“ศิลปะทำหน้าที่สร้างความรู้สึก คนเราจะเปลี่ยนแปลงได้มันต้องถูกกระทบตั้งแต่ระดับความรู้สึก บางครั้งเราสื่อสารเรื่องหนักๆ มันทำงานกับความคิด แต่บางครั้งมันใช้ตรรกะเหตุผลอย่างเดียวไม่ได้ มันไม่สุด มันไม่เข้าไปถึงใจ บางครั้งมันต้องหาวิธีการให้ข้อความแล่นลึกเข้าไปถึงข้างในผู้รับสารให้ได้”

ผศ.ดร.ภาสกร อินทุมาร หัวหน้าสาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์การละคอนและการเดินรณรงค์ หนึ่งในรูปแบบอารยะขัดขืนตามแนวทางสันติวิธีที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมทั้งการ ‘เดินทะลุฟ้า’ การเดินทาง 247.5 กิโลเมตร จากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา สู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ใจกลางกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ถึง 7 มีนาคม 2564

ภาสกรบอกเล่าถึงความหมายของการเดินทั้งในมุมประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างๆ ของโลกอย่างขบวนเกลือ (Salt March) ที่นำโดย มหาตมา คานธี ในประเทศอินเดีย ช่วงปี 1930 หรือการเดินเพื่อปฏิรูปที่ดินโดยองค์กร Ekta Parishad ที่ภาสกรได้เคยเดินทางไปศึกษาดูงานมาก่อน

The Momentum ชวนภาสกรถอดรหัสความหมายของการเดินรณรงค์ ทั้งในแง่กระบวนการเรียนรู้ สร้างการมีส่วนร่วม และจุดหมายที่แท้จริงของการเดิน ที่อาจไม่ได้อยู่ (เพียง) ปลายทาง

 

ย้อนถึง ‘We Walk…เดินมิตรภาพ’ ปี 2561 ก่อนหน้าที่จะเกิด ‘เดินทะลุฟ้า’ ในปีนี้ We คือใคร และทำไมต้อง Walk

เดินมิตรภาพเริ่มจาก People Go Network เครือข่ายภาคประชาชนที่รวมหลายเครือข่ายให้มาร่วมทำงานกัน มีทั้งเครือข่ายเกษตรกร เครือข่ายทรัพยากร เครือข่ายรัฐสวัสดิการ สลัม 4 ภาค เครือข่ายกฎหมายอย่างไอลอว์ (iLaw) ผมเองเข้ามาในนามเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (ค.น.ส.) เราขับเคลื่อนกันมาหลายงาน ตั้งแต่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 งานเสวนาอื่นๆ หรือ We Walk ที่เลิศ (เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าเครือข่าย) เป็นตัวตั้งตัวตีขึ้นมาว่าควรเดินไปหาไผ่ที่กำลังถูกขังอยู่ที่ขอนแก่นตอนนั้น ชื่อคือเดินมิตรภาพ แต่ความหมายที่จะสื่อคือเป็นการเดินไปหาเสรีภาพ

ทั้งชื่อทั้งวิธีการมันมีความหมายหมด ตอนนั้นก็คุยกันนะว่าจะเดินเข้ากรุงเทพฯ ที่เป็นศูนย์กลางเพื่อทวงถามประชาธิปไตย หรือจะเดินออกจากกรุงเทพฯ ให้มีนัยปฏิเสธศูนย์กลางอำนาจดี สุดท้ายที่เลือกขอนแก่นเพราะไผ่ติดคุกอยู่ที่นั่น และขอนแก่นก็เป็นศูนย์กลางภาคอีสาน มีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ก็เป็นสัญลักษณ์ในตัวมันเอง

หากพูดตามตรง ข้อเรียกร้องหลักในการเดินครั้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อถึงเป้าหมาย ทำไมทางเครือข่ายยังเลือกใช้รูปแบบการเดินอยู่ แม้ผลครั้งนั้นจะไม่เป็นดังหวัง

