“ปัจจัยมันเยอะนะ เพราะตอนที่เป็นนักเรียนนักศึกษา ผมไม่เชื่อหรอกว่ามีใครสอบได้เต็ม 100 คะแนน”

นี่คือคำตอบของ พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง เมื่อเราถามว่า เพราะเหตุใด ในวันที่แถลงข่าว ‘ลาออก’ เพื่อลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.อีกรอบ ถึงได้ให้คะแนนการทำงานของตัวเองแค่ 5 เต็ม 10 คะแนน หากนับตั้งแต่ ‘ต้นทาง’ ที่เขาได้รับการแต่งตั้งโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เป็นผู้ว่าฯ กทม. นับตั้งแต่ปี 2559 

ใช่ – เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 เมื่อดำรงตำแหน่งได้ 5 ปี 5 เดือน 5 วัน พลตำรวจเอกอัศวินตัดสินใจลาออกเพื่อลงสมัครเลือกตั้งท้าชิงตำแหน่งเดิมอีกครั้ง เพราะอยากให้ระบอบประชาธิปไตยชัดเจนขึ้น

กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ ขอสานงานเก่า ไม่สนพรรคการเมือง ลงสมัครในนามอิสระ กลายเป็นสโลแกนหาเสียงของพลตำรวจเอกอัศวิน ที่ย้ำชัดว่ากรุงเทพฯ ยังไปต่อได้ และกรุงเทพฯ เปลี่ยนไปมากแล้ว หากได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง เขาจะเข้ามาทำงานต่อในอีก 5 คะแนนที่เหลือ เพื่อให้เต็ม 10 คะแนน

พลตำรวจเอกอัศวินตัดสินใจลาออกเพื่อลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.เพื่อท้าชิงตำแหน่งเดิมอีกครั้ง ด้วยเหตุผลที่เจ้าตัวอธิบายว่าอยากทำให้ระบอบประชาธิปไตยชัดเจนขึ้น หลังการเปิดตัวในฐานะผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ไม่นาน The Momentum นั่งสนทนากับพลตำรวจเอกอัศวิน หนึ่งใน ‘ตัวเต็ง’ ทั้งในฐานะ ‘อดีต’ ผู้ว่าฯ ตั้งแต่เรื่องผลงานที่ผ่านมา ที่ยังสะสางไม่เสร็จ และ ‘อนาคต’ ผู้ว่าฯ หากเขาสามารถเอาชนะการเลือกตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งได้อีกรอบ ว่าในสายตาของอดีตนายตำรวจ เจ้าของฉายา ‘อัศวินปิดจ๊อบ’ ยังเหลือจ๊อบอะไรที่เขายังทำไม่เสร็จอีกบ้าง

เราพูดคุยกันนับตั้งแต่ที่มาของตำแหน่ง ประสบการณ์และปัญหาต่างๆ ที่เขาเคยประสบในฐานะ ‘พ่อเมือง’ โครงการพัฒนาคลองที่เลื่องชื่อ ไปจนถึงวิสัยทัศน์ในการหาเสียงที่เขาย้ำว่า ‘กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ’ ผ่านนโยบายต่างๆ แน่นอนว่า รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ คสช. และ กปปส. ในอดีต 

และทำไม เขาถึงนิยามตนเองว่า “ผมไม่ใช่คนดี แต่ผมเลวไม่เยอะ” 

จุดเริ่มต้นของ ‘ผู้ว่าฯ อัศวิน’ มาจากไหน?

การที่ผมตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ เพราะอยากให้ระบอบประชาธิปไตยมันชัดเจนขึ้น เนื่องจากมักจะมีคนพูดกันว่าผมเป็นผู้ว่าฯ กทม. เพราะถูกแต่งตั้งโดยคสช. 

สาเหตุจริงๆ สืบเนื่องมาจากผมเกษียณอายุราชการตำรวจก็ถูกทาบทามให้เป็นรองผู้ว่าฯ กทม. และหากจำกันได้ในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2559 ที่พี่น้องประชาชนคนไทยสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ คือการสวรรคตของเสด็จพ่อ ร.9 ได้ทำให้รัฐบาลต้องหาคนมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ เพราะหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร หยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วยเหตุผลส่วนตัว

ดังนั้นจึงเกิดการคัดเลือกรองผู้ว่าฯ กทม.ทั้ง 4 คนมาดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งผมถูกเลือกให้มาดูแลงานพระราชพิธีการส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพราะต้องมาดูแลพี่น้องประชาชนที่เข้ามากราบสักการะที่วัดพระแก้ววันละหลายแสนคน และไม่ใช่เฉพาะคนในกรุงเทพฯ ที่เดินทางมากราบสักการะ แต่มาจากทั่วประเทศทุกสารทิศเลย จึงเป็นที่มาว่าทำไมผมถึงถูกแต่งตั้ง 

หลังเข้ารับตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ผมยังไม่ได้เริ่มงานใหม่ ต้องมาสานงานเก่าต่อ งานที่ค้างคายังไม่จบจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เช่น กรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นปัญหาก่อนที่ผมจะมาดำรงตำแหน่งอีก หรือการก่อสร้างอาคารกรุงเทพมหานคร 2 บริเวณดินแดงที่ค้างคามา 20 ปีแล้วไม่เสร็จสักที ก็มาสิ้นสุดในสมัยผม ผมต้องมาแก้ไขสิ่งเหล่านี้พร้อมกับคิดเรื่องใหม่ๆ ที่จะทำด้วย

คุณให้คะแนนการทำงานของตัวเองที่ผ่านมาไว้ที่ 5 เต็ม 10 หากได้รับเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้เต็ม 10 คะแนน กังวลไหมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำไม 5 ปีที่ผ่านมาไม่ทำให้เต็ม 10 คะแนนไปเลย

ปัจจัยมันเยอะนะ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ตอนเป็นนักเรียนนักศึกษามีใครสอบได้เต็ม 100 คะแนนไหม ก็ไม่มี การทำงานของผมก็เหมือนกัน ถามว่าอยากให้ปัญหามันจบไหม ก็อยากให้จบ ใครๆ ก็พูดกันว่าผมเป็นคนใจร้อนตั้งแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่ตอนเป็นตำรวจ พวกสื่อเรียกผมว่าเป็น ‘อัศวินปิดจ็อบ’ คดีอะไรไม่เสร็จเราจะนอนไม่หลับ

5 ปี 5 เดือนที่ผ่านมา ชาวบ้านอาจจะบอกว่า เอ๊ะ! ปัญหาน้ำท่วมทำไมไม่จบสักที ผมพูดตรงนี้เลยว่าจุดอ่อนไหวเรื่องน้ำท่วมทั้งหมด หรือจุดน้ำท่วมซ้ำซากมีอยู่ 24 จุด 5 ปีที่ผ่านมาผมแก้ไขปัญหาไปแล้ว 15 จุด แต่ยังเหลืออีก 9 จุด หากถามต่อว่าทำไมยังเหลืออีก 9 จุด ทำไมไม่แก้ให้จบสักที ปัจจัยอื่นยังมีอีกเยอะที่ทำให้แก้ไม่ได้ แต่ผมก็แก้ไขทุกอย่าง เช่น ธนาคารน้ำ (Water Bank) ที่นักวิชาการบอกว่าทำไมผมถึงไม่ทำ จริงๆ ผมทำไปแล้ว 4 แห่ง ไปดูได้ที่วงเวียนบางเขน ซอยสุทธิพร ถนนศรีนครินทร์ ร่มเกล้า ตรงนี้ทำให้เห็นเลยนะ ไม่ได้พูดลอยๆ ผมทำไปตั้งแต่ปี 2561 แล้ว

