มีงานวิจัยของ Food Research & Action Center พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างความไม่มั่นคงทางอาหาร (Food Insecurity) และพฤติกรรมของเด็กนักเรียนเอาไว้น่าสนใจมากๆ

งานนี้ได้ข้อสรุปออกมาหลายอย่างมาก แค่ในรายงานสรุปก็ทำให้เราเห็นภาพอะไรหลายอย่างทีเดียว

อย่างแรกเลยก็คือ ความไม่มั่นคงทางอาหาร (พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือไม่มีจะกินเพราะความจนนั่นแหละครับ) ทำให้เด็กๆ สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้ไม่ดีนัก แล้วยังรวมไปถึงการควบคุมตัวเอง การตอบสนองต่อแรงกดดันจากเพื่อนๆ

งานวิจัยนี้พบว่า เด็กๆ ที่หิวโหยอยู่เสมอ มักจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทะเลาะวิวาทและลงไม้ลงมือ มากกว่าเด็กที่ไม่ได้หิวถึง 7 เท่า

ความหิวเป็นอาการทางกายภาพที่ส่งผลต่อเด็กๆ ในหลายเรื่องนะครับ รวมไปถึงความ ‘ท็อกซิก’ ด้วย โดยเกิดขึ้นกับความเครียดที่เรียกว่า Toxic Stress อันเป็นความเครียดเรื้อรังที่ส่งผลต่อพัฒนาการและสุขภาพของเด็กๆ เนื่องจากความเครียดที่เกิดจากความหิวต่อเนื่องนั้น จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดหลากชนิดออกมาตามกลไกวิวัฒนาการ เพื่อกระตุ้นหรือเร่งให้เด็กคนนั้นๆ (ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง) ต้องออกหาอาหารเอามาใส่ปากท้อง แต่สิ่งแวดล้อมเมืองในปัจจุบัน ทำให้เด็กไม่สามารถหาอาหารรอบตัวได้ เช่น จะไปเด็ดผักหักหญ้าจับแมลงหรือกิ้งก่ากินก็ไม่สามารถทำได้ ความหิวจึงก่อให้เกิดความเครียดสั่งสมยาวนาน จนอาจเกิดประสบการณ์ที่เรียกว่า Adverse Childhood Experiences หรือ ACE ขึ้นมาได้

งานวิจัยนี้บอกว่า เด็กที่มีประสบการณ์ ACE มีความเสี่ยงจะเผชิญกับปัญหาทั้งสุขภาพและปัญหาเศรษฐกิจต่อไปเมื่อโตขึ้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความจนยิ่งทำให้คนเราจนลงนั่นเอง

ผลสรุปของรายงานนี้บอกว่า ถ้ารัฐบาลกลาง (ในที่นี้คือสหรัฐอเมริกา) จัดให้มีโครงการอาหารเช้าในโรงเรียนเกิดขึ้น ก็จะไปลดความไม่มั่นคงทางอาหารที่จะทำให้เด็กไม่สามารถหาอาหารเช้ากินได้ โดยเฉพาะเด็กจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน ดังนั้น ‘อาหารเช้าที่โรงเรียน’ หรือ School Breakfast จึงเป็นเรื่องสำคัญที่มักถูกมองข้าม เพราะทุกคนมี ‘ภาพจำ’ ว่าเด็กต้องมาจากครอบครัวที่มีพ่อแม่คอยหาอาหารเช้ามาให้อยู่เสมอ

แต่ในโลกจริง – เด็กไม่ได้เป็นแบบนั้นเสียทั้งหมด ดังนั้น การจัดอาหารเช้าให้เด็กๆ ในโรงเรียน จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

องค์กรอย่าง Food Research & Action Center ร่วมมือกับอีกหลายองค์กร รณรงค์ให้เกิด ‘อาหารในห้องเรียน’ ขึ้นมา โดยทำเว็บไซต์ชื่อ Breakfastintheclassroom.org และมีอยู่หน้าหนึ่งที่นำเสนอข้อมูลน่าสนใจ

เขาบอกว่า ข้อมูลในปี 2014 บอกว่ามีเด็กมากถึง 15.3 ล้านคนในอเมริกา (หรือกว่า 1 ใน 5) ที่ต้องอยู่ในสภาพหิวโหยหรือต้องดิ้นรนหาอาหารมากิน ในจำนวนนี้มีอยู่เพียงราวครึ่งหนึ่งเท่านั้น ที่สามารถจะได้รับอาหารเช้าฟรีหรืออาหารเช้าลดราคาจากโปรแกรมอาหารของรัฐบาลกลาง

