“มันเป็นทั้งเรื่องซ้ำ เป็นทั้งวังวนเดิมที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญหักล้างเจตนารมณ์ของประชาชนซึ่งผ่านการเลือกตั้ง ตัดสินการดำรงอยู่ของนายกฯ และรัฐบาล”

จาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ตอบคำถามว่า รู้สึกอย่างไรกับการลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ด้วยมติ 5 ต่อ 4 ของศาลรัฐธรรมนูญ เห็นชอบปลดนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยให้พ้นจากเก้าอี้นายกฯ ด้วยเหตุผลทางจริยธรรมจากการแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน อดีตผู้ต้องโทษคดีละเมิดอำนาจศาล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

คำวินิจฉัยดังกล่าวคล้อยหลังคำสั่งให้ยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคเพียง 7 วันเท่านั้น ด้วยเหตุที่ว่า พรรคก้าวไกลใช้ ‘สิทธิ เสรีภาพ’ ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

หลายคนพูดตรงกันว่า ด้วยคำวินิจฉัยดังกล่าวสะท้อนว่าระบอบ ‘ตุลาการภิวัตน์’ ยังคงอยู่ ยังไม่ได้หายไปไหน และจะอันตรายขึ้นเรื่อยๆ

ย้อนกลับไปในอดีต พรรคเพื่อไทย ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน ผ่านสมรภูมิยึดอำนาจและยุบพรรคมาแล้วหลายครั้ง ในจำนวนนายกฯ ตั้งแต่พรรคไทยรักไทยจนถึงพรรคเพื่อไทยจำนวน 5 คน หากไม่โดนรัฐประหารยึดอำนาจก็โดนศาลรัฐธรรมนูญสั่งพ้นเก้าอี้ฝ่ายบริหาร 

ฉะนั้นคำว่า เรื่องซ้ำ และคำว่า วังวน ของจาตุรนต์จึงสะท้อนออกมาในฐานะผู้มีประสบการณ์ ด้วยมองว่า สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้เป็นการที่ศาลรัฐธรรมนูญพยายาม ล้มเจตนารมณ์ของประชาชน บทสนทนานี้จึงเป็นคำพูดในฐานะคนเก่าผู้ผ่านความไม่ปกติในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลายครั้ง เพื่อบอกว่าอะไรคือ วังวน ปัญหา และทางออกปัญหาของการเมืองไทย

ในสายตาคุณ มองการยุบพรรคก้าวไกลอย่างไร มีความพิเศษอย่างไรบ้าง

ความพิเศษของการยุบพรรคก้าวไกล คือการโยงเรื่องที่ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับ ส.ส.และพรรคการเมืองทำให้มันกลายเป็นปัญหา ความพิเศษอีกอย่างคือการที่ฝ่ายตุลาการก้าวข้ามแดนอำนาจมาวินิจฉัยให้โทษการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ 

อยากให้ดูที่คำวินิจฉัยแรกจนถึงคำวินิจฉัยสุดท้ายของศาลรัฐธรรมนูญ ที่โยงเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพไปในทางการล้มล้างการปกครอง ซึ่งโดยหลักแล้ว การเสนอกฎหมายเป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติโดยมีอำนาจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภามีอำนาจและหน้าที่ในการออกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายใหม่ทั้งฉบับหรือการแก้กฎหมายรายมาตราก็ตาม 

เรื่องนี้จึงผิดตั้งแต่ต้น เหตุใดการทำหน้าที่ของ ส.ส.ภายใต้อำนาจรัฐธรรมนูญถึงได้กลายเป็นเรื่องการใช้เสรีภาพในการล้มล้างได้ 

