แม้ในทางการเมือง นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ ‘หมอเลี้ยบ’ ถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต จากการถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก 1 ปี จึงไม่สามารถมีตำแหน่ง รับตำแหน่ง หรือทำงานการเมืองใดๆ ได้อีกตลอดชีวิต แต่ดูเหมือนว่า อดีตรองนายกรัฐมนตรีจะยังเป็น ‘คนสำคัญ’ ของรัฐบาลเพื่อไทยในปัจจุบันจากหลากหลาย ‘หัวโขน’ 

ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ปีที่แล้ว เขาเป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย คอยคุมยุทธศาสตร์ของเพื่อไทยทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้า ต่างกรรมต่างวาระ

ในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน หมอเลี้ยบได้รับผิดชอบให้ดู 2 เรื่องใหญ่ คือ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ และ ‘30 บาท รักษาทุกที่’ เคียงข้างหัวหน้าพรรคที่ชื่อ แพทองธาร ชินวัตร

ขณะเดียวกันแน่นอนว่า เมื่อ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ขึ้นเป็นนายกฯ แทน เศรษฐา ทวีสิน เขาก็เนื้อหอมขึ้น จากรองประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ มาวันนี้หมอเลี้ยบขึ้นนั่งเป็นประธาน และเมื่อแพทองธารจรดปากกาลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี’ อันมี พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นประธาน เขาก็นั่งเป็นรองประธาน พร้อมกับฟื้นตำนานของ ‘ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษฯ’ อีกครั้ง 

อันที่จริงหากย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์ทางการเมือง ทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกในรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ (อันมีประธานคนเดียวกันคือ พันศักดิ์ วิญญรัตน์) คือหนึ่งในมันสมองสำคัญ ทีมที่ปรึกษารุ่นใหม่วันนั้น เป็นต้นว่า สุรเกียรติ์ เสถียรไทย, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร กระทั่งลูกของนายกฯ อย่าง ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ล้วนมีส่วนไม่น้อยในการสร้างนโยบายอย่าง ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ รวมถึงวางนโยบายเศรษฐกิจ-การลงทุน จนทำให้ประเทศไทยทะยานอย่างก้าวกระโดดเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน 

แต่รัฐบาลน้าชาติก็จบลงด้วยการรัฐประหาร หนังสือพิมพ์บางฉบับวิเคราะห์ว่า การรัฐประหารส่วนหนึ่งเกิดจากท่าทีของทีม ‘บ้านพิษฯ’ ที่หลายคนมองว่าแข็งกร้าว ไม่ให้เกียรติผู้ใหญ่ การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ถึงกับบอกเหตุผลว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคณะที่ปรึกษาได้ร่วมกับนายกฯ และคณะรัฐมนตรี หลอกลวงประชาชนว่า ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการรัฐสภา

นับจากนั้น ก็ไม่มีใครพูดถึงที่ปรึกษา ‘บ้านพิษฯ’ อีก กระทั่งมาถึงวาระของนายกฯ หญิงอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่ตั้งทีมที่ปรึกษาอายุ 60-80 รวม 5 คน ให้นั่งทำงานที่บ้านหลังนี้ 

“ผมชอบที่นี่ เพราะเงียบสงบ มีความเป็นส่วนตัว มีพื้นที่ให้คิด ให้ทำอะไรได้มากกว่าที่ทำเนียบรัฐบาล”

ในวาระที่ The Momentum กำลังจะฉลองงานวันเกิดครั้งแรก และนายแพทย์สุรพงษ์เป็นหนึ่งในสปีกเกอร์งาน Drive the Momentum ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 วันหนึ่งในยามบ่าย หมอเลี้ยบเปิดเรือนไทยพันธมิตร เรือนหลักในบ้านพิษณุโลก ที่ซึ่งเขาบอกว่าจะเป็นศูนย์กลางของสองนโยบายหลัก ทั้งซอฟต์พาวเวอร์ และ 30 บาทรักษาทุกที่ นั่งคุยสบายๆ กับ The Momentum ทั้งเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ที่เขากำลังทำ ตัวตนของเขา และแผนการของเขาในอนาคต

มีคนบอกว่า ‘บ้านพิษณุโลก’ ที่เรานั่งคุยกันอยู่ตอนนี้เป็น ‘ศูนย์กลางอำนาจใหม่’ เป็นทีมที่อยู่เบื้องหลังตัวจริงของนายกฯ แพทองธาร จริงๆ แล้ว ในแต่ละวันคุณทำอะไรบ้างที่นี่

ที่นี่คือเรือนไทยพันธมิตร บ้านพิษณุโลก เป็นเรือนประธานของอาณาเขตบริเวณบ้านพิษณุโลก ที่อยู่ในตำนาน ทั้งตำนานบ้านพักของนายกรัฐมนตรี ตำนานของบ้านที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ที่เริ่มตั้งแต่สมัย พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ประธานที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกในวันนั้นกับปัจจุบันเป็นคนเดียวกันคืออาจารย์พันศักดิ์ วิญญรัตน์ 

ตอนที่ท่านนายกฯ แพทองธาร ขึ้นมาทำหน้าที่ได้มีการพูดคุยกันกับอาจารย์พันศักดิ์ ผม อาจารย์ศุภวุฒิ (ศุภวุฒิ สายเชื้อ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่เราทำคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ผมเป็นรองประธาน อาจารย์พันศักดิ์เป็นที่ปรึกษา เรามีโอกาสทำงานร่วมกันมาประมาณ 1 ปี คิดเรื่องเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ด้วยกัน 

