แนวคิดหลักของ ‘ประชาธิปไตย’ อยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ทุกคนมีเสรีภาพเท่ากันในการกำหนดอนาคตตัวเอง การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 จึงไม่เพียงมีความหมายในเชิงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ยังพลิกบทบาทของคนในสังคมให้มีความเสมอภาคมากขึ้นด้วย 

​ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย ราษฎรกลายมาเป็นเจ้าของอำนาจ ผู้หญิงและผู้ชายสามารถมีสิทธิ์เลือกตั้งได้เหมือนกัน บทบาทของผู้หญิงที่เคยถูกตีกรอบให้อยู่เฉพาะในบ้าน จึงเริ่มขยับเข้ามาสู่พื้นที่ทางการเมือง

ชานันท์ ยอดหงษ์ นักประวัติศาสตร์ และนักเขียนเจ้าของผลงานหนังสือ นายใน ได้บอกเล่าการพยายามขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศของผู้หญิงยุคปฏิวัติ 2475 ผ่านหนังสือชื่อ หลังบ้านคณะราษฎร ความรัก ปฎิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง ผลงานเล่มล่าสุดที่ชวนให้เทียบเคียงได้กับการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในยุคปัจจุบัน 

ในยุค 2475 ความเท่าเทียมทางเพศอาจแบ่งหมวดเป็น ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ ทว่า ในยุค 2564 สังคมนิยามคำว่าเพศไปไกลกว่านั้น เรามีความหลากหลายในระดับที่เรียกรวมกันว่า LGBTQIA+ เมื่อพูดถึง ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ จึงหมายถึงการโอบรับคนทุกกลุ่มสังคม ไม่ว่าเขาจะมีอัตลักษณ์แบบใด เช่นเดียวกันกับ ‘ประชาธิปไตย’ ที่ความหมายในวันนี้อาจไม่ตรงกับประชาธิปไตยในความหมายของปี 2475 

ท่ามกลางบริบทปัจจุบันของสังคมไทยที่มีความเชื่อมโยงบางประการกับเหตุกาณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ชานันท์มองการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศที่สอดรับไปกับการขับเคลื่อนประชาธิปไตยระหว่างยุค 2475 กับยุคปัจจุบันอย่างไร และเหตุใดประชาธิปไตยแบบ 2475 จึงอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับใครหลายคนในวันนี้อีกต่อไป 

ในหนังสือเล่มใหม่ของคุณ หลังบ้านคณะราษฎรฯ สะท้อนให้เห็นว่านอกจากการปฏิวัติ 2475 จะพลิกโฉมทางการเมืองแล้ว ยังพลิกบทบาทของผู้หญิงในสังคมไทยตอนนั้นด้วย ช่วยขยายประเด็นนี้ได้ไหม 

ความจริงเรื่องของเมียคณะราษฎรเป็นตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่น้อยมาก ถ้าเทียบกับผู้หญิงในสังคมช่วงนั้น ต้องย้อนกลับไปประมาณต้นทศวรรษ 2400 ที่มิชชันนารีเริ่มนำการศึกษาเข้ามา จนเกิดเป็นโรงเรียนหญิงล้วนต่างๆ โรงเรียนหญิงพวกนี้จะสอนให้เป็นแม่บ้านแม่เรือน ให้อ่านออกเขียนได้ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่แพง เพราะฉะนั้น คนที่เข้าไปเรียนได้จึงต้องเป็นชนชั้นกลางขึ้นไป และคนที่จบออกมาก็จะเป็นผู้หญิงที่มีความคิดความอ่าน เริ่มประกอบอาชีพนอกบ้าน เป็นนางพยาบาล เป็นครู ซึ่งเป็นอาชีพแรกๆ ในตอนนั้น 

เมื่อผู้หญิงมีเสรีภาพมากขึ้นทั้งการเลือกคู่ครอง และมีอำนาจตัดสินใจในการจับจ่ายใช้สอยด้วยตัวเอง จึงเริ่มสร้างอำนาจในการตัดสินใจของตัวเองว่าฉันจะทำอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องให้พ่อแม่มาชี้นำ 1. ต่อต้านการคลุมถุงชน 2. ต่อต้านความรุนแรงของสามี เพราะพวกเธอก็มีตัวตนระดับหนึ่ง ไม่ต้องพึ่งพารายได้จากสามีเหมือนเมียยุคเก่าๆ สามีจึงไม่มีสิทธิ์มาตบตีเหมือนฉันเป็นคนรับใช้ในบ้าน 

หลายๆ คนที่ได้แต่งงานมักจะได้แต่งกับชนชั้นกลางขึ้นไป เพราะคนรวย คนมีเงิน มีการศึกษา เขาก็อยากจะได้ผู้หญิงแบบนี้แหละมาเป็นเมีย มันเลยช่วยต่อยอดคนกลุ่มใหม่ในสังคมเป็นเหมือนครอบครัวชนชั้นกลางรุ่นใหม่ และสังคมหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นชนชั้นกลางที่คุณไม่ได้มีไพร่ มีบริวาร คุณต้องแบ่งงานกันทำระหว่างผัวเมีย เมียทำงานในบ้าน เพราะคุณได้รับการศึกษามาแบบแม่บ้านแม่เรือน ผู้ชายก็ไปหาเงินมาจุนเจือ และผู้หญิงพวกนี้อ่านออกเขียนได้ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ บางคนได้ภาษาฝรั่งเศสด้วย พวกเธอรับนิตยสารต่างประเทศมาอ่าน และเรียนรู้โลกตะวันตกผ่านภาพยนตร์มากขึ้น พวกเธอจึงเป็นพวกนำแฟชั่น

ยุคนั้นผู้หญิงจึงเริ่มผลิตสิ่งพิมพ์ของตัวเอง มีหนังสือ มีบทความเคลื่อนไหวทางการเมือง ยุคนั้นเป็นยุคที่ราษฎรด่าเจ้าผ่านสิ่งพิมพ์เยอะมาก คล้ายกับทวิตเตอร์ในปัจจุบัน ผู้หญิงที่มีการศึกษาหลายๆ คนก็เขียนประเด็นเรื่องผัวเดียวหลายเมียของชนชั้นขุนนางขึ้นไปว่าทำไมมีเมียเยอะ เป็นการกดขี่สตรีนะ ดูโลกตะวันตกสิ ทำไมชนชั้นนำมีผัวเดียวเมียเดียว รวมถึงพูดเรื่องการกดขี่ของชนชั้นเจ้าด้วย ถ้าอ่านนิตยสารหรือสิ่งพิมพ์ตอนนั้นจะรู้ว่าเขาด่าแรงมาก และมีการเขียนฎีกาไปหากษัตริย์เลยว่าคุณทำไม่ถูกต้อง ก็ ‘ฟาด’ เยอะเหมือนกัน เพราะนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์สมัยนั้น มีการจ้างชาวต่างชาติมาเป็นเจ้าของเพียงในนาม เนื่องด้วยเรื่องของสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ที่ถ้าคุณทำผิดกฎหมายในประเทศไทย แต่เป็นคนภายใต้กฎหมายของอังกฤษ คุณต้องไปปฏิบัติตามกฎหมายอังกฤษ ไม่ใช่กฎหมายไทย ซึ่งกฎหมายอังกฤษตอนนั้นสามารถใช้ได้กับคนที่อยู่ภายใต้การดูแลของประเทศสยาม เขาเลยไปเอาคนต่างชาติมาเป็นเจ้าของสิ่งพิมพ์ เพื่อจะได้รอด อยากจะด่าเจ้าก็ด่าได้เลย แต่มี พ.ร.บ.ปราบปรามสิ่งพิมพ์บางประการ ที่ทำให้หนังสือยุคนั้นต่อให้หัวก้าวหน้าแค่ไหน ก็จะมีอายุสั้นเพียงแค่ 1-2 ปีเท่านั้น 

