“คาดว่าจะถูกสลายการชุมนุมภายใน 10 นาทีนี้ เราจะนั่งเฉยๆ ให้ตำรวจมาจับ ไม่ใช้แนวทางอื่นใดทั้งสิ้น”

ข้อความจากเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เครือข่าย People Go Network และผู้นำหมู่บ้านทะลุฟ้า ที่ประกาศไว้ทางเฟซบุ๊กเพจของเขาก่อนที่จะถูกจับกุมตัวในไม่กี่นาทีต่อมา ในท่านอนชู 3 นิ้ว ไม่มีการตอบโต้ใดๆ อย่างที่ข้อความได้ว่าไว้ ตามกติกาของหมู่บ้านทะลุฟ้าที่ยึดหลักการไม่ใช้ความรุนแรง

ก่อนรุ่งสางของเช้าวันที่ 28 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากเข้ายึดพื้นที่ ‘หมู่บ้านทะลุฟ้า’ ที่ปักหลักอยู่ข้างทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2564 โดยให้เวลาผู้ชุมนุมในหมู่บ้านเตรียมเก็บสิ่งของเพียงสามนาที ก่อนจะจับกุมตัวผู้เข้าร่วมไปจำนวน 68 ราย พร้อมเก็บกวาดข้าวของเครื่องใช้ในหมู่บ้านในช่วงเช้า และตามมาด้วยการสลายการชุมนุมอีกครั้งหลังมวลชนรวมตัวจัดกิจกรรม นอนชุมนุมขัดขืนอย่างสงบหน้าที่ตั้งของหมู่บ้านทะลุฟ้า เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ จนถูกจับตัวไปเพิ่มอีก 31 ราย รวมจำนวนผู้ถูกจับกุมบริเวณหน้าหมู่บ้านทะลุฟ้ามากถึง 99 รายในวันเดียว

“หมู่บ้านทะลุฟ้าเคยอยู่ตรงนี้”

ไม่มีใครคาดคิดว่าภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ข้าวของเครื่องใช้และผู้คนในหมู่บ้านทะลุฟ้าจะถูกเก็บกวาดจนสิ้น คงเหลือไว้เพียงป้ายกระดาษจากบุคคลนิรนามที่เขียนทิ้งไว้ ย้ำเตือนว่าหมู่บ้านทะลุฟ้าเคยอยู่ตรงนี้

ภาพจากเพจ UNME of Anarchy

หากแม้พื้นที่ทางกายภาพจะถูกขจัดไป หลักใหญ่ใจความ ทั้งแนวคิด วิธีการ และสิ่งที่ชาว ‘ทะลุฟ้า’ พยายามสื่อสารเสมอมา ตั้งแต่กิจกรรม ‘เดินทะลุฟ้า’ ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาจนถึงหมู่บ้านทะลุฟ้าจะยังคงอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม ดังที่ ‘เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์’ ได้กล่าวไว้ว่า 

“คนที่ผ่านการเคลื่อนไหวแบบนี้จะอยู่กับการไม่รู้คำตอบได้ว่าเมื่อไหร่เราจะชนะสักที เมื่อไหร่จะจบเสียที พอเราอยู่กับมันไปเรื่อยๆ เราก็แค่ตอบได้ว่าหมดลมหายใจเมื่อไหร่ก็หยุดต่อสู้เมื่อนั้น ถ้ามองตามความเป็นจริง ผมว่าการต่อสู้ทางการเมืองคือตลอดชีวิตของเรา ต่อให้เราชนะครั้งนี้ ได้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย เราก็ต้องคอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลต่อไปอยู่ดี มันก็ยังมีประเด็นอื่นที่ต้องทำงานต่ออยู่ดี ถ้าความจริงมันเป็นอย่างนี้ ผมจึงคิดว่ามันสำคัญมากที่เราต้องหล่อเลี้ยงความหวังและความฝันไว้ ไม่งั้นเราจะไปต่อกับมันไม่ได้”

