เธอเริ่มเป็นที่รู้จักจากการขึ้นปราศรัยกับ ‘กลุ่มนักเรียนเลว’ เมื่อครั้งยังเป็นเพียงนักเรียนชั้น ม.6 และขึ้นเวทีปราศรัย #มอชองัดข้อเผด็จการ สะท้อนความผิดพลาดของระบบการศึกษาในฐานะนักศึกษาคนหนึ่ง จนถึงปัจจุบันกับการเข้าร่วม ‘กลุ่มทะลุวัง’ ที่พยายามตั้งคำถามต่อปัญหาทุกระดับในสังคมไทย
ตลอดเวลาเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ‘เมนู’ – สุพิชฌาย์ ชัยลอม เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยความเชื่อและความหวังว่า ประเทศไทยในอนาคตข้างหน้าจะดีกว่าเดิมได้
แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะความปรารถนาดีต่อประเทศบ้านเกิด กลับถูกตอบแทนด้วยการบุกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 2 ครั้ง ทรัพย์สินส่วนตัวถูกยึดไปเป็นของกลาง และต้องติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ ไม่สามารถออกนอกบ้านได้หลังเวลา 4 โมงเย็น
ระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา เธอมองสังคมไทยและสิ่งที่ตนเผชิญอยู่อย่างไร ที่สำคัญ เธอยังมีความหวังกับอนาคตของประเทศไทยอยู่หรือไม่…
ย้อนกลับไป วันที่ 28 เมษายนที่ตำรวจบุกเข้าจับกุมคุณในคอนโดฯ ที่อาศัยอยู่ ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง
วันที่ตํารวจเคาะห้อง วันนั้นเป็นวันพักผ่อนของเรา จำได้ว่าตอนเช้าเพื่อนลงไปซื้อข้าว แล้วเขาก็เห็นว่าข้างล่างมีสายสืบเต็มไปหมดเลย ตอนนั้นก็เริ่มแพนิกกันแล้วนะ แต่ก็ยังใจสู้อยู่ คิดว่าวันนี้คงมีขบวนเสด็จฯ อะไรแบบนี้ ตำรวจก็เลยมาสอดส่องดูแล เพราะช่วงนั้นก็มีขบวนเสด็จฯ ผ่านถนนเส้นที่อยู่จริงๆ ก็เลยทำให้ชะล่าใจ
หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตตามปกติ จำได้ว่าดูหนังเรื่อง Mean Girls (2004) กันอยู่ จนเพื่อนลงไปซื้อข้าวอีกรอบ ก็เห็นสายสืบตอนเช้ายังอยู่ ซึ่งตอนนี้เยอะกว่าเดิมมาก ตรงนี้แหละที่เริ่มแพนิกแล้ว แต่ก็ยังไม่อยากปักใจเชื่อว่ามีหมายจับ เพราะก่อนหน้านั้นก็เพิ่งโดนหมายจับมา แล้วมันเพิ่งจะสองวันเอง ก็เลยคิดว่าไม่น่าใช่เราแน่ๆ จนกระทั่งเราเปิดหน้าต่างไปดู โอ้โห รถตำรวจสองคันมีไฟอยู่ด้านบนหลังคา และตำรวจก็อยู่ด้านนอกเต็มไปหมดเลย
เพื่อนเลยบอกให้เราถ่ายรูปเอาไว้ก่อน แล้วค่อยมาวางแผนกันว่าถ้าตำรวจขึ้นมาบุกจับ จะทำยังไง ตอนนั้นมีคนอยู่ในห้องห้าคน ก็เลยแบ่งทีมกันว่าใครไปรับหน้ากับตำรวจ ใครประสานทนายขอความช่วยเหลือ แล้วหลังจากนั้นไม่ถึงสิบนาที เขาก็ขึ้นมาเคาะห้องจริงๆ ตอนนั้นทุกคนใจตกลงไปตรงตาตุ่มแล้ว ก็เลยเริ่มตามแผน ตบประตูแล้วก็ด่าไปเลย ส่วนเพื่อนก็โทรหาทนายทันที ซึ่งทุกคนตัวสั่นมาก
ช่วงเวลานั้น คุณกลัวอะไรมากที่สุด
กลัวเขาจะเข้ามาแล้วเอามือถือ เอาของเราไปอีก เพราะก่อนหน้านี้พวกเขามาตอนที่ทุกคนกำลังถูกส่งตัวไป สน. แล้วก็มาค้นห้องเอาของไปหมด เราก็เลยกลัวว่าจะโดนค้นห้องอีก แล้วก็กลัวจะโดนหมายจับอีก ไม่อยากเข้าไปอยู่ใน สน. แล้ว ความรู้สึกมันแย่น่ะ
จนผ่านไปพักหนึ่งทนายก็มาถึง หลังจากยื้อตำรวจอยู่นานมาก
ยื้ออยู่นานแค่ไหน
ประมาณสองชั่วโมง ตั้งแต่บ่ายสามจนถึงประมาณห้าโมงเย็น พอทนายมาถึงแล้วก็ขอเจรจา ซึ่งตอนแรก ตำรวจพยายามจะเข้าห้องมาให้ได้เพื่อบุกจับ แต่หมายค้นของเขาไม่ใช่หมายที่มีของต้องสงสัย มันเป็นการค้นเพื่อจับคน ดังนั้นถ้าเราออกไปรายงานตัว เราก็จะไม่โดนค้นห้อง
ที่สำคัญ สิ่งที่มันผิดไปหมดก็คือ เขาไม่แจ้งชื่อ ไม่แจ้งรูปคดี ไม่แจ้งว่าโดนข้อหาอะไร เขาแค่บอกว่าให้ออกมาดูเอง เราก็เลยกลัวว่าถ้าเราเปิดประตูออกไป คนจากด้านนอกที่ไม่รู้ว่ากี่คนจะดันเข้ามาด้านใน ก็เลยไม่ยอมเปิดประตู เป็นครั้งแรกที่ฝึกเอาประตูมางัดกลอนจากด้านใน ตอนนั้นเราก็ทำไม่เป็น คนในไลฟ์ก็สอนวิธีทำ
