คนส่วนใหญ่ต่างรู้จัก ‘เพนกวิน’ — พริษฐ์ ชิวารักษ์ ในฐานะนักคิด นักกิจกรรม และแกนนำผู้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยนับตั้งแต่ช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา แต่อาจมีไม่มากนักที่รู้ว่า เขามีความสนใจเรื่องเพศสภาพและต้องการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศมาโดยตลอด

เพราะอันที่จริงแล้ว ‘เรื่องเพศ’ ก็คือส่วนหนึ่งของ ‘อำนาจ’ และ ‘การเมือง’ เป็นเรื่องของพลเมืองทุกคนในสังคม ไม่ว่าคุณจะอยู่ฟากฝั่งใดก็ตาม

“ถ้าเอาเรื่องเพศมาเป็นโจทย์ คุณก็ต้องวิเคราะห์ว่าเรื่องเพศในสังคมไทยก็มีหลายเรื่อง ทั้งเรื่อง Gender เรื่อง Identity เรื่อง Orientation มันมีอยู่เป็น 10 ประเด็นย่อย คุณคิดว่าประเด็นย่อยพวกนี้ คนไทยกำลังถูกกดขี่จากอะไรมากที่สุด

“ผมอยากให้มองตัวอย่างจากกลุ่ม LGBTQ+ ที่เขาตีโจทย์แตก หยิบปัญหาเรื่องการสมรสเท่าเทียมมาผลักดัน ดังนั้นในภาคส่วนอื่นๆ ก็ต้องไปดูว่ากลุ่มพวกนี้เขาเจ็บปวดกับอะไร คือเขาเจ็บปวดกับทุกเรื่องทั้งหมดอยู่แล้ว แต่ต้องหาให้ได้เขาเจ็บปวดกับอะไรมากที่สุด”

The Momentum สนทนากับพริษฐ์ถึงเรื่องเพศในเชิงการเมืองและอำนาจในบริบทต่างๆ นับตั้งแต่เพศสภาพของเขา ประเด็นทางเพศในขบวนการประชาธิปไตย และร่างแก้ไข พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม พร้อมข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนเรื่องเพศไปพร้อมกับการเมืองในอนาคตข้างหน้า

ปัจจุบันมีนิยามอัตลักษ์ทางเพศอย่างหลากหลาย คุณมีนิยามเรื่องเพศของตัวเองอย่างไร

ถ้าจะให้จะให้คนอื่นเข้าใจ ผมก็จะบอกว่าตัวเองคือเกย์นะ ชอบผู้ชาย ชอบแต่งแดร็กควีน (Drag Queen) แต่เอาเข้าจริงผมก็ไม่ได้อยากนิยามแบบ  LGBTQ+ เท่าไร คือคำว่าเพศสำหรับผมมันลื่นไหล มันไม่ใช่กรอบที่เป๊ะๆ เลยพยายามปฏิเสธ Gender Role ไม่เอามันมาสวมใส่ให้ตัวเอง และพยายามไม่คิดว่าตัวเองต้องติดอยู่ในสถานะใดสถานะหนึ่งไปตลอด

คือถ้าถามคนอื่น เวลาที่ไปอยู่กับเพื่อนผู้ชาย ก็จะคิดว่าเราเป็นผู้ชาย แมนทั้งแท่ง ส่วนเวลาไปอยู่กับเพื่อนผู้หญิง เขาก็คิดว่าเราเป็นกะเทยไปเลย มันก็แปลกเหมือนกันนะ อาจเพราะเราไม่ได้แสดงตัวตนชัดเจนขนาดนั้นด้วย หน้าก็ไม่ค่อยแต่ง ชุดก็ไม่ได้ต้องจัดเต็มตลอด คำพูดคำจาก็ปกติทั่วไป ไม่ได้จีบปากจีบคออะไร เป็นแบบที่ตัวเองเป็นมาตลอด

ดังนั้นหากถามเรื่องเพศอีกครั้งหลังจากบอกเรื่องพวกนี้ไป ก็จะตอบว่าเราเป็นเพนกวินแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

เรียกว่าคุณก็ลื่นไหลไปกับความพอใจของตัวเอง ไม่ยึดติดกับอัตลักษณ์ LGBTQ+ ตามนิยามของสังคม

