“เหนื่อย แต่แม่ไหว เหนื่อยแค่นี้ยังน้อยกว่าลูกๆ อีก ดูอย่างไผ่สิ ถือป้ายเดินนำทุกวัน เหนื่อยกว่าแม่เยอะ”

‘สุ’ – สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ หรือแม่ของ ‘เพนกวิน’ – พริษฐ์ ชิวารักษ์ พูดราวกับบอกว่าไม่เป็นไร เมื่อถูกถามว่าแม่ไหวหรือเปล่าที่จะให้สัมภาษณ์ หลังจากร่วมขบวน ‘เดินทะลุฟ้า’ ท่ามกลางอากาศร้อนระอุบนถนนคอนกรีตไร้ทางเท้าย่านนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรีมาทั้งวัน 

สุรีย์รัตน์ตอบ ก่อนหันไปทาง พริ้ม บุญภัทรรักษา มารดาของ ‘ไผ่’ – จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หนึ่งในแกนนำ ‘เดินทะลุฟ้า’ ขบวนเดินตามกระบวนการสันติวิธี เพื่อเรียกร้องสามข้อให้ 1. ปล่อยเพื่อนเรา 2. ร่างรัฐธรรมนูญประชาชน และ 3. ยกเลิก ม.112 ที่เริ่มออกเดินตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ จากจังหวัดนครราชสีมา และคาดว่าจะถึงปลายทางจังหวัดกรุงเทพมหานครในช่วงต้นเดือนมีนาคม รวมระยะทางเดินทั้งสิ้น 247.5 กิโลเมตร

“พอมาเดินแล้วรู้เลยว่ามันลำบาก พอมาเห็นว่าลูกๆ เขาลำบากกันขนาดนี้ความน้อยใจอะไรที่เคยมีก็น้อยลง”

สุรีย์รัตน์เล่าถึงประสบการณ์เมื่อเปลี่ยนบทบาทจากผู้สังเกตการณ์ ดูแลลูกอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ มาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมขับเคลื่อนกับเครือข่าย ในวันที่ลูกถูกกักขัง ออกมาเคลื่อนไหวเองไม่ได้

ส่วนพริ้ม แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอเรียกร้องหาความยุติธรรม ในวันที่เธอสามารถร่วมเดินเคียงข้างลูกชายได้ ต่างจากเมื่อวันวานที่เธอต้องเรียกร้องจากภายนอก ในขณะที่ลูกชายถูกจองจำอยู่ในคุกยาวนานกว่า 2 ปี 6 เดือน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ข้อหาเดียวกันที่ทำให้เพนกวิน ลูกชายของสุรีย์รัตน์ถูกกักขังอยู่ในวันนี้ 

 

เดินเพื่อเปิดประเด็นหลากหลาย และเห็นจุดร่วมคล้ายกัน

“คนมักจำภาพไผ่กับการเมือง แต่เราเห็นเขาสู้มาแล้วหลายเรื่อง ที่เห็นบ่อยๆ ก็จะเรื่องชุมชน สิ่งแวดล้อม จริงๆ มันก็เกี่ยวข้องกันหมดนั่นแหละ จะสิ่งแวดล้อม ที่ดิน หรือสัญชาติ อย่างเรามาเดินครั้งนี้ก็ยิ่งเห็นประเด็นที่มากขึ้น มีทั้ง LGBTQ+ สวัสดิการ ยิ่งมาร่วมยิ่งทำให้เรามีมุมมองกว้างขึ้นว่าปัญหามันเยอะและซับซ้อนมาก