พอจนจุดหนึ่งที่รู้สึกว่าโอเค ปลอดภัยแล้ว ก็ออกมาจากห้องกัน ปรากฏว่ามีหมายจับสามคนคือ ตัวเมนูเอง, บุ้ง (เนติพร เสน่ห์สังคม), ใบปอ (ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์) ยอมรับว่าตอนนั้นเครียดและกดดันมาก ถึงขั้นร้องไห้กันเลย จากนั้นเขาก็พาตัวไป สน. ซึ่งระหว่างทางที่ลงมาด้านล่าง ก็เจอลูกบ้านในที่พักเดียวกันมายืนให้กำลังใจ
ระหว่างที่อยู่บนรถเรารู้สึกไม่ดีเท่าไร อาจจะเพราะนั่งด้านหลัง เวียนหัวง่าย เราก็เลยขอเปิดกระจก แล้วก็เห็นว่ามีมวลชน มีนักข่าวอิสระตามมาด้านหลัง จนกระทั่งตำรวจเขาขับขึ้นไปบนทางด่วน ก็เลยกรี๊ดดังมาก เพื่อสื่อสารกับคนที่ตามมาด้านหลังว่าขับขึ้นทางด่วนนะ จนเราก็ไปถึง สน. เป็นคันแรก บุ้งยังมาไม่ถึง ตำรวจคนหนึ่งก็เดินออกไปแล้วก็กลับมาที่รถ แล้วก็บอกให้ขับต่อ เขาขับไปด้านหลัง ตอนนั้นเรากับเพื่อนก็เริ่มแพนิกแล้ว ใบปอด่าตำรวจเลย เป็นครั้งแรกที่เราเห็นใบปอด่าตำรวจ เราภูมิใจในตัวเพื่อนเรามาก ส่วนตอนนั้นเราช็อก
ตอนนั้นใบปอพูดกับตำรวจว่าอะไร
ใบปอพูดซ้ำๆ ว่า ต้องพาไป สน.บางซื่อไม่ใช่หรือ ทำไมไม่พาไป สน.บางซื่อ แล้วก็พูดวนแบบนี้ไปเรื่อยๆ ส่วนเพื่อนอีกคนก็ถ่ายหน้าตำรวจ ถ่ายในไลฟ์ สามัคคีมาก โดยที่ไม่ได้คุยอะไรกันเลย เพราะมันคุยไม่ได้ เราช็อกอยู่ แล้วรถก็ล็อกจากด้านนอก ไม่ให้เราเปิดออกไปอีก แต่โชคดีที่เราเมารถ เราเปิดกระจกไว้ ก็เลยเอื้อมมือไปเปิดประตูจากด้านนอกค้างไว้อย่างนั้น แล้วพอดีรถอีกคันกำลังสวนมา เราก็ขู่ว่าจะเปิดให้มันชนไปเลย ถ้าไม่คุยกันก่อน เขาก็เลยไปจอดข้างทาง ส่วนเราก็เลยเดินออกมาคุยกันด้านนอก แล้วก็ยืนยันว่าจะเดินไป สน. ด้วยเท้าของตัวเอง
ตอนนั้นตัวสั่นมากๆ เราร้องขอความช่วยเหลือคนที่ขับตามมาด้านหลัง โชคดีมากๆ ที่มันเป็นถนนเส้นที่มีการสัญจร ถึงแม้ว่ามันไม่ใช่ถนนใหญ่ เราตะโกนขอความช่วยเหลือทุกคน โห ตอนนั้นจะร้องไห้ โชคดีมีพี่คนหนึ่งเขาขี่มอเตอร์ไซค์ขับมาจอดข้างทาง ก็เป็นพลเมืองดีนี่แหละ เขาก็ลงมาถามว่าเกิดอะไรขึ้น ตำรวจก็เข้าไปรุมเขาเหมือนพยายามกันไม่ให้อยู่ใกล้ เหมือนพยายามคุกคามว่า เป็นผู้กำกับฯ นะ เป็นหน่วยควบคุมคนนะ ก็เดินไปบังพี่เขา เห็นในไลฟ์จะเห็นท่ากางแขน จนกระทั่งมวลชนมา ก็ทำให้สบายใจขึ้น
แต่พูดตามตรง ตอนนั้นมันแพนิกไปแล้ว คือสมองเราโล่งมาก ถ้าสังเกตในไลฟ์ย้อนหลัง เราจะลูบผมตลอดเวลา เพราะเวลาเครียดเรามักจะชอบลูบผม จนกระทั่งทนายมา ก็ให้เขานั่งรถไป สน.บางซื่อด้วยกันเลย
ที่ต้องขู่ ต้องตะโกนด่า จนถึงกับแพนิกขนาดนี้ คุณกลัวว่าเขาจะพาตัวไปไหนหรือ
เขาจะพาไปสโมสรตำรวจ ซึ่งสโมสรตำรวจถ้าไปอยู่ในนั้นจะโดนเอาเข้าไปในห้องขังรวมกับคนอื่น สำหรับเรามันแย่มาก เราเคยไปอยู่ตรงนั้นตอนโดนจับที่หาดใหญ่ เขาเอาเราไปไว้ในนั้น แล้วก็ล็อกกุญแจมือ มันไม่โอเคมากๆ และเราไม่อยากเจอแบบนั้นอีก ที่สโมสรมันสกปรก มันเหมือนคุกใต้สุสาน
จากเหตุการณ์นี้ คุณผิดหวังกับกระบวนการยุติธรรมของไทยส่วนไหนมากที่สุด
ทุกส่วน ทุกพฤติกรรมที่เกิดขึ้น มันผิดทุกอย่างเลย
เอาตั้งแต่ที่โดนบุกจับครั้งก่อนหน้าเลย เขาก็ทำผิดกฎหมายแล้ว การมาบุกค้นห้องโดยที่เจ้าของห้องไม่เกี่ยวข้องกับคดี ไม่มีใครอยู่ด้วยเลย อันนี้ผิดกฎหมายเต็มๆ แล้วก็เอาของของเราไปด้วย มันคือการบุกค้นโดยมิชอบ มันผิดกฎหมายแล้วเราก็มีสิทธิ์ที่จะฟ้องกลับ
อีกอย่างก็คือการไม่แจ้งหมาย ไม่แจ้งรูปคดี คนที่มาเขาไม่ยอมแจ้งชื่อ ไม่ยอมเปิดเผยตัวตน ไม่ยอมแจ้งตำแหน่ง ซึ่งตามหลักแล้ว ผู้ต้องหามีสิทธิ์ที่จะขอเช็กหมาย แล้วถ้าเป็นหมายค้น เรามีสิทธิ์ที่จะเช็กว่าในหมายที่ได้มา เขามอบหมายให้ใครเข้ามาค้น แล้วเราก็มีสิทธิ์ขอตรวจบัตรประชาชนว่าตรงกับคนที่อยู่ในหมายไหม แต่นี่เขาไม่เปิดเผยสักอย่าง
