สถิติใหม่ล่าสุดของยอดผู้ติดเชื้อในประเทศไทยทะลุถึง 17,000 คน เมื่อวันพฤหัสที่ 29 กรกฎาคม ใครหลายคนคงอยากจะมีชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 (COVID-19 Test Kit) มาไว้ติดบ้าน แต่ราคาที่วางขายตามท้องตลาดอาจไม่ใช่ทุกบ้านที่จะเข้าถึงได้ง่ายๆ
ในวันที่ราคาชุดตรวจที่วางขายในบ้านเราไม่ต่ำกว่าชุดละ 300 บาท ชวนให้นึกถึงข้อความที่เพื่อนของผู้เขียนที่อาศัยอยู่ประเทศเยอรมนีทักมาเมื่อสามเดือนก่อน เพื่อนคนนี้บอกว่าเมืองไทยหาชุดตรวจยากเหลือเกิน ขณะที่ชุดตรวจที่ใช้กันตามบ้าน (Home-use Antigen Test Kit) ในเยอรมันนั้นหาง่ายไม่ต่างกับขนมจีบซาลาเปาในร้านสะดวกซื้อ แถมยังราคาถูก ชุดหนึ่งไม่ถึงหนึ่งยูโร (ประมาณ 39 บาท)
แต่หลังจากหาข้อมูลของกรมศุลกากรและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่พักใหญ่ ผู้เขียนก็ขอบคุณและตอบปฏิเสธเพื่อนไปว่าอย่าส่งชุดตรวจหาเชื้อโควิดมาเลย มันทั้งยุ่งยาก วุ่นวาย และเสียภาษีแพงหูฉี่ ไม่คุ้มค่าที่จะส่งพัสดุข้ามน้ำข้ามทะเลจากเยอรมันมาเมืองไทยในช่วงเวลานี้
ผนวกกับข่าวที่ ไพศาล มังกรไชยา นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง เล่าเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ญาติคนหนึ่งของเขาสั่งชุดตรวจ Antigen Test Kit จากต่างประเทศ 20 ชุด ในราคาถูกกว่าที่วางขายในบ้านเรา แต่เมื่อพัสดุส่งมาถึงบ้าน ญาติของเขากลับได้รับเพียง 5 ชุด เพราะถูก ‘ดึง’ ออกไปด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจนนัก ซึ่งต่อมาได้รับคำอธิบายว่า จำนวนของที่ได้รับจะมีมูลค่าเท่ากับที่วางขายในบ้านเรา (ที่รวมภาษีแล้ว)
เมื่อผู้เขียนได้สนทนากับเพื่อนคนเดิมอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ก่อน เขาล้มเลิกความตั้งใจที่จะส่งชุดตรวจมาเมืองไทยพร้อมกับตั้งคำถามว่า ทำไมการตรวจหาเชื้อจึงต้องถูกทำให้เป็นเรื่องยาก ทั้งที่ในหลายประเทศ การตรวจหาเชื้อเป็นเรื่องง่ายและทำเองได้ที่บ้าน เพราะในเยอรมนีและหลายประเทศในยุโรป การตรวจหาเชื้อโควิดเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้แบบที่ไม่ต้องเป็นภาระ
ภาพของคนไทยที่เข้าคิวยาวเหยียดข้ามวันข้ามคืนเพื่อรอตรวจหาเชื้อโควิดฟรีนั้น ช่างตรงข้ามกับภาพของชาวเยอรมันที่เข้าถึงการตรวจหาเชื้อได้อย่างง่ายดายยิ่งนัก
ตลอดช่วงล็อกดาวน์ การเข้าใช้บริการบางสถานที่ในประเทศเยอรมนี เช่น การเข้าออกอาคารหรือติดต่อราชการเร่งด่วน คนที่มาติดต่อต้องใช้เอกสารยืนยันว่าปลอดเชื้อ แต่เมื่อมีนโยบายคลายล็อกดาวน์บางพื้นที่ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลจึงจัดตั้งจุดตรวจหาเชื้อโควิดแบบชั่วคราวขึ้น โดยจุดตรวจหาเชื้อด่วนเหล่านี้มีความหลากหลายมาก ตั้งแต่เป็นสิ่งก่อสร้างชั่วคราวหรือเป็นธุรกิจที่ถูกสั่งปิดชั่วคราว และปรับเปลี่ยนมาเป็นจุดตรวจเพื่อสร้างรายได้ บ้างก็เป็นตู้คอนเทนเนอร์
