เกือบจะลิงโลดเมื่อได้ยินข่าวว่ากรุงเทพมหานครเตรียมปรับปรุงทางเท้าถนนพระราม 1 ในที่สุดประชาชนคนเดินถนนก็ได้รับการเหลียวแลเสียที แต่เมื่อได้อ่านรายละเอียดข่าวนั้น ก็ชักสงสัยว่า หรือนี่คือโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว ‘สร้างภาพ’ ลักษณ์เมืองเหมือนเคย
ฟังเผินๆ เหมือนแผนการปรับปรุงทางเท้าเพื่ออำนวยความสะดวกผู้พิการ แต่รายละเอียดนั้นทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเป็นเพียงการรองรับการประชุมเอเปค (APEC Ministerial Meeting: AMM) ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีหน้าหรือไม่ เพราะโครงการนำร่องบนทางเท้าคือ สองฝั่งถนนพระราม 1 ช่วงแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ รวมประมาณสองกิโลเมตรที่จะได้รับการปรับปรุง ไม่เพียงแต่พื้นผิวทางเท้า แต่รวมไปถึงสิ่งก่อสร้างและสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ได้รับ ‘การคัดเลือก’ นำร่องเพราะความไม่สมบูรณ์ในเรื่องขนาด พื้นผิวไม่เรียบจนเป็นอุปสรรคต่อการสัญจรของผู้พิการ
ทำเลใจกลางกรุงเทพมหานครมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ศูนย์กลางการเดินทางการค้าและการท่องเที่ยว ประกอบกับในขณะนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และผู้สัญจรในพื้นที่น้อย เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 จึงกำหนดดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ในช่วงเวลานี้
สรุปสั้นๆ ในแบบที่คนกรุงเทพส่วนใหญ่ได้ยินบ่อยๆ ว่า เพราะมันเป็นหนึ่งในจุดขายของเมืองนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ กทม. พยายามปรับปรุงภาพลักษณ์ของเมืองเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยมองเห็นประชาชนเป็นพลเมืองชั้นสองในบ้านตัวเอง และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเกือบถูกหลอกให้ดีใจเก้อ เพราะความพยายามกับการกระทำของ กทม. มักขัดแย้งกันเสมอ เราคงยังไม่ลืมความพยายามทวงคืนทางเท้าจากหาบเร่แผงลอยภายใต้นโยบาย ‘จัดระเบียบทางเท้า’ ของ กทม. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ด้วยเหตุผลของเรื่องความสะอาดและการคืนพื้นที่ให้กับสาธารณชน
มาดูกันว่าวันนี้ทางเท้าของเราเป็นอย่างไร ลองมาทบทวนความพยายามนับตั้งแต่การจัดระเบียบในย่านเมืองเก่าแถบท่าเตียน ท่าช้าง ไปจนถึงย่านจับจ่ายใช้สอยเช่น ประตูน้ำ สยาม หรือย่านธุรกิจอย่างสุขุมวิท สีลม หรือเมเจอร์รัชโยธิน แทบไม่มีครั้งไหนหรือพื้นที่ใดที่ กทม. จัดหาพื้นที่ใกล้เคียงรองรับ แทนที่จะเป็นการจัดสรรพื้นที่ระหว่างผู้ค้าและคนเดินเท้า กลับตั้งกฎระเบียบด้านสุขอนามัยและการรักษาความสะอาดของพื้นที่ให้ผู้ค้าและผู้ซื้อปฏิบัติตาม เพราะไม่เคยมองเห็นว่าหาบเร่แผงลอยเป็นวิถีชีวิตจริงของคนรายได้น้อย
