การเลี้ยงลูก ไม่เคยมีคำว่าง่าย

หน้าที่นี้ถือเป็นภารกิจโหดหินสำหรับคนเป็นพ่อแม่ จนถึงขนาดที่เวลาเดินผ่านแผงหนังสือ ต้องมีหนังสือเคล็ดลับวิธีเลี้ยงลูกออกมามากมาย สะท้อนถึงความยากของการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่ง ที่ถึงขั้นต้องมี ‘คู่มือประกอบ’ ตั้งแต่การดูแลครรภ์ อาหารและของใช้ การเลือกโรงเรียน ไปจนถึงการแนะนำสถานที่เรียนพิเศษ  

ซึ่ง อิสระ ฮาตะ ก็เป็นอีกคนที่อยู่ในถานการณ์นี้เช่นกัน

หลายคนอาจยังติดภาพจำพิธีกรสายฮาของอิสระ จากรายการ VRZO ในอดีต แต่ในปัจจุบันเขาคืออิสระแห่ง Rubsarb Production เป็นคุณพ่อลูกหนึ่ง ที่มีลูกชายวัย 11 ปี ชื่อว่าน้องภูมิ แม้อิสระได้ฝากผลงานคลิปต่างๆ มากมายไว้บนยูทูบมากว่า 10 ปี รวมถึงเคลื่อนไหวทางการเมืองในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย อีกทั้งยังเคยเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมาธิการในสภา เรื่องอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมและอีสปอร์ต แต่บทบาทในฐานะพ่อและทัศนคติในการเลี้ยงลูกกลับไม่ได้เปิดเผยที่ไหนมากนัก

The Momentum พูดคุยกับ อิสระ ฮาตะ เรื่องการเลี้ยงลูกในแบบฉบับของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในโลกออนไลน์ ทั้งเรื่องลูกกับเกม การเมือง สื่อสังคมออนไลน์ หลักฐานในโลกออนไลน์ (Digital Footprint) รวมไปถึงความฝันที่อยากให้ลูกของเขาเติบโตและเป็นคนที่เก่งกว่าตัวเขาในทุกวันนี้ 

นิยามการเลี้ยงลูกในสไตล์อิสระ ฮาตะ เป็นอย่างไร

เลี้ยงลูกแบบอิสระ ฮาตะ คือปล่อยตามยถากรรมครับ อาจจะฟังดูแย่ แต่ผมอยากให้อิสระเขาเติบโตในแบบของตนเอง แล้วหน้าที่ของผมคือคอยกำกับให้เขาเรียนรู้ เติบโตอยู่ในลู่ทางที่เหมาะสม

อีกเรื่องคือพยายามเป็นต้นแบบให้เขา คือเรื่องนี้ผมก็ได้มาจากการที่แม่ (ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ) เลี้ยงผมอีกที คือแม่ไม่ได้บอกอะไรผมมากมาย ให้ซึบซับจากการกระทำ ด้วยหน้าที่การงาน ที่เป็นคนช่วยเหลือสังคม เสียสละ จิตใจโอบอ้อมอารี และทำงานหนัก เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมได้รับมาจากแม่เหมือนถ่ายทอดผ่านดีเอ็นเอด้วย ถ่ายทอดผ่านการเลี้ยงดูด้วย ก็คือการชอบช่วยเหลือคนไปโดยอัตโนมัติ ผมอยากเอาจุดนี้มาใช้ในการเลี้ยงลูกของผม

จากวันที่กลับมาจากสหรัฐอเมริกาเพื่อเลี้ยงลูก ทุกวันนี้ปรับตัวได้หรือยัง แล้วเปลี่ยนไปมากแค่ไหน

ผมกลับมาจากอเมริกาได้ไม่กี่ปีเองนะ แต่ผมรู้สึกว่าผมเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก ช่วงที่ผมกลับมา ผมมีแผนว่าอยากให้ลูกทำอะไรบ้าง และต้องทำอะไรกับลูก อยากให้ลูกทำตามแผนของเรา แต่ตอนนี้ผมรู้สึกว่ามันเป็นการบีบบังคับลูกเกินไปเลยเริ่มคลายลง แล้วถอยออกมามองห่างๆ มากขึ้น

เรื่องนี้มันก็ทำให้ผมเข้าใจว่าการเลี้ยงลูกมันไม่ใช่การไปบังคับว่าให้เขาต้องทำแบบนั้น แบบนี้ มันก็ต้องมีผ่อนหนัก ผ่อนเบา ฟังเสียงเขาบ้าง  