*สัมภาษณ์​ ณ วันที่ 24 มีนาคม 2564 

จาก ‘เดิน’ สู่ ‘หมู่บ้าน’ ทะลุฟ้า

เราเดินมาถึงกรุงเทพฯ ที่เป็นจุดหมายก็จริง แต่เป้าหมายของเราคือข้อเรียกร้องยังไม่ได้การตอบสนองเท่าไร ไม่สิ ยังไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จากรัฐ ทั้งเรื่องการปล่อยเพื่อนเรา เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วก็ยกเลิก ม.112 พอเดินมาถึงแล้วก็ยังมีเพื่อนที่ถูกจับกุมตัวไปเพิ่ม หรืออย่างไผ่ที่เดินมาเพื่อรายงานตัวแต่แรก เราก็คุยกันว่าตอนเดินมาถึงเขาจะให้ประกันตัวหรือฝากขัง แต่พอจะเดาทางได้ว่าโดนฝากขังแน่ๆ เพราะแนวโน้มการพิจารณาคดี ม.112 ทั้งหมดตั้งแต่ต้นปีก็เป็นไปตามนั้น อย่างที่ทนายอานนท์และคนอื่นๆ พูดว่าแนวทางมันเปลี่ยนไปชัดเจน ว่าเขาต้องการเอาคนที่โดน ม.112 ฝากขังทั้งหมด เพื่อจะทำให้กระบวนการเคลื่อนไหวภายนอกอ่อนแอที่สุดเท่าที่จะทำได้

ผิดหวังไหมกับการเดิน 247.5 กิโลเมตร 20 กว่าวันกับ 3 ข้อเรียกร้องที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง

มันเหนื่อย แต่ไม่ได้ผิดหวัง เพราะเราประเมินกันตามจริงว่าข้อเรียกร้องทั้งสามอาจไม่ได้สำเร็จได้ด้วยการเดิน แต่การเดินมันสำเร็จในเชิงรณรงค์ให้พี่น้องได้เห็นถึงปัญหา เป็นการเสนอรูปแบบการเคลื่อนไหวใหม่ๆ ที่ไม่อยู่แค่การชุมนุมในกรุงเทพฯ การเดินมันเปิดให้พี่น้องรายทางที่อยู่ตามจังหวัดต่างๆ ได้สะท้อนปัญหาของเขา ได้มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหว มันสำเร็จในแง่นั้น แต่เรื่องผลักดันข้อเรียกร้อง เราก็หาทางกันต่อไป พอเดินมาถึงเลยคิดว่ามันจำเป็นที่จะต้องยืนพื้นกันยาวๆ เลยออกมาเป็นการตั้งหมู่บ้านเพื่อสะท้อนปัญหาอย่างต่อเนื่อง

การออกเดินได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้คนตลอดเส้นทางทำให้ภาคต่อ V.2 ของหมู่บ้านทะลุฟ้าต่างไปจากเดินทะลุฟ้า V.1 อย่างไร

ทั้งการเดินและการเปิดพื้นที่หมู่บ้านส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อรับฟังปัญหาเหมือนกัน แต่ในการจัดการนั้นสำคัญที่เราจะต้องคอยปรับว่าเราจะนำเสนอผ่านมุมมอง จุดร่วมข้อไหน ซึ่งมันชัดว่าคนที่จะตัดสินใจตอบสนองหรือไม่ต่อ 3 ข้อเรียกร้องหลักคือรัฐบาล ผู้ควบคุมกลไกสำคัญของรัฐทั้งหมด แน่นอนว่ามีสถาบันเหนือรัฐธรรมนูญที่ทำให้รัฐบาลมีท่าทีแบบนี้ แต่ความบาดหมางระหว่างประชาชนกับรัฐมันลึกขึ้นมากหลังรัฐประหาร ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ แต่การที่มีรัฐบาลตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 มันยิ่งเอื้อให้การอยู่เหนือรัฐธรรมนูญของสถาบันกษัตริย์เกินขีดจำกัด ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างประชาชนกับสถาบันกษัตริย์มันผิดเพี้ยนบิดเบี้ยวไป

เราเลยนำเสนอความเกี่ยวข้องซับซ้อนของปัญหานี้ด้วยการชี้ให้เห็นว่ากลไกที่ทำให้ความชั่วร้ายเกิดขึ้นได้อยู่ที่รัฐบาล ซึ่งความคิดพวกนี้มันก็ปรับกันไปมาจากการเดินไปคุยไปในแต่ละวัน ที่เราเริ่มเห็นแล้วว่าถ้าจะขยายมวลชนให้มากพอจนพลิกกลับได้ เราต้องพุ่งไปที่การขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ เพราะถ้าพุ่งเป้าไปที่ข้อ 3 เรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์โดยตรงอาจไม่สามารถสร้างแนวร่วมได้มากพอ 