“การเดินเปิดให้คนเอาปัญหามาแลกเปลี่ยนกัน แต่ก่อนเราได้ยินเรื่องเซฟบางกลอย เราก็แค่เซฟบางกลอย แต่พอมาฟังเขาพูด เราก็เริ่มคิดตามว่า คนปกติเกิดในประเทศไทยก็ต้องได้รับสัญชาติไทยถูกไหม แต่นี่อะไร สัญชาติไทยก็ไม่ได้ ไปพม่าก็ไม่รับ กลายเป็นคนไม่มีสัญชาติ ไม่มีถิ่นที่อยู่อาศัย ทั้งที่เราก็รู้กันว่าที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ แปลว่านี่เขาไม่ได้รับสิทธิในการเป็นมนุษย์เลยนะ”

พริ้มเล่าถึง #Saveบางกลอย หนึ่งในประเด็นที่ขบวนเดินทะลุฟ้าร่วมสื่อสาร ถึงกรณีที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานสนธิกำลังกับตำรวจตระเวนชายแดนและทหารใช้อำนาจกฎหมายกล่าวหาว่า ‘บุกรุกป่า’ บีบบังคับให้ชาวบ้านบางกลอยที่เป็นชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงปกาเกอะญอต้องออกจากพื้นที่ดั้งเดิม 

นอกจากประเด็น #Saveบางกลอยแล้ว เครือข่ายภาคประชาสังคม People Go Network ที่เป็นแกนนำจัดกิจกรรมเดินทะลุฟ้าในครั้งนี้ ยังตั้งใจให้การเดินเป็นพื้นที่เปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการนำประเด็นปัญหาเข้ามาร่วมสื่อสารและส่งเสียงออกไปตลอดเส้นทางการเดิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคัดค้านการทำเหมืองแร่ รัฐสวัสดิการ ความเสมอภาคทางเพศ ฯลฯ ผ่านทั้งกิจกรรมยามเย็น และระหว่างเดินที่มีผู้คนจากหลายกลุ่มเข้ามาเปิดประเด็นใหม่หมุนเวียนไปในแต่ละวัน 

“การเดินมันทำให้เราได้เอาปัญหามารวมกัน เพนกวิน ไผ่ อานนท์ หรือใครต่อใครบอกเสมอว่า ถ้าคุณมีปัญหาคุณต้องส่งเสียง แกนนำอาจเริ่มก่อน แต่คุณต้องออกมาต่อยอดเรื่องที่เป็นปัญหาของคุณด้วย ถ้าคุณเดือดร้อน เห็นว่ามันไม่ถูกต้อง คุณต้องไม่อยู่เฉย”

พริ้มขยายต่อถึงนัยของการเดินที่เปิดพื้นที่ให้ผู้คนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ตลอดเส้นทาง ให้การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นเรื่องของทุกคน และพบว่าในความหลากหลายของประเด็นนั้น ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเรียกร้องเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ต่างกัน 

หากมองอย่างเป็นกลาง ไม่มีทางจะไม่เห็นความอยุติธรรม

แม้คำตอบจะชัดเจน แต่ก็อดถามไม่ได้ว่าในวันนี้ที่ทั้งพริ้มและสุรีย์รัตน์ออกมาร่วมเดิน มีประเด็นใดต้องการจะสื่อสารเป็นพิเศษ ท่ามกลางปัญหาสังคมและความกดขี่หลายรูปแบบในสังคมทุกวันนี้  

“ปัญหาของเราคือเรื่องความยุติธรรม การประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายด้วยซ้ำ แต่ที่เราเห็นตั้งแต่ปี 2557 มันไม่มีอะไรยุติธรรมทั้งนั้น ความเป็นธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่เป็นธรรมอยู่ดี ที่เห็นชัดมากคือคนที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างออกไป เช่น คุณบอกว่าเขาได้รับหมายเหมือนกัน แต่ไม่มีหรอกที่เขาจะได้รับหมายกลางค่ำกลางคืน หรือมีรถตำรวจขับตาม คุณบอกว่าจะปฏิรูปประเทศแต่นี่มันทำให้ต่ำลง เสื่อมลงต่างหาก เสาหลักสามด้านทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ มีอะไรใช้งานได้บ้าง เราเห็นๆ กันอยู่ตั้งแต่ปี 2557 แล้วประชาชนจะทำยังไง เราจะยอมรับกันไปแบบนี้เหรอ”

