“การรัฐประหารในครั้งนี้คือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

คำพูดดังกล่าวเป็นของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) หลังวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ทัตมาดอว์ (Tatmadaw) หรือกองทัพเมียนมา รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนภายใต้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) โดยอ้างว่า ผลการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2020 ส่อแววทุจริตและไม่โปร่งใส พร้อมย้ำว่า รัฐบาลทหารจะสร้างประชาธิปไตยอัน ‘มีระเบียบวินัย’ ให้กับประเทศเสียเอง

ในห้วงเวลานั้นหลายคนเชื่อว่า สถานการณ์อาจเป็นลงเอยแบบ ‘ม้วนเดียวจบ’ รัฐบาลทหารกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ และเมียนมาอาจต้องกลับไปเป็น ‘ฤาษีแห่งเอเชีย’ ซ้ำรอยสิ่งที่นายพล เน วิน (Ne Win) กระทำไว้อีกครั้ง 

 ทว่าสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ชาวพม่าตัดสินใจ ‘จับอาวุธ ลงถนน’ ลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตยและเสรีภาพอันหอมหวาน ภาพเหล่านี้สะท้อนผ่านการเกิดขึ้นของขบวนการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอารยะขัดขืน การจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น หรือแม้แต่กองกำลังประชาชน จนทำให้เมียนมาอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองอย่างเต็มรูปแบบ

แม้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบในสมรภูมิรบครั้งนี้ แต่สถานการณ์กลับพลิกตาลปัตร เมื่อตัวละครลับอย่าง ‘สามพันธมิตรภราดรภาพ’ (The Three Brotherhood Alliance) เปิดฉากปฏิบัติการ 1027 ทั่วรัฐฉาน (Shan) ในเดือนตุลาคม 2023 ทำให้ทัตมาดอว์แตกพ่าย อยู่ในสภาวะ ‘หลังชนฝา’ หลังสูญเสียกำลังพลและพื้นที่บางแห่งครั้งใหญ่ จนบ้างถึงกับบอกว่า ขั้วเผด็จการกำลังจะถึงจุดจบ และเมียนมาจะลงเอยด้วยการแตกเป็นเสี่ยง

The Momentum พูดคุยกับ ดุลยภาค ปรีชารัชช รองศาสตราจารย์ประจำหลักสูตรอาณาบริเวณศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมียนมา เพื่อสำรวจความล้มเหลวของการรัฐประหารว่าเริ่มจากจุดใด สถานการณ์ปัจจุบัน อยู่ในความเสี่ยงว่าด้วยการแตกพ่ายของรัฐบาลทหารจริงหรือไม่ และมองอนาคตท่ามกลางความเปราะบางหลังจากนี้ว่า ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยควรวางตัวอย่างไร   

สถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต

“รุนแรง ยืดเยื้อ ลามไปทั่วประเทศ”

รองศาสตราจารย์ด้านเมียนมาศึกษาตอบคำถามถึงสถานการณ์การสู้รบในปัจจุบัน ก่อนจะเริ่มเล่าต่อว่า ฝ่ายต่อต้าน เช่น รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) กลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตย และฝ่ายอองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) มีอำนาจและกำลังมากขึ้น เมื่อรวมกับตัวแสดงสำคัญอย่าง ‘กองกำลังชาติพันธุ์’ 

ขณะที่ทหารเมียนมาที่ดูราวกับพ่ายแพ้ในหลายสมรภูมิ แต่ในความเป็นจริง สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้น ‘พ่ายหมดทั้งหน้ากระดาน’ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า พวกเขายังสามารถยืนหยัดและรักษาระยะในบางพื้นที่อย่างปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ดุลยภาคตั้งข้อสังเกตถึงตัวแสดงในสมการความขัดแย้งครั้งนี้ เมื่อกองกำลังชาติพันธุ์มีผลประโยชน์และความต้องการ แตกต่างจากฝ่ายต่อต้านอย่างชัดเจน บางส่วนมีจุดยืนชัดว่า ต้องการสหพันธรัฐประชาธิปไตยหรือสภาวะรัฐซ้อนรัฐ ขณะที่บางส่วนยังไม่สามารถระบุผลประโยชน์ของตนเองได้อย่างแน่ชัด

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้จึงอาจส่งผลทำให้ความขัดแย้งยืดเยื้อและการสู้รบดำเนินต่อไป โดยสามารถแบ่งแนวโน้มของเหตุการณ์ในอนาคตได้ 3 รูปแบบ

กรณีแรก คือทหารเมียนมาเป็นฝ่ายได้เปรียบ ดุลยภาคคาดการณ์รูปแบบการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยอาจถูกกีดกัน เริ่มจากการแก้ระบบเลือกตั้ง ‘ผู้ชนะกินรวบทั้งหมด’ ที่พรรค NLD ได้เปรียบในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ไปสู่ ‘ระบบสัดส่วน’ ทำให้เกิดรัฐบาลผสมมากขึ้น ขณะเดียวกัน พรรคนอมินีของทหารจะมีบทบาทในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีอย่างเต็มรูปแบบ โดยที่ทั้งโลกไม่มีทางได้เห็น ‘ประชาธิปไตยเต็มใบ’ ในสูตรดังกล่าว

กรณีที่ 2 หากฝ่ายต่อต้านชนะ อาจต้องมองไปถึงสถานการณ์ที่นานาชาติให้การยอมรับรัฐบาล NUG ซึ่งส่งผลต่อความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลแทนที่สภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council: SAC) หรือรัฐบาลทหารของมิน อ่อง หล่าย ขณะที่ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า รัฐบาล NUG กับกองกำลังชาติพันธุ์จะแบ่งผลประโยชน์ หรือเขตอิทธิพลในแต่ละพื้นที่กันแบบใด

ในกรณีสุดท้าย ทั้งสองฝ่ายเข้าข่าย ‘ไม่แพ้-ไม่ชนะ’ หรือเสมอตัวกัน ก็อาจจะนำไปสู่สถานการณ์บีบคั้นให้รัฐบาลทหารและฝ่ายต่อต้านทำการเจรจาในหลากหลายทางออก ทั้งการตกลงตั้งสหพันธรัฐประชาธิปไตยหรือการจัดสรรอำนาจรูปแบบอื่น

ภูมิทัศน์การเมืองในความขัดแย้ง: รัฐซ้อนรัฐ VS รัฐรวมศูนย์

แม้สถานการณ์ยังไม่ลงตัว แต่ดุลยภาคพยายามชวนทำความเข้าใจสถานการณ์ด้วยการเน้นย้ำไปที่ ‘ภูมิทัศน์ของการเมืองเมียนมา’ หรือรูปแบบของรัฐ เพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจบริบทเฉพาะของความขัดแย้งครั้งนี้