สรุปว่าปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ตอนนี้แก้ไขหมดแล้ว เหลือเพียง 9 จุด

ถามว่าที่อื่นท่วมไหม มันก็ท่วม เมื่อกี้ผมพูดว่าจุดที่น้ำท่วมซ้ำซาก หมายถึงฝนตกนิดหน่อยน้ำก็ท่วม แต่เมื่อก่อนถ้ามีปริมาณน้ำฝนประมาณ 80 มิลลิเมตรขึ้นไป ต้องใช้เวลา 3-5 ชั่วโมงในการระบายน้ำออก แต่เดี๋ยวนี้บางจุดใช้เวลาระบายเพียง 20 นาที สูงสุดอย่างไรก็ไม่เกิน 1 ชั่วโมงแน่นอน เพราะฉะนั้นจะไม่มีน้ำท่วมขัง

การทำงานตลอด 5 ปี 5 เดือน 5 วันที่ผ่านมาของผู้ว่าฯ อัศวิน โครงการไหนที่คุณภูมิใจที่สุด

ผมภูมิใจในสิ่งที่ได้ทำทั้งหมด ย้อนหลังไปสัก 10-20 ปี น้ำท่วมก็พูดกันมาหลายสมัยแล้ว ยกเว้นปีที่ผมยอมรับได้ คือปี 2554 ซึ่งน้ำท่วมหนักมาก ตอนนั้นใครก็แก้ไม่ได้หรอก แต่อย่างอื่นผมว่าผมแก้ได้ อย่างผมมาเป็นผู้ว่าฯ ก็ทำพนังเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยายกขึ้นมา 50 เซนติเมตร ตอนที่น้ำเหนือมา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี ปิง วัง ยม น่าน หรือแม่น้ำอะไรก็แล้วแต่ที่มารวมกัน พอยกขึ้นมันก็ไม่ท่วมนะ แต่บางที่น้ำยังทะลักเข้ามาอยู่ มันเป็นเรื่องของจุดฟันหลอ เช่น ตรงสะพานซังฮี้ที่มีการฟ้องร้องกันอยู่ เพราะชาวบ้านยังไม่ยอมให้ทำพนังกั้นน้ำ แต่เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ผมไปทำความเข้าใจกับประชาชนบริเวณทรงวาด เยาวราช กับตรงสะพานซังฮี้ ภายหลังการพูดคุยเป็นอันว่าตกลงกันได้ เดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ก็จะทำพนังกั้นน้ำเสร็จเรียบร้อย

งบประมาณ 8 หมื่นล้านบาทต่อปีของกรุงเทพฯ เพียงพอต่อการจัดการและแก้ปัญหาไหม

งบประมาณ 8 หมื่นล้านบาทก็จริง แต่พนักงานข้าราชการกรุงเทพมหานครมีอยู่แสนคน ทาง กทม. ต้องจ่ายทั้งเรื่องเงินเดือน ค่ารักษาพยาบาล ค่าบำเหน็จบำนาญเป็นเงินจำนวน 3,000 ล้านบาทต่อปี สรุปค่าใช้จ่าย 1 เดือนอยู่ที่ราวๆ  3,500 ล้านบาท และค่าใช้จ่าย 1 ปีอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท

ดังนั้นงบประมาณจำนวน 8 หมื่นล้านบาทก็ต้องหักออกไปเลย จะเหลืออยู่เพียง 5 หมื่นล้านบาท ส่วนนี้ยังมีงบฯ ต่อเนื่องผูกพันกันมาอีก เช่น การทำอุโมงค์น้ำบึงหนองบอน ผูกพันมาตั้ง 5-6 ปีแล้ว เงินในส่วนนี้ผมต้องกันไว้อีกปีละเป็นหมื่นล้านบาท เพราะฉะนั้น เงินที่จะมาบริหารจัดการและใช้ได้จึงเหลือปีละ 2-3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

แล้วคุณจัดการงบประมาณที่เหลืออย่างไร 

(ตอบทันที) 8 หมื่นล้านบาทเราจัดการอะไรไม่ได้เลย ส่วนในงบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท มันเป็นวัฏจักรเงินเดือนข้าราชการ มันมีบำนาญ ไม่ให้เขาได้ไหม ก็ไม่ได้ งบประมาณที่เหลือก็ดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาล ขยายสถานพยาบาล เรื่องค่าอาหารนักเรียน ค่าเสื้อผ้า ผมเป็นคนเดียวที่เพิ่มจำนวนเสื้อผ้าให้นักเรียน ปกติรัฐบาลจะให้ชุดนักเรียน 2 ชุดต่อปีซึ่งไม่เพียงพอ ผมก็ซื้อเพิ่มให้

การทำงานของเราจะตั้งอยู่บนรากฐานความเป็นจริง เช่น ค่ากำจัดขยะ 1 ปีใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท เรื่องกล้องวงจรปิด CCTV ก็ใช้งบประมาณอันดับต้นๆ เพราะผมให้ความสำคัญกับตรงนี้มาก ส่วนค่าปลูกต้นไม้ ค่าเก็บขยะก็ใช้งบปีละประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาลก็ประมาณ 4,000 ล้านบาท ค่าการศึกษาประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท ผมเกริ่นมาแค่ 3 อย่างนะ ยังไม่รวมการสร้างถนน สร้างคูคลอง อุโมงค์ระบายน้ำ เงินก็เกือบหมดแล้ว ส่วนเรื่องการบริหารหรือการพัฒนาอะไรต่างๆ มันก็เหลืองบประมาณจำนวน 500-1,000 ล้านบาทเอง 

จากการทำงานที่ผ่านมาของอดีตผู้ว่าฯ กทม. มีความท้าทายหรืออุปสรรคอะไรบ้างที่ทำให้ทำงานไม่เสร็จสักที นอกเหนือจากงบประมาณที่อาจไม่เพียงพอ

สิ่งที่เป็นอุปสรรคที่สุดในการทำงานคือ ปัจจัย เวลา และเงื่อนไขอื่นๆ สมมติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การก่อสร้างต่างๆ ต้องหยุดชะงักไป เพราะเป็นการรวมกลุ่มอาจทำให้เกิดคลัสเตอร์ต่างๆ ได้ เลยต้องหยุดทำงาน ก็ส่งผลให้ทำงานไม่จบสักที

ผมยกตัวอย่างเรื่องการทำเรือไฟฟ้า เรือพลังงานสะอาด ผมเชื่อว่าผมทำเป็นแห่งแรก เป็นคนแรกในประเทศไทยที่ทำเรื่องเรือพลังงานสะอาด ตอนนี้เรือวิ่งอยู่ในคลองผดุงกรุงเกษมกับคลองแสนแสบ ที่อื่นยังไม่ได้ทำ และตอนนี้กระทรวงคมนาคมเริ่มทำเรือด่วนในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ 1-2 ลำแล้ว ผมยืนยันว่าผมทำเป็นคนแรก ผมอาจจะคิดไม่เก่ง แต่ผมไปหาคนเก่งๆ มาช่วยผมคิด แต่ละสาขาอาชีพก็มาช่วยกันนิดช่วยกันหน่อย 

ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าเราก็เริ่มทำแล้วเหมือนกัน บางคันเป็น Shuttle Bus ระบบไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้ผมก็ไปประสานกับการไฟฟ้านครหลวงติดตั้งเครื่องชาร์จ และติดตั้งไปแล้ว 2 ตัว นอกจากนี้ ก่อนที่ผมจะลาออกจากตำแหน่งก็ได้ทำสัญญาไว้อีก 20 หัวชาร์จ ให้ไปติดตั้งตามสวนสาธารณะหรือตามจุดสำคัญต่างๆ