ในตอนนั้นท่านนายกฯ บอกว่า อยากให้อาจารย์พันศักดิ์ อาจารย์ศุภวุฒิ และอีกหลายท่าน ช่วยกันดูว่า มีนโยบายอะไรที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ทั้งในเชิงการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจ ระบบราชการ หรือแม้แต่ในเรื่องทางสังคม จึงได้มีการพูดคุยและเชิญอาจารย์ธงทอง จันทรางศุ คุณพงศ์เทพ เทพกาญจนา ซึ่งเคยทำงานกับผมตั้งแต่สมัยรัฐบาลไทยรักไทยมาร่วม ทั้ง 5 คนจึงกลายมาเป็นที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกในยุคนี้

ถามว่าบทบาทเป็น ‘Think Tank’ ใช่ไหม ก็เป็นส่วนหนึ่งคือ เรามีหน้าที่ที่จะมองเรื่องของสถานการณ์ปัจจุบัน จากทั้งในประเทศออกไปสู่ต่างประเทศ มีโอกาสตามอำนาจหน้าที่ที่ท่านนายกฯ ให้ไว้ตอนแต่งตั้ง คือสามารถขอดูเอกสาร ขอประชุมหน่วยราชการเพื่อรับฟังข้อมูล ตกผลึกสังเคราะห์ เอามาเป็นแนวนโยบายที่นำเสนอ ซึ่งหลายเรื่องศึกษากันไว้แล้ว หลายเรื่องเป็นเรื่องที่มีแนวคิด และต้องการการสนับสนุนจากข้อมูล ซึ่งมีอยู่มากมายในระบบราชการ ถึงวันนี้มีการพูดคุยกับท่านนายกฯ ประมาณ 3 ครั้งแล้ว มีหลายแนวคิดที่พูดคุยกันในห้องนี้ ทุกวันพฤหัสบดีนายกรัฐมนตรีจะนั่งประชุมด้วยกันประมาณ 2 ชั่วโมง มีการโยนไอเดียหลากหลาย มีวาระมากมาย เรียกว่าทุกคนมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับท่านนายกฯ

เป็นศูนย์กลางอำนาจใหม่ไหม

ที่นี่เป็นแค่สมอง มีลักษณะของการประมวลผล แต่ไม่ใช่สมองที่สั่งการ ไม่มีอำนาจสั่งการ ตามคำสั่งแต่งตั้งเองก็ไม่สามารถไปสั่งใครได้ ข้าราชการในอำนาจสามารถมาขอข้อมูลหรือเอามาให้ได้ แต่หากเขาไม่ให้ ตรงนี้ก็ยังไม่มีอำนาจจะไปให้คุณให้โทษใคร แค่อำนาจเบื้องต้นยังไม่มีเลย เพราะฉะนั้นไม่ใช่ศูนย์กลางอำนาจ เพียงแต่ว่าเป็นส่วนของการประเมินผลมากกว่า 

มี Generation Gap ไหม เพราะวันนี้ นายกฯ อายุ 38 ปี ขณะที่ทีมที่ปรึกษา มีอายุ 60-70 ปี อาจารย์พันศักดิ์อายุ 80 ปีแล้ว สิ่งเหล่านี้มีผลกับการประมวลความคิดให้กับคนรุ่นใหม่อย่างนายกฯ ไหม

ผมคิดว่า Generation Gap คือความต่าง ความห่าง ของวัยในแง่ของวิธีคิด ที่อาจจะเข้าใจโลกในมุมที่ต่างกัน แต่หากนับเฉพาะกลุ่มของที่ปรึกษา 5 คน มีตั้งแต่ 60 กว่าจนถึง 80 ปี เท่าที่ผมสังเกต รวมถึงตัวผมเองด้วย พวกเราทุกคนทันสมัย ฟังไอเดียกันแล้วก็มีคนอยากจะมาเล่าสู่กันฟังมากมาย 

เด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยเห็นอาจารย์พันศักดิ์เป็นไอดอล อยากคุย อยากแลกเปลี่ยน มีหลายคนที่พอไปคุยแล้วบอกว่าสมองตัวเองปั่นป่วนเลย บางคนบอกว่าต้องกินยาแก้ปวด เพราะหลายสิ่งที่อาจารย์พันศักดิ์ท้าทายในเรื่องของความคิดและความเชื่อ ทำให้เด็กรุ่นใหม่รู้สึกว่าสิ่งที่เขาเคยรู้ เคยเรียนมา ถูกตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา 

ฉะนั้นในแง่ของการมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับคนรุ่นใหม่ คนรุ่นอายุ 20-40 ปี เยอะมาก แต่เราไม่มีปัญหาในการทำความเข้าใจกับคนในแต่ละช่วงวัย เช่นเดียวกับฝั่งท่านนายกรัฐมนตรี อายุ 37-38 ปี ก็ตาลุกวาวทุกครั้งเวลานั่งฟังใครก็ตามเล่าเรื่องนู้น เรื่องนี้ให้ฟัง คือเป็นนักฟังที่ดี 

ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญหนึ่งของผู้นำ ที่ทำให้เกิดพัฒนาการในแง่ของการเก็บรวบรวมข้อมูลได้ดีมาก มีนักคิดของตะวันตกคนหนึ่งเคยบอกว่า ผู้นำมีได้หลายแบบ แต่ถ้าหากจะแบ่งคือ ผู้นำที่เป็นนักฟังหรือผู้นำที่เป็นนักอ่าน ตัวอย่างผู้นำที่เป็นนักฟังที่ดีที่เห็นชัดคือ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ หรืออย่าง ดร.ทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นนักอ่าน อ่านหนังสือมาก อ่านชนิดที่ไม่ลืมหูลืมตา ผมนั่งเครื่องบินไป เวลาไปเยือนต่างประเทศ ท่านอ่านหนังสือตลอดทุกไฟลต์ แล้วก็ชอบมาเล่าเรื่องที่อ่านในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