 

 

พริ้มให้คำตอบที่ทำให้นึกย้อนกลับไปปี 2557 ที่ไผ่ ลูกชายของเธอออกมาคัดค้านการรัฐประหาร และถูกจับตามองจากภาครัฐอย่างหนักหน่วงนับแต่นั้นมา จุดเริ่มต้นที่ทำให้พริ้มเริ่มออกมาเคลื่อนไหวและเห็นแล้วเห็นอีกถึงความไม่ยุติธรรมในสังคมไทย

“เรื่องความไม่ยุติธรรมมันเห็นมาตลอด อย่างแรมโบ้นี่เขามีตัวตนชัดเจน แต่ก็ทำให้หมดอายุความได้ ไม่ถูกดำเนินคดี แล้วยังมาได้ตำแหน่งในรัฐบาลอีก มันน่าตกใจนะ ถ้าเป็นประชาชนทั่วไปนี่อายุความสิบปีโดนไปแล้ว”

พริ้มยกตัวอย่างกรณี ‘แรมโบ้อีสาน’ (สุภรณ์ อัตถาวงศ์) ที่คดีหมดอายุความจนลอยนวลพ้นผิด จนเกิดคำถามที่ยังไร้คำตอบมาถึงวันนี้ว่า เป็นเพราะความบกพร่องของอัยการที่หมกสำนวนนานหลายปี หรือเป็นเพราะได้ความดีความชอบจากการแปรพักตร์จาก นปช. มาร่วมพรรคพลังประชารัฐกันแน่ นี่คือหนึ่งในตัวอย่างคดีอีกมากมายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่แม่พริ้มบอกว่า 

“คุณไม่ต้องเรียนกฎหมาย ไม่ต้องเป็นทนายหรอก แค่คุณฟังเรื่องแบบนี้ ถ้าคุณมองมันตามปกติแบบไม่ลำเอียง คุณต้องรู้สึกแน่นอนว่านี่มันไม่ยุติธรรม”

ให้มันจบที่รุ่นแม่

“พีท (ชื่อเล่นที่แม่สุเรียกเพนกวิน) บอกเสมอว่าการเมืองอยู่รอบตัว แต่เขาไม่ใช่คนที่จะบังคับให้ใครเชื่ออะไรนะ อย่างช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ เราถามเขาว่า พีทครับ มี้เลือกใครดี เขาตอบทันทีว่า ‘มี้ครับ มี้ควรจะมีความเห็นเป็นของตัวเอง’ จนเราต้องเปลี่ยนคำถามว่า แล้วถ้าเป็นลูก ลูกจะเลือกใคร ต้องเปลี่ยนเป็นปรึกษาเขาแทน เขาถึงจะออกความเห็น ให้ข้อมูลต่างๆ แต่สุดท้ายก็จะลงท้ายว่า ‘มี้ครับ มี้ต้องตัดสินใจเอง’ ”

เมื่อถามว่าลูกไม้ทั้งสองนี้ถูกปลูกฝังบ่มเพาะมาอย่างไร ถึงได้ทุ่มเทกายใจอุทิศเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมถึงเพียงนี้ พริ้มยิ้มพร้อมกับส่ายหน้าราวกับว่าไม่ได้ทำอะไรเลย และหันไปให้สุรีย์รัตน์ซึ่งกำลังส่ายหน้าเช่นกัน ตอบในประเด็นนี้ก่อนว่า 

“ที่เป็นแบบนี้ อาจเพราะเลี้ยงตามนโยบายรัฐ (ยิ้ม) รัฐชอบบอกใช่ไหมว่าเด็กไม่อ่านหนังสือ เราก็สนับสนุนให้เขาอ่านหนังสือเต็มที่เลย รัฐบอกว่าเด็กไทยต้องทำประโยชน์ให้สังคมเพื่อชาติ เราก็สนับสนุนให้เขาทำเพื่อชาติ เพื่อสังคมอยู่นี่ไง แต่แล้วยังไงล่ะ”