จะเดินไปไหนต้องมีเป้าหมายก็จริง แต่เราไม่ได้มองการเดินเป็นเครื่องมือ เรามองเป็นกระบวนการมากกว่า ทั้งสร้างการมีส่วนร่วม การเรียนรู้ของคนในเครือข่าย คนที่มาร่วมเดิม แต่ละคนมาจากแต่ละพื้นที่ มีธงประเด็นกันคนละเรื่อง บางคนมาเรื่องเหมือง บางคนมาเรื่องสวัสดิการ พอมาอยู่ด้วยกันนานพอสมควร ไม่ได้แค่มาชุมนุมกันสั้นๆ มันก็เกิดการคุย แลกเปลี่ยนกัน เรื่องนี้ผมว่าสำคัญนะ มันเป็นการเสริมพลังคนที่มาร่วม การเสริมพลังกลุ่มเรียกว่าเป็นหัวใจของการเคลื่อนไหวทางสังคมเลยนะ มันเห็นความสามัคคี ความร่วมแรงร่วมใจที่เกิดขึ้นได้ทันทีเลย จากที่มาต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนตัวเอง แต่พอเขารับรู้ประเด็นอื่นๆ การต่อสู้มันขยายต่อไป ประเด็นตัวเองก็ทำอยู่ แต่ร่วมเสริมทัพให้ประเด็นอื่นด้วย ผมว่าเรื่องการเสริมแรงกลุ่มนี่สำคัญมาก เวลาต่อสู้เหนื่อยๆ มันช่วยมากนะ ในการรู้ว่าคุณไม่ได้สู้เพียงลำพัง

ท่ามกลางประเด็นหลากหลาย กาละและเทศะที่ต่างกัน มีจุดร่วมอะไรที่คล้ายกันไหมในการเดินมิตรภาพ สู่การเดินทะลุฟ้า

ประเด็นที่ผมว่าเป็นจุดร่วมของทุกเครือข่ายและในการเดินทั้งสองครั้งเลยก็คือเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน อย่างที่บอกว่าเราเปิดให้มีการพูดถึงทุกประเด็น แต่ในเครือข่ายต่างๆ เขาก็มีเรื่องที่ต้องการแก้ไขในรัฐธรรมนูญทั้งนั้น หรือในวันสุดท้ายของเดินมิตรภาพที่เราเดินหน้าสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ขอนแก่น ก็เหมือนปีนี้ที่เราปักหมุดไว้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ มีพานรัฐธรรมนูญตรงกลางเหมือนกัน มันก็ชัดเจนว่าหลักใหญ่ใจความของเราคือเรื่องรัฐธรรมนูญที่เป็นรากฐานสำคัญของทุกเรื่อง

ส่วนเรื่องปล่อยเพื่อนเรา และยกเลิกมาตรา 112 ตอนครั้งแรกเรายังพูดตรงๆ ไม่ได้ แต่ตอนนั้นไผ่ก็โดนมาตรา 112 อยู่ การเดินไปหาไผ่ เดินไปหาเสรีภาพ ก็เป็นการบอกโดยนัยว่าไม่มีใครควรจะต้องโดนมาตรา 112 อีก บอกว่ามาตรานี้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพผู้คนอย่างไร ที่ต่างไปคือตอนนี้ไม่มีอะไรที่พูดไม่ได้แล้วหลังจากเพดานมันถูกระเบิดออกไปปลายปีที่แล้ว ฉะนั้น พอปีนี้มีเพื่อน 4 คนที่ถูกจับด้วยมาตรา 112 อีกมันก็พูดตรงๆ ได้แล้วว่าต้องยกเลิกมาตรานี้ที่เป็นปัญหา ซึ่งทั้งรัฐธรรมนูญ ทั้งยกเลิกมาตรา 112 ก็เป็นใจความสำคัญของการเคลื่อนไหวกลุ่มอื่นด้วย มันก็ทำให้เกิดการรวมกันกลายเป็นหนึ่งเดียว ต่างไปเพียงเรื่องวิธีการ ที่เดินทะลุฟ้าเลือกใช้การเดินแทนการชุมนุมอยู่กับที่

การชุมนุมอยู่กับที่ กับการเดินเคลื่อนที่ สร้างความแตกต่างระหว่างทางอย่างไร

คำว่า ‘เดิน’ มันชัดเจนในภาษาและกิริยาของมันอยู่แล้วว่าคือการ ‘move forward’ เป็นการเดินไปข้างหน้า ซึ่งก็เป็นเป้าหมายของทุกการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดขึ้นเพื่อให้สังคมก้าวหน้าขึ้น

ปีที่ผ่านมามีแฟลชม็อบเยอะมาก ข้อดีคือมันดึงดูดความสนใจคน มันเกิดขึ้นแล้วคนพูดถึงเยอะมาก ไม่ได้บอกว่าอะไรดีกว่ากันนะ แต่มันต่างกันตรงที่การเดินมันมีความต่อเนื่อง ระยะเวลานานพอควร เลยสามารถเพิ่มมวลชนขึ้นเรื่อยๆ และเปิดให้คนมาร่วมได้ตลอดทาง เลยเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวในพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง เป็นการเคลื่อนไหวในที่แจ้ง ทำให้คนเห็นสิ่งที่พูดทั้งในทางกายภาพหรือผ่านไลฟ์ให้ประเด็นถูกกระจายออกไปเรื่อยๆ 