หากย้อนกลับไปประวัติศาสตร์บ้านพิษณุโลกสมัยนายกฯ ชาติชาย มีนโยบายหลายอย่างที่ออกมา เช่น ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ แต่สุดท้ายเป็นที่ที่ทำให้ส่วนหนึ่งถูกรัฐประหาร ในฐานะที่คุณมานั่งตรงนี้ จะมีอะไรออกมาจากที่นี่บ้าง และกลัวไหมว่าอาจกลายเป็นเป้าที่จะทำให้ถูกรัฐประหาร

ผมคิดว่าต้องแก้ไขประวัติศาสตร์นั้น คนชอบบอกว่า เพราะที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกนี่แหละ ทำให้พลเอกชาติชายถูกทำรัฐประหาร คำถามก็คือการทำให้สนามรบกลายเป็นสนามการค้าที่กัมพูชา มีเหตุผลอะไรที่ทำให้เกิดรัฐประหาร ไม่ครับ เป็นเหตุผลทางการเมือง เป็นเหตุผลอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้บอกกันระหว่างบรรทัด แต่ไม่ใช่เรื่องนโยบายของที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลกแน่ๆ

ส่วนใหญ่เรามองว่าปัญหาวันนี้ที่ประเทศไทยเผชิญ คือปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางสังคม จะแก้ปัญหานั้นอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ เป็นเรื่องใหญ่มากในภาวะปัจจุบัน ฉะนั้นถามว่า มีเรื่องใหญ่อะไรไหม มี เรากำลังคิดกันอยู่ มีการตั้งคำถาม มีการขอข้อมูลแล้ว และเชื่อว่าเดี๋ยวพอตกผลึกก็จะมีเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจครั้งใหญ่เกิดขึ้นแน่นอน 

คุณเองดูเรื่องซอฟต์พาวเวอร์กับสาธารณสุขใช่ไหม 

ครับ วันแรกที่นั่งประชุมกัน ผมเรียนท่านนายกฯ ว่า ผมยังอยากทำเรื่องที่ทำอยู่มาก่อนหน้านี้ คือเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งทำมาแล้ว 1 ปี เราได้เริ่มต้นปูรากฐานไว้แล้ว ตอนนี้ต้องการการขึ้นโครง ขึ้นชั้นต่างๆ ตกแต่งให้สวยงาม ฉะนั้นก็ต้องคิดทำให้ที่นี่เป็นจุดศูนย์รวมของซอฟต์พาวเวอร์อย่างจริงจัง ซึ่งที่บ้านพิษณุโลกเรามีอาคารหลายหลัง มีอยู่หลังหนึ่งที่จะเป็นห้องประชุมอนุกรรมการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ทั้งหลาย อุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร มวยไทย ภาพยนตร์ ดนตรี กลายเป็นฐานของการที่จะคิดและขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์

เช่นเดียวกับเรื่องสาธารณสุข เช่น นโยบาย 30 บาท มาวันนี้กำลังเริ่มมีการขยายตัวในเชิงคุณภาพ 30 บาทรักษาทุกที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ซับซ้อนมาก นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญ ก่อนหน้านี้การทำในต่างจังหวัดไม่ได้เป็นเรื่องยากเท่าไร เพราะเป็นเรื่องของโครงสร้างของการบริหาร บริการของสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดการทั้งหมด แต่พอเข้ากรุงเทพฯ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากมายรวมทั้งภาคเอกชนด้วย การปรับเรื่องเกี่ยวกับการเชื่อมโยงข้อมูลจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก รวมทั้งการเตรียมการที่จะทำเรื่องโครงสร้างของการบริการปฐมภูมิของกรุงเทพมหานคร ที่เราเคยมีการพูดว่าจะต้องมี 50 เขต 50 โรงพยาบาล ตรงนี้เป็นจุดที่จะต้องเริ่มขับเคลื่อนขึ้นอย่างจริงจัง 

นอกจาก 2 เรื่องนี้ ตอนที่มานั่งประชุมกันเป็นหมู่คณะมีการพูดคุยเรื่องอื่นอีกไหม 

ตอนนี้เริ่มคิดถึงเรื่องการศึกษา คนชอบพูดว่า หากเราไม่ปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ประเทศไทยไม่มีอนาคต สุดท้ายมันพิสูจน์แล้วว่า ทุกประเทศที่เติบโตอย่างยั่งยืนได้ อย่างเช่น สิงคโปร์ที่อยู่ใกล้เรา ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ จำนวนคนก็น้อย แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือคน เขาทำเรื่องการศึกษา ฉะนั้นก็มีการคุยกันว่า ใครจะมารับผิดชอบเรื่องการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งในวันนี้ยังไม่ได้มีการมอบหมายชัดเจน แต่เดี๋ยวจะทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง แล้วมีการพูดคุยกับผู้ที่ผมเชื่อว่าจะช่วยกันปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่หลายคนแล้ว 

ผ่านมา 1 ปี ในหมวกของการเป็นประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ พอใจไหมกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ หากนับตั้งแต่คุณเริ่มทำงานเรื่องนี้

