ล่วงสู่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม 2565 ประเทศไทยยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่รายวัน ราว 9,000-10,000 คนต่อวัน (รวมผลการตรวจทั้ง RT-PCR และ ATK) จากระลอกการระบาดของสายพันธุ์ ‘โอมิครอน’ ท่ามกลางอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำกว่าระลอกก่อนๆ มาก ทำให้รัฐบาลตัดสินใจค่อยๆ ทยอยผ่อนคลายมาตรการ ด้วยความหวังว่าเศรษฐกิจรวมถึงภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นกลับมาได้ในเร็ววัน ฝั่งประชาชนก็ลุ้นว่าปี 2565 จะได้เป็นปีแห่งการกลับสู่สภาวะ(เกือบ)ปกติได้อย่างแท้จริงหรือไม่
ในสถานการณ์ที่คนกำลังลุ้นผลลัพธ์ของการพยายาม ‘อยู่ร่วมกับโควิด-19’ และลุ้นว่าโควิด-19 จะไม่กลายพันธุ์ไปกว่าเดิม โรคนี้จะกลายเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ ได้จริง การรณรงค์ให้คนมาฉีดวัคซีนเข็มสามหรือ ‘เข็มกระตุ้น’ ก็กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง (แม้ผู้เขียนจะยังมีคำถามเรื่องความสมเหตุสมผลของ ‘แผน’ การจัดหาวัคซีนปี 2565 ก็ตาม)
ก็น่าจะได้เวลาที่เราจะหันมาทบทวนมหากาพย์ด้าน ‘การจัดสรร’ วัคซีนกันบ้าง เพราะตลอดระยะเวลา 1 ปีระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จนถึงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม 2565 เราก็เดินทางมาถึงจุดที่ประชากรไทยได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบสองโดส คิดเป็นร้อยละ 68.5 ของประชากร ซึ่งยังน้อยกว่าเป้า ‘ร้อยละ 70 ของประชากร’ แต่ก็ถือว่าใกล้เคียงมาก (ซึ่งผู้เขียนอยากย้ำอีกทีว่า เป้าหมายความครอบคลุมนี้มีความหมายมากกว่าตัวเลขการฉีด ‘100 ล้านโดส’ หรือ ‘120 ล้านโดส’ ที่รัฐบาลชอบประโคมว่าทำได้แล้ว อ่านคำอธิบายในบทความ วัคซีนกับเกณฑ์การเปิดเมือง-เปิดประเทศ)
ตัวเลขนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ร้อยละ 52 และค่าเฉลี่ยทวีปเอเชียที่ร้อยละ 60 และสูงเป็นอันดับ 6 ในอาเซียน (สมาชิก 10 ประเทศ) รองจาก บรูไน (ร้อยละ 91) สิงคโปร์ (ร้อยละ 87) กัมพูชา (ร้อยละ 81) มาเลเซีย (ร้อยละ 78) และ เวียดนาม (ร้อยละ 73) ตามลำดับ (ดูภาพประกอบด้านล่างจากเว็บ Our World in Data)
กว่าจะมาถึงวันที่คนส่วนใหญ่ของประเทศได้ฉีดวัคซีนครบสองโดส เราก็ผ่านอะไรๆ กันมามากมาย ผ่านการสูญเสียที่ไม่ควรเกิด เช่น ผู้ป่วยโควิด-19 ตายคาบ้านเพราะเตียงเต็ม ยังไม่นับความทุกข์ยากแสนสาหัส ความวิตกกังวล และการต้องเสียทั้งเงินทั้งเวลามหาศาล จากระบบการจองและจัดสรรวัคซีนของรัฐที่เต็มไปด้วยความสับสนไม่แน่นอน โดยเฉพาะในช่วง 7 เดือนระหว่างกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม 2564 ที่วัคซีนขาดแคลนและมาช้ากว่าแผนของรัฐบาล อันเป็นผลจากกลยุทธ์ ‘แทงม้าตัวเดียว’ ที่ผิดพลาดมหันต์ จนต้องหาทางแก้ไขสถานการณ์ตลอดมา