แปลว่าในความเห็นคุณ การเสนอกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 ของ ส.ส.และพรรคก้าวไกลทำนั้นเป็น ‘หน้าที่’ โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ในความเห็นผม การเสนอ พิจารณาแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมาย และการลงมติไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง จะนำมาใช้เป็นเหตุผลในการดำเนินคดี ส.ส.มิได้เลย หากตั้งต้นว่าใครเสนอกฎหมายฉบับนี้ ให้นำตัวมาพิจารณาเพื่อดำเนินคดีและลงโทษ ย่อมเป็นการกระทำอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักการประเพณีปฏิบัติตามวิถีปกครองประชาธิปไตยไทยแน่นอน 

ระบอบประชาธิปไตยมีอำนาจอธิปไตย 3 รูปแบบคือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติมีอำนาจในการออกกฎหมาย ดังนั้นการยุบพรรคก้าวไกลจึงเป็นการที่ฝ่ายตุลาการก้าวล่วงเข้ามาพิจารณาร่างกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งฝ่ายตุลาการไม่มีอำนาจ ไม่ว่าจะยึดตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือฉบับก่อนหน้า ด้วยเหตุว่า อำนาจนิติบัญญัติเป็นอำนาจอธิปไตยแขนงหนึ่งเพื่อแบ่งแยกถ่วงดุลกันอำนาจอื่น

เช่นเดียวกัน ฝ่ายตุลาการ ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลอะไรก็ตามไม่ได้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาว่า ร่างกฎหมายฉบับใดดีหรือไม่เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ฝ่ายตุลาการจะพิจารณาร่างกฎหมายได้ในขั้นตอน และประเด็นเดียวคือเมื่อกฎหมายผ่านรัฐสภา หากเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญจะมีการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ก่อนการทูลเกล้าฯ หากมีผู้ร้องเรียนว่า ร่างกฎหมายมาตราใดขัดต่อรัฐธรรมนูญจึงเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากขัดรัฐธรรมนูญตามที่ได้รับร้องเรียนเป็นบางมาตรา ให้มาตรานั้นเป็นอันตกไป หรือหากขัดรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็ให้ตกไปทั้งฉบับ 

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญจะแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ 

แต่ในคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์อื่นนอกเหนือจากการเสนอแก้ไขมาตรา 112 เพียงอย่างเดียว 

ศาลรัฐธรรมนูญก็คงมีการตรวจสอบพฤติกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเสนอกฎหมาย มาตรา 112 เห็นได้จากคำวินิจฉัยที่ให้เหตุผลว่า มีการประกันตัวผู้ต้องหาคดี มาตรา 112 มี ส.ส.ตกเป็นจำเลย มีการพูดโฆษณาหาเสียงว่า จะแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงเดาว่า ศาลรัฐธรรมนูญคงพิจารณาประกอบกัน ผู้ใดเสนอกฎหมายและประกันตัวผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ส.ส.คนใดเสนอแก้ไขกฎหมาย แต่ถูกดำเนินคดีเสียเอง หรือใครเสนอกฎหมายและขึ้นพูดบนเวทีหาเสียงที่สาธารณะด้วย เพื่อทำให้คำวินิจฉัยยุบพรรคเป็นเหตุเป็นผล 

แต่ผมไม่ได้หมายความว่าผมเห็นว่าการทำแบบนี้มันถูกต้องนะ

ประการแรก การประกันตัวผู้ต้องหาคดีใดนั้นไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ขอประกันได้ เราสามารถขอประกันตัวผู้ต้องหาฆ่าคนตาย ผู้ต้องหาคดีค้ายาเสพติดหรือคดีอะไรก็ตาม โดยที่การขอประกันตัวในคดีนั้นๆ ผู้ประกันไม่ได้มีความผิดไปด้วย ก็ผู้ต้องหายังไม่ได้พิสูจน์ด้วยซ้ำว่ามีความผิดจริงหรือไม่ จึงต้องสันนิษฐานว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ มีสิทธิได้รับการประกันตัว รวมทั้งศาลเองก็ให้ประกันตัวมิใช่หรือ แสดงว่าศาลคุ้มครองสิทธิในการประกันตัว 