ใช่ ผมก็เอาแบบที่ผมสบายใจ สำหรับผม การจัดเพศ LGBTQ+ คือไม่ต้องไปใส่ใจเลย จะเป็นแบบไหนก็ปล่อยไป

เพราะหากอ้างอิงตามปรัชญาตะวันออก จะมีความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่างเช่นของประเทศจีนเรียกหยิน-หยาง หมายความว่าทุกอย่างล้วนเกิดจากส่วนผสมคู่ตรงข้ามที่แตกต่างกัน อย่างมนุษย์ก็มีความเป็นเพศชายและเพศหญิงในตัวเอง สอดคล้องกับทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องของฮอร์โมน แต่เพื่อความเข้าใจโดยทั่วกัน สังคมก็เลยมีการกำหนดเพศสภาพ (Gender) ขึ้นมา ซึ่งผมมองว่าไม่จำเป็นเลย และตัวผมเองก็ไม่ได้อยากให้คนรู้จักว่าผมเป็นเกย์หรือเป็นผู้ชาย เป็นผู้หญิงหรือเป็นอะไร ผมอยากให้คนรู้จักผมในฐานะเพนกวิน

ต้องบอกก่อนนะว่าอันนี้คือจุดยืนส่วนตัวของผม คือผมมองว่าเพศเป็นวรรณกรรม มันสามารถถอดรื้อได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องถอดรื้อเหมือนผม

แล้วเรื่องรสนิยมทางเพศล่ะ 

ผมก็รู้สึกว่าผมชอบผู้ชายมาตั้งแต่เด็กๆ นะ ตอนช่วงพัพพีเลิฟผมก็ชอบผู้ชาย ผมเคยชอบผู้หญิงด้วยนะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ชอบแล้ว

ในช่วงก่อนหน้านั้น คุณเห็นว่าสังคมมีปฏิกิริยาตอบรับหรือมีความเข้าใจ LGBTQ+ มากน้อยแค่ไหน

ย้อนกลับไปตอนนั้นก็ช่วงมัธยมฯ ต้น ตอนนั้นมีมันคำถามหลายอย่างนะ หนึ่ง คือผมเจอสังคมที่กว้างขึ้น สอง คือกระแส LGBTQ+ ก็ยังไม่ก้าวหน้า ไม่เหมือนทุกวันนี้ แต่ดีอย่างที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเปิดกว้างสำหรับเรื่องนี้อยู่ เริ่มมีเพื่อนบางกลุ่มมาแชร์กันนว่าเฟมินิสต์คืออะไร ก็ได้เริ่มเรียนรู้แนวคิดจากช่วงนี้

แต่แม้จะเปิดกว้าง ในทางกลับกันแรงเสียดทานก็ยังเยอะอยู่ ปัญหาสำคัญเลยคือกลุ่ม  LGBTQ+ ต้องดูตลกตลอดเวลา ต้องเป็นพวกกองสันทนาการ นำเต้นแจว ซึ่งโดยธรรมชาติผมเป็นคนซีเรียส จริงจัง พูดอะไรผมไม่พูดเล่น และตัวเองก็ไม่ใช่คนตลกเท่าไร

การเป็นเกย์ในยุคก่อนที่ต้องพยายาม ‘ตลกไว้ก่อน’ คุณเคยทำแบบนั้นด้วยไหม หรือต่อต้านวัฒนธรรมนั้นโดยทันที

ผมก็ลองเข้าไปทำแบบนั้นสักพักหนึ่ง จนรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวผมเลย ก็เลยคิดว่าจะเป็นอะไรก็เป็นไปเถอะ แล้วแต่เขาจะเรียก แต่ถ้าให้เป็นตลกเราเป็นไม่ได้

หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้คิดเรื่องเพศสภาพตัวเองอีกเลย เพราะอย่างที่บอกว่าไม่ได้สนใจว่าคนจะคิดอย่างไร จนตอนมาข้องเกี่ยวกับการเมืองที่ผมเริ่มเอาเรื่องนี้มาคิดอีกครั้ง มันสืบเนื่องจากยุคสมัยก่อนๆ ที่ LGBTQ+ ยังไม่ก้าวหน้าขนาดนี้ ผมก็กลัวว่าพี่น้องผู้ที่รักประชาธิปไตยที่มีอายุหน่อยเขาจะเข้าใจเราหรือเปล่า เรื่องนี้ก็คิดมาตลอด