 

เกิดความเงียบไปสักพัก หลังจากสุรีย์รัตน์ตอบติดตลกว่าเลี้ยงลูกตามนโยบายรัฐ ให้ขวนขวายหาความรู้ ทำประโยชน์เพื่อชาติ แต่สุดท้ายกลับถูกรัฐมองว่าเป็นภัย 

“ตอนเป็นเด็ก แม่ถูกเลี้ยงมาแบบไม่เคยได้ไปไหนเลยนะ หน้าฝนก็อันตราย หน้าหนาวก็หนาวเกินไป หน้าร้อนก็แล้งอีก โดนห้ามทุกอย่างจนไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้ไปไหนเลย ไม่ได้โทษว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ไม่ดี แต่เราขาดโอกาสที่จะเรียนรู้และคิดเอง”

สุรีย์รัตน์พยักหน้าบอกว่า “เหมือนกันๆ” ต่อประเด็นเรื่องถูกห้ามจากคนรุ่นก่อน 

“ที่บอกว่าเลี้ยงตามนโยบายรัฐนั่นประชด (ยิ้ม) เราแค่บอกลูกว่า พีทครับ เด็กรุ่นใหม่ต้องเก่งกว่ารุ่นก่อน พีทต้องเก่งกว่าแม่ ต้องรู้มากกว่าแม่ ถ้าโลกมันเคลื่อนไปข้างหน้า แต่ทุกอย่างอยู่ที่เดิมหรือแย่กว่าเดิมแล้วประเทศจะเป็นยังไง พอคิดอย่างนี้ เวลาเขาแย้งอะไรเรา เราจะไม่คิดว่าเขาเถียง เขาแค่มีความคิดใหม่ๆ แล้วเราก็จะคุยกันด้วยเหตุผล ถ้าแม่ผิด แม่ขอโทษ หรือบางเรื่องคุยแล้วไม่มีใครถูกผิดด้วยซ้ำ ก็ทำความเข้าใจกันไป แต่ถ้าไม่คุยกัน เราจะไม่รู้เลยว่าที่อีกฝ่ายไม่ชอบใจนั้นเพราะอะไร

“แม่ถูกเลี้ยงมาไม่ต่างจากแม่พี่ไผ่เลย โดนสั่ง โดนห้าม พูดให้กลัว เจอมาหมด ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ไม่ดีนะ แต่เขาห่วงเรามากไป เขาคิดแทนเรามากไป แม่คิดตลอดว่าสิ่งที่ไม่ถูกต้องแม่จะไม่ส่งต่อให้ลูกเด็ดขาด มันต้องจบที่รุ่นแม่นะ หรืออะไรที่แม่ทำไม่ดีแล้วแม่ไม่รู้ตัว แม่ก็จะบอกให้ลูกเตือนแม่ด้วย เราจะได้แก้ ถ้าลูกเห็นว่ามันไม่ดีแล้วยังปล่อยให้แม่ทำต่อไปนี่แย่กว่าอีกนะ”

ฟังพริ้มและสุรีย์รัตน์แล้ว อดนึกถึงหนังสือ การศึกษาของผู้ถูกกดขี่ ที่เปาโล เฟรเร เขียนไว้ว่า หนึ่งในหนทางสิ้นสุดการกดขี่คือเมื่อผู้ถูกกดขี่ไม่กลายเป็นผู้กดขี่เสียเอง ไม่ส่งต่อการถูกกดขี่อีกต่อไป แปรเปลี่ยนการกดขี่ด้วยวิธีคิด การกระทำใหม่” อย่างที่สุรีย์รัตน์และพริ้มตัดสินใจยุติการทำให้กลัว คืนเสรีทางความคิด และชีวิตให้แก่ลูก แม้ตนเองจะเคยถูกกระทำจากรุ่นพ่อแม่มา 