รวมถึงเขามีสิทธิ์ที่จะพาเราไปสโมสรตำรวจไหม เพราะตามหลักแล้ว มีสิทธิ์ที่จะพาตัวไปได้ ต้องมาจากการชุมนุม แต่ในจุดๆ นั้นมันไม่ได้มีการชุมนุม มีแค่คนที่มาให้กำลังใจเรา แต่เขาก็อ้างสิทธิ์นั้น อ้างว่าประชาชนจะก่อความวุ่นวาย จะทำร้ายเจ้าหน้าที่ ก็เลยพาเราไปที่อื่น ซึ่งมันเป็นพฤติการณ์ที่ตีความไปเองโดยมิชอบ โดยการป้ายสีประชาชน
กลุ่มทะลุวังเจอเหตุการณ์บุกค้นถึงสองครั้ง ขวัญและกำลังใจเป็นอย่างไรกันบ้าง
ดีขึ้นกว่าเดิมเยอะ ครั้งแรกมันห่างคนมาก ไปโดนที่ชะอำ คือเรากำลังจะไปเที่ยวกระบี่ เขาก็นึกว่าเราจะลี้ภัย ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ เราจะไปเที่ยวกัน มันเป็นความต้องการของบุ้งกับใบปอ เพราะรู้ตัวว่า ตะวัน (ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ – หนึ่งในสมาชิกกลุ่มทะลุวัง) โดนจับไปแล้ว เขาจะโดนต่อจากตะวันแน่นอน ก็เลยอยากใช้ช่วงเวลาหนึ่งอาทิตย์ที่ศาลยืดเวลาฟังคำไต่สวนไปเที่ยวทะเล เราก็อุตส่าห์โดดค่ายไปเที่ยวทะเลกับเขา ก็มีทุกอย่าง อูคูเลเล่ เล่นดนตรี ใบปอก็ไปซื้อชุดว่ายน้ำมาใหม่ สุดท้ายก็โดนจับตรงนั้น แล้วไม่มีใครสามารถมาช่วยได้
ตอนนั้น เรารู้สึกโดดเดี่ยวมากๆ แล้วตอนนั้น คนที่ต้องทำทุกอย่างคือบุ้งที่ต้องแบกรับทุกอย่างจริงๆ เรากับใบปอก็พูดอะไรไม่ได้ พูดปุ๊บก็โดนมอง ส่วนพลอย (เบญจมาภรณ์ นิวาส) ก็คือเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว พอเจอสถานการณ์นี้ เขาเหมือนแช่แข็งตัวเองไปเลย เหมือนร่างกายถูกบังคับให้หลับ หลับยาวมาก มันคงเป็นกลไกป้องกันตัวเองเนอะ ซึ่งเราก็เข้าใจ
หลังจากวันนั้น เราก็มาถอดบทเรียนกันนะ แล้วก็ได้แบ่งหน้าที่กันชัดเจน คนที่โดนหมาย ที่มีความเสี่ยงสูง หรือใครที่ไหวก็มาไฟต์ต่อหน้าเลย แล้วก็แบ่งหน้าที่กัน ทำให้การบุกจับรอบที่สอง เรามีสติกันเยอะมากๆ รู้หน้าที่ ประสานงานกันดีมากๆ พี่บุ้งก็ด่า เราก็ไลฟ์แล้วเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นตลอด ช่วยด่าด้วย คนด้านหลังเขาก็ซัพพอร์ตเรื่องทนาย ซัพพอร์ตเรื่องจิตใจ ทนายซัพพอร์ตเรื่องคดี อีกคนประสานมวลชน ข่าว สื่ออะไรแบบนี้ มันเป็นทีมเวิร์กที่รู้งานกันมากๆ ทำให้ครั้งนี้ทำได้ดี แล้วการบุกจับครั้งที่สอง เราเห็นว่ามีมวลชนมารอ และมีลูกบ้านที่เคยเห็นหน้ากันมายืนให้กำลังใจ ก็เลยรู้สึกว่ามันมีกำลังใจดีอยู่
หลังจากเหตุการณ์นั้น ส่งผลต่อชีวิตประจำวันมากไหม
มันบั่นทอนตลอดเวลาอยู่แล้ว แค่ใช้ชีวิตในฐานะคนที่ติดอยู่ในบัญชีดำของรัฐบาล มันทำให้เรารู้สึกว่า เราใช้ชีวิตปกติไม่ได้ ทั้งที่เราก็พยายามใช้ชีวิตปกติกันตลอด ไปเที่ยว แต่สุดท้ายการไปเที่ยวของเรา มันก็มีคนตาม จนกระทั่งมาโดนเงื่อนไขนี้ มันก็ทำให้ชีวิตลำบากมากขึ้น รวมถึงเรื่องการบุกจับ มันควรจะเป็นวันที่สบายๆ พักผ่อน มันก็ทำให้ทุกคนไม่ได้พัก ต้องมาเหนื่อย เสียกำลังใจ ต้องมาหวาดระแวงอีกว่า ที่อยู่โดนเปิดเผยไปแล้ว จะใช้ชีวิตต่อในที่นั่นอย่างไร
ปัจจุบัน คุณต้องติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Monitoring: EM) และต้องรีบกลับบ้านก่อนสี่โมงเย็น ลำบากมากไหม
เราเป็นคนชอบใช้ชีวิตตอนกลางคืน ไม่ใช่ไปข้าวสารอะไรแบบนั้นนะ หมายถึงเราชอบไปร้านบุฟเฟต์ ไปย่างเนย ตี๋น้อย อะไรแบบนี้ ก็ไม่ได้ทำแล้ว ไม่มีโอกาสอีกต่อไป ไม่ได้กินย่างเนยที่รักอีกแล้ว
อีกอย่างคือขึ้นเครื่องบิน เพราะมันมีคดี 112 ที่หาดใหญ่ ต้องเดินทางตลอด มันทำให้เราลำบากมาก ไม่สามารถขึ้นเครื่องบินได้อีกต่อไป แล้วที่หนักที่สุด รู้สึกว่าไม่สามารถปรับตัวได้ ก็คือห้ามออกนอกบ้านหลังสี่โมงเย็น มันลำบากมากนะ เพราะสี่โมงมันคือเวลาที่ทุกคนกำลังเลิกงาน เลิกเรียน เลิกกิจกรรมต่างๆ คือเขาตั้งเงื่อนไขอะไร ไม่ดูสภาพการจราจรของประเทศไทยเลย แล้วก็มีหลายครั้งที่เรากลับบ้านเลตเพราะว่ารถติด