ความต่อเนื่องสำคัญมากนะ เพราะความจริงแล้วประเด็นทุกอย่างล้วนต่อเนื่องเกี่ยวข้องกัน และต้องใช้ระยะเวลานานในการผลักดัน การเดินมันคืออย่างนั้นเลย และอย่างที่บอกว่ามันทำให้เกิดการเรียนรู้ ค่อยๆ เพิ่มจำนวนคน ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวนี้เป็นเรื่องของเขา เขามีส่วนร่วมกับมันได้ 

Snowball Effect เหมือนก้อนหิมะที่ค่อยๆ ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ทั้งปริมาณมวลชน และประเด็นที่ได้รับฟังที่เก็บสะสมตลอดทาง

ใช่ๆ มันเหมือนก้อนหิมะที่ยิ่งกลิ้งไปยิ่งใหญ่ขึ้น 

ทั้งความหมายของการเดิน ทั้งความต่อเนื่อง การสร้างการมีส่วนร่วมแบบนี้มันไม่ใช่แค่เดินมิตรภาพหรือเดินทะลุฟ้านะ มันตั้งแต่สมัยที่คานธีเดินขบวนเกลือเพื่อต่อต้านอาณานิคมอังกฤษ ที่แรกเริ่มก็ออกเดินคนเดียว แต่เรื่องที่เขาพูดมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน อย่างตอนนั้นคือเรื่องภาษีเกลือ ที่ทำให้คนไม่สามารถเข้าถึงเกลือที่เป็นเครื่องบริโภคพื้นฐานได้ ประเด็นดูเหมือนเล็กนะเรื่องเกลือ แต่จริงๆ มันพูดแทนเรื่องใหญ่อย่างการผูกขาดของอำนาจโดยอาณานิคมอังกฤษเลย มันคล้ายกันเลยในแง่นี้ คือเราเอาเรื่องเล็กมาเป็นรูปธรรมในการสื่อสารเรื่องใหญ่ และใช้การเดินสร้างการรับรู้ ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้

 

นอกจากใช้เรื่องเล็กพูดเรื่องใหญ่ มีนัยของการก้าวไปข้างหน้า รูปแบบการเดินเพื่อเคลื่อนไหวระดับโลกมีคุณลักษณะอะไรที่คล้ายกันอีก

การเดินของคานธีดูจะเป็นต้นแบบของการเดินเคลื่อนไหวไปแล้วเนาะ ซึ่งผมว่าการสมาทานแนวคิดสัตยาเคราะห์และอหิงสา อารยะขัดขืนตามสันติวิธีก็ยังคงปรากฏอยู่ในการเดินเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างๆ อย่างขบวนเดินของเราตั้งแต่เดินมิตรภาพถึงเดินทะลุฟ้า ก็เน้นย้ำเสมอว่าจะไม่ใช้ความรุนแรง 

ผมยกอีกตัวอย่างหนึ่งให้ฟัง คือองค์กรที่ชื่อว่า ‘Ekta Parishad’ หรือ ‘Unity Forum’ ที่เขาเคลื่อนไหวเรื่องปฏิรูปที่ดิน ที่เป็นปัญหาร่วมของเกษตรกร คนยากจนทุกคนที่รัฐครอบครองที่ดินส่วนใหญ่แล้วเอาไปสัมปทานให้นายทุน เรื่องที่ดินเป็นปัญหาใหญ่มากในอินเดีย แต่เรื่องใหญ่ขนาดนี้คุณจะเคลื่อนไหวยังไง เรื่องการปฏิรูปที่ดิน เรื่องสิทธิที่ดินทำกินของเกษตรกร ตอนนั้นเขาก็ใช้การเดินเคลื่อนไหวเรื่องนี้เหมือนกัน เขาใช้คำว่า ‘A Journey to The Other India’ การเดินทางสู่อินเดียใหม่ ไม่ใช่อินเดียที่เป็นอยู่ โอ้โฮ ผมว่านี่คือใช่เลย และแน่นอนว่าการเดินทางแบบนี้มันต้องต่อเนื่อง ยาวนาน 

