มีรอยยิ้มแต่แววยังไม่คลายเศร้า เหนื่อยเขายอมรับ ตั้งแต่วันที่น้ำท่วมทะลักบ้านช่อง ข้าวของระเนระนาดและพลัดพราย
“ครั้งนี้หนัก เหมือนกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่เลย”
วิกฤตมหาอุทกภัย พายุโซนร้อน เอลนีโญ-ลานีญา พื้นที่ซับน้ำ เขาหัวโล้น ดินโคลนถล่ม และประโยคของหนุ่มสารภี ทวีความสนใจของเราต่อการมาถึงของหนังสือ เกษตรนิเวศ : วิทยาศาสตร์และการเมือง โดย ปีเตอร์ เอ็ม. รอสเซ็ต (Peter M. Rosset) และมิเกล เอ. อัลเตียรี (Miguel A. Altieri) สองศาสตราจารย์ผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้และกรณีศึกษาเกี่ยวกับหลักการเกษตรนิเวศที่ใช้กันทั่วโลก พร้อมประกาศกร้าวว่า นี่คือวิถีทางการเกษตรที่จะสร้างความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หนุนเสริมให้เกษตรกรสามารถรับมือกับผลกระทบจากภาวะโลกรวน รวมถึงเพิ่มกำลังการผลิตและรายได้โดยไม่ทำลายล้างตัวเอง เฉกเช่นเกษตรทุนนิยมที่ขูดรีดผู้คน ธรรมชาติ และเป็นหนึ่งตัวการของภัยพิบัติที่มนุษย์ต้องเผชิญทุกวันนี้
หนังสือตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2560 ขณะฉบับภาษาไทยเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อประมาณเดือนที่ผ่านมา สถานที่จัดงานเกิดขึ้น ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลายคนอาจเอะใจว่า เหตุใดจึงไม่ใช่คณะเกษตรศาสตร์ แต่เรื่องนี้ก็สามารถเข้าใจได้
“เกษตรนิเวศเป็นรูปแบบของเกษตรกรรมที่เรียกร้องให้เราท้าทายและเปลี่ยนแปลงระบบการผลิต การตลาด และความสัมพันธ์ของระบอบอาหาร ที่สำคัญคือ มีเป้าหมายชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางสังคม” แพร-อารียา ติวะสุระเดช หนึ่งในผู้แปลร่วมกับ ภัควดี วีระภาสพงษ์ กล่าว
เธอหั่นเวลามาสนทนากับเราตลอดบ่าย พลางเล่าให้ฟังอย่างกระฉับกระเฉงว่า ‘เกษตรนิเวศ (Agroecology)’ คำนี้ จริงๆ แล้วถูกพูดมานานกว่า 40 ปี แต่เพิ่งจะเป็นที่รับรู้ของคนไทยได้ราวๆ หนึ่งทศวรรษ กระนั้นโดยหลักการของมันยังคงมีความร่วมสมัยและน่าสนใจ
“เรารู้สึกว่า การศึกษาไทยยังคงจำกัดและแบ่งแยกความเฉพาะทาง ไม่เปิดทางให้กับความคิดสหวิทยาการ ตรงกันข้าม หนังสือเล่มนี้พยายามชี้ชวนเราให้มองการเกษตรแบบองค์รวม ทำความเข้าใจว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาคเกษตรไม่ใช่แค่ปัญหาของนักเกษตรศาสตร์เท่านั้น แต่จำเป็นต้องมีนักสังคมศาสตร์ ชาวบ้าน ชาวนา มาร่วมคิดร่วมแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เพราะเอาเข้าจริง เราว่าปัจจุบันปัญหาต่างๆ ในสังคมมันซับซ้อนและยิ่งซับซ้อนขึ้นทุกวัน จนเราไม่สามารถตีตราได้ว่า น้ำท่วมเพราะเหตุผลเดียวอีกต่อไป แต่มันมีทั้งความรุนแรง ความเหลื่อมล้ำ ผลกระทบและการเยียวยาที่ได้รับไม่เท่ากัน แม้จะเป็นภายในพื้นที่เดียวกันก็ตาม”
ก่อนจะมาจับงานแปล แพรเคยเป็นนักส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ นักขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และเป็นล่ามทำงานร่วมกับกลุ่มคนทำงานขับเคลื่อนประเด็นสิทธิชุมชน สิทธิสตรี และสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ประสบการณ์ทั้งมวลมีส่วนจุดมุมมองให้เห็นว่า เกษตรกรรมเป็นอีกศาสตร์พัฒนาสิ่งแวดล้อมที่จับต้องได้ และเกษตรนิเวศถือเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพเพียงพอ ในการพลิกฟื้นหายนะจากสภาพอากาศอันเลวร้าย
น่าสนใจว่า อะไรทำให้เธอคิดเช่นนั้น เกษตรนิเวศคืออะไรแน่ แตกต่างจากเกษตรทางเลือกอื่นๆ อย่างไร ความตื่นตัวและโจทย์ท้าทายของการผลักดันแนวคิดนี้ในสังคมไทย หรือไว้ใจได้แค่ไหนว่า มันจะเป็นทางเลือกที่ไม่ทำให้ใครต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ทำไมถึงเชื่อว่า เกษตรนิเวศสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้?
