“การสื่อสารคือพลังของการเปลี่ยนแปลง”
คือความเชื่อของ พลอย-สโรชา กิตติสิริพันธุ์ บรรณาธิการหญิงผู้ไม่มองเห็น ที่ก่อร่างสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมไทย ด้วยการปลุกปั้น ‘ผีเสื้อปีกบาง’ สำนักพิมพ์ของคนพิการ โดยคนพิการ เพื่อคนพิการ แห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศ
แม้ความทรงจำของสโรชาทั้งชีวิตคือภาพสีดำมืดสนิท เมื่อเธอต้องผ่าตัดนำดวงตาออกตั้งแต่แบเบาะ หลังเผชิญโรคร้ายคือมะเร็งขอบประสาทตา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เธอจะใช้ชีวิตแตกต่างจากคนทั่วไป
เติบโตด้วยการเป็นหนอนหนังสือ หลงใหลในตัวอักษร จนนำมาสู่การเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือจุดประกายสำคัญที่ทำให้สโรชาเห็นว่า หนังสือเป็นมากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์หรือกิจกรรมสันทนาการ แต่เป็นรากฐานของการพัฒนาคุณภาพชีวิต และคงจะดีไม่น้อย หากได้มีพื้นที่สำหรับคนพิการ ทั้งในการทำงาน และการสื่อสารเรื่องราวของตนเองออกไปสู่โลกภายนอก
ผีเสื้อปีกบางจึงถูกฟูมฟักจากความรักของสโรชา การสนับสนุนของคนรอบข้าง และคอมมูนิตีคนพิการ โดยสำนักพิมพ์กำลังเข้าสู่ปีที่ 3 พร้อมกับหนังสือเล่มแรกที่กำลังจะวางจำหน่ายในช่วงปลายปี 2567 คือ ชื่อสมชาย ผลงานของ ทิวทัศน์ นักเขียนผู้บกพร่องการมองเห็นที่สะกดคำไม่ได้ แต่ใช้วิธี ‘พูด’ ให้โปรแกรมพิมพ์แทน
นอกจากความสำเร็จก้าวแรกของสโรชาในฐานะบรรณาธิการประจำสำนักพิมพ์ ผีเสื้อปีกบาง สิ่งนี้ยังเป็นภาพสะท้อนว่า คนตัวเล็กสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับสังคมได้ ด้วยเหตุนี้ The Momentum จึงเลือกเธอเป็นหนึ่งในสปีกเกอร์ของงาน Drive the Momentum ในหัวข้อ Butterfly Effect: Opportunity for Disability – ‘เสริมพลัง’ และ ‘สร้างพลัง’ ให้กับผู้บกพร่องทางการมองเห็น และสังคมไทยจะช่วยอะไรได้บ้าง เนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปีของสำนักข่าว ที่เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคม
จากนี้ไปคือบทสนทนาที่จะทำให้ทุกคนรู้จักสโรชามากขึ้น ทั้งในฐานะผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง และบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบาง ผู้ขับเคลื่อนให้พื้นที่ของหนังสือและคนพิการเป็นเรื่องเดียวกัน
ตั้งแต่จำความได้ คุณรู้ตัวว่าชอบหนังสือตอนไหน
ประมาณช่วง ป.3-4 ตอนนั้นเป็นช่วงที่พ่อเริ่มอ่านหนังสือให้ฟังเยอะ จำได้ว่า เราติดหนังสือสามก๊กฉบับการ์ตูน กับมังกรคู่สู้สิบทิศ นวนิยายกำลังภายใน พ่อก็อ่านหนังสือที่เช่ามาจากร้านเช่าหนังสือใกล้ๆ บ้านให้ฟัง
พอพ่ออ่านให้ฟังสักตอนหนึ่ง เราก็จะเริ่มติด เริ่มชวน หรือถามพ่อว่า เมื่อไรจะกลับมาอ่านให้ฟังอีก เพราะเขาออกไปทำงาน ซึ่งตอนพ่อกลับมา เขาก็มักจะถือหนังสือมาหา เราก็จะบอกเสมอว่า ให้เขาอ่านต่อเร็วๆ เพราะเราอ่านเองไม่ได้ ความทรงจำเกี่ยวกับหนังสือสำหรับเรา จึงเป็นเรื่องของการรอคอย ในทำนองว่า เราจะได้อ่านต่อหรือยังนะ
แล้วเริ่มอ่านหนังสือด้วยตนเองอย่างการอ่านอักษรเบรลล์ตอนไหน