ดุลยภาคอธิบายว่า รัฐเมียนมามีรูปแบบเครือสมาพันธรัฐตามแนวชายแดน หรือ ‘รัฐซ้อนรัฐ’ กล่าวคือ กองกำลังชาติพันธุ์ยึดครองดินแดนบางส่วนเกือบสมบูรณ์ จนมีลักษณะเป็น ‘รัฐกึ่งเอกราช’ อีกทั้งยังมีความสามารถในการดำเนินกิจการของรัฐบางอย่าง เช่น การให้บริการสาธารณสุขหรือการให้การศึกษา ฯลฯ แต่ยังไม่ถือว่าแยกตัวออกจากสหภาพเมียนมาเสียทีเดียว

สภาวะดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเจนจากสถานการณ์ในรัฐคะฉิ่น (Kachin) รัฐยะไข่หรืออาระกัน (Arakan) รัฐโกก้าง (Kokang) รัฐว้า (Wa) และรัฐปะหล่อง (Ta’aong) ซึ่งอยู่ในบริเวณชายแดนภูเขาหรือทะเล รอบล้อมใจกลางเมียนมาอีกที

อย่างไรก็ตาม รูปแบบดังกล่าวตรงข้ามกับความต้องการของรัฐบาลทหารเมียนมา เพราะกองทัพพยายามสร้าง ‘รัฐรวมศูนย์’ (Centralization) หรือการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางทั้งหมด เพื่อปกป้องพื้นที่หัวใจสำคัญของกลุ่มทหาร

“เพราะฉะนั้น เมียนมาในปัจจุบันจึงมีการยันระหว่างกลุ่มสมาพันธรัฐบริเวณชายแดนที่แยกออกจากศูนย์กลาง ขณะที่รัฐทหารพยายามกระจุกอำนาจอยู่ในเขตใจกลางของเมียนมา หรือบางส่วนของรัฐตะนาวศรี (Tanintharyi) แล้วพยายามรวบอำนาจไม่ให้ประเทศแตกเสี่ยงๆ”

อย่างไรก็ตาม เขาชี้ให้เห็นตัวแปรเพิ่มเติมจากการแข่งขันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับกองทัพ คือรัฐบาล NUG ที่มีฐานที่มั่นทั้งแนวชายแดนและใจกลางเมียนมา ซึ่งนั่นเป็นคำถามต่อไปว่า รูปแบบของรัฐจะดำเนินต่อไปเช่นไรในอนาคต

หมัดเด็ดกองทัพเมียนมาคือกลยุทธ์ ‘เปิดศึกในพื้นที่สำคัญ’ และ ‘การเรียกกำลังเสริม’  

แน่นอนว่า ชัยชนะของฝ่ายต่อต้าน ได้แก่ กองกำลังชาติพันธุ์และรัฐบาล NUG กำลังไปได้ดี จนกลายเป็น ‘จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ’ ในสงครามกลางเมือง แต่อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งสองกลุ่มก็ยังไม่สามารถเอาชนะรัฐบาลทหารอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะกลยุทธ์แก้เกมของกองทัพเมียนมาที่เลือก ‘เปิดศึกในพื้นที่สำคัญ’ 

“ต้องอย่าลืมนะว่า กองทัพเมียนมามีกำลังพลหลายแสน แม้จะมีทหารหนีทัพหรือกำลังลดไป เพราะทหารถูกสังหารไปเยอะ แต่เขาแก้เกมด้วยการเปิดยุทธการทางทหารแค่เฉพาะอาณาบริเวณที่มีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างจึงพอดีกับปริมาณกำลังพลกับอาวุธยุทโธปกรณ์

“ณ วันนี้ เมืองในใจกลางเมียนมาภาคกลางช่วงลุ่มแม่น้ำอิรวดี (Irrawaddy) หรือสะโตง (Sittoung) ที่เป็นเมืองทางทหาร เช่น เนปิดอว์ (Nepido) ตองอู (Taungngu) มัณฑะเลย์ (Mandalay) และเมะทีลา (Meiktila) รวมถึงเมืองภายใต้กองบัญชาการทหารบกที่อยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงอย่างมิตจินา (Myintgyinar) ล่าเสี้ยว (Lashio) ตองจี (Taungkri) หรือแม้แต่เชียงตุง (Kengtung) ก็ยังไม่ถูกตีแตก นั่นหมายความว่า ทหารเมียนมาอาจจะนำกำลังเข้าควบคุมพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ ทั้งในเขตชายแดนบางจุด และกระจุกกำลังในเขตใจกลางของเมียนมา”

ดุลยภาคอธิบายต่อว่า การวางแผนรักษาพื้นที่สำคัญของกองทัพเมียนมา ต้องแลกกับการให้ฝ่ายต่อต้านยึดบางพื้นที่ ซึ่งตามมาด้วยความพยายามสร้างอาณาเขตปกครองเพื่อก่อตั้งรัฐใหม่ เช่น กลุ่มโกก้างและปะหล่อง 

อีกไพ่ลับที่สำคัญของทหารเมียนมาคือ ความสามารถในการเติมอาวุธยุทโธปกรณ์หรือการเรียกกำลังเสริมได้ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญการเมืองเมียนมาระบุว่า เป็นสถานการณ์ที่ไม่ง่ายสำหรับฝ่ายต่อต้าน

“ผมยกตัวอย่างแล้วกันว่า ในเขตภาคตะนาวศรีที่ติดกับชายแดนไทย เป็นอาณาบริเวณเต็มไปด้วยป่าเขา บริเวณนี้มีกองกำลังของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (The Karen National Union: KNU) รวมถึงกองกำลังแตกออกมา เช่น กองกำลังกอทูเล (Kaw Thoo Lei) และมีกองกำลังป้องกันประชาชน (The People’s Defence Force: PDF) ของรัฐบาล NUG เข้าไปอยู่ฝังรูปรอยในพื้นที่ด้วย 

“แต่จริงๆ แล้ว สมรภูมิจะอัดแน่นในเส้นทางถนนหมายเลขแปด หรือถนนที่โยงเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์จากมะละแหม่ง (Mawlamyine) ลงมาเย่ (Yay) ทวาย (Dawei) เข้าไปในมะริด (Mergui) ตรงนี้น่าสนใจที่ว่า ทหารเมียนมาสูญเสียกำลังพล เสียฐานบางฐาน แต่กองทัพทหารบกที่เป็นภาคชายฝั่งก็แก้เกม ด้วยการเอาทหารเรือในตะนาวศรีเข้ามาหนุนเสริม เพื่อชดเชยกำลังพลได้ 