จนถึงวันนี้ยังไม่พอใจ เพราะเรามีข้อจำกัดมากมาย ต้องยอมรับว่า การกลับมาครั้งนี้ไม่เหมือนกับตอนที่เราขับเคลื่อนหลายนโยบายที่สำคัญในรัฐบาลไทยรักไทย ต้องยอมรับว่าระบบราชการไม่ได้คล่องตัว ไม่ได้มีประสิทธิภาพ เหมือนกับที่เราเคยรู้สึกเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว การเดินหน้าเพื่อที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ต้องอาศัยความเข้าใจกับหน่วยราชการจำนวนมาก การทำงานซอฟต์พาวเวอร์ของเรามีแต่คนพูด แต่ต่างคนต่างทำ ไม่มีการทำงานแบบบูรณาการ ไม่เคยมาคิดร่วมกันเลย ตัวแก่น ตัวโปรดักต์ข้างในของเราวันนี้พร้อมอยู่แล้ว ขอแต่งตัวให้สวยเท่านั้นแหละ ที่ผ่านมาเรามีของดี แต่ว่าของดีเหล่านี้ไม่เคยถูกมองในเชิงยุทธศาสตร์ ไม่มีการมานั่งคิด ตอนนี้ลองเอาต่างหน่วยงานมาบูรณาการกัน แล้วดูว่าเราจะวางแผนอย่างไร 

ยกตัวอย่าง Hong Kong FILMART เมื่อตอนต้นปี 2567 มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ 3 หน่วยงาน มีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา มีกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมทำหน้าที่จองพื้นที่ กระทรวงท่องเที่ยวทำหน้าที่แต่งพื้นที่นั้นให้เป็นบูธของประเทศไทย กรมส่งเสริมพัฒนาการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่จัดภายใน แต่หน่วยงานทั้งหมดนี้ทำงานกันมาหลายปีแล้วแต่ไม่เคยคิดร่วมกัน ถามว่าเขาอยากกคิดร่วมกันไหมเขาอยากคิด แต่เขาต้องการ การให้นโยบาย การกำหนดทิศทางจากผู้ที่มองเห็นภาพใหญ่ 

เพราะฉะนั้นตอนที่เราเข้ามาใหม่ๆ คือจองที่จองไปแล้ว ออกแบบก็ออกแบบแล้ว ก็นั่งคิดว่าเราจะปรับอะไรบ้างได้บ้างเท่าที่จำเป็น เราควรมีวัฒนธรรมของเรา หรือซอฟต์พาวเวอร์ตัวอื่น เพื่อสร้างความรู้สึกร่วม หรืออย่างน้อยต้องมีจอใหญ่โผล่ขึ้นมาในกลางพาวิลเลียนแล้วทุกคนเห็นแล้วตื่นตะลึง ไม่มี แต่ขนาดไม่มี เราพบว่ามีคนต่างชาติมากมายมาคุยกับผู้ประกอบการของเรา ที่เอาหนังไปโชว์ เอาหนังไปฉาย รวมทั้งไปขอร่วมทุนใครสนใจมาร่วมทุน บูธของประเทศไทยคนเยอะมาก แต่บูธอื่นที่สวยๆ กลับไม่มีคน

ถามว่าเปลือกสำคัญไหมก็สำคัญ แต่ในเวลาเดียวกัน ตัวแก่น ตัวโปรดักต์ข้างในของเราวันนี้พร้อมอยู่แล้ว ขอแต่งตัวให้สวยเท่านั้นแหละ และนี่คือตัวอย่างว่าที่ผ่านมาเรามีของดี แต่ของดีเหล่านี้ไม่เคยถูกมองในเชิงยุทธศาสตร์ ไม่มีการคิดว่าจะเอางบประมาณที่มีอยู่ต่างหน่วยงานมาบูรณาการ มาดูว่าจะวางแผนอย่างไร

ปัญหาที่คุณไม่พอใจคือเรื่องอะไร

ปัญหาก็คือระบบราชการก่อนหน้านี้เป็นลักษณะแบบไซโล ต่างคนต่างทำ แล้วการจะทลายไซโล ก็ต้องการตัดสินใจเชิงนโยบายที่เข้มแข็งจริงๆ อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็เป็นปัญหาในช่วงที่ผ่านมา

อีกส่วนคือระบบราชการ ที่มีปัญหาคือเรื่องงบประมาณ ตอนแรกเราเสนองบประมาณไป 5,000 ล้านบาท ทุกคนก็โอ้โหตั้ง 5,000 ล้าน ทั้งที่ในแง่ความเป็นจริง งบประมาณที่ถูกใช้คำว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือซอฟต์พาวเวอร์ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็อยู่ที่หลักพันล้านหมดแล้ว ฉะนั้นการเสนอ 5,000 ล้านบาท ไม่ได้เกินขอบเขตที่เสนอด้วยซ้ำไป 

ทีนี้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เพิ่งผ่านสภาฯ เมื่อเดือนเมษายน เราเหลือเวลาใช้แค่ครึ่งปี ก็ตัดเหลือสักประมาณ 2,000 ล้านบาท ทำไปทำมา-กระบวนการในการพิจารณาอะไรมากมายของระบบราชการ ใช้เวลาจากเมษายนกว่าจะได้เงินก็ปลายเดือนสิงหาคม ฉะนั้นเราเพิ่งได้เงินมาเพียง 600 ล้านบาท จากที่ประเมินไว้ 5,000 ล้านบาท และเมื่อเดือนตุลาคม เราเพิ่งใช้เงินกันได้ประมาณ 1 เดือนครึ่ง และยังไม่ได้เริ่มใช้เท่าไรเลย เพราะต้องผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