เราเรียนอักษรเบรลล์ตั้งแต่สมัยอนุบาล เพราะมองไม่เห็นตั้งแต่เด็ก ให้เปรียบเทียบคือ คนทั่วไปเรียนเขียนตัวอักษรไทย ก.ไก่ ข.ไข่ เราก็เรียนเขียนแบบเดียวกัน แต่เป็นอักษรเบรลล์
ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้คือ หนังสือเบรลล์มีให้อ่านน้อย ตอนที่เราเริ่มอ่านน่าจะอยู่ช่วงประถมฯ ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ที่นั่นมีห้องสมุด มีหนังสือเยอะกว่าปัจจุบัน ในแง่ที่ว่า ถ้าเปรียบกับปริมาณของเทปหรือซีดี
เราก็ชอบเข้าไปจับว่า หนังสือมีเรื่องอะไร แต่สิ่งที่เราเจอคือหนังสือนิทาน มันไม่สนุก (หัวเราะ) มันคือนิทานที่เราเคยได้ยินพ่อแม่เล่าให้ฟังแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่เหมือนหนังสือทั่วไปที่ออกมาใหม่ เช่น นิทานเรื่องนางสิบสอง คือฟังมาหลายรอบแล้ว หยิบมาอ่านแล้วก็เหมือนเดิม ไม่ได้น่าสนใจ หรือถ้าไม่ใช่หนังสือนิทานก็เป็นหนังสือเรียน ซึ่งรู้สึกว่า หนักเกินไปสำหรับเรา
ขณะเดียวกันหนังสือเบรลล์ก็ไม่ได้ผลิตออกมาเหมือนหนังสือทั่วไปด้วย เพราะมีเพียง 2-3 ฉบับต่อเรื่องหนึ่ง ซึ่งต่างจากร้านหนังสือที่มีหนังสือแบบเดียวกันขายออกมาพันเล่ม เพราะฉะนั้นเรื่องที่เราอยากอ่าน ก็ไม่มีให้อ่าน
เราอยากอ่านหนังสือบันเทิงที่สนุก หรือตัวละครเป็นเด็กวัยใกล้เคียงกันกับเรา แต่หนังสือเบรลล์ไม่ค่อยมีอะไรแบบนั้น กลายเป็นว่าถ้าต้องการอ่านหนังสือแบบนี้ เราก็ต้องให้พี่หรือพ่ออ่านให้ฟัง หรือต้องรอสัปดาห์งานหนังสือฯ
นอกจากอ่านหนังสือ มีงานอดิเรกอื่นที่สนใจอีกไหม
จริงๆ ก็มีงานอดิเรกเหมือนเด็กทั่วไปคือ เล่นเปียโน ถึงแม้จะมีการซ้อมหรือการแสดงสมัยเรียน แต่ก็นับเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่ง เพราะมักจะเล่นเวลารู้สึกเครียด กังวลใจ หรือตื่นเต้น รวมถึงก็ยังชอบดูการ์ตูนจากช่อง UBC, True Vision หรือช่อง 9
ตอนเข้ามหาวิทยาลัย เรารู้ตัวได้อย่างไรว่า อยากเรียนคณะอักษรศาสตร์
เอาเข้าจริง เราไม่ได้รู้ตัวชัดเจนขนาดนั้น เพราะก็มีคณะอื่นๆ ที่สนใจด้วยตามความชอบ ด้วยความที่ชอบเล่นดนตรี ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่า ถ้าเรียนดนตรีก็คงจะดีนะ หรือพี่สาวของเราไปค่ายแนะแนว เขากลับมาพูดถึงคณะจิตวิทยา เราก็โอ้โห มันคืออะไร น่าสนใจจัง ซึ่งก็ทดไว้ในใจว่า นี่คือคณะที่เราสนใจ
สำหรับคณะอักษรฯ เราคิดว่า ถ้าเข้าคณะนี้ได้ ก็จะได้อ่านหนังสือเยอะและหลากหลาย หรือรู้วิธีการเขียนหนังสือ ซึ่งเราก็ชอบเรื่องการอ่าน การเขียนวรรณกรรมเป็นทุนเดิม จึงอยากรู้ว่า เขามีเทคนิคหรือกลวิธีการเขียนอย่างไร
ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คณะอักษรฯ จุฬาฯ มีทุนการศึกษาให้ ในช่วงเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย เราก็หาข้อมูล หาทุกอย่าง ทั้งคณะที่เกี่ยวกับดนตรี จิตวิทยา แต่เราพบว่า คณะอักษรฯ จุฬาฯ สนับสนุนทุนสำหรับคนที่อยากเรียนภาษาและวรรณคดีไทยโดยตรง ซึ่งประจวบเหมาะกับตอนนั้นที่ตนเองก็สนใจวรรณกรรมและวรรณคดีด้วย เพราะตอนช่วง ม.ปลาย เราเคยเรียนวรรณคดีวิจักษ์ เช่น มัทนะพาธา หรือลิลิตตะเลงพ่าย เราชอบมาก