เราเพียงแต่คิดว่า มันเป็นอะไรที่น่าทดลองนะ แล้วอย่างน้อยที่สุดหนังสือเล่มนี้ก็แสดงให้เห็นหลักฐานว่า เกษตรนิเวศช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ หรือการที่ชุมชนมีศักยภาพบางอย่างในการรับมือและฟื้นตัวจากภัยพิบัติได้ อีกทั้งยังเป็นหลักการที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกด้วย
มีพื้นที่ไหนบ้างที่ทำเกษตรนิเวศ
ถ้าอิงตามตัวอย่างกรณีศึกษาในเล่มนี้ก็จะมีประเทศต่างๆ แถบลาตินอเมริกา แอฟริกา ส่วนเอเชียจะเป็นประเทศอินเดีย แต่โดยมากจะนิยมใช้ในแถบลาตินอเมริกา เพราะกลุ่มหลักผลักดันเรื่องเกษตรนิเวศอยู่ที่นั่นด้วย เช่น ‘ขบวนการชาวนาสากล’ หรือ La Via Campesina ที่มีเครือข่ายสมาชิกกระจายตัวทั่วโลก รวมถึงไทยก็มีองค์กรที่ร่วมเป็นเครือข่าย อย่างสมัชชาคนจนและสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ซึ่งกลุ่มขบวนการชาวนาเหล่านี้ จะนำหลักการเกษตรนิเวศไปปรับใช้และหนุนเสริมภารกิจงานของตนเอง ทำให้มีการขับเคลื่อนเรื่องเกษตรนิเวศอยู่ทั่วโลกผ่านขบวนการนี้
ลาตินอเมริกาถือเป็นต้นกำเนิดหลักการนี้เลยไหม
จริงๆ หลักการเกษตรนิเวศมีพื้นฐานมาจากภูมิปัญญาทางการเกษตรของชาวนาและชนพื้นเมืองทั่วโลก เป็นสิ่งที่มีคนทำอยู่แล้ว แค่ไม่ได้มีคำนิยาม เพียงแต่ที่มันมาเบ่งบานในดินแดนลาตินอเมริกา เนื่องจากอัลเตียรี ผู้เขียนซึ่งเป็นนักกีฏวิทยาชาวชิลีคนแรกๆ ที่เริ่มผลักดันคำว่า เกษตรนิเวศ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ทั้งผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรและผู้คนในพื้นที่ รวมทั้งถ่ายทอดความรู้เรื่องนี้ในฐานะศาสตราจารย์ด้านเกษตรศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ประกอบกับปีเตอร์ ผู้เขียนอีกคนก็ทำงานกับทางเครือข่าย La Via Campesina และเป็นศาสตราจารย์ศึกษาทางด้านเกษตรนิเวศ สถาบันวิจัยและบัณฑิตศึกษาแห่งพรมแดนซีกโลกใต้ ประเทศเม็กซิโก ฉะนั้นด้วยบริบทดังกล่าว จึงนับว่าลาตินอเมริกามีส่วนสำคัญในการจุดประเด็นเกษตรนิเวศให้เป็นที่น่าจับตามอง
สนใจอะไรในเกษตรนิเวศ
หลักๆ เลยคือ เราสนใจการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ระบบนิเวศเกษตร เรื่องนี้อาจต้องย้อนกลับไปตรงการเกิดขึ้นของคนอนุรักษ์ที่เชื่อว่า พื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ป่าถูกคุกคามโดยภาคเกษตร ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นจะต้องกันภาคเกษตรออกจากป่า เพื่อรักษาผืนป่าเอาไว้ ซึ่งเรามองว่า มันเป็นแนวคิดที่ล้าหลัง เพราะมีข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์มากมายที่ชี้ให้เห็นว่า ป่าอุดมสมบูรณ์หลายๆ แห่งเกิดขึ้นได้ เพราะมีการเข้าไปใช้พื้นที่เพาะปลูก