“แต่การนำทหารเรือมาสู้รบทำได้แค่ส่วนตะนาวศรี จะขนไปช่วยในภาคพื้นทวีป เช่นรัฐฉานก็คงยาก เพราะพวกเขาไม่ได้ชำนาญในพื้นที่แบบนี้ อย่างไรก็ตาม กองทัพมีกระบวนการอื่นๆ ที่สามารถดึงเหล่าทัพอื่นเข้ามาชดเชย”

‘มัณฑะเลย์’ จุดสำคัญและจุดสลบของทัตมาดอว์

ท่ามกลางบรรดาพื้นที่สู้รบทั้งหมด ดุลยภาคเน้นให้ความสำคัญกับ ‘มัณฑะเลย์’ อดีตเมืองหลวงเก่าแก่ที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมียนมา และจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เปรียบดัง ‘จุดแข็ง’ และ ‘จุดสลบ’ ของกองทัพเมียนมา เขาค่อยๆ เริ่มอธิบายความสำคัญในด้านต่างๆ และจำแนกการวิเคราะห์ภาพรวมให้เราฟังอย่างตั้งใจ

1. มัณฑะเลย์มีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงระหว่างจีน นับตั้งแต่พัฒนาการในเชิงประวัติศาสตร์ การมีไชน่าทาวน์หลายจุด การเป็นจุดศูนย์กลางการค้าคาราวานจากจีนไปอินเดีย หรือแม้แต่โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ที่เชื่อมจากชายแดนจีนไปยังรัฐฉาน และลงมาที่มัณฑะเลย์ด้วยส่วนหนึ่ง

2. มัณฑะเลย์เชื่อมกับถนนพม่า (Burma Road) หรือเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญ โดยเริ่มจากชายแดนจีนแถวยูนนาน ลงมาที่ล่าเสี้ยว เมืองใหญ่ในรัฐฉาน และลงมาที่มัณฑะเลย์อีกที ซึ่งเป็นจุดที่เกิดการแย่งชิงในปฏิบัติการ 1027 

3. มัณฑะเลย์เปรียบเสมือน ‘จิตวิญญาณ’ ของกองทัพเมียนมา ในฐานะหนึ่งในพื้นที่ภูมิภาคอันยา (Anyathian) จุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของชนชาติพม่า และราชวงศ์คองบองที่ทหารเมียนมาภูมิใจความยิ่งใหญ่ของวีรชน

“มัณฑะเลย์คือหัวใจสำคัญ กองทัพเมียนมามีความหวั่นเกรง และพยายามทำทุกอย่างวิถีทางเพื่อไม่ให้กองกำลังโกก้างและปะหล่องลงมาจากที่ราบสูงฉาน และเข้ามาที่นี่ได้ 

“อีกที่หนึ่งคือ อังวะ อมรปุระ มัณฑะเลย์ หรือเมืองหลวงเก่า ขึ้นไปยังแม่น้ำอิรวดี แล้วมีปากแม่น้ำมูที่เป็นแม่น้ำสายเล็กแยกขึ้นไป ส่วนนี้เรียกว่า ‘หุบเขาชเวโบ’ อยู่ตรงเมืองหลวงเก่าคือ รัตนสิงห์ (Yadana Theingka) หรือชเวโบ (Shwebo) ของพระเจ้าอลองพญา (Alaungpaya) กษัตริย์พม่าที่เคยยกทัพมาตีอยุธยา 

“ในอดีต เมืองนี้เป็นพื้นที่ลี้ภัยจากศูนย์อำนาจต่างๆ เพราะสามารถเข้าไปสะสมกำลังได้ ถึงกับมีคำพูดที่ว่า หากใครยึดตรงนี้ได้ ก็จะมีฐานที่มั่นเพื่อรบระยะยาวได้ แต่มาวันนี้ ฝ่ายต่อต้านผสมผสานกับนักรบคะฉิ่นเพื่อพยายามยึดชเวโบ แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะทหารเมียนมารักษาฐานที่มั่นตรงนี้มาก

“ขณะเดียวกัน ถ้าเรากวาดพื้นที่ในมัณฑะเลย์ขึ้นไปจนถึงส่วนที่เรียกว่า Upper Burma ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ได้แก่ ลุ่มแม่น้ำชินวิน (Chindwin) และมู (Mu) ในเขตชเวโบ ซึ่งเรียกว่า ภูมิภาคอันยา ในภาษาทางโบราณคดีคือวัฒนธรรมยุคเก่าและจุดกำเนิดของชนชาติเมียนมาอยู่บริเวณแห่งนี้ 

“ดังนั้น หากทหารเมียนมาปล่อยให้ฝ่ายชาติพันธุ์หรือฝ่ายต่อต้านได้ยึดครอง คือไม่ได้เลย อย่างน้อยมันคือความสูญเสียจิตวิญญาณในเชิงประวัติศาสตร์

“แต่การที่กองกำลังเหล่านี้จะลงมาถึงมัณฑะเลย์ได้ ก็ขึ้นอยู่กับจีนด้วยว่า เขาจะพอใจแค่ไหน อย่างไร รวมถึงผลประโยชน์ที่ทหารเมียนจะแลกเปลี่ยนหรือตกลงด้วย ถ้าสุดท้ายสองฝ่ายต่อรองกันได้พอดี กองทัพก็อาจจะรักษาเมืองมัณฑะเลย์ได้”

‘อับอาย พ่ายแพ้ ล้มเหลว’ กองทัพทำอะไรผิดพลาดตรงไหนในรัฐประหารครั้งนี้? 

จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับกองทัพเมียนมาตลอด 3 ปี ไม่ว่าจะเป็นกระแสต่อต้านจากคลื่นมวลชน จนถึงสภาวะชักหน้าไม่ถึงหลังในสงครามกลางเมือง ทำให้เราเริ่มตั้งคำถามถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด หรือ ‘ช่วงก่อนทำรัฐประหาร’ โดยเฉพาะการประเมินและคิดคำนวณอนาคตของกองทัพเมียนมา

“ผมเชื่อว่ามีการคาดการณ์ก่อนทำรัฐประหารอยู่แล้ว เพราะนี่คือหลักพิชัยยุทธพื้นฐานของคนทำรัฐประหาร เขาต้องดูผลที่ตามมา” ดุลยภาคตอบคำถาม เมื่อเราลองให้เขาประเมินความคิดของมิน อ่อง หล่าย และชนชั้นนำในรัฐบาลทหาร

ดุลยภาคค่อยๆ อธิบายว่า รัฐประหารครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนอย่างชัดเจน สะท้อนจากการเกิดขึ้นของฝ่ายต่อต้าน และสงครามกลางเมืองทั่วประเทศ ซึ่งตรงข้ามกับประวัติศาสตร์การรัฐประหารของเมียนมา เพราะทหารมักควบคุมฝูงชนได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพลเรือนของนายพล อู นุ (U Nu) ช่วงปี 1958-1960 หรือการยึดอำนาจของนายพลเนวินในปี 1962 และการรัฐประหารของพลเอกอาวุโส โซ วิน (Soe Win) ในปี 1988 