เราชอบมัทนะพาธา เพราะเนื้อเรื่องโรแมนติก ภาษาของฉันท์สวย ชอบถึงขนาดว่า สามารถท่องได้หลายบท หรือแทบจะทั้งตอน จนตอนนี้ที่มีลืมเลือนไปบ้าง แต่ก็ยังจำได้บางวรรคอยู่ และเรื่องนี้เขียนคำคล้องจองได้หลายรูปแบบมาก เพราะฉันท์มีหลายชนิด แล้วก็เล่นกับคำครุหรือลหุ ทำให้เรารู้สึกว่าคิดได้อย่างไร รู้สึกทึ่งกับการใช้คำ เราจึงสนใจและคิดว่า ยังมีเรื่องอื่นอีกไหม หรือมีเทคนิคการเขียนอย่างไร ถ้าเราเข้ามาเรียนคณะอักษรฯ เราจะเขียนได้ดีขึ้นไหม ทั้งหมดนี้ก็เป็นเหตุผลที่เราตัดสินใจจะสอบเข้าคณะนี้
คุณเตรียมตัวและสอบเข้าอย่างไร
เราเข้าคณะอักษรฯ จุฬาฯ ด้วยวิธีการรับตรงพิเศษของเอกภาษาและวรรณคดีไทย การสอบส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่ความรู้ด้านภาษาไทยเป็นหลัก เช่น วรรณคดี หลักภาษา และการเขียนเรียงความ
ตอนเตรียมสอบ เราไปดูข้อสอบเอ็นทรานซ์เก่าผ่านคอมพิวเตอร์ว่า มันออกอะไรบ้าง แต่ละข้อต้องตอบอย่างไร ลองตอบ ลองติว แล้วก็หาหนังสือมาอ่านเกี่ยวกับหลักภาษาไทยหรือทฤษฎีของภาษา
ชีวิตในการเรียนคณะอักษรฯ จุฬาฯ เป็นอย่างไรบ้าง
รู้สึกเหมือนเจอที่ของตัวเอง เพราะตอนเรียนช่วงมัธยมฯ โรงเรียนจะจัดวิชามาให้เราเสมอ ซึ่งก็ต้องเรียนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ พละ หรือสุขศึกษา แล้วเราไม่ถนัดเลย แต่พอเข้ามหาวิทยาลัย นี่คือคณะที่เราเลือกเอง ถึงจะมีวิชาที่เขาจัดมาให้บางส่วน แต่ก็ถือว่า สิ่งที่ได้เรียนมีความตรงและใกล้เคียงกับความสนใจมากขึ้น
เปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ตอนเรียนสมัยมัธยมมีความสะเปะสะปะ เพราะวิชาอย่างคณิต วิทย์ สังคม เราก็ต้องเรียนได้หมด แต่พอเราเข้าคณะอักษรฯ เหมือนเรามีอิสระในการเลือก ทั้งในสิ่งที่เราอยากทำหรืออยากเรียนมากขึ้น
แต่ถือว่าการเรียนหนักหน่วงนะ จำได้ว่า ตอนปี 1 เปิดเทอมได้แค่ 2 อาทิตย์ เราก็นั่งร้องไห้เลย คิดว่าทำอย่างไรดี เพราะหนังสือเยอะมาก แล้วเราจะอ่านอย่างไร เราชอบใช้คำเปรียบเปรยคำหนึ่งว่า ‘หนังสือคืออาหารที่เรากินไม่ได้’ เพราะอยู่ตรงหน้า แต่อ่านไม่ได้ เปิดไปก็เป็นกระดาษเรียบๆ แต่เราต้องเรียนหรือต้องอ่าน ซึ่งก็คิดตลอดว่า ฉันจะอ่านอย่างไรดี แต่ก็โชคดีที่มีเพื่อน ครูอาจารย์ และรุ่นพี่ที่เขาช่วยอ่านหนังสือให้ฟัง หรืออธิบายในสิ่งที่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร เพราะเรามองไม่เห็น มันก็ไม่เห็นภาพสิ่งที่เขาอธิบาย
หรือเวลาทำรายงาน สำหรับเราไม่ใช่แค่ว่า ทำเพราะสนใจเรื่องนี้ แต่ต้องมาดูว่า มีเอกสารอะไรที่เข้าถึงได้บ้าง อะไรที่ทำได้ง่ายที่สุดสำหรับเรา ตัวเราเองจึงต้องวางแผนพอสมควรว่า จะผ่านแต่ละเทอมไปได้ด้วยวิธีไหน เพราะไม่มีเอกสารสำหรับคนตาบอดให้เราเข้าถึงได้ตั้งแต่ต้น
ยกตัวอย่างเช่นวิชา CIV (วิชาอารยธรรมของคณะอักษรฯ) มีหนังสือเล่มหนาปึกให้อ่านกับต้องนั่งเรียนในคาบวิชา วิธีการแก้ไขปัญหาของเราตอนนั้นคือ การเอาหนังสือไปฝากที่ห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ เพื่อให้เขาช่วยหาอาสาสมัครอ่านให้ฟัง ซึ่งก็ถือว่า นอกจากเพื่อนและอาจารย์ อาสาสมัครก็มีส่วนช่วยในการเรียนของเรา
เรื่องนี้รวมถึงการทำรายงานด้วย เนื้อหาวรรณคดีไทยที่เราเข้าถึงได้ในตอนนั้น คือเว็บไซต์ตู้หนังสือเรือนไทย เพราะมีวรรณคดีรวบรวมเยอะที่สามารถใช้โปรแกรมอ่านจอภาพ (Screen Reader) อ่านได้ด้วยตนเอง สมมติจะเลือกทำรายงาน ก็ต้องมานั่งดูก่อนว่า ในเว็บมีวรรณคดีเรื่องอะไรบ้าง แล้วก็เลือกเรื่องจากวรรณคดีที่มี ซึ่งประมาณการได้ว่า ในเว็บนี้มีวรรณคดีไทย 20 เรื่อง จากทั้งหมด 100 เรื่อง