อย่างไรก็ตามเราอาจไม่สามารถเหมารวมได้ว่า ภาคเกษตรทั้งหมดเป็นเหมือนกัน อุตสาหกรรมเกษตรกับการเพาะปลูกเพื่อยังชีพ ก็คนละแนวทาง คนละความคาดหวัง หมายความว่า ภาคเกษตรขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรแปลงใหญ่ หรือเกษตรอุตสาหกรรมที่เข้าไปเพื่อทำเกษตรเชิงเดี่ยว ใช่ มันคือการคุกคาม แต่สำหรับอีกกลุ่มที่ถ้าเขาไม่เข้ามาบุกเบิกทำการเพาะปลูกพืชผล พื้นที่บริเวณนั้นอาจจะยังคงเป็นแค่ทุ่งหญ้าแห้งๆ แล้วการเพาะปลูกด้วยวิถีภูมิปัญญาดั้งเดิมของเขา ก็ช่วยให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพตามมา
ดังนั้นในขณะที่มีการพยายามขีดเส้นแบ่งว่า อนุรักษ์เท่ากับไม่เอาเกษตร เราคิดว่าเกษตรนิเวศพยายามทำให้เห็นว่า การเกษตรก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ซึ่งหมายความว่า คุณต้องยอมรับว่าคนอยู่กับป่าได้ คนอยู่ร่วมกับระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ได้ เพราะเขามีส่วนทำให้มันเกิดขึ้น
การอนุรักษ์ป่าไม่จำเป็นต้องปลอดคน
เรามองว่า การทำป่าให้เป็นป่าปลอดคน เป็นประภาคารที่ขีดเส้นล้อมกรอบว่า พื้นที่ตรงนี้มีไว้ให้ต้นไม้เท่านั้น มันเป็นการฟอกเขียวอย่างหนึ่ง เพราะหลายครั้งมันไปกระทบสิทธิชุมชนดั้งเดิมที่เขาอยู่อาศัยในพื้นที่ตรงนั้นมาหลายชั่วรุ่น ขณะกฎหมายอนุรักษ์เพิ่งจะเกิดขึ้นภายหลังไม่ถึงร้อยปี อีกอย่างยังส่งเสริมให้เกิดการฟอกเขียวที่ดูดี เช่น การปลูกต้นไม้ของบางอุตสาหกรรมที่เป็นตัวการสำคัญในการแย่งยึดที่ดิน ทำเหมืองขุดเจาะ และปล่อยมลพิษ แล้วเลือกปลูกป่าทดแทนคาร์บอนที่สร้าง ซึ่งหลายคนก็ชื่นชมเพราะภาพที่เห็นคือ ต้นไม้เยอะๆ เท่ากับป่าสมบูรณ์ แต่คำถามก็คือต้นไม้ที่ปลูกคือต้นอะไร สิ่งนี้คือปัญหา เพราะการปลูกต้นไม้ส่งผลต่อระบบนิเวศ แล้วหลายครั้งต้นไม้ที่เลือกก็กลายเป็นการทำให้เกิดป่าเชิงเดี่ยวแทน
คำถามต่อมาคือ พื้นที่ที่ปลูกมีคนอยู่อาศัยหรือเปล่า คุณใช้กระบวนการทางกฎหมายหรือนโยบายอะไรเข้าไปยึดพื้นที่ตรงนั้น แล้วบอกว่าพยายามปกป้องผืนดิน ปลูกป่า เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ แต่ขณะเดียวกันประชาชนในพื้นที่กลับต้องสูญเสียและตกเป็นเหยื่อ
ฉะนั้นเรารู้สึกว่า คำว่า ‘ป่าปลอดคน’ มันต้องกลับมาถามว่า คนที่ว่าคือคนประเภทไหนด้วย เพราะในปัจจุบันมีความรู้มากพอที่ทำให้เห็นว่าป่าหลายๆ แห่งอยู่ได้ เนื่องจากมีคนเข้าไปช่วยเกื้อหนุนทำให้เกิดภูมิทัศน์อย่างที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะที่ซาโตยามะ (Satoyama) ประเทศญี่ปุ่น หรือหลายพื้นที่ของลาตินอเมริกา หรือแม้แต่ในประเทศไทยเอง
สรุปเกษตรนิเวศก็คือ การเกษตรที่คำนึงถึงความหลากหลายเชิงนิเวศ?