ยกตัวอย่างการจัดระเบียบหาบเร่หน้าเมเจอร์รัชโยธินเมื่อเดือนธันวาคมปี 2557 ที่ กทม. เลือกจัดระเบียบด้วยการย้ายผู้ค้า 177 รายออกจากจุดเดิม และจัดหาสถานที่รองรับให้สองพื้นที่คือ ตลาดนัดจตุจักร 2 ที่อยู่ห่างออกไป 22 กิโลเมตรในย่านมีนบุรี หรือ ตลาดนัดสนามหลวง 2 ที่ห่างออกไป 32 กิโลเมตรในย่านพุทธมณฑล ถึงแม้ทาง กทม. ได้ประสานกับเจ้าของตลาดนัดเอกชนในบริเวณใกล้เคียงที่รองรับผู้ค้าได้ทั้งหมด แต่กลับไม่ได้พูดถึงการช่วยเหลือค่าเช่าหรือการต่อรองเพื่อช่วยเหลือผู้ค้าแต่อย่างใด
ดูเหมือน กทม. ลืมนึกถึงวิถีชีวิตของคนรายได้น้อยในเมือง และทำทุกอย่างเพื่อช่วยให้สำนักเทศกิจบรรลุพันธกิจ นั่นคือ การควบคุมและบังคับการตามกฎหมายเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง บาทวิถี และ ที่สาธารณะทั่วไปมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการเสริมสร้างให้ประชาชนปฎิบัติตามกฎหมาย/ระเบียบด้านเทศกิจ และบรรลุเป้าตามแผนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575)
ข้อมูลจากสำนักงานตรวจและบังคับการ ณ วันที่ 23 กันยายน 2562 พบว่า จุดผ่อนผันให้ทำการค้าหาบเร่แผงลอยเคยพุ่งขึ้นไปสูงถึง 22,573 รายใน 773 จุดในปี 2554 ก่อนจะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือเพียง 8,021 รายใน 175 จุดในปี 2561
หลังจากที่จัดระเบียบหาบเร่แผงลอยบนทางเท้าเป็นที่น่าพอใจแล้ว กทม. ก็เดินหน้าริเริ่มโครงการจับปรับผู้จอด หรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 และมักเผยแพร่ยอดจับปรับผู้ฝ่าฝืนขับขี่บนทางเท้าอยู่เป็นระยะ ราวกับเป็นเรื่องน่าภูมิใจ เช่น ยอดค่าปรับระหว่างเดือนสิงหาคมและกันยายน 2562 มียอดสูงถึง 4.45 ล้านบาท โดยมี 5 เขตเป็นแชมป์ ได้แก่ ห้วยขวาง บางกะปิ ป้อมปรามศัตรูพ่าย วัฒนา วังทองหลาง ซึ่งมียอดตั้งแต่สองแสนกว่าไปจนถึงเกือบห้าแสน หรือยอดรวมของการจับปรับจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีการปรับแล้วทั้งสิ้นกว่า 27 ล้านบาท
อีกทั้งข้อมูลจากกองนโยบายและแผนงาน ณ วันที่ 22 ตุลาคม 2562 ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พบว่าผู้กระทำผิดเกี่ยวกับ พรบ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองปี 2535 มีจำนวน 282,193 ราย (ถูกปรับเป็นเงิน 129.8 ล้านบาท) ในปี 2555 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 314,945 ราย (159.7 ล้านบาท) ในปี 2558 แล้วจึงเริ่มลดลงเหลือเพียง 239,615 ราย (137.9 ล้านบาท) ในปี 2560 ก่อนจะดีดกลับขึ้นมาเล็กน้อยที่ 262,025 ราย (162.1 ล้านบาท) ในปี 2561
ดร.วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. เคยให้สัมภาษณ์เมื่อต้นปี 2560 ว่าการได้รับยกย่องให้เป็นเมืองสตรีทฟู้ดที่ดีที่สุดในโลกสร้างความหนักใจมากกว่าภูมิใจ และชี้ให้เห็นว่าอาหารริมทางที่ดีควรจะถูกจัดเป็นสัดส่วนเหมือนตลาดโต้รุ่ง ไม่เกะกะกีดขวางทางเท้าและเจ้าของพื้นที่ในการจัดเก็บขยะ ทำความสะอาดภาชนะ รวมไปถึงห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ เขายังตั้งคำถามกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นที่ยกย่องกรุงเทพว่าเป็นเมืองแห่งอาหารริมทาง แต่กลับไม่เคยพูดถึงประเด็นความสะอาด สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และความไร้ระเบียบ