การที่รัฐบาลกลางไม่ค่อยตระหนักหรือให้ความสำคัญกับอาหารเช้าหรือ School Breakfast Program รวมไปถึงการที่ชีวิตทางสังคมทำให้เด็กขาดเวลากินอาหารเช้า หรือรถโรงเรียนหรือรถเมล์มาช้า เลยส่งผลให้เข้าเรียนสายและไม่ได้กินอะไรก่อนเรียนนั้น จะส่งผลให้เด็กเรียนรู้ช้าลง และมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่ดี (อย่างที่ว่ามาข้างต้น)

โครงการอาหารเช้าในห้องเรียนจึงสำคัญมาก

แต่นอกจากเด็กๆ ที่ยากจนแล้ว งานวิจัยเก่าอีกชิ้นหนึ่งก็รายงานด้วยว่า แนวโน้มโดยทั่วไปในช่วงปี 1965 ถึง 1991 ก็คือ คนเรากินอาหารเช้าลดลง ในงานนี้บอกว่า คนกินอาหารเช้าลดลงราว 15-20% ซึ่งไม่ใช่แค่เด็ก แต่รวมไปถึงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ด้วย โดยคนอีกจำนวนหนึ่งเลือกไม่กินอาหารเช้าเอง ไม่ใช่เพราะความยากจน

แต่มีงานวิจัยเยอะมาก ที่รายงานตรงกันว่า อาหารเช้ามีผลต่อพฤติกรรมและสมรรถภาพในการเรียนรู้ของทั้งเด็กและวัยรุ่น (เช่น รายงานนี้) ส่วนใหญ่แล้ว งานวิจัยเหล่านี้จะบอกว่า ถ้าไม่ได้กินอาหารเช้า จะส่งผลต่อการแก้ปัญหาต่างๆ ของเด็ก มีผลต่อความทรงจำระยะสั้น (Short-Term Memory) รวมไปถึงสมาธิและความทรงจำอาศัยเหตุการณ์ (Episodic Memory)

แต่ถ้าเด็กได้กินอาหารเช้า พบว่าสมรรถภาพในการใส่ใจ มีสมาธิ การแก้ปัญหา และการใช้เหตุผลเชิงตรรกะจะเพิ่มขึ้น ยิ่งถ้าไปดูว่า อาหารแบบไหนส่งผลอย่างไรต่อการเรียนรู้และพฤติกรรมแล้วละก็ พบว่าอาหารที่มีพลังงานสูง จะทำให้เด็กมีพัฒนาการในเรื่องความสร้างสรรค์ ความอดทนทางร่างกาย รวมไปถึงการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์และความทรงจำระยะสั้นด้วย แต่อาหารพลังงานสูงในที่นี้ เขาบอกด้วยว่าควรเป็นอาหารประเภทที่มีเส้นใยไฟเบอร์สูง มีคาร์โบไฮเดรตสูง ซึ่งจะทำให้เด็กมีความตื่นตัวหลังอาหารเช้ามากกว่าการกินอาหารที่มีไขมันสูงแต่ไฟเบอร์ต่ำ

อย่างไรก็ตาม อาหารเช้าพลังงานสูงก็ต้องไม่ใช่พลังงานจากน้ำตาลด้วยนะครับ มีอีกการทดลองหนึ่ง เขาสำรวจในเด็กที่กินซีเรียลประเภทน้ำตาลต่ำกับซีเรียลประเภทน้ำตาลสูง โดยสุ่มเด็กๆ ที่เข้าค่ายฤดูร้อนมากินอาหารที่มีซีเรียลน้ำตาลสูงสามแบบ น้ำตาลต่ำหนึ่งแบบ รวมไปถึงนมไขมันต่ำ น้ำส้ม กล้วย สตรอว์เบอรี่ โดยให้เด็กๆ เลือกกินเอง แล้วมาตอบแบบสอบถามหลังการกิน

