นับเป็นเวลา 48 ปีแล้ว ตั้งแต่ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เริ่มต้นขึ้นในปี 1975 ท่ามกลางบริบททางการเมืองโลกในยุคสงครามเย็น (Cold War) คือการดำเนินนโยบายผ่อนคลายความตึงเครียด (Détente) ระหว่างโลกเสรีกับโลกคอมมิวนิสต์
แม้จะเป็นระยะเวลาที่สั้น หากเทียบกับชาติมหาอำนาจอื่น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนกลับแนบแน่นเป็นพิเศษ ดังสะท้อนจากคำกล่าวที่ว่า ‘จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน’ ที่คุ้นเคยมาแต่อดีต และหนาหูขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
นอกจากการเป็น ‘มหามิตร’ ที่มีความสนิทชิดเชื้อ จีนยังกลายเป็น ‘ต้นแบบ’ ของไทยหลายอย่างภายในไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ในฐานะชาติมหาอำนาจที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในทศวรรษ 1990 จนสามารถก้าวขึ้นมาแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาที่ฉายเดี่ยวอย่างโดดเด่นในเกมแห่งอำนาจ
ทว่าในอีกมุมหนึ่ง ความสัมพันธ์ไทย-จีนไม่ได้สวยงาม หรือดีพร้อมอย่างที่เห็น สะท้อนให้เห็นในความท้าทายและคำถามหลายประการในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารของไทยในปี 2014 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นการนิ่งเงียบต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และทุนสีเทา รวมไปถึงข้อพิพาทระหว่างประเทศอีกหลายกรณี
ขณะเดียวกัน รัฐบาลใหม่ของไทยที่นำโดย เศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทย ก็ทำให้สาธารณชนและนักวิเคราะห์บางส่วนต่างมีความคาดหวังว่า นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอาจช่วยขจัดประเด็นปัญหาข้างต้นได้ ดังที่เห็นจากหน้าสื่อ เมื่อ หาน จื้อเฉียง (Han Zhiqiang) เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เข้าพบนายกรัฐมนตรีคนใหม่ภายในไม่กี่วันหลังดำรงตำแหน่ง
ขณะที่มีมีเสียงครหาบางส่วนจากสาธารณชนว่า ‘ความสัมพันธ์แน่นแฟ้น’ นี้อาจกลับซ้ำเติมปัญหาและความท้าทายข้างต้นต่อไทย ผ่านนโยบายหลายอย่างของรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ต่อชาวจีนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการหลั่งไหลของคนจีนทั้งในรูปแบบนักท่องเที่ยว ผู้พำนัก รวมถึงทุนสีเทาที่ยังไม่เคยมีการแก้ไข
ท่ามกลางความคิดเห็นหลากหลาย The Momentum มีโอกาสสนทนากับ ศาสตราจารย์ ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล ผู้เชี่ยวชาญจีนศึกษา อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงมุมมองความสัมพันธ์ไทย-จีนตลอดระยะเวลา 48 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นในปัจจุบันและอนาคต ภายใต้รัฐบาลใหม่ของไทย
จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนในประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่ มีความเป็นมาอย่างไร
ตั้งแต่ไทยยุติความสัมพันธ์ในรูปแบบรัฐบรรณาการในสมัยรัชกาลที่ 4 หรือกลางศตวรรษที่ 19 ทางการก็ไม่ได้คิดจะมีความสัมพันธ์กับจีนตามแบบแผนการทูตสมัยใหม่เลย จนกระทั่งปี 1946 คือหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลจีน เมื่อครั้งพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang หรือ Chinese Nationalist Party: CNP) ยังปกครองจีนแผ่นดินใหญ่อยู่
ต้องอธิบายว่า ก่อนหน้านั้นไทยประวิงเวลา ไม่อยากมีความสัมพันธ์กับจีน สาเหตุหลักคือ เรามีความกลัวเกี่ยวกับความภักดีทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในไทย เพราะตั้งแต่หลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงเป็นต้นมา มีชาวจีนโพ้นทะเลจำนวนมากเข้ามาอยู่ในไทยเพื่อประกอบอาชีพแรงงาน ขณะที่รัฐบาลจีนในยุคนั้น ทั้งรัฐบาลราชวงศ์ชิงหรือรัฐบาลสาธารณรัฐจีน ก็ออกกฎหมายสัญชาติที่ระบุว่า ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน หากสืบเชื้อสายบิดาที่มีสัญชาติจีน คนจีนผู้นั้นก็จะได้รับสัญชาติจีนตลอดไป
ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะกฎหมายสัญชาติทำให้รัฐบาลไทยในต้นศตวรรษที่ 20 เกิดความกลัวอย่างยิ่งว่า แม้ว่าคนจีนจะมาอยู่ในไทยกี่รุ่น แต่หากยังมีสัญชาติจีนตามกฎหมายอยู่ คนจีนโพ้นทะเลอาจไม่มีความภักดีต่อรัฐบาลไทย
นั่นทำให้ไทยบ่ายเบี่ยงตลอดมา ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ทางการไม่อยากจะให้จีนมีสถานทูตในกรุงเทพฯ เพราะอาจกลายเป็นที่พึ่งพิงของคนจีนโพ้นทะเลในไทย สุดท้าย คนกลุ่มนี้อาจจะกล้าต่อรอง หรือเรียกร้องสิ่งต่างๆ จากรัฐบาลไทยมากขึ้น
ย้อนกลับมาที่ปี 1946 ไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลจีนภายใต้พรรคก๊กมินตั๋ง เรายังระแวงจีนอยู่ก็จริง แต่ปัจจัยสำคัญคือ ไทยเข้าข้างญี่ปุ่น ประเทศฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่สอง แต่พอฝ่ายอักษะแพ้ ไทยก็มีความกลัวถึงสถานะของตนเอง เรากลัวจะถูกลงโทษ
ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่ประกันเอกราชของไทยได้ในเวลานั้น คือต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ให้เร็วที่สุด นั่นจึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากชาติมหาอำนาจห้าประเทศ ที่อยู่ในคณะมนตรีความมั่นคง (United Nations Security Council: UNSC) โดยจีนฝ่ายก๊กมินตั๋งของเจียง ไคเช็ก (Chiang Kai-shek) เป็นหนึ่งในสมาชิกประเทศ ไทยจึงต้องจำใจสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนในปี 1946
แต่พอผ่านไปสามปี คือปี 1949 เกิดสงครามกลางเมืองในจีน และจบลงด้วยการหนีของเจียง ไคเช็ก กับพรรคก๊กมินตั๋งไปที่ไต้หวัน ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (Chinese Communist Party: CCP) ของ เหมา เจ๋อตง (Mao Zedong) ก็ครองอำนาจในจีนแผ่นดินใหญ่ และตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมา
ตอนนั้น ประเทศไทยยังรับรองรัฐบาลของเจียง ไคเช็ก ในไต้หวันต่อไป เราไม่รับรองรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเหมา เจ๋อตง แต่คนส่วนใหญ่มักอาจจะอธิบายส่วนนี้ผิดว่า สาเหตุที่ไทยไม่รับรองรัฐบาลปักกิ่ง เป็นเพราะรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามกลัวภัยคอมมิวนิสต์ ไม่อยากมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลปักกิ่ง
แต่คำอธิบายนี้ผิดไปจากข้อเท็จจริง เพราะเมื่อพิจารณาจากบริบทในปี 1949 คอมมิวนิสต์ยังไม่ใช่ภัยคุกคามที่น่ากลัวในมุมมองรัฐบาลของจอมพล ป. โดยเฉพาะรูปแบบภัยคุกคามที่เราเข้าใจในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ปฏิบัติการทางทหารที่อยู่ในป่า จนทำให้รัฐไทยต้องปราบปราม อันที่จริงสิ่งนี้เพิ่งเกิดขึ้นในปี 1965 ซึ่งห่างไกลจากสมัยรัฐบาลจอมพล ป.มาก
แน่นอน แม้รัฐบาลจอมพล ป.อาจจะมีปัญญาชนฝ่ายซ้ายที่ทางการต้องคอยสอดส่องว่าพวกเขาทำอะไรไหม แต่ถามว่าภัยคอมมิวนิสต์ระดับรุนแรงที่เราคิดว่า พวกเขาจะบุกยึดประเทศไทยไหม มันไม่ใช่เลย
ดังนั้น ความกลัวภัยคอมมิวนิสต์ไม่ใช่เหตุผลที่จอมพล ป.ไม่รับรองรัฐบาลของเหมา เจ๋อตงในปักกิ่ง แต่ประเด็นที่แท้จริง คือความกลัวต่อความภักดีทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยเหมือนเดิม
ต้องอย่าลืมว่าในปี 1949 นอกจากไทยไม่ยอมรับรัฐบาลจีนปักกิ่งแล้ว ทางการก็ลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างจีนไต้หวันภายใต้เจียง ไคเช็ก จากความสัมพันธ์ระดับเอกอัคราชทูตเหลือเพียงระดับอุปทูต
เรื่องนี้จึงอธิบายได้ว่า การตัดสินใจของจอมพล ป.ไม่เกี่ยวข้องกับภัยคอมมิวนิสต์ แต่เป็นเพราะกลัวภัยชาวจีนโพ้นทะเล เพราะทั้งรัฐบาลก๊กมินตั๋งในไต้หวัน และรัฐบาลใหม่ของเหมา เจ๋อตงที่ตั้งอยู่ปักกิ่ง ต่างต้องการหาเสียงสนับสนุนจากชาวจีนโพ้นทะเล
จอมพล ป.จึงดำเนินนโยบายต่างประเทศระหว่างจีนคือไม่รับรองรัฐบาลปักกิ่ง แต่เก็บรัฐบาลเจียง ไคเช็กที่ดูอ่อนแอกว่าไว้ เพราะมีประสิทธิภาพสนับสนุนชาวจีนโพ้นทะเลที่ลดลง ทั้งเงินทุนหรืออะไรหลายอย่าง
ทางการไทยก็ไม่ช่วยรับรองจีนแผ่นดินใหญ่เรื่อยมา และพยายามปกป้องจีนไต้หวันใน UN ว่า รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์เป็นผู้รุกราน สนับสนุนเกาหลีเหนือในสงครามเกาหลี และตอนหลังปี 1965 ไทยก็บอกว่า จีนสนับสนุนปฏิบัติการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
แต่สุดท้าย ในปี 1975 ไทยมีความจำเป็นบางอย่างที่ต้องรับรองรัฐบาลจีนปักกิ่ง ซึ่งก็คือบริบทการเมืองระหว่างประเทศ โดยในต้นทศวรรษ 1970 สหรัฐอเมริกาบอบช้ำจากสงครามเวียดนาม และต้องการจะถอนตัว จึงมีนโยบายผ่อนคลายความตึงเครียดกับจีนคอมมิวนิสต์ที่เป็นผู้สนับสนุนใหญ่ของเวียดนามเหนือ
ดังนั้น เมื่อมีการผ่อนคลายความตึงเครียด และการยอมรับจีนแผ่นดินใหญ่ให้เข้าร่วม UN รวมถึงปี 1976 ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไปเยือนกรุงปักกิ่ง ไทยจึงมองว่า เราก็ควรปรับตัว ปรับนโยบายต่างประเทศตามสหรัฐฯ มหาอำนาจที่เรามีแนวทางตามมาตลอด
จริงๆ ก่อนหน้านั้นก็มีการริเริ่มติดต่อรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ในทางเศรษฐกิจในช่วงปลายยุครัฐบาลของจอมพล ถนอม กิตติขจร สืบเนื่องจากช่วงเวลานั้นมีวิกฤตการณ์น้ำมันโลกที่สูง ไทยจึงต้องหาประเทศทางเลือก
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปี 1975 มีความรีบร้อน ต้องการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นพิเศษ ต้องขอเล่าย้อนก่อนว่า ช่วงหลังปี 1972 ทางการมีความพยายามจะติดต่อกับจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ก็ยังเฝ้ารออยู่ ไม่อยากสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตทันที เนื่องจากรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ยังสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอยู่
แต่พอถึงปี 1975 คือไม่ได้แล้ว สถานการณ์บีบบังคับ โดยเฉพาะบริบทเพื่อนบ้านในเวลานั้น รัฐบาลเวียดนามเหนือยึดครองเวียดนามใต้ เขมรแดงยึดกัมพูชา ลาวก็กำลังจะตกอยู่ในอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ พอเป็นเช่นนี้ ไทยจึงรู้สึกว่าไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว เราต้องสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ โดยหวังว่าเขาจะเห็นประโยชน์ในความสัมพันธ์กับไทย และไปบอกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือพรรคคอมมิวนิสต์อื่นๆ ในอินโดจีนว่า ให้ลดราวาศอก อย่ารุกรานไทย
ตรงนี้คือเหตุผลหลักของรัฐบาลไทยในยุคนั้น ในการเปิดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับจีนแผ่นดินใหญ่
จริงอยู่ที่การสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีนอยู่ในบริบท ‘จำใจ’ แต่ทำไมภายหลังความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ จึงยกระดับความแน่นแฟ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ช่วงแรกๆ หลังปี 1975 ไทยก็ยังมีความหวาดระแวงจีนอยู่ แต่ผมว่ามันมีจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ไทยมองจีนในเชิงบวกมากขึ้น คือสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 1978
เหตุการณ์แรกในเดือนพฤศจิกายน 1978 เมื่อเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดของจีนในเวลานั้นเดินทางมาเยือนไทย โดยสิ่งที่เติ้ง เสี่ยวผิงทำ กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญ คือการเข้าร่วมพระราชพิธีผนวชของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หรือรัชกาลที่ 10 ในปัจจุบัน
เหตุการณ์นี้เป็นสัญลักษณ์สำคัญ เพราะแต่เดิมสังคมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากโลกเสรีมักถูกปลูกฝังว่า คอมมิวนิสต์เกลียดศาสนา เป็นศัตรูกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่การมาครั้งนี้ทำลายภาพจำ และผมคิดว่าเป็นความจงใจของเติ้ง เสี่ยวผิงที่ต้องการจะบอกว่า แม้จีนจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างจากไทย แต่จีนมีความอดทนอดกลั้น อยู่ร่วมกันได้