ความตั้งใจของประธานที่ปรึกษาฯ ก็เป็นผลเมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว กทม. ได้ประกาศจะยกเลิกเขตผ่อนผันหาบเร่ทั้งหมดที่เคยได้รับอนุญาตมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เพราะการค้าขายในรูปแบบดังกล่าวไม่เหมาะกับสภาพเมืองในปัจจุบัน และกระทบต่อภาพลักษณ์ของเมืองทั้งในด้านความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ก่อให้เกิดความเสียหายและกีดขวางการสัญจร และประโยชน์สาธารณะย่อมมีความเหมาะสมและจำเป็นมากกว่า กทม. จึงมีคำสั่งห้ามห้ามจัดผังแผงค้าโดยเด็ดขาดในหลายบริเวณ เช่น ป้ายรถเมล์ ทางขึ้นสะพานลอยหรือสถานีรถไฟฟ้า บริเวณทางม้าลาย ทางเข้าออกอาคาร จุดจ่ายน้ำดับเพลิง และในเดือนกันยายน กทม. ประกาศเดินหน้าสานต่อความตั้งใจด้วยการจัดหาพื้นที่รองรับผู้ค้าหาบเร่ 12,809 ราย เพื่อที่จะยกเลิกจุดผ่อนผันครบ 683 จุดทั่วเมือง ในระยะเร่งด่วนหกเดือน กทม. ทำการเจรจากับเจ้าของตลาดให้ยกเลิกเงินกินเปล่า และค่าเช่าในระยะแรก
แต่อย่างไรก็ตาม กทม. ยังคงยืนยันที่จะรักษาหาบเร่แผงลอยบนถนนเยาวราชและถนนข้าวสารเอาไว้ เพราะ กทม. เชื่อว่าเป็นพื้นที่แสดงอัตลักษณ์และวิถีชุมชน ราวกับว่าผัดไทและแมลงทอดเป็นอาหารที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของคนย่านข้าวสารและบางลำพู
ผ่านไปหกปีคนกรุงเทพคงสัมผัสได้ว่าหาบเร่แผงลอยหายไปจากทางเท้าริมถนนใหญ่จริง แต่ถามว่าบ้านเมืองเราสะอาดเป็นระเบียบขึ้นไหม หนูและแมลงสาบที่เราต้องคอยหลบกับกองขยะบนทางเท้ายามค่ำคืนน้อยลงหรือไม่ หรือทางเท้าในเมืองหลวงของเรามีสภาพดีขึ้นจนเดินได้แบบไม่ต้องตั้งสติทุกย่างก้าวหรือเปล่านั้นคงตอบยาก เพราะในขณะที่ กทม. ดูเหมือนจะเข้มงวดแบบเอาเป็นเอาตายกับหาบเร่แผงลอยทั่วเมืองหลวง แต่กลับปล่อยปละละเลยกับการใช้พื้นที่สาธารณะดังกล่าวในบางรูปแบบที่ขัดแย้งกับกฎหมายเสียเอง
ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดพื้นที่ให้วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างบนทางเท้าอย่างเป็นกิจลักษณะ หรือแม้กระทั่งการปิดตาข้างหนึ่งแล้วปล่อยให้ร้านค้าโดยเฉพาะร้านอาหารที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ยึดเอาพื้นที่ทางเท้าหน้าร้านและของเพื่อนบ้านมาเป็นที่ตั้งโต๊ะอาหาร หรือเก้าอี้ให้ลูกค้าและมอเตอร์ไซค์ส่งอาหารเข้าคิว ลองนับดูเล่นๆ ว่าในละแวกบ้านคุณมีหาบเร่แผงลอยเหลือกี่ร้าน แต่มีร้านค้าในอาคารที่ขายดีจนต้องยึดพื้นที่สาธารณะค้าขายกี่ร้าน หรือมีวินมอเตอร์ไซค์รับกี่จุดและมีรถรับจ้างกี่คัน
ในละแวกบ้านเราที่อยู่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าเพียง 700 เมตร และมีรถเมล์ 7 สายในรัศมี 300 เมตร กลับมีวินมอเตอร์ไซค์ที่ตั้งอยู่บนทั้งทางเท้าและริมถนนอย่างน้อย 5 จุด และเกือบทั้งหมดตั้งอยู่ที่ป้ายรถเมล์ ส่วนร้านอาหารที่ขายดีจนล้นออกมาบนทางเท้านั้นนับไม่ถ้วน