ปัญหาการทำงานคือปัจจัยต่างๆ เพราะกรุงเทพฯ มีปัญหาที่ซับซ้อนมาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม การศึกษาไม่ดี การรักษาพยาบาลไม่ดี รถติด ปลูกต้นไม้ได้น้อย ค่า PM2.5 สูง ปัญหามันเยอะไปหมด หรือเรื่องกล้อง CCTV ความปลอดภัยของประชาชนก็ไม่มีเลย การเดินทางก็ไม่สะดวก ปัญหามีเป็นสิบๆ อย่าง

ถ้าได้รับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.อีกสมัย สิ่งที่ชาวกรุงเทพฯ จะได้เห็นแน่นอนภายใน 5 ปี คืออะไร และงานอะไรที่พลตำรวจเอกอัศวินจะทำเพื่อให้ได้ 10 คะแนนเต็ม

สายสื่อสาร ใครเคยเห็นไหม เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่ค่อยขี่มอเตอร์ไซค์กันแล้ว แต่อย่าไปเที่ยวขี่เชียว สายมันหล่นห้อยลงมาบาดคอขาดตายได้ บางทีเดินอยู่สายพวกนี้ก็สามารถหล่นใส่หัวได้เลย ผมอยากให้สายสื่อสารพวกนี้หมดไป ตอนนี้เอาลงดินไปบ้างแล้ว ผมทำงานร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง ตั้งเป้าไว้ทั้งหมด 2,000 กิโลเมตร ขณะนี้เอาลงดินไปได้แล้ว 250 กิโลเมตร มันดูเหมือนไม่เยอะ แต่ถ้าเทียบเป็นทางตรง มันคือเส้นทางจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปจนถึงนครราชสีมา หรือความยาวเทียบเคียงกรุงปารีส 

หลายคนชมว่า อดีตผู้ว่าฯ กทม. อัศวินเป็นคนที่ทำให้คลองใสสะอาดขึ้น และเหมือนจะเป็นผลงานที่ผู้คนจดจำ ทำไมคุณถึงดูสนใจเรื่องการพัฒนาคลองเป็นพิเศษ

คลองหลอด (คลองคูเมืองเดิม) คือสิ่งแรกที่ผมนึกถึงตั้งแต่รับตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ถ้าย้อนไปสัก 6-7 ปี เมื่อก่อนคลองหลอดมีการขายของตามคลองมากถึง 1,277 ครอบครัว จนปลูกบ้านอยู่บนคลองหลอด ผมใช้เวลา 7 เดือนในการพูดคุยเจรจากับคนในพื้นที่เพื่อขอให้ตรงนี้เป็นคูเมืองชั้นในสุด ที่ล้อมรอบวังหลวงคือวัดพระแก้ว และวังหน้าคือสนามหลวง ก็ไปทำความเข้าใจพร้อมกับหาที่อยู่ใหม่ให้เขา จนกระทั่งเดี๋ยวนี้คลองหลอดสวย น้ำใสสะอาด ไปลองดูได้ 

คลองต่อมาที่เราทำคือคลองโอ่งอ่าง เมื่อก่อนเขาเรียกว่าคลองสะพานเหล็ก ลูกผมเรียนอยู่แถวนี้ ลูกก็ถามว่าอันนี้คืออะไร ผมก็ตอบว่ามันเป็นคลองนะ เป็นโบราณสถานด้วย เมื่อก่อนเขาเรียกสะพานเหล็ก เด็กผู้ชายก็จะไปซื้อของเล่นกัน ผมเลยเข้าไปปรับสภาพคลองให้สะอาดขึ้น บริเวณนั้นมี 900 กว่าครอบครัว ก็ไปทำให้มันสะอาด ระบายน้ำได้ดีขึ้น และสร้างเศรษฐกิจฐานรากตรงนั้น หลังจากนั้นก็มาทำคลองแสนแสบกับคลองผดุงกรุงเกษม 

ทำไมผมถึงสนใจเรื่องคลอง เพราะผมต้องการคืนชีวิตคนกับสายน้ำให้อยู่ด้วยกันได้ คนกรุงเทพฯ อาจะไม่ค่อยเห็นภาพเหล่านี้ แต่คนต่างจังหวัดยังพายเรือในน้ำ หาปูหาปลากันอยู่ คนกับน้ำใกล้ชิดกันมาก อีกสิ่งที่สำคัญคือหลายคนบอกกันว่ากรุงเทพฯ เป็นเวนิสตะวันออก เพราะมีถึง 1,682 คลอง ผมต้องการทำความสะอาด ต้องขุดลอกคูคลองทำให้น้ำไหล และช่วยระบายน้ำตอนน้ำท่วมได้เร็วอีกด้วย เป็นการรักษาดูแลตั้งแต่เส้นเลือดฝอยมาสู่เส้นเลือดใหญ่ และผลักดันน้ำลงเจ้าพระยาเพื่อลงทะเลที่อ่าวไทย

คุณมีโครงการจะพัฒนาคลองบริเวณไหนอีก

ยังเหลืออีกเยอะมาก ผมอยากจะทำทุกคลองให้สวย คลองที่น้ำตันอยู่ก็มีอีกเยอะ ถ้าทำให้น้ำมันเดินสะดวกได้ก็อยากจะฟื้นวิถีชีวิตคนกับน้ำให้มันดีขึ้น น้ำจะได้ท่วมน้อยลง ที่คนอื่นเขาชอบบ่นๆ กันว่าน้ำรอระบาย (หัวเราะ) มันจะได้ระบายเร็วขึ้น และเกิดการท่องเที่ยวทางน้ำเพิ่มอีกด้วย 

ยกตัวอย่าง เมื่อวันก่อนผมไปตรวจคลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งคลองตรงนี้ผมทำให้คลองสวยน้ำใสไปแล้ว 40 กิโลเมตร และให้การบ้านคนในทีมต่อว่า จะทำตรงนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทั้งการสัญจรทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นล้อ ราง หรือเรือ ได้อย่างไร ผมคิดไว้ว่าล้อรถยนต์ถ้าเกิดไปไม่สะดวกก็อาจจะขึ้นรถไฟฟ้าเป็นระบบราง เรือก็ต้องเป็นเรือพลังงานสะอาด มันจะได้ลดค่าฝุ่น PM2.5 ลดโลกร้อน คือสิ่งที่อยากทำต่อเนื่องต่อไป

อีกเรื่องหนึ่งที่คุณมักถูกโจมตีบ่อยๆ คือการหากุญแจเครื่องสูบน้ำไม่เจอที่อุโมงค์ดินแดง จะชี้แจงว่าอย่างไร

ตอนนั้นมีการจ้างงานบริษัท มีการประมูลการก่อสร้างเพื่อปรับปรุง แต่บังเอิญบริษัทรับเหมายังไม่ส่งมอบงาน พอน้ำท่วมปุ๊บ ผมก็วิ่งไปหาเขาเพื่อให้มาช่วยเปิดตรงนี้ให้ที แต่ถ้าเขาส่งมอบงานให้เรียบร้อยแล้ว กุญแจก็ต้องอยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐ หรือสำนักการระบายน้ำ แต่ตอนนั้นกุญแจยังอยู่กับบริษัทรับเหมาก่อสร้าง และคนงานก็ไม่อยู่

คุณต้องไปดูสัมภาษณ์ผมให้เต็มๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องกุญแจหาย ผมพูดจริงว่าหาคนเก็บกุญแจไม่เจอ ไม่รู้หายไปไหน มันก็เหมือนเวลาเราซื้อคอนโดฯ อยู่ดีๆ บอกผมจะเข้าไปนอนแล้วนะ ก็ยังนอนไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ครอบครอง ไม่มีสัญญาชัดเจน รู้แค่ว่าเราจะซื้อ แต่ถ้าอยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. แล้ว ผมเอาเรื่องแน่นอน