สุดท้ายแล้วเราคิดว่า ความหนักมันไม่ใช่การเรียน แต่คือความกังวลหรือการแก้ไขปัญหาว่า เราจะอ่านหนังสืออย่างไร เราจะทำรายงานเล่มไหนที่เราอ่านได้ เราต้องแก้ไขปัญหากับการเข้าถึงเอกสารมากพอสมควร
ตอนสัมภาษณ์ครั้งก่อน คุณเคยพูดถึงวิชาเสวนาบรรณาธิการ อยากให้ช่วยขยายความว่า วิชานี้เรียนอะไรและสร้างแรงบันดาลใจให้คุณอย่างไร
เสวนาบรรณาธิการ คือวิชาที่ทำให้เราได้มองเห็นองค์ประกอบของหนังสือเพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนพูดถึงหนังสือ เราก็จะนึกถึงแค่คนเขียนหนังสืออย่างเดียว แต่ไม่รู้เลยว่า หลังจากเขียนหนังสือเสร็จแล้ว มีใครอีกบ้าง หรือมีหน้าที่ไหนที่เกี่ยวข้องในการทำให้หนังสืออกมาขายได้
พอเราเรียนวิชานี้เสร็จแล้ว มันคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเห็นว่า หนังสือมีบรรณาธิการ รวมถึงคนวาดรูป โรงพิมพ์ อีกทั้งยังต้องดูเรื่องกระดาษ หรือการออกแบบปก ซึ่งเราไม่คิดมาก่อน และไม่อยู่ในหัวเราเลย เนื่องจากเราก็มองไม่เห็น
ก่อนหน้านั้น ความทรงจำของหนังสือสำหรับเรา มีแค่เนื้อเรื่อง คำนำ หรือทุกอย่างที่เป็นตัวอักษร เรานึกไม่ออกว่า องค์ประกอบอื่นๆ เช่น ภาพต้องเป็นอย่างไร ต้องใช้ฟอนต์หรือสีอะไร คือไม่มีไอเดียในหัวเลย แต่วิชานี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้ว่า เราต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ในการผลิตหนังสือออกมา 1 เล่ม
วิชานี้ยังทำให้เราเห็นความสำคัญของหนังสือในมุมที่กว้างขึ้น เห็นความจำเป็นของการมีหนังสือเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มองว่า หนังสือคือความบันเทิง อยากอ่านอะไรก็อ่าน แต่วิชานี้ทำให้เราเห็นว่า หนังสือคือสื่อชนิดหนึ่ง และสื่อชนิดนี้เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาคนได้ เป็นเครื่องมือทำให้คนเข้าใจกันและกัน หรือสื่อสารกันได้ดีขึ้น
ถึงจุดนั้นรู้ตัวไหมว่า อยากเป็นบรรณาธิการหรือมีสำนักพิมพ์เป็นของตนเอง
ไม่ถึงขนาดนั้น เพราะเราแค่รู้สึกว่า อาชีพบรรณาธิการคืออะไรกันนะ น่าสนใจถ้าได้มีโอกาสเรียนรู้งานในสำนักพิมพ์เพิ่มมากขึ้น คือเราไม่กล้าคิดว่า จะเป็น บก. เพราะสำหรับเราคำนี้ใหญ่เกินไปด้วย จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่ได้มั่นใจขนาดนั้น แต่สาเหตุที่เราอยากทำงานนี้ เพราะเห็นว่า คนพิการมีหลายเรื่องที่สื่อสารออกไปได้ ซึ่งคนทั่วไปยังไม่รู้ และก็คงจะดีหากได้รู้ เพราะจะช่วยทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น
นอกจากนี้เรายังเห็นศักยภาพของคนพิการหลายอย่าง ทั้งรู้สึกว่าเขาสามารถพัฒนาให้มีศักยภาพเหล่านั้นได้ และบางคนอาจจะมีศักยภาพอยู่แล้วด้วยซ้ำ แต่ไม่มีใครรู้ โดยเราอยากให้ทุกคนรู้ เพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการเพิ่มมากขึ้น
วันหนึ่งคนพิการอาจจะเป็นลูก หรือหลานใครสักคนหนึ่ง แล้วเขาจะรู้สึกว่า ถ้าคนของเขาสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดี ได้รับการดูแลหรือส่งเสริม ท้ายที่สุดก็จะมีอาชีพที่ดี และออกไปดำเนินชีวิตร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ รวมถึงรู้ด้วยว่า การดำเนินชีวิตร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม มีปัญหาอะไรหรือจุดติดขัดตรงไหน ถ้าจะแก้ไขต้องเริ่มจากตรงไหน