ก่อนหน้าจะมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ ประชาชนสามารถขอเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิดได้ตามศูนย์ทางการแพทย์ที่ดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุข ช่วงแรกที่เปิดให้มีการตรวจในศูนย์ฯ นั้น ผู้ที่ต้องการตรวจจะต้องทำการนัดหมายล่วงหน้า ซึ่งบางคนต้องรอคิวนานเป็นสัปดาห์ แต่เนื่องจากรัฐบาลเล็งเห็นว่าความต้องการตรวจหาเชื้อโควิดน่าจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีมาตรการผ่อนคลาย เพราะในช่วงแรกยอดคนฉีดวัคซีนค่อนข้างต่ำ ทำให้ผู้คนที่ออกไปทำธุระนอกบ้านและต้องใช้เอกสารยืนยันว่าปลอดเชื้อ เพื่อเข้าสถานที่ต่างๆ ทำให้คิวในศูนย์ฯ ต่างๆ นั้นยาวเหยียด ในที่สุด รัฐบาลต้องเปิดจุดตรวจโควิดขึ้นเพื่อสนองความต้องการของประชาชน
นัยของการเปิดจุดตรวจนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ตามที่ได้เล่าไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จำนวนคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วมีต่ำมาก
ทันทีที่ร้านค้าเริ่มเปิดในช่วงคลายล็อกดาวน์เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ห้างสรรพสินค้า ร้านเสริมสวย โรงแรม สปา หรือแม้แต่ร้านอาหารที่เปิดให้นั่งกินในร้านได้ ซึ่งเมื่อก่อนการจะใช้บริการในร้านเหล่านี้ได้ ผู้ใช้บริการต้องทำการจองคิวล่วงหน้า (หรือบางร้านอนุญาตให้จองหน้าร้าน) และเมื่อจะเข้าใช้บริการต้องมีเอกสารแสดงการฉีดวัคซีนแล้ว หรือเคยติดเชื้อไม่เกินหกเดือน หรือเอกสารแสดงผลการตรวจเชื้อเป็นลบก่อนเข้าใช้บริการทุกครั้ง มีเพียงร้านค้าสองประเภทคือซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายเครื่องดื่มที่ไม่ต้องใช้เอกสารแสดง เนื่องจากเป็นร้านค้าที่ขายของจำเป็นในชีวิตประจำวัน
แน่นอนว่าหากไม่มีจุดตรวจที่มากพอ ร้านค้าเหล่านี้คงมีผู้ใช้บริการเพียงน้อยนิด เพราะในช่วงเดือนพฤษภาคมมีผู้ที่ได้ฉีดวัคซีนแล้วน้อยมาก รวมกับจำนวนผู้ที่เคยติดเชื้อในระยะเวลาหกเดือนก็คงไม่มากพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจแน่นอน นอกจากนี้ หลายคนมองว่านี่เป็นการให้อภิสิทธิ์ให้แก่คนบางกลุ่ม (คนฉีดวัคซีนแล้วและคนที่เคยติดเชื้อ) ที่จะสามารถกลับไปใช้ชีวิต (ที่เกือบจะ) ปกติได้ ปล่อยให้คนจำนวนมากที่ยังรอคิวฉีดวัคซีนได้แต่นั่งมอง
เพราะการฉีดวัคซีนในเยอรมันและหลายประเทศในยุโรปจะดำเนินการตามอายุ กลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนเป็นคนสูงอายุ และไล่ตามกลุ่มอายุลงมา ซึ่งแปลว่าวัยรุ่นและเด็ก (ในเยอรมันฉีดวัคซีนให้กับเด็กตั้งแต่อายุ 12 ขวบขึ้นไป) จะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับวัคซีน และตลอดเวลาที่ผ่านมา เด็กวัยรุ่นมักจะถูกขอความร่วมมือให้อยู่กับบ้านเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงแพร่และรับเชื้อ แต่เมื่อมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ กลับกลายเป็นคนสูงอายุมีโอกาสออกไปเที่ยวนอกบ้านมากที่สุด