เรื่องกุญแจเราไม่ต้องพูดถึงกันแล้ว เพราะมันอาจเกิดความเข้าใจผิดกันได้ ทั้งหมดนี้ ผมไม่ได้บอกว่าเลือกอัศวินแล้วน้ำจะไม่ท่วม แต่ถ้าคุณเลือกอัศวินจะเป็นดังนี้

1. ผมเป็นนักปฏิบัติตัวจริง เป็นคนทำจริง และทำให้เกิดผลจริงๆ เพราะหลายครั้งนโยบายที่ดีๆ ไม่ได้ลงมาสู่การปฏิบัติ เป็นนโยบายที่ลอยๆ เหมือนนโยบายในอากาศ แต่ไม่สัมผัสกับดิน ดังนั้นการปฏิบัติต่างๆ ต้องลงมาสู่พื้นดินและพื้นน้ำ ไม่ใช่ลอยอยู่กลางอากาศอย่างเดียว

2. ผมเป็นนักประสานงาน ผู้ว่าฯ กทม. ต้องประสานงานได้ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงต่างๆ เช่น รัฐบาล ฝ่ายค้าน รัฐวิสาหกิจ การประปา การไฟฟ้า หรือ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ถ้าประสานไม่ได้ ก็แย่เลย เดี๋ยวประปาจะขุด เดี๋ยวไฟฟ้าจะทำ เดี๋ยว กทม. จะขุดท่ออีกแล้ว ถ้าต่างคนต่างขุด ชาวบ้านตายกันพอดี ผมเลยต้องตั้งกติกาว่า ถ้าใครจะขุดก็ให้มาขุดพร้อมๆ กัน ประปาแจ้งมา ไฟฟ้าแจ้งมา แล้วเรามาขุดพร้อมกัน

ผมอยากจะบอกว่า การเป็นผู้ว่าฯ กทม. ไม่ใช่เรื่องของการเมือง แต่เป็นเรื่องของการบ้าน และความเดือดร้อนของประชาชน เป็นเรื่องงานแม่บ้านเลยนะ ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ใช่ว่าจะต้องไปอยู่กับพรรคนู้นพรรคนี้ คุณจะอยู่กับใครก็แล้วแต่ แต่ต้องดูผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เป็นงานแม่บ้าน แต่ถ้าการเมืองคุณต้องไปบริหารบ้านเมือง บริหารประเทศนู่น

การที่อดีตผู้ว่าฯ กทม. และอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. — คุณสกลธี ภัททิยกุล มาลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้ทั้งคู่ เป็นเพราะมีปัญหาในช่วงที่ร่วมงานกันด้วยหรือเปล่า

ไม่มีหรอก ผมก็บอกว่าขอให้โชคดีนะน้อง เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ก็ว่ากันไป ไม่มีปัญหาหรอก ถ้าเขาได้เป็นหัว จะได้ตัดสินใจเองได้ว่าจะทำอย่างไร

วันที่เขามาลาออก ผมก็อวยพรว่า จั้ม (ชื่อเล่นของ สกลธี ภัททิยกุล ) ขอให้โชคดีนะ ทำไปเถอะ เรายังหนุ่มยังแน่น แต่อยากบอกว่าเป็นหัวนี่มันไม่ง่ายหรอก พี่เคยเป็นหัวมาตลอดแล้ว

ถ้ารู้ประวัติผม ผมก็เป็นตำรวจน้ำดีคนหนึ่งเลย ส่วนตัวผมไม่มีปัญหากับเขาหรอก เขาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ยังไงก็ต้องฟังหัวหน่วยถูกไหม ถ้าไม่ฟังแล้วจะอยู่อย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม จั้มเขาก็เป็นคนน่ารัก

สำหรับโครงสร้างของ กทม. จะเห็นว่าลำพังด้วยอำนาจของผู้ว่าฯ ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ทั้งหมด คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ผมว่าหนึ่งในปัญหาของกรุงเทพฯ เป็นเรื่องของกายภาพ ปัญหาต่อมาคือเรื่องความเบ็ดเสร็จในการตัดสินใจ ผมถามว่า ผู้ว่าฯ กทม. จะทำอะไรได้ทุกอย่างไหม ก็ไม่ได้ ไม่เหมือนเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงลอนดอน ที่นายกเทศมนตรีสามารถทำทุกอย่างจัดการได้หมด ทั้งไฟฟ้า ประปา ตำรวจก็ขึ้นกับเขา แต่ที่กรุงเทพฯ ง่ายๆ เลย แค่ผมจะทำสะพานด้วน (ตอม่อสะพานที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสะพานพระปกเกล้ากับสะพานพระพุทธยอดฟ้า เดิมตั้งใจจะใช้เป็นรางรถไฟฟ้าในโครงการลาวาลิน แต่โครงการถูกยกเลิกไป) ก็ต้องประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพราะไม่ใช่หน่วยงานที่ขึ้นตรงกับเรา เพราะฝั่งธนฯ จะขึ้นตรงกับทางหลวงชนบท พอเป็นผู้ว่าฯ ผมก็เริ่มทำตั้งแต่ปี 2562 จนสะพานด้วนกลายเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศไทย และผมเชื่อว่าอาจจะเป็นแห่งแรกของโลกด้วยที่เป็นสวนลอยฟ้าข้ามแม่น้ำ

สมมติเขาบอกว่ารถติด ผมก็ช่วยแก้ไขได้ แต่ถ้าถามว่ามันใช่หน้าที่ที่เราต้องมาแก้ไขไหม มันเป็นหน้าที่ของตำรวจ ส่วนไฟฟ้าก็ขึ้นกับการไฟฟ้านครหลวง ประปาก็ขึ้นกับการประปาฯ แม้กระทั่งกล้องวงจรปิด เราก็ดูได้แค่บางส่วนเท่านั้น ถนนก็ดูได้แค่ปรับปรุง ขีดสีตีเส้นต้องประสานกับทุกหน่วยเลยนะ เราไม่สามารถจัดการได้เอง รถเมล์ก็ขึ้นกับกรมขนส่งทางบกอีก รถเมล์ร้อน รถเมล์เย็น กทม. ก็เข้าไปยุ่งไม่ได้ 

ตรงนี้ผมชี้ให้เห็นว่าเราไม่สามารถจัดการเบ็ดเสร็จได้ คนที่บอกว่าจะบริหารจัดการ ผมก็อยากให้เขามาเป็น ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ ให้เขาตอบให้ได้ว่า ถ้าเข้ามาเป็นแล้วคุณจะทำอย่างไร จะเปลี่ยนรถเมล์ ผมถามหน่อย คุณมีอำนาจหรือ? คุณก็ไม่มี กระทรวงคมนาคมเขาจะถามว่า แล้วผู้ว่าฯ กทม. จะมายุ่งอะไรกับเรื่องนี้ ถ้าทำได้ผมทำไปแล้ว

ปัญหารถเมล์ที่เผชิญอยู่ตอนนี้สามารถแก้ไขได้แค่ไหน

ก็ประสานคมนาคมอย่างเดียว ที่หนักๆ ก็ขอร้องเลยนะ ช่วยมาตรวจรถให้ที รถควันดำ อันนี้เพิ่มมลพิษทางอากาศเลย ผมทำได้แค่ขอให้เขาช่วยตรวจรถตรงนี้ให้หน่อย แจ้งตำรวจจราจรให้ช่วยตั้งด่านและให้รถเร่งเครื่องให้ดูว่าควันดำไหม ถ้าดำก็ปรับเขา ตรงนี้คือสิ่งที่เราทำไม่ได้ เราทำได้แค่ประสาน