การเรียนล่ะ มีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน
เต็มๆ เลย เรียกว่าพังแล้วก็ได้ เพราะว่าโดนยึดโน๊ตบุ๊ก แล้วเครื่องนั้นเราเก็บเงินซื้อด้วยตัวเองครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งแม่ไปยืมคนอื่นมาให้ เพราะวันต่อไปเราจะแข่งทำเกมแล้ว แต่กลับโดนยึด ซึ่งในนั้นก็ไม่มีอะไรเลย นอกจากโปรแกรมทำเกม ทำแอนิเมชัน ทำให้เราซึ่งเป็นเด็กสายคอมและต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนเป็นหลัก ไม่ได้ใช้ไอแพด ไม่มีอุปกรณ์การเรียน แถมโดนเงื่อนไขห้ามออกไปข้างนอกอีก จะไปมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ มันขัดกับการใช้ชีวิตประจำวันมาก เพราะเราเป็นคนตื่นตอนเที่ยง มันก็เลยทำให้เวลาที่เราใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกลดน้อยลง บางวันก็ตื่นมาสี่โมงเย็นเลย ก็ออกไปไหนไม่ได้
ที่เรียกว่าพังสุดๆ คือตอนนี้เราขาดส่งวิชาละสิบกว่างาน ทั้งหมดเจ็ดวิชา ติด F ไปแล้วหนึ่งวิชา อีกหกวิชาก็น่าจะ F หมดเลยเหมือนกัน แล้วมันมีปัญหาตรงที่เราได้ทุน ต้องรักษาเกรดให้ได้ 3.00 ขึ้นไป ต้องเก็บชั่วโมงทุน ทั้งหมดยี่สิบเอ็ดชั่วโมง ซึ่งก็เก็บไม่หมด เพราะว่าไม่มีคอมพิมเตอร์ในการทำงานจิตอาสา ทำให้จากเทอมแรกที่เกรดทำได้ 4.00 ได้ A เกือบหมดเลย ร่วงแน่นอน กับติด F อีกเจ็ดตัว ไม่เหลือแล้ว ก็เลยคิดว่าหลุดแน่นอน ตอนนี้ยังหาทางออกไม่ได้ นอกจากต้องทำใจยอมรับมัน
ทุกวันนี้ หลังเวลาสี่โมงเย็นแล้ว คุณทำอะไรบ้าง
หลังจากบุ้งกับใบปอโดนถอนประกัน พลอยก็เข้ามาอยู่ด้วย มันจะเหลือแค่สองคนคือเมนูกับพลอย โชคดีที่มีเพื่อน เราก็พยายามเชียร์อัพกัน มันเป็นพื้นที่ปลอดภัย เราไม่ได้รู้สึกเบื่ออะไรขนาดนั้น มันมีเรื่องให้คุยได้ตลอดเวลา มีเพื่อนคอยซัพพอร์ตทางจิตใจ
พูดถึงกิจกรรมที่ผ่านมาของกลุ่มทะลุวัง กลุ่มทำโพลสำรวจไปแล้วประมาณกี่ครั้ง
หกครั้งแล้ว
จากการทำโพลสำรวจมาหกครั้ง คุณได้เรียนรู้และได้ประสบการณ์อะไรมาบ้าง หรือตอบได้ไหมว่าวิธีแบบนี้มันมีประสิทธิภาพจริงๆ
มันเป็นเรื่องเศร้าที่เรารู้ว่า ตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการเคลื่อนไหวออกมาเรียกร้องเพื่อให้มีการแสดงออกอย่างเสรีจนถึงตอนนี้ การทำโพลของเราก็ยังถูกมองว่าเป็นการปลุกปั่น โดนคำครหามากมายจากทุกฝ่าย รวมถึงฝั่งเดียวกันด้วย แปลกมาก
ซึ่งเราก็ได้สื่อสารไปแล้วว่า เพราะอะไรถึงทำโพล มันก็มีคำครหาที่ว่า การทำโพลของเรามันไม่ใช่เชิงวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เชิงวิชาการ แต่ในมุมมองของเรา เราคิดว่า การทำโพลของเราคือการตั้งคำถามแค่นั้น มันไม่ควรมีเงื่อนไข เพราะทุกคนมีสิทธิ์ตั้งคำถาม มันมีแค่นั้นเลย แล้วมันก็เป็นสิ่งที่เราพยายามสื่อสารมาตลอด มันมีแค่นั้น คุณอย่าไปตั้งเงื่อนไขเลยว่า โพลจะต้องเป็นเชิงวิชาการ ถามโพลเสร็จปุ๊บ คุณต้องถามคนทั้งประเทศ หรือว่าต้องไปทำวิจัยต่อ มันไม่ใช่ คือถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำเลยแล้วกัน ก็แค่นั้นเลย
เราเห็นว่าโพลเป็นการสร้างพื้นที่แสดงออก แล้วมันก็เป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนรู้ว่าเขาสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นได้ แล้วเขารู้ว่าเขามีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นออกไป มันเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่ทำให้ประชาชนมีความมั่นคง คืนอำนาจที่แท้จริงให้กับตัวเอง เรารู้สึกว่าเราชอบพื้นที่นั้น ที่มันเปิดให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น แล้วเราก็ได้บทเรียนเรื่องการเคลื่อนไหวอีกว่า ต่อไปจะดำเนินการเคลื่อนไหวอย่างไร