ฉะนั้น 10 เดือนที่ผ่านมา ถามว่าทำอะไรกัน ประชุม ใช่ บางเรื่องที่เป็นเรื่องที่เราคิดว่าเร่งด่วน อย่างเช่นเทศกาลภาพยนตร์ หนังอย่างหลานม่า หนังอย่างอีกหลายๆ เรื่อง จะต้องไปเทศกาลภาพยนตร์ เราก็บอกของบเร่งด่วนที่เป็นงบกลางมาสนับสนุน หนังสือจะไปจัดงานเทศกาลหนังสือนานาชาติไทเป ของบมาสนับสนุน 2-3 ล้านอย่างนี้เป็นต้น มีงบที่ใช้เยอะหน่อยคืองบสงกรานต์ แต่ก็ไม่ได้เยอะมากอย่างที่เราเสนอขอไป เพราะฉะนั้นออกมาก็เลยไม่ได้เป็นคุณภาพที่เรามองฝันเอาไว้ 

ในส่วนของภาคเอกชนก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่ ผมพยายามเน้นอยู่เสมอพูดกับ The Momentum ก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำไปว่า เอกชนคือพระเอก คือนางเอก ราชการมีหน้าที่สนับสนุนเป็นผู้ช่วยพระเอก เป็นผู้ช่วยนางเอก เราจะไม่ทำเองเพราะเราไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ดีเท่าเอกชน ราชการเราอยู่ในระบบทุกเดือนก็ได้เงินเดือน เราไม่ได้ไปเจ็บเอง เราไม่เข้าใจถึงปัญหาของระบบนิเวศของอุตสาหกรรมเขาหรอก ฉะนั้นอย่ามาตัดสินใจทำเอง เอกชนจะต้องเป็นคนขับเคลื่อนได้ 

แต่เอกชนก็ไม่คุ้นเคยกับการที่อยู่ๆ มาวันหนึ่งกลายเป็นคนที่จะมากำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมตัวเองระดับชาติไปแล้ว หลายคนทำตัวไม่ถูก หลายคนก็เอ๊ะ บอกมาสิว่าจะให้ตั้งเป้าอย่างไร บอกไม่ใช่คุณจะต้องเป็นคนตั้งเป้า คุณต้องเป็นคนบอกว่าปัญหาของคุณคืออะไร คุณอยากให้รัฐบาลทำอะไร เพราะว่าเราเคยชินกับการรัฐเป็นคนบอกให้ทำ แล้วบอกมีเงินเท่านี้ไปทำอันนี้ เอกชนก็ไปทำอย่างนี้ ฉะนั้นการที่จะต้องค่อยๆ เปลี่ยนเอกชนกล้าคิด กล้าที่จะบอกเราจะทำอย่างนี้ KPI ต้องคืออย่างนี้ บอกมาเพราะบางอุตสาหกรรมถึงขนาดบอกว่ารัฐตั้ง KPI ให้หน่อย ไม่ใช่เอกชนต้องตั้ง KPI เอง

แต่ถ้ามีปัญหา รัฐมีหน้าที่สนับสนุน ขาดเงิน เราหากองทุนสนับสนุนให้ กฎหมายมีปัญหา เราช่วยแก้กฎหมาย ต้องการสิทธิประโยชน์ทางภาษี เราดูแลให้ได้ แต่ทั้งหมด เป็นกระบวนการที่เอกชนต้องเสนอ อย่างสิทธิประโยชน์ทางภาษี มีข้อเรียกร้องมากมาย ซึ่งรัฐก็ต้องทำให้เร็วขึ้น

หากให้ลองยกตัวอย่างเรื่องที่คืบหน้าที่สุด เห็นผลเร็วที่สุด และน่าจะเห็นผลชัดเจนในเร็วๆ นี้ คุณคิดว่าเป็นเรื่องอะไร

ผมคิดว่าภาพยนตร์ ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์สามารถระดมคนเข้ามาได้เยอะมากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่ง มีคนที่มาเป็นอนุกรรมการภาพยนตร์เกือบ 50 คน แบ่งเป็น 2 คณะ คณะภาพยนตร์ คณะละครและซีรีส์ ซึ่งธรรมชาติของเขาไม่เหมือนกัน แล้วเขาก็มองตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่า ระบบมีปัญหาอะไร พระราชบัญญัติภาพยนตร์มีปัญหาเรื่องการจัดเรตติง มีปัญหาเรื่องการส่งเสริมให้มีคนรุ่นใหม่เข้าสู่วงการมากขึ้น มีทำหนังสั้นหรือแม้แต่เรื่องโควตาการฉายภาพยนตร์ เรื่องไมโครซินีม่า อะไรพวกนี้ ฉะนั้นพอมาทำงาน เขาก็มีการเสนอเป็นระบบ 

คุณอดัม-หม่อมราชวงศ์ชาตรีเฉลิม ยุคล บอกตั้งแต่วันแรกๆ เหมือนกันว่า ภาพยนตร์โดยตัวมันเองอาจจะทําเงินได้ระดับหนึ่ง แต่เชื่อเลยว่าภาพยนตร์จะเป็นตัวที่พาซอฟต์พาวเวอร์ตัวอื่น พาเรื่องอาหารไทย พาเรื่องมวยไทยเหมือนกับที่องค์บากทํามาแล้ว ทําให้ออกไปสู่โลกได้มากขึ้น ซึ่งเรามันก็เชื่ออย่างนั้นว่า ภาพยนตร์จะต้องเป็นกลไกสําคัญเป็นพาหนะสําคัญที่พาไป