“ประสบการณ์ในอดีตทำให้เห็นว่า แรงต้านจากประชาชนต่ำและควบคุมได้ ทหารเมียนมาจึงมั่นใจพอสมควรเมื่อประเมินจากประวัติศาสตร์ เขาก็คงจะคิดในลักษณะเช่นนี้ว่า ทั้งกองกำลังของทหารเมียนมา เอกภาพในการบังคับบัญชา และความเหนียวแน่นของชนชั้นนำทหาร สามารถกดทับการต่อต้านของประชาชนได้

“คือแง่หนึ่ง ทหารเมียนมาใช้ (การลุกฮือ) เป็นข้ออ้างปกครองประเทศต่อไปได้ว่า ประเทศไม่สงบ แต่ขณะเดียวกัน ทหารก็หน้าแตกเหมือนกัน เนื่องจากไม่สามารถจัดระเบียบประเทศ คืนความสงบ หรือปราบฝ่ายกบฏหรือฝ่ายต่อต้านได้ ก็เท่ากับว่า พวกเขาเสียเครดิตไปเรื่อยๆ 

 “ถ้าเอาตำราการทำรัฐประหารมาคลี่ดู ก็ถือว่า (การรัฐประหารครั้งนี้) ประสบปัญหา ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะนักทำรัฐประหารต้องจับกุม Key Figure สำคัญ หรือพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ไว้ได้ หรือถ้ามีกบฏหรือแรงต้าน คุณต้องปราบอย่างรวดเร็ว แต่นี่มันสามปีแล้ว ฝ่ายต่อต้านยิ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ”

สาเหตุที่สถานการณ์กลับตาลปัตร ไม่เป็นดังที่กองทัพเมียนมาคาดการณ์ไว้ ดุลยภาคอธิบายว่า เป็นเพราะปัจจัยสำคัญดังต่อไปนี้ 

1. การที่คนเมียนมาสัมผัสรสชาติ ‘การเมืองระยะเปลี่ยนผ่าน’ อธิบายให้ชัดเจนคือ ในช่วงที่มีการเลือกตั้งเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย เมียนมามีเศรษฐกิจที่ดี มีช่องทางทำมาหากินมากขึ้น แต่การรัฐประหารเท่ากับ ‘ปิดสวิตช์’ ยุคทองในระบอบประชาธิปไตย 

2. กระบวนการสันติภาพก่อนรัฐประหาร ที่ทำลายเส้นบางๆ ระหว่างข้อเรียกร้องของประชาชนเมียนมากับกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวคือ เมียนมามีการเจรจาทางการเมืองที่นำแนวคิดการสร้าง ‘สหพันธรัฐ’ ของกลุ่มชาติพันธุ์ และ ‘ประชาธิปไตย’ ของประชาชนผนวกเข้าไว้ด้วยกัน ส่งผลต่ออำนาจต่อรองที่เพิ่มขึ้น และกำลังทำสงครามปฏิวัติขนานใหญ่ ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นนานมาแล้ว นับตั้งแต่ช่วงระยะแรกที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ เจ้าอาณานิคม

3. ความเข้มแข็งของระบบบังคับบัญชา ในช่วงหลังรัฐประหาร ฝ่ายประชาธิปไตยริเริ่มตั้งโครงสร้างของรัฐ อย่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารในรูปแบบของคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw: CRPH) และรัฐบาล NUG 

ยังไม่รวมถึงสถาบันการเมืองอื่นๆ อย่างกระทรวงกลาโหม หรือระบบกองทัพภาคที่คล้ายคลึงกับกองทัพเมียนมา ซึ่งหากผ่าโครงสร้างออกมา ก็จะพบกองทัพประจำทุกภาคส่วนในประเทศ

ดุลยภาคอธิบายว่า ส่วนนี้มีความสำคัญ เพราะเมื่อโครงข่ายบังคับบัญชา ทำให้การทำงานดียิ่งขึ้น เป็นไปอย่างเอกภาพ และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังสามารถประสานกองกำลังชาติพันธุ์เพื่อผลัดการโจมตีเป็นระลอกเพื่อบั่นทอนรัฐบาลทหาร แม้บางส่วนยังไม่ค่อยดีอย่างที่ควรจะเป็นก็ตาม  

4. แรงบีบคั้นทางยุทธศาสตร์ หรือความเกลียดชังต่อกลุ่มทหาร อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมียนมาระบุว่า สิ่งนี้ก่อให้เกิดนวัตกรรมทางภูมิปัญญาของคนหนุ่มสาว ไม่ว่าจะเป็นการรวมใจกันผลิตอาวุธ การให้ความช่วยเหลือทรัพยากรด้วยการบริจาคเงินของคนธรรมดา หรือแม้แต่การร่วมกันระหว่างฝ่ายรัฐบาล NUG กับกองกำลังชาติพันธุ์ เพื่อฝึกฝนเทคนิคและอาวุธในการสู้รบ

‘เศรษฐกิจแบบสงคราม’ บ้านแตกสาแหลกขาด แต่คนบางกลุ่มได้ผลประโยชน์

“แล้วคนเมียนมาอยู่กันอย่างไร?” 

เราถามคำถามที่ดูเหมือนเรียบง่าย แต่ตอบยากไม่น้อยทีเดียวกับผู้เชี่ยวชาญการเมืองเมียนมา ทว่าดุลยภาคเริ่มอธิบายอย่างสบายๆ ผ่านสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่ปกติ

“ขณะนี้เศรษฐกิจของเมียนมาอยู่ในรูปแบบสงคราม คือประชาชนบ้านแตกสาแหลกขาด เส้นเลือดทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างลำบาก เพราะการส่งของไปได้แค่บางเมือง แต่กลับไม่ถึงปลายทาง เนื่องจากการสู้รบ ตามมาด้วยภาวะข้าวของแพง เงินเฟ้อ หรือแม้แต่ภาวะสมองไหล จะเห็นได้ว่าคนเมียนมาที่ร่ำรวยจองตั๋วเครื่องบินออกนอกประเทศ เพื่อหาลู่ทางใหม่

“ส่วนบริษัท SME หรือโครงข่ายการค้าเผชิญเรื่องของแพง จึงต้องไล่แรงงานออก หรือปิดกิจการ ขณะที่บางเมืองไร้ความปลอดภัยไปเลย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจแบบสงครามมีจุดเด่นอย่างหนึ่งคือ มีข้อดีสำหรับกลุ่มบางกลุ่ม เช่นตลาดค้าอาวุธเจริญมาก คนจะสั่งอาวุธหรือประกอบอาวุธกันอยู่เนืองๆ