แล้วส่วนใหญ่ใช้เวลาทำอะไรกับลูก

ผมพยายามหากิจกรรมมาทำกับลูกครับ 

อย่างตอนนี้เขาจะชอบเล่นกันดั้ม (Gundam) ผมเลยถือโอกาสได้สอนเขาประกอบ ทุกครั้งที่เขาประกอบเสร็จ เขาก็จะเอามาอวดผม ผมก็พยายามค่อยๆ สร้างความสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมที่เขาชอบไปเรื่อยๆ 

หรือบางทีวันเสาร์-อาทิตย์ ผมอยู่บ้าน ก็อยู่ในห้องเดียวกันกับลูก ก็เล่นคอมพิวเตอร์ไปกับเขานั่นแหละ นั่งใกล้ๆ กัน เวลาเขาเจออะไรน่าสนใจ เขาก็จะเรียกให้ผมดูด้วย ผมก็ต้องให้ความสนใจในสิ่งที่เขาอยากให้ดู พยายามปรับตัวตามลูกตลอด ก็จะเป็นกิจกรรมพ่อ-ลูก ประมาณนี้ 

สำหรับคุณอะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการเลี้ยงลูก 

สำหรับน้องภูมิ ตอนแรกผมเป็นห่วงเรื่องภาษาอังกฤษ ผมอยากให้เขาพูดได้ เพราะมันเป็นประตูที่ทำให้เขาเข้าถึงโอกาสต่างๆ ซึ่งตอนนี้ก็เห็นพัฒนาการตามลำดับ อีกเรื่องคือการควบคุมอารมณ์ของลูก เพราะก่อนหน้านี้เขามีอารมณ์ที่ค่อนข้างรุนแรง ผมก็ต้องมาปรับจูน ต้องมาคุยกันอยู่ตลอด

ส่วนอื่นๆ ที่ผมอยากเสริมคือเรื่องสกิลติดตัวต่างๆ เช่น ดนตรี การเขียนโค้ด หรือกระทั่งภาษาญี่ปุ่นที่เป็นเหมือนอีโก้เล็กๆ ของผมที่มีเชื้อสายญี่ปุ่นในตัว ก็อยากให้เขาพูดได้

น้องภูมิในวัย 11 ปี มีกิจกรรมที่ชอบเป็นพิเศษไหม

เล่นเกม ซึ่งหลายคนอาจมองว่าดูเป็นงานอดิเรกที่เป็นปัญหา ทำให้ลูกติดเกม แต่สำหรับผมไม่คิดแบบนั้นนะ คืออย่างน้อยมันก็ดีกว่าการดูคลิปวิดีโอสั้นๆ เช่นใน Reels หรือในแอปพลิเคชัน TikTok เพราะมันก็มีงานวิจัยมาแล้วว่า สื่อพวกนี้ทำให้สมาธิสั้นจริงๆ ดังนั้น หากให้เขาได้ดู ได้เล่นสื่อขนาดยาวอย่างเกมบ้าง ก็จะช่วยแก้ไขเรื่องนี้ได้

อีกกิจกรรมหนึ่งที่จะเกิดขึ้นเฉพาะช่วงกลับต่างจังหวัด คือออกไปเล่นตามทุ่งนา น้องภูมิเป็นเด็กที่มีคนเลี้ยงเยอะ นอกจากผมก็จะมีญาติอีกคนหนึ่งที่อยู่สุรินทร์ ซึ่งพอช่วงสงกรานต์หรือปิดเทอม น้องภูมิเขาก็จะไปอยู่กับญาติที่นั่น ก็จะได้เดินเล่นสัมผัสบรรยากาศ ได้ลองจับปลา นั่งรถกระบะเที่ยวเล่น ก็เป็นอีกพาร์ตของชีวิตของเขาที่มันเติมเต็มอีกด้านหนึ่ง

กฎหรือข้อห้ามในการเลี้ยงลูกของคุณเป็นอย่างไรบ้าง

จะเป็นเรื่องเกมครับ กับเรื่องความรุนแรง 

อย่างเรื่องเกมผมก็ต้องกำหนดเวลาให้ชัดเจน เช่น ต้องเลิกเล่นหลัง 5 โมงเย็น เพื่อกินข้าว อาบน้ำให้เรียบร้อย อะไรแบบนี้ หรือเรื่องความรุนแรงเองก็พยายามปราม พยายามสอนเขา เพราะด้วยความเป็นคนที่ต้องฝึกควบคุมอารมณ์ มันจะมีจังหวะใช้แรง เช่น การเหวี่ยงไม้ แล้วอาจจะไปโดนสิ่งของต่างๆ