รัฐบาลจึงต้องเตรียมตั้งจุดตรวจหาเชื้อโควิดเพิ่ม เพื่อสอดคล้องกับมาตรการคลายล็อกดาวน์ ทั้งนี้เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนที่ต้องการกลับมาใช้ชีวิตที่มีอิสระดังเดิม และสร้างความเท่าเทียมให้กับคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ซึ่งมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งได้เปลี่ยนสถานที่ประกอบการของตนเองที่ต้องปิดตัวชั่วคราว มาเป็นจุดตรวจเพื่อสร้างรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งพื้นที่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ที่จอดรถ เรือท่องเที่ยว สถานขายบริการทางเพศ แม้แต่ลานหน้าสถานีรถไฟให้เป็นจุดตรวจ
ขั้นตอนการตรวจนั้นง่ายแสนง่าย แค่คุณเดินเข้าไปที่จุดตรวจใดก็ได้ กรอกเอกสารขอตรวจ แล้วรอผลส่งให้ทางมือถือเกือบจะในทันที หากผลเป็นลบ คุณสามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันเข้าใช้บริการต่างๆ ได้ทันที หรือหากผลเป็นบวก คุณจะต้องไปตรวจซ้ำที่โรงพยาบาลเพื่อทราบผลที่แน่นอน จากนั้นก็กลับไปรักษาตัวที่บ้าน และจะได้รับการติดตามผลจากหมอเป็นระยะๆ
สิ่งที่ตามมาจากการตั้งจุดตรวจเชื้อ นอกจากปัญหาเรื่องการเลือกปฏิบัติตามที่บอกข้างต้นแล้ว ยังมีเรื่องการคอร์รัปชันอย่างหนัก โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งงบเบิกจ่ายไว้ จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดจุดตรวจทั่วทุกมุมเมือง เพราะเป็นธุรกิจสร้างกำไรแบบง่ายๆ นั่นเอง แต่อย่างไรเสีย มีบางบริษัทแอบเบิกเงินค่าชุดตรวจเกินจำนวนชุดที่ใช้ไปจริงจนทำให้เกิดการสอบสวน กระทั่งมีจุดตรวจอย่างน้อยสองแห่งในเบอร์ลินต้องปิดตัวลงเพราะข้อกล่าวหานี้
การตรวจหาเชื้อดังกล่าวจะบอกว่าเป็นบริการฟรีก็ไม่ถูกต้องไปเสียหมด เพราะค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะถูกยื่นให้กับประชาชนทางอ้อม รายจ่ายส่วนนี้จะถูกรวมเข้ามาในงบประมาณสาธารณสุข นำมาซึ่งการเตรียมเก็บภาษีไวรัสโคโรนาและการขึ้นเบี้ยประกันสุขภาพรายเดือน ซึ่งบริษัทประกันเอกชนบางรายได้เริ่มขึ้นเบี้ยประกันไปแล้ว
การที่ชุดเครื่องตรวจมีราคาถูก ส่วนหนึ่งมาจากการแจกชุดตรวจให้กับประชาชนในหลายรูปแบบ บริษัทห้างร้านมีชุดตรวจบริการให้พนักงานฟรีสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เช่นเดียวกับบุคลากรทางการแพทย์และในสถานศึกษาที่มีการตรวจทุกสัปดาห์ฟรี จำนวนคนได้รับวัคซีนมีมากขึ้น ประกอบกับความจำเป็นต้องโชว์ผลการตรวจก่อนเข้าห้างร้านต่างๆ หลังมาตรการเปิดเมือง ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องมีผลตรวจอีกต่อไป