ผมเคยไปดูงานที่องค์กรนี้ในอินเดีย จำได้ว่ากว่า Ekta Parishad จะออกเดินแต่ละทีมีการออกแบบกระบวนการเยอะมาก และทุกอย่างมีความหมายหมด เช่น มีการสร้างแกนนำเป็นกลุ่มย่อยๆ อารมณ์ MLM (Multilayer Marketing) ให้แข็งแรงกันในกลุ่มเล็กๆ แล้วมาผนวกกับการเคลื่อนไหวใหญ่ มีการจัดอบรมสารพัด มีวิธีการสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมเยอะมาก เช่น เข้าไปคุยกับชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านเลย ให้ชาวบ้านเอาข้าวสารวันละกำมือมารวมกันเพื่อเป็นเสบียงใช้ในการเดิน จริงๆ มันไม่พอหรอกข้าวบ้านละกำมือ แต่มันเป็นสัญลักษณ์ให้ทุกคนรู้สึกว่าเขาคือเจ้าของการเคลื่อนไหวนี้

การเดินมันเลยมีสัญลักษณ์และความหมายซ้อนเยอะมาก อาจเพราะราชโกปาล (P.V. Rajagopal) ผู้ก่อตั้ง Ekta Parishad เขาจบ Classical Dance หรือสาขานาฏศิลป์มาด้วย มีภรรยาเป็นชาวอเมริกันที่ทำงานให้กับสหประชาชาติอีก การเดินครั้งนี้เลยเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ มีการเชื่อมโยงเครือข่ายต่างประเทศ สื่อสารทั้งในอินเดียเองตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน จนถึงสื่อต่างประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎี Social Movement เลยว่าการเคลื่อนไหวต้องดำเนินไปทั้งสามระนาบ สามบริบทคือ 1. ท้องถิ่น 2. ระดับชาติ และ 3. ระหว่างชาติ การเดินของ Ekta Parishad จึงครบทั้งสามระดับเลย คือทำงานกับชุมชนในประเด็นใหญ่ของชาติโดยใช้แรงสนับสนุนจากต่างประเทศเข้ามาช่วยกดดันรัฐบาล อย่างล่าสุดก่อนโควิดเขาเล่นใหญ่จะเดินไปเจนีวาเลย ไม่ใช่เดินรวดเดียวนะ แต่ส่งไม้ต่อให้คนช่วยเดินต่อกันไปเรื่อยๆ ด้วยความที่เจนีวาเป็นสัญลักษณ์ของศาลโลก เป็นที่ตั้งขององค์กรระหว่างประเทศ เสียดายที่ติดโควิด แต่ผมว่าเขากำลังหาทางทำต่อไป เพื่อขยายให้การเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นทั่วโลก เห็นว่าจะไปถึงแอฟริกาเลย ให้ทุกคนทั่วโลกที่เผชิญปัญหาเดียวกัน ออกมาพร้อมกัน จากประเด็นระดับชุมชน ระดับชาติ ให้เป็นวาระของโลก

แต่ต่อให้มีการวางแผนอย่างดี ทำงานครบสามระนาบ ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปที่ดินของ Ekta Parishad ก็ยังไม่สัมฤทธิ์ผล ผู้คนในอินเดียยังคงต้องผลักดันเรื่องนี้ต่อไป

ใช่ ในวงพูดคุยเดินทะลุฟ้าก็มีน้องคนหนึ่งถามว่าแนวทางสันติวิธีพวกนี้มีครั้งไหนที่สำเร็จแล้วหรือไม่ ผมก็ตอบตามตรงว่าถ้าในแง่เป้าหมายแม้แต่ Ekta Parishad ที่ตั้งเป้าว่าจะปฏิรูปที่ดิน ให้เกษตรกรเข้าถึงสิทธิที่ดินทำกินก็ยังไม่เกิดขึ้นนะ เขายังไปไม่ถึง ‘the other India’ แต่อย่างน้อยคือเขากำลังอยู่ระหว่างทาง และระหว่างทางนี้เขาสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากนั่นคือการปลุกระดมคนให้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง จนตอนนี้มันไปไกลกว่าเรื่องปฏิรูปที่ดินแล้วด้วยซ้ำ มีกลุ่มย่อยเกิดขึ้นมากมาย มีกลุ่มผู้หญิงที่รวมตัวกันเพื่อสนับสนุนกันเอง แล้วเราจะบอกได้เหรอว่านี่ไม่สำเร็จ เราต้องบอกตัวเองเสมอว่า การเดินทางนี้เป็นการเดินทางต่อเนื่องยาวนาน เรามีเป้าสมมติไว้ให้เดินไปถึงก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเราเดินถึงเป้าสมมติแล้ว ข้อเรียกร้องหลักยังไม่เกิดขึ้นคือเราแพ้ ไม่ใช่ มันแค่แปลว่าเราต้องตั้งเป้าต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดพลังระหว่างทางเช่นนี้ที่มันจะค่อยๆ ไปหนุนให้เป้าหมายใหญ่เกิดขึ้นได้

