ในบรรดาเส้นทางของวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อต่างๆ ที่เข้าสู่ประเทศไทย ตลกร้ายที่คนไทยขำไม่ออกก็คือ ‘โมเดอร์นา’ วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งได้รับการพิสูจน์สิ้นสงสัยว่า มีประสิทธิผลดีที่สุดในการรับมือกับโควิด-19 กลับกลายเป็นวัคซีนที่ใช้เวลานานที่สุดนับตั้งแต่เป็นข่าวว่ามีความพยายามนำเข้ามาในประเทศ แถมยังอยู่ในสถานะ ‘วัคซีนทางเลือก’ ที่ประชาชนต้องจ่ายเงินซื้อเอง ไม่ใช่วัคซีนหลักที่รัฐบาลจัดหามาฉีดฟรีให้กับประชาชน 

ถ้านับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ที่นายแพทย์ บุญ วนาสิน แจ้งว่าติดต่อขอซื้อโมเดอร์นาจากบริษัทผู้ผลิตเป็นครั้งแรก แต่ภาครัฐไม่ยอมเซ็นให้ ทำให้เอกชนไม่สามารถสั่งซื้อได้เอง จนเวลาล่วงเลยมาอีก 1 ปีเต็ม ถึงเดือนตุลาคม 2564 คนไทยหลายล้านคนที่ (ยอม) จ่ายเงินจองโมเดอร์นาไปแล้วตั้งแต่กลางปีหรือก่อนหน้านั้น ก็ยังไม่มีใครรู้แน่นอนว่าจะได้ฉีดวัคซีนชนิดนี้เมื่อไรกันแน่

ความเชื่องช้ายืดเยื้อยาวนาน ส่งผลให้โมเดอร์นาเป็นวัคซีนที่จะใช้เวลานานที่สุดที่จะเข้าไทย นั่นคือมากกว่า 1 ปีเต็ม นับตั้งแต่เราได้ข่าวความพยายามครั้งแรก (ตลกร้ายไม่แพ้กันก็คือ วัคซีนที่ใช้เวลานานเป็นอันดับสองกว่าจะมาถึงเมืองไทยก็คือวัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์-ไบออนเทค วัคซีนชนิด mRNA ที่มีประสิทธิผลดีเป็นอันดับสองรองจากโมเดอร์นา)

นอกจากเส้นทางของโมเดอร์นาจะเต็มไปด้วยความลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน หลายขั้นตอนล่าช้าเกินกว่าเหตุแล้ว การจัดหาวัคซีนยี่ห้อนี้ยังเป็น ‘มหากาพย์’ ยิ่งกว่ายี่ห้ออื่น โดยล่าสุด ณ กลางเดือนตุลาคม 2564 ผู้เขียนรวบรวมจากข่าวและแถลงการณ์ต่างๆ ได้ว่า จะมีโมเดอร์นาเตรียมเข้าไทยทั้งหมด 5+3.7+1+8 = 17.7 ล้านโดส แบ่งเป็นทั้งหมด 4 สัญญา ดังต่อไปนี้ 

1. สัญญาฉบับแรก 5 ล้านโดส ลงนามสั่งซื้อโดย องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในจำนวนนี้จัดสรรให้กับโรงพยาบาลเอกชน 4 ล้านโดส และสภากาชาดไทย 1 ล้านโดส โดยที่ อภ. ขายให้กับทุกเจ้าในราคา 1,100 บาทต่อโดสเท่ากัน 

2. สัญญาที่สอง 3.7 ล้านโดส เซ็นโดย อภ. แทนโรงพยาบาลเอกชน – ยอดนี้นับว่า ‘ลึกลับที่สุด’ เพราะเพิ่งมาปรากฏต่อสาธารณะในจดหมายของบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ผู้เป็นตัวแทนจำหน่ายโมเดอร์นา ในจดหมายจากบริษัท ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทำให้เรารู้ว่า อภ. ไม่ได้เซ็นสัญญาซื้อเพียง 5 ล้านโดสเท่านั้น