ขณะที่เหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน เวียดนามบุกกัมพูชา ล้มรัฐบาลเขมรแดง ซึ่งเป็นกลุ่มที่จีนสนับสนุนอยู่ เวลานั้นไทยและจีนต่างก็มองว่า เวียดนามมีความทะเยอทะยาน โดยอาศัยบารมีของสหภาพโซเวียตเป็นที่พึ่งเพื่อขยายอิทธิพลครอบงำภูมิภาคทั้งหมด
พูดง่ายๆ ว่า เหตุการณ์นี้ทำให้ไทยและจีนเห็นประโยชน์ร่วมกัน นั่นก็คือการมีศัตรูร่วมประเทศเดียวกัน หลังจากนั้น เราก็ร่วมมือกับจีนด้วยการสนับสนุนเขมรแดง ส่งอาวุธข้ามชายแดนไปให้ และสนับสนุนให้เขมรแดงมีที่นั่งใน UN ได้ถึงสิบเอ็ดปี
เมื่อจีนเห็นประโยชน์ในการร่วมมือกับไทยเพื่อต่อต้านเวียดนาม นั่นจึงทำให้จีนยุติความช่วยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหลังปี 1978 และพรรคก็ล่มสลายในปี 1982
ขณะเดียวกัน ไทยก็รู้สึกว่าไม่มีศัตรูภายในประเทศแล้ว จีนก็มีบทบาทสร้างสรรค์ในประเทศมากขึ้น จากเดิมที่เคยมองว่าจีนคือผู้รุกราน จีนเป็นผู้บ่อนทำลายรัฐไทย กลับกัน หลังปี 1978 ภาพนั้นเปลี่ยนไปเลย
เราจึงเกิดทัศนคติว่า ไทยกับจีนร่วมมือกันเพื่อผดุงสันติภาพของภูมิภาคนี้ ด้วยการต่อต้านเวียดนามและสหภาพโซเวียตที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งอีกที
มีคำอธิบายว่า ไทยได้รับอิทธิพลจากแนวคิดรัฐบรรณาการจากจีนในเรื่อง ‘ความนอบน้อมและความเกรงใจ’ หากเทียบกับชาติมหาอำนาจอื่น คุณมองว่ารูปแบบความสัมพันธ์ไทย-จีนในปัจจุบันเป็นเช่นนั้นไหม
ผมรู้สึกว่าความรู้สึกเกรงใจจีนที่มีมาตลอดตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ไม่ได้เกิดโดยธรรมชาติ แต่มันมาจากการคิดคำนวณจีนของผู้นำรัฐไทยว่า จีนเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ เพราะประเทศเขามีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปี 1990 เป็นต้นไป ดังนั้น ไทยจึงไม่ควรยั่วยุหรือการแสดงท่าทีบางอย่างที่ทำให้จีนโกรธเคือง ไม่เช่นนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจก็ได้
เวลาพูดถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน มักมีประโยคที่ว่า ‘จีน-ไทยใช่อื่นไกล เป็นพี่น้องกัน’ คำพูดนี้มีที่มาจากไหน
อันที่จริง ที่มาของประโยคนี้เกิดขึ้นในยุคที่ไทย-จีนยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกัน และคนไทยมองคนจีนในแง่ลบด้วย
ประโยคนี้มาจากพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 7 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว เราไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีน อีกทั้งยังมีความรู้สึกหวาดระแวงต่อความภักดีทางการเมืองของคนจีนโพ้นทะเลในไทย
จนกระทั่งช่วงปี 1930 ก่อนการเปลี่ยนระบอบการปกครองในไทยปี 1932 รัชกาลที่ 7 เสด็จฯ ไปเปิดอาคารในโรงเรียนแห่งหนึ่ง และพระองค์ก็ตรัสว่า “คนไทยกับคนจีนมีความสมัครสมานสามัคคีประดุจพี่น้องกัน” ผมคิดว่า เหตุการณ์นี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ในภายหลัง เมื่อความสัมพันธ์ไทย-จีนดีขึ้น เรามักอธิบายว่า อดีตที่ผ่านมาทั้งสองชาติมีความกลมเกลียว
น่าแปลกใจว่าทำไมคำพูดนี้ถึงถูกหยิบยกขึ้นบ่อยครั้ง ท่ามกลางดราม่าระหว่างประเทศในช่วงสามถึงสี่ปีที่ผ่านมา
อันที่จริงไม่ใช่แค่สามถึงสี่ปีหลัง ก่อนหน้าก็มีการพูดประโยคนี้บ่อย เพียงแต่จะปรากฏแค่ในช่วงระยะหนึ่ง โดยเฉพาะเวลาไทยมีงานฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีน เรามักจะยกคำว่า จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน ขึ้นมาใช้
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลังๆ สังคมอาจจะใช้คำนี้บ่อยมากขึ้น ส่วนหนึ่งผมคิดว่า เรื่องนี้อาจเกี่ยวข้องกับอายุของผู้นำด้วยเช่นกัน คือต้องอธิบายว่า ผู้นำของไทยตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองจนถึงสมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นกลุ่มคนจากยุคเบบี้บูม (Baby Boomer) ที่เติบโตในช่วงสงครามเย็น มักมองจีนในแง่ลบ และมีสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ
แต่พอมาถึงช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ผู้นำยุคนี้เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารที่มีบทบาทในทางการเมือง เขามองว่าจีนเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งปี 1997 ที่เปลี่ยนโลกทัศน์ของผู้นำทางการเมือง คนในแวดวงธุรกิจ และสังคมวงกว้างว่า แนวคิดแบบชาติตะวันตก การพัฒนาเศรษฐกิจเหมือนสหรัฐฯ ไทยไม่ควรเดินรอยตามทั้งหมด เราควรจะหันมาดูจีนบ้าง เพราะเศรษฐกิจจีนเจริญเติบโตในช่วงหลังปี 1992
ผมคิดว่าสองปัจจัยข้างต้น คือยุคสมัยของผู้นำและวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ทำให้คนไทยหันมาชื่นชมภูมิปัญญาหรือวิธีการบริหารที่ไม่ใช่ตะวันตก โดยหนึ่งในแบบแผนที่ประสบความสำเร็จช่วงปลายทศวรรษ 1990 ก็คือจีนนั่นเอง
โดยเฉพาะช่วงนั้นที่จีนเข้าองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) คนไทยก็ยกย่องมากว่า จีนประสบความสำเร็จในการปฏิรูปประเทศ สามารถยอมรับกฎระเบียบโลกที่ตรงข้ามได้ และไทยเราควรเรียนรู้ หรือเอาอย่างจากจีนเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ
ในวงวิชาการหรือสาธารณชนมักมีความเห็นว่า รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือจุดเปลี่ยนสำคัญของความสัมพันธ์ไทย-จีน คุณเห็นด้วยไหม
ผมคิดว่ารัฐบาลคุณประยุทธ์มีความใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นจริง เพราะไทยและจีนต่างมีเรื่องสนับสนุนกันมากขึ้น สืบเนื่องจากปัจจัยของทั้งสองประเทศ โดยปัจจัยภายในเป็นที่รู้กันว่า หลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2014 ไทยได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาติตะวันตกมากกว่าการรัฐประหารครั้งก่อนๆ ขณะจีนกับรัสเซียเป็นประเทศที่ไม่มีนโยบายแทรกแซงกิจการภายใน เราจึงมีแนวโน้มเข้าหาจีนมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ปัจจัยจากภายนอก คือการขึ้นมาของสี จิ้นผิง ตั้งแต่ปี 2012 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ตึงเครียดมากขึ้น ตั้งแต่ยุคสมัยของ บารัก โอบามา (Barack Obama) ในนโยบาย Pivot to Asia (นโยบายปักหมุดเอเชีย) หรือโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ในนโยบาย Free and Open Indo-Pacific (นโยบายอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง)