แม้แต่การการตกเป็นจำเลยหรือกลายเป็นผู้ต้องหาเสียเองก็มิได้เป็นเหตุให้เขากลายเป็นคนทำผิดกฎหมายหรือผิดจริยธรรมอย่างไร เนื่องจากยังไม่ได้มีการพิสูจน์ว่า เขาทำผิดหรือไม่ผิดอย่างไร 

ส่วนการเอามาตรา 112 มาหาเสียงนั้น เป็นประเด็นที่ต้องมีการถกกันบนหลักการประชาธิปไตย พรรคการเมืองมีนโยบายอย่างไร โดยหลักการแล้วต้องมีสิทธิเอาไปหาเสียง ด้วยเหตุผลว่า เป็นการบอกให้ประชาชนรับรู้ และเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำด้วยซ้ำไม่ใช่ปิดเอาไว้แล้วมาแอบทำนโยบายเอาตอนหลัง 

ในความเห็นคุณการใช้ ‘สิทธิ เสรีภาพ ล้มล้างการปกครอง’ ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มีที่มาอย่างไร

หากเป็นวิชาภาษาศาสตร์หรือนิติศาสตร์สมัยเก่า เขาเรียกว่า ‘บวชคำ’ เป็นอีกคำหนึ่ง คือการเอารัฐธรรมนูญบางมาตรามาพลิกแพลง หรือบวชคำให้กลายเป็นอีกมาตราหนึ่ง ผมหมายความว่า อาจมีการบวชคำจากมาตราว่าด้วยการใช้สิทธิ เสรีภาพของบุคคลซึ่งไม่สามารถใช้เพื่อล้มล้างการปกครองได้ บวชให้กลายเป็นมาตราว่าด้วยการล้มล้างการปกครอง และการเป็นปฏิปักษ์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และโยงไปถึงว่า เมื่อพรรคการเมืองใดมีการกระทำแบบลักษณะตามมาตราดังกล่าว ต้องยุบพรรคการเมืองนั้น 

การหลีกเลี่ยง พลิกแพลงลักษณะนี้มีมาอย่างต่อเนื่องในการยุบพรรคการเมืองที่ผ่านมา เช่นบอกว่า ถ้ามีการกระทำใดให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยวิถีที่ไม่เป็นไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตยก็ต้องถูกยุบพรรคการเมือง เขาหมายถึงมีการออกไปจัดการชุมนุม เดินขบวน ใช้กำลังอาวุธเข้ายึดทำเนียบ ยึดสภาฯ ยึดศาล และประกาศว่า “พวกเราที่มาชุมนุมกันนี้ขอยึดอำนาจประเทศนี้” หรือชุมนุมจนเกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย สุดท้ายเรียกทหารมายึดอำนาจ แบบนี้สิ ที่เข้าข่ายการยึดอำนาจโดยวิถีที่ไม่เป็นประชาธิปไตย 

จากคำวินิจฉัยยุบก้าวไกล สู่คำวินิจฉัยปลดเศรษฐา สะท้อนอะไรในการเมืองไทย

เป็นทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำและเป็นวังวนเดิมที่อดีตพรรคเพื่อไทยตั้งแต่พรรคไทยรักไทย เป็นวังวนเดิมที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมาหักล้างเจตนารมย์ของประชาชน ให้มีหรือไม่มีดำรงอยู่ของนายกฯ และรัฐบาล เพียงแต่การปลดนายกฯ จากเพื่อไทยครั้งนี้มีการใช้กฎหมายแตกต่างจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่เพิ่มมาคือเรื่องจริยธรรม แต่ที่น่าตกใจคือมันส่งผลถึงการเอานายกฯ ลงจากตำแหน่ง โดยดุยพินิจของประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจน

พรรคตระกูลเพื่อไทยเริ่มตั้งแต่ไทยรักไทยเป็นต้นมา มีนายกฯ​ ทั้งหมด 5 คน คนแรกคือ ทักษิณ ซึ่งอยู่ครบเทอมในสมัยแรก แต่สมัยที่ 2 ก็ถูกยึดอำนาจไป 