แต่เอาเข้าจริงถ้าเป็นไปได้ ผมไม่อยากจะไปห้ามเท่าไร ผมพยายามใช้วิธีหากิจกรรมอื่นให้เขาทำมากกว่า เช่น พาไปเรียนเทควันโด ไปเรียนภาษาญี่ปุ่น ไปวิ่ง ไปปั่นจักรยาน คือหากิจกรรมอื่นๆ ให้เขาไม่อยู่กับเกมมากจนเกินไป

มีคำแนะนำสำหรับพ่อแม่คนในเรื่องของการแบ่งเวลาของลูกบ้างไหม

ผมเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องที่ยากจริงๆ นะ ก่อนที่ผมจะหากิจกรรมเรียนเทควันโดให้น้องภูมิได้ ก็มีปัญหาเหมือนกัน พอเป็นคนเมืองมันทำอะไรมากไม่ได้จริงๆ นะ จะพาลูกนั่งมอเตอร์ไซค์ออกไปข้างนอก พอเจอแดดก็ไม่อยากไปไหนแล้ว ไหนจะเรื่องควัน PM2.5 อีก จำได้ว่าตอนกลับจากสหรัฐอเมริกาเคยอยากจะสอนลูกถ่ายรูปด้วย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ เพราะอากาศก็ไม่เอื้อ เดินก็ไม่ได้ 

เรื่องนี้มันสะท้อนถึงปัญหาของสังคมเมืองจริงๆ นะ อยากให้พ่อแม่เข้าใจในส่วนนี้ก่อน ดังนั้น มันจึงเป็นภาพที่สุดท้ายพ่อแม่พาลูกไปเรียนพิเศษ ฝากลูกไว้กับเกม กิจกรรมมันก็เหลือเพียงเท่านี้ สำหรับพ่อแม่ในเมือง อาจต้องหากิจกรรมอื่นๆ ที่เหมาะกับแต่ละครอบครัวดู แม้มันอาจมีข้อจำกัดอยู่หน่อยบ้าง

แต่สำหรับครอบครัวต่างจังหวัด ไม่ยากเลย เพราะกิจกรรมรอบตัวพวกคุณเต็มไปหมด เที่ยวเล่น จับปลา เล่นกับหมา ปั่นจักรยาน ให้เขาลอง ให้เขารู้หมดเลย ผมว่าแบบนี้มันจะถูกต้องกับเด็กมากกว่า

คิดว่าลูกมีความเหมือนหรือแตกต่างจากตัวคุณอย่างไรบ้าง

เท่าที่ฟังคนอื่นพูดมา ทุกคนพูดว่าน้องภูมิเหมือนผมแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ทั้งที่ผมยังจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่า ตอนเด็กผมคิด ผมพูด ผมเลือกคำจะใช้แบบนี้ ผมว่าส่วนหนึ่งก็อาจเพราะการได้อยู่กับเขา เขาก็ซึมซับความเป็นเราเข้าไปบ้าง

มองย้อนไปถึงตัวเองในวัยเด็กและวัยรุ่น คิดอย่างไรบ้างกับตัวเองในตอนนั้น 

ขอใช้คำว่าซนและรั้น มองย้อนกลับไป ผมรู้สึกแบบนั้น แต่ที่ตลกคือในวันนี้พอน้องภูมิผมก็คิดแบบนี้เหมือนกัน คืออาจด้วยการเข้าถึงข้อมูลหลากหลายอย่าง มันทำให้เขามีความคิด มีการตั้งคำถาม มีความสนใจมากมายเต็มไปหมด มันเลยทำให้เขาอยากรู้ อยากลอง มีช่องทางให้เติบโตหลากหลายแบบ

กลับมาเรื่องการทำงานของคุณบ้าง ตั้งแต่การทำงานกับช่อง VRZO จนปัจจุบันคือช่อง Rubsarb Production มองว่าทุกวันนี้คอนเทนต์แตกต่างกันมากแค่ไหน

ต่างกัน เวลาเปลี่ยน คนก็เปลี่ยน ผมมองแบบนี้ เวลาโตขึ้น ความสนุก ความสนใจก็แตกต่างไปจากเดิม แล้วด้วยความที่ผมมองว่างานที่ทำคือพื้นที่ปล่อยของ ดังนั้นทุกวิดีโอที่เห็นกันเลยเป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนว่า แต่ละช่วงเวลา อิสระ ฮาตะ ชอบอะไร สนใจ เรื่องไหนอยู่ ซึ่งก็ต้องแตกต่างกันออกไปแน่นอนแล้ว 