จากสองปัจจัยข้างต้น คือไทยไม่มีทางเลือก โดยเฉพาะช่วงแรกๆ หลังรัฐประหาร เราขอบคุณประเทศมหาอำนาจที่ไม่แทรกแซงกิจการภายใน และจีนก็มีมุมมองว่า เราเป็นประเทศแกนกลางหลักของอาเซียน ถ้ากระชับความสัมพันธ์ได้ จีนอาจจะมีแต้มต่อในภูมิภาคนี้เพื่อแข่งขันทางอำนาจกับสหรัฐฯ ผมจึงคิดเป็นเหตุผลว่า ทำไม จีน-ไทยในยุครัฐบาลคุณประยุทธ์จึงดูสนิทสนมกันเป็นพิเศษ
ตอนนี้ไทยมีรัฐบาลใหม่ที่นำโดยคุณเศรษฐา ทวีสิน คุณพอคาดการณ์ทิศทางความสัมพันธ์ไทย-จีนนับต่อจากนี้ได้ไหม
ตั้งแต่คุณเศรษฐาได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ทูตต่างชาติคนแรกที่เข้าพบตามการรายงานหน้าสื่อ ผมเข้าใจว่าเป็นจีน พอหลายวันถัดมา จึงเป็นทูตของสหรัฐฯ ที่เข้าพบ และเมื่อพิจารณาจากการแถลงการณ์ในหน้าสื่อ รวมถึงนโยบายที่ออกมา ทั้งหมดนี้ทำให้ผมคิดว่า รัฐบาลใหม่ของไทยเห็นว่า จีนคือโอกาสทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิด ‘Quick Win’
ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลน่าจะทราบถึงปัญหาความชอบธรรม ที่ประชาชนหลายคนมองว่า พรรคเพื่อไทยทรยศหรือตระบัดสัตย์ ดังนั้น รัฐบาลจากพรรคเพื่อไทยต้องการดำเนินนโยบายในรูปแบบ Quick Win หมายถึงทำแล้วเห็นผลทันที ไม่ต้องรอคอยถึงสองถึงสามปีถึงจะผลิดอกออกผล โดยเฉพาะนโยบายในทางเศรษฐกิจ
นั่นเป็นเหตุที่อาจทำให้รัฐบาลออกนโยบายต่างๆ รวมถึงนโยบายฟรีวีซ่า (Free Visa) แก่นักท่องเที่ยวจีน ด้วยจุดประสงค์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนอย่างฉับพลัน เช่น การออกมาตรการภายในสามเดือน โดยเฉพาะมีความคาบเกี่ยวกับช่วงวันชาติจีน (วันที่ 1 ตุลาคม) แน่นอนว่า นโยบายนี้อาจเห็นผลทันตาเลย เราอาจเห็นนักท่องเที่ยวจีนในต้นเดือนตุลาคมมากมาย มาจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ผมจึงคิดว่ารัฐบาลอาจต้องการผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจในระดับ Quick Win จากจีน
อย่างไรก็ตาม ผมมีความกังวลบางอย่าง เพราะคำแถลงนโยบายของรัฐบาลระบุว่า ไทยจะดำเนินนโยบายบนพื้นฐานของผลประโยชน์แห่งชาติ (National Interest) แม้จะเอ่ยถึงเรื่องการรักษาสมดุลในการเมืองระหว่างประเทศก็ตาม แต่การระบุเพียงประเด็นผลประโยชน์แห่งชาติ หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รัฐบาลคุณเศรษฐาอาจมองว่า จีนเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจเป็นหลัก จนทำให้ละเลยการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นอ่อนไหวในความสัมพันธ์ไทยจีน
ดังนั้น ความสัมพันธ์ไทย-จีนในรัฐบาลไทยชุดใหม่อาจไม่ต่างจากรัฐบาลของคุณประยุทธ์ไหม? เช่น เวลาเจอกันคุณอาจจะคุยภาษาดอกไม้ แต่เรื่องที่เป็นประเด็นหรือควรหาทางออกร่วมกัน เราอาจจะไม่พูด
จะพูดได้ไหมว่า เราพร้อม ‘เออออ’ ตามจีน และน่าจะส่งผลกระทบต่อไทยในทางใดทางหนึ่ง หากพูดแรงๆ ตามทั่วไปก็อาจจะเรียกว่า ไทยพร้อมเป็น ‘ลิ่วล้อ’ ของจีน
ผมว่าจุดนี้อาจกระทบไม่ใช่แค่เพียงความเป็นผู้นำของคุณเศรษฐา แต่รวมถึงความเป็นผู้นำของไทยในการเป็นแกนหลักของอาเซียน เมื่อเราเป็นประเทศที่เออออตามจีน แล้วเราจะเป็นผู้นำอาเซียนได้อย่างไร
เพราะอาเซียนก็ยังมีเสียงที่แตกกัน มีบางประเทศสนับสนุนจีนอย่างชัดเจน ทั้งในรูปแบบจำใจหรือเต็มใจ ดังที่เราจะเห็นได้จากเมียนมาและกัมพูชา หรือประเทศที่มีปัญหากระทบกระทั่งกับจีน คือฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งมีความสัมพันธ์ทั้งสองรูปแบบ คือมีความสัมพันธ์อันดีในเชิงอุดมการณ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยกันเอง แต่ปัญหาทางด้านเขตแดนหรือปัญหาในทะเลจีนใต้ (South China Sea) ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่เวียดนามยอมไม่ได้
เมื่อย้อนกลับมามองประเทศไทย หากนายกฯ เศรษฐาจะให้ไทยมีบทบาทนำในภูมิภาค แต่เราดำเนินนโยบายที่สนับสนุนจีน ประเทศอื่นในอาเซียนจะเชื่อถือได้อย่างไร ผมจึงมองว่า การมีท่าทีเช่นนี้อาจก่อปัญหาได้
รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยด้วยนโยบายฟรีวีซ่า แต่ในแง่หนึ่ง ตอนนี้เศรษฐกิจจีนกำลังย่ำแย่ อยากให้คุณประเมินว่า ไทยจะได้ประโยชน์แท้จริงมากน้อยแค่ไหนจากนโยบายดังกล่าว
ใช่ ตอนนี้เศรษฐกิจของจีนก็ไม่ดี แม้จีนจะมีนโยบายเปิดพรมแดนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศ ขณะที่นักท่องเที่ยวออกนอกประเทศได้ตั้งแต่ต้นปี 2022 จนตอนนี้เป็นไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 แล้ว
อย่างไรก็ตาม คำตอบผมแบ่งเป็นสองประเด็น ประเด็นแรกผมคิดว่า หากหวังผลจากนโยบายฟรีวีซ่าในระดับนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาถล่มทลาย รัฐบาลอาจจะไม่ได้รับผลลัพธ์ตามที่คาดหวังก็ได้ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเทียบเท่าในช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงประเด็นทางเศรษฐกิจของจีนที่ไม่ได้มั่นคงเหมือนเดิม
ประเด็นที่สองคือ ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญที่ดำเนินมาเกือบยี่สิบปี ต่อให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมามากมาย แต่ภัตตาคารที่เขาไป โรงแรมที่เขาใช้บริการ ร้านขายของที่ซื้อ กลับเป็นคนไทยที่เป็นนอมินีของจีน สุดท้าย เงินที่เอามาจับจ่ายใช้สอย มันตกอยู่ประเทศเราเองหรือชาวจีนที่เป็นเจ้าของจริงๆ?
ผมคิดว่า เราต้องคิดให้ดีด้วย ไม่ใช่เห็นแค่คนจีนเข้ามามากมาย เดินเต็มไปหมดแถวราชประสงค์ แถวเซ็นทรัลเวิลด์ แต่เราเคยคิดในเรื่องเงินไหม? โดยเฉพาะการเดินทางเป็นกลุ่มที่ต้องมีการจัดการว่า คุณจะพักโรงแรมอะไร พาไปที่ไหน กินข้าวภัตตาคารอะไร