ในจำนวนนายกฯ ทั้ง 5 คน มีผู้พ้นจากตำแหน่งโดยการถูกยึดอำนาจ 2 คน คือทักษิณกับยิ่งลักษณ์ ส่วนอีก 3 คน พ้นไปโดยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นน่ากลัวที่ศาลรัฐธรรมนูญฝ่ายตุลาการ กระทำการที่เรียกว่า ‘ตุลาการภิวัตน์’ หักล้างการตัดสินใจของประชาชนกับการเลือกนายกฯ 

ดูอย่างกรณี สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชาชน ที่ไปทำกับข้าวออกทีวีและรับค่าจ้าง อยู่ๆ กลายเป็นเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งเป็นเรื่องเล็กมาก แต่เขาก็ใช้ตรรกะว่าจะผิดกี่มากน้อยก็ผิดเหมือนกัน พร้อมกับดูบรรยากาศทางการเมืองช่วงนั้น เพราะระหว่างการรอฟังคำตัดสินมีการยึดทำเนียบรัฐบาลและยึดสนามบิน เมื่อตัดสินให้สมัครพ้นจากนายกฯ การประท้วงจึงยุติไป สรุปได้ว่าแค่ทำกับข้าวออกทีวีก็ถูกล้มไปทั้งรัฐบาล 

คุณเศรษฐาเป็นนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยที่ถูกเขี่ยจากตำแหน่งโดยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ข้อหาใหม่ คือการขาดคุณสมบัติเพราะประพฤติผิดจริยธรรมร้ายแรง ตามบทกฎหมายของไทยก่อนหน้า ลักษณะต้องห้ามคือการที่บุคคลหนึ่งเคยถูกพิพากษาจำคุกและพ้นโทษมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี หรือต่อมาก็เป็นพ้นโทษไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่กรณีการแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีนั้นเขาพ้นโทษมาเกิน 10 ปี ที่สำคัญคือระบบบอกว่าเขาไม่ถูกจำกัดสิทธิอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นพิชิตก็มีคุณสมบัติที่จะเป็นอะไรก็ได้ 

ประเด็นต่อมาคือ มติของศาลรัฐธรรมนูญปลดเศรษฐาเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ต่างกันเพียงเสียงเดียวมัน ในกรณีเราควรให้อำนาจฝ่ายตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินล้มรัฐบาลหนึ่ง โดยการลงมติที่ต่างกันเพียงเสียงเดียวหรือ ทั้งที่เขามาจากกระบวนการการเลือกตั้งและการเลือกมาโดยรัฐสภา 

ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองมาหลายหน คุณจาตุรนต์เองก็ผ่านมาตั้งแต่การยุบพรรคไทยรักไทย

จริงๆ แล้ว การยุบพรรคการเมืองที่ผ่านมาอย่างพรรคไทยรักไทย ก็อ้างกันว่า มีการบอยคอตการเลือกตั้งของพรรคการเมืองบางพรรค บางเขตเลือกตั้งจึงไม่มีผู้สมัคร เมื่อไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งหลายเขตก็ไม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป 

พรรคการเมืองที่บอยคอตขัดขวางการเลือกตั้งสุดท้ายก็ไม่โดนคดีอะไร ภายหลังมีการเรียกร้องให้ยึดอำนาจด้วย แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับไม่ว่าอะไร กลับกันพรรคการเมืองที่พยายามทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นตามกติกา ดันถูกล่าวหาว่าไปจ้างคนมาลงสมัครว่าที่ ส.ส.โดยไม่มีหลักฐานการว่าจ้าง บอกแค่ว่า พบกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทำแบบนั้นแบบนี้และ ‘น่าเชื่อ’ เป็นการพูดคุยกันเพื่อหานำคนไปลงสมัคร 