ตามจดหมายของบริษัท ซิลลิค วัคซีนจำนวน 1.9 ล้านโดส จะทยอยส่งมาถึงไทยภายในสิ้นปี 2564 ส่วนที่เหลืออีก 6.8 ล้านโดส ในสัญญาสองฉบับ จะทยอยส่งมอบจนครบภายในไตรมาสแรก ปี 2565

3. สัญญาที่สภากาชาดไทยลงนามสั่งซื้อโดยตรง 1 ล้านโดส กับบริษัทซิลลิค ยอดนี้มาของบกลางจาก ครม. 946 ล้านบาท เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 โดยข่าวระบุว่า บริษัทซิลลิค “ได้เสนอขายราคา 28 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 940 บาทต่อโดส รวมค่าขนส่ง 26.75 บาทต่อโดส รวมเป็น 966.75 บาทต่อโดส ซึ่งกำหนดให้ชำระเงินล่วงหน้าร้อยละ 30 ของมูลค่าวัคซีนรวม ภายในเดือนกันยายน 2564 เพื่อให้สามารถส่งมอบวัคซีนงวดแรกได้ในต้นปี 2565” 

(ตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมวัคซีนโมเดอร์นาที่สภากาชาดไทยสั่งซื้อล็อตนี้ จึงสามารถส่งมอบงวดแรกได้ ‘ในต้นปี 2565’ ในเมื่อสภากาชาดฯ เพิ่งสั่งซื้อในเดือนกันยายน ช้ากว่า อภ. ซึ่งลงนามสั่งซื้อตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ?)

4. สัญญาที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ลงนามสั่งซื้อโดยตรง 8 ล้านโดส กับบริษัทซิลลิค โดยราชวิทยาลัยฯ ประกาศคิดราคาฉีด 555 บาทต่อครึ่งโดส (50 ไมโครกรัม) หรือเท่ากับ 1,110 บาทต่อโดส

ทั้งหมดนี้นับเฉพาะสัญญาสั่งซื้อที่แน่นอน มีการประกาศต่อสาธารณะแล้วเท่านั้น ยังไม่รวมความพยายามของหน่วยงานอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งยังต้องรอติดตามความคืบหน้ากันต่อไป 

วัคซีนโมเดอร์นา รวม 17.7 ล้านโดส ที่จะเข้าไทย มีเพียง 2.65 ล้านโดสในจำนวนนี้ (ร้อยละ 15) ที่เรารู้แน่ชัดว่าจะนำไป ‘ฉีดฟรี’ ให้กับประชาชน ‘กลุ่มเปราะบาง’ โดยเป็นโควตาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 0.8 ล้านโดส (10% ของยอดวัคซีนที่ได้รับจัดสรรทั้งหมด 8 ล้านโดส ให้คนซื้อ ‘ร่วมบริจาคให้กับกลุ่มเปราะบาง’) และสภากาชาดไทย 1.85 ล้านโดส ในจำนวนหลังนี้กาชาดซื้อ 0.85 ล้านโดส ผ่าน อภ. (รวมอยู่ในสัญญาแรก 5 ล้านโดส) ที่เหลือ 1 ล้านโดส กาชาดซื้อเองโดยตรง

คำถามต่อไปคือ ทำไมคนไทยหลายล้านคนถึงได้ยอมควักเงินจ่ายค่า ‘วัคซีนทางเลือก’ เอง ทำไมไม่รอ ‘วัคซีนหลัก’ ที่รัฐจัดหาให้ ? 

ผู้เขียนหาคำตอบต่อคำถามนี้ด้วยการเชิญชวนให้คนที่จ่ายเงินจองวัคซีนโมเดอร์นากับโรงพยาบาลเอกชนไปแล้ว เข้ามาตอบแบบสอบถามออนไลน์ โดยมีผู้เข้ามาตอบ 1,932 ราย ในช่วงเวลาประมาณหนึ่งเดือน ระหว่างกลางเดือนกันยายนถึงกลางเดือนตุลาคม 2564 

ผู้ที่เข้ามาตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่คือ 1,617 คน หรือร้อยละ 83.7 ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงใดๆ และมีผู้ตอบมากถึงร้อยละ 42.1 ที่ตอบว่า ‘ณ วันนี้ ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว’ รองลงมาร้อยละ 36.9 ตอบว่า ‘ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม’ แล้ว อีกร้อยละ 16.3 ตอบว่า ‘ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรก’ แต่ยังไม่ได้ฉีดเข็มสอง (ดูภาพประกอบด้านล่าง)

