บ้าง ที่เหลือจะเป็นเรื่องของอคติที่เขาจะกล้าคิดต่อไปกับมันไหม หรือนำอคตินั้นมาใช้โจมตีลดทอนคุณค่าเรา ซึ่งหลายครั้งเราก็เป็นผู้ได้รับแรงอคติเหล่านั้น แต่ถามว่ากลัวไหมก็ไม่กลัว เจ็บปวดกับมันไหมก็ไม่ เพราะอาจจะโดนมาเยอะหรืออะไรก็ตามแต่เราแค่รู้สึกว่าฝันเราใหญ่กว่านั้น ฝันอยากเห็นคนที่เกิดมาหลังจากนี้ ได้ใช้ชีวิตอย่างไร้ขีดจำกัด เขาสามารถเลือกที่จะเป็นได้ ไม่ต้องมาเจอด่านชีวิตเหมือนเรา

เราเป็นคนที่ชอบตั้งคำถาม เป็นเจ้าหนูจำไมตั้งแต่เด็ก คือพ่อชอบสอนว่า ถ้าสงสัยอะไรให้ถาม เพราะทุกคำถามมีคำตอบ แต่ก็มีหลายคำถามที่เรารู้สึกว่าไม่ได้คำตอบ ที่รู้แบบเขาบอกว่าทำแบบนี้ก็ทำแบบนี้ไปเถอะ เช่น เราเคยถามคำถามหนึ่งตลกมาก “อัลเลาะห์กับในหลวงเป็นเพื่อนกันเหรอคะ?” (หัวเราะ)

ที่มาคือ ตอนนั้นเราต้องละหมาดสักการะอัลเลาะห์ แต่พอเห็นป้ายในหลวงที่ไหน ทำไมคนต้องยืนเคารพเหมือนกัน เราจึงรู้สึกว่าเขาเป็นเพื่อนกันหรือเปล่านะ ทำไมมีศักดิ์เท่ากันเลย เรารู้สึกแบบนั้นตอนเป็นเด็กว่า การเคารพใครแสดงว่าคนนั้นมีอำนาจ มีบารมีอะไรกว่าพวกเรา นั่นแปลว่าถ้าเราต้องเคารพสองคนนี้ก็แปลว่าเขาอาจจะมีอำนาจบารมีในระดับที่เท่ากันใช่ไหม 

แล้วเขาตอบว่า “ในหลวงคือพระเจ้าแผ่นดิน อัลเลาะห์คือพระเจ้าในศาสนา” เราก็งงแล้วถามต่อว่า “ก็พระเจ้าเหมือนกันไม่ใช่เหรอ ทำไม?” แต่เราก็ไม่ได้คำตอบอะไรเพิ่มเติม มันจึงเป็นความขำๆ ที่บ่งบอกว่าถ้าเราเป็นมุสลิมเวลาเราถืออัลเลาะห์เป็นเจ้าองค์อื่นเดียว คนอื่นก็แปลว่าไม่ใช่ ต้องแปลว่าพึงระลึกไว้ว่าเขาก็คือพระมหากษัตริย์ที่ทำหน้าที่เป็นประมุข คงไม่จำเป็นต้องให้การสักการะราวกับเขาเป็นพระเจ้า ให้ความเคารพในฐานะที่เขาเป็นประมุขก็พอมั้ง

ในส่วนของศาสนาอื่นที่ระบุเรื่องคนข้ามเพศเอาไว้เหมือนกัน เช่น ศาสนาคริสต์ เคยมีโอกาสพูดคุยในเรื่องนี้กับคนในศาสนาอื่นบ้างไหม

ในคริสต์ศาสนาเองก็มีคนขับเคลื่อนในเรื่องความหลากหลายทางเพศอยู่ เรามีโอกาสได้คุยกับเขาก็แลกเปลี่ยนความคิดกัน และเราก็ได้สิ่งที่ตกผลึกร่วมกันคือ ความเมตตาและความรักของพระเจ้ามันยิ่งใหญ่มาก ชนิดที่มนุษย์เราไม่สามารถรับรู้ได้หรอกว่ามันใหญ่แค่ไหน 

ตราบใดที่คุณยังมีลมหายใจในทุกวันคุณก็สามารถประกอบความดี ทำทุกอย่างเพื่อสังคมได้ มันน่าจะเป็นคำตอบที่มากเพียงพอแล้วว่านี่แหละคือความเมตตาของพระเจ้า เพราะถ้าไม่ใช่ความเมตตาไม่ใช่ความรักของพระเจ้าจริงๆ พระเจ้าคงจะดึงลมหายใจของเราไปนานแล้ว

คุณคิดว่า ศาสนาอิสลามในไทยจะเป็นแบบไหนในอนาคตระหว่าง ‘แค่ยอมรับได้ว่าคนบางส่วนอาจจะสามารถทำผิดอย่างหนึ่งได้’ กับ ‘อยากให้อิสลามในไทยมองว่าสิ่งนี้มันไม่ใช่สิ่งที่ผิดและเป็นสิ่งยอมรับได้ไม่ใช่บาป’

การเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างไรก็ยังเป็นบาปในศาสนาอิสลาม มันจะไม่ถูกมองว่ามันไม่เป็นบาป เพียงแต่มันเป็นบาปหนึ่งเท่านั้น ถึงแม้จะเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ยังเป็นมนุษย์และเป็นมุสลิมอยู่ใต้ร่มศาสนาได้ เราสามารถทำความดีอย่างอื่นทดแทนบาปในส่วนนี้ได้ แต่ในสังคมจะกล้าโอบรับคนกลุ่มนี้ไหม? และให้โอกาสเขาไปทำความดีอื่นๆ เพื่ออย่างน้อยประชาชาติของมุสลิมยังสามารถไปต่อได้ โดยที่เราไม่ต้องมานั่งชี้นิ้วด่ากันหรือผลักกันออกจากศาสนา

เราคิดว่าพระเจ้าไม่ต้องการให้คนนับถือศาสนาตัวเองลดลง และพระเจ้าต้องการให้โอบรับคนกลับสู่ความรักของพระองค์ให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าย้อนกลับไปตอนที่พระองค์สร้าง คือพระองค์ทรงเสียใจมากที่อดัมกับเอวา (หรือฮาวาในศาสนาอิสลาม) ไปกินสิ่งที่พระองค์ไม่อนุญาต และต้องขับไล่ออกจากสวรรค์เลย พระองค์ทรงเสียใจมาก เพราะพระองค์ไม่อยากให้มนุษย์ต้องเจอบททดสอบ ไม่อยากให้มนุษย์ในท้ายที่สุดขึ้นสวรรค์แค่ส่วนเดียว อีกส่วนนึงต้องลงนรก ท่านไม่ได้ต้องการ เพราะฉะนั้น พระองค์ต้องทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้มนุษย์ที่พระองค์สร้างทุกๆ คนได้ขึ้นสวรรค์

ถ้าเราคิดในฐานเดียวกับพระเจ้าและพากันไปทำความดีมันก็ควรจะจบ ควรจะไม่มีปัญหานี้เกิดขึ้น ควรจะไม่มีการสาดความเกลียดชังใส่กัน แต่เราคิดกันหลากหลายกัน เราไม่แน่ใจว่าเราต้องพูดอย่างไรให้คนตระหนักรู้ว่า ความเมตตาของพระเจ้ามีมากจนเราควรจะหยิบเล็กหยิบน้อยมาใช้ในชีวิตประจำวันได้

อยากฝากอะไรเป็นอย่างสุดท้ายไหม

สิ่งที่อยากฝากคือ เรางงทุกครั้งที่พูดถึงความเมตตา มีคนบอกว่ามันกล่าวไม่ได้เพราะว่ามันมีแค่พระเจ้าเท่านั้นที่รู้ ใช่มันมีแค่พระเจ้าเท่านั้นที่รู้ เราก็ไม่รู้หรอกว่าท่านมีความเมตตาให้เรามากแค่ไหนบ้าง แต่อย่างน้อยๆ ที่เราตระหนักได้ คือเรายังมีลมหายใจ เรายังทำอะไรเพื่อสังคมได้ฉันก็จะทำ ไม่ใช่แค่ในแง่ของเรื่องเพศนี้หรอก เรื่องของสังคมประชาธิปไตย เรื่องของรัฐสวัสดิการ เรื่องของสิทธิทางพลเมืองอะไรก็ตามที่ยังขาด เรายังอยากให้คนทุกคนได้รับผลประโยชน์และฉันไม่ได้คิดบนฐานของความเป็นเพศไหน ไม่ได้คิดบนฐานของความเป็นคนกลุ่มไหน ฉันอยากให้คนทุกคนมีชีวิตอยู่ในรัฐนี้อย่างสุขสบายมากขึ้น เราแค่คิดถึงส่วนรวมไม่ได้ตั้งใจจะทำเพื่อตัวเองหรือคนของตัวเอง

คือถ้าวันหนึ่งเราเห็นว่าสังคมมันดีขึ้นได้ อย่างน้อยๆ เคารพกัน ยอมรับกันมากขึ้น มันก็เป็นสังคมที่น่าอยู่ขึ้นและก็เป็นสิ่งที่ดูพื้นฐานมากและควรเกิดขึ้นได้จริง

Fact Box

  • อั๊ส-อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ หญิงข้ามเพศ นักขับเคลื่อนสิทธิทางเพศในบริบทของคนที่นับถือศาสนาอิสลาม และนักสื่อสารนโยบายแห่งศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) ของพรรคก้าวไกล
  • สามารถติดตามการเคลื่อนไหวของเธอได้ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ อั๊ส - อิชย์อาณิคม์ ชิตวิเศษ (@aitarnik.mfp)
Tags: , , , , , , , ,