จนสุดท้ายมาคิดได้ว่าจริงๆ เขาไม่ได้ไม่โอเคกับ LGBTQ+ แต่เขาไม่โอเคกับตัวแทน LGBTQ+ ในยุคเมื่อสิบปีที่แล้วมากกว่า เพราะหากพูดถึงคนในยุคนั้น ในหัวก็จะมีแต่ ม้า อรนภา (อรนภา กฤษฎี) กับ ดร.เสรี วงษ์มณฑา มันไม่มีกะเทยประชาธิปไตยเลย ตอนนั้นก็เลยคิดว่าถ้าเริ่มต้นที่ตัวผม กล้าประกาศออกไปว่าเราก็เป็น LGBTQ+ พี่น้องหลายคนจะได้เข้าใจเรื่องนี้ และนำพามันขับเคลื่อนไปกับประชาธิปไตยด้วย

น่าจะมีแค่เรื่องนี้ที่เพศสภาพของผมไปข้องเกี่ยวกับสังคมอีกครั้งหนึ่ง

เคยมีความรักหรือคนรักไหมในช่วงเรียนมัธยมฯ 

ตอนนั้นผมไม่สนใจเรื่องความรักเลย เพราะสถานการณ์การเมืองบีบคั้นมาก ฝ่ายประชาธิปไตยโดนจับกุม ติดคุก หรืออะไรก็ตาม ในช่วงนั้นผมให้นิยามมันว่าเป็นยุคตกต่ำของประชาธิปไตย คือมีการเกิดขึ้นของกลุ่ม กปปส. พร้อมกับการยึดอำนาจ ผมเลยอยากอุทิศตนให้กับสิ่งที่ผมเชื่อก่อน ถ้ามันมีความรักไปด้วยอาจจะยุ่งเหยิงเอาได้

 ความจริงตอนที่จบมัธยมฯ ปลาย ผมห้ามความรู้สึกไม่ได้ ผมแอบชอบเพื่อนคนหนึ่ง แต่เขาเป็นผู้ชาย (นิ่งคิดครู่หนึ่ง) เรื่องนี้ผมไม่ขอลงรายละเอียดแล้วกัน แต่มันทำให้ผมเติบโตจากการมีความรัก เวลามันไม่สมหวัง มันก็ทำให้เราเติบโตทางความคิดด้วยว่า การที่จะขับเคลื่อนสังคมก็ต้องเข้าใจความคิดของคนด้วย

ประสบการณ์นี้ทำให้คุณเริ่มสำรวจและสังเกตคนที่รอบข้างมากยิ่งขึ้นไหม

ความรู้ทำให้เราแคร์โลก แต่ความรักทำให้เราแคร์คน การที่จะเปลี่ยนโลกได้ มันก็ต้องพาคนไปเปลี่ยนโลก ต้องไปทั้งโลก ไปทั้งคน เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะรัก

ฝ่ายซ้ายก็จะมีคำว่า ‘รักในอุดมการณ์’ ซึ่งผมคิดเห็นแบบนั้นนะ ผมมองว่ารักคือความปรารถนาดี เรารักทุกคนได้ในทุกสถานะ เรารักประชาชนเพราะเราอยากให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี คือที่ผมออกมาสู้ทุกวันนี้ ผมไม่ได้รู้สึกว่าผมออกมายืนยันหลักการหรือมาโชว์ว่ากระดูกสันหลังแข็งกว่าใคร สุดท้ายก็อยากให้ประชาชนทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น คิดว่านี่ก็คือความรักเหมือนกัน

ดังนั้นผมมองว่าสุดท้ายแล้วประชาธิปไตยคือความรัก การที่เราสร้างประชาธิปไตยคือเรารักประเทศนี้ ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นเผด็จการอยู่แบบนี้ ประเทศที่เรารักจะต้องย่ำแย่แน่ๆ 