แล้วหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้หญิงเริ่มมีบทบาทหรือส่วนร่วมทางการเมืองอย่างไรบ้าง 

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พวกนางก็ดีใจและตื่นเต้นกับคณะราษฎร เพราะในช่วง 2470 เป็นต้นมา ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ไม่ได้แล้ว คนชอบพูดกันว่าตอนปฏิวัติ 2475 ประชาชนไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรหรอก แต่จริงๆ ประชาชนมีความตื่นตัวเยอะมาก เมื่อปฏิวัติสำเร็จก็มีคนไปแสดงความยินดีกับคณะราษฎรเยอะ มีสมาคมพ่อค้า มีผู้หญิงเขียนจดหมายอยากให้แก้กฎหมายเรื่องผัวเดียวหลายเมีย และมีผู้หญิงสมัครตัวแทนตำบล ตัวแทนหมู่บ้าน เพื่อลงสมัคร ส.ส. เพราะหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ปีถัดมา 2476 มีการเลือกตั้งครั้งแรก ผู้หญิงเลยไปสมัครลงเลือกตั้งด้วย แต่ไม่ชนะสักคน เพราะถึงจะมีสิทธิพลเมืองเท่ากัน แต่ในเรื่องของการเลือกตั้งสังคมยังไม่ได้มองว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมในการปกครองได้ หรือตอนกบฏบวรเดช ปี 2476 ก็มีการเขียนงานด่าบวรเดช (พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช) เยอะมาก เขียนนิยาย เขียนเรื่องสั้น ว่าจะทำยังไงเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ มีทั้งที่ผู้หญิงเขียนและผู้ชายเขียนตัวละครผู้หญิงที่สนับสนุนการปกครองใหม่นี้ 

หรือในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ผู้หญิงก็มีส่วนร่วมเยอะมากเหมือนกัน เป็นกรรมาธิการบ้าง ร่วมประกวดเขียนบทความบ้าง ที่รู้ว่าผู้หญิงเขียนเพราะเธอชนะรางวัล ซึ่งก็สะท้อนว่าผู้หญิงอ่านออกเขียนได้เยอะระดับหนึ่ง และมีความกระตือรือร้นจะมีส่วนร่วมในปกครองนี้ 

ต่อมาในทศวรรษ 2480 มีสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมกับรัฐบาลในหลายประเด็น ทั้งเรื่องสังคมสงเคราะห์ การช่วยคนในยามสงคราม และการช่วยเหลือหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายของรัฐบาล เพราะตอนนั้น ทุกที่ที่มีการปฎิวัติสู่ระบอบการปกครองใหม่ จะพยายามปฎิวัติความเป็นอยู่ของคนให้สอดคล้องกับระบอบการปกครองใหม่ด้วย ยิ่งเป็นการปกครองที่เปลี่ยนจากไพร่มาเป็นราษฎร ประชาชนเป็นตัวแทนของประเทศ และเป็นเจ้าของอำนาจในการปกครองประเทศด้วย เขาจึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องของสุขอนามัย การดำรงชีวิตเพื่อให้ทันสมัย สุขภาพดี คนจึงใส่ใจในเรื่องความคิด ความอ่าน ความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และสุขอนามัยมากๆ จึงทำให้ความรู้เรื่องแม่บ้านแม่เรือนเข้มข้นมากขึ้น ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งช่วยให้ชาติได้เป็นมหาอำนาจ

สังเกตว่าแม้เมียคณะราษฎรจะพยายามขับเคลื่อนบทบาทของผู้หญิงในทางการเมืองมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นการขับเคลื่อนที่มาจากโครงสร้างชายเป็นใหญ่ ที่มองว่าผู้หญิงจะต้องเป็นแม่บ้านแม่เรือนอยู่ดี 

มันเป็นทุกที่นะ กลุ่มชนชั้นกลางหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ได้รับอิทธิพลสมัยใหม่มา จะต้องเป็นครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว เป็นเพื่อนคู่คิดที่ต้องแบ่งงานกันทำ และผู้หญิงถูกฝึกมาให้เป็นแม่บ้านแม่เรือนมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ในประเทศจีนที่ปฏิวัติวัฒนธรรมก็เป็นลักษณะนี้ มันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม มันเปิดช่องทางให้เกิดเสรีภาพทางเพศมากขึ้น ผู้หญิงได้ออกมานอกบ้าน กล้าแสดงออกเรื่องเพศอย่างชัดเจน สิ่งพิมพ์ผู้หญิงหลัง 2475 ทำให้เห็นว่าผู้หญิงกล้าเปิดเนื้อตัวร่างกาย กล้าแสดงออกถึงความก๋ากั๋นของผู้หญิงมากขึ้น ในการบอกว่าฉันเป็นผู้หญิงแห่งยุคสมัยใหม่ มีการเปรียบเทียบด้วยว่าผู้หญิงยุคเก่าคือผู้หญิงสมัยรัชกาลที่ 5 คืออยู่กับบ้านอยู่กับเรือน จะออกจากบ้านทีพ่อแม่ต้องคอยตาม คอยดูแล แต่ผู้หญิงสมัยใหม่คือกล้าไปสโมสร กล้าไปไนต์คลับ กล้าคุยกับชาวต่างชาติ กล้าคุยกับผู้ชาย จึงทำให้เกิดการเขียนคู่มือมารยาททางสังคม เพื่อจะช่วยให้ผู้หญิงรู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อออกนอกบ้าน เพราะก่อนหน้านี้ผู้หญิงไม่ได้ถูกฝึกให้ออกนอกบ้าน 

รูปแบบทำนองนี้เข้มข้นมากหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาเมียคณะราษฎร พวกเธอยังคงเป็นแม่และเมียอยู่ ส่วนใหญ่จะยังคงอยู่บ้าน อาจจะเป็นเพราะรูปแบบการปกครองตอนนั้นที่ไม่มีความปลอดภัยทางการเมืองบางประการด้วย ทำให้พวกเธอออกตัวมากไม่ได้ และเมื่อเป็นเมียชนชั้นนำจึงมีเงื่อนไขบางอย่างในการปรากฏตัว หรือในการปฏิบัติตัว ขณะเดียวกัน พวกเธอก็ต้องดูแลสามีที่มีภาระงานเยอะมากกว่าผู้หญิงประชาชนทั่วไป อย่างเมียจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม) เธอมีหน้าที่ดูแลเรื่องอาหารการกินของสามีวันละ 3 มื้อ เพราะสามีเคยโดนลอบวางยา แค่ทำอาหารมื้อเดียวเรายังเสียเวลาเยอะเลย นี่ต้องทำตั้ง 3 มื้อ เมียคณะราษฎรบางคนจึงไม่มีบทบาทมากนักในพื้นที่นอกบ้าน 

กรณีของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เธอดูเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่หัวก้าวหน้ามาก แต่กลับเทิดทูนบูชาสามีดุจดั่งพ่อหรือผู้มีพระคุณ เช่น การกราบเท้าสามี 

เราคิดว่านางแอ็กติ้ง (หัวเราะ) นางคงไม่ได้กราบหรอกเวลาอยู่บ้าน เพราะดูจากทรงแล้ว นางเป็นผู้หญิงที่ทันสมัยมาก เราเลยคิดว่านางแอ็กติ้งเพื่อให้สังคมเห็นว่าน่าสงสาร เมียอุทิศตัวให้กับสามีที่อยู่ในคุก ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ในช่วงเวลานั้นมีข่าวเยอะมากเกี่ยวกับท่านผู้หญิงละเอียดว่าร่อนจานใส่หัวจอมพล ป. หรือโวยวายใส่สามี แต่ก็เป็นลักษณะทั่วไปของชนชั้นนำหญิงในตอนนั้น เพราะรูปแบบการเมืองไทยต่อให้ผู้หญิงมีอำนาจหรือมีตัวตนขึ้นมา ส่วนใหญ่จะมาได้เพราะสามี อย่าง ส.ส. หญิงคนแรก ก็มาจากการที่สามีของเธอเคยอยู่ในสภามาก่อน หรือกรณีท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม การที่เธอได้เป็น ส.ส. ก็เพราะอยู่ในพรรคเสรีมนังคศิลาของสามีด้วย 

แม้กระทั่งช่วง 2530-2540 ก็มีคนตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า ผู้หญิงที่ได้เป็นนักการเมือง นอกจากจะต้องดูนามสกุลแล้ว ต้องเป็นเมีย เป็นน้องสาว เป็นลูกสาวของใครสักคนหนึ่งที่เคยอยู่ในสภามาก่อน ไม่มีใครที่อยู่ๆ โผล่ขึ้นมาเลย แต่ถ้ากระโดดข้ามมาดูการเลือกตั้ง 2562 ยกตัวอย่าง ‘ช่อ’ – พรรณิการ์ วานิช ที่ไม่ได้เป็นคนมีพื้นที่ทางการเมืองมาก่อน แต่มายืนในตำแหน่ง ส.ส. ได้ ตรงนี้ถือเป็นนิมิตหมายใหม่ทางการเมืองไทยเหมือนกัน 

ในปี 2475 จึงยังคงเป็นอย่างนั้นอยู่ ที่เมียจะไม่สามารถมีอำนาจทางการเมืองมากกว่าผัวได้ หรืออย่างน้อยที่สุดอาจจะมีเสมอกัน ท่านผู้หญิงละเอียดนับว่าเป็นเมียที่มีตัวตนมาก ตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน เรายังหาใครเทียบเคียงไม่ได้เลย ​​

จอมพล ป. จะดูเหมือนเป็นฟาสซิสต์ที่ดูน่าเกรงขาม แต่ท่านผู้หญิงละเอียดพยายามนำเรื่องของวัฒนธรรมผู้หญิงเข้ามาทำให้ความเป็นเผด็จการดูซอฟต์ลง ไปๆ มาๆ ในการปกครองสมัยที่ 2 ของจอมพล ป. เลยกลายเป็นคู่ผัวเมียเผด็จการไปเลย สื่อไทยตอนนั้นค่อนข้างเป็นซ้ายด้วย เลยกล้าหาญที่จะวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้น จึงมองว่า จอมพล ป. และท่านผู้หญิงละเอียดในทศวรรษ 2490 เป็นเผด็จการ ซึ่งก็จริง เพราะว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

การที่ท่านผู้หญิงละเอียดเข้ามามีบทบาททางการเมืองมาก ดูจะเป็นการสร้างภาพจำไปเลยว่า ถ้าให้ ‘หลังบ้าน’ เข้ามายุ่งเรื่องการเมือง มักจะก่อให้เกิดปัญหาในภายหลัง 

สังคมไทยตอนนั้นมองว่าผู้หญิงไม่ควรยุ่งการเมืองอยู่แล้ว ทันทีที่ผู้หญิงมีตัวตนปุ๊บ จะถูกมองทันทีว่านักการเมืองชายคนนี้มีเมียคอยชักใยอยู่เบื้องหลัง และปกตินักการเมืองชายพูดอะไร ก็จะไม่มีการอ้างถึงที่บ้าน แต่จอมพล ป. เป็นกรณีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เวลาจะขับเคลื่อนอะไรมักจะอ้างเมีย อ้างครอบครัวเสมอ เหมือนตอนจะประกาศลาออกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บอกว่าทะเลาะกับเมีย คนก็ตกใจว่า เรื่องประเทศความเป็นความตาย มาบอกว่าทะเลาะกับเมีย-แค่นี้เหรอ หรือแม้กระทั่งรัฐประหาร 2490 จอมพล ป. อิดออดบอกไม่อยากร่วมรัฐประหาร ไม่อยากยุ่งการเมืองแล้ว แต่เขียนในบันทึกว่าเมียบอกให้ไป กลายเป็นว่าทุกอย่าง จอมพล ป. ว่าง่ายมากเมื่อเมียบอกให้ทำ เราไม่เคยเห็นนักการเมืองคนไหน หรือนายกรัฐมนตรีคนไหนออกมาพูดอะไรแบบนี้ หรือเขียนบันทึกอะไรแบบนี้เลย 

แต่สำหรับนักการเมืองหญิง ถ้าออกมาพูดอะไรก็ตาม คนมองทันทีว่ามีผัวคอยชักนำอยู่ ไม่ว่าผู้หญิงจะมีบทบาททางสังคมในพื้นที่สาธารณะมากแค่ไหน ถ้าแต่งงานแล้ว สังคมมักจะมองว่าสามีมีอิทธิพลเสมอ อันนี้คือสังคมชายเป็นใหญ่ที่มองว่าผู้หญิงจะต้องอยู่กับพื้นที่ในบ้าน หรือผูกพันต่อเรื่องส่วนตัวมากกว่า

ยกตัวอย่างง่ายๆ ในออฟฟิศ ถ้าหัวหน้าเป็นผู้ชายหงุดหงิดมา เราอาจจะรู้สึกเฉยๆ เข้าใจได้ แต่ถ้าหัวหน้าเป็นผู้หญิง เราคิดแล้วว่าผัว ‘ไม่ทำการบ้าน’ กับเธอแน่เลย หรือเธอมีประจำเดือนแน่ๆ มันกลายเป็นเรื่องว่าคุณจะต้องเอาความเป็นผู้หญิงหรือความเป็นพื้นที่ส่วนตัวภายในบ้านมาอธิบาย มาอ้างถึงการกระทำของผู้หญิงในพื้นที่นอกบ้านเสมอ อันนี้เป็นโครงสร้างแบบชายเป็นใหญ่มากๆ 

