ความวุ่นวายในสัปดาห์นี้สำหรับวิกฤตการระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยก็คือ เมื่อกระทรวงสาธารณสุข ออกมาแถลงประจำวันต่อความคืบหน้าของสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย แล้วไม่ยอมระบุจุดที่มีการติดเชื้อว่าเกิดขึ้นที่ไหน ยกตัวอย่างเมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่ม 6 ราย มี 2 รายเป็นเจ้าหน้าที่ในสนามบินสุวรรณภูมิ ในขณะที่อีก 4 รายไม่ระบุพิกัด (คนหนึ่งบอกแต่เพียงว่าเป็นชายชาวสิงคโปร์ เจ้าของร้านอาหารในกรุงเทพฯ)
ซึ่งหลังจากนั้น ในโซเชียลมีเดียก็ว่อนไปด้วยข้อมูลข่าวสารการปิดอาคาร สำนักงาน ห้างร้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตึก All Season ธนาคาร TMB สาขาราชปรารภ หรือประกาศจาก SCG มาบตาพุด และอื่นๆ อีกมากมาย (ซึ่งบางประกาศไม่ได้ระบุโดยตรงว่าพนักงานหรือบุคคลในนั้นติดเชื้อ) ทั้งที่เป็นประกาศอย่างเป็นทางการจากภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานที่หรือบริษัทนั้นๆ และข่าวจากบุคคลทั่วไป
เช่นเดียวกันกับในวันที่ 12 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงความคืบหน้าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 11 ราย จากการตรวจสอบพบว่า มีการดื่มเหล้าแก้วเดียวกัน สูบบุหรี่มวนเดียวกัน และพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งก่อนหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขจะแถลง ก็มีข่าวว่อนในโซเชียลมีเดียแล้วว่า กลุ่มคนที่ติดเชื้อเหล้านั้น ติดเชื้อมาจากการไปเที่ยวร้านเหล้าที่ทองหล่อ
หลังจากการแถลงของกระทรวงสาธารณสุข ก็มีผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีการติดเชื้อทั้ง 11 คนในวันนี้มาจากการติดเชื้อที่ร้านเหล้าที่ทองหล่อใช่หรือไม่ แต่กระทรวงสาธารณสุขเลือกที่จะไม่ตอบคำถามนี้ และในระหว่างวัน หลังจากการแถลงของกระทรวงสาธารณสุข ในโซเชียลมีเดียเองก็ว่อนไปด้วยข่าวว่า ตรงนั้นตรงนี้มีผู้ติดเชื้อ เช่นกรณีข่าวของร้านชงเจริญ เซ็นทรัลเวิลด์
สิ่งเหล่านี้ยิ่งกระตุ้นให้คนต้องเดาและสร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชนไปต่างๆ นานาว่า หรือสถานที่ที่มีคนพูดถึงกันในโซเชียลมีเดีย จะตรงกับจุดที่มีผู้ติดเชื้อ ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมมีทั้งจริงและไม่จริง
แต่ในภาวะที่ข้อมูลคลุมเครือตรวจสอบไม่ได้ ก็ยิ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคน ที่กังวลเผื่อไปก่อนล่วงหน้าเนื่องจากไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ตรงไปตรงมา แม้แต่สถานที่ที่อาจจะไม่เข้าข่ายเป็นพื้นที่เสี่ยงก็อาจจะได้รับผลกระทบ จากการทำงานของข่าวลือที่แพร่ระบาดไปไกล
ตื่นตระหนก- ไม่ตื่นตระหนก จะมองในมุมไหน ?
ประเด็นหนึ่งที่มีการกล่าวถึงก่อนหน้านี้ในเรื่องการเปิดเผย-ไม่เปิดเผยจุดเสี่ยงก็คือ หากมีการเปิดเผยจุดที่เคยมีผู้เข้าข่ายอาจจะติดเชื้อโควิด-19 จะสร้างภาวะความตื่นตระหนกขึ้นในสังคมหรือไม่ แน่นอนว่ามันเป็นความอ่อนไหวที่ต้องพิจารณา แต่หากพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นว่า แม้จะไม่เปิดเผยพื้นที่เสี่ยงต่อเชื้อไวรัส ก็ยิ่งเติมเชื้อให้เกิดเฟคนิวส์ (หรือบางทีอาจจะไม่ใช่เฟคนิวส์แต่เป็นเรื่องจริง) สร้างความวุ่นวายสับสนในข้อมูลข่าวสาร และสร้างความตื่นตระหนกในสังคมไปแล้ว
ความตื่นตระหนกจากข่าวลืออันมาจากข้อมูลที่คลุมเครือ ถูกบ้างผิดบ้าง อาจจะควบคุมได้ยากกว่าด้วยซ้ำ มากไปกว่านั้น มันยิ่งบั่นทอนความน่าเชื่อถือ ประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ และสร้างความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อรัฐมากยิ่งขึ้นด้วย เพราะในยามวิกฤตนี้ นอกจากมาตรการทางด้านสาธารณสุขแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องจัดการก็คือการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับรู้โดยไม่ต้องเคลือบแคลงสงสัย
เพื่อให้ข้อเท็จจริง ที่ควรได้รับจากภาครัฐ ไปป้องกันเฟคนิวส์ สกัดกั้นข้อมูลที่สร้างความสับสนวุ่นวานในโซเชียลมีเดีย ด้วยกระบวนการของพลเมืองชาวเน็ตเอง (ดังเช่น กรณีเฟคนิวส์อื่นๆ) จะยิ่งส่งผลดีต่อทางภาครัฐด้วยซ้ำไป ที่ไม่ต้องตามแก้ข่าวปลอม แล้วปล่อยให้ข้อมูลทำงานคัดง้างกันเองด้วยชุดข้อมูลข่าวสารหรือข้อเท็จจริง
แต่ในขณะนี้ ไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริง และรัฐบาลก็ไม่เปิดเผยข้อมูลเหล่านั้น กระบวนการนำข้อเท็จจริงไปหักล้างข่าวลือจึงยากที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ เฟคนิวส์หรือข้อมูลที่สร้างความสับสนวุ่นวายจึงว่อนไปทั่วโซเชียลมีเดียในแต่ละวัน
ในหลายประเทศ ก็มีการประกาศ เปิดเผยข้อมูล และระบุพิกัดเพื่อให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวังและพึงตระหนักในการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ ที่มีการแจ้งและอัปเดตข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเป็นระบบและเข้าใจง่าย ผู้ป่วยรายที่เท่าไรเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยรายอื่นอย่างไร เพื่อลดความตื่นตระหนก และเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ตามความเป็นจริง
หรือแม้กระทั่งรายที่ติดเชื้อก็จะบอกว่า พักอยู่ที่ใด ทำงานที่ไหน ตอนนี้ไปรักษาตัวที่ใด รวมไปถึงคอยอัปเดตติดตามอาการเพื่อทำให้เห็นการทำงานของทางการอย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนต่อการทำงานของรัฐ ขณะเดียวกัน นอกจากจะสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างเป็นระบบ ยังสามารถควบคุมการระบาดของเฟคนิวส์ ข้อมูลข่าวสารที่สร้างความวุ่นวายสับสน และความตื่นตระหนกของประชาชนได้อีกด้วย
และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่เราก็คงต้องเฝ้ารอความชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่
Tags: เฟคนิวส์, โคโรนา, ไวรัสโคโรนา, โคโรนาไวรัส, โควิด-19