‘เมือง’ คือที่ที่มนุษย์ต้องเผชิญกับแนวหน้าของปัญหาใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่ง
ปัญหานั้นก็คือ – อาหาร
สหประชาชาติบอกว่า ตอนนี้ทั่วโลกมีคนที่อาศัยอยู่ในเมืองมากกว่า 55% แล้ว และตัวเลขนี้จะพุ่งขึ้นเป็น 66% ในปี 2050 นั่นแปลว่าจะมีเมืองเกิดขึ้นมากมายในโลก ผู้คนจะเข้าไปแออัดรวมตัว ก่อให้เกิดเมืองทั้งระดับเมืองใหญ่และเมืองอภิมหาใหญ่ (Megacity) ที่มีคนมากกว่า 10 ล้านคนหลายสิบเมือง ไม่นับรวมเมืองใหญ่กว่านั้น (คือมีคนระดับหลายสิบล้านคน) อีกหลายเมือง โดยเฉพาะในแอฟริกา
เมื่อเมืองใหญ่ขึ้น แออัดขึ้น ย่อมเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมืองเหล่านี้ โดยปัญหาหนึ่งที่ทุกเมืองต้องพบเผชิญ ก็คือเรื่องของอาหาร
ซึ่งก็นับรวม ‘อาหารเช้า’ ด้วย
ที่จริง หลายเมืองในโลก (โปรดสังเกตว่า – นี่ไม่ใช่เรื่องระดับ ‘รัฐ’ มากเท่ากับเรื่องระดับ ‘เมือง’ นะครับ ดังนั้น การกระจายอำนาจในการปกครองจึงเป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ) เริ่มมีนโยบายที่เรียกว่า Urban Food Policy ออกมากันแล้ว โดยแต่ละเมืองจะมีรายละเอียดของนโยบายที่แตกต่างกัน เนื่องจากมีพื้นฐานปัญหาไม่เหมือนกัน แต่โดยภาพรวมแล้ว ก็คือการพยายามสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เมืองนั่นแหละ
ตัวอย่างเช่น เมืองดาการ์ (Dakar) ของเซเนกัล เลือกจะแก้ปัญหาอาหารของเมืองด้วยการสร้างโปรแกรมที่เรียกว่า Microgardens หรือ ‘สวนจิ๋ว’ ทั่วเมือง สวนจิ๋วที่ว่า จะมาแทนสวนสาธารณะ และกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ เพื่อให้คนสามารถเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจได้ และในเวลาเดียวกันก็สามารถเข้าไปเพาะปลูกพืชพรรณต่างๆ ตามที่ต้องการได้ โดยรัฐบาลท้องถิ่น (ของเมือง) จะสนับสนุนและไปขอทุนมาจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โปรแกรมแบบนี้ทำให้คนเกิดความรักในที่อยู่ของตัวเอง และมีส่วนช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ทำให้คนจนมีโอกาสเข้าถึงผักใบเขียวมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะคนจนจะไม่มีพื้นที่สำหรับเพาะปลูก โดยเฉพาะพื้นที่เมืองที่แออัด
ในโคลัมเบียก็มีโครงการเกี่ยวกับอาหารหลายอย่างเช่นกัน เช่นในเมืองเมเดลลิน (Medellin) จะมีโครงการคล้ายๆ เซเนกัล คือเป็นสวน (เรียกว่า Food Gardens) ที่มีการจัดการโดยสำนักผังเมือง มีการอบรมผู้คนให้รู้จักปลูกผัก และทำสวนผักในโรงเรียน รวมทั้งทำธนาคารอาหารขึ้นมาเพื่อเก็บรักษาอาหารส่วนเกินที่ผลิตได้ นอกจากนี้ ยังมีโครงการความมั่นคงทางอาหาร โดยผู้ว่าฯ (ที่มาจากการเลือกตั้ง) เป็นคนแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลนโยบายนี้ โดยมีมหาวิทยาลัย Antioquia คอยตรวจสอบการทำงานอีกต่อหนึ่ง จึงมาครบพร้อมทั้งแนวคิด การบริหาร ไล่เลยไปถึงการตรวจสอบด้วย