แต่สำหรับการเมืองเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ถ้าประชาชนเลือกตั้งคนนี้มา เขาไม่ได้คาดหวังว่าจะเห็นเมียมามีส่วนร่วมด้วย การที่เอาเมียมาพ่วงหรือมีอำนาจตัดสินใจในทางการเมืองมันจึงไม่แฟร์ สิ่งนี้แหละเลยทำให้ทันทีที่อ้างถึงเมีย พูดถึงผู้หญิงหลังบ้าน มักจะกลายเป็นภัยร้ายคอยมาบงการนักการเมืองอยู่ นี่เป็นรูปแบบหนึ่งของประชาธิปไตยที่สลายตัวตนของเมียไป นอกจากว่าคุณจะมีตำแหน่งกึ่งๆ ทางการอย่าง เช่น สุภาพสตรีหมายเลข 1 

แต่กรณียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เธอก็ถูกโจมตีเรื่องความเป็นผู้หญิงมากอยู่เหมือนกัน 

เป็นเรื่องปกติของการเมืองไทย ที่ไม่รู้จะด่าอะไร ถ้าเป็นผู้หญิงก็ด่าความเป็นหญิงไปก่อน ซึ่งมีไม่กี่อย่างหรอกเวลาจะด่าผู้หญิง ด่าเรื่องเพศ ด่าเรื่องผัว ด่าเรื่องบทบาทว่าเป็นแม่ที่ดีหรือไม่ดี ผู้หญิงดีหรือไม่ดีก็มองได้หลายเรื่อง จำนวนผัวและเรื่องเพศสัมพันธ์ โครงสร้างชายเป็นใหญ่มันอยู่ได้ทุกระบอบการเมืองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบอบการเมืองไหน บางครั้งผู้ชายยังคงมีอำนาจมากกว่า และทรัพยากรหรือสถาบันทางการเมืองก็ยังคงถูกผูกขาดเอื้ออำนวยให้เป็นพื้นที่ของผู้ชายมากกว่า รวมถึงสถาบันทางศาสนา สถาบันทางการศึกษา สถาบันทางเศรษฐกิจ ถ้าผู้หญิงเข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้น ต่อให้คุณมีตัวตนมากขนาดไหน แต่จะมีความรู้สึกบางอย่างที่คุณไม่สามารถเติบโตไปได้เท่าผู้ชาย 

หรือแม้แต่การแสดงออกอย่างการร้องไห้ นักการเมืองชายกับนักการเมืองหญิงก็ไม่เหมือนกัน ทันทีที่ยิ่งลักษณ์ร้องไห้ กลายเป็นว่ายายนี่อ่อนแอ เจ้าน้ำตา ไม่มีภาวะผู้นำ แต่พอพลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ร้องไห้ กลายเป็นว่าคุณแสดงความเปราะบาง คุณรับผิดชอบต่อสังคมแล้วที่คุณยอมเสียน้ำตาลูกผู้ชายออกมา มันสองมาตรฐานมากๆ เพราะโครงสร้าง Male State แบบนี้ ถึงได้มีนักการเมืองชายหรือข้าราชการระดับสูงผู้ชายที่ร้องไห้เพื่อปัดความรับผิดชอบหลายๆ กรณี ต่อให้ในทางกฎหมายผู้หญิงจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น มีสิทธิพลเมือง มีการลงสนธิสัญญาความเท่าเทียมทางเพศแล้ว แต่ในเชิงของวัฒนธรรมและสังคม เรายังไม่มีความเท่าเทียมกัน

ถ้าดูการโจมตีเรื่องเพศกับนักการเมืองคนอื่น ช่วง พ.ศ. 2550 สมัยนั้น นปช. ด่าพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เรื่องเป็นเกย์เยอะมาก แต่ปัจจุบัน ก่อนพลเอกเปรมตายมีคนด่าเรื่องเพศเหมือนกัน คนรุ่นใหม่บอกว่า แล้วไง ไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกับการเมืองเลย เราควรจะด่าพลเอกเปรมเรื่องอยู่บ้านพักฟรี น้ำไฟฟรี แต่ไม่มีประโยชน์ หรือเราควรจะด่าเปรมเรื่องไปแทรกแซงการเมืองไทยให้ตัวเองเป็นองคมนตรีมากกว่าไหม 

เห็นได้ว่าแค่ปี 2550 มาถึงปัจจุบัน การด่าเรื่องเพศเปลี่ยนไปพอสมควรเหมือนกัน เราเชื่อว่าถ้าวันหนึ่งในอนาคต มีนักการเมืองผู้หญิงมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใครที่ยังด่าเรื่องเพศอยู่จะกลายเป็นคำที่ไม่มีค่าอะไรไปเลย ซ้ำร้ายคนที่ด่าเรื่องนี้ดูหมากว่าเดิมอีก อันนี้ในเชิงวัฒนธรรมแบบมวลชนนะ แต่ในเชิงโครงสร้างภาครัฐ ความไม่เท่าเทียมยังดำรงอยู่ ต่อจะให้เราจะมี ส.ส. กะเทยเข้าสภาไปแล้วก็ตาม 

เห็นได้เลยว่าโครงสร้างชายเป็นใหญ่ไม่ได้กดทับแค่ผู้หญิง แต่กดทับไปถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย ในยุค 2475 เป็นต้นมา คุณมองว่าบทบาทของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นอย่างไรบ้าง 

ถ้าในเรื่องกฎหมายก็มีการยกเลิกกฎหมายห้ามรักเพศเดียวกัน ที่บัญญัติขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันเป็นความผิดทางอาญาไปเมื่อปี 2499 ตอนนั้นไทยได้รับอิทธิพลมาจากอเมริกาอย่างเข้มข้น จึงมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ระดับหนึ่ง แต่ยังคงช้าอยู่ เพราะที่ผ่านมา แม้จะมีคนที่เป็น LGBTQ+ เข้าไปอยู่ในสภา เขาก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของชุมชน LGBTQ+ แต่เป็นเพียงตัวแทนของประชาชนทั่วๆ ไป และไม่ได้ผลักดันเรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ เลย กระทั่งการเมืองเชิงอัตลักษณ์ของภาคประชาชนเริ่มเข้มข้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้ภาวะทางการเมืองเริ่มเปลี่ยนแปลงไปด้วย

การเลือกตั้งครั้งล่าสุด เราเลยได้เห็นการผลักดันนโยบายเรื่อง LGBTQ+ อย่างตรงไปตรงมา และเมื่อมี ส.ส. นิยามว่าตัวเองเป็นทอม เป็นกะเทยในสภา ยิ่งทำให้สังคมตระหนักมากขึ้น การเคลื่อนไหวภาคประชาชนก็แข็งแรงและเข้มข้นมาก จึงทำให้การพูดเรื่อง LGBTQ+ หรือความหลากหลายทางเพศเข้มข้นขึ้นตาม ถ้าดูก่อนหน้านี้ การเมืองในภาครัฐมักจะอุทิศทรัพยากรให้กับปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ แต่ตอนนี้ หลายพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับเรื่องอัตลักษณ์ด้วย ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี ไม่ใช่มองว่าปากท้องต้องดีก่อน แล้วอย่างอื่นคอยตามมา กลายเป็นว่าปากท้องต้องดีพร้อมๆ กับสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน 