“คนรุ่นแม่ต้องฟังลูก ฟังว่าเขาต้องการอะไร จะมาใช้คำว่าพ่อแม่บังคับลูกไม่ได้ มัวแต่บอกว่าเราอาบน้ำร้อนมาก่อน โลกเคยเป็นแบบนั้นแบบนี้มาก่อนไม่ได้ คุณจะพาเขากลับไปโลกเก่าทำไม โลกต้องก้าวไปข้างหน้า เด็กต้องเก่งกว่านั้นอยู่แล้ว แทนที่จะห้าม คุณต้องปรับตัวแล้วฟังเขา ที่ผ่านมาคุณเคยฟังหรือยังว่าเขาต้องการอะไร เห็นแค่เลขสามตัวก็ไม่อ่านไม่ฟังแล้ว”

มารดาสนทนา

ระหว่างเดินไปคุยไปกับผู้คนที่ดูจะหมุนเวียนเปลี่ยนหน้ามาเข้าร่วมขบวนอยู่เรื่อยๆ ทำให้เห็นว่า ภายใต้หมวก แว่นตาดำ และผ้าปิดหน้า ผู้คนแต่ละคนที่มาร่วมการเดินครั้งนี้ล้วนพกเรื่องราวและความอัดอั้นมาด้วยกันทั้งนั้น เพียงการพูดคุยสั้นๆ ก็ทำให้ได้รับรู้ถึงเรื่องราวมากมาย จนอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วบรรดาแม่ๆ ของลูกที่เผชิญสถานการณ์เดียวกัน เมื่อมาอยู่ร่วมกันทั้งเช้า สาย บ่าย เย็นจะพูดคุยเรื่องอะไรกันบ้าง 

“แม่เพิ่งมารู้จักแม่พี่ไผ่ตอนเริ่มเดินนี่แหละ” แม่เพนกวินยิ้ม ก่อนเล่าต่อว่า “พอแม่ๆ รวมกันก็จะเกิดการเมาท์มอยลูกว่า เขาอึดกันมากเลยนะ เขาผ่านกันมาได้ยังไง แม่พี่ไผ่ แม่ไมค์เขาโดนยิ่งกว่าเรา ลูกเราเพิ่งโดนไม่กี่วัน แต่หัวอกคนเป็นแม่นี่ไม่มีวันไหนจะสบายใจได้ถ้าลูกยังอยู่ในคุก ไปกินข้าวที่ไหนก็ไม่อร่อย คิดถึงลูกว่าเขาจะกินอยู่อย่างไร ฝนตกก็คิดว่าลูกจะอยู่ได้ไหม หรือตอนเราเดินเหนื่อยๆ ก็คิดถึงลูกว่าเขาเหนื่อยมานานกว่าเราเท่าไหร่

“พอมาคุยกับแม่ไผ่เรายิ่งทึ่งว่า โห ผ่านมาได้ยังไงนะ ลูกเขาถูกขังตั้งหลายปี เรานี่ไม่กี่วันก็แทบไม่ไหวแล้ว พอเห็นว่าแม่ไผ่ผ่านมาได้เราก็ต้องเข้มแข็ง ถ้าเจอแม่สองวันก่อนนี่คุยกับใครไม่ได้เลยนะ ไม่สามารถมานั่งคุยแบบนี้เลย จริงๆ นะแม่ (หันไปคุยกับแม่พริ้ม) ถ้าเจอสองวันก่อน สุไม่มีทางคุยแบบนี้ได้เลย ยังขอบคุณแว่นตากันแดดอยู่เลยที่ปิดตาไม่ให้คนเห็นว่าเราเดินไปร้องไห้ไป พอได้มาคุยกับแม่ไผ่ แม่ไมค์ มันทำให้เราบอกตัวเองว่า สุ เธอจะมาดิ่งแบบนี้ไม่ได้ เธอร่วงแล้วเธอต้องดึงตัวเองขึ้นให้ได้”