ผมจึงคิดว่าอาจจะเป็นปัญหา เพราะเงินหรือรายได้อาจไม่ได้ตกอยู่ที่คนไทยจริงๆ กลับกัน เรารู้สึกได้แค่บรรยากาศที่ดูคึกคักขึ้นจากการเข้ามาของชาวจีนอย่างเดียว
ทำไมปรากฏการณ์นี้หรือทุนจีนสีเทาจึงเกิดขึ้นกับไทยอย่างโจ่งแจ้ง หากเทียบกับชาติอื่นในอาเซียนด้วยกันเอง
ผมคิดว่า คนจีนมองสังคมไทยผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม (Assimilation) กับจีนได้ดีเป็นระยะเวลานานแล้ว อยู่ง่าย กฎหมายไม่เข้มงวดอะไรมาก ขณะที่ไปอินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือประเทศมุสลิม ก็อาจจะไม่สามารถทำอะไรบางอย่างได้เหมือนประเทศไทย
โดยเฉพาะกิจการสถานบันเทิงหรือสถานเริงรมย์ คือไทยเป็นเมืองพุทธก็จริง แต่ผมคิดว่าเราไม่ได้นำเรื่องนี้เป็นข้อจำกัด กลับกัน หากต่างชาติจะทำเรื่องพวกนี้ในอินโดนีเซียหรือมาเลเซีย ก็ไม่ง่ายเท่าเมืองไทยแน่นอน
ปรากฏการณ์ทุนจีนในไทยทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน มีการเปรียบเปรยกับเหตุการณ์ในประเทศลาวหรือกัมพูชาที่ทุนจีนเข้าครอบงำ คุณคิดว่าสถานการณ์ของไทยในอนาคตอาจร้ายแรงไปสู่ถึงขั้นนั้นหรือไม่
ขึ้นอยู่กับการรับมือของเรา แต่ผมก็แสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่งได้ว่า คนจีนมีแนวโน้มในการเดินทางออกนอกประเทศมากขึ้น ซึ่งอยู่ในรูปแบบ ‘กึ่งถาวร’ คือสลับไปมาระหว่างจีนกับไทย แต่อาศัยอยู่ในไทยระยะยาวโดยมีใบอนุญาต (Residence Permit)
ปรากฏการณ์ดังกล่าวมาจากปัญหาการเมืองภายในจีน คือต้องอธิบายว่า หลังปฏิรูปเศรษฐกิจในจีน มีคนร่ำรวยขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่จีนไม่ได้ปฏิรูประบบการเมือง โดยเฉพาะการเมืองในยุคของสี จิ้นผิง มีลักษณะการรวมศูนย์อำนาจที่ผู้นำมากขึ้นกว่าประธานาธิบดีคนก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นเจียง เจ๋อหมิน (Jiang Zemin) หรือหู จิ่นเทา (Hu Jintao) เราจะเห็นท่าทีของสี จิ้นผิงนับตั้งแต่ขึ้นมาว่า เขาจะพยายามจับจ้องบุคคลร่ำรวย ดังสถานการณ์ที่เราเห็น เช่น การหายตัวไประยะหนึ่งของ แจ็ก หม่า (Jack Ma) หรือกรณีหนีภาษีของ ฟ่าน ปิงปิง (Fan Bingbing)
เมื่อสี จิ้นผิงพยายามกระชับอำนาจ ก็ยิ่งเกิดความกลัวในสังคมจีน โดยเฉพาะการพูดถึงยุคแห่งความรุ่งโรจน์ร่วมกัน (Common Prosperity) ว่าความมั่งคั่งควรจะกระจายอย่างทั่วถึง นั่นทำให้คนที่มีเงิน หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้อยู่ในระดับเศรษฐีแต่เก็บหอมรอบริบ เกิดความกังวลว่าทรัพย์สินของพวกเขาจะมีความมั่นคงปลอดภัยมากแค่ไหน
ดังนั้น ถ้ามีความเป็นไปได้ พวกเขาก็ต้องการกระจายความเสี่ยงไปทำมาหากินที่ต่างประเทศ แต่ไม่ใช่ในระดับตั้งถิ่นฐานถาวร เพราะการโยกย้ายทรัพย์สินในจีนทำได้ยาก อีกอย่างที่สำคัญคือ สัญชาติจีนมีประโยชน์ โดยเฉพาะการลงทุนในต่างประเทศที่อาจจะเจอปัญหาอะไรบางอย่าง คนจีนก็ยังคงต้องการพึ่งพาสถานทูตจีนในต่างประเทศ หรือแรงสนับสนุนในทางการเมืองจากรัฐบาลจีน
คนจีนรุ่นใหม่จึงไม่เหมือนบรรพบุรุษรุ่นก่อนๆ ที่ละทิ้งประเทศไปเลย มาอยู่เมืองไทยจนตาย แต่พวกเขาจะยังคงสัญชาติ คงความภักดีทางการเมืองต่อจีน เพื่อต้องการแรงสนับสนุนหรือความช่วยเหลือจากประเทศแม่
มากกว่านั้น ปัญหาที่น่าคิดคือ คนจีนรุ่นใหม่ๆ กลุ่มนี้ มีเงิน มีการศึกษา และเข้ามาในประเทศต่างๆ ในช่วงที่จีนมีบทบาททะเยอทะยานในโลก ปัจจัยเหล่านี้อาจไม่ทำให้คนจีนกลุ่มนี้มีความอ่อนโอนผ่อนตามวัฒนธรรม ประเพณี ข้อกำหนดของประเทศที่เข้าไปเหมือนเมื่อก่อน ผมจึงคิดว่า การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมของคนจีนรุ่นใหม่อาจเป็นปัญหาในอนาคต
ลำพังรัฐบาลไทยจะสามารถแก้ไขการหลั่งไหลของคนจีน และทุนจีนสีเทาบางส่วนได้ไหม หรือปรากฏการณ์นี้เป็นปัญหาระหว่างประเทศ ที่ต้องอาศัยความช่วยเหลือและความร่วมมือจากรัฐบาลจีน
ผมมองว่าสุดท้ายแล้ว รัฐบาลไทยต้องตระหนักว่า ถ้าประชากรของไทยมีอัตราการเกิดต่ำเหมือนในปัจจุบัน ภายในปี 2100 คนไทยจะเหลือเพียงสามสิบล้านคน นั่นแปลว่า ในระยะยาว รัฐบาลไทยมีความจำเป็นต้องเปิดรับชาวต่างชาติให้อยู่ถาวร หรืออนุญาตการทำมาหากินในประเทศ
ดังนั้น ถามว่าจะต่อต้านหรือจัดการกับคนจีนกลุ่มนี้อย่างไร ผมว่าคงไม่ใช่การจัดการที่ต่อต้านชนิดว่า ไม่ได้ คนกลุ่มนี้จะทำมาหากินไม่ได้ แต่รัฐบาลไทยต้องจัดระเบียบอย่างจริงจังว่า พวกเขาต้องปฏิบัติตามกฎหมายของไทย
ส่วนกรณีทุนจีนสีเทา เรื่องนี้ก็ควรจะพูดกับสถานทูตจีนอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีการพูดอย่างจริงจัง และสถานทูตจีนก็ให้เหตุผลในทำนองว่า เราส่งเสริมให้คนจีนเคารพกฎหมายของไทยมาตลอด และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับจีนมักชอบมีประเทศที่สามปล่อยข่าว
ผมมองว่าไทยควรรับมือด้วยวิธีดังนี้ อย่างแรกคือจัดระเบียบ เพราะในระยะยาวเราต้องการทรัพยากรมนุษย์ ก็น่าจะเป็นกลุ่มคนสัญชาติอื่น เพราะประชากรไทยลดลง ส่วนอะไรที่ผิดกฎหมายก็ควรจะมีการพูดคุยอย่างจริงจัง
แต่ผมก็เข้าใจนะว่า ต่อให้เราไปพูดคุยอย่างจริงจัง จีนอาจไม่ลงมาจัดการด้วยตนเอง เพราะการที่รัฐบาลไทยไปโวยวายกับจีน จนถึงขั้นเอกอัครราชทูตต้องลงมาจัดการ นี่จะทำให้เห็นว่าจีนดู ‘หงอ’ ต่อไทย
คือตามอุดมคติ นโยบายต่างประเทศของสี จิ้นผิง เขาไม่ต้องการเห็นการทูตจีนอ่อนแอต่อข้อเรียกร้อง เพราะมันเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ทะเยอทะยาน โดยเฉพาะการยอมอ่อนโอนต่อข้อเรียกร้องของอีกฝ่าย
ประเมินว่าจีนพอใจกับรัฐบาลใหม่ของไทยมากน้อยแค่ไหน
ผมคิดว่าจีนพอใจกับรัฐบาลปัจจุบันมากกว่ากรณีที่พรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล เพราะคุณพิธา (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) และคุณพรรณิการ์ (พรรณิการ์ วาณิช) ต่างพูดถึงแนวนโยบายต่างประเทศที่เน้นเรื่องประชาธิปไตย หรือกฎหมายระหว่างประเทศ