ในบางจังหวะ การแก้ปัญหาว่าด้วยวัคซีนของภาครัฐเกิดขึ้นก็ด้วย ‘แรงด่า’ มหาศาลจากบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ดังที่มีหลายคนบอกว่า ยุคนี้สังคมไทย ‘ขับเคลื่อนด้วยการด่า’ ตัวอย่างการแก้ปัญหาที่ผู้เขียนเห็นว่า เกิดขึ้นส่วนหนึ่งจาก ‘แรงด่า’ มีอาทิ การจัดสรรวัคซีนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์, การเร่งจัดหาวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ นอกเหนือจากซิโนแวคและแอสตราเซเนกา และการเปิดให้หน่วยงานรัฐและเอกชนจัดหา ‘วัคซีนทางเลือก’ (แม้เรื่องนี้จะมีข้อกังขาและปัญหามากมายที่ไม่ควรเกิดขึ้นก็ตาม)
ที่ผ่านมา การ ‘จัดสรร’ วัคซีนโควิด-19 ในไทยมีปัญหาอะไรบ้าง ผู้เขียนเห็นว่าปัญหาต่างๆ สามารถมองผ่านเลนส์ของ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ใน 5 มิติ ซึ่งหลายมิติก็มีความเกี่ยวโยงกัน มิติเหล่านั้นได้แก่ ความเหลื่อมล้ำเชิงกลุ่มเป้าหมาย ความเหลื่อมล้ำเชิงเทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ ความเหลื่อมล้ำเชิงชนชั้นและคอนเนกชัน และ ความเหลื่อมล้ำเชิงเชื้อชาติ
ในบทความตอนนี้ ผู้เขียนอยากอธิบาย ‘นิยาม’ ของความเหลื่อมล้ำทั้ง 5 มิติข้างต้นที่พบเห็นในการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ในไทย ก่อนที่จะทยอยอธิบายตัวอย่างรูปธรรม ข้อมูลสนับสนุน และข้อสังเกตเรื่อง ‘สาเหตุ’ ของความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ลงคอลัมน์ในตอนต่อๆ ไป
1. ความเหลื่อมล้ำเชิงกลุ่มเป้าหมาย
โดยทั่วไป หลักการสำคัญที่ประเทศทั่วโลกใช้ในการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 คือ เน้นฉีดวัคซีนให้กับ ‘กลุ่มเสี่ยง’ ก่อนกลุ่มอื่นๆ ในประเทศไทยเรียกกลุ่มเสี่ยงว่า ‘กลุ่ม 608’ หมายถึง กลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุเกิน 60 ปี กลุ่มหญิงมีครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค ได้แก่ โรคปอดและโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคมะเร็ง, โรคเบาหวาน และ โรคอ้วนชนิดรุนแรง
ความเหลื่อมล้ำเชิงกลุ่มเป้าหมาย หมายถึง การจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายอย่างไม่สมเหตุสมผลทางการแพทย์ เช่น ไปเน้นฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง เช่น คนวัยทำงาน ฯลฯ ก่อนที่กลุ่มเสี่ยงจะได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุม หรือ จัดสรรวัคซีนประสิทธิภาพต่ำให้กับกลุ่มเสี่ยงสูง วัคซีนประสิทธิภาพสูงให้กับกลุ่มเสี่ยงต่ำ
2. ความเหลื่อมล้ำเชิงเทคโนโลยี
ในหลักการ รัฐควรจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง โดยใช้มาตรการเชิงรุก ไม่ควรปล่อยให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบระหว่างช่องทางต่างๆ ที่ให้ ‘จองคิว’ ฉีดวัคซีน ยกตัวอย่างเช่น คนที่ไม่มีสมาร์ตโฟนหรือเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ไม่ควรเสียเปรียบคนที่จองคิวฉีดผ่านแอพพลิเคชันหรือเว็บไซต์ของรัฐ
ความเหลื่อมล้ำเชิงเทคโนโลยี หมายถึง ความแตกต่างในการได้รับวัคซีนที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี เช่น ระหว่างคนที่มีมือถือกับไม่มีมือถือ หรือ ระหว่างคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้กับเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต
3. ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่
ว่ากันตามสามัญสำนึก นอกจากเราจะคาดหวังให้รัฐจัดสรรวัคซีนตามลำดับความสำคัญที่มีเหตุผลทางการแพทย์รองรับ เช่น ฉีดให้กับ ‘กลุ่มเสี่ยง’ ก่อนกลุ่มอื่น เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะอาการหนักและตายจากโควิด-19 ถ้าติดเชื้อ มากกว่ากลุ่มอื่นๆ
ในเชิงพื้นที่ก็เช่นกัน เราย่อมคาดหวังให้รัฐเน้นการระดมฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่มีกลุ่มเสี่ยงอาศัยอยู่มาก หรือประสบภาวะการระบาดอย่างรุนแรง อย่างเร่งด่วนกว่าพื้นที่อื่นๆ ที่ยังไม่มีเหตุระบาดรุนแรง หรือไม่มีกลุ่มเสี่ยงอาศัยอยู่มากกว่าพื้นที่อืน
ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ ในแง่ของการจัดสรรวัคซีน จึงหมายถึงความเหลื่อมล้ำของการจัดสรรวัคซีนระหว่างจังหวัดต่างๆ หรืออำเภอต่างๆ ที่ไม่มีเหตุผลทางการแพทย์รองรับ ยกตัวอย่างเช่น จัดสรรให้จังหวัด X มากกว่าจังหวัดอื่น เพียงเพราะ X เป็นจังหวัดที่ ส.ส. มาจากพรรคที่มีอำนาจคุมกระทรวงสาธารณสุข จึงใช้อำนาจจัดสรรวัคซีนให้กับพื้นที่ตัวเองมากกว่าและเร็วกว่าจังหวัดอื่น
4. ความเหลื่อมล้ำเชิงชนชั้นและคอนเนกชัน
ในสังคมที่ ‘ระบอบอุปถัมภ์’ ฝังรากลึกและกว้างขวางอย่างไทย เราย่อมคาดหมายได้ว่าการจัดสรรวัคซีนอย่างน้อยบางส่วนจะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ แต่จะขึ้นอยู่กับ ‘ชนชั้น’ และ ‘คอนเนกชัน’ ของคนในสังคม ยิ่งช่วงไหนที่มีการระบาดหนักแต่วัคซีนยังขาดแคลน (ตัวอย่างช่วงเวลาดังกล่าวในไทย คือ มิถุนายน ถึง สิงหาคม 2564) การใช้ ‘เส้น’ ในการเข้าถึงวัคซีน ยิ่งเป็นสิ่งที่คาดหมายได้ว่าจะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย
แต่ใครจะสามารถบันทึกข้อมูลอย่างเป็นเรื่องเป็นราวได้หรือไม่ เป็นเรื่องท้าทายที่เราอาจไม่มีคำตอบ
แล้ว ‘ชนชั้น’ ในไทยมีกี่ชั้น เรียงลำดับตามระดับอภิสิทธิ์ (ในการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19) จากสูงไปหาต่ำ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีคร่าวๆ 5 ชั้นดังนี้
1. ข้าราชบริพารและข้าราชการระดับสูง
2. มหาเศรษฐี และผู้มีอุปการคุณต่อโรงพยาบาล (เช่น เคยบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาล)
3. นักการเมือง ผู้ช่วยนักการเมืองในพรรครัฐบาล
4. ผู้มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้บริหารโรงพยาบาลและสถานฉีดวัคซีน
5. ญาติสนิทมิตรสหายของบุคคลในข้อ 1. ถึง 4.
5. ความเหลื่อมล้ำเชิงเชื้อชาติ
นอกจากสังคมไทยจะมี ‘ระบอบอุปถัมภ์’ ที่ฝังรากลึกแล้ว ยังมีอคติเชิงเชื้อชาติ เช่น อคติต่อแรงงานต่างด้าว ที่สะท้อนให้เห็นอย่างน่าเศร้าผ่านความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรวัคซีนเช่นกัน
ตัวอย่างรูปธรรมของความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรวัคซีน ทั้ง 5 มิติข้างต้น มีอะไรบ้าง และ ‘สาเหตุ’ ของความเหลื่อมล้ำเหล่านี้คืออะไร และผลลัพธ์จากความเหลื่อมล้ำเหล่านี้คืออะไร
ผู้เขียนจะทยอยเรียบเรียงตั้งแต่ตอนหน้าเป็นต้นไป
Tags: โควิด-19, Citizen 2.0, มหากาพย์วัคซีน, การจัดสรรวัคซีน, วัคซีน