หมายความว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราอาจจะมี LGBTQ+ ได้นั่งตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ที่ไม่แสดงอัตลักษณ์ของตัวเองออกมา แต่ยังพยายามนำเสนอความเป็นชายอยู่ 

ใช่ ตอนเพศตัวเองหมด พลเอกเปรมเป็นนายกเกือบ 10 ปี ไม่ได้พูดถึงเรื่องเพศตัวเอง หรือผลักดันประเด็นเรื่องเพศเลย ชวน หลีกภัยก็เหมือนกัน เขาไม่แสดงออกอะไร แต่ปัจจุบันนี้ คนสมัครเลือกตั้งประกาศตัวเองก่อนจะเลือกตั้งด้วยซ้ำ กลายเป็นว่าไม่ได้มีความจำเป็นจะต้องปกปิดตัวเองในโลกที่เป็นรัฐราชการมากๆ แล้ว

เมื่อพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศ คำถามที่ตามมาคือ เราวัดความเท่าเทียมที่ว่านี้กับอะไร 

มีหลายๆ ประเทศทั่วโลกบอกเหมือนกันนะ ว่าวัดความเท่าเทียมกับผู้ชายหรือเปล่า ผู้หญิงอยากจะทำตัวเหมือนผู้ชาย หรือว่ามีเพดานในการเคลื่อนไหวอยู่ที่ผู้ชายหรือเปล่า ส่วนหนึ่งก็ใช่ เพราะปัจจุบัน ถ้าวัดกันตรงเพศ เพศชายมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรมากกว่าผู้หญิงอย่างปฏิเสธไม่ได้ การเข้าถึงทรัพยากรจึงต้องเท่าเทียมกัน มันเลยกลายเป็นว่าต้องเท่ากับผู้ชาย แต่เราสามารถผลักดันประเด็นบางอย่างให้เท่ากันทุกเพศได้เหมือนกัน เช่น การลาคลอด กลายเป็นว่าให้ผู้หญิงลาคลอดได้ ให้ผู้ชายลาคลอดไม่ได้ ทั้งที่แท้จริงแล้ว ทุกคนควรมีสิทธิลาไปเลี้ยงบุตรได้อย่างเท่าเทียมกัน ผัวเองก็ควรจะพาเมียไปโรงพยาบาลเหมือนกัน ไม่ใช่คุณอยากจะลา แล้วคุณต้องไปลากิจลาป่วยเอา คุณก็เสียโอกาสไป ทั้งที่คุณควรจะลาได้และได้เงินเดือนเท่าเดิม หรือคนที่เขาอยากลาไปแปลงเพศ เขาก็ควรสามารถใช้วันลาได้เหมือนกัน

คุณคิดว่าการพยายามนิยามความหลากหลายทางเพศ ยิ่งหลากหลายขึ้น อาจยิ่งสร้างปัญหามากขึ้นตามมาในภายหลังไหม 

เราคิดว่าการนิยามไม่ได้เป็นการพยายามให้เกิดความหลากหลาย ซ้ำร้าย การนิยามโดยบอกว่าคนนี้เป็นอันนั้น คนนั้นเป็นอันนี้ มันคือการจับใส่กล่องให้คนมีอัตลักษณ์เดียวไปตลอด อาจจะมีการเพิ่มกล่องมากขึ้นเรื่อยๆ แต่บางทีการเพิ่มกล่องหมายความว่าคุณต้องอยู่เฉพาะกล่องนั้นไปตลอด โดยไม่คิดว่าคนเราลื่นไหลได้ และเขาอยากจะนิยามตัวเองว่าอะไรก็ได้ อย่างไรก็ตาม การนิยามเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงอยู่ร่วมกันหรือเข้าใจกัน เช่น จะต้องปฏิบัติอย่างไรไม่ให้เป็นการโจมตีอีกฝ่าย หรือไม่ให้กลายเป็นว่าฉันละเลยความแตกต่างหลากหลายไป ตรงนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากๆ 

แต่ว่าการที่มีคำบางคำขึ้นมา สุดท้ายมันอยู่บนพื้นฐานของความไม่หลากหลาย เป็นทวิลักษณ์ที่เป็น Binary of position โอเค อาจจะเป็นความปรารถนาดีของสังคมบางกลุ่มที่ต้องการให้เห็นความหลากหลาย ไม่หลงลืมคนที่มีรสนิยมทางเพศต่างๆ แต่สุดท้ายแล้ว ความหวังดีของเขาเป็นการสร้างกล่องบางประการด้วย และการสร้างคำขึ้นมา แต่ไม่มีอะไรมารองรับ มันเลยเกิดคำถามที่ว่าแล้วไงต่อ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกใจของแต่ละคนด้วย ว่าจะเรียกตัวเองแบบไหน

บางสิ่งที่เรารู้สึกกังวลคือ เราอยู่ในยุคที่ไม่นับถือศาสนา แต่มีการผลิตศีลธรรมบางประการในเรื่องของการดำรงชีวิตขึ้นมา ซึ่งคือเรื่อง PC (Political correctness) ที่เป็นเหมือนศีลธรรมและจริยธรรมทางสังคมแบบใหม่โดยไม่อิงกับศาสนา เราโอเคกับมันนะ เพราะถ้าใช้ศาสนาเป็นตัวอ้างอิงในการดำรงชีวิต จะเป็นแบบว่าฉันจะไม่เดินไปตบเธอ เพราะว่าฉันกลัวบาป ซึ่งมันตรงข้ามกับ PC ที่ว่าฉันจะไม่ล้อเลียนเธอหรือทำร้ายเธอ เพราะฉันกับเธอก็คนเหมือนกัน เพียงแค่เธอไม่เหมือนฉัน ไม่ได้หมายความว่าเธอจะมีคุณค่าต่ำกว่าฉัน 

ตรงนี้เป็นการสร้างความเคารพ และเกรงใจซึ่งกันและกัน แต่ละคนอาจมีความเคร่งไม่เคร่งแตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับศาสนา ฉะนั้น เวลาปฏิบัติต่อกัน เราจึงไม่รู้ว่าเป็นการไปโจมตีอีกคนหรือเปล่า หรือปฏิบัติแบบนี้ พูดแบบนี้ PC หรือไม่ PC กับใครแค่ไหน มันเป็นจริยธรรมในรูปแบบใหม่ที่เป็นปัจเจกมาก ต้องเรียนรู้กันต่อไป เช่นเดียวกับนิยามว่าคนนี้เป็นกะเทยหรือคนนี้เป็นนอนไบนารี ก็เป็นปัจเจกนิยมเหมือนกัน

คิดว่าในอนาคตเส้นแบ่งของความแตกต่างหรือความหลากหลายทางเพศจะลบเลือนไปไหม โดยเราอาจจะไม่คำนึงถึงความเป็นเพศ แต่คำนึงถึงแค่ความเป็นมนุษย์อย่างเดียว 