ทั้งการเดินและหมู่บ้านมันเสริมกันอยู่ ผมรู้สึกว่าความตื่นตัวทางการเมืองวันนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องคนรุ่นใหม่หรือคนในกรุงเทพฯ แล้ว การเดินมันทำให้ผู้คนได้แสดงออก และเราเองก็ได้เช็คอุณหภูมิสังคม อย่างการบอกว่าให้ปล่อยเพื่อนเรา ความหมายที่จะสื่อจริงๆ คือเรื่องการยกเลิก ม.112 แล้วมันก็เริ่มจับอุณหภูมิได้ว่าข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์บางคนเขายังไม่แน่ใจ แต่ถ้าพูดเรื่องยกเลิก ม.112 ก็เห็นว่ามีน้อยคนมากที่ไม่เห็นด้วย พอเรารู้แบบนี้จากการเดิน มันก็เป็นบทเรียนว่าเราจะปรับยังไงให้การเคลื่อนไหวหลังจากนี้ขยายแนวร่วมได้มากขึ้น

อีกอย่าง เท่าที่เห็นจากการได้คุยกับพี่น้องตอนเดิน เราเห็นว่าข้อเรียกร้องให้ไล่ประยุทธ์ออกเป็นสิ่งที่คนเห็นตรงกัน จะชื่นชมในสถาบันกษัตริย์ เคยใส่เสื้อเหลืองหรือแดงมาก่อนต่างไม่มีใครชอบรัฐบาลประยุทธ์ เราเลยอยากทดลองดูว่าถ้าขยับการสื่อสารมาเป็นไล่ประยุทธ์ออกน่าจะรวมมวลชนได้ 

มีคนค้านไหมในวันที่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องที่พูดกันตรงไปตรงมา แต่เราขยับมาพุ่งเป้าไปที่รัฐบาลแทน

จริงๆ มันมีเป้าหมายเดียวกัน ไม่ว่าจะสื่อสารจากมุมไหน ถ้าเราจัดวางรัฐบาลได้ดี ทำให้รัฐบาลกลับมาทำหน้าที่ปกติ เป็นรัฐบาลของประชาชน ไม่ได้เป็นกลไกสืบทอดอำนาจแบบนี้มันก็จะไปจัดระเบียบเรื่องการอยู่เหนือรัฐธรรมนูญให้อยู่ในเส้นที่ยอมรับได้ แต่อย่างที่บอกว่าไม่มีใครรู้หรอกว่านำเสนอแบบนี้จะได้ผลในการสร้างมวลชนเพิ่มขึ้นจริงไหม เรารู้สึกแค่ว่าอยากทำให้ข้อเรียกร้องมันไปได้โดยไม่ตีบตันเกินไป แต่ไม่ว่าจะใช้ข้อความไหน เป้าหมายมันคือสามข้อเรียกร้องเดิม

จุดยืนคงเดิม แต่วิธีการและข้อความในสารต้องปรับไปเรื่อยๆ ตลอดทาง

เวลาทำงานกับมวลชน ทุกอย่างมันเป็นการทดลองทั้งหมด ไม่มีใครรู้ไปกว่าใครเลย เรากำลังอยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยกัน ต้องเล่าว่าไผ่ฝากโจทย์การบ้านไว้ให้เราพอสมควร เรื่องนี้ผมไม่รู้ว่าพูดได้มากน้อยแค่ไหน พูดไปแล้วจะกระทบกระเทือนจิตใจใครหรือเปล่า ย้ำก่อนว่าไม่มีเจตนาทำร้ายใคร เรายังเชื่อว่าเรามีเป้าหมายเดียวกัน เพียงแต่ไผ่เขามองว่ารูปแบบการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปีที่ผ่านมาในรูปแบบม็อบต่างๆ นั้นผลักดันข้อเรียกร้องไม่ได้ และเขากังวลว่าการไม่มีการจัดตั้งหรือที่เรียกว่าม็อบออร์แกนิกค่อนข้างเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี ไม่ได้บอกว่าอะไรดีไม่ดีนะ ไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่าการเคลื่อนไหวของม็อบปีที่ผ่านมามันเปิดประเด็น และทำให้ผู้คนหันมาสนใจการเมืองกันมากเป็นประวัติการณ์ แต่ม็อบมีอายุขัยของมันอยู่ มันเร็ว ดัง ซึ่งจำเป็นในตอนแรก แต่ในจังหวะถัดไปเราอาจต้องอาศัยการยืนพื้นมากขึ้น

