กลางเดือนมกราคม 2565 ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ‘รอบที่ห้า’ จากสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งหลายคนลุ้นว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการกลายสภาพเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ ที่มนุษย์อยู่ร่วมกับเชื้อโรคได้ แต่อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยก็เตือนว่า อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ ชะล่าใจ หรือมองโลกในแง่ดีเกินไป เพราะตราบใดที่คนไม่ติดโควิด-19 จำนวนมากมายมหาศาลจนเกิด ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ พร้อมกันทั้งโลก หรือฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ได้พร้อมกันทั้งโลก ตราบนั้นก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ดีที่โรคโควิด-19 จะกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่สามารถ ‘หลบภูมิ’ อันเกิดจากจากสายพันธุ์เดิม และวัคซีนที่ค้นคว้าวิจัยจากสายพันธุ์เดิม
ดังที่เรามีประสบการณ์มาแล้วจากการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลตา ในปี 2564 ซึ่งแพร่ไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว รวมทั้งในประเทศที่สายพันธุ์เดิมเคยระบาดหนัก จนถูกตั้งข้อสังเกตว่า อาจเข้าใกล้ ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ แล้ว อย่างเช่นอินเดีย
ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากจึงออกมาเตือนว่า ก่อนที่โควิด-19 จะกลายเป็น ‘โรคประจำถิ่น’ ได้นั้น คนทั้งโลกต้องร่วมแรงร่วมใจกันปิดความเหลื่อมล้ำในแง่การเข้าถึงวัคซีน ซึ่งยังมีช่องว่างห่างมากระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน และอันที่จริง การอุบัติขึ้นและระบาดรอบใหม่ของสายพันธุ์โอมิครอน ก็เป็นผลลัพธ์จาก ‘ความล้มเหลว’ ของการแบ่งปันวัคซีนจากประเทศร่ำรวยให้กับประเทศยากจน
หลังจากที่เราอยู่กับโควิด-19 และ มหากาพย์วัคซีน ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ไม่โปร่งใส ซับซ้อนซ่อนเงื่อน และโฆษณาชวนเชื่อจากภาครัฐมานานหลายเดือน ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะได้เวลาทบทวนมหากาพย์วัคซีนในปี 2564 ว่า สรุปแล้ว ‘วัคซีนทางการ’ ของรัฐมีการส่งมอบทั้งหมดในปริมาณเท่าไร เราหมดเงินงบประมาณไปเท่าไรแล้ว
สรุปจำนวนวัคซีนส่งมอบ ปี 2564
‘วัคซีนโดยรัฐ’ ที่รัฐบาลจัดหาให้กับประชาชน ณ สิ้นปี 2564 ได้รับส่งมอบทั้งหมดราว 120.7 ล้านโดส ประกอบด้วยวัคซีนยี่ห้อต่อไปนี้