นโยบายต่างประเทศของพรรคก้าวไกลมีแนวทางว่า ประเทศเล็กๆ ไม่จำเป็นต้องโอนอ่อนผ่อนตามประเทศมหาอำนาจ ไม่ว่าประเทศใหญ่หรือประเทศเล็กก็ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ หรือบรรทัดฐานระหว่างประเทศเดียวกัน เช่น ประเทศไทยต้องไม่ดำเนินนโยบายประนีประนอมกับมหาอำนาจ เพียงเพราะอีกประเทศมีความยิ่งใหญ่กว่าเท่านั้น โดยเฉพาะประเด็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ดูจะเป็นประเด็นยิ่งใหญ่ในนโยบายต่างประเทศของพรรคก้าวไกล
กลับกัน หากพิจารณาจากแนวนโยบายต่างประเทศของพรรคเพื่อไทย ก็อาจจะไม่ค่อยมีประเด็นนี้เท่าไรนัก กลายเป็นเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติเสียมากกว่า ผมจึงคิดว่า จุดนี้อาจทำให้รัฐบาลจีนมีความดีใจพอสมควรกับรัฐบาลใหม่ของไทย
จากประเด็นที่คุณพูดนี้ นำไปสู่ข่าวลือว่า จีนกำลังครอบงำหรือแทรกแซงการเมืองไทยให้เป็นไปตามที่ต้องการ หากอธิบายในเชิงวิชาการ คุณว่าเป็นไปได้ไหม
ผมไม่เห็นความพยายามอย่างเป็นรูปธรรม อย่างมากอาจจะเราจะเห็นการประณามจากจีน เช่น เมื่อครั้งที่คุณธนาธร (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) เดินทางไปเจอกับโจชัว หว่อง (Joshua Wong) จีนก็ออกแถลงการณ์ประณามว่า ผู้นำทางการเมืองของไทยไม่ควรเจอกลุ่มแบ่งแยกดินแดน หรือคนที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐจีน
แต่ถามว่า ข่าวลือการแทรกแซงของจีนในระดับที่จะเข้ามาวางแผน ล้มรัฐบาลบางรัฐบาล ผมไม่เห็นอะไรแบบนั้น
หากพูดถึงนโยบายการต่างประเทศ ประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก คือประเด็นความสัมพันธ์ไทย-ไต้หวัน คุณคิดว่ารัฐบาลชุดนี้จะเปลี่ยนท่าทีทางการทูตไหม
ผมคิดว่ารัฐบาลคุณเศรษฐาจะไม่ขยายความสัมพันธ์กับไต้หวัน แม้แต่เรื่องในทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา โดยเฉพาะหากมองว่า จีนคือโอกาสทางเศรษฐกิจของไทยที่ทำให้เกิดผลในรูปแบบ Quick Win
ขณะที่รัฐบาลใหม่ก็ไม่ได้มีเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือความเป็นประชาธิปไตยมารองรับความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า ไต้หวันอาจจะไม่ได้อยู่ในเรดาร์ความสนใจของรัฐบาลไทยในปัจจุบันเลย
อีกประเด็นที่เกี่ยวกับวาระเร่งด่วนของอาเซียน คือปัญหาทะเลจีนใต้และวิกฤตในเมียนมา นักวิเคราะห์มองว่า ไทยอาจช่วยเหลือได้จากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คุณมองว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
ผมว่าปัญหาทะเลจีนใต้ไม่มีโอกาสแก้ไขปัญหาเลย เพราะจีนไม่เคยบอกว่า นี่คือพื้นที่ในข้อพิพาท แต่จีนยืนยันว่า เขามีอำนาจอธิปไตยอย่างปฏิเสธไม่ได้ เขาตั้งธงไว้แล้ว
ส่วนการชี้แจ้งที่ว่า จีนพร้อมเจรจากับหลากหลายประเทศ ความหมายที่แท้จริงคือ จีนยินดีที่จะคุยเรื่องการใช้ประโยชน์ร่วมกันจากเขตแดนนี้ แต่อำนาจอธิปไตยเป็นของจีนนะ อาจบอกได้ว่า เหมือนเราต้องยอมรับจีน ยอมรับว่าทะเลจีนใต้คืออาณาเขตของจีน หากเรายอมรับได้เมื่อไร จีนก็แสดงบทบาท ‘ผู้ใหญ่ใจดี’ เช่น การยอมให้มีการใช้เขตประมงตามการเรียกร้องของชาติอื่นๆ แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่ประเทศคู่พิพาทต้องการ เขามองว่า การลากเส้นของจีนเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ต้องมีการแบ่งที่ยุติธรรม
ขณะเดียวกัน ผมก็มองไม่เห็นว่าไทยจะสามารถทำอะไรได้กับเรื่องนี้ ต่อให้เป็นเจ้าภาพ เป็นกาวใจ เชิญจีนกับชาติอาเซียนมาหารือ แต่จุดยืนของจีนยังคงเหมือนเดิม และเขาก็ไม่ถอย เพราะทะเลจีนใต้อยู่กับแผนที่จีนตั้งแต่ปี 1947
สมมติสี จิ้นผิงยอมถอย สั่งให้คนพิมพ์แผนที่ใหม่เพื่อลดเขตทะเลจีนใต้ ให้อ้อมแค่เกาะไหหลำมาหน่อย สิ่งนี้ก็จะกลายเป็นผลกระทบต่อความชอบธรรมของสี จิ้นผิงในทางการเมือง ประหนึ่งการขายชาติโดยยกแผ่นดินให้กับคนอื่น
ส่วนประเด็นเมียนมา ผมคิดว่าคุณเศรษฐาอาจยังพอจัดการอะไรได้บ้าง เพราะจีนเป็นประเทศที่มีอิทธิพลเหนือเมียนมา โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือต่อกลุ่มทหารที่ปกครองเมียนมา
ดังนั้น หากอยากจะให้รัฐบาลทหารเมียนมาประนีประนอมกับรัฐบาลพลัดถิ่น หรือฝ่ายต่อต้าน บทบาทของจีนในการช่วยพูดคุยกับรัฐบาลเมียนมาอาจพอเป็นได้ เพราะจีนยังต้องการเสถียรภาพและสันติภาพในพื้นที่นี้ หากพิจารณาจากโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) เมียนมาเป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับระบบขนส่งในมณฑลยูนนาน (Yunnan) ที่จะออกสู่ทะเลอันดามัน ลึกๆ แล้วผมคิดว่าจีนเองก็ไม่ได้อยากเห็นการสู้รบที่เรื้อรังจนถึงทุกวันนี้
อีกปัญหาหนึ่งที่ได้รับการพูดถึงมานานมากในภูมิภาคนี้ คือวิกฤตแม่น้ำโขงแห้งเหือด ทำไมไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจึงยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
อุปสรรคสำคัญของปัญหาเรื่องนี้ คือจีนไม่ใช่ประเทศเดียวที่สร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง แต่ยังมีลาว กัมพูชา รวมถึงไทยที่ลงทุนการสร้างเขื่อนในลาว
ฉะนั้น หากเป็นจีนประเทศเดียว เรายังสามารถรวมตัวเพื่อกดดันหรือเจรจาจีนร่วมกับชาติอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบได้ แต่คราวนี้เมื่อจะเจรจากับจีน เราก็จะถูกตอกกลับว่า เรื่องนี้โทษจีนเพียงประเทศเดียวไม่ได้ เพราะลาวและกัมพูชาก็มีเขื่อน
สุดท้ายแล้ว ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงรวมตัวกันไม่ได้ ทำได้แค่บ่น ซึ่งเป็นเสียงของคนในพื้นที่อย่างเดียว และรัฐบาลไม่ได้รับฟังเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือใช้ประเด็นดังกล่าวพูดคุยกับผู้นำจีน เพราะหากพูดไปแล้ว จะถูกตอบกลับมาเหมือนเดิมว่า เขื่อนไม่ได้มีเฉพาะในจีน แต่ยังมีในลาว กัมพูชา รวมถึงไทยที่เข้าไปลงทุนด้วย
ขยายความเพิ่มเติมคือ จีนจะให้อีกเหตุผลว่า น้ำในแม่น้ำโขงที่มาจากประเทศของเขามีปริมาณไม่เกิน 20% ของน้ำทั้งหมด ดังนั้น จะโทษจีนอย่างเดียวไม่ได้
แต่อันที่จริงเปอร์เซ็นต์ของน้ำไม่สำคัญเท่าการเปิด-ปิดเขื่อน เพราะสิ่งนี้กระทบต่อคนในแม่น้ำโขงบริเวณภาคเหนือของประเทศเรา ซึ่งก็คือจังหวัดเชียงราย ตรงนี้ไม่มีเขื่อนของลาวเกี่ยวข้องเลย เพราะต้นทางน้ำไหลมาจากมณฑลยูนนาน ซึ่งมีเขื่อนประมาณสิบกว่าแห่ง