อีกเรื่องที่เป็นความกังวลคือการไร้การจัดตั้ง ซึ่งไม่ได้เสี่ยงแค่การถูกดำเนินคดี แต่เสี่ยงต่อหนอนบ่อนไส้ สายสืบที่เจาะเข้ามาสร้างสถานการณ์ได้ง่ายมาก ทำให้แตกแยกกันภายใน เกิดความรุนแรงเข้าทางที่รัฐต้องการ เราเลยอยากเสนอรูปแบบการเคลื่อนไหวอื่นๆ ดูว่าเราทำอะไรได้อีกไหมที่จะกดดันข้อเรียกร้องได้มากขึ้น และที่สำคัญคือปลอดภัย มีประสิทธิภาพ เรามีทีมสังเกตการณ์ มีกติกาชัดเจนว่าต้องใส่เครื่องแบบ แสดงตนชัดเจนถึงจะเข้ามาได้ มีทีมเจรจาว่าให้คุยกับใคร ผมว่าน้องๆ ที่เข้าร่วมไม่ว่าต่อไปเขาจะไปเคลื่อนไหวรูปแบบไหน เขาจะมีวิธีการพวกนี้ติดตัว รู้วิธีป้องกันการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ป้องกันความรุนแรงได้มากขึ้น 

เราไม่ได้บอกว่าวิธีการไหนดีกว่ากัน อย่างที่บอกทุกอย่างล้วนเป็นการทดลองทั้งนั้น อย่างการเดินก็เห็นว่าเมื่อเดินถึงที่หมาย แต่ข้อเรียกร้องก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง เราก็หันมาตั้งหมู่บ้านต่อ ถามว่าทำไมต้องหมู่บ้าน คือเดินทะลุฟ้าเป็นส่วนผสม 2 ส่วนหลักๆ คือหนึ่ง คนรุ่นใหม่ที่เน้นเรื่องการเมือง และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์โดยตรง และสอง กลุ่ม People Go Network ที่ทำงานกับเครือข่ายภาคประชาสังคมต่างๆ เราอยากเห็นการเคลื่อนไหวที่เป็นส่วนผสมของทั้งสองกลุ่ม ไม่ใช่เคลื่อนไหวประเด็นระดับบนอย่างเดียว แต่มีมุมมองเรื่องของชุมชนด้วย อย่างเรื่องบางกลอย เรื่องเหมือง เพื่อให้มันแน่นทั้งฐาน คมทั้งการนำเสนอที่ส่งออกไป ให้เห็นการเชื่อมต่อกันจริงๆ ระหว่าง 3 ข้อเรียกร้อง และปัญหาปากท้องจากพื้นที่จริง การเปิดพื้นที่แบบนี้มันทำให้สองกลุ่มได้เรียนรู้จากกันด้วย

เราดูจากพี่น้องจะนะ พี่น้องบางกลอยที่เขาออกมาเรียกร้องกันทีนานหลายวัน ก็อยากรู้ว่าถ้าเอาเรื่องการเมืองเชิงโครงสร้างมากินอยู่หลับนอน สื่อสารแบบพี่น้องจะนะ พี่น้องบางกลอยบ้างจะเป็นอย่างไร บางคนคิดว่าเรามาพึ่งพี่น้องบางกลอย มาขออิงประเด็นปัญหา ขอตั้งหมู่บ้านร่วมกับเขาเพื่อจะเป็นเกราะกำบังให้พวกเรา มันไม่ใช่อย่างนั้นเลย เจตนาแต่แรกคือเพื่อเชื่อมผสานระหว่างประเด็นเชิงโครงสร้าง กับประเด็นของชุมชนให้เป็นเรื่องเดียวกันจริงๆ

“กระบวนการเคลื่อนไหวที่ไม่ใช้อะไรนอกไปจากแขน ขา ปาก มันสมองของเรา”

 

การเดินมีวัตถุประสงค์ในการสร้างการมีส่วนร่วม แล้วการ ‘ปักหลัก’ ตั้งหมู่บ้านเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด

ส่วนหนึ่งก็อยากใช้หมู่บ้านเป็นพื้นที่ให้คนมาติดต่อ แลกเปลี่ยนพูดคุยกันได้ยาวๆ ไม่ได้มาชุมนุมแล้วแยกกันไป ผมว่าเรายังขาดพื้นที่ทางสังคมแบบนี้ และอีกอย่างก็เพื่อยืดระยะเวลาข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ที่ทุกคนก็รู้กันดีว่าต้องใช้เวลานานแน่ๆ ในการขยับเรื่องนี้ เรื่องใหญ่ต้องใช้เวลา วิธีการก็ต้องใช้เวลาเหมือนกัน การเคลื่อนไหวแบบนี้ต้องใช้เวลา รอเวลา รอตั้งแต่เดินมาให้ถึง รอตั้งหมู่บ้าน รอให้มีประชากรในหมู่บ้านมากขึ้น มีมวลชนเข้าร่วมมากขึ้น จริงๆ มีคำหนึ่งที่ผมมักเลี่ยงที่จะใช้คำนี้ เพราะผมก็ไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับมันมากนัก แต่หลักใหญ่ใจความที่เราพยายามพูดถึงก็คือการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธี

ทำไมถึงเลี่ยงใช้คำว่า ‘สันติวิธี’

มันฟังดูยกตัว เช่น เราบอกว่าเราสันติวิธี ผมไม่อยากให้มันฟังเปรียบเทียบว่าวิธีการอื่นไม่สันติ เราเลยพยายามเลี่ยงที่จะใช้มาตลอด แต่ถึงวันนี้คิดว่าคงต้องใช้ เพราะเราอยากเห็นกระบวนการเคลื่อนไหวที่ไม่ใช้อะไรนอกไปจากแขน ขา ปาก มันสมองของเรา เราจะไม่เอาตัวเข้าไปพัวพันใดๆ ไม่จับใดๆ ทั้งสิ้นที่เป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาได้ ผมคิดว่านอกจากนี่จะเป็นการทดลอง นี่คือการฝึกฝน มันเป็นกระบวนการฝึกฝนของคนรุ่นใหม่ ปีที่ผ่านมาเขาผ่านการเคลื่อนไหวในแทบทุกรูปแบบ ทั้งอยู่ข้างหน้า อยู่ข้างหลัง ปะทะกับความรุนแรงต่างๆ แต่นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราอยากทบทวนตัวเองใหม่ ขัดเกลาตัวเองกันภายใน 

เป้าหมายยังอยู่ที่ระหว่างทาง ไม่ต่างจากช่วงเดินทะลุฟ้า

ผมเชื่ออย่างนั้นนะ เพราะถ้าไม่เอาเรื่องสันติวิธีเข้ามา การเคลื่อนไหวก็จะไปไม่พ้นข้อครหาต่างๆ เรื่องความรุนแรง กระบวนการสันติวิธีเป็นหลักการสำคัญมากหากเราต้องการชัยชนะระยะยาว  

เดิน V1 หมู่บ้าน V2 แล้ว V3 จะยังไงต่อ 

บอกตรงๆ ก็ยังนึกไม่ออก ตอนเดินเราก็เดินไปปรับไป แต่ในระหว่างที่นึกไม่ออกนี่แหละ หมู่บ้านจะทำหน้าที่เป็นพื้นที่ เป็นจุดนัดหมายสำคัญที่จะทำให้คนมาพูดคุย แลกเปลี่ยนไอเดีย ออกแบบร่วมกันว่าจะเคลื่อนข้อเรียกร้องต่อยังไง ถ้าเราพูดว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นเรื่องของทุกคน กระบวนการก็ต้องเปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วมเหมือนกัน

ในแง่นี้หมู่บ้านทำหน้าที่เป็น ‘พื้นที่’ ที่ดูเหมือนว่าเราจะขาดในการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา 