1. แอสตราเซเนกา 64.9 ล้านโดส (ร้อยละ 54) ในจำนวนนี้แบ่งเป็นวัคซีนส่งมอบจากสัญญาซื้อตรงที่รัฐบาลทำกับบริษัท 61.0 ล้านโดส และวัคซีนบริจาค ยืมใช้ล่วงหน้า และซื้อเพิ่มจากรัฐบาลต่างประเทศ รวม 8 ประเทศ จำนวน 3.9 ล้านโดส ดังรายละเอียดต่อไปนี้
– วัคซีนส่งมอบตามสัญญาซื้อตรงจากบริษัทแอสตราเซเนกา จำนวน 61 ล้านโดส
– วัคซีนบริจาคจาก 4 ประเทศ รวม 2.58 ล้านโดส แบ่งเป็น วัคซีนรับบริจาคจากญี่ปุ่น 1.35 ล้านโดส, อังกฤษ 0.42 ล้านโดส, เกาหลีใต้ 0.47 ล้านโดส และ เยอรมนี 0.35 ล้านโดส
– วัคซีนให้ยืมใช้ล่วงหน้าจาก 2 ประเทศ รวม 0.67 ล้านโดส แบ่งเป็น สิงคโปร์ให้ยืมใช้ 0.47 ล้านโดส และ ภูฎานให้ยืมใช้ 0.20 ล้านโดส
– วัคซีนที่รัฐบาลไทยสั่งซื้อเพิ่มจากรัฐบาล 2 ประเทศ รวม 1.01 ล้านโดส แบ่งเป็น ซื้อเพิ่มจากฮังการี 0.40 ล้านโดส และซื้อเพิ่มจากสเปน 0.61 ล้านโดส
2. ซิโนแวค 32.7 ล้านโดส (ร้อยละ 27) ในจำนวนนี้รวมวัคซีนที่รัฐบาลสั่งซื้อตรงจากบริษัท และวัคซีนที่ประเทศจีนบริจาค (ผู้เขียนไม่พบรายละเอียดที่ยืนยันได้)
3. ไฟเซอร์-ไบออนเทค 21.6 ล้านโดส (ร้อยละ 18) ในจำนวนนี้แบ่งเป็นวัคซีนส่งมอบจากสัญญาซื้อตรงที่รัฐบาลทำกับบริษัท 20 ล้านโดส วัคซีนบริจาคจากสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโดส และวัคซีนบริจาคจากไอซ์แลนด์ 0.1 ล้านโดส
4. โมเดอร์นา 1 ล้านโดส (ร้อยละ 0.8) เป็นวัคซีนบริจาคจากประเทศสหรัฐอเมริกา
5. ซิโนฟาร์ม 5 แสนโดส (ร้อยละ 0.4) เป็นวัคซีนบริจาคจากประเทศจีน
สรุปภาพรวมการส่งมอบวัคซีน 2564 เป็นกราฟได้ดังนี้
ในส่วนของ ‘วัคซีนทางเลือก’ ที่อยู่นอกเหนือแผนการจัดหาวัคซีนของรัฐ มีวัคซีนส่งมอบ ณ สิ้นปี 2564 จำนวน 22.9 ล้านโดส แบ่งเป็นยี่ห้อซิโนฟาร์ม ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สั่งซื้อ ส่งมอบแล้วรวม 21 ล้านโดส และยี่ห้อโมเดอร์นา ที่โรงพยาบาลเอกชนและสภากาชาดไทยสั่งซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม ลอตแรก 1.9 ล้านโดส
สรุปค่าใช้จ่ายวัคซีนที่ใช้งบประมาณรัฐ ปี 2564
ในส่วนของราคาวัคซีนที่ประเทศไทยหมดไปกับการจัดหาวัคซีน จากข่าวต่างๆ การแถลงของหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข การอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา และการชี้แจงของผู้เกี่ยวข้อง ผู้เขียนรวบรวมตัวเลขได้ว่า ตั้งแต่ปลายปี 2563 และต่อเนื่องถึงเดือนกันยายน 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติงบประมาณทั้งหมดไปแล้วราว 42,495.4 ล้านบาท สำหรับการจัดหาวัคซีนแอสตราเซเนกา ซิโนแวค และไฟเซอร์-ไบออนเทค โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. อนุมัติการซื้อแอสตราเซเนกาโดยตรงจากบริษัท รวม 61 ล้านโดส งบประมาณ 12,603.5 ล้านบาท
2. อนุมัติการซื้อซิโนแวค รวม 31.4 ล้านโดส งบประมาณ 15,774.7 ล้านบาท