“รวมถึงสินค้าเวชภัณฑ์หรือสินค้าทางการแพทย์ คนล้มตายบาดเจ็บในสงครามเยอะ ยาและการแพทย์จึงจำเป็นอย่างมาก หรือแม้แต่เครื่องดื่มชูกำลัง สุราสำหรับนักรบทุกฝ่ายในการต่อสู้ 

“นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเศรษฐกิจภูเขาในกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น กองกำลังโกก้างกับปะหล่อง เขาอยากสร้างรัฐผ่านการทำสงคราม ขยายความคือ ขุนศึกผู้มีอำนาจจะยึดพื้นที่ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะป่าไม้หรือพื้นที่มีแร่ธาตุอัญมณี จากนั้นก็ทำการค้าขายเพื่อซื้ออาวุธ หรือสร้างกำลังพลมาสู้ในสงครามเพื่อสร้างรัฐต่อ”

ว่ากันด้วยเรื่อง ‘รัฐล้มเหลว’ เมียนมาถึงจุดนั้นหรือไม่?

เมื่อพูดถึงประเด็นเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของผู้คน ก็หลีกหนีไม่ได้ที่จะพูดถึงแนวโน้ม ‘ความเป็นรัฐล้มเหลว’ ของเมียนมา 

ท่ามกลางความคิดเห็นหลากหลาย หรือกระแสบทวิเคราะห์ในวงการรัฐศาสตร์และสังคม ดุลยภาคตอบคำถามเราสั้นๆ ว่า “ยังไม่ใช่เร็วๆ นี้” เพราะ ‘ความพิลึกพิลั่น’ จากบริบทเฉพาะตัวในประเทศ 

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เริ่มอธิบายว่า โดยทั่วไปเกณฑ์การพิจารณาความเป็นรัฐล้มเหลวประกอบ 2 ข้อชี้วัด ได้แก่ การขยายตัวของสงครามกลางเมือง และการให้บริการสาธารณะ แต่สถานะความเป็นรัฐ ‘รัฐซ้อนรัฐ’ ของเมียนมาอาจทำให้เกณฑ์ดังกล่าวเป็นโมฆะไป 

“เมียนมาอยู่ในภาวะรัฐซ้อนรัฐ กล่าวคือกองกำลังชาติพันธุ์หรือรัฐบาล NUG ยังคงทำหน้าที่เสมือนรัฐบาล เขามีหน่วยงานทางสาธารณสุข การศึกษา การดูแลป่าไม้ การคมนาคม ระบบขนส่งโลจิสติกส์ หรือแม้แต่การทำหน้าที่ดูแลมวลชน

“จากสภาวะดังกล่าวกลายเป็นว่า เมียนมามี ‘เจ้าอธิปไตยหลากสี’ หมายความว่า ประเทศมีมากกว่าหนึ่งอำนาจในรูปแบบรัฐปกติ ดังนั้น ความเป็นรัฐล้มเหลวทั้งประเทศจึงไม่เกิดเสียทีเดียว”

นอกจากนี้ ดุลยภาคยังพูดถึงแนวโน้มการเกิด ‘รัฐเอกราช’ ในเมียนมา ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยการพิจารณาความเป็นรัฐล้มเหลว เขาก็ให้คำตอบใกล้เคียงกันว่า สถานการณ์นี้ยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน แม้ว่าจะปรากฏเค้าลางในบางพื้นที่ของประเทศ แต่การเปลี่ยนแปลงก็ขึ้นอยู่กับการต่อรองทางอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างตัวแสดงในพื้นที่เช่นกัน

“เมียนมามีแรงแยกเช่นนี้ในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และการเมือง แต่การแยกตัวในฐานะรัฐใหม่ยังไม่ใช่เร็วๆ นี้ 

“อย่างไรก็ดี ขณะนี้เราเห็นการก่อตั้งของว่านเครือรัฐเอกราช เช่นความพยายามสถาปนารัฐว้าในรัฐฉาน​ โดยไม่ขึ้นตรงกับรัฐบาลของรัฐฉาน และมีอำนาจมากกว่ารัฐบาลเมียนมา ซึ่งในอนาคต อาจจะตามมาด้วยกลุ่มโกก้างกับปะหล่อง 

 “สถานการณ์นี้ยังไม่ถึงกับแยกตัวเป็นประเทศใหม่ ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า ระบบเครือสมาพันธรัฐหรือรัฐกึ่งเอกราช” 

‘จีน’ มหาอำนาจที่ ‘จับปลาสองมือ’ เพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ

แม้สงครามกลางเมืองในเมียนมาดูเป็นเรื่องกิจการภายในประเทศ แต่ในสมการความขัดแย้งครั้งนี้เต็มไปด้วยตัวแสดงภายนอกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประเทศอาเซียน สหภาพยุโรป หรือแม้แต่ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซียก็ตาม

ทว่าบทบาทอันโดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้นจีน มหาอำนาจบ้านใกล้เรือนเคียง ดุลยภาคให้นิยามมหามิตรคนสำคัญของเมียนมาในฐานะ ‘Power Player’ หรือตัวแปรสำคัญในความขัดแย้งครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ดุลยภาคอธิบายว่า จีนไม่ได้ฝักใฝ่รัฐบาลทหารเมียนมาเป็นพิเศษดังที่หลายคนเข้าใจในหน้าสื่อ แม้ในระยะแยกสถานการณ์ดูเป็นเช่นนั้น แต่อันที่จริง จีนยังสนับสนุนชนกลุ่มน้อยและฝ่ายต่อต้านด้วยเช่นกัน สืบเนื่องจากผลประโยชน์เฉพาะในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road) หรือความมั่นคงในทรัพยากรและพลังงาน เช่น ท่าเรือน้ำลึก ท่อก๊าซ และท่อ รวมถึงบริเวณพื้นที่ชายแดนในรัฐฉาน มัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง และรัฐยะไข่

นอกจากนี้ สถานะของกองทัพเมียนมายังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกำหนดความสัมพันธ์สามเส้าครั้งนี้ เพราะทหารไม่ได้สู้จน ‘ชนะขาด’ และเสียเปรียบอยู่เรื่อยไป ขณะที่จีนมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มเป็นทุนเดิม เช่น กลุ่มว้า โกก้าง และปะหล่อง 

อย่างไรก็ตาม จีนก็ยังไม่รีบร้อนตัดความสัมพันธ์กับทหารเมียนมาแบบเด็ดขาด เพราะยิ่งพูดคุยกับทุกกลุ่มได้มากเท่าไร เท่ากับว่าผลประโยชน์ของจีนยิ่งลงตัวมากเท่านั้น