หลากหลายและยั่งยืน โดยในแง่ความหลากหลาย ยังรวมถึงองค์ความรู้ที่ใช้ในการขับเคลื่อน ซึ่งมีทั้งด้านการค้นคว้าวิจัยและด้านภูมิปัญญาทางการเกษตร ผสมผสานและหนุนเสริมกันและกัน สะท้อนจากตัวมิเกลเองที่เป็นนักวิทยาศาสตร์และเขียนเรื่องนี้ เพราะเขาก็เชื่อเหมือนกันว่า เราสามารถใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาหนุนเสริมเกษตรกรได้ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่คนขั้ว สามารถสร้างการทำงานร่วมกันของนักวิทยาศาสตร์ที่มองเห็นปัญหาในระบอบอาหาร ในการทำเกษตร
แต่ขณะเดียวกันก็ตระหนักว่า คนที่จะทำให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงได้นั้นคือเกษตรกรและชาวนา ทั้งหมดต้องทำงานร่วมกัน รวมไปถึงการเปิดให้เรื่องของการเกษตร ไม่ใช่แค่เรื่องของนักเกษตรศาสตร์ หากยังเกี่ยวข้องกับนักนิเวศวิทยา มานุษยวิทยา วิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่เศรษฐศาสตร์ ซึ่งเราคิดว่าหนังสือเล่มนี้ทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้น ในเรื่องการเชื่อมประเด็นวิทยาศาสตร์ของการเกษตร รวมทั้งการเมืองของการเกษตร
เกี่ยวโยงการเมืองด้วย
ใช่ แต่เป็นในแง่การเมืองของการต่อสู้ทางความรู้ อย่างที่บอกว่าหลักการของเกษตรนิเวศคือการหลอมรวมหลากศาสตร์บวกกับภูมิปัญญาเกษตรดั้งเดิม ผ่านการทำงานวิจัยอย่างมีส่วนร่วม ดังนั้นสิ่งที่มันพยายามต่อสู้ก็คือ เกษตรอุตสาหกรรมที่มองระบบนิเวศภาคเกษตรเป็นเพียงเครื่องจักร แยกส่วน ไร้ชีวิต หากมีบางสิ่งพังลงก็เพียงแค่เปลี่ยนมันใหม่ หรือหาปัจจัยอะไรบางอย่างมาทำให้มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในแง่หนึ่งความหลากหลายที่เราว่ากันมาคือ การยอมรับว่าสรรพสิ่งมีชีวิตและมีอิสรภาพในการตัดสินใจ
อีกสิ่งที่เกษตรนิเวศพยายามต่อสู้ ก็คือการที่ทุนพยายามผลักของเสียออกมาเป็นภาระให้คนอื่นแบกรับ ขูดรีดและลดทอนให้สิ่งอื่นดูไร้ค่า ราคาถูก ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรืออาจใช้คำว่า ‘พัฒนาก่อน สิ่งแวดล้อมไว้ทีหลัง’ ซึ่งท้ายสุดก็กลับมาเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่หนังสือชี้ชัด ไม่ใช่การบอกว่าจะทำให้ชาวนารวยขึ้นอย่างไร หรือแก้หนี้นอกระบบอย่างไร ผู้เขียนไม่ได้มีคำตอบให้กับเรื่องนี้ แต่เขามีวิธีการที่ถ้าเราเชื่อว่าจะต้องเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจและระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบการผลิต ระบบตลาด และความสัมพันธ์ของระบอบอาหาร แต่เกษตรนิเวศขอเป็นทางเลือกนำการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่แตกต่างจากเกษตรทฤษฎีอื่นๆ อย่างชัดเจน
แต่งต่างอย่างไร?