3. อนุมัติการซื้อไฟเซอร์-ไบออนเทค รวม 30 ล้านโดส งบประมาณ 14,117 ล้านบาท
โดยงบในการจัดหาวัคซีน ส่วนใหญ่ใช้งบกลางซึ่งโปร่งใสน้อยกว่า และตรวจสอบได้ยากกว่างบเงินกู้โควิด-19
จากข้อมูลงบประมาณที่อนุมัติในการซื้อวัคซีนสามยี่ห้อข้างต้น ประกอบกับการแถลงข่าว และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ วันที่ 31 สิงหาคม 2564 รวมถึงคำชี้แจงของรัฐมนตรีสาธารณสุขในวันถัดมา สามารถสรุป ‘ราคา’ ของวัคซีนที่รัฐบาลไทยสั่งซื้อได้ดังต่อไปนี้
1. แอสตราเซเนกา ซื้อที่ราคา 5 ดอลลาร์ฯ ต่อโดส (ประมาณ 152 บาท) ในการสั่งซื้อตรงจากบริษัท, ซื้อเพิ่มจากสเปนในราคา 2.9 ยูโรต่อโดส (ประมาณ 113 บาท) และซื้อเพิ่มจากฮังการี ในราคา 1.78 ยูโรต่อโดส (ราว 69 บาท)
2. ซิโนแวค ซื้อที่ราคาเฉลี่ย 8.9-17 ดอลลาร์ฯ ต่อโดส (ประมาณ 295-570 บาท)
3. ไฟเซอร์-ไบออนเทค ซื้อที่ราคาเฉลี่ย 13 ดอลลาร์ฯ ต่อโดส (ประมาณ 435 บาท)
การขออนุมัติงบประมาณจาก ครม. ในการจัดซื้อวัคซีนทุกยี่ห้อ มาของบตามราคาซื้อจริงทุกครั้ง ยกเว้นกรณีของยี่ห้อซิโนแวค ซึ่งราคาที่กระทรวงสาธารณสุขมาขออนุมัติจาก ครม. อยู่ที่ 17 ดอลลาร์ฯ ต่อโดสทุกครั้ง ยกเว้นครั้งหลังสุดที่มาขออนุมัติซื้อลอตสุดท้าย 12 ล้านโดส จาก ครม. วันที่ 12 กันยายน 2564 ไม่ถึงสองสัปดาห์หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ความแตกต่างระหว่างราคาซื้อจริง กับราคาที่มาขออนุมัติงบประมาณจาก ครม. สำหรับยี่ห้อซิโนแวค เป็นหนึ่งในเรื่องไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนยี่ห้อนี้ ซึ่งคงอีกนานกว่าเราจะได้รู้ความจริง ส่วนตัวผู้เขียนมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า นอกจาก ‘ส่วนต่าง’ ระหว่างราคาซื้อจริง กับราคาที่มาขออนุมัติ ครม. แล้ว ยังมีความไม่โปร่งใสและคำถามเรื่อง ‘ค่าบริหารจัดการ’ วัคซีนยี่ห้อนี้เช่นกัน เนื่องจากมีสัดส่วนสูงถึงประมาณ 11-12% ของราคาวัคซีน ไม่ใช่ ‘ค่าขนส่งและอื่นๆ 2-4%’ ที่องค์การเภสัชกรรมแจ้งว่ามาขอเบิกชดเชยจากกรมควบคุมโรคในการจัดซื้อซิโนแวค
ผู้เขียนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสและน่าสงสัยในการจัดซื้อซิโนแวคเพิ่มเติมจากที่เคยเขียนไปแล้วดังนี้
1. ‘ค่าบริหารจัดการ’ ซิโนแวค มีสัดส่วนสูงถึง 11-12% ของราคาวัคซีน ยกตัวอย่างเช่น ในมติ ครม. วันที่ 27 เมษายน 64 ให้ซื้อ ซิโนแวค 5 แสนโดส ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า เป็นการอนุมัติจัดซื้อยี่ห้อนี้ครั้งที่ ‘โปร่งใสที่สุด’ เพราะมีรายละเอียดชัดเจน ในวงเงิน 321.6 ล้านบาท ระบุว่าเป็นค่าบริหารจัดการ 31.36 ล้านบาท หรือ 62.72 บาทต่อโดส คิดเป็นสัดส่วนถึง 11.6% ของราคาวัคซีน ไม่ใช่ 2-4% แต่อย่างใด