เมื่อถามพริ้มว่าให้กำลังใจหรือให้คำแนะนำสุรีย์รัตน์อย่างไร ในฐานะแม่ที่ผ่านประสบการณ์ต้องถูกพิพากษาทำให้พรากจากลูกชายมาก่อน

“เรื่องความเป็นแม่มันไม่ต้องสอนกันหรอก คนเป็นแม่นี่คล้ายกัน ลูกจะถูกจะผิดยังไงเราก็รัก แต่ถามว่าสิ่งที่เขาทำมันผิดไหม มันจะผิดถ้าเขาเป็นคนเห็นแก่ตัว แต่นี่เขาทำเพื่อส่วนรวม สิ่งที่เขาพูดวันที่ 17 ว่า เขาไม่คิดหนีหมายเรียกให้รับทราบข้อกล่าวหา ม.112 อีกครั้ง แม่ฟังแล้วน้ำตาแทบร่วง เอาเป็นว่าเขาทุกข์ เราทุกข์กับเขา เขาสุข เราสุขกับเขา ใจแม่มีแค่นี้”

แบ่งใจที่มีให้ส่วนร่วมให้แม่บ้าง

“ไผ่ต่อสู้เพื่อสังคมมาตลอด เราจะขอเขาแค่ว่าดูแลใจแม่ด้วย แบ่งใจที่ทุ่มเต็มร้อยให้ส่วนรวมมาให้แม่บ้าง อย่าให้ส่วนรวมไปทั้งร้อยได้ไหม แต่แม่รู้อยู่แล้วว่าห้ามไม่ได้ ก็ได้แต่ขอร้องเขาว่าแบ่งใจให้แม่บ้าง

“เวลาคนเป็นแม่ทักไป ทำอะไร อยู่ที่ไหน ก็รู้นะว่าลูกไม่ชอบ แต่เราทักไป ‘สวัสดี เงียบจัง’ มันเป็นการถามแค่ให้รู้ว่าเขาปลอดภัย แต่เขาก็เงียบบ้างอะไรบ้าง มีครั้งที่ดีอยู่หน่อยเขาตอบแม่กลับมาว่า ‘อยู่ในใจเสมอ’ ไผ่ไม่ได้ก้าวร้าวอย่างที่คนเห็น เขาจะมีมุมแบบนี้ แม่ขอแค่นี้แหละ ห้ามไม่ได้แม่รู้ แต่แบ่งใจให้แม่บ้าง นึกถึงแม่บ้าง”

สุรีย์รัตน์เสริมขึ้นมาเมื่อได้ยินประโยค ‘อยู่ในใจเสมอ’ ว่า “นี่ดีมากแล้วนะแม่ พีทนี่ไม่เคยมีเลยประโยคแบบนี้ โทร.ไม่รับไลน์ไม่อ่าน”

มีแต่คำถามว่าทำไมเต็มไปหมด

ย้อนกลับไปในปี 2561 ที่มีการจัดกิจกรรม ‘We Walk เดินมิตรภาพ เดินไปหาเพื่อน เดินไปหาอนาคต’ จากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่น ที่นอกจากจะเดินเพื่อสื่อสารประเด็นหลักแล้ว ยังมีนัยถึงการเดินไปหาเพื่อน หรือก็คือไผ่ ที่กำลังถูกตัดสินให้ถูกจำคุกในขณะนั้น 

จากวันนั้นถึงวันนี้ มีความเหมือนและต่างระหว่างการเดินทั้งสองเป็นอย่างมาก เหมือนเจตนาเปิดให้ผู้คนมีส่วนร่วมสื่อสารเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ มีการเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนที่ถูกดำเนินคดีด้วย ม. 112 เหมือนกัน ต่างกันตรงที่ในวันนั้น การรับรู้ของผู้คนภายนอกถึงความอยุติธรรมของรัฐยังไม่เข้มข้น การยกเลิก ม.112 ยังไม่เป็นสิ่งที่ผู้คนเรียกร้องในวงกว้างเช่นวันนี้