จริงอยู่ว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างอาจไม่ได้สร้างความสกปรกในรูปแบบเดียวกับแผงลอย หรือรถเข็นขายอาหาร ที่มักจะทิ้งเศษอาหารลงบนถนน หรือท่อระบายน้ำแบบไม่เกรงใจกฎข้อบังคับใดๆ แต่จำนวนรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างและบางวินที่มีมุมพักผ่อนระหว่างรอผู้โดยสารนั้น ก็รบกวนพื้นที่ทางเท้าไม่ใช่น้อย และคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง (และไม่รับจ้าง) จำนวนมากก็ไม่ได้เคารพกฎหมายห้ามผู้ขับขี่ขับรถบนทางเท้า โดยไม่มีเหตุอันสมควร แต่บ่อยครั้งเราก็ยังคงโดนคนขับรถมอเตอร์ไซค์บีบแตรไล่เมื่อเราเดินช้าไม่ทันใจ
หกปีผ่านไป ภาพความไร้ระเบียบและสกปรกของรถเข็นอาจจะไม่ได้หายไปไหน แต่ถูกผลักไปซ่อนไว้ตามตรอกหลังอาคารพาณิชย์ หรือตึกสำนักงานไม่ให้คนใช้ถนนสายหลักมองเห็น เหมือนเราแค่กวาดเศษขยะไปไว้ใต้พรม แต่หนูและแมลงสาบหาเจอเสมอ
ลองมองดูถนนบรรทัดทอง แหล่งอาหารแห่งใหม่ที่เต็มไปด้วยร้านอาหาร กาแฟ ขนมสวยเก๋น่ารัก สะอาดสะอ้าน ด้านหลังอาคารพาณิชย์ที่ตกแต่งทันสมัยคือถนนแคบๆ เช่น จุฬาซอย 1 หรือ จุฬาซอย 3 ที่เต็มไปด้วยรถเข็นส้มตำ ไก่ทอดหรือหมูปิ้งควันโขมง น้ำเต้าหู้ ไปจนสารพัดอาหารราคาย่อมเยาของคนรายน้อย ปัญหาสุขอนามัยของอาหารริมทางก็ไม่เคยได้รับการแก้ไข คนรายได้น้อยยังคงบริโภคอาหารที่ปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ ภาชนะที่ล้างไม่สะอาดพอ ราวกับเป็นโลกคู่ขนาน
หกปีผ่านไป พื้นที่สาธารณะจำนวนหนึ่งที่ควรจะเป็นของคนเดินถนน เพียงแค่ถูกเปลี่ยนผู้ยึดครองจากหาบเร่แผงลอยไปสู่เจ้าของกิจการในอาคารพาณิชย์ หากเรากำลังเรียกร้องความเท่าเทียม ทางเท้าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะมันคือตัวชี้วัดความเท่าเทียมของแต่ละเมืองได้เป็นอย่างดี เพราะจุดเริ่มต้นของเมืองเท่าเทียมคือ ทางเท้าที่จะทำให้ทุกคนสามารถเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้ ไม่ว่าจะด้วยการเดินเท้าหรือนั่งรถเข็นไปบนทางเท้าที่ใช้สัญจรได้จริง เราคงไม่ต้องบอกว่าเมืองแบบไหนที่ทางเท้าที่ไม่เพียงแต่เต็มไปด้วยหลุม บ่อ หรือระเบิดน้ำครำไว้ใต้แผ่นกระเบื้องที่แม้แต่คนเดินเท้ายังยากที่จะหลบ แถมยังถูกรุกล้ำโดยคนขาย และคนซื้อที่ลืมนึกถึงหน้าที่ของทางเท้าจนไม่เหลือพื้นที่ให้คนเดินเท้าหรือรถเข็นคนพิการสัญจรได้
อ้างอิง
http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER9/DRAWER015/GENERAL/DATA0001/000012
59.PDF
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/047/T_0017.PDF
https://www.facebook.com/prbangkok/posts/587679231331702
https://www.posttoday.com/politic/report/474350
https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1936000
Tags: BANGKOK, กรุงเทพฯ, ทางเท้า, city gentrification, urban development, City Calling