ผมเลยบอกว่าใครก็ตามที่ได้มาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ไม่ว่าจะเป็น ดร.เอ้ (สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์) ดร.ชัชชาติ (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) คุณวิโรจน์ (วิโรจน์ ลักขณาอดิศร) จั้ม (สกลธี ภัททิยกุล) หรือว่าเสธ.ปุ่น (นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี) ถ้ามาเป็น ผมฝากหน่อยเถอะ ช่วยทำให้ที พวกเขาเป็นคนดีๆ ทั้งนั้นละ ผมยอมรับนะ

อีกปัญหาหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่เรื้อรัง คือเรื่องการจราจร คุณอัศวินมีนโยบายอย่างไร

ระบบล้อ ราง เรือไงครับ เบื่อรถติดไปขึ้นรถไฟฟ้า เบื่อรถไฟฟ้าก็ลงเรือ ตรงนี้ผมก็ประสานกับตำรวจว่าต้องช่วยกัน อย่างที่บอกไปเบื้องต้นว่า ประสานงานทั้งกรมการขนส่งทางบก ประสานตำรวจห้ามรถสิบล้อให้วิ่งได้เวลาไหนบ้าง รถ 4 ล้อ วิ่งเวลาไหน ต้องห้ามเด็ดขาด อย่าละเลย เพราะสังคมมันเดือดร้อนกันหมด ผมเป็นคนไทยคนหนึ่ง เป็นคนกรุงเทพฯ คนหนึ่ง การที่ยอมให้ผ่านได้มันเป็นการเอาเปรียบสังคม ผู้ประกอบการส่วนมากก็เส้นใหญ่กันทั้งนั้น 

พูดง่ายๆ ถ้าผมชนะเลือกตั้ง ผมจะไม่ยอม จะประสานกับหน่วยที่มีอำนาจว่าตรงนี้อย่าทำเลย รถใหญ่หลุดมา 1 คันส่งผลให้รถติด สมมติถนนมี 2 เลน พอรถใหญ่เข้ามามันก็วิ่งได้เลนเดียว แทนที่จะวิ่งได้ 2 เลน มันจะส่งผลให้รถติดเข้าไปอีก ตรงนี้ผมจะพยายามประสานงานกับหน่วยข้างเคียงให้

ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยังคาราคาซัง และค่าโดยสารที่ค่อนข้างสูง ถ้าคุณอัศวินได้ดำรงตำแหน่งอีกสมัยจะแก้ปัญหาอย่างไร

เรื่องนี้เกิดก่อนที่ผมจะได้รับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. แล้ว บังเอิญเขาโยนมาให้ กทม. เป็นคนบริหารจัดการ เพราะช่วงกลางเป็นของเอกชนลงทุน ช่วงหัวท้ายตั้งแต่คูคตมาถึงลาดพร้าว และซอยแบริ่งไปจนถึงสมุทรปราการ  2 ช่วงนี้ที่หลายคนบอกว่าราคา 65 บาทมันแพงเหลือเกิน จริงๆ มันเป็นราคาสูงสุดที่ 65 บาท แต่ถ้าคุณขึ้นสั้นๆ บางสถานีมันแค่ 12 บาท 24 บาท หรือ 30 บาทอยู่เลย คำว่าไม่เกิน 65 บาทคือนับตั้งแต่สมุทรปราการยันคูคต ปทุมธานีเลยนะ ถ้าคิดแต่ละสถานีมันจะเป็นราคา 140 กว่าบาท แต่นี่รวมแล้วตลอดสายไม่เกิน 65 บาท

ถ้าเรายังต่อสัญญาแบบนี้ กรุงเทพฯ จะได้ผลประโยชน์จากสายสีเขียวจำนวน 2 แสนกว่าล้านบาท เขาต้องให้เรา สิ่งที่ผมทำเพื่อแก้ปัญหามีอยู่ 3 อย่างและทำไปหลายครั้ง จนตอนนี้หลุดจากมือผมไปอยู่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว คือ 1. ขอเงินรัฐบาลมาใช้หนี้ เพราะ กทม. เป็นหนี้บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS อยู่ 2. ให้เขาเอาคืนกลับไปเลย เอามาจากไหนก็เอากลับไป 3. ทำตามคำสั่งมาตรา 44 ซึ่งเราไม่เสียเปรียบอะไร เขารับหนี้ไปทั้งหมดแสนกว่าล้าน และภายในกำหนดเวลาเขาต้องให้ค่าใช้จ่ายให้กรุงเทพฯ เป็นจำนวน 2 แสนกว่าล้านเศษๆ

ผมยืนยันว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวถ้านับเป็นกิโลเมตรต่อกิโลเมตร รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ มีอยู่ 6 สาย สายสีเขียวมีราคาอยู่ที่ 1 บาทนิดๆ ต่อกิโลเมตร แต่อีก 5 สายที่เหลือแพงกว่าทุกสาย ไม่มีสายไหนถูกกว่า และทุกสายที่เหลือรัฐบาลออกทุนให้หมด มีแค่สายสีเขียวที่เอกชนลงทุนเอง และกลายเป็นรถไฟฟ้าช่วงกลางแห่งแรกในประเทศไทย ผมไม่ได้หมายความว่าผมอยากได้นะ เพราะบ้านผมไม่ได้ผ่านรถไฟฟ้าอยู่แล้ว บ้านผมอยู่ฝั่งธนฯ (หัวเราะ) ไม่ได้ขึ้น แต่ก็เคยขึ้นบ้าง

หมายถึงต้องปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ตามขั้นตอนหรือ

ก็แล้วแต่รัฐบาล เพราะ 3 ข้อนี้ที่รัฐบาลมีสิทธิเลือก เป็นหนี้ต้องใช้ ถ้าไม่มีเงินให้ใช้หนี้ก็ประมูลใหม่ก็ว่ากันไป แต่มันยังประมูลไม่ได้ สัญญายังไม่หมด เพราะรัฐบาลจ้างเขาเดินรถถึงปี 2585 ซึ่งยังคาอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ตั้งแต่สมัยก่อน เขาต่อมาอีก 13 ปี แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผม 

อีกเรื่องคือปัญหาทางเท้าของกรุงเทพฯ ทำไมจึงแก้ไม่ตกสักที

ตอนนี้กำลังเร่งแก้ไขอยู่ จริงๆ ตรงนี้ผมจะไม่โทษใครนะที่เขาบอกว่าเดี๋ยวขุด เดี๋ยวแต่ง ตรงนี้มันก็จริง แต่ทำไมมันต้องเปลี่ยนทุก 2-3 ปี ผมเคยไปเมืองนอกอยู่บ้าง แม้จะไม่บ่อย แต่ถนนของเขา 30 ปี ไม่เคยต้องเปลี่ยนเลย เช่น ออโตบาห์น (Autobahn) เยอรมันสร้างตั้งแต่สงครามโลกตอนนี้รถยังวิ่งได้อยู่เลย

แต่ทำไมประเทศไทยเดี๋ยวรถวิ่งตกหลุม เดี๋ยวรถก็หล่นไปอีกแล้ว ตรงนี้ผมกำลังแก้ไขอยู่ และแก้ไขได้เยอะแล้ว 

ยกตัวอย่างตรงพระราม 1 ผมใช้เวลา 3 เดือน ไปคุยกับคนค้าขายแถวนั้นให้ย้ายออกและเราเข้าไปปรับทางเท้าใหม่ ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมถึงปัญหาเรื่องท่อต่างๆ 