ถามว่ากลับไปทำงานแบบเมื่อก่อนได้ไหม เอาเข้าจริงก็คงทำได้ แต่มันก็คงตอบสนองคนดูไม่เหมือนตัวเราที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทุกวันนี้ Rubsarb Production พยายามเล่าเรื่องแบบใดให้กับคนดู

พูดถึงเรื่องเก่า เล่าความหลัง ระหว่างพวกเราที่เป็นเพื่อนกันตั้งแต่สมัยมัธยม คนดูจะได้เห็นอะไรแบบนี้เยอะ นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องไลฟ์สไตล์ เรื่องสุขภาพ เรื่องดูหนังดูการ์ตูน เรื่องของกิน อย่าง จอร์จ (ปรีโรจน์ เกษมศานติ์) ก็เป็นเจ้าพ่องานอดิเรก มีกิจกรรมให้ทำเยอะมาก แล้วเวลาเขาสนใจเรื่องนี้ ก็จะหมกมุ่น เอาจริงเอาจัง ถลำไปสุดตัว ผู้ชมก็จะได้เห็นอะไรแบบนี้ในช่อง 

แล้วอยากให้ลูกดูเนื้อหาแบบไหนบ้าง

อะไรก็ได้ที่เขาอยากดู ผมให้อิสระเลย แต่จะมีอยู่บางอย่างที่ผมต้องระมัดระวังเหมือนกันในทุกวันนี้

ที่ผมว่าน่าเป็นห่วง คือคอนเทนต์สปอยล์หนัง สปอยล์เกมต่างๆ คือผมค่อนข้างแอนตี้แบบสุดลิ่มทิ่มประตู ผมว่ามันยังไม่ใช่จังหวะที่เขาจะได้เสพเลย มันเหมือนกับใช้ยาผิดประเภท เพราะพูดตามตรง คอนเทนต์แบบนี้มันคือทางลัด เหมาะสำหรับคนที่ต้องการรีแคป (Recap) เนื้อหา ประเด็น บางอย่าง แต่การที่จะให้อยู่ดีๆ เด็กมาดูสิ่งนี้เลย แล้วไม่เคยดูเนื้อหาจริงๆ ผมว่ามันผิดที่ผิดทางไปหน่อย ควรให้เขาได้รู้จักวิธีการเล่า ศิลปะในการนำเสนอ ความสวยงามของการเรียบเรียงเนื้อเรื่อง เพื่อเป็นพื้นฐานในการเข้าใจและเสพเนื้อหาต่างๆ ในโลกออนไลน์ ผมมมองแบบนี้นะ

สำหรับเรื่องการถ่ายคอนเทนต์ที่มีลูกของคุณอยู่ด้วย เรื่องนี้คุณคิดเห็นอย่างไร มองเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) กับหลักฐานในโลกออนไลน์ (Digital Footprint) อย่างไรบ้าง 

ผมว่าเรื่องนี้ผู้ปกครองต้องแม่นประมาณหนึ่ง ว่าจะถ่ายเรื่องอะไร นำเสนอมุมไหน อะไรที่มันเป็นผลเสียต่อตัวลูกไหม เรื่อง Digital Footprint ผมว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ เพราะสุดท้ายเขาจะต้องเจอตัวเองในวัยเด็กแบบนี้ไปตลอดในโลกออนไลน์ ซึ่งอันนี้มันเป็นการพูดคุยแต่ละครอบครัวเลยว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหนกัน 

ซึ่งก็มาสู่เรื่องความยินยอมของลูก (Consent) โอเคว่ามันก็จำเป็นต้องคุยกับลูกว่าเขาคิดเห็นรู้สึกอย่างไร แต่ในมุมมองของผมที่เป็นพ่อคน ผมรู้สึกว่าเขายังอยู่ในการปกครอง ดังนั้น มันก็เป็นอำนาจตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำสิ่งใดร่วมกับเขา แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเอาเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างแล้วไปถ่ายอะไรก็ได้นะ คือมันต้องไม่ไปละเมิดสิทธิของตัวลูก และหากเขามีท่าทีไม่ยินยอม ผมว่าในฐานะผู้ปกครองหรือพ่อคน ก็ควรรู้ว่าสิ่งนี้จะไม่ปรากฏบนโลกออนไลน์ 

สุดท้ายคำถามสำคัญที่สุด คือคุณอยากให้ลูกถูกจดจำบนโลกออนไลน์แบบไหน ถ้าตอบคำถามนี้ได้ จะช่วยกลั่นกรองเนื้อหาได้เป็นอย่างดี