2. ‘ค่าบริหารจัดการ’ ต่อโดสของซิโนแวค ไม่เท่ากันทุกครั้ง และ ‘ราคา’ ที่มาขออนุมัติจาก ครม. ก็เลิก ‘ขอเผื่อ’ หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ในการอนุมัติของ ครม. ที่ให้ซื้อซิโนแวค ครั้งสุดท้าย 12 ล้านโดส เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 64 ที่ผ่านมา กรอบวงเงิน 4,254 ล้านบาท ชัดเจนว่าไม่ได้มา ‘ขอเผื่อ’ ที่ราคา 17 ดอลลาร์ฯ ต่อโดส (ตามที่องค์การเภสัชกรรมอ้าง) แล้ว เพราะถ้าใช้ 17 ดอลลาร์ฯ เป็นราคาวัคซีนที่มาขออนุมัติ ลำพังค่าวัคซีนอย่างเดียวก็จะสูงถึง 6,510 ล้านบาท (ยังไม่รวม VAT และค่าบริหารจัดการ) เกินกรอบวงเงินที่ ครม. อนุมัติ ถึงกว่า 2,300 ล้านบาท
ถ้าเราใช้ตัวเลขราคา 8.9 ดอลลาร์ฯ ต่อโดส ล่าสุด ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อ 1 กันยายน 2564 ในการคำนวณงบที่มาขอ ครม. แปลว่า วงเงิน 4,254 ล้านบาท ที่ ครม. อนุมัติให้ซื้อ 12 ล้านโดสนี้ ประกอบด้วย ค่าวัคซีน 3,408 ล้านบาท (8.9 ดอลลาร์ฯ ต่อโดส), VAT 7% จำนวน 238.6 ล้านบาท ส่วนที่เหลือในกรอบวงเงิน 607.6 ล้านบาท ต้องเป็น ‘ค่าบริหารจัดการ’ ซึ่งก็จะเท่ากับว่า ‘ค่าบริหารจัดการ’ รอบสุดท้ายนี้คือ 607.6 / 12 = 50.63 บาทต่อโดส น้อยกว่า 62.72 บาทต่อโดส ที่เคยมาขอ ครม. ในการซื้อ 5 แสนโดส เมื่อ 27 เมษายน 64 ถึงโดสละ 12 บาทเลยทีเดียว
ข้อสังเกตถึง ‘แผน’ การจัดหาวัคซีน ปี 2565
สำหรับ ‘แผน’ การจัดหาวัคซีนโดยรัฐเพิ่มเติม สำหรับปี 2565 ณ กลางเดือนมกราคม 2565 มีความชัดเจน 2 ยี่ห้อ ได้แก่ แอสตราเซเนกา 60 ล้านโดส และไฟเซอร์ 30 ล้านโดส โดย ครม. มีมติในวันที่ 21 ธันวาคม 2564 อนุมัติให้ใช้งบเงินกู้ 35,060 ล้านบาท ซื้อแอสตราเซเนกาเพิ่ม 60 ล้านโดส และไฟเซอร์-ไบออนเทค เพิ่ม 30 ล้านโดส
ถ้าใช้ตัวเลขราคา บวกค่าบริหารจัดการที่รัฐบาลเคยได้รับอนุมัติให้ซื้อไฟเซอร์-ไบออนเทค 30 ล้านโดสแรกในปี 2564 รวม 468.6 บาทต่อโดส โดยอนุมานว่าครั้งใหม่ ซื้อเพิ่ม 30 ล้านโดส จะจ่ายราคาเดิม แปลว่างบประมาณในการจัดซื้อไฟเซอร์-ไบออนเทค ทั้งหมดจะเท่ากับ 12,658 ล้านบาท แปลว่างบประมาณเฉพาะ AZ 60 ล้านบาท เท่ากับ 35,060 – 12,658 = 22,402 ล้านบาท
ถ้าใช้ตัวเลขค่าบริหารจัดการ 20.39 บาทต่อโดส ที่ใช้ตอนซื้อแอสตราเซเนกา 35 ล้านโดส (สัญญาที่สอง หลังสัญญาแรก 26 ล้านโดส) หักด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ก็อนุมานได้ว่า รัฐบาลสั่งซื้อแอสตราเซเนกาเพิ่ม 60 ล้านโดส ในราคา 330 บาทต่อโดส (ราว 10 ดอลลาร์ฯ ต่อโดส)