เมื่อถามพริ้มและสุรีย์รัตน์ว่า ในบริบทที่ผู้คนตื่นตัวมากขึ้น สังคมจับตามองประเด็นนี้มากขึ้น ทั้งสองมีความหวังมากขึ้นไหมว่าแรงกดดันทางสังคมจะนำมาซึ่งความยุติธรรมได้ 

 

 

พริ้มเล่าย้อนถึงวันวานที่ผ่านมาว่า “ตอนที่ไผ่โดน ม.112 มีแต่คนด่า เคยโดนมาหมด เจ็บปวดมาก แต่ก่อนเวลาเราเรียกร้องสังคมเรื่อง ม.112 นี่แทบไม่มีเสียงตอบรับใดๆ ทั้งสิ้น แต่ตอนนี้คนเห็นความไม่ยุติธรรมแล้ว เอาง่ายๆ เราบอกว่าจะปฏิรูป เขาก็ด่าเรา ไล่เราออกประเทศ แต่บางคนที่บอกว่าทำเพื่อชาติ แต่ปิดทำเนียบ ปิดสนามบิน แล้วบอกว่าทำเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มันใช่เหรอ ทำไมคดีแบบนี้ได้ประกันตัวเลย ทำไมไม่ถูกขัง ขนาดไผ่เป็นนักโทษชั้นดี เราพยายามทำทุกอย่างเพื่อขอพักโทษ เขาก็บอกว่ามีคดีอื่นด้วย ทำให้ไม่ได้ แล้ว กปปส. มีกี่คดีล่ะ ทำไมทำได้ ทำไมได้พักโทษ มันมีแต่คำถามว่าทำไมเต็มไปหมด ถามว่ามันยุติธรรมไหม มันไม่มีอะไรยุติธรรมอยู่แล้ว”

“ลูกสาวเราเรียนนิติศาสตร์ ตอนแรกอยากเป็นผู้พิพากษา พอมาเจอคดีพี่ไผ่ เขาก็บอกว่าไม่อยากเป็นแล้ว” แม่พริ้มถอนหายใจยาว

ส่วนสุรีย์รัตน์ที่ลูกชายยังอยู่ในระหว่างการถูกกักขัง และยังไม่รู้ว่าจะศาลจะให้ประกันตัวเมื่อไหร่ หรือต้องใช้เวลากี่วัน กี่เดือน กี่ปีกว่าคดีจะจบ เธอตอบในประเด็นนี้ว่า

“แม่ขอใช้คำนี้แล้วกันว่า ตอนนี้ทุกคนตื่น ทุกคนรู้แล้วว่าสิทธิคืออะไร แล้วมันส่งผลกระทบอะไรต่อชีวิตบ้าง การเรียกร้องจึงเป็นความรับผิดชอบต่ออนาคตของเขา เมื่อคนกล้าออกมา แม่เชื่อว่ามันจะไม่มีอะไรเหมือนเดิม ถามว่าหวังไหม เราหวังแน่นอนว่าลูกจะไม่โดนชั่วกาลนาน แต่บางอย่างคนจะเห็นเอง เอาแค่ทำไมลูกเราถูกตัดผมตั้งแต่วันแรก แต่บางคนอยู่หลายวันไม่ถูกตัดผม เรื่องแบบนี้แม่ไม่ต้องพูด มันผิดด้วยตัวเองอยู่แล้ว และทุกคนเห็น”