(พยักหน้า) หมู่บ้านเลยกลายเป็น ‘พื้นที่’ ที่สำคัญมากๆ มันไม่ใช่เดินแล้วจบ มารวมตัวกันแล้วจบ แต่การมีหมู่บ้านที่ปักหลักมันทำให้รู้สึกและเห็นได้ว่าการต่อสู้เรายังดำเนินต่อไปอยู่ มันต่อเนื่อง เขาจะมาเจอกัน มาร่วมกันเมื่อไหร่ก็ได้ มันมีพื้นที่รองรับ พอเราพูดเรื่องการเคลื่อนไหว มันสำคัญนะที่จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวมันยังไปต่ออยู่ หรืออย่างน้อยถ้าเกิดประเด็นอะไรขึ้น เขารู้ว่ามันมีพื้นที่สำหรับเขา อย่างตอนที่เราเห็นนักศึกษาพม่ามาใช้เวที เราดีใจมากเลยนะ ที่เขาเห็นว่านี่เป็นพื้นที่ของเขา มันมีพื้นที่ให้เขาบอกเล่าถึงปัญหาของเขาได้ ผมว่าเรื่องพื้นที่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญมากในการเคลื่อนไหว

การมีพื้นที่ก็ส่วนหนึ่ง แต่เราจะแน่ใจอย่างไรว่านี่จะเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ 

ตอนตั้งหมู่บ้านก็เสียวๆ อยู่ อยู่ไปก็มีเจ้าหน้าที่มาเรื่อยๆ อย่างที่เห็น (ในขณะที่สัมภาษณ์มีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบเดินตรวจตราอยู่ไม่ห่าง) แต่เราก็อยากรู้เหมือนกันว่าถ้าไม่ใช่แฟล็ชม็อบ ถ้าเป็นการปักหลัก อยู่อย่างสงบ เขาจะสลายการชุมนุมจุดไหน ผมว่าเจ้าหน้าที่ก็สบสันอยู่เหมือนกันว่ารูปแบบการเคลื่อนไหวที่ไม่มีกำลัง ไม่มีความรุนแรงเลยแบบนี้จะเอาเหตุผลอะไรมาสลาย 

การจัดการแบบนี้ก็มีทั้งคนรับได้และไม่ได้ มีคนรุ่นใหม่ที่เขาเดินมาคุย แซวๆ ว่าม็อบนี้มีเจ้าของ มีการจัดตั้งด้วย คือเขาชินกับการมาที่นัดหมายแล้วแสดงจุดยืนตัวเองได้เลย แต่พอเราเน้นเรื่องประสิทธิภาพ และความปลอดภัย มันเลยต้องมีข้อตกลงร่วมกัน ใครที่จะเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านก็ต้องมีการแบ่งงาน แบ่งหน้าที่กันจริงจังว่าใครทำอะไร ทำแบบนี้บางคนอาจมองว่าปิด แต่ถ้าเข้ามาจะรู้ว่าไม่มีการปิดกั้นอะไร หลายคนยอมรับได้ เพราะกติกาเรามันเพื่อความปลอดภัย ทุกข้อมีเหตุผลทั้งนั้น

แต่การจัดการมันเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ ส่วนที่เราคุมไม่ได้และยังหวังก็คือเรายังขาดพลังอีกเยอะที่จะทำให้มวลชนเพิ่มมากขึ้น อย่างที่บอกว่านี่เป็นการทดลอง ทำไป ปรับไป คิดไป ไม่มีใครบอกได้ว่าทำแบบไหนแล้วจะสำเร็จ เราเองก็ไม่ถนัดการวางแผนแต่ต้น ทำงานกับคนคุณบอกไม่ได้หรอกว่าทำอย่างไรจะได้ผล เราก็คิดไป ลองไปเรื่อยๆ เราไม่ได้คิดว่านี่จะเป็นคำตอบสุดท้ายให้กับทุกอย่าง เราคุยกันเสมอว่ามันต้องมียกต่อไปแน่นอน คือนี่เป็นยกแรกน่ะ ถ้านี่ยังไม่ได้ผล เราอาจกลับไปเดินใหม่ กลับไปพัก สะสมกำลังสักพัก แล้วมาเริ่มในฤดูกาลใหม่ก็ไม่เสียหายอะไร 

“เราไม่ต้องการความรุนแรง เราก็ไม่ใช้ความรุนแรง และเราก็จะหาทางจัดการป้องกันความรุนแรงด้วย”

 

แม้จะมีการจัดการรัดกุมขึ้น ดำเนินการตามหลักสันติวิธี แต่ก็ยังมีเสียงข่มขู่อยู่เรื่อยๆ ว่าอาจมีการสลายหมู่บ้าน หากหมู่บ้านถูกสลาย อยากให้การเกิดขึ้นยกแรกของหมู่บ้านทะลุฟ้านี้ส่งข้อความอะไรต่อไป