ถามว่าสามารถแก้ไขแบบนี้ทั้งกรุงเทพฯ ได้ไหม มันมีตั้งหลายพันกิโลเมตร ต้องค่อยๆ แก้ไข นี่คือเงื่อนเวลาที่ทำให้ผมไม่สามารถทำงานให้เสร็จภายใน 1 ปี หรือ 5 ปีได้ ส่วนฝาท่อระบายน้ำ บางทีมันกระเดิด เดินไปเตะฝาท่อล้ม หรือคนเดินตกท่อก็มี ตรงนี้ผมก็ค่อยๆ แก้ไปเรื่อยๆ แต่ก็แก้ไปได้เยอะแล้ว

ถ้าเลือกพลตำรวจเอกอัศวินเป็นผู้ว่าฯ กทม. ทางเท้าจะเรียบไหม

ผมจะพยายามทำให้มันดีที่สุด แต่อย่างที่บอก ถ้าถามว่าผมรับปากภายใน 2-3 ปีจะเสร็จไหม ผมก็บอกเลยว่าใครก็ตามทำไม่เสร็จหรอก ทางมันมีตั้ง 4,000-5,000 กิโลเมตร แล้วถ้าทำพร้อมกันมันได้ไหม มันก็ไม่ได้ ประชาชนจะไปเดินตรงไหน อาจจะต้องทำเป็นช่วงๆ สมมติว่าทำตรงนี้ 200 เมตร ก็ต้องเว้นให้คนเดินบ้างและไปทำอีก 200 เมตร ถ้าทำทั้งหมดเลยจะไปเดินตรงไหน เดินบนผิวทางจราจรเดี๋ยวรถก็ชนอีก 

ปัญหาคนไร้บ้าน คนจรจัดที่เพิ่มขึ้นมากในช่วง 2 ปีนี้ คุณอัศวินมีนโยบายแก้ไขอย่างไรบ้าง

ตั้งแต่ผมเริ่มดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ตรงหัวลำโพงน้อย ถนนราชดำเนิน จะมีคนไร้บ้านนอนเต็มไปหมด ผมก็ไปเอารถมาเพื่อนัดตรวจโรคร้ายต่างๆ เช่น โรคผิวหนัง โรคเอชไอวี พร้อมกับขอร้องให้พวกเขาตรวจโรค แต่เขาก็ไม่ตรวจ และเราไม่สามารถไปบังคับเขาได้ นอกจากนี้ยังมีบ้านอุ่นใจให้พักด้วย แต่พอรุ่งเช้าพวกเขาก็เดินทางออกจากบ้าน สะท้อนว่าเราไปบังคับกักขังเขาไม่ได้

ส่วนกระทรวงพัฒนาชุมชนและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็บอกว่า กทม. ช่วยเอาพวกเขาออกไปที ผมก็ตอบไปว่าไม่มีอำนาจไปทำอะไรกับคนพวกนี้ 

ผมเรียกพวกเขาว่า ‘อิสรชน’ เห็นอย่างนี้ ตรงหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา เดี๋ยวนี้มีม้านั่งเหล็กสำหรับนั่งอยู่ซ้ายมือ ตรงร้านแมคโดนัลด์ ตอนเช้าจะมีลูกสาวแต่งตัวสะอาดขับรถบีเอ็มดับเบิลยูมารับแม่ ผมก็ถามเขาว่าทำไมแม่ถึงมานอนอยู่ตรงนี้ เขาบอกว่าแม่ไม่อยากอยู่บ้าน นั่งตรงนี้อากาศมันดี ผมก็ไม่รู้จะพูดว่าอะไร คนมีฐานะด้วยนะ ไม่ใช่อิสรชน 

ผมเองอยากแก้ไขปัญหาตรงนี้ เพราะกังวลเรื่องโรคติดต่อเป็นอย่างมาก เมื่อก่อนตรงคลองผดุงกรุงเกษมมีคนนอนอยู่เยอะมาก ผมก็ไปขอร้องให้ไปนอนที่อื่นได้ไหม แม้กระทั่งตอนที่ผมจะลาออกก็ยังเดินทางไปบอกเขาอยู่เลย เพราะช่วงนั้นคนลำบากเยอะ มีคนเอาอาหารมาบริจาคบ่อย ใส่รถเก๋งมาครั้งละ 30-50 กล่อง มาบริจาคตามถนน ผมเลยเข้าไปคุยว่าขอให้แจกข้าวเป็นเวลาได้ไหม เช่นตอนเที่ยง และตอนเย็น ไม่อย่างนั้นจะมีคนมาแจกทั้งวัน เขาก็จะนั่งรอกันทั้งวัน

คุณอัศวินมีความเห็นต่อการทวงคืนสนามหลวงอย่างไรบ้าง

ผมว่ามันเป็นที่สาธารณะอยู่แล้ว ไม่ต้องทวงคืนหรอก ใครก็เข้าไปใช้ได้ แต่ที่เขากั้นไว้ เขาไม่ได้หวงแหนอะไร แต่ไม่อยากให้อิสรชนเข้าไปนอนเท่านั้น เมื่อก่อนถ้าจำได้ อิสรชนเข้าไปนอนตรงนั้นเยอะแยะ แต่ตอนนี้ก็สามารถไปออกกำลังกายได้อยู่ รอบนอกก็ขี่จักรยานได้ ไม่ได้ห้ามให้คนเข้าไป สนามหลวงยังเป็นที่สาธารณะอยู่

แต่เหตุผลที่ปิดสามทุ่มคือไม่อยากให้คนเข้าไปนอน เพราะถ้าคนเข้าไปนอนมันจะทำให้แลไม่สวยไม่งามแค่นั้นแหละ

คำกล่าวที่ว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองของส่วยและผลประโยชน์ ในมุมมองของคนที่เคยบริหารมาก่อน เป็นอย่างนั้นจริงไหม

เมื่อก่อนถามว่ามีไหม — มี แม้กระทั่งตอนผมเป็นผู้ว่าฯ กทม.เองก็มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานหนึ่งที่ใกล้ชิดกับประชาชนมาก พูดกันตรงนี้เลยก็ได้ เช่น พวกสำนักเทศกิจ หรือฝ่ายโยธา พวกเทศกิจเวลาไปทำงานก็ไปไล่แม่ค้าและบอกว่า ถ้าจ่ายเงินให้ก็ไม่ต้องย้ายที่ หรือฝ่ายโยธาเอง เวลามีคนมาขออนุญาตต่อเติมบ้าน มันมีส่วยไหม — มี แต่ผมก็ดำเนินการจัดการไปเยอะแล้ว มีบางคนผมเอาออกจากราชการเลย 

ตอนที่มีนักท่องเที่ยวเยอะๆ บริเวณหน้าวัดพระแก้ว ฝรั่งทิ้งบุหรี่ถูกปรับ 2,000 บาท ก็ปรับและเอาเงินยัดใส่กระเป๋าตัวเอง ผมสั่งดำเนินคดีอาญาติดคุก 3 เดือน พร้อมกับไล่ออกจากราชการ

ผมยอมรับนะว่าเคยมี แต่แก้ไปเยอะแล้ว และพยายามจะแก้ทั้งหมด ถ้ายังไม่หมด ก็ให้มันน้อยลง ผมมีวิธีกำกับดูแลให้ดีขึ้นตอนที่ผมยังเป็นผู้ว่าฯ กทม. อยู่ และถ้ากลับมาดำรงตำแหน่งอีกรอบก็ต้องกลับมาดำเนินการอีก เรื่องแบบนี้มันเป็นความเดือดร้อนของคนจน คนรากหญ้า คนค้าขาย