ถ้าอย่างนั้นอะไรคือนิยามคำว่า ‘คู่ชีวิต’ สำหรับคุณ

ผมเชื่อเรื่องรักแห่งอุดมการณ์ เชื่อว่าชีวิตเราทุกวันนี้อยู่ด้วยอุดมการณ์ ถ้าคนที่จะรักกันหรือคู่ชีวิตเขาไม่ได้เห็นด้วย ไม่เข้าใจว่าทำไมเราเป็นแบบนี้ ก็จะอยู่กันยาก ตัวผมเองก็เคยมีแฟนคนหนึ่ง แต่เขาไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง เขาก็จะไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องอุทิศตัวขนาดนั้น ทำไมเราไม่มีเวลาให้เขา ไปถึงขั้นที่ว่าอุดมการณ์กับเขา เรารักอะไรมากกว่ากัน

แล้วคุณตอบไปว่าอย่างไร

ผมต้องตอบว่าผมรักอุดมการณ์มากกว่าสิ ผมรักอุดมการณ์มากกว่าชีวิตตัวเองด้วยซ้ำไป ดังนั้นถ้าใครจะมาเป็นคู่ชีวิตผมก็ต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย คู่ชีวิตควรเป็นคนที่ซัพพอร์ตซึ่งกันและกันให้ไปถึงดวงดาวเดียวกันได้

ผมเคยอ่านหนังสือความรักโรแมนติกสมัยก่อน จะมีที่คนหนึ่งทิ้งความฝันของตัวเองไปเพื่อคนอีกคน ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ดีเท่าไร ความจริงเราต้องมีดวงดาวดวงเดียวกันก่อนแล้วเราเดินไปด้วยกัน ถ้ามีดวงดาวคนละดวง อาจจะยากหน่อย

สำหรับคนทั่วไป ดูเหมือนจะเริ่มรับรู้ว่าคุณเป็นเกย์ช่วงที่คุณ ‘แต่งหญิง’ ร้องเพลงฉ่อย ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อปี 2563

ความจริงผมไม่เคยปิดบัง แต่ก็ไม่เคยเปิดเผย เวลาใครมาถามก็ตอบได้ปกติ แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นไปประกาศอะไร แล้วมันมีปัญหาที่ตลกมากตามมา คือผมมักจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นแฟนกับรุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ทุกวันนี้ก็มีหลายคนคิดแบบนั้นอยู่

เพราะส่วนใหญ่มักเห็นภาพคุณปรากฎคู่กับรุ้งอยู่เป็นประจำ

อาจจะใช่ แต่ก็ตลกมาก หรือเวลาที่ผมมีจริตกะเทยออกสื่อ แต่งแดร็กควีน ก็จะถูกมองว่าเราเป็นชายแท้ ไปล้อเลียน LGBTQ+ ทำไม (น้ำเสียงแกมขัน)

ผมมองว่าเรื่องนี้สาเหตุมันเกิดจากเรามีแนวทางการขับเคลื่อนความหลากหลายเท่าเทียมทางเพศที่กระด้างเกินไป คือยึดตามแก่นมาโดยสิ้นเชิง ซึ่งความเป็นจริงมันต้องมองภาพย่อยว่า ถ้าเราจะทำงานเพื่อความเท่าเทียมหลากหลาย มีเสรีภาพทางเพศมากกว่านี้ในประเทศนี้ ต้องมีวิธีเดินหมากแบบเฉพาะตัวอย่างไร เพื่อให้เกิดการส่งเสริมประชาธิปไตยทางเพศได้

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยก็ยังมีปัญหาเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศอยู่  คุณคิดว่าเกิดจากปัญหาอะไร และควรจะแก้ไขอย่างไรดี

ต้องเข้าใจก่อนว่ามันไม่ใช่ฝ่ายซ้ายชายเป็นใหญ่ หรือฝ่ายขวาชายเป็นใหญ่ ตอนนี้มันชายเป็นใหญ่กันทั้งประเทศ