ราคาแสนแพงที่ต้องจ่าย ขอให้ครอบครัวเราเป็นครอบครัวสุดท้าย

“พีทเขามุ่งมั่นมาแต่เด็ก เขาเคยบอกแม่ว่า ‘มี้ครับ ถ้าพีทเกิดมาชาติหนึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีกว่านี้ได้ พีทถือว่าเสียชาติเกิด’ นี่คือความฝันของเขา เด็กทุกคนมีความฝัน สิ่งที่แม่ทำได้คือเข้าใจและสนับสนุนแม้เขาจะไม่มีเวลาให้เรา จนหลังๆ เราเปลี่ยนความคิดว่าถ้าอยากเจอลูก เราต้องไปหาลูกตามม็อบ ลูกสาวบอกว่าแม่เข้าไม่ถึงอ้วนหรอก แม่ก็บอกว่าไม่เป็นไร แม่ไปให้เห็นว่าพีทยังมีชีวิต เราเลิกเรียกร้องให้ลูกมาหา เราอยากเจอเราก็ไปหาเขาแทน เขาก็บอกว่าไม่มีเวลาให้นะ เราก็บอกว่า ไม่ต้องหรอก ลูกทำตามฝันของลูกไป ภารกิจเขาใหญ่มากนะ เมื่อเขาอุทิศตัวขนาดนี้แล้ว เราก็ไม่อยากเป็นภาระ เราแค่อยากสนับสนุน ก็นี่ความฝันลูกเรานะ เราแค่อยากทำดีที่สุดตอนยังอยู่ด้วยกัน เพราะเขาชอบบอกว่า ถ้าเขาเป็นอะไรไป อยากให้แม่ภูมิใจในสิ่งที่เขาทำ เราก็คิดเหมือนกันว่าอยากทำให้เขาภูมิใจในตัวเราเช่นกัน”

 

 

ประโยคของสุรีย์รัตน์ทำให้นึกถึงข้อความในจดหมายที่เพนกวินเขียนถึงแม่ ใจความว่า ‘ลูกหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแม่จะภูมิใจที่มีลูกเป็นนักสู้ ลูกก็ภูมิใจที่มีแม่เป็นนักสู้เช่นกัน’ 

เมื่อเอ่ยถึงข้อความในจดหมายฉบับนั้น สุรีย์รัตน์น้ำตาคลอ และกล่าวปิดท้ายการสนทนาครั้งนี้ว่า

“จากที่ร่วงไปแล้ว จดหมายนี้ทำให้แม่ลุกขึ้นมาได้ ใช่ลูก มันเป็นราคาที่ต้องจ่ายแพงมาก แต่ถ้าลูกยอมจ่าย แม่ก็ยอม เราจะเดินไปด้วยกัน

“เรารู้จักลูกเราดี ว่าเขาไม่เคยคิดร้ายกับประเทศนี้เลย เราเคยถามว่า ‘พีททำทำไม เหนื่อยจะตาย คนไม่เห็นค่า’ เขาบอกว่า ‘นี่คือบ้านเกิดของพีท’ ถ้านี่คือราคาที่ลูกต้องจ่ายให้ความฝันลูก แม่ก็ยอม ครอบครัวเรายอมเพื่อไม่ให้ต้องมีครอบครัวใดต้องมาเจอแบบนี้อีก เราอยากให้มันจบ ให้มันสิ้นสุดที่ครอบครัวเรา”

ฟ้ามืดสนิทแล้ว อากาศรอบตัวเย็นลง ทีมงานวิ่งวนเตรียมงานเสวนายามค่ำคืน ผู้คนมากหน้าหลายตาหมุนเวียนเปลี่ยนมาร่วมเดินขบวนด้วยในวันต่อไป ตราบใดที่ข้อเรียกร้องทั้งสามยังไม่บรรลุเสร็จสิ้นก็คงต้องเคลื่อนต่อไป แม้ไม่รู้ว่าจะสำเร็จเมื่อไหร่ แต่อย่างที่นัยของการเดินทะลุฟ้าได้บอกไว้ว่า ตราบใดที่มีความไม่ยุติธรรม ก็ต้องมีการขัดขืน ไม่ว่าจะผ่านการพูด ยืน หรือก้าวเดิน

Tags: , , , , ,