คุณเริ่มต้นการเป็นบรรณาธิการของผีเสื้อปีกบางได้อย่างไร
จริงๆ มันคือการตัดสินใจล้วนๆ เลย ตอนนั้นเราตัดสินใจว่า น่าจะลองตั้งสำนักพิมพ์เป็นของตนเองไหม เพราะชีวิตคนเรามีหลายทางเลือก ทั้งให้ลองคิดและทำ แต่หากจะริเริ่มทำอะไรสักอย่าง เราต้องตัดสินใจเพื่อแสดงความจริงจัง เพราะถ้าไม่ตัดสินใจ เราก็จะทำๆ เลิกๆ ไม่จริงจัง และไปทางอื่นแทน
หลังจากตัดสินใจแล้ว เราก็เริ่มหาวิธีการ คิดเพิ่ม และสื่อสาร แม้ตัวเราเองอาจไม่ได้เชี่ยวชาญเก่งงานบรรณาธิการหรือหนังสือ เพราะด้วยความที่เรามองไม่เห็น เช่น เราไม่ได้นึกถึงองค์ประกอบอื่นในหนังสือ เช่น ภาพหรือการออกแบบดีไซน์
แต่โชคดี เพราะเรามีโอกาสเขียนหนังสือ และเข้าไปฝึกงานบรรณาธิการที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อหลังจากเรียนจบ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ได้เรียนรู้เรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น โดยมีอาจารย์คอยให้การสนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ และแนะนำ
ตอนนั้นเราคิดว่า คนพิการควรได้เล่าเรื่องของตนเองมากขึ้น และถ้าเขามีโอกาสรวมตัวกันทำหนังสือจะเป็นอย่างไร ก็คิดไปเรื่อยๆ และนำไอเดียมาคุยกับอาจารย์มกุฏ (มกุฏ อรฤดี) บก.และอาจารย์สอนวิชาเสวนาบรรณาธิการขณะนั้น โดยอาจารย์ก็ตอบกลับมาว่า เป็นความคิดที่ดี และควรลองทำดู เพราะยังไม่มีใครทำขึ้นมา หรือหากมีจริง ก็ไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไรในประเทศไทย ซึ่งเราก็มั่นใจเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึง 100% แค่มีไฟขึ้นมานิดหนึ่ง
หลังจากวันนั้น อาจารย์ก็ประกาศออกไปว่า เรากำลังทำสำนักพิมพ์ โดยมีไอเดียแบบนี้ ทำให้เริ่มมีคนพิการคนอื่นที่เราไม่รู้จักส่งต้นฉบับเข้ามาให้ดู นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เราพยายามสื่อสารเพิ่มเติม ทั้งในกลุ่มคนพิการและคนไม่พิการ คนภายนอกก็รู้จักเรามากขึ้น เช่น เพื่อนๆ ที่เรียนที่อักษรฯ ก็แสดงความยินดีที่เรามาทำงานตรงนี้ และพร้อมให้ความช่วยเหลือ
เรารู้สึกว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นสิ่งที่ใครหลายคนก็อยากให้เกิดขึ้น ก็ทำให้เรามีกำลังใจเพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มีทั้งเรื่องที่ดีและจุดที่เราต้องเรียนรู้ต่อไป มันไม่ได้ง่าย ซึ่งเราก็อยู่ในกระบวนการค่อยๆ เรียนรู้
พอขยายความได้ไหมว่า จุดที่คุณกำลังเรียนรู้คืออะไร
จุดที่เราเรียนรู้คือการทำหนังสือ อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า หนังสือในมุมมองเราคือเรื่องของภาษา หรือความคิดที่ถ่ายทอดผ่านภาษา แต่ที่จริงแล้ว หนังสือมีองค์ประกอบมากกว่านั้น เราก็ต้องเรียนรู้ว่า กระบวนการทำเป็นอย่างไร หรือขั้นตอนไล่เลียงแบบไหน