เมื่อถูกกล่าวหาว่า ‘จ้างคนไปลงสมัคร’ เท่ากับว่า ไทยรักไทยกระทำการโดยไม่ชอบเพื่อให้เกิดการเลือกตั้ง เพื่อให้ตัวเองชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล ถือว่าเป็นการได้มาซึ่งอำนาจโดยวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงยุบพรรคโดยที่ไม่มีหลักฐานอะไรชัดเจน กรรมการบริหารก็ถูกเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารในการสมัครรับเลือกตั้งใหม่ ทั้งสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหมาย ไปลงคะแนนให้ใครไม่ได้เลยตลอด 5 ปี ถึงจะเป็นผู้เสียภาษีอยู่ก็ตาม

ที่หนักกว่าคือ พรรคชาติไทยดำเนินคดีกับคณะกรรมการบริหารพรรคซึ่งถูกกล่าวหาว่า ผู้สมัครซื้อเสียง 2 หมื่นบาท แต่มาพบว่า เป็นการจ่ายเงินชำระหนี้แม่ค้า เรื่องนี้ไม่มีใครผิด แต่เขาถูกยุบพรรคและตัดสิทธิการเมืองไป 5 ปี ต้องพ้นจากการเป็นรัฐมนตรี 

ส่วนพรรคอนาคตใหม่ เป็นเรื่องที่หัวหน้าพรรคการเมืองสนับสนุนพรรคโดยให้ยืมไปก่อน เขาก็คิดว่ามันดีกว่าการอุดหนุนใต้โต๊ะ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของพรรคการเมืองไทยมายาวนาน เพราะการให้อุดหนุนใต้โต๊ะทำให้พรรคการเมืองคบกับนายทุนที่ไม่สุจริต มักจะอุดหนุนใต้โต๊ะและมาใช้ประโยชน์จากพรรคการเมืองทีหลัง เขาก็เลยอุดหนุนพรรคการเมืองด้วยการให้ยืม กลายเป็นหัวหน้าพรรคคนนี้ต้องการจะครอบงำพรรคและยุบพรรค มันผิดหลักตรงที่ว่า หากมันเป็นปัญหาจริงๆ ระบบการยุบพรรคการมืองต้องไม่ใช่ยุบกันง่ายๆ หรือจริงๆ ไม่ควรมีการยุบพรรคการเมืองเลยด้วยซ้ำ ถ้าเห็นว่ากรรมการบริหารคนไหนมีปัญหา หรือมีปัญหาทั้งคณะก็ลงโทษกรรมการบริหารคนนั้นหรือชุดนั้น แต่พรรคการเมืองยังอยู่และให้ประชาชนพิสูจน์ ถ้าเขาไม่เลือกพรรคการเมืองนั้นก็จะฝ่อไปหรือยุบไปเอง 

ผมพูดอยู่เสมอว่า ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมือง และไม่เห็นด้วยกับกฎหมายว่าด้วยการยุบพรรคการเมือง เพราะมันทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และการยุบพรรคการเมืองครั้งที่ผ่านมานั้นยุบโดยไม่เป็นเหตุเป็นผล เป็นการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน ผิดหลักนิติธรรมและผิดหลักประชาธิปไตย 

บางคนบอกว่าเพื่อไทยโดนยุบหลายครั้งแล้ว พรรคอื่นโดนบ้างคงไม่ใช่เรื่องแปลก 

แต่ผมไม่เคยพูดแบบนั้น การยุบพรรคไทยรักไทย ผมคือคนที่ต้องไปฟังคำวินิจฉัยในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรค ถูกกระทำมาครั้งแล้วครั้งเล่าไทยรักไทย พลังประชาชน ถูกยุบมาอย่างต่อเนื่องด้วยระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม ดังนั้นหากมีพรรคการเมืองใดถูกยุบอีก เราย่อมจะเห็นว่า เป็นสิ่งที่เกิดความเสียหายต่อระบบประชาธิปไตยและเป็นการกระทบต่ออำนาจและสิทธิเสรีภาพของประชาชน และกระทบต่อประโยชน์ของประชาชน