ในเมืองใหญ่อย่างฟิลาเดลเฟียของสหรัฐอเมริกาก็มีการคิดแผนระบบอาหาร (Food System Plan) ขึ้นมา เป้าหมายก็คือการเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อเมือง แผนนี้มีคณะกรรมการพัฒนาโดยเฉพาะ เรียกว่า Greater Philadelphia Food System Stakeholder Committee คือชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ มาเป็นกรรมการนั่งพูดคุยกันเพื่อกำหนดนโยบายต่างๆ ออกมาอย่างเป็นประชาธิปไตย
โครงการทำนองนี้ยังมีอีกมากในหลายเมือง เช่น มัลโมของสวีเดน, ริโอเดอจาเนโรของบราซิล, ซานฟรานซิสโกของสหรัฐอเมริกา, ฮ่องกง, เมืองกีโตของเอกวาดอร์ หรือกระทั่งประเทศยากจนในแอฟริกาอย่างเมืองโบโบ-ดิอูลาสโซ ของประเทศบูร์กินาฟาโซ ที่มีแนวโน้มต้องเผชิญกับวิกฤตความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตอย่างรุนแรงจนอาจเกิดวิกฤตด้านอาหารขึ้นมาได้
อย่างไรก็ตาม เมืองที่น่าสนใจมากที่สุด และมีแผนการณ์ที่ ‘ลงลึก’ ไปจนถึงระดับ ‘อาหารเช้า’ ของเด็กๆ ก็คือมหานครลอนดอนแห่งสหราชอาณาจักรนี่เอง
ลอนดอนมีโครงการชื่อ The London Flagship Food Boroughs หรือการเลือก ‘เขต’ ต่างๆ ขึ้นมาเป็นเขตนำร่อง โดยทำกันมาตั้งแต่ปี 2014 เช่นเขต Lambeth, Croydon หรือ Islington ซึ่งเป็นเขตที่ไม่ได้อยู่ตรงกลางเมืองเท่าไหร่ แต่อยู่ไกลออกไปทางชายขอบเมืองมากกว่า
โครงการนี้มีเป้าหมายหลายอย่าง เช่น การปรับปรุงตัว ‘อาหาร’ เอง เพื่อให้มีคุณภาพดีขึ้น (provision) แต่ไม่ใช่ทำแค่เอาอาหารไปเลี้ยงเด็ก แบบโครงการอาหารกลางวันในบางประเทศที่ให้คุณหญิงคุณนายไปตักอาหารให้เด็ก ถ่ายรูป แล้วก็จบ ทว่ายังมีเป้าหมายอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในระดับพื้นฐานอีก เช่น การให้ ‘ความรู้’ (knowledge) เพื่อสร้างความเข้าใจในระดับลึกว่าอาหารต่างๆ ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร คือแค่ ‘ได้กิน’ ยังไม่พอ แต่ต้องรู้ด้วยว่าสิ่งที่กินดีหรือไม่ดีต่อร่างกายอย่างไร
ถัดมาก็คือการเพิ่ม ‘ทักษะ’ (skills) ไม่ใช่แค่ในการทำอาหารเท่านั้น แต่เป็นทักษะสำหรับขั้นตอนตั้งต้นเลย นั่นคือทักษะในการ ‘สร้าง’ อาหาร ตั้งแต่การเพาะปลูกพืช ทำสวน การเก็บรักษา รวมถึงการ ‘เก็บของป่า’ (ที่จริงคือพืชพรรณพื้นถิ่นในเมืองที่ไม่ได้มีคนปลูก) ที่เรียกว่า forraging มาใช้ การฝึกทักษะว่าอะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ จะเลือกอย่างไร และจะนำวัตถุดิบเหล่านั้นมาปรุงเป็นอาหารที่มีรสชาติดีได้อย่างไรเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะของบางอย่าง (เช่นเห็ด) ถ้าเก็บผิดชนิดก็อาจทำให้ป่วยหรือถึงแก่ชีวิตได้