นักวิจัยพบว่า เด็กที่บอกว่าชอบกินซีเรียลน้ำตาลน้อยนั้น โดยเฉลี่ยจะกินซีเรียลราวๆ 35 กรัมหรือกว่านี้เล็กน้อย แต่เด็กที่บอกว่าชอบกินซีเรียลน้ำตาลสูง จะกินมากกว่า คือเฉลี่ยอยู่ที่ 61 กรัม ซึ่งถ้าดูเฉพาะปริมาณน้ำตาล พบว่ามากกว่าเกือบสองเท่า โดยเด็กที่ชอบกินซีเรียลน้ำตาลน้อยมักจะใส่ผลไม้ลงไปในซีเรียลมากกว่า (54% ต่อ 8%) ดังนั้นจึงได้พลังงานส่วนใหญ่จากผลไม้สด ซึ่งก็เท่ากับว่าได้ไฟเบอร์ไปด้วย

พูดง่ายๆ ก็คือ เด็กที่ชอบกินหวานนั้น แม้จะได้พลังงานสูงกว่า แต่ก็มักจะได้พลังงานจากอาหารที่เป็นประโยชน์น้อยกว่า และมีแนวโน้มจะกินมากกว่า จึงทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนได้มากกว่านั่นเอง

ที่จริงแล้ว น้ำตาลที่ถูกย่อยจนกลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวอย่างกลูโคสนั้น มีความสำคัญและจำเป็นต่อการทำหน้าที่ของสมองมาก สิ่งที่ดีต่อร่างกายมากกว่า ก็คือการมีกลูโคสในเลือดที่สม่ำเสมอ ไม่พุ่งปรี๊ดสูงปรู๊ด แล้วก็ลดต่ำลงมาทันทีทันใด ซึ่งภาวะแบบนี้จะเกิดขึ้นกับเด็กที่กินอาหารหวานจัด คือมีปริมาณน้ำตาลสูง

มีการวัดค่า Glycemic Index หรือ GI ซึ่งเป็นค่าที่ใช้ประเมินอาหารโดยดูจากปริมาณน้ำตาลในเลือดที่เกิดขึ้นหลังกินอาหารนั้นๆ เข้าไป พบว่าอาหารที่มีไฟเบอร์ต่ำแต่คาร์โบไฮเดรตสูงจะทำให้น้ำตาลในเลือดพุ่งขึ้น แต่แล้วก็จะลดลงหลังผ่านไปราวสองชั่วโมง แต่เด็กที่กินอาหารไฟเบอร์สูงน้ำตาลน้อย ปริมาณกลูโคสในเลือดจะสม่ำเสมอคงที่กว่า ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของสมอง เพราะกลูโคสจะไปเพิ่มช่วงเวลาที่ทำให้สมองเรียนรู้ได้ดีขึ้น (หรือมี Cognitive Enhancement)

นอกจากเด็กแล้ว เคยมีการทดลองในผู้ใหญ่ (อายุราวๆ 23 ปี) ด้วยเหมือนกัน เป็นการทดลองเพื่อดูว่า การกินอาหารเช้าเทียบกับการงดอาหารเช้านั้น ส่งผลต่อความเจริญอาหารและความพึงพอใจอื่นๆ อย่างไรบ้าง รวมไปถึงเรื่องของการนอนด้วย พบว่าการกินอาหารเช้าทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ เหล่านี้มากกว่า รวมถึงมีแนวโน้มจะทำให้ลดการกินอาหารคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และน้ำตาลสูงในตอนเย็นด้วย แถมยังอาจมีการนอนหลับที่ดีกว่าอีกต่างหาก

ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราดูการกินอาหารเช้าตั้งแต่ต้นมาจนถึงบรรทัดนี้ เราจะเห็นได้เลยว่า การขาดอาหารเช้าเพราะความยากจนจะก่อให้เกิดปัญหาแบบหนึ่ง เช่น ปัญหาการเรียนรู้หรือการเข้าสังคม แต่การกินมากเกินไป รับแคลอรี่มากเกินไป นอกจากจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนแล้ว ก็จะกลับมาสร้างปัญหาต่อการรับรู้ของสมองได้เช่นเดียวกัน

เวลาคนบอกว่า – ควรกินอาหารเช้า หลายคนอาจรู้สึกเบื่อหน่าย เพราะเป็นเรื่องที่พูดกันมาตลอดจนคุ้นหูไปแล้ว

แต่เรื่องนี้สำคัญจริงๆ นั่นแหละ

Tags: , , , , ,