ในฐานะที่มีลูกแล้ว มองความขัดแย้งทางความคิดระหว่างวัยในประเทศไทยอย่างไรบ้าง

ในช่วงไม่กี่ปีนี้ คนในสังคมตื่นรู้หลายเรื่องอย่างรวดเร็ว ผมมองว่าเด็กรุ่นใหม่บางทีก็มีความคิดล้ำหน้าไปไกลมาก ทำให้ผู้ใหญ่ตามไม่ทันและสับสน ดังนั้น บางทีเวลานำเสนอซึ่งแนวคิดใหม่ๆ อาจต้องให้เวลาคนในสังคมทำความเข้าใจและเปิดใจยอมรับ

 เด็กรุ่นใหม่อาจจะคิดว่าข้อเสียของคนยุคเบบี้บูมเมอร์คือความหัวแข็ง ไม่ยอมปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆ แต่ในความจริงมันแก้ไขได้หากมีวิธีการสื่อสารที่ดีพอจนเขาฟัง มันก็ปรับความเข้าใจให้ตรงกันได้นะ 

แล้วต้องพูดอย่างไรให้คนต่างวัยเข้าใจกันและกัน

อันดับแรกต้องพิจารณาก่อนว่าจะสื่อสารกับใคร เป็นคนวัยไหน จากนั้นก็เลือกระดับภาษาที่เขาเข้าใจ เลือกชุดข้อมูลที่เขาพอยอมรับ เปิดใจ และไปต่อในเรื่องอื่นๆ ที่มันอาจขัดแย้งมากกว่านี้ได้ ที่สำคัญต้องอธิบายให้เข้าใจถึงเหตุผลที่คิดหรือเห็นต่างกับเขา

จนถึงวันนี้มีภาพในหัวบ้างไหม ว่าอยากให้ลูกเติบโตในสังคมแบบไหน

ผมมีภาพแค่ว่าอยากให้เขาเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เท่าผมให้เร็วที่สุด ทั้งการใช้ชีวิตในต่างประเทศ เรื่องการใช้ภาษา คืออยากให้เขาได้เห็นโลกกว้าง ได้เปิดโอกาสกับตัวเองมากที่สุด ดังนั้น ภาพในหัวของผมคือการเห็นเขาที่พร้อมทั้งในแง่ของภาษาและโอกาส ในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ

สุดท้ายมีอะไรอยากฝากคุณพ่อคุณแม่คนอื่นที่มีลูกวัยเดียวกันบ้างไหม 

เป็นกำลังใจให้ครับ อย่างเรื่องโซเชียลฯ เกม หรือ TikTok พ่อแม่ทุกคนคงระวังกันอยู่แล้ว

ผมอ่านโพสต์ของพ่อแม่หลายครอบครัวที่แชร์วิธีการเลี้ยงลูก เพื่อเก็บทริกดีๆ มาปรับใช้ เลยอยากฝากว่า ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับครอบครัวอื่น เพราะถ้าเทียบกับพ่อแม่คนอื่น ผมเองก็ยังคิดว่าทำได้ไม่ดีพอ แต่ก็พยายามให้ลูกเรียนรู้ทักษะต่างๆ ให้มากที่สุด เพื่อเป็นอาวุธให้ลูกในอนาคต

และปัญหาที่เป็นปัจจัยภายนอก อย่างเรื่องสภาพอากาศ มลภาวะ หรือเรื่องผังเมืองที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิต อยากให้ช่วยกันผลักดันให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะมันได้ประโยชน์กับทุกคนครับ

Fact Box

  • อิสระ ฮาตะ คือทีมงานและพิธีกรจากรายการ VRZO แชแนลยูทูบเชิงวาไรตี้ โดยมีเนื้อหาคือการสัมภาษณ์ผู้คน 100 คนในคลิปต่างๆ อันเป็นที่มาของวลีในตำนานอย่าง ‘ขอสามคำ’ โดยนอกจากนี้ VRZO มีรายการย่อยอื่นๆ เช่น We Are Lovely Pet และซีรีส์จังไรแมน
  • ปัจจุบัน อิสระคือครีเอเตอร์ใน Rubsarb Production แชแนลยูทูบที่มีเนื้อหาแนวไลฟ์สไตล์ เกม อาหาร และศิลปะ 
  • อิสระเป็นลูกชายของครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป เพื่อช่วยเหลือชุมชนแออัดคลองเตย ซึ่งหล่อหลอมให้เขากลายเป็นคนที่มีความสนใจทางการเมือง โดยที่ผ่านมา อิสระเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง

 

Tags: , , , , , , , ,