เป้าหมายไม่ใช่ (เพียง) ปลายทาง ไม่ใช่เพียงคำปลอบใจ หากคือความจริง 

การขับเคลื่อนใดๆ เราต้องมีเมสเสจหลัก ในครั้งนี้มันคือสามข้อเรียกร้อง แต่เราก็รู้กันว่าสิ่งที่ดูเป็นผลพลอยได้ก็เป็นเป้าหมายในตัวมันเอง ทั้งเรื่องการสร้างความรับรู้มวลชนให้กว้างขึ้น สร้าง Group Empowerment หรือแม้แต่การสมาทานแนวคิดสัตยาเคราะห์ก็คือการตั้งมั่นบนหลักความจริง 

เวลาใช้คำนี้คนมักคิดถึงเรื่องการจาริกแสวงบุญ (pilgrimage) ทั้งหลาย ดูเป็นสายจิตวิญญาณมากเลยใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วการจาริกเช่นนั้นก็คือการเดินทางแสวงหาสัจจะ มันอาจเป็นแสวงหาสัจจะภายในตัวบุคคล อย่างธรรมยาตราที่พระอาจารย์ไพศาลเคยจัด ซึ่งไผ่เองก็เคยไปร่วมเดินกับหลวงพี่มาก่อน การเดินทางภายในเช่นนั้นมันอาจดูเป็นคนละมิติกับ การเคลื่อนไหวทางสังคมหรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่จริงๆ แล้วแก่นของการเดินทั้งสองล้วนเป็นไปเพื่อการแสวงหาสัจจะ สัจจะแห่งชีวิต ซึ่งจะเป็นเชิงจิตวิญญาณ ปรัชญา หรือสังคมก็ต่างวาระกันไป

การเดินทะลุฟ้าครั้งนี้ก็เป็นการแสวงหาสัจจะเหมือนกัน คือการยืนยันหลักการที่ถูกต้อง เดินบนหลักการที่ถูกต้อง เพื่อนำสังคมไปสู่ความจริงที่ถูกต้อง  

เรามักเคยชินกับการแบ่งแยกการจาริกเพื่อภายใน-ภายนอก แบ่งแยกระดับบุคคล-สังคม แต่จริงๆ แล้วการปลดแอกเชิงบุคคล จะส่งผลต่อสังคม หรือในทางสลับกันบ้างไหม 

ผมเชื่อว่าคนที่มาร่วมเดินจะรู้สึกได้ว่าก่อนออกเดิน และหลังออกเดินเขาเกิดความคิดที่เปลี่ยนไป เกิดการเรียนรู้อะไรบางอย่างผ่านประสบการณ์ตรง ในแง่นี้ผมว่าการเปลี่ยนแปลงภายในจากสิ่งที่เข้ามากระทบ หรือแม้แต่ความเหนื่อยระหว่างทาง แต่ยังเดินต่อไปนี่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวโดยรวมทั้งนั้น ที่สำคัญอีกอย่างคือแนวคิดอหิงสาของคานธีก็พูดถึงการปลดปล่อยตัวเองออกจากพันธนาการการถูกกดขี่ด้วย

ยกตัวอย่างเวลาเราพูดถึงปัญหาต่างๆ เรามักมองว่าผู้คน จะเกษตรกรยากจนในอินเดีย หรือเครือข่ายของพวกเราเองที่ร่วมเคลื่อนไหว โดนกดขี่โดยรัฐ ผ่านนโยบาย อำนาจบางอย่างที่กดทับสิทธิเสรีภาพเราไว้ ถ้าเราอยู่เฉยๆ แน่นอนว่ารัฐก็สบายเลย กดขี่ง่ายดาย ขังเราไว้แน่นิ่งต่อไป แต่การได้ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง มันสลับบทบาทของเราจากความเป็นผู้ถูกกระทำเป็นผู้กระทำ