ปัญหาของสังคมไทยคือชายเป็นใหญ่มาเป็นพันปีแล้ว คำถามก็คือ ทำอย่างไรที่เราจะดึงให้คนเห็นว่าปัญหานี้หรือเรื่องเพศแง่มุมอื่นๆ เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับคนไทยทุกคน ทีนี้ผมก็ชวนบรรดานักขับเคลื่อนทั้งหลายมาช่วยกันคิดว่าจะออกยุทธศาสตร์ในการขยับขบวนการแบบไหน จะทำอย่างไรให้คนไทยทั้งประเทศรู้สึกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องสำคัญ

คือถ้าเอาเรื่องเพศมาเป็นโจทย์ คุณก็ต้องวิเคราะห์ว่าเรื่องเพศในสังคมไทยก็มีหลายเรื่อง ทั้งเรื่อง Gender เรื่อง Identity เรื่อง Orientation มันมีอยู่เป็นสิบประเด็นย่อย คุณคิดว่าประเด็นย่อยพวกนี้ คนไทยกำลังถูกกดขี่จากอะไรมากที่สุด

ผมอยากให้มองตัวอย่างจากกลุ่ม LGBTQ+ ที่เขาตีโจทย์แตก หยิบปัญหาเรื่องการสมรสเท่าเทียมมาผลักดัน ดังนั้นในภาคส่วนอื่นๆ ก็ต้องไปดูว่ากลุ่มพวกนี้เขาเจ็บปวดกับอะไร คือเขาเจ็บปวดกับทุกเรื่องหมดอยู่แล้ว แต่ต้องหาให้ได้เขาเจ็บปวดกับอะไรมากที่สุด

นอกจากเราต้องทำความเข้าใจหลักการแล้ว ผมคิดว่าต้องทำความเข้าใจกับคนด้วย อันนี้คือเรื่อง Empower นะ ทำอย่างไรให้เขาตระหนักเรื่องนี้ ซึ่งผมคิดว่าแนวคิดเหล่านี้เอาไปทำความเข้าใจประชาธิปไตยได้ด้วย

ผมเสนอต่อเพื่อนพี่น้องที่เชื่อในเรื่องประชาธิปไตยทางเพศว่า มองเรื่องนี้ให้เป็นการเมือง คือหากเชื่อว่าการเมืองมันอยู่ในทุกที่ คนก็ต้องเห็น Power Dynamic ของการเมืองในเรื่องเพศ ซึ่งเราก็ต้องมาดูกันต่อว่าสังคมตอนนี้อยู่ในระดับไหน และจะผลักดันไปทางไหนได้บ้าง 

เช่นตอนนี้แรงงานผู้หญิงถูกกดค่าแรงมากกว่าแรงงานผู้ชาย มีใครจะยกสิ่งนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นหรือเปล่า หรือถ้าเป็นเรื่องในครอบครัว ผู้หญิงไทยถูกกำหนดตีตราให้เป็นแม่บ้าน เป็นช้างเท้าหลัง เป็นแม่ หรืออะไรก็ตาม จะทำอย่างไรให้ความเชื่อนี้ถูกหักล้างด้วยคำว่าพลเมือง ทำอย่างไรให้มันกลายเป็นเรื่องของทุกคนในประเทศให้ได้

ประเด็นทางเพศเหล่านี้จะช่วยสามารถขับเคลื่อนสอดคล้องกับเรื่องประชาธิปไตยได้อย่างลื่นไหลมากขึ้น

อย่าลืมว่าเฟมินิสต์ไม่ได้มีแต่ฝั่งประชาธิปไตยอย่างเดียว ฮิตเลอร์ก็มีเฟมินิสต์ในแบบของเขา อย่างพวก Elite ประมาณร้อยถึงสองร้อยปีที่แล้วก็มีท่านผู้หญิงคุณหญิงอะไรออกมาเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งกัน ถ้าคุณไปอ่านหนังสือสมัยเดือนตุลาฯ จะมีชมรมสตรี ชมรมผู้หญิง เขาก็พูดชัดเจนว่านอกจากจะมีความหลากหลาย ต้องมีความเท่าเทียมด้วย คือคุณพูดเรื่องเพศอย่างเดียวไม่ได้ คุณจะต้องพูดเรื่องเพศให้เท่าเทียมด้วย พูดถึงการกดขี่ทางเศรษฐกิจที่ผู้หญิงเจอ