กระนั้น ประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนจำนวนมากก็ยังบ่นกระปอดกระแปดถึงความไม่เท่าเทียม เพราะในช่วงแรกของการคลายล็อกดาวน์เดือนพฤษภาคม คนแห่ไปต่อคิวตรวจโควิดเพื่อนำใบรับรองไปใช้บริการในร้านค้าเพราะต้องติดกับอยู่กับบ้านนานหลายเดือนจนคิวยาวเหยียด บางครั้งต้องใช้เวลาถึง 45 นาที กว่าจะได้ตรวจ ทั้งยังต้องรออีกประมาณครึ่งชั่วโมงกว่าผลจะออก รวมแล้วคนกลุ่มนี้ต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่งก่อนจะมีโอกาสเข้าใช้บริการร้านค้าต่างๆ เหมือนคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว
ผู้เขียนได้แต่บอกเพื่อนว่าอยากจะชวนคนเยอรมันมาลองเข้าคิวรอตรวจหาเชื้อโควิดในเมืองไทยบ้าง ชนชั้นแรงงานที่ไม่มีปัญญาจะซื้อชุดตรวจก็ต้องเข้าคิวข้ามคืน (ช่วงก่อนมีมาตรการเคอร์ฟิว) เพื่อรอลุ้นตรวจหาเชื้อฟรีตามจุดตรวจเคลื่อนที่ เพราะไม่มีโควตาหลักร้อยชุดต่อวันในแต่ละจุด หรือบางคนที่มีกำลังทรัพย์ก็ต้องหาข้อมูลบนมือถือเพื่อหาโรงพยาบาลหรือแล็บสักแห่งเพื่อตรวจหาเชื้อในราคาไม่ต่ำกว่าสามพันบาท
นี่คือชีวิตคนกรุงที่เคยถูกมองเป็นอภิสิทธิ์ชน มีกำลังทรัพย์และอำนาจในการเข้าถึงบริการที่หลากหลายได้ก่อนใคร ถึงแม้ว่าเราจะยังคงมีอภิสิทธิ์เหนือคนค่อนประเทศในวันนี้ แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่และจำนวนคนที่มากล้น ทำให้คนกรุงโดยเฉพาะชนชั้นแรงงานเหมือนกำลังถูกขังอยู่ในพื้นที่จำกัดและทรัพยากรอันน้อยนิด จนเงินอาจจะไม่สามารถซื้อได้ทุกสิ่ง มีเพียงอำนาจบางอย่างที่อาจจะช่วยให้ใครบางคนเข้าถึงทรัพยากรได้ การตรวจหาเชื้อที่สามารถทำได้เองอย่างง่ายดายที่บ้านกลับถูกทำให้เป็นเรื่องยากลำบากสำหรับทุกคน โดยเฉพาะชนชั้นแรงงาน
ผู้เขียนได้แต่บอกเพื่อนว่า หลังจากที่ต้องเรียกร้องเรื่องวัคซีนคุณภาพให้กับหมอพยาบาลและประชาชนทั่วไป จนกระทั่งเกิดการนำเข้าเพื่อมาขาย (เป็นประเทศแรกของโลก) คนไทยค่อนประเทศคงไม่เข้าใจว่าถ้ารัฐบาลไม่สามารถตั้งจุดตรวจหาเชื้อโควิดให้กับประชาชนได้เพียงพอ ทำไมถึงไม่นำเข้าชุดตรวจมาขายในราคาที่สมเหตุสมผลแบบที่ทุกคนเข้าถึงได้แบบไม่ต้องเจ็บปวดกับราคาที่สูงเกินจริง เพราะถ้าใครที่สามารถตรวจหาเชื้อได้เอง และพบว่าตัวเองติดเชื้อ ก็จะได้กักตัวเองหรือรักษาตัวเองตามกำลัง อย่างน้อยก็ไม่แพร่เชื้อต่ออย่างไม่ตั้งใจ
แต่ทันทีที่ผู้เขียนพูดจบ ประโยคสั้นๆ ที่เพื่อนตอบกลับมาทำให้จุกจนพูดไม่ออกว่า “คงเปรียบเทียบกันได้ยาก เพราะคนที่นี่ (เยอรมัน) เรียกร้องเพื่อระบบที่ทำให้ ‘อยู่ดี’ ในขณะที่คนไทยจำนวนมาก ทำได้แค่เรียกร้องเพื่อระบบที่ทำให้ชีวิต ‘อยู่ได้’ ”
อ้างอิง
Tags: เยอรมนี, วัคซีน, โควิด19, City Calling, ชุดตรวจหาเชื้อโควิด