“อย่างไรจีนก็ได้ผลประโยชน์ เพราะหากดูกลุ่มที่มีส่วนได้เสียทั้งสามกลุ่ม จีนก็เริ่มจะต่อรองได้หมดแล้ว และในประเด็นระเบียงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เมื่อโกก้างกับปะหล่องควบคุมพื้นที่ในรัฐฉานเหนือได้ ก็เท่ากับว่าจีนควบคุมพื้นที่ได้เช่นกัน เพราะกลุ่มเหล่านี้ก็สนิทกับจีน

“พอกวาดสายตาลงมาที่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ทางรัฐยะไข่ เราก็เห็นกองกำลังอาระกัน (Arakan Army: AA) ต้องการมีพื้นที่รัฐกึ่งเอกราชหรือสมาพันธรัฐ กองทัพอาระกันก็ไปอยู่ที่ชายแดนจีน เพราะเป็นหนึ่งในสมาชิกภาคีพันธมิตรภราดรภาพฝ่ายเหนือ ซึ่งร่วมรบกับกลุ่มปะหล่องและโกก้าง 

“เพราะฉะนั้น พวกเขาก็คงจะมีแพลตฟอร์มในการคุยกับจีนทั้งในเขตรัฐฉานและรัฐยะไข่ที่มีท่าเรือน้ำลึก ท่อก๊าช ท่อน้ำมันของจีน ยังไม่รวมถึงความสำคัญในฐานะพื้นที่ขบเหลี่ยมกับอินเดีย บริเวณมหาสมุทรอินเดีย

“เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าการที่จีนมีคอนเนกชันกับทั้งกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ รัฐบาล NUG รวมถึงกองทัพเมียนมา เท่ากับว่าไพ่อยู่ในมือจีน หรืออาจบอกได้ว่ามือจีนข้างหนึ่งถือ ‘น้ำแข็ง’ อีกด้านถือ ‘น้ำร้อน’ ถ้าต้องมีเกมข้างหนึ่งปะทุสงครามเพื่อผลประโยชน์ที่มากขึ้น จีนก็สามารถเกลี่ยหรือเสริมสร้างอำนาจไพ่ด้านนี้ได้ แต่ถ้าต้องการสันติภาพ คู่ขัดแย้งก็อาจจะมาคุยกัน หรือประนีประนอมผลประโยชน์กับจีน แล้วท้ายที่สุด จีนก็อาจจะจัดการปัญหานี้ได้ด้วย อย่างน้อยก็ในบางส่วน”

อีกมุมของสงครามกลางเมืองในเมียนมา: ‘สนามประลอง’ อาวุธและเทคโนโลยีระหว่าง ‘รัสเซีย’ กับ ‘จีน’

นอกจากการพูดถึงบทบาทของมหาอำนาจในสมการความขัดแย้ง ดุลยภาคยังให้นัยสำคัญต่อสมรภูมิรบครั้งนี้ ในฐานะ ‘สนามประลอง’ ทางอาวุธและเทคโนโลยีระหว่างจีนกับรัสเซีย เพราะกองทัพเมียนมายังรับอาวุธยุทโธปกรณ์และความช่วยเหลือจากรัสเซีย ขณะที่ฝ่ายต่อต้านมีจีนหนุนหลังอีกต่อหนึ่ง สืบเนื่องจากความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์

“ในส่วนอาวุธยุทโธปกรณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะรัฐฉานกับรัฐบาล NUG ก็จะมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกันเอง แต่อาวุธเหล่านี้ก็ได้รับมาจากจีนอีกทีหนึ่ง เมื่อพิจารณาในภูมิทัศน์ ซึ่งก็ถือว่าสะดวก เพราะใกล้ชิดกันในทางภูมิศาสตร์

“ขณะที่กองทัพเมียนมาก็รับอาวุธจากทั้งจีนและรัสเซียด้วย หลายครั้งมีการประลองกำลังทางยุทธภูมิเหมือนกัน เช่น การใช้อากาศยานไร้คนขับ ฝ่ายต่อต้านรับมาจากจีน เอาโมเดลมาจากประเทศอื่นอีกที และนำส่วนประกอบเข้ามารวมกัน

“แต่ทางกองทัพเมียนมาก็แก้เกมด้วยการตั้งระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ (Iron Dome) จากรัสเซีย โดยระยะจากพื้นสู่อากาศอยู่ในรัศมีก็สามารถป้องกันการโจมตีโดรนของฝ่ายต่อต้านจากจีนได้ ขณะเดียวกัน กลุ่มชาติพันธุ์ก็ไม่ยอมแพ้ อัปเกรดระบบการโจมตีที่บินได้สูงกว่า หรือเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจจับ การป้องกันภาคพื้นของเมียนมา”

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องน่าอัศจรรย์ เพราะรัสเซียกับเมียนมามีความสัมพันธ์ที่ดีตั้งแต่สมัยนายพล ตาน ฉ่วย (Than Shwe) ซึ่งอาจบอกได้ว่า กองทัพใช้รัสเซียถ่วงดุลอำนาจากสหรัฐฯ ในยามที่เล่นบทตำรวจโลก ท่ามกลางกระแสก่อการร้ายในห้วงเวลาดังกล่าว ทว่ารัสเซียก็ช่วยเหลือทหารเมียนมาได้ไม่เต็มที่ สืบเนื่องวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กำลังปะทุอย่างไม่ลดละ

“หากเราย้อนกลับไปดูช่วงนายพลตานฉ่วย ประมาณช่วงปี 2005-2006 นั่นเป็นช่วงที่สหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) เขาใช้วาทกรรมบอกว่า รัฐบาลทหารเมียนมาคือด่านหน้าของทรราช และมีความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ 

“ขณะเดียวกัน กองทัพสหรัฐฯ ก็เข้าไปทำศึกในอิรักและอัฟกานิสถาน จนเข้าปราบปรามกลุ่มเผด็จการได้ ช่วงนี้กองทัพเมียนมาก็พรั่นพรึงไม่น้อยเหมือนกัน ทั้งในแง่ของอำนาจที่สั่นคลอนและการรุกรานจากต่างประเทศ แต่รัฐบาลทหารใช้วิธีแก้ด้วยการเข้าไปกระชับความสัมพันธ์กับกองทัพรัสเซียและเกาหลีเหนือ มีการขุดอุโมงค์ที่เนปิดอว์และเมืองยุทธศาสตร์สำคัญ มีการตั้งกองพันนิวเคลียร์ขึ้นมา และส่งนายทหารเมียนมาไปเรียนที่มอสโก 

“เพราะฉะนั้น กรอบความร่วมมือเช่นนี้มีมานานแล้ว แต่วันนี้ทหารเมียนมาอาจจะหลังชนฝา มีศัตรูสารพัดรอบด้าน การที่ทหารเมียนมาจะอยู่ได้ก็ต้องเพิ่มพูนแสนยานุภาพขึ้นมา แล้วสิ่งที่พอจะอัดได้ก็คือสองประเทศนี้ (รัสเซียและจีน) 