การทำโพลมันไม่ใช่สิ่งผิด ทุกกลุ่มทุกคนสามารถทำได้ ให้หยิบกระดาษปากกามาตั้งคำถาม แล้วก็แจกสติกเกอร์ให้คนมาแสดงความคิดเห็น มันก็ทำโพลได้แล้ว สามารถทำได้ทุกคน ไม่ใช่แค่นักเคลื่อนไหว
หลายคนสงสัยเหมือนที่คุณพูดเมื่อครู่นี้เลยว่า เวลาที่ตั้งคำถามและมีคนมาแปะสติกเกอร์คำตอบแล้ว และนำโพลไปยื่นตามสถานที่ต่างๆ จนเสร็จสิ้น จากนั้นโพลจะนำไปสู่อะไรต่อไป หรือก็จบแค่การทำโพล
เรามีความตั้งใจว่า ถ้าเราทำโพลไปได้เรื่อยๆ การตั้งคำถามเป็นเรื่องปกติ เราก็อยากให้รัฐบาลทำประชามติ และมาถามสิ่งที่ประชาชนต้องการจริงๆ เลย มันสามารถผลักดันไปสู่เรื่องนั้นได้ในส่วนของนโยบายหรือกฎหมาย หรือในเชิงของการเคลื่อนไหว มันก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบในการแสดงออกของการประท้วงเช่นกัน
หลายคำถามมันอาจจะเป็นคำถามที่ทุกคนตั้งมานานแล้ว แล้วก็มีคำตอบในใจแล้ว สิ่งนั้นมันเหมือนเป็นเครื่องยืนยันด้วยว่า เสียงของประชาชนมีความหมาย เหมือนมือหนึ่งที่ถืออำนาจ อีกมือที่ถือโพล คืออำนาจของประชาชน และโพลที่เราถืออยู่ มันคือคำตัดสินของประชาชน มันคือสิ่งที่ประชาชนต้องการจริงๆ
พูดได้ว่าโพลก็เหมือนเป็นการกรุยทางให้สังคมชินกับการที่ทุกคนสามารถตั้งคำถามได้ จนต่อยอดไปถึงประชามติ
ต่อยอดได้แน่นอน แล้วมันก็เป็นสิ่งที่พวกเราคิดมาโดยตลอดว่า โพลมันทำอะไรได้มากกว่านั้น มันไม่ใช่แค่เป็นคำถามการเมือง โพลเริ่มต้นมาจากกิจกรรมในโรงเรียน จากกลุ่มอะไรสักอย่างที่ทำโพลเกี่ยวกับผ้าอนามัย ซึ่งคนที่เดินผ่านไปผ่านมาหรือเด็กในโรงเรียนชอบกิจกรรมนี้มาก เพราะพวกเขาได้มีส่วนร่วม
เราเลยรู้สึกว่า โพลสามารถสร้างพื้นที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้ เช่น การทำโพลที่พูดถึงการไล่ที่จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่อีกไม่กี่ปีคนแถบอนุสาวรีย์ชัยฯ หลายคนอาจจะไม่ได้มีบ้านให้อยู่แล้ว เพราะโดนไล่ที่ แล้วในวันนั้นคนที่เขาเดือดร้อนจริงๆ ก็เข้ามาพูดคุยกับเรา ซึ่งการแชร์เรื่องราว ประสบการณ์ และการสร้างพื้นที่ตรงนี้แหละ ที่มันจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตย
ตอนทำโพลสำรวจประเด็นต่างๆ คนที่เข้ามาหา มาตอบ พวกเขาพูดคุยอะไรกับคุณบ้าง
ด้านดี คือส่วนใหญ่จะบอกว่าเขาดีใจที่ได้พูดออกไปสักที เพราะว่าที่ผ่านมาในที่ทำงานหรือในสังคม เขาไม่สามารถพูดได้ แล้วเขาผ่านมาเห็นเราทำโพลพอดี แล้วก็มีอีกหลายคนที่เดินผ่านไปมา เขาเห็นเขาก็หยุดเอง เขาก็ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงถามคำถามนี้ เราก็ได้พูดออกไปด้วยว่า ทำไมเราถึงตั้งคำถามนี้ เราเจอเหตุการณ์อะไร เราสงสัยอะไร มันเหมือนเป็นพื้นที่ที่ทำให้ประเด็นนั้นได้มีการพูดคุยกัน มันเกิดการตระหนักรู้ต่อสังคม เป็น Awareness ในอีกรูปแบบหนึ่ง
คือเราไม่จำเป็นต้องไปบังคับให้คนมีความคิดเห็นเดียวกับเรา เราแค่ตั้งคำถามให้เขาคิด แล้วให้เขาตระหนักให้ได้ว่าปัญหานี้มันกระทบสังคมอย่างไร ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อแต่ละคนอย่างไร ปัญหานี้มันเชื่อมโยงกับปัญหาในเชิงโครงสร้างอย่างไร
คุณรู้ใช่ไหมว่า มีอีกกลุ่มที่ทำโพลเหมือนกัน ด้วยคำถามในประเด็นความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ซึ่งก็มีคนแปะสติกเกอร์เห็นด้วยจำนวนมาก คุณมองกิจกรรมนี้อย่างไร