อีกเรื่องหนึ่งอาจจะรวมถึงการจัดการกับคนหลายกลุ่ม เช่น คนพิการที่เขียนหนังสือมาให้เรา ทั้งเขียนเสร็จส่งมา กำลังจะตีพิมพ์แล้ว หรือแม้แต่คนที่เขียนไม่เสร็จ เขียนมานิดเดียว แต่เขาอยากจะรู้ว่า ต้องพัฒนาตรงไหนต่อ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ว่า จะคุยกับเขาอย่างไร หรือแม้แต่การสื่อสารกับคนวาดภาพ จะคุยอย่างไรเพื่อให้เขาวาดภาพแบบนี้ นี่คือเรื่องใหม่สำหรับเราที่ต้องเรียนรู้อีกเยอะมากๆ
แล้ววิชาโทจิตวิทยา เมื่อครั้งเรียนคณะอักษรฯ จุฬาฯ ช่วยคุณในการทำงานมากน้อยแค่ไหน
อาจจะช่วยนะ (หัวเราะ) คือจะบอกว่า เรากำลังใช้ทักษะจิตวิทยาก็ไม่เชิง เพราะนี่คือนิสัยหรือวิธีการของเราโดยธรรมชาติ แต่ในแง่ของการโน้มน้าวใจ เราอาจไม่ได้ถนัด หรือบางทีก็อาจจะใช้โดยไม่รู้ตัวก็ได้
สำหรับเรา จิตวิทยาช่วยในแง่ของการรับรู้และรู้จักตนเองมากขึ้นว่า เราสบายใจกับการสื่อสารแบบไหน หรือมีอะไรไหมที่ไม่สบายใจ คล้ายกับการหาจุดสมดุลของตนเอง และทำให้รู้ความคิดตนเองได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้จิตวิทยาทำให้เรานึกถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้น คือเราจะรับรู้ว่า การที่มีความรู้สึกหงุดหงิด โมโห อึดอัด ไม่กล้า หรือมีความกลัวบางอย่าง เป็นธรรมชาติของมนุษย์ และเข้าใจคนอื่นได้ดีขึ้น ซึ่งก็รวมถึงตนเองในบางครั้งว่า ไม่เป็นอะไรเลยที่จะรู้สึกหงุดหงิด หรือกลัวบางครั้ง แล้วสุดท้ายเราก็จะจัดการปัญหาได้อย่างใจเย็นมากขึ้น
งานของบรรณาธิการผีเสื้อปีกบางมีอะไรบ้าง
งานของเราส่วนใหญ่เกี่ยวกับการเขียน คือการอ่านงานของคนที่ส่งมา และคัดเลือกว่า เรื่องไหนที่น่าเล่าและเผยแพร่ต่อ รวมถึงคุยกับเขาด้วยว่า แก้เพราะอะไร แก้ทำไม หรือเราอยากให้เขาแก้ตรงไหนจึงจะดีขึ้น
ปกติแล้ว เราทำงานด้วยผ่านโปรแกรมอ่านจอภาพกับเครื่องแสดงผลตัวอักษรเบรลล์ (Braille Display) เพราะโปรแกรมอ่านจอภาพจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ในเรื่องของความถูกต้องและตัวสะกด เราไม่รู้รายละเอียด เพราะฟังก์ชันของโปรแกรมใช้วิธีการอ่านออกเสียง ซึ่งคำบ้างคำเป็นคำพ้องเสียง เราจึงไม่รู้ว่า นี่คือคำอะไร ถ้าไม่เลื่อนอ่านทีละตัวอักษร แต่ถ้าใช้เครื่องแสดงผลตัวอักษรเบรลล์ เราก็จะสามารถอ่านทุกอย่างด้วยการใช้นิ้วสัมผัส เพื่อให้เห็นตัวสะกดหรือคำที่ใช้ได้ละเอียดขึ้น
นอกจากนี้เราก็ยังทำงานด้วยการสื่อสารออกไปภายนอกด้วยว่า สำนักพิมพ์กำลังทำอะไรอยู่ หรือเราไปเจอเรื่องราวไหนมา เพราะสิ่งนี้ทำให้คนทั่วไปได้รู้จักคนพิการมากขึ้น ทั้งจากการทำงาน ชีวิตทั่วไปของตนเอง รวมถึงเรื่องราวที่มีประโยชน์ เช่น คนตาบอดไปกินข้าว ดูหนังอย่างไร หรือคนพิการนั่งวีลแชร์ไปขึ้นเครื่องบินแบบไหน
ตอนนี้มีความคิดว่า ทำอย่างไรให้คนทั่วไปคุ้นเคยกับอักษรเบรลล์ เราก็เริ่มทำกิจกรรมเล็กๆ ที่ชื่อว่า ‘ที่คั่นผูกมิตร’ หรือการมอบที่คั่นหนังสืออักษรเบรลล์ให้คนซื้อหนังสือ ซึ่งเขาจะได้อักษรเบลล์ไม่ซ้ำกันเลย แต่ถ้าอยากรู้ความหมาย ก็ต้องเปิดดูในเว็บไซต์ ตรงนี้ทำให้เขาได้จะเล่นสนุกกับอักษรเบรลล์
ผลตอบรับคือบางคนส่งข้อความกลับมาหามาว่า เขาถอดอยู่นานมากจนได้คำนี้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้สื่อสารกันมากขึ้น เป็นการผูกมิตรกันจริงๆ ซึ่งไม่ได้ยากและเริ่มต้นทำได้ง่าย อีกทั้งยังทำให้การมองไม่เห็นไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันได้