ถ้าถามผมเรื่องนี้ ผมคิดว่าก็ต้องมาวิเคราะห์กันต่อ ปัจจุบันนี้ประเด็นเฟมินิสต์มีที่ยืนในสังคมแล้ว ทุกคนเริ่มเห็นแล้วว่าคืออะไร ในฐานะที่เราเป็นนักขับเคลื่อนเรื่องนี้มา เราก็ต้องชวนให้คนทั้งสังคมตกผลึกร่วมกันว่า ถ้าสังคมไทยจะก้าวหน้าไปในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ประชาธิปไตยทางเพศของคนไทยอย่างรอบด้านที่สุดคือเรื่องอะไร

คุณมีความเห็นอย่างไรกับร่างแก้ไข พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม คิดว่าขาดเหลืออะไรบ้าง และการที่ พ.ร.บ.คู่ชีวิต มาคานกันเช่นนี้ จะสร้างปัญหาในอนาคตหรือไม่

ผมไม่ได้เป็นนักกฎหมาย แต่อย่างที่ผมบอกคือ ตอนนี้ถ้ามองในเกมการเมือง ก็จะรู้ว่าร่างแก้ไข พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมคือฝ่ายประชาธิปไตย และ พ.ร.บ.คู่ชีวิตคือฝ่ายเผด็จการ เขาก็มองเหมือนกับเราว่า ปัญหาหลักของคนกลุ่มนี้คือเรื่องสถานะ ถ้าจะแก้ประเด็นเรื่องนี้ให้แค่เรื่องสถานะก็พอ ไม่ต้องแก้เรื่องความเท่าเทียม ก็จดทะเบียนได้ อาจจะไม่ได้สิทธิ์เท่าผู้ชายผู้หญิงที่แต่งงานกัน 

ดังนั้นถ้าถามผม ผมก็ต้องสนับสนุนร่างแก้ไข พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมอย่างแน่นอนอยู่แล้ว

เรื่องนี้สำหรับผมถือว่าน่ายินดีนะ อย่างน้อยๆ ก็ใช้ประเมินได้ว่า ที่ผ่านมามันก็สำเร็จแล้วในระดับหนึ่งสำหรับการขับเคลื่อนของเฟมินิสต์ เพราะถ้าย้อนกลับไปสิบกว่าปี ฝ่ายรัฐจะไม่มีแม้แต่ พ.ร.บ.คู่ชีวิต มันจะไม่มีอะไรเลย แต่ตอนนี้ทุกคนยอมรับเรื่อง LGBTQ+ แล้ว โดยตอนนี้ฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการกำลังช่วงชิงวาระ LGBTQ+ กันอยู่

แต่ที่ต้องทำต่อในฐานะนักประชาธิปไตย คือจะต้องเข้าไปชิงพื้นที่ทางการเมืองในทุกเรื่องให้มีข้อขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการ แม้แต่เรื่อง LGBTQ+ ด้วย ต้องพยายามขับไล่เผด็จการออกไปให้หมดในท้ายที่สุด อย่าเพิ่งประมาท เราต้องรักษาการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและการเดินไปข้างหน้า

แต่หากไปถามคนที่สนับสนุน พ.ร.บ.คู่ชีวิต เขาก็จะบอกว่ามีความตั้งใจที่จะมาช่วยเสริมช่วยผลักดันความเท่าเทียมทางเพศเช่นกัน 

ก่อนหน้านี้ในหมู่ภาคประชาสังคม มันจะมีกลุ่มที่คิดว่าไม่มีประชาธิปไตยก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยทำงานกับเผด็จการมันก็โอเคสำหรับเขาแล้ว มันมีคนคิดแบบนี้จริงๆ และไม่ได้มีเฉพาะเรื่องเพศด้วย มันเป็นทุกเรื่องนะ มันอาจจะเกิดจากการที่คนไทยเก็บกดมานาน เหมือนเป็นทาสมานาน ขาดความมั่นใจในตัวเอง เขารู้สึกว่าสู้กับรัฐ สู้ไปก็ไม่ชนะ เหมือนจะไม่ได้อะไรเลย ดังนั้นก็เลยไปซูเอี๋ยเลยดีกว่า