กังวลไหมกับภาพลักษณ์จากการทำงานในอดีต เช่นปี 2557 ที่คุณอัศวินดูจะมีส่วนร่วมในการอำนวยความสะดวกกับม็อบ กปปส. เป็นพิเศษ

ไม่ใช่นะครับ ตั้งแต่ผมเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นผู้การกองปราบปราม ก็คงเคยได้ยินชื่อผมกันมาบ้าง ผมพยายามทำงานเต็มกำลังเต็มความสามารถมาตลอด

ผมไม่ใช่คนดี แต่ผมเลวไม่เยอะ ผมบอกตรงนี้เลยว่า ผมไม่ใช่คนดี แต่ผมเลวไม่เยอะ ต้องพูดกันตรงๆ อย่างนี้ 

เมื่อก่อนใครก็ตามที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ผมดูแลทุกคนไม่เคยเลือกหน้า สมัยผมเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ตรงสะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อก่อนเขาจะตั้งม็อบเสื้อเหลืองตรงนั้น ผมใส่เสื้อยืดแขนยาวมาลงม็อบให้เขาด่าทุกคืน และพยายามไม่ให้มีเรื่องกัน จะด่าผมก็ด่าไป 

ส่วนตอนเป็นรองผู้ว่าฯ ถ้าเขาร้องขออะไรมา เช่น ไฟส่องสว่าง รถส้วมที่ไม่ผิดกฎหมาย ผมก็ให้ แล้วการชุมนุมประท้วงทุกอย่างหลังจากนั้น เสื้อแดงหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมก็ให้หมด ผมถือว่าเรามีความคิดที่แตกต่างกันได้ แต่ผมไม่อยากให้เขาแตกแยกกัน 

สำหรับ กปปส. ถ้าผมจำไม่ผิด วันที่ 5 ธันวาคม 2556 ตอนนั้น กปปส. ชุมนุมประท้วง เขาเรียกร้องอะไรก็แล้วแต่ ไม่ต้องไปพูดถึงเขามาก ก็เกิดปัญหาขึ้น เพราะ 5 ธันวาคม เป็นวันสำคัญ ตอนนั้น กปปส. มีอาวุธเต็มไปหมดและเคลื่อนพลมาที่กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล 1 รอ.) ซึ่งติดกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล ผมเป็น ผบช.น. เก่า รู้พื้นที่ตรงนั้นดี ตอนนั้นทุกคนจะพุ่งเข้าใส่กัน ถ้าผมปล่อยไป สถานการณ์จะเป็นอย่างไร ตอนนั้นผมชอบใส่เสื้อแขนยาวสีขาว ผมไปยืนตรงกลางระหว่างสองกลุ่มเลย เขาก็บอกว่า รองฯ กลับไปเถอะ เขาจะยิงกันแล้ว

ตอนนั้น ผมยังดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าฯ อยู่ เลยบอกเขาไปว่า “ถ้ามึงยิงกูตาย จะจบไหม มึงยิงกูคนเดียวเลย อย่าตีกัน อย่าทะเลาะกัน มึงยิงกูเลย ไม่เป็นไร”

ตอนนั้นผมไปคนเดียวด้วย ค่อยๆ เดินเข้าไป แต่เขาก็ไม่ยิงผมนะ เพราะรู้ว่าผมมาคนเดียว อาวุธก็ไม่มี นั่งมอเตอร์ไซค์มาคนเดียว เข้าไปคุยกับทหาร – ตำรวจ ฝั่งขวามือก็เป็นทหาร – ตำรวจ ฝั่งซ้ายมือก็เป็นม็อบ กปปส. 600 – 700 คน ฝั่งนี้ก็เตรียมกำลังไว้ ถ้าผมปล่อยให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ก็จะเกิดการนองเลือด 

ถามว่าผมมีความผูกพันกับใครไหมใน กปปส. ท่านอดีตรองนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ ผมรู้จักแค่ว่าเขาดำรงตำแหน่งอะไรแค่นั้นเอง ไม่มีความผูกพัน หรืออย่างจั้ม สกลธี เขาเป็น กปปส. ตอนนั้นยังไม่ได้เป็นรองผู้ว่าฯ กทม. เขาก็เย้วๆ อยู่บนเวที แต่ผมไม่ได้ผูกพันอะไรกับเขา 

ใครก็แล้วแต่ที่ขอให้ผมช่วย ผมก็ทำให้หมด อะไรที่มันไม่ผิดระเบียบ ไม่ผิดกฎหมาย ผู้ชุมนุมทุกฝ่ายก็ถือว่าเป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น จะไปทะเลาะ ไปฆ่าไปแกงกันทำไม แตกแยกกันก็ไปคุยกัน ว่ากันตามระบอบ ไม่ใช่หันอาวุธมาฟาดฟันกัน

ม็อบของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ ได้รับการจัดสรรห้องน้ำจาก กทม. บ้างไหม

ก็ทำหนังสือมา ผมบอกเขาว่าทำหนังสือมานะ จะได้มีที่มาที่ไป แต่เขาทำหนังสือมานิดเดียวแล้วจะให้ผมทำอย่างไร จะให้เอาไปให้เฉยๆ โดยที่เขาไม่ขอ ไม่มีเอกสาร เดี๋ยวก็จะถูกรัฐบาลกล่าวหาว่าไปเข้าข้างพวกเขาอีก 

แต่ถ้ากลุ่มผู้ชุมนุมทำหนังสือขอมา คุณอัศวินก็อำนวยความสะดวกให้ตลอดใช่ไหม

ให้ ถ้าทำหนังสือมา ไม่ว่าจะเป็นม็อบที่มาล้อมทำเนียบรัฐบาล มาร้องเรียนเรื่องต่างๆ ถ้ามีหนังสือมาก็ให้เลย ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ หรือไฟฟ้าส่องสว่าง

คุณอัศวินคิดว่าฐานคะแนนเสียงครั้งนี้ของตัวเองเป็นคนกลุ่มไหน

ผมก็อยากฝากน้องๆ ด้วยแล้วกัน ถ้ารักใครชอบใคร แต่ตัวเต็งๆ มันก็มี 5-6 คน ก็เลือกเข้าไป แต่ถ้ายังไม่มีตัวเลือกที่เข้าตา หรือนึกไม่ออก ก็เลือกตาอัศวินดีกว่า จะได้ทำงานต่อไปได้เลย

หากจะต้อง ‘ขายของ’ หรือโฆษณาประชาสัมพันธ์กับเด็กรุ่นใหม่ จะบอกพวกเขาว่าอย่างไรบ้าง

จริงๆ แล้วเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่ใช่เด็กรุ่นใหม่เสียทีเดียว เช่น คนพิการอย่างคุณสว่าง ศรีสม ขอโทษนะ เขาเรียกกันว่ามนุษย์ล้อ ตั้งแต่ผมมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ใหม่ๆ เขามาขอร้องให้ทำลิฟต์คนพิการ ตอนนี้ผมทำให้ครบหมดแล้ว

ตอนนี้ผมเปิดกว้างสานต่อโยบาย 3 อย่างคือ

1. ต้องเป็นนักปฏิบัติ

2. ต้องประสาน

3. ต้องเปิดกว้าง

ผมรับคนทุกเพศทุกวัยที่มีเจตนารมณ์อยากช่วย อย่างน้องๆ ที่มาช่วยกัน หากคนนี้เก่งเรื่องพยาบาล หมอ คนนี้อาจจะเก่งเรื่องวิศวกรรมศาสตร์ คนนี้อาจจะเก่งเรื่องระบายน้ำ ก็มาช่วยเรามากมายหลายส่วน คือผมเปิดรับมาตั้งนานแล้ว