ผมไม่รู้จะใช้คำว่าอะไร แต่สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือเรื่องกระบวนการ ทั้งการเดินหรือหมู่บ้านคือเราต้องการหาแนวร่วม เชื่อมโยงประชาชน ผมว่านี่เป็นเป้าหมายที่สำคัญไม่น้อยกว่าข้อเรียกร้อง คือถ้าหลักใหญ่ใจความเราอยากไปให้ถึงความเสมอภาค มันก็จำเป็นที่เราต้องเปิดพื้นที่ให้คนเข้าถึงการเคลื่อนไหวได้เท่าเทียมเช่นกัน หรือแม้กระทั่งกระบวนการจัดการเองที่เราไม่ต้องการความรุนแรง เราก็ไม่ใช้ความรุนแรง และเราก็จะหาทางจัดการป้องกันความรุนแรงด้วย

ไม่ว่าสุดท้ายมันจะกลายร่างไปเป็นรูปแบบไหนต่อ ผมว่าเราได้แสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวมีหลายรูปแบบ มันมีทางเลือกให้ลองได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นวิธีการเดียว ย้ำอีกทีว่าเราไม่เคยมองว่ารูปแบบไหนดีกว่ากันนะ เพียงแค่แต่ละรูปแบบมีบทบาทของมัน มีวงจรชีวิต ในเวลาที่เหมาะสมของมัน สำคัญคือเราต้องไม่ยึดติดกับรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

แน่นอนว่าตัวชี้วัดของการต่อสู้คือชัยชนะ แต่สิ่งที่เราต้องมุ่งสร้างไปด้วยคือความมุ่งหวังและความใฝ่ฝัน ตราบใดที่เรายังมีความหวังและความฝันอยู่ เราไม่มีวันแพ้แน่นอน ผมคิดว่าการล้มลุกคลุกคลานของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ทำให้เราเห็นความจริงว่าไม่มีข้อเรียกร้องไหนเลยที่จะสำเร็จได้ง่ายดาย มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเร่งความเร็วว่าเมื่อไรจะชนะ ทั้งที่เราต่างรู้กันดีว่าข้อเรียกร้องของเราต้องใช้เวลา ถ้าเราห่อเหี่ยวเมื่อไร เราก็จะยิ่งเฉาว่าไม่เคยชนะรัฐได้เลย แต่ผมว่าเรายังอยู่ในหนทางนั้นนะ และหนึ่งในสิ่งที่ต้องเลี้ยงระหว่างทางคือความหวังและความฝันนี่แหละ ต้องบอกกันให้ได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระยะยาว และเราต้องหาทางอยู่กับมันไปให้ได้

“การหันไปเห็นว่ายังมีคนร่วมต่อสู้อยู่เป็นเรื่องสำคัญมาก”

ในแง่นี้ การ ‘ปักหลัก’ ของหมู่บ้านนอกจากจะปักหมุดข้อเรียกร้องแล้ว ยังหล่อเลี้ยงความหวัง ความฝันของผู้คนได้ด้วยหรือไม่ อย่างไร

ผมว่าการหันไปเห็นว่ายังมีคนร่วมต่อสู้อยู่เป็นเรื่องสำคัญมาก ยกตัวอย่างเช่น การตั้งแคมป์ของพี่น้องที่ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เขาตั้งแคมป์ปิดทางเข้าเหมืองตั้งแต่สิงหา 2563 จนทุกวันนี้เขาก็ยังตั้งแคมป์อยู่ การตั้งแคมป์ของเขามันส่งผลให้บริษัทไม่สามารถทำเหมืองได้อีกต่อไป ไม่สามารถเข้าไประเบิดหินได้ แม้จะมีความพยายามข่มคู่คุกคามจะยิงแกนนำ ดำเนินคดีชาวบ้าน แต่เมื่อมวลชนไม่ลดน้อยลง ตั้งมั่นว่าจะชนะเด็ดขาดให้ได้ในรอบนี้ ก็ทำให้บริษัทเสี่ยงต่อการล้มละลายไปทุกที หรือที่ต่างประเทศก็มีให้เห็นอย่างที่พี่น้องอินเดียนแดงตั้งแคมป์ขวางแนววางท่อก๊าซที่นอร์ทดาโคตา ผมว่าทั้งตัวอย่างของพี่น้องดงมะไฟ และอินเดียนแดงเป็นบทเรียนว่าการยืนระยะและพลังของมวลชนสำคัญมากต่อการเคลื่อนไหวไม่ว่าเรื่องอะไร 