ที่ผ่านมาภาพยนตร์ไทยก็เป็นที่ยอมรับในระดับโลก แล้วมันมาเกิดขึ้นในช่วงที่ซอฟต์พาวเวอร์กลายเป็นนโยบายสําคัญของรัฐบาลพอดี ไม่ว่าจะเป็นของกรณีของภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ เรื่องหลานม่า หรืออีกหลายเรื่อง เป็นโอกาสที่ภาพยนตร์ไปสู่ตลาดโลก นี่เป็นตัวอย่างว่า เรามีคนเก่ง เรามีคนที่มีคอนเนกชันภาพยนตร์ในระดับโลกเยอะแยะมากมาย เรามีคุณเจ้ย อภิชาตพงศ์ (อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ซึ่งได้รางวัลปาล์มทองคําของเมืองคานส์มาแล้ว ผมว่าวันนี้คนอุตสาหกรรมภาพยนตร์มีปีกอยู่แล้วบนหลัง แต่เขาต้องการลมที่ทําให้บินได้สูงขึ้น เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องทําหน้าที่เป็นลม 

ผมเชื่อว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยกําลังเติบโตเร็วมาก แล้วได้แรงส่งจากรัฐบาลเต็มที่ เชื่อว่าในปี 2568-2570 ภาพยนตร์ไทยจะยิ่งใหญ่ขึ้น ตอนนี้มีการวางแผนร่วมกันหมดทั้งรัฐ ทั้งเอกชน หน่วยงานรัฐ 3 หน่วยงาน กระทรวงต่างประเทศมานั่งประชุมที่บ้านพิษณุโลก และตัวอนุกรรมการทุกคน ที่สำคัญคือเราจะมีเทศกาลภาพยนตร์อย่างน้อยก็ระดับภูมิภาคในกรุงเทพฯ ภายในปีหน้า ตั้งเป้าหมายคือต้องเทียบเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน ฉะนั้นเราก็จะเห็นอะไรหลายอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน 20 กว่าปี 

ถึงที่สุดแล้วซอฟท์พาวเวอร์เป็นนโยบายเศรษฐกิจที่จะนำเงินเข้าประเทศไหม สุดท้ายมันจะงอกเงยมากขนาดไหน

เราคิดว่าเป้าหมายของซอฟต์พาวเวอร์คือเรื่องเศรษฐกิจ เราไม่ได้ทําซอฟต์พาวเวอร์เพื่อเท่ซอฟต์พาวเวอร์คือเครื่องมือ คือเครื่องยนต์ตัวหนึ่งที่จะทําให้ประเทศไทยได้มีโอกาสทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ผมเคยพูดว่า ประเทศไทยควรจะเป็นประเทศรายได้สูงได้แล้ว ก่อนปี 2540 เราบอกเราเป็นเสือตัวที่ 5 เราจะเป็นประเทศมีรายได้สูง ผ่านมาวันนี้ 20 กว่าปี เราหยุดอยู่กับกับดักรายได้ปานกลางตลอดเวลา วันนี้ตัวเลข GDP Per Capita ของเราอยู่แค่ครึ่งหนึ่งของตัวเลข GDP Per Capita ของประเทศที่มีรายได้สูง หากสมมติเราเดินแบบเดิม ใช้โครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิม แม้จะมี FDI (Foreign Direct Investment หรือเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ) จํานวนมากมาย มีโรงงานไฮเทคมากมายมาอยู่ในประเทศไทย

GDP อาจจะโตก็จริง แต่ถามว่ามันจะโตถึงขนาดที่ทัดเทียมแข่งขันกับเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซีย เวียดนามได้ไหม มีอะไรที่แตกต่างเพราะเขาก็ทําได้อย่างนี้เหมือนกัน อย่างนั้นเราต้องเล่นเกมของเรา เราไม่ไปเล่นเกมคนอื่น 

หลายคนรู้สึกผิดหวังที่หน้าตาของรัฐบาลออกมาเป็นเช่นนี้ รู้สึกว่ารัฐบาลเพื่อไทยจับมือกับฝั่งตรงข้าม การที่คุณอยู่ในระบบแบบนี้ โครงสร้างแบบนี้ คุณคาดหวังอะไร แล้วคุณเชื่อว่าจะเปลี่ยนอะไรได้ไหม

ผมคิดว่าแล้วแต่ภูมิหลังแต่ละคนในการมอง ถ้าเปรียบเทียบ วันที่ เติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) เปลี่ยนประเทศจีน โดยพูดวลีว่า “ไม่ว่าจะเป็นแมวขาวหรือแมวดําขอให้จับหนูได้ก็แล้วกัน” ผมว่าเป็นความกล้าหาญอย่างมาก ในการเปลี่ยนสิ่งที่ตัวเองศึกษามาแล้วอยู่กับสิ่งนั้นมาทั้งชีวิต ถ้าวันนั้น เติ้ง เสี่ยวผิงไม่เริ่มที่จะคิดใหม่ ผมว่าวันนี้ประเทศจีนจะอยู่ตรงไหนไม่รู้ คําถามของเราคือ ใครก็ตามที่มาทํางานการเมืองหรือคนที่สนใจการเมือง เป้าหมายเราสุดท้ายคืออะไร ผมคิดว่าที่ผมตั้งใจตั้งแต่ตอนเด็กๆ คือทําให้คนที่ร่วมสังคมกับเรามีชีวิตที่ดี มีโอกาสในการที่ทําให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน 