เราว่าเป็นไปได้ แต่อาจจะอีกศตวรรษหนึ่ง และเราต้องระวังด้วยว่า เราจะหลงลืมประสบการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหว หรือประสบการณ์ความเจ็บปวดในศตวรรษที่ผ่านมาหรือเปล่า ยกตัวอย่างคนดำ ถ้ามองว่าคนดำกับคนขาวเหมือนกัน ไม่เห็นจะต้องกังวลเรื่องนี้เลย กลายเป็นว่ามองไม่เห็นความแตกต่างของมนุษย์ มนุษย์มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน มีความทรงจำร่วมและประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน คนผิวขาวไม่เคยมีประสบการณ์ว่าเคยเป็นทาส ถูกค้าทาส ถูกเหยียด ถูกไม่ให้เข้าถึงการศึกษา แต่คนดำมี แล้วคุณจะมองว่าไม่เห็นเป็นอะไรเลย กระดูกสีเดียวกันหมด จะผิวสีอะไรก็ตาม มันไม่ได้หรือเปล่า แบบนั้นเป็นการละเลยประสบการณ์ชีวิตหรือความทรงจำของเขา ฉะนั้น มันอาจทำได้ในมิติของกฎหมาย แต่ในมิติของวัฒนธรรมที่ซับซ้อนกว่า เราว่ายาก

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความเท่าเทียมก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตย และประชาธิปไตยแบบ 2475 ในวันนั้น คุณคิดว่ามันตอบโจทย์หรือไม่ตอบโจทย์สังคมในวันนี้อย่างไรบ้าง 

โอเค ตอนนั้นคณะราษฎรมีอุดมการณ์ในประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่คู่ขัดแย้งของเขาคือเจ้าไง และปฏิวัติครั้งนั้น หัวใจหลักคือจะทำยังไงให้ราษฎร ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเขาทำสำเร็จ แต่เจ้ายังดำรงอยู่ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะในเรื่องของความเป็นข้าราชการของเขา ที่การปฏิวัติยังไม่สามารถสลัดโครงสร้างเก่าได้ ประกอบกับสงครามโลกครั้งที่ 2 จำเป็นต้องพึ่งคนกลุ่มนี้ที่เป็นปัญญาชน ที่มีความสามารถ เป็นชนชั้นนำแต่แรกอยู่แล้ว รวมถึงความขัดแย้งภายในคณะราษฎรด้วย ทำให้ประชาธิปไตยตอนนั้นจึงลุ่มๆ ดอนๆ จากสถานการณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ต่อให้ช่วงทศวรรษ 2480 จอมพล ป. จะมาจากการเลือกตั้งก็จริง แต่สุดท้ายเขาไปนำแนวคิดแบบทหารอำนาจนิยมมาใช้ ทุกอย่างเลยประกอบสร้างกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘เผด็จการรัฐสภา’ อย่างเลี่ยงไม่ได้ด้วย จนกระทั่งรัฐประหาร 2490 รอบนี้ จอมพล ป. มาจากการรัฐประหาร แต่เขายังไม่ได้ละทิ้งอุดมการณ์ในการปฏิวัติ 2475 นะ ถึงจะไม่ได้อ้างอิงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร แต่เขาก็ทำในแนวทางของเขา และตอนนั้นรัฐไทยต้องอยู่ภายใต้การพึ่งพิงดูแลของอเมริกาด้วย ทุกอย่างเลยไม่ชัดเจน 

ส่วนในบริบทปัจจุบัน เจ้ายังคงมีอำนาจอยู่ ขณะเดียวกันโครงสร้างของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังปี 2557 เป็นต้นมา เกิดลักษณะเป็นรัฐราชการมากขึ้น โดยเป็นรูปแบบที่ผนึกกำลังระหว่างราชการกับราชสำนัก ทำให้ประชาธิปไตยเสื่อมอำนาจ ประชาชนที่อดทนอดกลั้นมานานเขาเลยอดทนไม่ไหว จึงเกิดการปะทุทางการเมืองอย่างเข้มข้นในปี 2563 ซึ่งก็คือกลุ่มคณะราษฎร 2563 

การที่เห็นพรรคอนาคตใหม่โดนกลั่นแกล้งทางการเมืองหลายๆ อย่าง หรือเห็นความไม่ชอบธรรมของฝ่ายตุลาการ บริหาร นิติบัญญัติ มันทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัย พวกเขาจึงต้องการขับเคลื่อนอะไรบางอย่าง จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชน เราเลยคิดว่า 2475 กับปัจจุบันจึงแตกต่างกันในเรื่องของมวลชนด้วย

ส่วนเรื่องเพศ สมัยก่อน ถ้าจะขับเคลื่อนทางการเมือง ผู้หญิงต้องไปเป็นเมียใครสักคนหรือไปในนามภรรยาของใคร แต่ทุกวันนี้เราเห็นได้เลยว่าแกนนำเคลื่อนไหวภาคประชาชนไม่ได้เป็นเมียใคร อย่าง ‘รุ้ง’ – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ‘มายด์’ – ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, เบนจา อะปัญ คนพวกนี้เป็นคนรุ่นใหม่มากๆ แล้วเขามาในฐานะคนอีกกลุ่มหนึ่ง รวมถึงในฐานะของผู้หญิงด้วย ขณะที่การเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชนในอดีตไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องเพศอย่างชัดเจน และแกนนำนักขับเคลื่อนก็ไม่ใช่ผู้หญิง แต่ปรากฏว่าปี 2563 ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และ LGBTQ+ ขณะเดียวกันสเกลของคนที่มาม็อบก็เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายด้วย ก็มีการอธิบายว่าเพราะคนกลุ่มนี้ได้รับการกดทับกดขี่มากกว่า เขาเลยต้องการปลดปล่อยตัวเองด้วยการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขโครงสร้างสังคม ปี 2563 จึงเป็นการเคลื่อนไหวในเชิงอัตลักษณ์ ปากท้อง และสิทธิเสรีภาพ

บริบทปัจจุบันอาจจะมีความเชื่อมโยงกับ 2475 เช่นในกรณีที่ประชาชนไม่พอใจเรื่องงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ หรือพฤติกรรมบางอย่างที่สังคมมองว่าไม่เหมาะสม นอกจากนี้แล้ว คุณคิดว่ามีอะไรที่เชื่อมโยงกันอีกไหม 

มันมีสุญญากาศทางความเข้าใจของคณะราษฎร 2475 มานาน กระทั่งกลุ่มคนเดือนตุลาฯ บางคนเขาก็ไม่ได้มองว่าคณะราษฎรเป็นพระเอก มองเป็นผู้ร้ายด้วยซ้ำไป จนกระทั่งภาพลักษณ์ของคณะราษฎรเริ่มดีขึ้นในสายตาประชาชนช่วงเสื้อแดง กลุ่มเสื้อแดงเขารู้แล้วว่าปัญหาของประเทศนี้มาจากชนชั้นเจ้า ซึ่งเขาก็วิพากษ์สิ่งเหล่านี้โดยตรง และนำเรื่องราวคณะราษฎรในอดีตหวนกลับมาอธิบายความใหม่ เห็นได้จากการไปที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ก่อนหน้านั้นมันเป็นแท่งที่ไม่มีใครสนใจเลย เมื่อกลุ่มเสื้อแดงไปทำพิธีจึงทำให้การมองคณะราษฎรเปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน ทำให้คนกลับมาตั้งคำถามหรือมาสนใจมากขึ้น ยิ่งปัจจุบัน เรายิ่งรู้ว่าปัญหาโครงสร้างสังคมที่จะก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งมีอุปสรรคมาจากชนชั้นเจ้าหรือราชสำนัก คนรุ่นหลังจึงหันกลับไปหาความรู้ ความคิด ความอ่าน เกี่ยวกับคณะราษฎรมากขึ้น และมีการแก้ไขความรู้ ความคิด ความเข้าใจเกี่ยวกับคณะราษฎรใหม่ 

ถ้าเปรียบเทียบบริบททางสังคมสมัย 2475 คิดว่ายุคนั้นเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากกว่าในยุคปัจจุบันไหม 

เราว่ายากแตกต่างกันออกไป เพราะว่า Network monarchy คนละรูปแบบกัน ตอนนั้นอาจจะไม่ได้มีเครือข่ายธุรกิจที่ใหญ่มาก แต่ปัจจุบันเครือข่ายธุรกิจที่เป็น Network monarchy เข้มแข็งและเข้มข้นมาก แต่ในเชิงวัฒนธรรมของคนก็เปลี่ยนไปเยอะมาก เดี๋ยวนี้การที่เราจะไม่ยืนในโรงหนังเป็นเรื่องปกติ คนยืนด้วยซ้ำที่กลายเป็นตัวประหลาด แต่ก่อนหน้านั้นคนที่นั่งในโรงหนัง ไม่ยืนเพลงสรรเสริญกลายเป็นอาชญากรด้วยซ้ำไป เราคิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงในเชิงวัฒนธรรมระดับหนึ่ง แต่ในเชิงของโครงสร้างรัฐและเครือข่ายธุรกิจ ยังเป็นเรื่องยากในการเปลี่ยนแปลง

นอกเสียจากว่าประชาชนจะสามารถไม่สนับสนุนธุรกิจในเครือ Network monarchy ได้ ซึ่งก็ยากเหมือนกัน เพราะรูปแบบของธุรกิจเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนไปเยอะพอสมควร และตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ.2540 เป็นต้นมา ธุรกิจใหญ่ที่โยงกับชนชั้นสูงอยู่รอดได้หมด นักธุรกิจเขาก็รู้ว่าควรจะอยู่กับใคร อย่างสมัยคณะราษฎรช่วง 2490 ก็มีกลุ่มธุรกิจเข้าไปสร้างความสัมพันธ์ด้วยเหมือนกัน ตอนนั้นอำนาจอยู่บนฐานความขัดแย้งกันระหว่างพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ กับจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ธุรกิจตระกูลล่ำซำ เลยแบ่งว่าให้ลูกกลุ่มนี้ไปอยู่กับเผ่า ให้ลูกกลุ่มนั้นไปอยู่กับสฤษดิ์ ถ้าวันไหนใครชนะก็ต่อยอดกันไป อันนี้คือลักษณะของการทำธุรกิจที่อิงกับรัฐ เลยทำให้ Network monarchy เข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในยุค เปรม ติณสูลานนท์ เห็นได้เลยว่าการจับมือกันหรือการสร้างมิตรภาพที่ดีต่อกันระหว่างเปรม ราชสำนัก นักธุรกิจ และทหาร ก่อให้เกิดเป็นเครือข่ายที่ใหญ่มากๆ 

ฉะนั้น ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนจึงต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระดับหนึ่ง ที่ผ่านมาเราอาจจะปฏิญาณว่าวันพุธจะไม่เข้า 7-11 หรือเราจะไม่ไปกิน MK แต่สุดท้ายกระแสนี้ก็ซาลง เพราะโลกทุนนิยมเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตเรา ทำให้เราคุ้นชินการที่จะพึ่งพาสิ่งเหล่านี้มากจนกระทั่งเราเลี่ยงไม่ได้ ต่อให้คุณไม่เข้า 7-11 คุณต้องไปซื้อของแม็คโครอยู่ดี ซึ่งก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก 

การเคลื่อนไหวทุกครั้งจะชนะได้ต้องผ่านธุรกิจ สุดท้ายปัญหาที่รัฐบาลเผด็จการยอมลงขึ้นอยู่กับปัญหาเศรษฐกิจเสมอ แต่บังเอิญว่าประเทศเราทุนผูกขาดเข้มแข็งมาก เศรษฐกิจของคนตัวเล็กตัวน้อยจึงตาย ขณะตัวใหญ่ยังรอด รัฐบาลเลยยังอยู่ได้เพราะธุรกิจรายใหญ่ กับรัฐบาล กับอำนาจทหาร ผูกโยงกันหมด เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่กระบวนการเคลื่อนไหวจะต้องมานั่งคุยกันต่อว่าต้องทำยังไง

คุณเป็นคนหนึ่งที่ไปร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตลอด ไม่ว่าจะไปม็อบหรือว่าจะไปร่วมการยืน หยุด ขัง คุณคาดหวังจะเห็นขบวนการของประชาชนเดินหน้าต่ออย่างไร

ถ้าปี 2563 ทุกคนคาดหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่พอไม่สำเร็จ กระแสเลยซาไป ซึ่งไม่มีใครผิด แม้กระทั่งแกนนำ เพราะไม่มีใครนึกออกว่าจะไปถึงจุดไหน เรื่องแบบนี้จินตนาการไม่ออกจริงๆ ถึงมันจะสำเร็จในเชิงวัฒนธรรมสังคม แต่เรื่องโครงสร้างอำนาจรัฐยังทำไม่ได้ มันต้องเกื้อกูลกันระหว่างพรรคการเมืองกับ ส.ส. ในสภา และภาคประชาชนด้วย 

ส่วนการที่เราไปยืน หยุด ขัง เพราะเราคิดว่านี่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ อาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรได้มากหรอก แต่จะทำให้คนที่อยู่ในเรือนจำตอนนั้นไม่ถูกลืม หรือการอดอาหาร พูดตามตรง ถ้าเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) ไม่อดอาหาร ฟ้า (พรหมศร วีระธรรมจารี) ไม่อดอาหาร รุ้งไม่อดอาหาร คงไม่มีใครทำข่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากที่คนพวกนี้ต้องเฉือนชีวิตตัวเองระดับหนึ่งเพื่อให้ดำรงอยู่ได้ และที่เราไปม็อบไปบ่อย เพราะเราคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่จินตนาการไม่ออกเหมือนกัน ว่าไปยืนตรงนั้น การเคลื่อนไหวจะเป็นยังไง

ประชาชนเองก็ไม่ใช่องค์กรของรัฐที่จะมีอาวุธยุทโธปกรณ์เต็มไม้เต็มมือ หรือว่ามีเครือข่ายเข้มข้น แต่เราต้องไปเพราะเราทำได้แค่นี้ น่าเศร้าเหมือนกันนะกับประเทศที่ปล่อยให้ประชาชนเคว้ง นึกไม่ออกว่าจะต้องเคลื่อนไหวยังไง จะหวังภาคเศรษฐกิจก็ยาก มันถึงได้มีคนอยากจะหนีออกจากประเทศนี้ไง เพราะสู้ทางไหนก็แพ้ทุกทาง คนเขารู้สึกว่ารัฐไม่สามารถคุ้มครองอะไรเขาได้เลย กระทรวงยุติธรรมหรือศาลก็ไม่ได้เป็นที่พึ่งพิงให้กับประชาชนได้ ยิ่งเป็นเรื่องสุขอนามัยที่เป็นการดำรงอยู่ของวิถีชีวิตมนุษย์จริงๆ ยังไม่สามารถจัดการได้เลย คนจึงรู้สึกถึงจุดที่แตกหักแล้ว ไม่อยากอยู่ประเทศนี้แล้ว

คิดว่าหากหนังสือ นายใน เพิ่งออกมาช่วงนี้ คุณจะโดนแจ้งข้อหา ม.112 ไหม 

ขนาดเพลง 12345 I love you ยังโดนได้ เราก็คงโดนเหมือนกัน (หัวเราะ) คนชอบบอกว่ากฎหมายไม่มีปัญหาหรอก กฎหมายเป็นสิ่งที่ดี แต่คนเอามาใช้ไม่ถูกต้องเอง แต่ถ้าคุณไปอ่านตัวบทกฎหมายของมาตรา 112 คุณจะรู้เลยว่ามันคือตัวปัญหาจริงๆ กฎหมายอะไรมีกำหนดว่าโทษห้ามต่ำกว่านี้ หรือใครจะแจ้งความด้วยมาตรานี้ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย หรือการตีความอาฆาตมาดร้ายที่สามารถตีความได้ไกลมากกว่าตัวลายลักษณ์อักษรอีก นี่คือปัญหาด้วยตัวกฎหมายเอง เราอาจจะโชคดีตรงที่ว่ากฎหมายเขาไม่ครอบคลุมกษัตริย์ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่เคยมีกรณีฟ้องร้องคดีนี้กับกษัตริย์ที่เสียชีวิตไปแล้วเหมือนกัน เช่น กรณีรัชกาลที่ 4 หรือกรณีพระนเรศวรที่เกิดขึ้นกับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และถ้าการที่เราบอกว่าคนนี้เป็นเกย์ เป็นคนรักเพศเดียวกัน เท่ากับเป็นการไปหมิ่นประมาทเขา มันสะท้อนสังคมเหมือนกันว่ามองการรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือเป็นสิ่งที่ต่ำ ลดทอนคุณค่าความเป็นคนเหมือนคำด่าอื่นๆ หรือเปล่า 

แต่ในตอนนั้น การพูดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ยังไม่ได้เปิดกว้างมากนักเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ตอนปี 2556 ที่หนังสือ นายใน เผยแพร่ครั้งแรก คุณโดนโจมตีอะไรบ้างไหม

คนยังไม่ได้พูดเรื่องเพศกับเรื่องเจ้า แต่คนอยากรู้ มันเลยขายได้ แต่เราถูกด่าเยอะเหมือนกัน ชีวิตตอนนั้นไม่ค่อยปลอดภัยเท่าไร มีส่งข้อความมาด่าบ้าง มีโดนแคนเซิลงานเสวนาเพราะมีคนโทรไปแจ้งว่าไม่ให้จัดบ้าง หรือเขาพากันตบเท้าไปงานเสวนาเพื่อมาด่าเรา มาโจมตีเราโดยเฉพาะ ทั้งที่บางคนยังไม่ได้อ่านหนังสือเราเลยนะ จากคนที่ไม่มีประสบการณ์ชีวิต เด๋อๆ ด๋าๆ อยู่ดีๆ เข้าไปในพื้นที่นั้น และโดนกระหน่ำขนาดนั้น ก็เป็นประสบการณ์ที่ประหลาดดี ทำให้เรามีภูมิคุ้มกัน จากนั้นใครด่าก็แบบ เรื่องของมึงเลย กูไม่กลัวมึงแล้ว (หัวเราะ)

ในฐานะที่คุณเป็นนักศึกษาประวัติศาสตร์ ถ้าในอนาคตมองย้อนกลับมาช่วงเหตุการณ์เมื่อปี 2563-2564 คิดว่าประวัติศาสตร์จะบอกอะไรกับคุณบ้าง

เราเคยคิดเหมือนกันว่า ถ้าแก่ไปแล้วต้องมานั่งลบรูปตัวเองตอนไปม็อบหรือเปล่า (หัวเราะ) แต่ทั้งหมดที่ทำไป ยืนอยู่บนหลักความเชื่อของเราอยู่แล้ว นี่คือการปลดปล่อยหรือการยืนยันว่าฉันเชื่อแบบนี้ ฉันจึงแสดงออกมา ซึ่งเราคิดว่าปี 2563 อาจเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเหมือนงานของอาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ที่ศึกษาเรื่องคนเสื้อแดง ศึกษาเรื่องพรรคไทยรักไทย ซึ่งแกนนำ 2563 เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความทรงจำถึงเดือนตุลาคม (เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 และ 6 ตุลาฯ 2519) แต่ไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมกับคนเดือนตุลาฯ ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ 

ถ้า 10 ปีข้างหน้ามองย้อนกลับมา เราอาจจะเห็นการบันทึกประวัติศาสตร์หรือการวิเคราะห์ที่น่าสนใจมากๆ ก็ได้ อาจจะมาจากการเป็นผลผลิตของโครงสร้างโลกที่เปลี่ยนไปมากๆ ในยุค Digital Age ที่คนรู้สึกว่าตัวเองเรียนรู้โลกแล้วระดับหนึ่ง แม้จะไม่ได้ถูกต้องไปหมด แต่ช่วยยกระดับความคิดความอ่านได้มากขึ้น เราคิดว่าตรงนี้เป็นผลผลิตของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโลก

การพูดถึงเรื่องช่องว่างระหว่างวัย พูดถึงเรื่องการเคลื่อนไหวระหว่างเครือข่ายคนไทยเชื่อมโยงกับฮ่องกง พม่าเชื่อมโยงกับไทย ก่อนหน้านี้เราไม่เห็นขบวนการเคลื่อนไหวแบบนี้เลย หรือพันธมิตรชานม (Milk Tea Alliance) ก็เป็นปรากฏการณ์ที่ดีมากๆ ที่ไม่ได้ต่อสู้เพื่อชาตินิยมแบบเก่า แต่ความหมายของชาตินิยมถูกตีความใหม่ ผ่านการพูดถึงเรื่องสิทธิ เรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาคที่เป็นภาษาสากล ไม่ว่าเห็นชาติไหนเผชิญกับปัญหาเหล่านี้เหมือนกัน ก็พร้อมจะช่วยอย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับพม่า มันเป็นอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก

Tags: , , ,