ผมว่าคนที่ผ่านการเคลื่อนไหวแบบนี้จะอยู่กับการไม่รู้คำตอบได้ว่าเมื่อไหร่เราจะชนะสักที เมื่อไหร่จะจบเสียที พอเราอยู่กับมันไปเรื่อยๆ เราก็แค่ตอบได้ว่าหมดลมหายใจเมื่อไหร่ก็หยุดต่อสู้เมื่อนั้น ถ้ามองตามความเป็นจริง ผมว่าการต่อสู้ทางการเมืองคือตลอดชีวิตของเรา ถ้าเราชนะครั้งนี้ ได้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย เราก็ต้องคอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลต่อไปอยู่ดี มันก็ยังมีประเด็นอื่นที่ต้องทำงานต่ออยู่ดี ถ้าความจริงมันเป็นอย่างนี้ ผมจึงคิดว่ามันสำคัญมากที่เราต้องหล่อเลี้ยงความหวังและความฝันไว้ ไม่งั้นเราจะไปต่อกับมันไม่ได้

การหล่อเลี้ยงความหวังที่ต้องอาศัยพลังร่วมกัน

ข้อเรียกร้องปล่อยเพื่อนเราที่น่าจะง่ายที่สุดในสามข้อเรียกร้องก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง แต่อย่างน้อยการที่มีเราอยู่ข้างนอกทำให้เพื่อนเราที่ยังอยู่ข้างในเขาไม่หมดกำลังใจนะ เวลาใครไปเยี่ยมแล้วบอกเพื่อนๆ ว่าหมู่บ้านยังมีอยู่ ยังมีการชุมนุมอยู่ เขาจะรู้สึกฮึกเหิม แล้วความรู้สึกมันส่งถึงกันได้ คุณว่าไหม เวลาเขาบอกว่ากำลังใจยังดีอยู่ เพราะพวกเราข้างนอกขอให้สู้ต่อไป มันก็ทำให้เราข้างนอกอยากสู้ต่อเหมือนกัน กำลังใจมันหล่อเลี้ยงกันและกันมากๆ แต่ถ้าเขาโดนจับแล้วเราหยุด ข้างในมันห่อเหี่ยวแน่ๆ คือการออกมาชุมนุมสัปดาห์ละครั้งมันก็ได้ แต่ระหว่างสัปดาห์มันว้าเหว่นะถ้าเห็นว่าไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรเลย การปักหลักของเราส่วนหนึ่งมันก็เพื่อบอกเพื่อนๆ ของเราด้วยว่า พวกเรายังเคลื่อนไหวต่อไปอยู่ ยังสู้ต่อ 

ยิ่งรัฐใช้กำลังมากเท่าไร พลังมวลชนยิ่งสำคัญมากเท่านั้น ในวันนี้ที่การเคลื่อนไหวมีวิธีการต่างกันไป เราจะร่วมมือกันอย่างไรในการไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

อย่างที่บอกว่าถ้ามองตามความจริง ข้อเรียกร้องแต่ละข้อนี่ไม่ง่ายเลย เราเริ่มมามองคิดว่าจะมีความสำเร็จอะไรที่พอเป็นรูปธรรมได้บ้าง อะไรจะเป็นสิ่งที่ถ้าเกิดขึ้นแล้วทำให้เกิดสิ่งอื่นต่อๆ ไป เราอาจกลับไปเดินใหม่อีกรอบ สองรอบ สามรอบ แต่ทดลองขมวดข้อเรียกร้องให้ชัดเหลือข้อเดียว เช่น ขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ออกไป ถ้าใครเห็นด้วยในการที่จะให้รัฐบาลชุดนี้ออกไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เราอยากเชิญชวน ขอแนวร่วม ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะออกมาในท่าไหน เมื่อไหร่ อย่างที่บอกเราคิดไป ทดลองไปเรื่อยๆ

เป็นกระบวนการต่อเนื่องไม่สิ้นสุด 

ใช่ หยุดหายใจเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น 

Tags: , , , ,