แล้วถ้าจะยุบพรรคการเมืองมีเหตุอะไรบ้างที่ควรยุบ

 สำหรับผม ถ้าจะยุบพรรคการเมืองน่าจะมีอยู่อย่างเดียวคือ ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยใช้กำลังความรุนแรง เพราะการล้มล้างการปกครองโดยใช้กระบวนการทางรัฐสภามันทำไม่ได้อยู่แล้ว รัฐธรรมนูญมีระบบป้องกันตัวเองอยู่แล้ว 

ส่วนใหญ่แล้ว พรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค มีลักษณะอย่างไร

มักจะเป็นพรรคฝั่งประชาธิปไตย ต้องการทำการเมืองตรงข้ามกับผู้ยึดอำนาจหรือเข้ามาเพื่อขัดขวางการสืบทอด 

พรรคไทยรักไทยและพลังประชาชนนั้นชัดเจน เช่นเดียวกับกรณีอนาคตใหม่ที่เสนอการทำการเมืองแบบประชาธิปไตย ก็นับว่ายืนตรงข้ามกับฝ่ายผู้มีอำนาจชนชั้นนำอย่างชัดเจนเหมือนกับพรรคก้าวไกลที่เสนอแนวทางแบบประชาธิปไตยเข้มข้น 

หากถามผมว่า ทำไมศาลรัฐธรรมนูญไม่ยุบพรรคที่สนับสนุนการรัฐประหาร คำตอบก็อยู่ในคำถามอยู่แล้ว เพราะเขาเน้นยุบพรรคฝ่ายประชาธิปไตยและยืนอยู่ตรงข้ามกับคณะรัฐประหารหรือฝ่ายที่สนับสนุนการรัฐประหาร

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น 

เมื่อถามเรื่องนี้อาจต้องทำความเข้าใจก่อนเพื่อให้เห็นปัญหาชัดเจนขึ้น 

ช่วงปี 2549 เกิดการรัฐประหาร มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญและยุบศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งคณะขึ้นมาทำงานแทนศาลรัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า ‘คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ’ ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจริงๆ ก็กลับบ้านไปเพราะไม่มีหน้าที่แล้ว ดังนั้นคนที่ยุบพรรคไทยรักไทยก็ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญจริงๆ 

พอปี 2557 มีการยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญ แต่เขาไม่ยุบศาลรัฐธรรมนูญนะ ประเด็นที่น่าสนใจคือ ศาลรัฐธรรมนูญชุดเดียวกันนี้มีการพิจารณาประเด็นที่ ส.ส.เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าเป็นการล้มการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ก่อนปี 2557 ซึ่งยังพิจารณาไม่เสร็จ 

พอเกิดรัฐประหาร มีการประกาศว่า ‘บัดนี้พวกเราได้ทำการยึดอำนาจแล้ว’ แล้ว ก็ไม่มีการยุบศาลรัฐธรรมนูญต่อจากนั้น จึงเกิดคำถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังพิจารณาพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองจากการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ เหตุใดไม่วินิจฉัยคำประกาศของคณะรัฐประหารปี 2557 ว่านี่เป็นการล้มล้างการปกครอง เป็นการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เขาก็อยู่กันมาได้ตั้งนาน มากกว่านั้น การตั้งตุลาการก็อยู่ในกระบวนการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร 

กรณีปี 2557 นับเป็นปัญหาใหญ่ เพราะนอกจากศาลรัฐธรรมนูญจะไม่วินิจฉัยว่าการรัฐประหารเป็นการล้มล้างการปกครองแล้ว ต่อมายังรับรองสิ่งที่คณะรัฐประหารทำ รับรองการรัฐประหารว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