ขณะเดียวกันงานของบรรณาธิการก็ยังมีการวางแผนว่า หนังสือเล่มนี้โปรโมตแบบไหน ออกแบบหนังสืออย่างไร อย่างเล่มที่เรากำลังเตรียมผลิตล่าสุดคือ ชื่อสมชาย โดย ทิวทัศน์ ซึ่งโปรโมตด้วยการทำเพลงประกอบหนังสือและอัปโหลดบนยูทูบ คือเพลง เด็กหลงทาง
ชื่อสมชาย เป็นหนังสือเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร และความคืบหน้าอยู่จุดไหนแล้ว
ชื่อสมชาย คือนิยายผจญภัยในโลกแห่งความเป็นจริง เป็นเรื่องของเด็กคนหนึ่งที่หนีออกจากบ้าน และออกไปดำเนินชีวิตด้วยตนเอง ซึ่งก็ต้องติดตามว่า เขาไปเจออะไรบ้าง
ผลงานชิ้นนี้เป็นของทิวทัศน์ เขาเป็นนักเขียนตาบอดที่สะกดคำไม่เป็น จึงใช้วิธีการเขียนด้วยการพูดให้โปรแกรม Speech to Text พิมพ์ให้ เขาพูดวันละตอน ทั้งหมดประมาณ 27 วัน ซึ่งก็คิดเป็นจำนวน 27 ตอน
ขณะนี้เราทำหนังสือเล่มตัวอย่างเสร็จแล้ว ส่วนเล่มจริงกำลังตรวจทานและแก้ไขอยู่ โดยวางแผนจำหน่ายในช่วงปลายปี ส่วนหน้าที่ของเราคือการอ่านและแก้ไขแต่ละตอนว่า มีประโยคไหนที่โปรแกรมพิมพ์ให้ถูกต้องหรือผิดบ้างไหม ขณะที่ก็มีบรรณาธิการผู้ใหญ่ช่วยอ่านและตรวจทาน รวมถึงอีกหลายคนก็ช่วยเหลือกัน บอกได้เลยว่า นี่คือหนังสือแห่งการร่วมมือกัน
สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบางเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว คิดว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไรบ้าง
ในปีนี้สำนักพิมพ์ผีเสื้อปีกบางเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อยๆ จากปีที่ผ่านมา เราร่วมมือกับสมาคมศิษย์เก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในชื่อ ‘โครงการอักษรสื่อชีวิต’ โดยจัดประกวดต้นฉบับงานเขียนคนตาบอด และทดลองพิมพ์หนังสือแจกให้กับคนที่สนใจ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นทักษะการเขียนของคนตาบอดเพิ่มมากขึ้นว่า เขาเขียนกันประมาณนี้และเรื่องราวที่เขาเล่าเป็นแบบไหน รวมถึงนำมาวางแผนต่อว่า ต้องสนับสนุนให้เขาเขียนดีขึ้นอย่างไร
เราได้เห็นผู้คนที่อยากร่วมมือกับเรา และได้ยินเสียงสะท้อนจากคนอ่านหนังสือว่า มันสร้างพลังใจกับเขา ทำให้เขามีแรงในการเผชิญสิ่งต่างๆ รวมถึงเห็นว่า งานเขียนของคนพิการมีประโยชน์ เพียงแต่เราจะขัดเกลา นำเสนอให้สารของเขาออกไปสู่สังคมอย่างไร หรือทำอะไรบางอย่างต่อได้
ผีเสื้อปีกบางก็เหมือนเป็น ‘ฟันเฟืองเล็กๆ’ เราเห็นหลายคนลุกขึ้นมาทำอะไร ทำประโยชน์ให้สังคมเยอะมากในมุมที่ตนเองทำได้ ก็รู้สึกดีใจและอุ่นใจ ยิ่งในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา มีคนเอาของไปบริจาค ทำอาหาร หรือดูแลในส่วนต่างๆ ตามกำลังของแต่ละคน ขณะที่สำนักพิมพ์ของเราก็ช่วยในสิ่งที่สามารถทำได้ คือการสื่อสารสิ่งที่คนพิการนึกคิด รู้สึก หรืออะไรอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์
เราคิดว่า การสื่อสารคือพลังของการเปลี่ยนแปลง เพราะเมื่อสื่อสารอะไรออกไป มันก็นำไปสู่การลงมือทำอะไรบางอย่าง แต่ก็ต้องสื่อสารในสิ่งที่ทำประโยชน์ด้วย
แล้วความตั้งใจของเราในฐานะบรรณาธิการผีเสื้อปีกบาง ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ยังเหมือนเดิมอยู่ไหม