ดังนั้นการที่เขาพูดแบบนี้ มันเกิดจากปัญหาที่คาราคาซังจากอดีต เพราะถ้าอยากเปลี่ยนแปลงกันจริงๆ ก็ต้องเห็นว่าสิ่งไหนเหมาะกับประชาธิปไตยกว่า

ตั้งแต่ผมทำงานเคลื่อนไหวมา ผมเจอคนแบบนี้ในทุกวงการ ซึ่งเป็นเรื่องโชคดีมากที่ LGBTQ+ รุ่นใหม่เราไม่เอาอะไรแบบนั้นแล้ว มันเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก แต่ผมก็จะบอกว่าสภาวะแบบนั้นมันเกิดจากสถานการณ์ของคนรุ่นนั้นด้วย เขาผ่านม็อบมาหลายม็อบ ผ่านการต่อสู้มาหลายครั้ง แล้วหาทางลงไม่ได้สักที ก็เลยไม่สู้แล้ว หมอบเลยดีกว่า กราบเลยดีกว่า

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ผมอยากให้เชิญชวนให้พี่น้องที่รักประชาธิปไตยทุกเพศทุกวัยมองกันว่า มันเป็นสายธาร เป็นการต่อสู้ระยะยาว ทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากแล้ว อย่าเพิ่งท้อแท้และยอมกันไปเสียก่อน  

อีกเรื่องที่อยากรู้ก็คือจากประสบการณ์ของคุณในเรือนจำ LGBTQ+ ที่ต้องอยู่ในเรือนจำมีสภาพเป็นอย่างไรบ้าง

LGBTQ+ ในเรือนจำมีอยู่สองพวกคือเกย์กับกะเทย ซึ่งไม่ได้มาสนใจอะไรกับเรื่องเพศสภาพขนาดนั้นหรอก เขาก็จะดูจริตเป็นหลัก ส่วนใหญ่ปัญหาของคนกลุ่มนี้เป็นเรื่องการหางานในคุก เรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั่วไป ไม่มีอะไรมาก

แต่หากพูดถึงเรื่องการคุกคามทางเพศ ตรงนี้ปัญหาเกิดกับเพศชายด้วยกันเองมากกว่า ในคุกมันแปลกอย่างหนึ่งคือ เรื่องเพศเป็นเครื่องมือของอำนาจ รู้ไหมว่าในกลุ่มคนที่โดนข่มขืนในคุกไม่ใช่กะเทยนะ เป็นผู้ชายด้วยกันเอง ด้วยความที่ในคุกมันเป็นสังคมปิด ส่วนกะเทยเป็นดอกไม้ในทะเลทราย ทุกคนต้องช่วยกันดูแล มันกลับเป็นแบบนั้นไป

ส่วนผู้ชายนั้นจะแตกต่าง ข้างในนั้นจะมีวัฒนธรรมการใช้อำนาจ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณหมั่นไส้ใครก็ไปทำร้ายร่างกาย จากนั้นก็ทำการข่มขืน เป็นเหมือนการลดทอนอำนาจของอีกฝั่ง อะไรประมาณนี้ ซึ่งสิ่งนี้จะไม่เกิดกับกะเทยเลย เพราะเขารู้สึกว่ามันไม่ได้เกิดการหยามอะไรขึ้นมา ผมเคยไปถามเขานะ แล้วพี่ไม่ข่มขืนกะเทยเกย์เหรอ เขาก็บอกว่าไม่เอา “เดี๋ยวพวกมันได้ใจ ก็เหมือนมันชอบอยู่แล้วนี่” อันนี้คือคำที่เขาพูด

คิดว่าปัญหาการคุกคามทางเพศในเรือนจำจะมีทางแก้ไขได้บ้างไหม

สิ่งที่ผมสรุปได้จากในคุกก็คือ เราสามารถสอนเขาได้ การเปลี่ยนความคิดคนที่คิดต่างกันมันเป็นไปได้ แค่ต้องเข้าให้ถูกจุด ถ้าพูดเป็นภาษาทั่วไปก็คือ ต้องเข้าใจคนอีกฝั่งหนึ่งก่อน เพื่อที่เขาจะฟังคุณ ผมเชื่อว่าแม้กระทั่งสลิ่มผู้ชายเป็นใหญ่ ผมคิดว่าทุกคนมีปมในใจหมด เพราะเขาก็คนเหมือนกัน คำถามคือจะไปล้วงปมในใจเขามาได้อย่างไร