นอกจากนี้ มีผู้ตอบแบบสอบถามมากถึงร้อยละ 25 หรือหนึ่งในสี่ ที่จองวัคซีนโมเดอร์นากับโรงพยาบาลมากกว่าหนึ่งแห่ง ในจำนวนนี้มี 46 คน (ร้อยละ 2.4) ที่จองโมเดอร์นากับโรงพยาบาลมากกว่า 3 แห่ง (!) เรียกว่าอยากสร้างหลักประกันว่าจะได้วัคซีนนี้จริงๆ 

จากคำตอบข้างต้นและข้ออื่นๆ ชัดเจนว่าคนจำนวนมากตั้งใจรอฉีด โมเดอร์นา เป็นวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่สองของตัวเอง เมื่อผู้เขียนถามถึงเหตุผลที่ยอมจ่ายเงินจองโมเดอร์นา โดยมีตัวเลือกคำตอบให้ ให้เพิ่มคำตอบเองได้ และเลือกตอบได้หลายข้อ ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 1,584 คน หรือร้อยละ 82 ตอบว่า ‘ไม่เชื่อมั่นในคุณภาพของวัคซีนที่รัฐจัดหา’ คำตอบรองลงมา มี 1,433 คน หรือร้อยละ 74.2 ตอบว่า ‘จำใจเสียเงินจองวัคซีน mRNA ทั้งที่เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะจัดหาวัคซีนคุณภาพสูง’ รองลงมา 732 คน หรือร้อยละ 37.9 ตอบว่า ‘ตอนที่จองโมเดอร์นายังไม่ได้คิวฉีดวัคซีนของรัฐ และไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้ฉีด’ รองลงมาอีก 586 คน หรือร้อยละ 30.3 ตอบว่า ‘อยากฉีดวัคซีนคุณภาพดีเป็นเข็มสาม (booster)’

คำตอบอื่นๆ ที่น่าสนใจมีอาทิ 

  • ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ไม่มั่นใจว่าฉีดของรัฐแล้วจะเดินทางได้ (ร้อยละ 18.4) 
  • พยายามจองวัคซีนผ่านเว็บหรือแอพรัฐแล้วไม่สำเร็จ เลยตัดสินใจจองโมเดอร์นา (ร้อยละ 12) 
  • มีทางเดียวที่จะได้ฉีด mRNA สองโดส คือจ่ายเงินเท่านั้น
  • ไม่มั่นใจรัฐในการจัดหาและแจกจ่ายวัคซีน
  • ไม่อยากสนับสนุนระบบการจองของรัฐที่ทำให้คนต้องมาแย่งวัคซีนกัน โดยไม่คำนึงถึงลำดับความสำคัญของผู้ได้รับวัคซีน โดยเฉพาะในภาวะที่วัคซีนมีจำกัด
  • ช่วงที่จองเพราะยังไม่มีวัคซีนของรัฐที่เหมาะกับคนท้อง
  • ทำงานในโรงพยาบาล อาจไม่ใช่ด่านหน้าโดยตรง ไม่ได้รับแจ้งว่าจะได้รับการจัดสรรเมื่อไหร่ จนรอไม่ไหว เลยเสียเงินจ่ายเอง
  • ดูคุณภาพสูงสุด ผลกระทบต่ำสุด
  • ไม่อยากได้สูตรไขว้

คำตอบเหล่านี้บอกเราว่า ในบางประเทศอาจมีประชาชนส่วนน้อยที่ยอมจ่ายค่า ‘วัคซีนทางเลือก’ นอกเหนือจากวัคซีนที่รัฐจัดหาด้วยเหตุผลส่วนตัว เช่น แพ้วัคซีนของรัฐ แต่ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ผู้เขียนรู้จัก ที่ประชาชนหลายล้านคนยอมจ่ายค่า ‘วัคซีนทางเลือก’ เพราะรู้สึกว่าตัวเองถูกสถานการณ์บีบคั้นให้ยอมเสียเงิน ถ้าอยากได้วัคซีนประสิทธิผลสูงอย่าง mRNA หรือไม่อยากรอ ‘เสี่ยงโชค’ กับระบบการจองคิวฉีดวัคซีนของรัฐที่ต้องลุ้นยิ่งกว่าลุ้นหวยหรือจับสลากชิงโชค ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจองโมเดอร์นา