ถ้าเทียบในเชิงเทคนิคอาจดูไม่ต่างกันมากกับเกษตรเพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture) เกษตรกรรมเชิงฟื้นฟู หรือเกษตรผสมผสาน แต่สิ่งที่แตกต่างชัดเจนของเกษตรนิเวศคือ จะไม่มีการแบ่งแยกแบบสวนใครสวนมัน นาใครนามัน เนื่องจากว่ามันเติบโตมากับกลุ่มกระบวนการทางสังคม จึงจะเน้นกระบวนการเชื่อมความสัมพันธ์ คล้ายกันกับธรรมชาติที่ทุกอย่างในระบบนิเวศมีความสัมพันธ์กัน ดังนั้นไม่ว่าจะชาวนา ชาวไร่ หรือผู้บริโภคในเมืองทุกคนล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์ จะไม่มีการบอกว่าคุณเป็นเสรีชน ปัจเจกชน ต้องดูแลตัวเองสิ พึ่งพาตัวเองสิ คือเราต้องเติบโตไปด้วยกัน
อีกทั้งมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนความรู้ในเชิงหนุนเสริม รวมถึงการจัดตั้ง เพราะสุดท้ายแล้วเกษตรนิเวศเชื่อว่า ถ้าเราไม่รวมกลุ่มกัน ไม่ร่วมกันทำ ก็ไม่ง่ายนักหากจะรักษาความหลากหลายของนิเวศและอาหารท้องถิ่น ด้วยความที่ระบบโครงสร้างของระบอบอาหารในปัจจุบันเอื้อให้ทุนนิยมอาหาร หรือเกษตรอุตสาหกรรมสามารถจะแผ่ขยายและกดดันให้ผู้คนรู้สึกว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องทำแบบนี้
นอกจากนี้เกษตรนิเวศยังให้ความสำคัญกับการเข้าถึงที่ดินและสิทธิของเกษตรกร ซึ่งช่วยให้สามารถต่อรองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อรักษาอาหารท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ใช่แค่เพียงปลูกให้งาม ปลูกให้ได้ปริมาณมาก หรือให้มีแต่พืชเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่
พอจะยกตัวอย่างได้ไหม
ในหนังสือเล่มนี้มีการรวบรวมกรณีศึกษาการทำเกษตรนิเวศด้วย แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ทางประเทศแถบลาตินอเมริกา หากใกล้ตัวขึ้นมาหน่อยก็คือ กรณีศึกษาของอินเดีย ซึ่งสำหรับเราสิ่งหนึ่งที่อินเดียต่างจากลาตินชัดเจนคือเรื่องชนชั้น เราคิดว่าปัญหาของภาคเกษตรของอินเดียยังยึดโยงอยู่กับเรื่องชนชั้น และชนชั้นก็นำไปสู่สิทธิในเรื่องการถือครองที่ดิน ใครเป็นเจ้าที่ดินมาก่อน ใครเช่านาแล้วต้องจ่ายส่วย
อย่างไรก็ตามเราไม่ได้รู้จักอินเดียลึกซึ้งขนาดนั้น แต่เราว่าอินเดียน่าสนใจตรงที่เป็นประเทศที่มีนักคิดทางด้านเกษตรศาสตร์จำนวนมากที่พูดถึงเรื่องความไม่เท่าเทียม การฟอกเขียวต่างๆ รวมถึงแนวคิดอธิปไตยทางอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่หลักการเกษตรนิเวศพยายามเชื่อมโยงส่งเสริมด้วย
อธิปไตยทางอาหารกับความมั่นคงทางอาหาร 2 คำนี้ต่างกันอย่างไร
ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) คำนี้เกิดขึ้นราวทศวรรษ 1970 ใกล้กันกับช่วงที่คำว่า เกษตรนิเวศเริ่มปรากฏมากขึ้น ช่วงนั้นทางฝั่งประเทศพัฒนาแล้วมองว่า ประชากรกำลังจะล้นโลก จะเกิดความอดอยาก หิวโหย และวิกฤตการณ์ทางอาหาร ฉะนั้นจึงพยายามหาแนวทางที่จะทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเด็น ได้แก่ การมีอาหารเพียงพอ การเข้าถึงอาหาร การใช้ประโยชน์จากอาหาร และการมีเสถียรภาพด้านอาหาร
แต่ปัญหาก็คือ แล้วอาหารแบบไหนที่ต้องมีเสถียรภาพและเพียงพอ หลายครั้งคนที่ผลักดันเรื่องความมั่นคงทางอาหาร จึงเป็นภาคอุตสาหกรรมและเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งบอกว่าต้องทำเชิงเดี่ยวหรือผลิตแบบอุตสาหกรรมที่มองในด้าน Economies of Scale ยิ่งผลิตมาก ยิ่งต้นทุนต่ำ ยิ่งมีประสิทธิภาพ
ตรงกันข้ามกับฝั่งอธิปไตยทางอาหาร (Food Sovereignty) ที่มองว่า การทำเกษตรกรรมรูปแบบนี้ขาดมิติด้านความหลากหลาย ไม่มีมิติของการที่ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์ เพราะบรรษัทเหล่านั้นมักพยายามจดลิขสิทธิ์ทุกอย่าง แสดงความเป็นเจ้าของ ถ้าคุณต้องการเรามีขาย คุณไม่สามารถหยิบเอาไปใช้ได้ดื้อๆ เพราะถือเป็นการขโมย ประเด็นการผูกขาดสิทธิเมล็ดพันธุ์จึงเป็นประเด็นที่กลุ่มอธิปไตยทางอาหารมักจะชู
เราคิดว่า อธิปไตยในแง่หนึ่งก็คือความเป็นอิสรภาพ แต่เป็นอิสรภาพที่จะกำหนดชะตาชีวิตตนเอง รู้สึกตัวเองมีพลังมากพอที่จะทำอะไรได้ โดยไม่ต้องมีโครงสร้างหรือใครมาควบคุมตลอดเวลา พอนำมาโยงเข้ากับเรื่องอาหาร มันหมายความว่า คุณมีอิสรภาพจากการถูกจำกัดว่าจะต้องกินอะไร และสามารถเลือกได้ว่าอยากอยู่กับชุมชนแบบไหน ระบบนิเวศแบบไหน อยากพัฒนา หรือดูแลบ่มเพาะพื้นที่อย่างไรได้ด้วยตนเอง ซึ่งก่อให้เกิดความหลากหลายและความหลากหลายนั้นเป็นสิ่งที่แตกต่างชัดเจนใน 2 แนวคิดนี้
มีการกล่าวถึงเกษตรทุนนิยมว่า เป็นต้นตอของภัยพิบัติทางธรรมชาติ คุณมีมุมมองว่าอย่างไร
ก็ใช่ แต่เราว่ามันก็ยุ่งเหยิงกว่านั้น เพราะประเด็นโลกร้อนปัจจุบันก็ไม่สามารถจำกัดอยู่แค่เรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่โลกร้อนมันยังเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน ใครอยู่ตรงนั้น ใครกันแน่สร้างปัญหา และใครได้รับผลกระทบ บทวิเคราะห์มันเกี่ยวโยงแต่มันไม่ควรจำกัดอยู่แค่นั้น
ยิ่งกรณีของบ้านเรา ยิ่งซับซ้อน แน่นอนว่ามันอาจเกี่ยวข้องกับการแปรปรวนของสภาพอากาศ และอาจเกี่ยวกับการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่ทำให้เกิดดินโคลนถล่มปริมาณมาก ซึ่งปัญหาของเกษตรเชิงเดี่ยวยังเกี่ยวโยงในอีกหลายๆ ด้าน แต่บางพื้นที่ปัญหาก็เกิดจากการจัดการน้ำร่วมด้วย