ก็ถ้าเขาทำได้ แสดงว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่น่าเสียดายที่พวกเราทำแต่โดนจับ แล้วทำให้เราโดนมาตรา 112 ดังนั้น เรายังยืนยันว่าการตั้งคำถามมันไม่ผิด แต่วิธีการที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติกับมันนั้นผิด คำถามไม่ได้ผิด การทำโพลไม่ได้ผิด มันผิดตรงสิ่งที่ภาครัฐตีความ และผิดที่ภาครัฐแปะป้ายบุคคลว่าเป็นอาชญากร
ขบวนการประชาธิปไตยมีอยู่หลายเฉด มีความต้องการหลายระดับ บางกลุ่มอาจจะขอแค่ ‘ทะลุสภา’ ไม่ถึงกับ ‘ทะลุวัง’ จะถือเป็นแนวคิดที่เดินไปด้วยกันกับกลุ่มของคุณได้ไหม
คิดว่ามันไปต่อได้ เพราะในมิติของการสร้างสังคมที่ดีขึ้น มันไม่ใช่แค่การปฏิรูปสถาบันฯ หรือเปลี่ยนรัฐบาล แต่มันต้องเรียนรู้ถึงโครงสร้างเชิงอำนาจกับทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ศาสนา โรงเรียน สังคม รวมถึงการเมือง
สิ่งที่เราต้องการ คือการเปลี่ยนแปลงเชิงอำนาจนั้น เพื่อให้อำนาจของทุกคนเท่ากันจริงๆ เด็กที่โดนผู้ใหญ่ใช้อำนาจเพื่อปิดปาก เด็กที่อยู่ในความรุนแรงในครอบครัว การถูกใช้อำนาจกดขี่ ด่าทอ ดูถูก ล้อเลียน หรือกระทั่งเรื่องเพศ อันนี้คือการใช้อำนาจทั้งนั้น เราก็อยากให้ทุกสถาบันให้อำนาจกันอย่างเท่าเทียม
เราก็เลยคิดว่า ตราบใดที่อุดมการณ์สุดท้ายของเรา คือต้องการให้สังคมมันดีขึ้น พวกเราก็เดินทางเดียวกันมาโดยตลอด
ทุกวันนี้คนพูดกันว่าม็อบเริ่มแผ่ว นักเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มไม่ปรากฏตัว คุณคิดเห็นอย่างไรในเรื่องนี้
ช่วงนี้เป็นช่วงที่นักกิจกรรมเรียกว่า ‘แกล้งตาย’ เพราะว่าเราประเมินความเสี่ยงกันตลอดเวลาอยู่แล้ว คือมันเป็นการหาวิธีปลอดภัยที่สุดเพื่อที่จะเคลื่อนไหวต่อในระยะยาว ผลก็คือตอนนี้มันเป็นภาวะที่อันตรายและรุนแรงมากๆ คือมีการยกเลิก พรก.ฉุกเฉินไปแล้ว และเล่นคดีมาตรา 112 และ 116 กันตลอด อย่างที่ทำโพลก็โดนมาตรา 116 พอมันเป็นแบบนี้บวกกับการพยายามขังยาว ทั้งที่คดียังไม่ถูกตัดสินว่าผิด อย่างเช่น พฤติการณ์ของตะวันที่ใส่เสื้อดำเตรียมเข้าขบวนรับเสด็จฯ ยังไม่ได้เริ่มเลยด้วยซ้ำ ตามกระบวนกฎหมาย เขายังไม่ได้เข้าขบวนด้วยซ้ำ แต่เขาโดนดักอยู่ด้านหน้า มันยังไม่เกิดพฤติการณ์ขึ้น ก็ถือว่าผิดไปแล้ว
เราเลยเห็นว่าช่วงนี้คือช่วงที่เขาเอาจริง หลายครั้งเขามีกลยุทธ์มารับมือเราแล้ว คือทำขบวนเปล่า แล้วใช้ตำรวจหรือคนที่ใส่ชุดตำรวจเข้ามาใช้กำลัง พยายามจะทำให้นักกิจกรรมที่จะเข้าไปในขบวนเสด็จฯ ไปอยู่ในคุกให้หมด หรือไม่ก็ใส่กำไล EM เรามองว่าสิ่งที่รัฐกำลังทำอยู่มันอันตราย หลายคนเลยต้องเซฟตัวเองก่อน
คุณมองว่าแนวโน้มหลังจากนี้ จะมีการใช้อำนาจรัฐที่หนักหน่วงและรุนแรงขึ้นสำหรับนักเคลื่อนไหวทางการเมือง
ใช่ เอาตามตรงคือเรากลัวมาก เราไม่พร้อมที่จะอยู่ในเรือนจำเลย
มันทำให้หลังจากนี้ พวกเราจะถอยกลับ แต่ไม่ใช่การหยุดพัก มันเป็นการกลับไปทบทวน การกลับไปคิดถึงวิธีการเคลื่อนไหวที่ทำให้อิมแพ็กมากขึ้น แล้วเราก็ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวระยะยาวมากๆ เพราะทุกคนที่ออกมา ต้องการให้สังคมดีขึ้นจริงๆ แต่การมีสุขภาพจิตที่ดีคือหนึ่งในอาวุธสำคัญที่ใช้สู้ต่อเหมือนกัน
มันก็เลยเป็นช่วงที่ทุกคนทำเท่าที่ตัวเองทำได้ ประเมินว่าตัวเองไหวแค่นี้ ประเมินว่าประเด็นนี้เล่นได้ หรือประเด็นนี้ยังไม่ถึงเวลา สภาพสังคมยังไม่พร้อม เศรษฐกิจยังไม่ดีพอที่จะทำกิจกรรมนี้ ต้องรอสักพักก่อน มันคือภาวะที่หลายคนกลับมาฟื้นฟูตัวเองด้วย แกล้งตายด้วย
การต่อสู้มันยาวแน่นอน เราก็เลยคิดว่า มันไม่เป็นไรที่ทุกคนจะรู้สึกอยากพัก พยายามฟื้นฟูตัวเองในสภาวะที่อยู่บนความขัดแย้งให้ได้ อยู่กับความเดือดร้อน ความกดดัน การระแวงว่าจะถูกคุกคาม มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่ใครจะรู้สึกว่าอยากพักหรือทำอะไรเท่าที่ตัวเองไหว
คุณมีโอกาสได้คุยกับแกนนำรุ่นพี่กลุ่มอื่นๆ บ้างหรือเปล่า พวกเขามีคำแนะนำอะไรบ้างไหม