อย่างตอนอยู่ในคุก ผมก็เคยคุยกับนักโทษคนหนึ่งว่าคุณจะทำแบบนี้กับเมียคุณไหม ก็ถามตรงๆ แบบนี้เลย ซึ่งเขาก็ฟังเพราะเรามีเจตนาดีอยากให้เขาคิดได้ บางทีมันอาจจะต้องด่าบ้าง แต่หากตรงจุด เจาะใจเขาได้ เขาก็จะเปลี่ยนมาฟังเรา เพียงแต่ถ้าความคิดมันต่างกันมากนี่ มันก็ต้องเหนื่อยหน่อยที่จะเปลี่ยนกัน

ดังนั้นสำหรับทุกเรื่องเลย หากใครที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงจริงๆ ผมอยากชวนให้ลองทบทวนวิธีแบบนี้ ผมไม่ได้บอกให้เชื่อผมนะ แต่ผมบอกว่าลองทบทวนดู 

กลับมาที่การขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย คุณคิดว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ตอนนี้ขบวนการประชาธิปไตยทางเพศเริ่มมีที่ยืน เริ่มจุดกระแสไปแล้ว แต่เราจะต้องหล่อเลี้ยงกระแสและนำทางกระแสให้มันไปถูกจุด เพื่อที่มันจะได้ทำงานได้ตรงกับมวลชน เรื่องเพศมีจุดแข็งหนึ่งอย่าง คือไม่ว่าคุณจะเป็นชนชั้นไหน คุณจะรู้สึกมีส่วนร่วมกับเรื่องเพศได้ Elite ก็มีเพศ ชนชั้นล่างก็มีเพศ มันสามารถที่จะขยับไปทั้งประเทศได้ แต่คุณจะต้องตีโจทย์ให้แตก การที่มีกระแสเฟมินิสต์คือเรามาถูกทางแล้ว แต่ทำอย่างไรให้มันทำงานกับคนหลายกลุ่ม

สำหรับขบวนการ LGBTQ+ ในปัจจุบัน คุณอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงแบบไหนในอนาคตข้างหน้า

ผมอยากเห็นการรวมตัวกันของคนทุกภาคส่วนโดยเฉพาะ LGBTQ+ ด้วยกัน ให้เหมือนกับการปฏิวัติฝรั่งเศส เสรีภาพ เสมอภาพ ภราดรภาพ โดยเฉพาะคำหลัง ภราดรภาพ ซึ่งหมายถึงทุกคนต้องรวมตัวกันเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง รักกันอย่างพี่น้อง สหาย ประชาชน หรืออะไรก็ช่าง

วันนี้ LGBTQ+ มีการรวมกลุ่มแล้ว แต่ผมมองว่านอกจากจะรวมตัวกันเพื่อขับเคลื่อนเรื่อง LGBTQ+ โดยตรงแล้ว คุณจะต้องแสดงออกในฐานะพลเมืองด้วย เพราะมันเป็นเรื่องของทุกคน เพื่อนำไปสู่เรื่องเสรีภาพ เรื่องประชาธิปไตย ให้รอบด้าน 

Fact Box

  • พริษฐ์เผยต่อสาธารณชนครั้งแรกว่าเป็นเกย์ในงาน ‘ยกเลิก 112 สิ แล้วเราจะเล่าให้ฟัง’ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ซึ่งวันนั้นพริษฐ์สวมชุดผ้าไหมไทยพร้อมทรงผมตีกระบัง
  • ปัจจุบัน พริษฐ์ได้รับการประกันตัวจากคดีมาตรา 112 เพื่อออกไปศึกษาต่อ โดยมีการกำหนดเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่อันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสีย หรือด้อยค่าต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และสถาบันศาล อีกทั้งต้องติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ หรือกำไล EM อยู่ตลอดเวลา
Tags: , , , , , ,