ทั้งหมดนี้นำไปสู่การให้ ‘คุณค่า’ (values) ในอันที่จะ ‘ทำนุบำรุง’ (เขาใช้คำว่า foster) ความรักในอาหารต่อไป ไม่ใช่แค่ความรักในการกินแบบนักชิมหรือ foodie เท่านั้น แต่เป็นความรักใน ‘กระบวนการ’ ให้ได้มาซึ่งอาหารตั้งแต่ต้นทางจนกระทั่งถึงโต๊ะอาหาร เมื่อเรื่องพวกนี้ฝังลึกลงไปแล้ว เด็กๆ และผู้คนจะสามารถส่งต่อและถ่ายทอดความรู้ ความรัก ทักษะ และรสชาติต่างๆ ต่อไปให้คนอื่นๆ ได้โดยอัตโนมัติ จึงไม่ได้สร้างแค่สำนึกทางสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว ทว่าไปไกลถึงสำนึกทางวัฒนธรรม ซึ่งสุดท้ายก็ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้ในหลายระดับ
หลายเขตสร้างโครงการนำร่องโดยพุ่งเป้าไปที่เด็ก เช่น เขตอิสลิงตัน ที่วางแผนออกมาเลยว่าจะทำให้เด็กๆ ชาวอิสลิงตันได้ Eating Well Together อย่างไรบ้าง โดยสร้างขึ้นมาเป็นโครงการตามอายุของเด็ก แบ่งเป็น ‘ขา’ ต่างๆ ที่นำมาประกอบกันเป็นโครงการทั้งหมด เช่นขาแรก คือ Building a Healthy Start เป็นการเริ่มตั้งแต่ต้นทาง คือตั้งแต่เด็กเกิดมา ว่าเมืองจะสามารถสร้างความรักชอบในอาหารให้กับเด็กๆ ได้อย่างไรบ้าง ขาอื่นๆ มีอาทิ การเชื่อมโยงกันผ่านอาหาร (Connection Through Food) หรือการเลือกที่จะมีสุขภาพดีในวัยรุ่นผ่านรสชาติของอาหาร (พูดอีกอย่างหนึ่งคือการ ‘ฝึก’ ให้ลิ้นของวัยรุ่นคุ้นชินกับความ ‘คลีน’ ของอาหาร ที่มักจะไม่ได้มีรสชาติฉูดฉาดรุนแรง)
แต่ที่น่าสนใจมากก็คือขาที่สอง ที่พูดได้ว่าเป็นพื้นฐานของวัย และเป็นการสร้างรากฐานทางการกินให้ผู้คน นั่นก็คือวัยเด็ก
โครงการที่ว่านี้ (ในหลายๆ เขต) กำหนดให้วัยเด็กได้พบกับประสบการณ์การ ‘เลือก’ อย่างเสรี หรือเรียกว่า Children’s Choices นั่นคือให้เด็กๆ ในโรงเรียนมีโอกาสเลือก (ผ่านการแนะนำของครูและนักโภชนาการ) ว่าตัวเองอยากกินอะไร ซึ่งเท่ากับการมอบ ‘อำนาจ’ ในการเลือกกินไว้ในมือเด็ก ไม่ใช่การบังคับว่าเด็กต้องกินตามที่โรงเรียนจัดหามาให้เท่านั้น ซึ่งเท่ากับเป็นเผด็จการทางรสชาติ
แน่นอน ถ้าไปถาม เด็กๆ ย่อมอยากกินลูกกวาด ท็อฟฟี่ หรือไอศกรีมเป็นอาหารเช้า (หรืออาหารทุกมื้อ) กันเป็นส่วนใหญ่ แต่โครงการนี้ใช้วิธีที่เรียกว่า ‘แบ่งปัน’ วิธีการกินที่ดี (Sharing Good Practice) ระหว่างเด็กๆ ด้วยกันเอง โดยไม่ได้มีผู้ใหญ่ไปบังคับเอาช้อนป้อนเด็ก บังคับให้เด็กต้องกินไอ้นั่นกินไอ้นี่ (เช่นที่สมัยก่อนเราชอบบังคับให้เด็กกินน้ำมันตับปลา) โดยมีการคิดค้นวิธีใหม่ๆ (innovative practice) ร่วมกับการสนับสนุนของเพื่อนๆ (เขาใช้คำว่า peer support ไม่ใช่ peer pressure ซึ่งเป็นคำที่เป็นแง่บวกกว่ามาก) ทำให้เด็กมีทางเลือกต่างๆ ที่เหมาะสมกับตัวเอง หรือไม่ก็พร้อมปรับตัวให้เข้ากับความจำกัดของตัวเลือก