ล่าสุดก็คุยกับ พี่ลูกเกด (ชลธิชา แจ้งเร็ว) ที่เขาสู้มาตั้งนานแล้วตั้งแต่ปี 2557 เขาก็ย้ำเรื่อง well-being บอกว่า ถ้าเราสู้ในขณะที่สภาวะจิตใจข้างในที่ไม่มั่นคง สุดท้ายจะพัง แล้วเราจะลุกขึ้นกลับมาสู้อีกได้ยาก เขาก็แนะนำให้พัก เขาบอกว่า บางครั้ง การเป็นม้าเร็วมันต้องดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งสถานการณ์นี้ ถ้าเราประเมินแล้วว่า ทำไปมันก็ไม่ตรงตามจุดประสงค์ที่เราตั้งไว้ ก็ไม่จำเป็นต้องฝืน
อีกอย่าง คือเขาแนะนำว่านอกจากการเคลื่อนไหวแล้ว การหันกลับมารับฟังความรู้สึกคนอื่น ความรู้สึกของเพื่อนๆ ในกลุ่ม การหันกลับมาเยียวยาจิตใจซึ่งกันและกันคือสิ่งที่สำคัญมากๆ ที่จะทำให้กลุ่มของพวกเราไปต่อและไปถึงเป้าหมายได้
ที่ผ่านมา คุณเคยเข้าร่วมประชุมในรัฐสภาเกี่ยวกับการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คุยกันครั้งนั้นแล้วได้คำตอบอะไรบ้าง
มันเป็นการประชุมที่ พี่เจี๊ยบ (อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล) เป็นคนขอตั้งการประชุมขึ้นมา เป็นมติเกี่ยวกับการใช้กฎหมายทางการเมืองกับประชาชน ซึ่งมีการเชิญราษฎร เชิญคนที่ได้รับผลกระทบ หลายคนก็ไปนั่ง แล้วก็ชวนอีกฝั่งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นอัยการอะไรแบบนี้ มาหาทางออกร่วมกันว่าควรจะเป็นอย่างไร
ซึ่งผลออกมาคือผิดหวัง เสียดายที่ประเด็นวันนั้นมันเป็นปัจเจกบุคคล เพราะในวันนั้นมีการพูดถึงตะวันเยอะมากๆ แต่ก็ยังมีคนอื่นที่พวกเรายังไม่ได้พูดถึง
อีกทั้งพอมีการแย้งเรื่องหลักการสากล ว่าทำไมการตัดสินของตุลาการถึงไม่มีหลักสากล ทั้งที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคีที่ลงนามว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการตัดสินความผิด ก็ให้ปฏิบัติเหมือนเป็นคนบริสุทธิ์ ทำไมประเทศไทยยังถอนประกันคนแล้วเอาเข้าคุก เราตั้งคำถามแบบนี้กลับไปยังฝั่งที่เป็นตำรวจ ทหาร อัยการ ศาลชั้นต้น
เขาก็พูดกลับมาว่า เขาไม่ได้ใช้หลักสากล แต่ว่าเขามีไกด์ไลน์ของตัวเอง แล้วพอขอให้เขาเปิดไกด์ไลน์ เขาก็บอกว่า ไม่สะดวกเปิดให้จริงๆ ตอนนั้นเราก็ช็อกไปเลย พูดไม่ออก แล้วพอเราแย้งเรื่องกำไล EM ไป เขาก็บอกว่ามันคือ ‘ของขวัญจากเรือนจำ’ ที่ช่วยลดการแออัดในเรือนจำ และเป็นอิสรภาพให้แก่นักโทษด้วย
แต่เขาคงลืมว่าเราไม่ใช่นักโทษ เรายังเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้ต้องหา ผู้ถูกกล่าวหา เรายังไม่ได้เป็นจำเลย อีกอย่าง ถ้าพูดถึงหลักการปฏิบัติต่อนักโทษ การติดกำไล EM คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง ดังนั้นหลักการที่เขาว่ามา เราทำได้แค่กุมขมับ พลอยที่นั่งอยู่ข้างๆ ก็ตาค้าง ทุกคนตกใจกับสิ่งที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมตอบ
ดูเหมือนว่าการประชุมร่วมกันหลายๆ ฝ่ายในครั้งนั้น จะไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร
วันนั้น มีตอนหนึ่งที่เราขอยกเลิกเงื่อนไขในการได้ประกันตัวทั้งหมด เขาก็ตอบกลับเชิงดูถูกเราด้วยว่า ไม่มีใครคิดจะทำ เพราะศาลเมตตาให้เงื่อนไขมาแล้ว ในการที่เราไม่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ คุณจะมาขอยกเลิกเงื่อนไขทำไม คุณมีสิทธิ์อะไร เขาพูดอย่างนี้
ซึ่งเราไม่สน เราไม่ใช่คนผิด แล้วเราก็ถามว่า ถ้าอยากยกเลิกต้องทำอย่างไร เขาก็บอกว่าทำได้ ก็ลองยื่นอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์ดูสิ เราก็เลยบอกว่าโอเค เดี๋ยวทะลุวังจะอุทธรณ์เอง เราเลยกลับไปเพื่อที่จะอุทธรณ์ศาลเพื่อขอยกเลิกเงื่อนไขทั้งหมดที่มี ทั้งกำไล EM ทั้งห้ามออกจากบ้าน จะขอยกเลิกให้หมด