Exta Parishad ใช้คำว่า oppression การกดขี่เหมือนกันเลย เขาบอกว่าขบวนการของเขาไม่ได้มุ่งจะสู้รบตบตีกับ the oppressor ผู้กดขี่ในนามบุคคล แต่มันคือการต่อสู้ เปลี่ยนระบบโครงสร้างของการกดขี่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเรื่องนโยบาย ลำดับชั้นทางสังคมที่มันกดขี่ผู้คนอยู่ เพราะผู้กดขี่ที่แท้จริงนั้นคือตัวระบบ โครงสร้างวัฒนธรรม กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่เอาจริงมันก็กดขี่คนที่เราคิดว่าเป็น the oppressor อยู่ด้วย แล้วก็มากดขี่เราอีกชั้นหนึ่ง ฉะนั้นถ้าจะถอนรากถอนโคน เราต้องพุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนระบบการกดขี่นี้ ซึ่งการที่ผู้ถูกกดขี่ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง มันทำให้เขารู้สึกได้จากประสบการณ์ตรงว่า เขาสามารถเป็นผู้กระทำการได้ เป็นตัวแทนได้ ไม่ใช่ผู้ถูกกดขี่ที่ถูกกระทำอีกต่อไป ในแง่นี้การลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างมันเป็นการปลดปล่อยตัวเอง เป็นการค่อยๆ เคลื่อนตัวเองไปสู่สิทธิที่พึงมี ไปสู่สังคมที่พึงประสงค์

นอกจากบทบาทของปัจเจกแล้ว บทบาทของกลุ่มก็สำคัญเช่นกัน อย่างเครือข่ายนักวิชาการที่เข้ามาสมทบใน People Go Network นี้ทำหน้าที่อะไร การทำงานเป็นเครือข่ายสร้างความแตกต่างในการเคลื่อนไหวอย่างไร 

เรื่องเครือข่ายนี่สำคัญมาก คราวที่แล้วเราก็สรุปบทเรียนกันไปว่าการมีเครือข่ายนักกฎหมายนี่ส่งผลมากเลยนะ เช่น ถ้าจะมีคนมาคุกคามการเคลื่อนไหว เราก็มีทีมทนายที่แม้ไม่ได้เดินด้วยตลอดแต่ก็หาทางป้องกันในเชิงเทคนิคกฎหมายได้ หรือข้อเรียกร้องต่างๆ เขาก็ช่วยเสริมให้รัดกุม เปลี่ยนข้อเรียกร้องเชิงนามธรรมให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น หรือเครือข่ายนักวิชาการ เราก็พยายามเล่นกับสื่อ จัดเวทีขยายข้อความให้เกิดแรงกระเพื่อม 

พูดแล้วนึกถึง Chaos Theory ที่แต่ละคนต่างทำหน้าที่ของตัวเอง แล้วก็มา synergy ร่วมกันเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมออกไป Chaos Theory บอกว่าถ้ารวมมวลมากขึ้นได้เรื่อยๆ จุดหนึ่งมันจะไปถึง critical mass ก้อนมวลขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดการพลิกผันเอง 

นอกจากเครือข่ายที่มีอยู่แล้ว เรายังขาดองค์ประกอบอะไรอีกในการเร่งให้ critical mass นี้เกิดขึ้น

ในเชิงเครือข่ายผมว่าก็ครบนะ ภาคประชาชน นักกฎหมาย นักวิชาการ สื่อมวลชนแม้ไม่อยู่ในเครือข่าย แต่ก็คอยสนับสนุนกระจายเสียงเราตลอด เราขาดอะไรน่ะเหรอ ถ้ามองด้วยสถานการณ์ในพม่าตอนนี้ที่เราเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่เอากับฝ่ายผู้กดขี่ด้วยกันเอง อันนี้ผมว่าน่าจะมีผลเยอะ

มันมีการเคลื่อนไหวครั้งไหนที่สามารถดึงให้ผู้กดขี่ย้ายมาอยู่ฝั่งผู้ถูกกดขี่ได้บ้างไหม อะไรเป็นปัจจัยให้เกิดสิ่งนั้นเหมือนที่เราเห็นการย้ายฝั่งของเจ้าหน้าที่พม่าที่หันมาอยู่ข้างประชาชน 

นี่คือเหตุผลที่เราต้องจัดการกับตัวระบบ เพราะโครงสร้างราชการของเรามันกดขี่คนที่อยู่ในนั้น เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการเองนี่เป็นผู้ถูกกดขี่มากนะ บางคนอาจไม่รู้ แต่กรณีล่าสุดอย่าง ‘ตั๋วช้าง’ ก็เป็นตัวอย่างชัดเจนมากว่าคุณถูกกดขี่มากแค่ไหน ผมอาจไม่มีคำตอบนะว่าจะทำอย่างไรให้เขาเห็นว่าเขาอยู่ภายใต้การกดขี่ และกล้าออกจากพันธนาการนั้นมาได้ แต่ถ้าเราสามารถดึงเขาเข้ามามีส่วนร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน ให้เขาหันหลังให้กับระบบการถูกกดขี่ ด้วยการไม่เป็นผู้กดขี่เสียเอง ผมว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะมีพลังมาก

ความยากคือความกดขี่นี้มันทำงานหนักมากจริงๆ มันสร้างความกลัวมหาศาล อย่างคำว่าผิดวินัยที่เขาถูกเอาเรื่อง ถูกทำให้ออกจากราชการได้มันส่งผลต่อความมั่นคงในชีวิตเขา ถ้าเราหาทางทำให้เกิดเครือข่ายข้าราชการไทยปลดแอกอะไรแบบนี้ได้นี่ผมว่า critical mass จะพลิกเร็วมาก 

ในฐานะอาจารย์ภาควิชาการละคอน ที่ใช้ศิลปะพูดถึงประเด็นสังคม เป็นเครื่องมือขัดขืนอำนาจการกดขี่ต่างๆ ในตอนนี้ที่สังคมภายนอกผลักเพดานกันไปสุดโต่งแล้วนั้น บทบาทของการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ ไม่ว่าจะละคร ศิลปะ หรือการเดินเปลี่ยนไปไหม ในบริบทสังคมที่แทบไม่ต้องมีอะไรมาห่อหุ้มประเด็นที่จะพูดแล้ว 

ใช่ สังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้ทุกอย่างต้องปรับตัว บทบาทของศิลปะและละครก็เหมือนกัน ในช่วงหนึ่งมันใช้สื่อสารเรื่องที่พูดออกไปตรงๆ ไม่ได้ แต่ในวันนี้มันอาจเป็นการทำให้นามธรรมปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมให้ได้ ที่สำคัญอีกอย่างคือศิลปะทำหน้าที่สร้างความรู้สึก เพราะคนเราจะเปลี่ยนแปลงได้มันต้องถูกกระทบตั้งแต่ระดับความรู้สึก บางครั้งเราสื่อสารเรื่องหนักๆ มันทำงานกับความคิดคน แต่มันไม่สุด บางครั้งใช้ตรรกะเหตุผลอย่างเดียวไม่ได้ มันไม่เข้าไปถึงใจ หลายครั้งมันต้องหาวิธีการให้ข้อความแล่นลึกเข้าไปถึงข้างในผู้รับสารให้ได้ ซึ่งความรู้สึกมีหลายอย่างนะ รู้สึกเสียดสี สะเทือนใจ ทนไม่ไหวต่อการถูกกดขี่ รับไม่ได้กับความไม่เป็นธรรม การที่จะลุกมาทำอะไรกับเรื่องพวกนี้ได้ มันต้องกระทบความรู้สึกก่อนทั้งนั้น 

ในแง่นี้ การเดินดูจะทำงานทุกระดับทั้งหัว กาย และใจ คือคิดทั้งประเด็น กายออกแรง และใจรู้สึกกับประสบการณ์ที่ผ่านพบ 

ผมสนใจคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วม เพราะมันต่างจากตอนเดินมิตรภาพที่ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องในเครือข่าย เราเห็นสายตาคนรุ่นใหม่แล้วมันเปล่งประกายบอกไม่ถูก เลยถามน้องคนหนึ่งในเวทีวันแรกที่พักเดินว่าเขาเดินแล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง น้องเขาพูดเลยนะว่ามันเป็นการเดินทางข้างในของเขาเหมือนกัน เขาบอกว่ามันทำให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งแปลกว่ามันก็เป็นประเด็นที่พอได้ยินมาบ้าง แต่พอได้ยินจากคนในพื้นที่จริงๆ อยู่ตรงหน้าเราจริงๆ แล้วความรู้สึกมันต่างจากที่เราได้ยินผ่านข่าวเลย หรือการได้มาแสดงออกถึงความคิดของเราผ่านกายนี่ก็ต่างจากปกติที่เราจะแชร์ความรู้สึกนึกคิดผ่านพื้นที่ออนไลน์ ไหนจะการได้เจอคนระหว่างทาง ทั้งถูกขัดขวางบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง เขาก็จะได้เรียนรู้ว่าจะรับมือกับความไม่เห็นด้วยตรงหน้าอย่างไร จะไปต่อไหม หรือเวลาเห็นคนเอาอาหาร เอาน้ำมาให้ เดินออกมาหน้าบ้านแค่จะร่วมชูสามนิ้ว มาถ่ายรูปด้วย ประสบการณ์อะไรแบบนี้มันสร้างแรงกระเพื่อมภายในทั้งนั้น 