ถามว่าเราคาดหวังอะไรในการที่อยากจะเห็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามมาทําหน้าที่ แน่นอน ผมถามคําถามกับตัวเองเหมือนกันว่า สุดท้ายแล้ว ถ้าเรามีทางเลือกอยู่แค่ 2 ทาง เรายังคิดว่าทางเลือกที่ ใช้โอกาสที่มีอยู่ให้ดีที่สุด แล้วก็ทําให้สิ่งที่เป็นเป้าหมายเราคือ ทําให้อย่างน้อยคนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ได้รับการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าใช่หรือไม่

ผมพูดตั้งแต่วันที่มาตัดสินใจทําเดินหน้าในการขับเคลื่อนเรื่องซอฟต์พาวเวอร์หรือเรื่อง 30 บาททุกที่ก็ตาม ผมเคยพูดแล้วครั้งหนึ่งว่า ผมไม่สนใจรายการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะว่าการเลือกตั้งไม่ได้เป็นเรื่องสําคัญกับชีวิตผม แต่ผมมีความรู้สึกว่า ถ้าหากมันมีโอกาสที่ทําให้เราสามารถขับเคลื่อนเรื่องที่มันยาก เรื่องที่มันจะเปลี่ยนชีวิตคนได้ ใช้โอกาสนั้น

ฉะนั้นถามว่า มองตาในตัวเองในกระจกได้ไหมทุกวันนี้ยังมีความสุขมาก เรารู้สึกว่ายิ่งเราขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์แล้ว ยิ่งเราทําให้ทุกคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ต่างๆ มีความรู้สึกว่า เกิดความหวังในชีวิต เกิดความหวังว่าสิ่งที่เคยเจออุปสรรคต่างๆ ทั้งหลายมาแล้วมันไม่เคยแก้ได้เลย วันนี้มันเป็นโอกาสที่ดีแล้ว เขาสามารถที่จะหวังกับมันได้

ผมว่าอันนี้เป็นเรื่องที่ทําให้เรารู้สึกว่าเราทําสิ่งที่ถูกต้องแล้ว มีอยู่คนหนึ่งในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มาบอกผมเลยว่า ถ้าหากครั้งนี้ทําไม่สําเร็จก็หมดหวัง นั่นแปลว่าเขารู้สึกว่าครั้งนี้คือเรามาถูกทางแล้ว เราเปิดโอกาสให้ทุกคนมาร่วมขับเคลื่อนได้จริงจัง 

ต้องกลับไปย้อนถามว่าที่มีคนชอบถามว่า รออีก 10 เดือน ถ้ารออีก 10 เดือนวันนี้เป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้แล้ว วันนี้ไม่มีใครบอกได้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นอย่างที่คิดรึเปล่า จริงๆ แล้วในรายละเอียดของการเลือกตั้ง รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลในปีที่แล้ว ยังมีอีกเยอะแยะที่ไม่มีการพูดถึงกัน ผมว่าในเวลาที่เหมาะสมที่จะกลับมานั่งทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2566 เราอาจจะได้มีการมานั่งดูละเอียดเหล่านั้นว่าจริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นในช่วงปีแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับที่หลายคนมองภาพจากข้างนอกก็ได้ 

ในฐานะคนที่อยู่ในรัฐบาล คุณอยากบอกอะไรกับคนรุ่นใหม่ คนเจน Y เจน Z ในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวบนท้องถนนแรงๆ จนถึงวันนี้ 

ทุกเรื่องในชีวิตของเรา ในสังคมของเรา มีรายละเอียดอีกมากมายที่เราไม่รู้ ผมเจอคนจํานวนไม่น้อยที่อ่านหนังสือไม่กี่เล่ม คุยกับคนไม่กี่คนแล้วบอกว่าฉันรู้ทุกเรื่องแล้ว ผ่านมาอีกช่วงหนึ่ง เขาเริ่มรู้ว่าสิ่งที่รู้มันน้อยมากกับสิ่งที่มันเป็นอยู่จริง 

หลายครั้งผมคิดว่าคนที่อายุน้อยลงลึกและเก่งหลายเรื่องก็จริง เช่น เรื่องปัญญาประดิษฐ์ เรื่องเทคโนโลยี แต่บางทีขาดความรู้เรื่องทางกว้าง เขาไม่รู้ประวัติศาสตร์เลย เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าจะค้นคว้าไม่ยาก ผมจึงอยากบอกว่า ยังมีเรื่องอีกเยอะแยะในโลกที่คุณไม่รู้ คุณอย่าคิดว่าคุณรู้ทุกเรื่อง เก่งทุกเรื่อง เปิดใจให้กว้าง ฟังให้เยอะ อย่าตัดสินอะไรทั้งสิ้น เพราะทั้งหมดนี้คืออนาคตของคุณ คือชีวิตของคุณ ถ้าคุณปิดหูปิดหูปิดตาแล้วเชื่ออย่างที่คุณเชื่อไปทั้งชีวิต เท่ากับคุณปิดอนาคตของคุณด้วย