พอลงมาถึงจุดหนึ่ง ด้านซ้ายเป็นลาว ด้านขวาเป็นเมียนมา ตรงนั้นก็ไม่มีเขื่อนใดๆ อีกเช่นกัน ดังนั้น เราบอกได้อย่างเต็มปากเลยว่า ปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำแห้งอย่างผิดวิสัยในจังหวัดเชียงราย มาจากการเปิด-เปิดเขื่อนของจีน ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ อันนี้เราปฏิเสธไม่ได้
นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังหาทางออกเรื่อง ‘เรือดำน้ำไร้เครื่องยนต์’ จากจีน คุณมองว่า ไทยควรเจรจาหรือยื่นคำขาดกับจีนไหมว่า เรายอมไม่ได้ หรือควรดำเนินการอย่างไร
ใช่ ผมคิดว่า ถ้าทำวิธีปกติ ไทยไม่มีความจำเป็นอะไรต้องพูดคุยกับเยอรมนีเลย อ้างอิงจากสิ่งที่คุณปานปรีย์ (ปานปรีย์ พหิทธานุกร) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไทย ว่าจะไปพบกับนายกฯ เยอรมนีที่การประชุมสมัชชาใหญ่ใน UN (United Nations General Assembly: UNGA)
แต่อันที่จริง คู่สัญญาเรือดำน้ำครั้งนี้คือไทยกับจีน ดังนั้น สิ่งที่ควรจะเป็นตามปกติ คือหากจีนไม่สามารถส่งมอบเรือดำน้ำได้ตามสัญญา จีนก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายไปตามเนื้อผ้า
อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องเข้าใจว่า กองทัพไทยเป็น ‘อาณาจักรกึ่งอิสระ’ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอาจจะกำกับได้เล็กน้อย แต่ไม่สามารถไปสร้างวาระใหม่ๆ ในกองทัพได้
ยิ่งถ้าเราไปยื่นคำขาดต่อรัฐบาลจีนว่า ต้องหาเครื่องยนต์ตามเงื่อนไขให้ได้ ไม่เช่นนั้นต้องชดใช้ตามสัญญา นี่ก็จะกระทบกับผลประโยชน์ของนายพลบางคนในกองทัพไทยอย่างค่าคอมมิชชัน
อีกด้านหนึ่ง ก็น่าเห็นใจรัฐบาลพลเรือนด้วยเช่นกัน ถ้าไทยเป็นประเทศที่กองทัพยอมรับความเป็นใหญ่ของรัฐบาลพลเรือน มันก็คงไม่มีปัญหาอะไรแบบนี้ สุดท้าย ไทยต้องหาทำทุกวิธีทาง แม้แต่เจรจากับผู้นำเยอรมนี ซึ่งเขาก็คงงงว่ามาเกี่ยวอะไรกับประเทศฉัน ทำสัญญากันสองประเทศ จู่ๆ จะมาบีบให้ผลิตเครื่องยนต์ใส่เรือดำน้ำ
ถ้าเช่นนั้น คุณคิดว่าบทสรุปของเรื่องเรือดำน้ำไร้เครื่องยนต์จะเป็นอย่างไร
ผมว่าเราก็คงได้เครื่องยนต์จากจีนสักอย่าง เพราะอย่างไร จีนก็ต้องส่งมอบตามสัญญา แต่หากไม่ใช่เครื่องยนต์จากเยอรมนี จีนก็คงหาวิธีลัดในการพูดคุยว่า นี่อาจจะไม่ใช่เครื่องยนต์ของเยอรมนีก็จริง แต่มีลักษณะการทำงานใกล้เคียงกัน
คนรุ่นใหม่ของบ้านเรา ส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกด้านลบต่อจีน ทั้งที่ไม่น้อยก็มีเชื้อจีนตามเทือกเถาเหล่ากอ ต่างจากคนรุ่นก่อนที่มีความนิยมชมชอบจีนมากกว่า คุณคิดว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากอะไร
ผมคิดว่าเป็นยุคสมัยที่ต่างกัน เด็กรุ่นใหม่หรือกลุ่มเจนซี (Gen Z) เขาเกิดในยุคโลกาภิวัตน์ ที่มีค่านิยมเรื่องสิทธิ เสรีภาพ หรือความเป็นสากล แต่หากมีประเทศไหนที่ตั้งข้อสงวนกับเรื่องนี้ พวกเขาก็จะมองกลุ่มนี้ในแง่ลบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมต่างๆ ของจีน เช่น การซ้อมรบในไต้หวัน การดำเนินคดีกับโจชัว หว่อง หรือการปราบปรามการชุมนุมในฮ่องกง ผสมกับสถานการณ์ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับจีนในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ในเวลาสิบปีที่ผ่านมา
ทั้งหมดนี้ก็ยิ่งสร้างภาพลักษณ์ในมุมของคนรุ่นใหม่ว่า จีนคือประเทศที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ สวนกระแสโลก ผมคิดว่าปัจจัยนี้นำไปสู่การเกิดขึ้นของพันธมิตรชานมไข่มุก (Milk Tea Alliance) ระหว่างหมู่ชาวเน็ตไต้หวัน ฮ่องกง และไทย โดยเฉพาะกลุ่มอายุน้อยๆ ด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้น คนรุ่นใหม่อาจจะเกิดหลังยุคสงครามเย็น ซึ่งมีความเข้าใจโดยปริยายว่า บรรทัดฐานสากลของโลกควรจะเดินหน้าไปโดยยึดหลักประชาธิปไตย สิทธิ และเสรีภาพ
ไม่เหมือนคนที่เกิดในยุคสงครามเย็น เพราะยังมีอีกระบอบการปกครองที่แข่งขัน นั่นก็คือระบอบสังคมนิยมของสหภาพโซเวียต ซึ่งเขาก็นิยามว่า นี่เป็นประชาธิปไตยอีกรูปแบบเช่นเดียวกัน
แต่พอสงครามเย็นจบ เกิดคำตอบที่ลงตัวแล้วว่า สังคมนิยมแบบสหภาพโซเวียตเป็นเพียงภาพลวงตา ไม่มีประโยชน์อะไรอีกต่อไปแล้ว และประเทศไหนที่มีมรดกดังกล่าวหลงเหลือ ก็ยังมีภาพลักษณ์ค่อนข้างคร่ำครึในสายตาคนรุ่นใหม่ เช่น จีนที่ปฏิรูปประเทศหรือระบบเศรษฐกิจให้ทันสมัยขึ้น แต่ระบอบการเมืองก็ยังมีการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอยู่
ที่ผ่านมามักมีการพูดกันหนาหูว่า ไทยควรใช้โมเดลระบอบการปกครองแบบจีน เพราะจะทำให้ไทยเจริญก้าวหน้า อยากให้คุณถอดบทเรียนสิ่งที่เกิดขึ้นกับจีนว่า ความคิดเห็นนี้ถูกต้องในทางวิชาการมากน้อยแค่ไหน
โมเดลของจีนช่วยให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้จริง แต่ว่าไม่ยั่งยืน จริงอยู่ที่รัฐบาลจีนทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้เร็ว เพราะเข้าไปกำกับทุกอณูในสังคม พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีหน่วยงานในทุกองค์กร รวมถึงภาคเอกชน เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจจีนโตได้จากระบอบการเมืองนี้ เพราะรัฐเข้าไปสั่งการ ระดมทรัพยากรมาได้หมด
อย่างไรก็ตาม โมเดลนี้ไม่ยั่งยืน เมื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้เกิดชนชั้นกลาง คนที่มีฐานะ กลุ่ม SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย แต่คนกลุ่มนี้เกิดความระแวงต่อระบอบการเมืองของตนเอง เพราะรัฐมีอำนาจล้นพ้น และไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่า พวกเขาจะไม่โดนยึดทรัพย์
คือต้องอธิบายว่า ประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือประเทศพัฒนาแล้ว เช่น กลุ่มประเทศอเมริกาเหนือ ประเทศในยุโรป ส่วนหนึ่งที่ประเทศเหล่านี้เติบโตมาได้ขนาดนี้ เพราะภาคเอกชนมีความมั่นใจว่า จะไม่มีใครมายึดทรัพย์ ทรัพย์สินของพวกเขาจะมีหลักประกัน