ที่สำคัญก็คือ โครงการนี้เห็นว่า ‘อาหารเช้า’ เป็นเรื่องสำคัญมากต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ แต่ยังมีเด็กอีกไม่น้อยที่ไม่ได้กินอาหารก่อนเข้าเรียน ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับ ‘ความเป็นเมือง’ อย่างแนบแน่น เช่น มีปัญหาจราจร พ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ ฯลฯ จึงกระตุ้นให้หลายๆ โรงเรียนสร้าง Family Kitchen Programme ขึ้นมา คือให้เด็กๆ ได้กินอาหารจาก ‘ครัว’ ที่บ้านเสียก่อน แต่ถ้าหากว่ายังไม่สำเร็จ โรงเรียนก็จะมี Breakfast Club ขึ้นมารองรับอีกชั้นหนึ่ง เพื่อรับประกันว่าเด็กๆ จะได้กินอาหารเช้าแน่ๆ
พบว่าโรงเรียนในเขตอิสลิงตันนั้น มีอยู่ 89% ที่มี Breakfast Club คอยจัดหาอาหารให้กับเด็กๆ และในจำนวนนี้ มีอยู่ถึง 45% ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรที่มีชื่อว่า Magic Breakfast
เราอาจรู้สึกว่า สหราชอาณาจักรเป็นประเทศโลกที่หนึ่ง คงไม่มีใครถูกทิ้งไว้ให้ท้องหิวก่อนเข้าเรียนหรอก แต่ก็ต้องบอกคุณว่า – ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป ยังมีเด็กยากจนอีกไม่น้อยในประเทศโลกที่หนึ่ง แต่ด้วยความเป็นประเทศโลกที่หนึ่ง หลายฝ่ายจึงคิด Safety Net หรือเครือข่ายที่จะเอาไว้รองรับคนที่อยู่ด้านล่างๆ ของพีระมิดประชากร เพื่อไม่ให้ต้องร่วงหล่นลงไปมากกว่านั้นอีก
Magic Breakfast ก็เป็นผลพวงการทำงานของแนวคิดนี้ด้วยเหมือนกัน คนที่ก่อตั้ง Magic Breakfast คือนักเขียนและนักรณรงค์ชื่อ คาร์เมล แม็คคอนเนล (Carmel McConnell) ปรัชญาของเธอก็คือ ไม่ควรมีใคร ‘ยากจน’ เสียจนท้องต้องหิวก่อนเข้าเรียน พูดอีกอย่างคือ เด็กทุกคนควรได้เข้าเรียนโดยที่ท้องอิ่ม ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้ดีขึ้น องค์กรอย่าง Magic Breakfast จึงจัดหาอาหารเช้าดีๆ ให้กับนักเรียนประถมของอังกฤษ พบว่ามีนักเรียนจำนวนมากถึง 35% ที่เข้าข่ายควรได้รับอาหารจาก Magic Breakfast (แปลว่าไม่ได้มีฐานะดีพอ หรือเข้าถึงอาหารได้ไม่มากพอ) ในปัจจุบัน Magic Breakfast จัดหาอาหารให้กับโรงเรียนในอังกฤษมากถึง 1,775 โรงเรียนแล้ว
แต่ ‘ตัวเลือก’ ของเด็กๆ ไม่ได้มีแค่นี้ เพราะโรงเรียนในหลายเขตยังไปจับมือกับองค์กรอื่นๆ อีกหลายองค์กร และสร้างโปรแกรมต่างๆ ขึ้นมาอีกหลายอย่าง เช่นมีโครงการทำสวนที่เรียกว่า Food Growing Schools: London หรือ FGSL หรือร่วมมือกับ Jamie Oliver Foundation เพื่อติดตั้ง ‘เตาพิซซ่า’ กลางแจ้งตามโรงเรียนต่างๆ แล้วก็ส่งคนมาอบรมการทำพิซซ่าให้ด้วย