เพราะฉะนั้น ศาลรัฐธรรมนูญเซาะกร่อนบ่อนทำลายประชาธิปไตยหรือ

ต้องพูดว่า บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในช่วงหลังไม่ได้ปกป้องระบอบประชาธิปไตย ไล่มาตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 มีอำนาจที่สามารถหักล้างการตัดสินของประชาชนได้ หักล้างอำนาจอธิปไตยทั้งของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร มันทำให้อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง คือระบบที่ถูกพัฒนามาเพื่อทำให้บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย มันก็มากกว่าการเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบบพรรคการเมืองและระบอบประชาธิปไตย มันทำให้เกิดความชัดเจนแน่นอนว่า อำนาจอธิปไตยจะต้องไม่เป็นของประชาชน

การยุบพรรคการเมืองบ่อยครั้ง สุดท้ายจะนำไปสู่การตีตัวออกห่างจากระบอบการเมืองของประชาชนไม่ 

ผมมองว่าถึงแม้ประชาชนจะไม่ตีตัวออกห่าง แต่ว่าเขาก็ถูกผลักให้ออกห่างจากพรรคการเมืองอยู่แล้ว เมื่อก่อนพรรคการเมืองหนึ่งมาสมาชิกถึง 10 กว่าล้านคน ปัจจุบันมีเพียงหลักหมื่นเท่านั้น เพราะระเบียบกติกาทำให้เขาสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองยาก และพรรคการเมืองเองไม่อยากให้ตนมีสมาชิกมากเกินไป เพราะเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายในทางธุรการ เช่น ไม่บริจาคเงินรายปีอย่างต่อเนื่องก็จะขาดสมาชิกภาพ และหากพรรคการเมืองตกสำรวจในรายงานของ กกต.ก็อาจถูกยุบ 

การสนับสนุนพรรคการเมืองอาจเกิดจากการติดตามและสนใจ หรือเห็นด้วยกับอุดมการณ์นโยบายของพรรคนั้น แต่เมื่อมีการยุบพรรคการเมืองได้ง่ายๆ เครื่องมือของประชาชนมันหายไปจากเขา ประชาชนต้องสูญเสียทั้งที่เขาไม่ได้ทำสิ่งใดผิดเลย มันถึงวนกลับมาที่ว่า เราไม่ควรยุบพรรคการเมืองกันง่ายๆ เพราะการยุบพรรคการเมืองทำให้ประชาชนเสียหาย 

ฉะนั้น ทางออกคือการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยการยุบพรรคการเมืองใช่ไหม

หลักใหญ่คือ ต้องแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องที่ผมพูดมาทั้งหมด ทั้งบทบาทอำนาจ หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ การแบ่งแยกหน้าที่ที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร ระบบพรรคการเมืองควรจะเป็นอย่างไร กฎหมายว่าด้วยการยุบพรรคการเมือง และการส่งเสริมพรรคการเมืองควรจะเป็นอย่างไร นี่คือหลักใหญ่ที่เราต้องทำ

รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นต้องแก้ในทุกเรื่องโดยไม่มีประเด็นการขัดกันของผลประโยชน์ทางการเมือง หากจะแก้รัฐธรรรมนูญขนานใหญ่หรือจะเรียกว่าแก้ใหม่ทั้งฉบับ ก็ควรมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และเพื่อจะให้มี ส.ส.ร.ขึ้น ก็ต้องไปแก้มาตรา 256 ที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการแก้รัฐธรรมนูญ

เมื่อแก้ไขมาตรา 256 หากจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ต้องถามประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ คือการทำประชามติ ซึ่งในรัฐธรรมนูญบอกว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใดให้ไปทำประชามติ แต่ไม่ได้บอกว่าต้องทำประชามติด้วยหลักเกณฑ์ใด ดังนั้นต้องย้อนกลับไปดูว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ใช้หลักเกณฑ์ใด การทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขหรือฉบับใหม่ก็ควรใช้หลักเกณฑ์เดิม ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ใช้หลักเกณฑ์เพียงสั้นๆ ว่า “ให้ใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง” 