อยากจะบอกน้องๆ คนรุ่นใหม่ ใครที่อยากจะมาช่วยกัน ไม่ต้องอยากมาช่วยผม แต่มาช่วยกรุงเทพฯ ให้มันดีขึ้น อยากให้กรุงเทพฯ เป็นอย่างไรก็มาช่วยผมคิดสิ คนที่มีประสบการณ์สูงเขาคิดอย่างไร คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยคิดอย่างไร บางทีคิดตามแบบคนรุ่นใหม่อาจจะดีกว่าเรา คนที่มีประสบการณ์สูงอาจคิดไม่ถึง ต่อไปถ้าผมได้เป็น ผู้ว่าฯ กทม. จะเอามาร่วมกันบริหารประเทศด้วย

ช่วงที่ผ่านมา หากใครลงข่าวหรือวิจารณ์การทำงานของ กทม. ในแง่ลบ มักเจอกลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ หรือ ‘ไอโอ’ เสมอ ขอสอบถามตรงๆ เลยว่า ทีมของอดีตผู้ว่าฯ อัศวิน มีไอโอจริงไหม

ไม่มีครับ (ยิ้ม)

คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ คุณได้เปรียบผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ท่านอื่นไหม เพราะเคยดำรงตำแหน่งมาแล้วทั้งรองผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าฯ กทม.

ไม่ได้เปรียบหรอก อยู่ที่ประชาชนมากกว่าที่ต้องตัดสินใจเป็นคนชี้ขาดว่า ใครได้เปรียบเสียเปรียบ ถามว่าคนที่ลงสมัครทุกคนต้องคิดอยากจะเป็นผู้ว่าฯ กทม. ทั้งนั้น แม้กระทั่งผมเองก็ตาม แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ผมขอแค่คนที่ชนะเลือกตั้งทำอะไรก็ได้ให้ประชาชนกรุงเทพฯ สะดวกสบาย ปลอดภัย คุณภาพชีวิตดีขึ้น 

เพราะที่ผ่านมาการทำงานของผมจะเน้นอยู่ 3 อย่างคือ 1. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 2. ความสงบสุข 3. ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่าพลตำรวจเอกอัศวินลงเลือกตั้งครั้งนี้ มีสถานะเป็นตัวแทนของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา คุณมีความเห็นอย่างไรบ้าง

คงไม่ใช่นะครับ (หัวเราะ) คือถ้าผมเป็นตัวแทนของพลเอกประยุทธ์จริง ผมก็ต้องไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ หรือผมจะลงแบบไม่มีสังกัดก็ได้ พอมาดูฐานคะแนน หลายคนอาจจะบอกว่าพรรคพลังประชารัฐหนุนผมอยู่ แต่ผมไม่ใช่ คุณจะเห็นว่าผมมีกลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ ของผมเอง ที่ส่งลงแข่งกับพรรคพลังประชารัฐ สมมติว่าเขาหนุนจริง ผมจะไปลงแข่งกับเขาทำไม 

ลองสังเกตดูนะว่า ผมส่งลงแข่ง 46 เขต และพรรคพลังประชารัฐเองก็ส่ง 50 เขตเช่นกัน ถ้าผมเป็นตัวแทนพรรคพลังประชารัฐจริง ผมอิงเขาไม่ดีกว่าหรือ นี่ชนกันเต็มๆ แข่งกันตามระบอบประชาธิปไตย

ผมพูดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้เลยว่าไม่ได้อิงแอบ ยกเว้นแต่ถ้าเขาชอบผม เพราะอัศวินทำการบ้านไม่ใช่การเมือง ผมพูดได้เต็มปากมากกว่าบางคนที่บอกว่าลงอิสระ ไม่รู้ว่าเขาอิสระจริงหรือเปล่า แต่ผมอิสระจริงๆ

แต่ก็เป็นไปได้ที่หลายคนยังคิดอยู่ว่าคุณอัศวิน ‘อิง’ กับพลเอกประยุทธ์ เพราะพลเอกประยุทธ์ก็เป็นคนแต่งตั้งคุณเป็นผู้ว่าฯ มาก่อน

สิ่งที่สำคัญที่สุดคืองาน และผมก็ภาคภูมิใจมากในงานพระบรมศพรัชกาลที่ 9 ถ้าไม่ใช่ผม คนอื่นเขาจะจัดการได้ไหม ถ้าพลเอกประยุทธ์รักและเมตตาผมตรงนี้ก็ขอบคุณท่าน แต่ว่าแนวความคิดกับแนวทางปฏิบัติเราอาจจะไม่เหมือนกัน เพราะแนวปฏิบัติผมแยกชัดเจน

คุณเห็นไหมถ้าใครสั่งผมแบบไม่ถูกต้อง ผมไม่มีทางทำ แต่ถ้าสั่งในเรื่องที่ถูกต้องเป็นประโยชน์กับสังคม เป็นประโยชน์กับคนกรุงเทพฯ ผมทำแน่นอน

Fact Box

  • ในปี 2553 พลตำรวจเอกอัศวิน หรือที่สื่อมวลชนสายตำรวจเรียกว่า 'บิ๊กวิน' ได้รับการตั้งฉายาว่า 'อัศวินปิดจ๊อบ' จากการเป็นหัวหน้าชุดคลี่คลายคดี นพพล ประสงค์ศิล (จิ๊บ ไผ่เขียว) คดีวิสามัญฆาตกรรม ชาญชัย ประสงค์ศิล (โจ๊ก ไผ่เขียว) สองพี่น้องมาเฟียคดียาเสพติด และก่อนหน้านั้น ยังเป็นผู้จับกุม สมคิด พุ่มพวง และเป็นหนึ่งในทีมของ พลตำรวจเอก สล้าง บุนนาค นำกำลังตำรวจเข้าจับกุม สุเทพ เรือนใจมั่น หรือ โจ ด่านช้าง ที่จังหวัดสุพรรณบุรี จนกลายเป็นคดี 'วิสามัญฆาตกรรม' ในเวลาต่อมา
  • พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ในสมัยยังรับราชการตำรวจ มีผลงานโดดเด่นในฐานะ ‘มือปราบ’ เคยดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ผู้บังคับการกองปราบปราม และผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เกษียณอายุในตำแหน่งที่ปรึกษาสัญญาบัตร 10 (สบ 10) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนที่ ‘พรรคประชาธิปัตย์’ จะเชิญชวนให้เข้ามาเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ในสมัยหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.
  • พลตำรวจเอกอัศวินได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ในวันที่ 18 ตุลาคม 2559 ด้วยอำนาจมาตรา 44 ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ด้วยเหตุผลที่ระบุว่า เพื่อให้เข้ามาดูแลการจัดพระราชพิธีพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 และภายหลังทำงานในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ได้ 5 ปี 5 เดือน 5 วัน เขาจึงตัดสินใจลาออกเพื่อชิงตำแหน่งเดิมอีกครั้ง
  • ก่อนหน้านี้ มีชาว ‘สีกากี’ เป็นแคนดิเดตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกคนหนึ่ง คือพลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้เป็นรุ่นน้องของพลตำรวจเอกอัศวิน แต่ว่ากันว่าพลตำรวจเอกจักรทิพย์ได้ตัดสินใจ ‘หลีกทาง’ หลังจากพลตำรวจเอกอัศวินมีความมุ่งมั่นที่จะลงรับสมัครอีกหนึ่งสมัย และทำให้ ‘กลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ’ บางส่วน หันมาสนับสนุนพลตำรวจเอกอัศวินในการเลือกตั้งครั้งนี้
Tags: , , , , , , , ,