มีการสำรวจพบว่า เด็กๆ ในอังกฤษอย่างน้อยราวครึ่งล้านคน มาโรงเรียนด้วยความหิวโหย แน่นอน ตัวเลขนี้สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความสามารถในการเรียนรู้ เพราะเด็กที่หิวย่อมเรียนอะไรไม่รู้เรื่อง ทั้งยังมีอัตราการ ‘โดดเรียน’ สูงกว่าเด็กที่ท้องอิ่มด้วย ดังนั้น การรับประกันว่าเด็กๆ จะได้กินอาหารเช้าก่อนเข้าเรียน โดยมี ‘ตัวเลือก’ ต่างๆ ตามที่ตัวเด็กชอบและต้องการ และได้ ‘เลือก’ มาตั้งแต่ต้นด้วยกระบวนการต่างๆ ทั้งเพาะปลูกทำสวน ปรุงอาหารเอง ฯลฯ ก็ช่วยให้เด็กๆ อิ่มท้องเข้าเรียน มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ และมีกระบวนการเรียนรู้ที่ดีขึ้น
การทำให้เด็กเมืองได้ ‘กินอาหารเช้า’ ในอังกฤษ จึงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างบูรณาการจริงๆ คือมีความร่วมมือตั้งแต่ระดับรัฐ ลงมาถึงระดับเมือง แผ่กระจายออกไปยังภาคเอกชน ซึ่งทั้งหมดก็ยังเชื่อมต่อไปถึงระดับโลกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่แสดงให้เห็นถึงองคาพยพโดยรวมของประเทศที่สอดประสานกันทั้งหมด โดยมีวิสัยทัศน์ร่วมเป็นประโยชน์สุขของเด็กๆ
หลายคนคิดว่า การไม่มีอาหารเช้ากินมักเป็นเรื่องของเด็กในชนบทห่างไกล ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปัญหานี้เกิดขึ้นกับเด็กในเมืองและเด็กที่พ่อแม่มีฐานะพอสมควรด้วย เพราะหากตัว ‘โครงสร้างชีวิต’ บีบรัด เช่น เมืองมีการจราจรติดขัดจนพ่อแม่ไม่มีเวลาเตรียมอาหารเช้า หรือไม่มีช่วงเวลาช้าๆ ให้ได้ค่อยๆ ละเลียดอาหารเช้า ก็อาจทำให้เด็กเลือกที่จะไม่กิน ทำให้ท้องหิวก่อนเข้าเรียนได้เหมือนกัน พบว่าแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาทำนองนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามสภาพความ ‘เป็นเมือง’ ที่เพิ่มขึ้น
แม้ในอังกฤษยังมีเด็กตกอยู่ในสภาพแบบนี้หลายแสนคน จึงเป็นเรื่องน่าคิดอย่างยิ่งกว่า ในประเทศที่ปัญหาด้านอื่นๆ รุมเร้ามากกว่าหรือเป็นประเทศยากจนกว่า จะมีเด็กที่เข้าเรียนด้วยท้องหิวมากแค่ไหน และเรื่องเล็กๆ แค่นี้ จะส่งต่อปัญหาเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ไปสู่ปัญหาใหญ่ๆ ต่อไปอย่างไรหรือเปล่า
นั่นคือคำถามที่หลายสังคมอาจไม่มีคำตอบให้
โดยเฉพาะสังคมน่าเศร้าบางแห่งที่คุณก็รู้ว่าที่ไหน
อ่านเพิ่มเติม
http://www.ipes-food.org/_img/upload/files/Cities_full.pdf
https://democracy.islington.gov.uk/documents/s1550/8b.%20Flagship%20summary%20FINAL.pdf
https://www.london.gov.uk/what-we-do/business-and-economy/food/food-flagships/about-food-flagships
Tags: เมือง, อังกฤษ, ลอนดอน, อาหารเช้า