ทุกอย่างยังเหมือนเดิม เพียงแต่ว่า บางครั้งเราก็อาจจะมีความกังวล คือเราเป็นคนขี้กังวลว่า ทิศทางจะเป็นอย่างไรต่อ จะสำเร็จ มีผลงานตามที่คิดไว้ไหม คนอื่นจะได้เห็นศักยภาพของคนพิการ หรือเข้าใจเขาเพิ่มขึ้นในแบบที่เราอยากให้เป็นหรือเปล่า
มันมีคำถามในใจก่อกวน ทำให้รู้สึกกังวลจนตั้งคำถามว่า เราทำได้ดีหรือไหม หรือควรจะปรับอย่างไร เพราะตัวเราไม่ได้มีความรู้ด้านธุรกิจ ซึ่งเรียกว่าไม่รู้ได้เลย เรามาเริ่มต้นกับที่นี่ด้วยความตั้งใจล้วนๆ และคิดว่า ถ้ามีพื้นที่ตรงนี้เกิดขึ้นคงจะดี
ก็มีคิดบ้างว่า ถ้าเกิดเราทำไปได้ไม่ถึงไหน เดี๋ยวคนที่เขาเห็นอาจจะเอาไปสานต่อให้ถึงเป้าหมายก็ได้ (หัวเราะ) ตอนนั้นก็คิดแบบนี้เหมือนกัน ก็รู้สึกว่า ทำไปเถอะ ไม่ต้องไปคิดว่าจะทำถึงไหนหรือดีไหม ทำเท่าที่เราทำได้ เท่าที่เรามีความรู้และกำลัง แล้วจะไปถึงจุดไหนก็ปล่อยไป
คิดว่าประเด็นไหนมีความสำคัญเป็นอันดับต้น และอยากผลักดันในคอมมูนิตีของคนพิการ
การศึกษา เพราะทุกอย่างเริ่มต้นจากการศึกษาที่ดี ถ้าคนพิการมีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษา เขาก็จะมีการงาน โอกาส ปัจจัย และรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น หรือแม้แต่จุดที่ตนเองทำงานเขียนเป็นหลัก เราเห็นเลยว่า ถ้าคนพิการได้อ่านหนังสือเยอะ เขาก็จะมีพื้นฐานของภาษาที่ดี เวลาจะสื่อสารอะไรออกไป เขาจะสามารถเลือกใช้คำหรือกลวิธีออกไปได้อย่างหลากหลาย แต่ถ้าไม่มีโอกาสอ่านหนังสือ เขาก็ไม่รู้จะสื่อสารอย่างไร เพราะไม่มีคลังคำที่มากพอ หรือเรียบเรียงความคิดออกมาไม่ได้
แต่ในความเป็นจริง ถ้าเขาได้ศึกษาในหลายสิ่งหลายอย่างที่อยากทำ ทุกอย่างจะพัฒนาไปได้อีกเยอะมากๆ เพราะการศึกษานำไปสู่การเรียนรู้ และวิธีการแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีใครรู้ว่า คนตาบอดจะเป็นโปรแกรมเมอร์ทำงานอย่างไร เพราะไม่มีคนที่เป็นโปรแกรมเมอร์คนแรกที่ศึกษาว่า ต้องใช้เครื่องมือหรือโปรแกรมอะไร แต่ถ้ามีคนที่เข้าสู่ระบบการศึกษา ทดลอง และหาวิธีเอาชนะมัน ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยก็มีโปรแกรมเมอร์ที่เป็นคนตาบอดแล้ว
อยากฝากอะไรทิ้งท้ายในฐานะบรรณาธิการผีเสื้อปีกบางไหม
เราอยากฝากถึงเรื่องของการเปิดใจ อยากให้คนทั่วไปมองความพิการแบบสบายๆ เพิ่มมากขึ้น รู้สึกว่ามันเข้าถึงได้ เราเป็นเพื่อนกันได้ และเรียนรู้ได้มากขึ้น ในฐานะของบรรณาธิการเอง เราก็พยายามหาวิธีสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกนั้นออกมา ทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่า คนพิการเข้าถึงได้ เรียนรู้ได้ และทุกคนเป็นเพื่อนกันได้
อีกเรื่องคือฝากติดตามหนังสือ ชื่อสมชาย ที่กำลังจะออก เพราะนี่คือหนังสือที่เต็มไปด้วยความตั้งใจเขียนมาก เพราะนักเขียนใช้วิธีการพูด ซึ่งแก้ไขไม่ได้ เพราะเขาสะกดคำไม่เป็น ต้องพูดไปเรื่อยๆ และระวังไม่ให้ผิด ขณะที่เราเองก็ตั้งใจด้วยเหมือนกัน อยากให้เปิดใจลองอ่าน ติดตาม และฟังเพลง เด็กหลงทาง ด้วย
Fact Box
- สโรชาจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง วิชาเอกภาษาและวรรณคดีไทย วิชาโทจิตวิทยา
- เมื่อครั้งสโรชาเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เธอเรียนวิชาภาษาต่างประเทศคือ ภาษาบาลีและจีน