อีกอย่างหนึ่ง ผมคิดว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ผมไม่คิดว่าจะเป็นแบบหลายประเทศที่เอากันถึงตาย ฆ่ากันทั้งเมือง และนี่คือลักษณะพิเศษที่ทําให้คนต่างชาติจํานวนไม่น้อย มาประเทศไทยแล้วมีความรู้สึกว่า นี่คือสังคมที่ฉันมีความสุขได้ดีกว่าสังคมที่ฉันเคยอยู่ คือเป็นสังคมที่สุดท้ายแล้วการยืดหยุ่น การพยายามที่จะหาทางออก ที่มันไม่ใช่เป็นทางออกที่ถูกบีบรัดจนกระทั่งไม่สามารถจะคิดอะไรได้ดีกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ พอเป็นลักษณะพิเศษแบบนี้ ผมคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่สุดท้ายแล้วการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกัน สามารถทําได้ แต่มันต้องการความร่วมมือของคนทั้งสังคม ขณะเดียวกันต้องการที่จะใช้เวลา ในการที่จะทําให้เราสามารถเลือกคนที่ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทําให้ อุปสรรคปัญหาทั้งหลายดีขึ้น 

อย่างตอนที่ผมทําเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค เราใช้เวลา 8 เดือนในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ถ้าหากไปย้อนดูประวัติศาสตร์ในประเทศอื่นๆ การสร้างเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บางประเทศใช้หลาย 10 ปี บางประเทศใช้หนึ่งศตวรรษ ของเราถ้าหากคิดว่าจุดเริ่มต้นคือการที่มีประกันสังคมในปี 2535 และใช้เวลาแค่ 9 ปีเท่านั้นในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นมาได้ แล้วในระหว่างที่เราสร้าง มีเสียงด่าเยอะแยะแต่ก็ไม่ค่อยมีประเภทว่า ไม่เห็นด้วย ไม่ยอม ไม่ให้เกิด ไม่ได้อย่างนี้เป็นต้น 

ณ วันนี้ สหรัฐอเมริกาเขายังไม่สามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เพราะว่า มันมีกระบวนการที่ไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มากมาย มี Behind the Scenes เยอะแยะ ชนิดที่ทําให้เรื่องยากๆ มันทํายาก 

ฉะนั้นหลายเรื่องเหมือนกัน เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ณ วันนี้ถามว่าถ้าหากภายใต้สถานการณ์แบบนี้ผมเชื่อว่าเราจะวิ่งไล่ทัน อาจจะวิ่งนําบางประเทศที่มีไปก่อนหน้าเราได้ด้วยซ้ำ ไม่ได้ยากเลย

เสียดายไหมที่คุณถูกตัดสิทธิทางการเมืองแล้ว และถ้าคุณมีสิทธิทางการเมืองเต็มขั้น คุณอาจทำสิ่งที่เล่ามาทั้งหมดได้มากกว่านี้ 

ผมอาจจะคิดไม่เหมือนคนอื่น บางคนอาจจะมีความรู้สึกว่า ทำงานการเมืองแล้วก็จะเสพติดการเมือง อยู่ในวังวนการเมืองไปเรื่อยๆ ผมว่าภายใต้สถานการณ์ที่มีอยู่ ก็ทําตามสิ่งที่เปิดโอกาสให้เราทำได้ดีที่สุด คนจํานวนไม่น้อยก็เป็นอย่างนี้ การมีตําแหน่งหน้าที่ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า เราจะทํางานสําเร็จ และเช่นเดียวกัน การไม่มีตําแหน่งหน้าที่ก็ไม่ใช่อุปสรรคที่บอกว่า เราทํางานไม่ได้ มันอยู่ที่ตัวเราเองต่างหาก ถ้าคิดว่ามีโอกาสเปิดให้เราทํา แล้วเราทําได้ ก็ทําไป



Fact Box

  • บ้านพิษณุโลก หรือชื่อเดิมคือบ้านบรรทมสินธุ์ รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในปี 2565 โดย มาริโอ ตามานโญ (Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาลี ผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคมและสถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างและออกแบบ เมื่อสร้างเสร็จทรงพระราชทานให้กับพระยาอนิรุทธเทวา อธิบดีกรมมหาดเล็กและผู้บัญชาการกรมมหรสพ ซึ่งเป็นมหาดเล็กส่วนพระองค์ ต่อมาในปี 2485 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พระยาอนิรุทธเทวาขายบ้านบรรทมสินธุ์ให้กับรัฐบาลในราคา 5 แสนบาท 
  • บ้านพิษณุโลกถูกใช้เป็น ‘บ้านทรายทอง’ ในภาพยนตร์ชื่อเดียวกันเวอร์ชันปี 2521 นำแสดงโดย จารุณี สุขสวัสดิ์ และพอเจตน์ แก่นเพชร กำกับการแสดงโดย รุจน์ รณภพ โดยภาพยนตร์เวอร์ชันนี้ยังทำให้ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งขณะนั้นเป็นนักธุรกิจเจ้าของ ‘สายหนัง’ หรือถือลิขสิทธิ์หนังในภาคเหนือเริ่มสร้างตัวได้ ทักษิณระบุในภายหลังว่า เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงเพราะทั้งพระเอกและนางเอกต่างเป็นนักแสดงหน้าใหม่ แต่ทักษิณชอบเนื่องจากนางเอกตามเนื้อเรื่องและตามบทประพันธ์มีชื่อเดียวกับภรรยาของเขาคือ ‘พจมาน’ 
  • นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นหนึ่งใน ‘คนเดือนตุลาฯ’ ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในฐานะนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากนั้นอีก 2 ทศวรรษ เขามีส่วนสำคัญในการก่อร่างสร้างโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือนโยบาย ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  • ปี 2559 หมอเลี้ยบถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจำคุกเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จากกรณีอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศสมัยรัฐบาลทักษิณ การถูกตัดสินจำคุกทำให้หมอเลี้ยบถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต



Tags: , , , , ,