และหากเราได้กฎหมายประชามติแล้วส่งให้ ส.ส.และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หากการเสนอร่างประชามติครั้งนี้ผ่านจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป แต่หาก ส.ว.ไม่ออกเสียง ฝ่ายค้านออกเสียงให้ไม่ถึง 20% ร่างนี้จะไม่ผ่านและถ้าประชามติไม่ผ่านจะมีผลในทางปฏิบัติ เช่น ประธานสภาก็จะไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ไปอีกยาวนาน เท่ากับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่เกิดขึ้น 

แต่ ส.ส.และ ส.ว.ยังเป็นด่านหิน แก้-ไม่แก้ รัฐธรรมนูญ

จริงๆ เรื่องใหญ่ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ ส.ว.ชุดใหม่จะสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ พรรคการเมืองทั้งหลายจะว่าอย่างไร เพราะตอนนี้พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องเขียนนโยบายรัฐบาลกันใหม่ เพื่อเสนอรัฐสภาในนโยบายนั้นจะว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไป แต่สำคัญคือ ถ้าต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญต้องผลักดันให้กฎหมายประชามติออกมาก่อนและต้องไปช่วยกันทำให้การทำประชามติถามประชาชนเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านการทำประชามติประชาชนให้ได้ 

ต้องรอนานอีกเท่าไร 

ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เลยเขาก็คาดว่า ภายในอายุของสภาฯ ​นี้ หากรวมเวลาการพิจารณาในสภาฯ ที่ต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง นับจากวันนี้ให้อยู่ภายในสมัยนี้ยังพอรับได้ 

ศึกการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ยังจะได้เห็นพรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคประชาชน (อดีตพรรคก้าวไกล) หรือไม่ 

สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลกับมุมมองการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรนั้นต้องดูต่อ เนื่องจากขณะนี้กำลังจะมีรัฐบาลใหม่ ในนโยบายของรัฐก็หวังว่าจะมีนโยบายในการแก้รัฐธรรมนูญ 

สำหรับการร่วมมือกับพรรคประชาชนก็มีความจำเป็นในแง่วิธีการ และขั้นตอนต่างๆ แต่ในทางหลักการทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนต่างฝ่ายต่างต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีความแตกต่างในรายละเอียดที่สำคัญ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอุปสรรคอะไร เสียงของฝ่ายค้านแน่นอนว่าถ้ามารวมแล้วก็จะทำให้เกินครึ่งของที่ประชุมร่วมของรัฐสภาได้ง่าย 

Fact Box

  • ปัจจุบัน จาตุรนต์ ฉายแสง ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หลังการเลือกตั้ง 2566 เขาเสนอให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ซึ่งได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง และ ‘ผนึก’ กันให้แน่นไว้ ไม่ให้พรรคเพื่อไทยข้ามขั้วไปจับกับพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐ แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่เป็นผล
  • จาตุรนต์เดินทางเข้าสู่แวดวงการเมืองจากคำชักชวนของ อนันต์ ฉายแสง บิดา ผู้เป็นบิดาให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในปี 2529 ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และเป็น ส.ส.หลายสมัยเรื่อยมา
  • วันที่ 27 พฤษภาคม 2557 จาตุรนต์ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกทหารควบคุมตัวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อาคารมณียาเซ็นเตอร์ใน 3 ข้อหา คือขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, ยุยงให้เกิดความกระด้างกระเดื่องและให้ทำผิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดต่อความมั่นคงหรือก่อการร้ายตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ รวมโทษจำคุก 14 ปี หลังไม่ไปรายงานตัวกับ คสช. 
  • จาตุรนต์เป็นนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยคนแรก ที่แสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกับคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล และไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยตัดสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง 10 ปี บนโซเชียลมีเดียส่วนตัว 
Tags: , , , , , , , , , , , ,