ตัวเลขนี้แพงกว่าราคาเดิมที่ไทยเคยจ่ายตอนซื้อแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดสแรก ถึงสองเท่า (ราคาเดิม 5 ดอลลาร์ฯ ต่อโดส) และเป็นตัวเลขราคาวัคซีนยี่ห้อนี้ที่แพงที่สุดในโลก เท่าที่ผู้เขียนมีข้อมูล (จากข้อมูลก่อนหน้านี้ ผู้เขียนรวบรวมได้ว่า วัคซีนยี่ห้อนี้ทั่วโลกขายกันที่ราคา 2.06-5.25 ดอลลาร์ฯ ต่อโดส
การสั่งซื้อแอสตราเซเนกาเพิ่มอีกเป็นจำนวนมากถึง 60 ล้านโดส หรือสองเท่าของยอดการสั่งซื้อวัคซีนชนิด mRNA (ยี่ห้อไฟเซอร์-ไบออนเทค) ทำให้แพทย์หลายคนข้องใจ เนื่องจากผลการวิจัยทั่วโลกยืนยันตรงกันมาหลายเดือนว่า วัคซีนชนิด mRNA มีประสิทธิผลสูงสุดในบรรดาเทคโนโลยีวัคซีนทั้งหมด รวมทั้งในการใช้เป็นบูสเตอร์โดส (เข็มสาม) ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีเหตุผลใดๆ ที่ฟังขึ้นในทางวิชาการ ที่จะใช้แอสตราเซเนกา (วัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์) เป็นเข็มสามหลักของประเทศ
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่า ราคาที่รัฐบาล ‘ยอม’ จ่ายแอสตราเซเนกาแพงกว่าเดิมถึง 2 เท่า และ ‘ยอม’ ซื้อเพิ่มอีกมากถึง 60 ล้านโดส ก็เป็นเครื่องยืนยันข้อสันนิษฐานของผู้เขียนที่ว่า รัฐบาลยอมทำสิ่งนี้เพียงเพื่อจูงใจให้บริษัทเร่งส่งมอบ 61 ล้านโดสแรก ให้ทันสิ้นปี 2564 เท่านั้นเอง เนื่องจากไปลงนามในสัญญาที่หลวมโพรกอย่างไม่น่าเชื่อตั้งแต่แรก ไม่มีกำหนดการส่งมอบหรือแม้แต่วันสิ้นสุดสัญญา
ดังสังเกตว่า บริษัทแอสตราเซเนกาออกมายืนยันว่าจะ ‘เร่งส่ง’ วัคซีนให้ครบ 61 ล้านโดส ก็ต่อเมื่อรัฐบาลประกาศว่า “มีแผนสั่งซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกาเพิ่มอีก 60 ล้านโดสสำหรับปี 2565” แล้วเท่านั้น
การสั่งซื้อแอสตราเซเนกาในลักษณะเป็น ‘เบี้ยล่าง’ เช่นนี้ ย่อมกลายเป็นการตีกรอบจำกัดทางเลือกของรัฐในการซื้อวัคซีนเข็มสามไปโดยปริยาย จนอาจทำให้ไม่ตัดสินใจซื้อ mRNA มาเตรียมพร้อมในปี 2565 มากเท่าที่ควร
ในเมื่อ ‘แผน’ การจัดหาวัคซีน ปี 2565 ดูจะวางอยู่บนปัจจัยอื่นมากกว่าเหตุผลทางวิชาการ ผู้เขียนเห็นว่า ‘การจัดสรร’ และ ‘สูตรไขว้’ วัคซีนเข็มสาม ก็อาจไม่มีเหตุผลทางวิชาการรองรับอย่างหนักแน่นเช่นกัน เช่น คนที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายสองเข็ม (ซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม) และ ‘สูตรไขว้’ ซิโนแวค + แอสตราเซเนกา อาจได้แอสตราเซเนกาเป็นเข็มสาม แต่คนที่ได้แอสตราเซเนกาสองเข็มแรก อาจได้ไฟเซอร์-ไบออนเทค เป็นเข็มสาม
ผู้เขียนเขียนถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับ ‘การจัดหา’ วัคซีนมามากแล้ว ตอนหน้าชวนมามอง ‘การจัดสรร’ วัคซีนโควิด-19 ในไทยกันบ้าง
Tags: โมเดอร์นา, โอมิครอน, วัคซีน, โควิด-19, Citizen 2.0, มหากาพย์วัคซีน, แอสตราเซเนกา, ไฟเซอร์