“แม้จะบอกว่า รัสเซียยุ่งวุ่นวายกับสงครามในยูเครนอย่างมาก จึงอาจจะแบ่งกำลังมาช่วยมากไม่ได้ แต่อาวุธยุทโธปกรณ์บางอย่างอาจจะได้รับการจัดสรรมาได้เพื่อช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ทรัพยากรก็ยังไม่เต็มที่ ถึงขนาดเปลี่ยนดุลยการรบในสงครามได้ระยะเวลารวดเร็ว”

‘ไม่ตัดโอกาส แต่เกิดขึ้นยาก’ สงครามตัวแทนมหาอำนาจในเมียนมา

จากบทสนทนาเรื่องมหาอำนาจในสงครามกลางเมืองเมียนมาและอดีตที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แล้วสมรภูมิแห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่ ‘สงครามตัวแทน’ (Proxy War) ของเหล่ามหาอำนาจหรือไม่ โดยเฉพาะหากเทียบบริบทการแข่งขันทางอำนาจระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในการเมืองโลก ที่ห้ำหั่นผ่านสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวัน คาบสมุทรเกาหลี ทะเลจีนใต้ หรือแม้แต่สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ตาม

ดุลยภาคอธิบายอย่างกระชับและไม่ปิดโอกาสความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ แต่เขาย้ำว่า หากมองความเป็นจริงในปัจจุบัน ผลประโยชน์และสถานการณ์ในเมียนมามีความ ‘ทับซ้อนยุ่งเหยิง’ จนยากที่จะแบ่งว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคือพรรคพวกของจีนหรือสหรัฐฯ กันแน่

“ผมยกตัวอย่าง เช่น รัฐบาล NUG หรือกองกำลัง PDF ที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย โดยทั่วไปก็อาจจะต้องอาศัยแรงหนุนจากสหรัฐฯ ขณะที่ทหารพม่าก็ควรอยู่ในค่ายของจีนหรือรัสเซีย

“แต่ความเป็นจริงปรากฏว่า ทั้งรัฐบาล NUG หรือกองกำลัง PDF รับอาวุธจากรัฐบาลจีน อีกทั้งยังไปร่วมมือกับกองกำลังชาติพันธุ์ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับจีนเช่นกัน เพราะฉะนั้น จีนก็ไม่ได้ถูกผลักให้ไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามของกลุ่มเหล่านี้ทีเดียว 

“ดังนั้น สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่ไปถึงจุดที่เรียกว่า Proxy War ชนิดแบ่งข้างแรงๆ แต่ถามว่า ข้อสันนิษฐานนี้มีรากในเชิงประวัติศาสตร์ไหม ก็พอมี ผมยกตัวอย่างสถานการณ์การเมืองในรัฐฉานช่วงสงครามเย็น โดยเฉพาะการตกค้างของกองพลที่ 93 ของกองกำลังก๊กมินตั๋ง ซึ่งมีความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ 

“ขณะเดียวกัน พรรคคอมมิวนิสต์เมียนมาก็ได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนตามอุดมการณ์ของ เหมา เจ๋อตง (Mao Zedong) เพราะฉะนั้น ศึกของจีนสองแผ่นดิน (จีนแผ่นดินใหญ่และจีนไต้หวัน) ก็เกิดในรัฐฉาน แต่ในปีกของก๊กมินตั๋งมีอิทธิพลของสหรัฐฯ เข้ามาด้วย 

“ถ้าวิเคราะห์กันที่นโยบายปิดล้อม (Containment Policy) ของสหรัฐฯ เพื่อไม่ให้คอมมิวนิสต์แพร่ขยายเข้ามามากกว่านี้ เราเห็นความพยายามของสหรัฐฯ ในรัฐฉาน ที่เข้าไปตรึงตีตอกจีนให้อยู่ที่ชายแดนเฉยๆ และไม่ให้รุกเข้ามามากกว่านี้ 

“ขณะที่สหรัฐฯ เองก็เข้ามามีส่วนร่วมในอาณาบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ผ่านกองกำลังขุนศึกชาติพันธุ์ในรัฐฉาน โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติดและการปราบปราม สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เห็นว่า สหรัฐก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีบทบาทในการเมืองพม่าอะไรเลย

“อย่างไรก็ตาม จะเห็นบางกรณีก็เข้าหาทั้งสองฝ่าย (จีนและสหรัฐฯ) ผมจึงบอกว่า Proxy War ไม่น่าเป็นไปได้ แต่สถานการณ์นี้มีรากทางประวัติศาสตร์อยู่ ยกตัวอย่างกรณีกองกำลังคะฉิ่นอิสระ เขาเป็นกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือที่มีกองทัพสหรัฐฯ กลุ่มว้า และจีนเข้าครอบคลุม 

“ฐานกำลังของคะฉิ่นตรงลายค่า (Lai Kha) ไม่ไกลจากชายแดนจีน แต่ขณะเดียวกัน คะฉิ่นก็มีผู้นำจัดประชุมในเรื่องสหพันธรัฐ หรือประชาธิปไตย โดยมีต้นแบบคือสหรัฐฯ หรือแม้แต่ชุมชนชาวคริสต์ในคะฉิ่นก็ได้รับการเผยแผ่จากมิชชันนารีอเมริกัน เพราะฉะนั้นก็อาจบอกได้เหมือนกันว่า เขามีส่วนที่ติดต่อกับโลกตะวันตกและสหรัฐฯ แต่ก็ยังติดต่อกับจีนอยู่”

ประเทศไทยทำอย่างไรต่อ?