แต่คำถามต่อมาที่เราสนใจมากกว่าคือ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเหล่านั้นจะฟื้นตัวกลับมาอย่างไร สำหรับเราตอนนี้ เรามองว่าเกษตรนิเวศเป็นหนึ่งในวิธีการที่มีศักยภาพพอจะช่วยหนุนเสริมให้ชุมชนเหล่านั้นฟื้นตัวกลับมาได้ แล้วถ้าสมมติเขาฟื้นตัวกลับมาได้ มีตรงไหนบ้างไหมที่นโยบายของภาครัฐจะทำให้มันกลายเป็นแบบแผน หรือกลไกที่สามารถนำไปปรับใช้ เพื่อช่วยให้พื้นที่อื่นๆ ได้ฟื้นคืนกลับมาเหมือนกัน
กระแสเกษตรนิเวศในไทยเป็นอย่างไร
เราว่าในไทยน่าจะเพิ่งมานะ ทั้งที่เราได้ยินคำนี้มานานมากราว 10 ปีได้ แต่คิดว่าคงเป็นเพราะบ้านเรามีกลุ่มคนทำเรื่องเกษตรทางเลือกหลายแบบ และมีการแย่งชิงคำนิยามกันเต็มไปหมด ประกอบกับคนทำงานประเด็นทางสังคมในไทยยังมีความอนุรักษนิยมอยู่ด้วย ทำให้คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ เช่น วิธีการเรียกร้องสิทธิ หรือการรวมตัวกันมันแตกต่างกันมาก ทำให้แนวทางในการทำงานและขับเคลื่อนดูจะคนละแนวไปเลย
เราคิดว่า ตรงนี้ค่อนข้างจะปิดกั้นโอกาสในการตัดสินใจ หรือเลือกแนวทางขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมของคนรุ่นใหม่ แล้วพอเป็นเรื่องการเกษตรกับสิ่งแวดล้อม มันยังมีภาพของเศรษฐกิจพอเพียงหรือแนวคิดสีเขียวบางอย่าง ที่ตัดสิ่งที่เกษตรนิเวศพยายามทำ นั้นคือเรื่องของอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน
อีกอย่างกระแสเกษตรกรรมในเมืองหรือเกษตรกรคอนโด มันยังแยกประเด็นอาหารกับสิทธิในที่ดินและสิทธิชุมชนออกจากกัน สิ่งเหล่านี้นับเป็นโจทย์ท้าทายของการขับเคลื่อนเกษตรนิเวศในบ้านเรา แต่เราคิดว่ามันพอจะมีแนวทางบางอย่างอยู่
แนวทางที่ว่าคืออะไร
แนวทางสำคัญอันหนึ่งคือ การสร้างความเข้าใจให้เด็กสายวิทย์-คณิต มองเห็นว่าการเรียนประเด็นทางสังคมก็จำเป็น ไม่ใช่เพราะเกรดไม่ดี มีตัวอย่างมหาวิทยาลัยต่างประเทศเยอะแยะที่สอนวิชาปรัชญาและจริยธรรมให้กับนักศึกษาสายนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ กลับกันกับบ้านเราที่ตื่นตัวกับ Tech Startup มากๆ แต่ก็เน้นเฉพาะส่วนเทคโนโลยีเท่านั้น ไม่ได้มองโจทย์ประวัติศาสตร์ จริยธรรม ความเป็นธรรม หรือความหลากหลายของกลุ่มคนในสังคม
ขณะเดียวกันคนที่ทำประเด็นทางสังคมก็อาจมองว่า วิทยาศาสตร์คือผู้ร้าย มันขูดรีดและปิดรับมันไปเลย เหมือนทั้ง 2 สิ่งนี้ไม่มีทางมาเชื่อมโยงกันได้ ซึ่งถ้ามันมีแนวทางที่ทำให้คนค่อยๆ เรียนรู้ส่วนนี้ร่วมกัน ก็น่าจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้เกิดขึ้นได้