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่เพิ่งผ่านไป เป็นบรรยากาศของประชาธิปไตยมาก คุณมีความเห็นอย่างไรบ้าง
ยังไม่ถูกใจสักคน รู้สึกว่ายังไม่สามารถเลือกได้ หลายอย่างรู้สึกว่าสิ่งที่เขาคิดมายังไม่ตรงกับสิ่งที่เราต้องการจริงๆ
เรารู้สึกว่า นโยบายรอบนี้เป็นสิ่งที่คิดมาโดยคนที่มีอภิสิทธิ์ แต่ไม่ได้คำนึงถึงคนที่ไม่มีความพร้อมเลย มันมีแค่คนชนชั้นกลางหรือคนที่มีอภิสิทธิ์ที่สามารถไปกับนโยบายนี้ได้ ในขณะที่คนที่ต้องหาเช้ากินค่ำไม่ได้ประโยชน์อะไรจากนโยบายนี้เลย แล้วอีกสิ่งที่เราให้ความสนใจคือการที่เขารับฟังเสียงประชาชน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ผู้ว่าฯ ส.ส. หรือรัฐบาล การที่คุณพูดว่า คุณมาทำงานรับใช้ประชาชน หรือทำเพื่อให้กรุงเทพฯ ดีขึ้น คุณต้องฟังเสียงประชาชนอยู่แล้ว ซึ่งก็อยากให้มีมากขึ้นกว่านี้
ประชาชนต้องการอะไร คุณต้องเอาตรงนั้นมาคิดนโยบายให้พวกเรา เราถึงจะเลือกคุณ แค่นั้น
ทบทวนชีวิตตั้งแต่ยังไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองจนถึงทุกวันนี้ คุณมองมันอย่างไร
เวลาพูดเรื่องนี้ทีไร รู้สึกอยากร้องไห้ทุกที หนูเริ่มต้นเคลื่อนไหวด้วยความหวังมาก คิดว่าคนเปลี่ยนกันได้ อยู่ร่วมด้วยกันได้ รัฐต้องฟังเสียงเราได้ โอโห ความคิดของเด็กอายุสิบเจ็ดน่ะ แต่มาถึงวันนี้ คือมันเจ็บมาก ทั้งวันเฉลิม (วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์) หาย มีข่าวจ่านิว (สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์) โดนทำร้าย แล้วก็ล่าสุด คนที่เป็นสมาชิกของพรรคก้าวไกล (อนันต์ โลเกตุ) ผูกคอตายด้วยพฤติกรรมที่ดูเหมือนเหตุสุดวิสัยอีก รวมถึงเราเจอความจริงหลายๆ อย่างมากขึ้น มันทำให้เราใช้ชีวิตทุกวันนี้แบบที่ว่า เราต้องทำใจไว้เลยว่า วันหนึ่งเราอาจจะไม่มีสิทธิ์ได้หายใจอีกต่อไป
แล้วลองคิดดูว่า สิ่งที่เราเคลื่อนไหวมาเกือบสามปี มันเปลี่ยนให้เราเห็นว่าความจริงมันมืดขนาดไหน เรามาถึงจุดที่ความหวังถูกทำให้ริบหรี่ลงเรื่อยๆ แต่ว่ามันยังเหลืออยู่นะ ไม่ได้หายไป ก็ได้ทบทวนตัวเองมากขึ้น กลายเป็นว่ามันเปลี่ยนทัศนคติของเราไปเลย
หลังจากเคลื่อนไหวทางการเมืองมาถึงจุดหนึ่งแล้ว คุณอยากให้สังคมจดจำหรือนึกถึงคุณและเพื่อนๆ แบบไหน
ภาพจำที่เราอยากให้มวลชนเห็น เหมือนไพ่ทาโรต์ใบที่สิบเก้า ไพ่ The Sun ที่เราทำมาขาย เรารู้สึกว่า เราเห็นตัวเองและเพื่อนๆ ของเราเป็นแค่เด็กหรือเยาวชน คนที่มีความเป็นเด็กอยู่ในตัว ยังดี๊ด๊า ยังมีความร่าเริงสดใสในตัวเอง แต่ขณะเดียวกัน ก็มีความตั้งใจที่จะทำให้สังคมดีขึ้น อยากให้เห็นว่า คนธรรมดาอย่างเราก็อยากให้ชีวิตของตัวเองอยู่ในสังคมที่ดีขึ้น และอยากให้เขาลุกขึ้นมาช่วยกันสร้างสังคมอีกแรงหนึ่ง
เพราะทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหว หลายคนชอบติดภาพจำว่านักกิจกรรมคือเคร่งขรึม แต่เรากับเพื่อนไปวิ่งเล่น ไปเต้น ไปสนุก คือภาพที่มีความเป็นเด็ก แต่สิ่งที่พูดออกมาหนักแน่น ประมาณนี้
Fact Box
- ‘เมนู’ - สุพิชฌาย์ ขึ้นปราศรัยครั้งแรกบนเวทีกลุ่มนักเรียนเลวเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนชั้น ม.6 และเมื่อเป็นนักศึกษา เธอก็ร่วมปราศรัยบนเวที #มอชองัดข้อเผด็จการ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 สะท้อนถึงปัญหาของระบบการศึกษา ทั้งเรื่องโซตัส สิทธิการแสดงออกของนักศึกษา และความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ปัจจุบัน สุพิชฌาย์คือหนึ่งในแกนนำ ‘กลุ่มทะลุวัง’ จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ผ่านมา กลุ่มทะลุวังมีการเคลื่อนไหว โดยจัดกิจกรรมทำโพลสำรวจประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาแล้วถึง 6 ครั้ง