ในแง่การละคร ไผ่อาจดูเป็น protagonist นักแสดงหลักของการเดินครั้งที่แล้ว และสี่คนที่ถูกกักขังอยู่ตอนนี้อาจดูเป็น protagonist หลักของเดินทะลุฟ้า แต่จริงๆ แล้วเนื้อหาที่พูดนั้นไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง 

การสื่อสารมันเริ่มจากใครคนใดคนหนึ่งได้ แต่การสื่อสารที่ทรงพลังมันจะไปแตะเรื่องที่เป็นของทุกคน ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง อย่างเวลาพูดถึงปมขัดแย้งในการละคร สิ่งที่เป็นปมขัดแย้งมันไม่ใช่เรื่องระหว่างบุคคลนะ มันแค่เล่าผ่านบุคคล ระหว่าง protagonist (ตัวละครหลัก) กับ antagonist (คู่ปฏิปักษ์) ซึ่งจริงๆ แล้วคือชุดความคิดที่กำลังปะทะกันอยู่ เช่นเรื่อง Dead Poets Society ดูเผินๆ เหมือนการปะทะกันระหว่างนักเรียนวัยรุ่น กับครู ผู้ปกครองใช่ไหม แต่จริงๆ มันคือการปะทะกันระหว่างเรื่องความเสรีภาพของปัจเจกชน และเอกภาพของสถาบันสังคม ซึ่งผมว่ามันก็เป็นการขัดแย้งของการเคลื่อนไหวครั้งนี้เหมือนกัน แต่เวลาสื่อสารเรื่องใหญ่ เป็นนามธรรมขนาดนี้ บางทีมันต้องใช้ตัวละคร ใช้เรื่องเล่ามาประกอบให้เข้าใจว่าไอความไม่เป็นธรรมที่พูดๆ กันมีหน้าตาอย่างไร 

ถ้าราชโกปาลมีภาพ the other India เป็นภาพที่เกษตรกรมีสิทธิที่ดินทำกินเป็นของตนเอง อาจารย์จินตนาการภาพ the other Thailand ที่อยากให้เกิดขึ้น ณ ปลายทางของการเดินทางครั้งนี้อย่างไร

ในระยะอันใกล้ ผมว่าที่พวกเราต้องการที่สุดคือเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งมันก็จะพ่วงเรื่องมาตรา 112 และการปล่อยเพื่อนเราตามมาด้วย เหมือนการปฏิรูปที่ดินในอินเดีย ที่หากทำข้อเรียกร้องเดียวสำเร็จ มันจะทำให้เกิดโดมิโนเอฟเฟ็กต์อื่นๆ ตามมา ในแง่นี้ถ้าเราพูดว่าเราจะแก้โครงสร้างกดขี่ กฎหมายไม่เป็นธรรม รูปธรรมที่เห็นผลได้ชัดเจนคือเราต้องแก้ที่รัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งก็คงเหมือน Ekta Parishad นะที่เขาคงต้องเดินไปเรื่อยๆ ต่อให้เดินไปถึงหมุดหมายที่เราตั้งไว้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วมันยังไม่เกิดขึ้น เราก็ต้องเดินไปเรื่อยๆ ตามนัยของการเดินที่หมายถึงการ move forward เป็นกระบวนการต่อเนื่อง ยาวนาน 

Fact Box

  • ขบวนเดินทะลุฟ้า เป็นการเดินตามกระบวนการสันติวิธีตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ถึง 7 มีนาคม 2564 เริ่มต้นจากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา จุดหมายปลายทางอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพมหานคร ระยะทางรวมทั้งสิ้น 247.5 กิโลเมตร เพื่อเรียกร้องสามข้อหลักคือ 1. ปล่อยเพื่อนเรา 2. ร่างรัฐธรรมนูญประชาชน และ 3. ยกเลิก ม.112
  • เครือข่าย People Go Network เครือข่ายภาคประชาสังคมที่เป็นแกนนำจัดกิจกรรมเดินทะลุฟ้า ตั้งใจให้การเดินเป็นพื้นที่เปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการนำประเด็นปัญหาเข้ามาร่วมสื่อสารและส่งเสียงออกไปตลอดเส้นทางการเดิน
Tags: , , , , ,