พูดง่ายๆ ว่า ไม่มีเศรษฐีคนไหนในชาติตะวันตกมานั่งกลัวว่า วันหนึ่ง ริชี ซูนัก (Rishi Sunak) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะนึกอยากยึดทรัพย์ใครขึ้นมา หรือแม้แต่ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ต่อให้ทำอะไรแปลกๆ แค่ไหน ก็ไม่มีทางสั่งยึดทรัพย์ใครแค่เพราะรู้สึกหมั่นไส้แน่นอน
ประเทศตะวันตกมีหลักนิติธรรม (Rule of Law) ดังนั้น ผู้นำไม่สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจ แต่จีนไม่มีเรื่องนี้ ผมคิดว่ามันเป็นปัญหา ระบอบการเมืองของจีนจึงไม่ยั่งยืน
การไม่มี ‘หลักนิติธรรม’ ที่ว่านี้ อาจส่งผลให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนสั่นคลอน จนมีแนวโน้มล่มสลายเลยไหม
เราต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีความสามารถกล่อมเกลาทางการเมืองประชาชนมาก คือคนจีนไม่ได้มองว่าพรรคนี้สวยหรูไปหมด แต่พวกเขามองว่า พรรคคอมมิวนิสต์คือ ‘Necessary Evil’ เป็นตัวร้ายก็จริง แต่ก็ต้องคงอยู่ เพราะมีความจำเป็นในการปกป้องประเทศ
คนจีนบางคนทราบว่า พรรคมีด้านลบ มีการคอร์รัปชันอะไรมากมาย แต่หากจีนไม่มีพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือปล่อยให้หลายพรรคแข่งขันกันในทางการเมือง พวกเขาก็ไม่เอา โดยให้เหตุผลว่า จะทำให้สังคมวุ่นวาย และศัตรูภายนอกจะบ่อนทำลายชาติ
ไปๆ มาๆ ผมคิดว่าต่อให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะถูกวิจารณ์อย่างไร ทั้งเรื่องโควิด จนถึงการติดป้ายประท้วงให้สี จิ้นผิงออกไป สิ่งนี้เป็นเพียงการสูญสิ้นศรัทธาต่อผู้นำคนนั้น แต่ถามว่าต้องการทำลายทั้งระบบไหม? คนจีนก็จะบอกว่าไม่หรอก จีนมีความจำเป็นที่ต้องมีพรรคการเมืองเดียวที่ผูกขาดอำนาจอยู่ โดยเฉพาะประเด็นการรักษาความมั่นคงของประเทศ
ดังนั้น การที่อยากให้ไทยมีโมเดลการปกครองแบบจีน ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้แน่ๆ เพราะคนไทยกับคนจีนอยู่ในระบอบการเมืองคนละแบบ และมีประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน
ใช่ คือสำหรับคนจีน อะไรก็ตามที่นำไปสู่ความวุ่นวาย เขาจะมองว่านี่เป็นช่องโหว่ที่ทำให้ต่างชาติเข้ามารุกราน หรือแทรกแซง
ความเชื่อนี้มาจากแนวคิด ‘ศตวรรษแห่งความอัปยศ’ (Century of Humiliation) ซึ่งอยู่ในระบบการศึกษาจีนทุกรุ่น ตั้งแต่จีนก๊กมินตั๋งจนถึงจีนคอมมิวนิสต์ สิ่งนี้ยังเป็นปมที่หลอกหลอนคนจีนจนกระทั่งทุกวันนี้ คือคุณอย่าก่อสิ่งที่จะทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย เพราะอำนาจจากภายนอกจะเข้ามาสร้างความปั่นป่วนให้กับประเทศ
คุณมองการเมืองจีนนับต่อจากนี้ไปอย่างไรบ้าง
การเมืองจีนตอนนี้น่าเป็นห่วง เพราะยุครัฐบาลที่ผ่านมา เติ้ง เสี่ยวผิง, เจียง เจ๋อหมิน และหู จิ่นเทา ทั้งสามยุคนี้ เราจะเห็นความเป็นสถาบันทางการเมืองของจีนเด่นชัด แม้จะเป็นประเทศเผด็จการ แต่มีการขึ้น-ลงของผู้นำอย่างเป็นระเบียบ
แต่พอมาถึงยุคนี้ เรายังมองไม่เห็นเลยว่าใครจะเป็นผู้นำคนต่อไป เพราะสี จิ้นผิงเป็นผู้นำมาสามสมัยแล้ว ทำลายธรรมเนียมข้อจำกัดของอายุไปแล้ว เพราะแต่เดิม สมัชชาที่ 16 ปี 2002 มีการตกลงในหมู่ผู้นำว่า ถ้าคุณจะเป็นบุคคลในโพลิตบูโร (Politburo) หรือเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ คุณต้องอายุไม่เกิน 68 ปี โดยนับจากวันเปิดประชุมสมัชชา
ตอนนี้สี จิ้นผิงอายุ 69 ปี อยู่ในตำแหน่งสมัยที่สาม อีกทั้งยังไม่มีวี่แววว่าใครจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่สืบทอดอำนาจ ไปๆ มาๆ ผมคิดว่าตอนที่สี จิ้นผิง ขึ้นมาใหม่ๆ เขาก็คงไม่ได้คิดจะอยู่ยาวขนาดนี้หรอก แต่มาตรการที่เคยทำไว้มากมาย ตั้งแต่การปราบคอร์รัปชัน หรือกลุ่มทางการเมืองต่างๆ ทำให้เขารู้สึกว่าการลงออกจากตำแหน่งไม่มีความปลอดภัย อาจจะโดนเช็กบิลเหมือนที่ตัวเองเคยทำก็ได้
ดังนั้น แนวโน้มของการเมืองจีนคือผู้นำอายุเยอะขึ้น แต่ไม่มีทั้งระบบการสืบทอดอำนาจ รวมถึงผู้สืบทอดอำนาจทางการเมืองหลังจากนี้ ซึ่งก็มีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเมืองภายใน หากผู้นำเกิดเป็นอะไรฉับพลันขึ้นมา
แต่อีกส่วนหนึ่ง สถานการณ์นี้อาจมีนัยสำคัญต่อนโยบายต่างประเทศ คือจีนจะมีนโยบายต่างประเทศที่ก้าวร้าวมากขึ้น เพราะผู้นำที่ดำรงตำแหน่งนาน ยิ่งต้องอธิบายกับประชาชนว่า ผมอยู่นานเพื่อต้องการสร้างผลงานเพิ่ม ไม่ใช่แค่การนั่งทำงานเช้าชามเย็นชามแล้วจะสามารถอยู่ได้ห้าถึงหกสมัย
สี จิ้นผิงอยู่สมัยที่สามแล้ว เขาต้องแสดงให้เห็นว่า สมัยที่สามมีอะไรก้าวหน้ากว่าสมัยก่อนๆ ดังนั้น ถามว่าผู้นำจีนจะอวดอ้างความก้าวหน้าในเรื่องอะไร ในเมื่อเรื่องเศรษฐกิจก็ไม่ได้อีกต่อไป เพราะก่อนหน้านี้ สี จิ้นผิงบอกไปแล้วว่า คนจีนหลุดพ้นจากความยากจนแล้ว
ดังนั้น ผมคิดว่าการที่สี จิ้นผิงอยู่นาน จะส่งผลต่อนโยบายต่างประเทศ จุดยืนของจีนอาจจะก้าวร้าวและกล้าเผชิญหน้าในเรื่องต่างๆ มากขึ้น เพราะต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่า เขาอยู่เพื่อพิทักษ์สิ่งที่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติ เช่น กรณีไต้หวัน ถ้ายังดื้อด้าน เขาก็จะซ้อมรบเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ หรือประเด็นทะเลจีนใต้ก็ยอมไม่ได้ ไม่มีทางยอมเด็ดขาด
สุดท้าย การกระทำทั้งหมดนี้ยิ่งเพิ่มความชอบธรรมของเขาในตำแหน่ง
Fact Box
- ศาสตราจารย์ ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล มีความเชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
- เขาเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2018-2021 ปัจจุบัน เป็นผู้เชี่ยวชาญจีนศึกษา อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผลงานทางด้านวิชาการความสัมพันธ์ไทย-จีนที่โดดเด่นของ ดร.สิทธิพล คือ หนังสือไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน: การเมืองที่ผันผวนและความยุ่งยากในช่วงต้นของความสัมพันธ์ทางการทูต (ค.ศ. 1975-1978) เมื่อปี 2020 และบทความวิจัยเรื่องไทยกับรัฐบาลกั๋วหมินตั่งที่ไต้หวัน: ลัทธิชาตินิยมจีนและการลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตในช่วง ค.ศ. 1949-1957 เมื่อปี 2023