แล้วตลาดของเกษตรนิเวศอยู่ตรงไหนในเมื่อมันปฏิเสธวิถีทุนนิยม
เป็นเรื่องที่มิเกลถูกถามมาก่อนหน้านี้เหมือนกัน ภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า Solidarity Economy คำว่า Solidarity แปลว่า ความสมานฉันท์หรือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ในบริบทนี้คือการที่ตระหนักเห็นผู้อื่นในการแลกเปลี่ยนอาหาร อาจจะไม่ต้องย้อนไปสมัยปลูกข้าวแลกปลาก็ได้ เพียงแต่แลกเปลี่ยนบนพื้นฐานของความเกื้อหนุนจุนเจือกันและกัน ตลาดของเกษตรนิเวศจึงมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนซื้อขายที่จะต้องไม่เบียดเบียน ขูดรีด หรือทำให้ผู้ผลิตกลายเป็นแค่เครื่องจักรเครื่องหนึ่งในการทำให้ตลาดเติบโต
มันฟังดูอุดมคติไปไหม
ถ้าจะมองแบบนั้นก็ใช่ แต่เราคิดว่ามันก็มีคนพยายามทำในหลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ทำวิจัยของเรา ช่วงสถานการณ์โควิดมีพี่คนหนึ่งที่ก็ไม่ได้มีรายได้มาก แต่พอเห็นว่าอีกคนหนึ่งพิการ ก็เลยทำกับข้าวหรือมีอะไรก็หิ้วไปให้ เราคิดว่าการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้สึกว่าเราต่างเป็นเพื่อนมนุษย์และต้องดูแลช่วยเหลือกันและกัน มันคือพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่ทุนนิยมที่ฉันปลูก ฉันดูแล อยากได้ก็ซื้อสิ
อีกแง่หนึ่งก็อาจเป็นความโลกสวยของเราด้วยที่มองว่า ตราบใดคนยังเดินริมถนนแล้วสามารถเลือกเก็บผักริมรั้วกินได้ ก็เท่ากับว่าคนตัวเล็กตัวน้อยยังพอสามารถต่อรองได้ ใช่ ทุนขนาดใหญ่อาจคุมกลไกทางการเมือง ภาพรวมในระดับประเทศ คุมการเข้าถึงการศึกษา รวมถึงสวัสดิการต่างๆ มันเป็นสิ่งที่พวกเรารับรู้กันดี แต่ถ้าคิดแค่เรื่องแบบนี้มันก็จะยิ่งพาให้รู้สึกว่าหมดหนทาง แล้วส่วนตัวเราเองก็เชื่อว่า คนคนหนึ่งมีอำนาจมากพอที่จะค่อยๆ เรียนรู้และแลกเปลี่ยน
เพราะอย่างเราเองเติบโตในเมือง ไม่ได้รู้จักพืชผักไปมากกว่าคะน้า โหระพา ทว่าการได้รู้จักเกษตรกรชาวนา ชาวไร่ทางภาคอีสาน ทำให้เราค้นพบโลกอาหารที่มันแตกต่างหลากหลาย ซึ่งถ้าหากพวกเรายังสามารถรักษาสิ่งเหล่านี้เอาไว้ได้ อย่างไรสักวันหนึ่งจะต้องเปลี่ยนแปลง แล้วก็มองว่าการที่คนที่มีความคิดแตกต่างกัน มองโลกแตกต่างกันมาเจอกัน แลกเปลี่ยนคุยกันได้ และเชื่อมร้อยสายสัมพันธ์ มันคือส่วนสำคัญที่นำไปสู่การหาแนวทางแก้โจทย์ปัญหาท้าทายต่างๆ ที่เราพูดถึงกันมาทั้งหมด เราเชื่อมั่นตรงนี้
Tags: เกษตรนิเวศ, Agroecology Science and Politics, Peter M. Rosset, Miguel A. Altieri, การเมือง, วิทยาศาสตร์, Close-Up