ถอยกลับมาสู่บทบาทของอาเซียนในวิกฤตดังกล่าว ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐที่มีบทบาทในการเมืองเมียนมาคงหลีกหนีไม่พ้น ‘ประเทศไทย’ ทั้งในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน และความสัมพันธ์ (ส่วนตัว) อันดีระหว่างผู้นำ สะท้อนการไปมาหาสู่ของชนชั้นนำไทยและเมียนมาอยู่บ่อยครั้ง

จากมุมมองของดุลยภาคในฐานะผู้เชี่ยวชาญการเมืองเมียนมา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาเปรยสั้นๆ ว่า ไทยมีหลายเรื่องที่ต้องทำการบ้านและรักษาประโยชน์แห่งชาติไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายต่างประเทศ เศรษฐกิจ และความมั่นคงแห่งชาติ ในวันที่เมียนมากำลัง ‘ล้มเหลว ระส่ำระสาย พิลึก และไร้ระเบียบ’

1. เริ่มจากความช่วยเหลือมนุษยธรรม ดุลยภาคระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศน่าจะประสบความสำเร็จในการพูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอื่นๆ ในอาเซียน สะท้อนจากการที่ชาติสมาชิกเห็นพ้องต้องกันว่า ทุกฝ่ายจะยึดหลักฉันทมติทั้งห้า (Five-Point Consensus) อีกทั้งยังคอยร่วมกันผลักดันประเด็นดังกล่าวให้เด่นชัดขึ้น เช่น การเกิดจุดส่งของเพื่อช่วยเหลือพลเมืองเมียนมาในตำบลที่เป็นชายแดนไทย-เมียนมา

2. ประเด็นผู้อพยพ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเมียนมาแสดงความกังวลถึงคลื่นผู้อพยพหลั่งไหลจากรัฐฉานภาคเหนือ โดยมีสาเหตุมาจากกลุ่มโกก้าง ว้า และปะหล่อง 

 “พี่น้องชาวไทใหญ่ที่อยู่ตรงนั้นเริ่มมีความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากกลุ่มโกก้าง ว้า หรือปะหล่องเข้ามาพร้อมกับอิทธิพลทางการเมืองของจีน ดังนั้น หากประชากรไทใหญ่บางส่วนที่ต้องอยู่ก็จะถูกดูดกลืนวัฒนธรรมไป ขณะที่บางส่วนแตกกระเจิง หนีภัยต่างเผ่า ต่างผู้ปกครอง และอพยพลงมาสู่รัฐฉานภาคใต้มากขึ้น ซึ่งติดชายแดนของประเทศเรา ตรงนี้ไทยก็ต้องตอบให้ได้ว่าจะทำอย่างไร”

3. ประเด็นจากความมั่นคงที่เชื่อมโยงจากภาวะรัฐซ้อนรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มว้าและว้าแดง ซึ่งอาจกระทบกับประเด็นเรื่องเขตแดนและมหาอำนาจอย่างจีน

“เราพูดถึงการเรืองอำนาจของรัฐว้าและว้าแดง ปรากฏว่าหากจีนมีอิทธิพลสูงขึ้น กลุ่มพันธมิตรที่เป็นบริวารของว้า รบชนะของทหารเมียนมามากขึ้น ก็เท่ากับว่า อำนาจของว้าพุ่งสูงขึ้น 

“ไม่ใช่แค่เขามีชายแดนทางตอนเหนือที่ติดกับจีน แต่ยังมีชายแดนทางตอนใต้ที่ติดชายแดนไทย โดยถ้าว้าจะสร้างรัฐ ก็ต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญในทางรัฐศาสตร์คือการสร้างเขตแดน 

“เพราะฉะนั้น ประเทศไทยในวันนี้และอนาคต เวลาคุยปัญหาเรื่องปักหลักเขตแดนในภาคเหนือ เราอาจจะต้องดูเรื่องว้าแดงมากขึ้น เพราะมีแนวโน้มที่อำนาจของว้าอาจจะมากขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับจีน ขณะที่อำนาจของกองทัพเมียนมาและทหารไทใหญ่ลดลง “

บทส่งท้าย: End Game ที่ดีที่สุดอาจไม่มีอยู่จริง? 

ก่อนจากกัน เราขอให้ดุลยภาควิเคราะห์บทสรุป หรือ ‘End Game’ ในการเมืองเมียนมาปิดท้ายในแบบฉบับดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย ดุลยภาคขอตอบคำถามภายใต้แนวคิดสัจนิยม (Realism) ที่เน้นเรื่อง ‘อำนาจ’ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่า จุดจบของความขัดแย้งครั้งนี้ ต้องพิจารณาอำนาจต่อรองของแต่ละฝ่าย โดยใช้เกณฑ์ ได้แก่ ทรัพยากรภายใน ปัจจัยระหว่างประเทศ เงื่อนไขทางยุทธศาสตร์​ รวมถึงโอกาสและจังหวะของตัวแสดงแต่ละฝ่าย

ดังนั้น หากสรุปย่อย End Game ของสงครามการเมืองตามกรอบการวิเคราะห์ข้างต้น ก็จะสามารถแบ่งสถานการณ์ได้ 3 รูปแบบ ดังต่อไปนี้

1. กรณีกองทัพเมียนมาได้เปรียบ ฝ่ายต่อต้านยอมจำนนต่อความพ่ายแพ้ สถานการณ์จะอยู่ในอำนาจของรัฐบาลทหารทั้งหมด เกิดสภาวะ ‘รัฐเสนาธิปัตย์’ คือ กองทัพมีบทบาททางการเมือง อนุญาตให้มีการเลือกตั้งภายใต้การควบคุมของกองทัพ หรือมีประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัย ขณะที่พรรค NLD อาจถูกกีดกัน และคณะรัฐมนตรีนำโดยกลุ่มทหารและชนชั้นนำ 

2. กรณีกองทัพและฝ่ายต่อต้านมีอำนาจเท่ากัน ก็จะนำไปสู่สูตร ‘การเมืองแบบประนีประนอม’ เช่น การมีรัฐบาลผสมจาก 3 ฝ่าย ทั้งทัตมาดอว์ ชาติพันธุ์ และรัฐบาล NUG อย่างไรก็ตาม ดุลยภาคเปิดกว้างรายละเอียดในการต่อรอง ไม่ว่าจะเป็นระดับการยอมรับอองซานซูจีและพรรค NDL ข้อตกลงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2008 รวมถึงบทบาทของทหารในการเมือง

3. กรณีฝ่ายต่อต้านชนะ ทหารเมียนมายอมผ่อนปรน ดุลยภาคมองความเป็นไปได้ว่า กองทัพเมียนอาจไม่ถูกทำลาย แต่ต้องยอมรับสถานะที่เหนือกว่าของรัฐบาลพลเรือน เช่น มีแนวโน้มทำสนธิสัญญาลงนาม ระหว่างสองฝ่ายเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ต่อจากนี้กองทัพจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม ส่วนรัฐบาล NUG ก็ทำหน้าปกครองประเทศ และจัดสรรอำนาจกับกลุ่มชาติพันธุ์กันต่อไป

Fact Box

  • ดุลยภาค ปรีชารัชช เป็นรองศาสตราจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Southeast Asian Studies) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • นอกจากความสัมพันธ์ประเทศและพม่าศึกษา ดุลยภาคเชี่ยวชาญเอเชียศึกษา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา การเมืองเปรียบเทียบ และภูมิรัฐศาสตร์
  • สามารถชม b-holder EP43: 3 ปี รัฐประหารพม่า หนังเรื่องยาวที่ยังไม่มีจุดจบ ได้ทาง https://youtu.be/Pd1L3HdiKeE

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , ,