ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่ทำสถิตินิวไฮหลายครั้ง การบริหารจัดการวัคซีน การกระจายและจัดสรรวัคซีน การเร่งฉีดวัคซีนและการตรวจที่เข้าขั้นล้มเหลว จนปรากฏภาพข่าวคนจำนวนมากต้องนอนรอข้ามคืนและต่อคิวอย่างแออัดเพื่อรอรับการตรวจ รวมถึงภาพน่าสลดใจที่ผู้ป่วยนอนรอการรักษานอกโรงพยาบาล เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยเริ่มส่งผลให้ขีดความสามารถในการรักษาของโรงพยาบาลนั้นล่มสลาย

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวนิกเคอิของญี่ปุ่น รายงานดัชนีการฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 (Nikkei COVID-19 Recovery Index) โดยระบุว่า ไทยอยู่อันดับ 120 จากการจัดอันดับทั้งสิ้น 120 อันดับ

ปัญหาการจัดการบริหารของรัฐบาลในช่วงวิกฤตโควิดที่ล่าช้าแทบทุกด้าน ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากในทุกสาขาอาชีพได้รับผลกระทบ แต่หนึ่งในกลุ่มที่ต้องถูกผลักให้รับภาระหนักหน่วงคือกลุ่มคนจนเมือง คนไร้บ้าน และผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะเมื่อรัฐมีมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้คนกลุ่มดังกล่าวต้องหยุดงานและขาดรายได้ โดยมีแค่เงินเพียงไม่กี่พันบาทที่รัฐแจกให้ในการดำรงชีวิต ปราศจากมาตการช่วยเหลือระยะยาว ซ้ำร้ายยังเข้าถึงสิทธิ สวัสดิการต่างๆ ได้อย่างยากเย็นกว่าประชากรกลุ่มอื่น

สำนักงานสถิติแห่งชาติที่รายงานเรื่องความเหลื่อมล้ำระบุว่า ในปี 2560 มีคนจนในประเทศไทยประมาณ 5 ล้าน แต่มีคนเกือบจนมากถึง 10 ล้าน ในขณะที่ช่วงวิกฤตโควิดดึงให้คนเกือบจนตกชั้นมาเป็นคนจน ส่วนคนที่จนอยู่แล้วก็ร่วงหล่นลงไปอีก นั่นหมายความว่าคนจนในประเทศไทยกำลังเพิ่มขึ้นมหาศาล

The Momentum ชวน ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) สนทนาถึงสถานการณ์โควิดกับคนจนเมือง และผู้ใช้แรงงาน คลี่ภาพการบริหารจัดการอันล้มเหลวของรัฐ ตลอดจนแนวทางแก้ไขและทางออก เพื่อค้นหาแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของสังคมไทย ในวันที่แทบจะมีแค่ภาคประชาชนที่ต้องช่วยเหลือกันเอง

จากการบริหารจัดการโควิด-19 ของภาครัฐในช่วงโควิด เราได้เห็นภาพคนต้องมานั่งรอตรวจข้ามคืน บางคนก็ไม่ได้ตรวจ คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

ภาพรวมความล้มเหลวในการบริหารวัคซีน ตั้งแต่เรื่องการตรวจจนถึงการจัดสรรและการกระจายมันชัดเจนมาก ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่เป็นสาเหตุแห่งความล้มเหลวในการตรวจ ในการจัดสรร และกระจายวัคซีน คือการผูกขาดอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่คนสองกลุ่ม

กลุ่มแรกคือนักการเมือง คือกลุ่มของคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา, คุณอนุทิน ชาญวีรกูล ก็เห็นได้ชัดว่าแตกแยกกันอีก และนักการเมืองทั้งหมดก็พึ่งพิงผู้ชำนาญการหรือข้าราชการ ซึ่งการผูกขาดอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่นักการเมืองและข้าราชการ จึงเปิดโอกาสหรือเปิดช่องทำให้การจัดการไม่ดำเนินไปตามแผนได้ง่ายขึ้น เช่น วัคซีนกระจายไปที่บุรีรัมย์กี่เปอร์เซ็นต์

กลุ่มที่สองคือกลุ่มผู้ชำนาญการที่เป็นระบบราชการ ตัดสินใจโดยที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง มีหนังสือต่างประเทศเล่มหนึ่งที่พูดถึงเรื่องความเป็นทรราชของผู้ชำนาญการและระบบราชการไทย น่าตกใจว่าข้าราชการและระบบราชการที่ได้อำนาจเพิ่ม โดยเฉพาะในช่วง 7 ปีนี้ ล้วนเป็นผู้ชำนาญการที่ประสิทธิภาพไม่สูงนัก ถ้าเราดูระบบราชการในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราจะพบว่าระบบราชการเสื่อมถอยขึ้น ในแง่ที่ว่า 1. คนดีคนเก่งถอยออกไป 2. ระบบราชการเริ่มระมัดระวังตัวเองมากขึ้น แปลว่าเขาจะไม่ค่อยกล้าตัดสินใจอะไรที่น่าจะดี เขามักจะเพลย์เซฟเสมอ

ดังนั้น เมื่อนักการเมืองพึ่งระบบราชการ ผู้ชำนาญการ และตัวระบบมันแย่ลง จึงทำให้การตัดสินใจทั้งหลายมันแย่ไปเรื่อยๆ ระบบราชการไทยช่วงหลังจะเน้นการพูดถึง KPI (ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ) ในทุกระบบ ซึ่งท้ายสุดแล้ว มันยิ่งทำให้ระบบราชการเพลย์เซฟในแง่ที่ว่า ทำตาม KPI  1 2 3 4 5 แต่ลืมไปว่าเป้าหมายคืออะไร ดังนั้น ตัวระบบราชการพังหมด คนดีคนเก่งไม่ทำ ระมัดระวังกลัวผิด

มันคือปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบราชการไทยที่มีมานาน พอเจอวิกฤตโควิดก็ยิ่งแสดงออกมาให้เห็นชัดเจนมากในการจัดการบริหารใช่ไหม

ใช่ เห็นชัดว่าตัวระบบราชการคือปัญหา เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพของสมัยพลเอกเปรม (เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 16 ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2523-2531) ผมคิดว่าระบบราชการยุคนี้เลวกว่าเดิม ประสิทธิภาพของการทำงานเพื่อสังคมแย่ลง แต่ความสามารถในการทำงานเพื่อตัวเองสูงขึ้น

คุณเห็นด้วยไหมที่คนบอกว่า วิกฤตตอนนี้สะท้อนเรื่องชนชั้นในสังคมไทยอย่างชัดเจน เราเห็นข่าวอภิสิทธิ์ชนได้ตรวจก่อน ได้เตียงก่อน กระทั่งได้วัคซีนก่อน รวมถึงเรื่องวัคซีนแพง และชุดตรวจแอนติเจนก็แพง คนจนหรือคนด้อยโอกาสก็ซื้อไม่ไหว

เห็นด้วย ผมคิดว่าโควิดมาซ้ำเติมโครงสร้างสังคมไทยที่มันย่ำแย่อยู่แล้ว ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำให้รุนแรงมากขึ้น โดยมีความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลและระบบราชการมาทำให้หนักขึ้น โควิดจึงเป็นตัวที่กระชากเอาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำที่ครั้งหนึ่งพอจะค้ำๆ กันอยู่บ้างกระแทกลงมา

เราจะเห็นว่า คนจนเมือง แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างชาติ ซึ่งอยู่ข้างล่างของความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว ถูกโควิดทำให้หนักลงไปอีก แต่เดิม ในช่วงประมาณปี 2560 สถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ออกมารายงานเรื่องความเหลื่อมล้ำระบุว่า คนจนในบ้านเราเหลือ 5 ล้านกว่าๆ แต่มีคนเกือบจน 10 ล้าน แต่วันนี้ผมคิดว่าคนจนที่มีอยู่ 5-6 ล้าน จะร่วงลงมาหนักมากขึ้น และคนเกือบจนจะร่วงลงมาเป็นคนจน แปลว่าคนจนของเราจะเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล จำนวน 10 ล้านขึ้นไป

วิกฤตตอนนี้ทำให้เห็นบทบาทของแพทย์บางกลุ่มที่ออกมาชี้ให้สังคมไปทางนั้นทางนี้ หรือก่อนหน้านี้ที่มีแพทย์แนะนำให้คนอีสานกักตัวอยู่ที่เถียงนา มันสะท้อนการมองคนชนบทอย่างไร

ท่ามกลางวิกฤตนี้ เราจะเห็นว่าการขยายตัวของความรู้เรื่องการแพทย์เริ่มขยายตัวขึ้น ดังนั้นมันจะถูกผูกขาดอยู่ที่คนบางกลุ่ม โดยเฉพาะหมอ ทำให้เกิดการควบคุมเรามากขึ้นบนฐานความรู้นี้ ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่าตกใจคือ ถ้าเราแบ่งหมอเป็นสามกลุ่ม หมอที่พยายามจะยืดหยุ่นมากที่สุดคือหมอชนบท ซึ่งก็มีบทบาทต่อสังคมมาเยอะ แต่หมอที่อยู่ในกระทรวงฯ หมอที่อยู่ในส่วนที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับสังคม กลับไม่ค่อยเข้าใจสังคม ดังนั้นการตัดสินใจจำนวนมากของหมอที่ไม่เข้าใจสังคม จึงเกิดสิ่งที่ผมบอก คือทรราชของผู้ชำนาญการ เขาตัดสินใจโดยที่ไม่ได้คิดถึงสังคม ดังเช่นการให้คำแนะนำแก่นายกรัฐมนตรีในการปิดแคมป์คนงาน โดยที่ไม่เข้าใจว่ามันจะมีการเคลื่อนย้ายอย่างไร คุณรู้อยู่เฉพาะเรื่องหมอ แต่คุณกำลังเคลมว่าคุณอธิบายจัดการสังคมได้ นี่คือความผิดพลาดอย่างรุนแรง

เราจะพบว่ามีหมอที่เข้าใจสังคมน้อยมาก เขาไม่เข้าใจการเคลื่อนย้ายสังคม ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลง การที่เขากั๊กชุดตรวจโควิด เนื่องจากเขาต้องการให้ควบคุมได้ เช่น ไม่ตรวจเพราะเตียงไม่พอ แล้วก็หยุด อันนี้ยิ่งหนัก นี่คือความไม่เข้าใจถึงความสิ้นหวังของคนอื่น มันน่าตกใจที่นักการเมืองของเรา รัฐบาล รวมทั้งนายกรัฐมนตรี แทนที่เขาจะมองเห็นอะไรที่กว้าง และข้ามจากความรู้เสี้ยวๆ ของหมอแบบนี้

คุณเห็นด้วยไหม ที่ตอนนี้พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง มีอะไรที่คุณกังวลเกี่ยวกับคนกลุ่มแรงงานบ้าง

ไม่ว่าคุณจะปิดแคมป์หรือจะล็อกดาวน์ คุณต้องนั่งคุยกับนักสังคมวิทยา คุยกับนักเศรษฐศาสตร์ที่เขาสัมพันธ์กับสังคมว่า ถ้าเราประกาศแบบนี้ เราจะมีมาตรการที่จะทำทันที 1 2 3 4 5 เพื่อที่จะไม่ทำให้สังคมตื่นตกใจกันทั่วไป เช่น สมมติประกาศปิดแคมป์ ก่อนปิดแคมป์คุยกับนักเศรษฐศาสตร์ คุยกับนักสังคมวิทยา เริ่มส่งคนเข้าไปคุยกันว่าโอเคนะ ไม่มีปัญหานะ เราจะจ่ายเงินเท่านี้ เราจะมีอาหารเท่านี้ หลังจากนั้นถึงประกาศ ซึ่งมันอาจจะช้าไปวันหรือสองวัน แต่นี่คือการจัดการทางสังคม ซึ่งอยู่นอกเหนือจินตนาการของรัฐบาลนี้ และอยู่นอกเหนือจินตนาการของบรรดาหมอทั้งหลาย

การปิดแคมป์และล็อกดาวน์อาจจะมีความจำเป็น แต่คุณต้องคิดต่อไปว่า ในระบบของสังคมทั้งหมด ความสัมพันธ์ทั้งหมด คุณจะจัดการอย่างไร ผมรู้สึกว่าในรัฐบาลนี้ไม่มีนักวิชาการสังคมศาสตร์เป็นที่ปรึกษา ดังนั้นสิ่งที่เห็นชัดๆ คือการออกมาตรการต่างๆ ที่มันเป็นส่วนเสี้ยวของความรู้ที่ผมอยากจะใช้คำว่า ‘ตื้นเขิน’ และ ‘ไร้ประสิทธิภาพ’ พูดเรื่องนี้แล้วมันเครียด (หัวเราะ)

มาตรการที่ตื้นเขินและไม่สมเหตุสมผลจึงทำให้เราเห็นประชาชนโพสต์เฟซบุ๊กด่ารัฐบาลแทบทุกวัน

เขาไม่มีนักสังคมวิทยา ไม่มีนักรัฐศาสตร์ ไม่มีอะไรเลย เขาพึ่งอยู่กับทหารและหมอ ซึ่งสองอาชีพนี้มันตื้น ทหารเราก็รู้อยู่ เอานักสังคมวิทยา นักเศรษฐศาสตร์ ที่เข้าใจสังคมไปคุยกันหน่อยได้ไหม มีมากมายในกรุงเทพฯ

ผมนึกถึงคนอย่าง อัมมาร สยามวาลา ซึ่งท่านอาจจะอายุมากแล้ว หรือเชิญ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ หรือลองให้เครดิตกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ให้เขาเข้ามาคุยเรื่องสังคมได้ไหม แต่มันไม่มีเลยจริงๆ การตัดสินใจที่ผูกขาดกับหมอและทหารนี่ ประเทศชาติฉิบหายเลย

พูดถึงเรื่องสิทธิ โอกาส และความเท่าเทียม โดยเฉพาะภาคผู้ใช้แรงงาน ในการเข้าถึงสวัสดิการในช่วงโควิด คุณมีมุมมองอย่างไร เพราะอะไรคนกลุ่มนี้ถึงเข้าถึงเรื่องพวกนี้ได้ยากเหลือเกิน

ผมขออธิบายสองอย่าง อย่างแรก วันนี้โควิดยิ่งซ้ำเติมอุดมการณ์ หรือผมขอเรียกว่า ‘การจัดลำดับชั้นคนที่เหลื่อมล้ำ’ ให้แรงมากขึ้น เวลาสังคมไทยพูดถึงกรรมกร ผู้ใช้แรงงาน มักจะถูกเหยียดเสมอ เช่น ไม่มีการศึกษา ขี้เกียจ กินเหล้า ต่างๆ อันนี้คือรากเหง้า อย่างที่สอง สิ่งที่น่าตกใจคือ ผมคิดว่ากระทรวงแรงงาน หรือคนที่ทำงานเกี่ยวกับแรงงาน เขาไม่มีข้อมูลบิ๊กดาต้า (Big Data) ภาพรวมทั้งหมดที่จะสังเคราะห์ได้ เขาอาจจะมีบิ๊กดาต้าเป็นเรื่องๆ เช่น มีคนงานเท่าไรในแต่ละโรงงาน แต่บิ๊กดาต้าแบบนี้ไม่มีประโยชน์ ต้องมีนักสังคมศาสตร์เข้าไปดูบิ๊กดาต้า เพื่อจะทำให้มองเห็นว่าเราจะช่วยเขาอย่างไร ผมถึงบอกว่าตัวระบบราชการมันเสื่อมถอยลงไปมากทีเดียว

เวลาเราพูดถึงบิ๊กดาต้า มันต้องมีความหมายที่เราจะสามารถหยิบมาและอธิบายได้ ไม่ใช่บิ๊กดาต้าที่แช่ไว้เฉยๆ ตอนนี้เวลานักการเมืองหรือข้าราชการพูดถึงบิ๊กดาต้า เขานึกถึงการเก็บข้อมูลเฉยๆ ซึ่งมันต้องตีความและจัดพร้อมที่จะตอบคำถามได้ แต่ตรงนี้กระทรวงแรงงานไม่มี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไม่มี กรมสุขภาพจิตมีบิ๊กดาต้าสถิติการฆ่าตัวตายเยอะแยะเลย แต่ถามว่าการอธิบายสุขภาพจิตของคนฆ่าตัวตาย เคยอธิบายได้มากกว่าที่เคยอธิบายเมื่อสิบปีก่อนไหม คำตอบคือไม่ อันนี้เป็นตัวอย่างว่า แนวคิดของบิ๊กดาต้า เราคิดแค่ ‘ดาต้า’ เราไม่คิดถึงคำว่า ‘บิ๊ก’ ซึ่งมันควรจะมีขยายไป

ดังนั้นแรงงานจึงกลายเป็นผู้ที่ถูกละทิ้ง เพราะคุณใช้ข้อมูลไม่ได้ ใช้ข้อมูลไม่เป็น และที่สำคัญคือ รากฐานของวัฒนธรรมทำให้คุณละเลยพวกเขาไปโดยปริยาย อันนี้คือสิ่งที่น่ากังวลมาก พี่น้องไทใหญ่ที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแรงงานอยู่บางโรงแรม พอหยุดปั๊บ เขาตกงาน 150-200 ครอบครัว พังเลย แล้วชีวิตจะทำอย่างไร ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจที่คนงาน แรงงานต่างชาติ คนงานระดับล่าง ถูกเหยียบซ้ำมากขึ้น และที่สำคัญที่เราขาดความรู้คือ ยกตัวอย่างในกรุงเทพฯ เรามักจะคิดถึงชุมชนแออัด เช่น คลองเตย แต่เพื่อนผมคนหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวกับคนจนเมือง เขาพบว่าคนจนเมืองเหมือนกับน้ำที่ไหลไปตามรูของฟองน้ำ หมายถึงเขากระจายกันไปทั่ว ถามว่าวันนี้คนจนเมืองยังอยู่เป็นสลัม หรืออยู่เป็นที่เป็นทางไหม คำตอบคือไม่ใช่ เขากระจายไปตามบ้านเช่า ห้องเช่าต่างๆ ทั่วพื้นที่ ถามว่าเรามีข้อมูลตรงนี้ไหม คำตอบคือไม่มี

กลุ่มคนพวกนี้ซึ่งเป็นคนจนเมือง ขายหาบเร่แผงลอย ที่กระจายไปตามรูย่อยของฟองน้ำที่มันละเอียดมากขึ้น คนพวกนี้ชีวิตลำบาก ผมเดาด้วยสายตาว่า พี่น้องที่ไปนั่งรอคิวตรวจโควิดเยอะๆ คือกลุ่มแรงงานนอกระบบ และเป็นคนจนเมืองที่กระจายอยู่ทั่วๆ ไป ซึ่งรัฐไม่เข้าใจ รัฐจึงไปดูแค่ชุมชนแออัด และพี่น้องกลุ่มนี้คือคนที่ถูกเหยียบหนักมาก

การจัดการบิ๊กดาต้าควรเป็นการรับผิดชอบของหน่วยงานไหนเป็นหลักหรือไม่

ผมคิดว่าแต่ละหน่วยงานที่คิดเรื่องบิ๊กดาต้า จะต้องคิดถึงการจัดระบบบิ๊กดาต้าไปด้วย คืออย่าไปใช้เพื่อการเก็บข้อมูล เราจำเป็นต้องใช้นักสถิติที่มีความรู้ทางสังคม รวมทั้งนักสังคมศาสตร์มาช่วยตรงนี้ ไม่อย่างนั้นคุณไม่สามารถจะเข้าใจได้เลยว่า การค้นพบที่สร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

อย่างที่ผมบอก เรื่องสถิติคนฆ่าตัวตาย ถ้าเอานักสังคมศาสตร์ไปอธิบาย เราจะเห็นอะไรเยอะแยะ เช่น คนเมือง (คนภาคเหนือ) มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด ด้วยเหตุผลของตัววัฒนธรรม ผลักให้ผู้ชายจะต้องรับผิดชอบเกียรติยศ ศักดิ์ศรีต่างๆ ลูกผู้หญิงอาจจะไม่ค่อยเท่าไร แต่ลูกผู้ชายจะถูกครอบครัวผลักออกไป และในการจ้างงานช่วงหลัง คนเริ่มจ้างงานผู้หญิงมากกว่า ผู้ชายสูญเสียบทบาท ผู้ชายเริ่มเป็นขี้เหล้า พออธิบายทางวัฒนธรรมในฐานะคนเมือง เราก็จะเข้าใจบิ๊กดาต้านี้ได้ดีมากขึ้น

ดังนั้นแต่ละหน่วยงานจำเป็นต้องคิดบิ๊กดาต้าของตัวเอง และขณะเดียวกัน รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลหน้าควรจะมี Think tank ของตัวเอง ที่เป็นคนเข้าใจสังคม ที่จะต้องประมวลเอาบิ๊กดาต้าทั้งหลายมาเพื่อสร้างนโยบาย ไม่อย่างนั้นก็จะสร้างกันแบบตื้นๆ สร้างแบบก๊อปปี้เขามา

ประเทศไทยค่อนข้างบริหารงานแบบศูนย์รวมอำนาจ  ซึ่งคนจนเมืองหรือพี่น้องในชุมชนแออัดที่กรุงเทพฯ ก็ลำบากแล้ว แล้วในต่างจังหวัดถือว่าพี่น้องคนจนเมืองเหล่านี้ลำบากกว่าไหม

ในเมืองใหญ่ที่เริ่มเติบโตมากขึ้น คนจนเมืองจะหนักมากกว่ากรุงเทพฯ เพราะคนจนเมืองพวกนี้เขาเพิ่งเข้ามาเพื่อเข้ามาปักหลัก พอปักหลักแล้วเจอโควิดทันที คนพวกนี้จะถูกเหยียบหนักขึ้นจากภาวะโควิด งานไม่มี ขายของไม่ได้ เพิ่งย้ายมาขายหาบเร่แผงลอยได้ไม่กี่ปี เจอแบบนี้เงินเก็บไม่มี พอเงินเก็บมีน้อย ชีวิตที่จะมีต่อไปในช่วงโควิดก็จะหนัก

อย่างในเชียงใหม่ มีการรวมกลุ่มของสิ่งที่เราเรียกว่า ‘กลุ่มประชาสังคม’ ค่อนข้างเยอะหน่อย เพราะเชียงใหม่มองเห็นประเด็นนี้ พี่น้องในเชียงใหม่ที่เป็นกลุ่มประชาสังคมจึงเริ่มคิดกันว่า เราจะทำอย่างไรให้เกิดสองอย่าง หนึ่งคือ ‘ครัวกลาง’ แจกข้าว ระดมเงินมาช่วยกัน สองคือเชื่อมต่อกับคนในเมืองที่ยังพอมีเงิน และเป็นผู้บริจาค มาเชื่อมต่อกับพี่น้องคนจนเมือง แล้วสร้าง ‘ครัวงาน’ ขึ้นมา หมายถึงเกิดการจ้างงาน เงินอาจจะไม่ได้ถึงสามร้อยบาท แต่ทำให้มีการจ้างงานในพื้นที่ชนบทชุดหนึ่ง ทั้งในเชียงใหม่หรือพื้นที่ใด เพื่อทำให้เงินไหลเวียนมากขึ้น เพราะถ้าเราหวังพึ่งรัฐ ผมคิดว่ารัฐมักง่ายเกินไป เหมือนอย่างที่แจกเงินสามพันบาท หรือจ่ายให้ไปซื้อของ แต่ถ้าเกิดคนจะเอาสิทธิซื้อของไปขาย เพราะเขาจำเป็นต้องใช้เงิน ก็โดนจับ ดังนั้นการคิดของรัฐในการให้ความช่วยเหลือ มีลักษณะของการคิดแบบคนที่อยู่เหนือกว่า ก้มลงไปช่วยคน ไม่ได้คิดถึงการช่วยเหลือคนอย่างเสมอภาคเพื่อให้เขามีชีวิตอยู่รอด

คนจนเมืองในเมืองใหญ่อย่าง เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น หรือหลายๆ แห่ง ชีวิตเขาหนักมากกว่าคนจนเมืองในกรุงเทพฯ ที่สามารถได้รับความช่วยเหลืออะไรบางอย่างจากรัฐหรือจากคนชั้นกลางทั่วไปได้ง่ายกว่า

มาตรการเยียวยาคนกลุ่มแรงงานของภาครัฐในปัจจุบันเพียงพอไหม รัฐควรมีการช่วยเหลือกลุ่มคนจนเมืองนี้อย่างไร

การเยียวยาทั้งหมดอย่างมากที่สุดคือทำให้เขาสามารถที่จะยังชีพได้ในช่วงเวลาหนึ่ง สิ่งที่รัฐจะต้องคิดมากกว่าการเยียวยาคือ รัฐจะต้องทำให้เกิดการจ้างงานให้มาก การจ้างงานอะไรที่ทำให้คนไม่เสี่ยงต่อโควิด การจ้างงานอะไรที่จะใช้เงินงบประมาณที่กู้มา 4-5 แสนล้าน เกิด full employment ได้

ผมเคยคุยกับพระหลายรูปในเชียงใหม่ที่ท่านพอจะมีทรัพย์ และเสนอให้จ้างคนตกงานมาขัดกำแพงวัด อาจไม่ได้โปรดักทีฟอะไร แต่ทำให้คนจำนวนหนึ่งมีงานทำ ผมยังไม่เห็นเลยว่ารัฐกำลังคิดถึงเรื่องทำให้เกิดการจ้างงานอย่างไรในภาวะแบบนี้ รัฐคิดแค่ว่าเอาไปสามเดือน เอาไปหกเดือน เอาไปห้าพัน ผ่านช่องนู้นช่องนี้ คุณคิดแค่นั้นไม่ได้ คุณต้องคิดไปไกลกว่านั้น คุณเป็นรัฐบาล คุณไม่ใช่นักบุญที่จะมาแจกเงินเป็นระยะๆ คุณเป็นรัฐบาลที่จะดูเรื่องนี้ พูดแล้วความดันขึ้น (หัวเราะ)

ในขณะที่รัฐบาลคิดไม่ออก ผมก็หวังว่าโมเดลที่เชียงใหม่จะทำได้จริง รวมถึงข้าราชการที่ยังพอมีทรัพย์ เราต้องมาร่วมแบ่งปัน สร้างการจ้างงาน ครัวกลางหรือให้อาหารเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่พอ ถ้าคุณจ้างงานได้ ครัวกลางจะลดลง เราหวังว่าแต่ละเมืองจะช่วยกันคิด ว่าเราจะเกิดการ full employment ให้มากได้อย่างไร เพื่อทำให้เราสัมพันธ์กันอย่างเป็นมนุษย์มากขึ้น

ความสิ้นหวังของผู้คนที่มีต่อรัฐบาลสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะการจัดการเรื่องโควิดที่เห็นตัวเลขนิวไฮเกือบทุกวัน แนวโน้มข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

ถ้าให้ผมเดา ผมคิดว่าในระบบสาธารณสุขตอนนี้เขาเลือกแล้ว แต่ว่าถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ การเลือกมันจะลดต่ำลงมา เช่น เดิมทีอาจจะมีคนจำนวนหนึ่งที่เขาไม่ให้ไปต่อ ต่อมาเริ่มขยับ เพื่อจะเอาคนที่ไปต่อให้ได้มากที่สุด ดังนั้น ถ้าดำเนินไปแบบนี้ การพังทลายของสาธารณสุขจะเกิดขึ้นในแง่ที่ว่า คุณเริ่มคัดเลือกคน และในขณะเดียวกัน คุณไม่สามารถจะตอบสนองต่อผู้ป่วยที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าปล่อยเป็นอย่างนี้ อาจจะอีกสักห้าหกเดือน อาจจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นเองโดยอัตโนมัติ แต่หมายความว่าอะไร ต้องมีคนตายเป็นล้าน ซึ่งภาพตรงนั้นพังแน่ๆ ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่น่ากังวลที่สุดคือมันซ้อนกัน ตอนนี้มีวิกฤตแน่ๆ และมองไม่เห็นทางออก กับในขณะนี้ ถ้าคุณไม่เร่งฉีดวัคซีนให้เร็วกว่านี้จะลำบาก ซึ่งวัคซีนก็ไม่มีอีก

อย่างที่สองที่จำเป็นต้องคิดคือ ความเหลื่อมล้ำที่จะทำให้คนฆ่าตัวตายเพราะไม่มีกิน เพราะสิ้นหวัง มันจะทวีมากขึ้น ในส่วนของข้างบน วิธีเดียวคือหาวัคซีนให้เร็วที่สุด ฉีดให้มาก สองคือผลักข้างล่าง ให้เขาสามารถที่จะมีชีวิตอยู่รอดได้โดยที่อยู่บนความสามารถของตัวเองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องคิดอันข้างล่างให้มาก แต่ตอนนี้รัฐบาลไม่ได้คิดเลย เขาต้องคิดว่าแบ่งเงินไปให้ อบต. จะเกิดการจ้างงานอะไรที่ไม่เสี่ยงต่อโควิด เช่น กระจายการขุดคลอง และอื่นๆ ซึ่งมันคิดได้อีกเยอะแยะ เพื่อทำให้คนอยู่รอด

วันนี้เราอยู่ในอุโมงค์ที่เกือบจะไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ด้วยเหตุผลสองอย่าง หนึ่งคือการจัดการเรื่องโควิด เรื่องวัคซีน ซึ่งล้มเหลว มองไม่เห็น มองไม่ชัด สองคือเรื่องเศรษฐกิจ และความมืดบนฐานเศรษฐกิจนี้จะนำมาอีกข้อ คือความปั่นป่วนในความสัมพันธ์ทางสังคมจะสูงมากขึ้น เราจะพบอาชญากรรมในหลายระดับ อย่างที่บราซิล เมืองรีโอเดจาเนโร มีการฉกชิงหรือฉกฉวยอาหารเกิดขึ้นโดยทั่วไป เช่น เมื่อคุณถือถุงมา เด็กยากจนจะมาดึงแล้ววิ่งหนีไปเลย ในความสัมพันธ์ทั้งหลาย มันจะวุ่นวายมากขึ้น ถ้าหากคุณไม่คิดในเรื่องการจ้างงานที่ไม่ระมัดระวัง

วิกฤตครั้งนี้ทำให้คุณมองเห็นปัญหาเกี่ยวกับคนจนเมืองและสิ่งที่ต้องแก้ไขในระยะยาวอย่างไรบ้าง

เราต้องขยับเข้าไปสู่การคิดถึงรัฐสวัสดิการให้มากขึ้น ในภาวะที่เราเก็บภาษีน้อย ต้องคิดว่าเราจะดึงงบประมาณที่มันกระจัดกระจายไปอยู่ตามกระทรวงต่างๆ นำมาสู่การสร้างความเข้มแข็งของพลเมืองอย่างไร ก็กลับไปเรื่องเดิม งบฯ กลาโหม งบฯ พระมหากษัตริย์ หรืองบฯ อื่นๆ ดึงกลับมาหน่อยได้ไหม เอามาเป็นงบกลาง แล้วจัดสรรทำให้เกิดสวัสดิการให้สูงมากขึ้น

ผมคิดว่ามีทางเดียวเท่านั้น เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้แก่พลเมืองเราด้วยการจัดสรรอุปกรณ์ที่มันกระจายมากกว่านี้ ระบบราชการจำเป็นที่จะต้องคิดใหม่

เราได้เห็นภาวะความเป็นผู้นำผ่านการจัดการวิกฤตนี้ สำหรับคุณ ผู้นำที่ดีในสถานการณ์เช่นนี้ต้องเป็นแบบไหน

อย่างแรกคือผู้นำที่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม และรู้ว่าพลังอะไรที่จะนำสังคมได้ ผู้นำที่เข้าใจแบบนี้จะต้องเป็นผู้นำที่มีสองด้าน ด้านหนึ่งคือประมวลความรู้ความเข้าใจทั้งหมด และขณะเดียวกัน จำเป็นที่จะต้องกลั่นกรองความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายเพื่อบอกกับสังคม เพื่อที่จะทำให้สังคมสามารถสร้างฉันทามติร่วมกันได้ ต้องเป็นผู้นำที่บอกเราว่า เงื่อนไขแบบนี้ เราจำเป็นต้องเดินไปแบบนี้ ด้วยกระบวนการ 1 2 3 4 5 ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือการสร้างการเห็นฉันทามติร่วมกันของสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำต้องสร้างให้ได้ แต่รัฐบาลนี้ทำไม่ได้เลย ไม่มีใครที่จะสามารถสังเคราะห์ตรงนี้ขึ้นมาได้เลย

Fact Box

ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เป็นอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และเป็นนักวิชาการที่รู้จักกันดีในแวดวงสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผู้ให้ความสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

Tags: , , , ,