(อย่าลืมว่า ณ ตอนที่โรงพยาบาลเอกชนเปิดให้ประชาชนโอนเงินค่าจองโมเดอร์นา รัฐบาลไทยยังมิได้มีการลงนามสั่งซื้อวัคซีน mRNA อีกยี่ห้อคือ ไฟเซอร์-ไบออนเทค แต่อย่างใด เพิ่งมาลงนามในสัญญาสั่งซื้อในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม 2564) 

พูดง่ายๆ ก็คือ โมเดอร์นาในเมืองไทยไม่ใช่ ‘วัคซีนทางเลือก’ แต่เป็น ‘วัคซีนไม่มีทางเลือก’ ต่างหาก ในสายตาของคนจองแทบทั้งหมด

ในมุมหนึ่ง เสียงเรียกร้องวัคซีนยี่ห้อก็คือภาพสะท้อนความล้มเหลวในการจัดหาและการจัดสรรวัคซีนของภาครัฐ ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ความล่าช้า การเลือกปฏิบัติ และข้อกังขาเรื่องความไม่โปร่งใส

ผู้เขียนเห็นว่า ความสับสนอลหม่านของการจัดหาโมเดอร์นาในไทย เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องออกมาตอบคำถาม สร้างความกระจ่างให้กับประชาชน

เริ่มจากรัฐบาล โดยเฉพาะ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข ต้องตอบคำถามว่า ทำไมวัคซีนประสิทธิภาพสูงอย่างโมเดอร์นา ต้องกลายเป็น ‘วัคซีนทางเลือก’ ที่ประชาชนเสียเงินซื้อเอง เหตุใดกระบวนการทั้งหมดจึงซับซ้อนวุ่นวาย โครงสร้างการจัดสรรโดยเฉพาะ 5 ล้านโดสแรก ใช้เงินงบประมาณของรัฐหลายต่อหลายทอดโดยหน่วยงานหลายหน่วย ทั้งที่ดูไม่เห็นจำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น

องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ต้องตอบคำถามว่า เหตุใดกระบวนการ ‘ซื้อแทน’ ภาคเอกชนจึงยืดเยื้อและล่าช้าอย่างไม่น่าเชื่อ และไหนๆ อภ. ก็ทำสัญญาซื้อวัคซีนคุณภาพสูงยี่ห้อนี้แทนเอกชนได้ เหตุใดจึงไม่เสนอรัฐบาลว่า ให้จัดซื้อมาฉีดฟรีให้กับประชาชนไปเลย เป็นหนึ่งใน ‘วัคซีนหลัก’ ของประเทศ และจะ ‘จัดสรร’ โมเดอร์นาอย่างไร

ผู้เขียนเห็นว่า ทั้งรัฐบาล ศบค. และ อภ. ‘ต้อง’ ตอบคำถามข้างต้น เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดหาวัคซีน

ส่วน สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลเอกชน ก็มีประเด็นอื่นๆ ที่ควรชี้แจงเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น สภากาชาดไทยควรตอบคำถามว่า เหตุใดจึงต้องซื้อวัคซีนโมเดอร์นา 1 ล้านโดสแรก ‘ผ่าน’ องค์การเภสัชกรรม แทนที่จะซื้อเองโดยตรง ตกลงสภากาชาดไทยจ่ายเงินค่าจองวัคซีนล่วงหน้าให้กับ อภ. เมื่อไรกันแน่ จ่ายพร้อมประชาชนหรือไม่ และเหตุใดจึงไม่เปิดเผยกระบวนการจัดซื้อวัคซีนขององค์กรตั้งแต่ต้น เพิ่งมาเปิดเผยเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2564 ภายหลังจากที่โรงพยาบาลเอกชนรวบรวมเงินจองซื้อจากประชาชนไปให้กับ อภ. แล้ว 

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ควรตอบคำถามว่า กลุ่มเป้าหมายของวัคซีนโมเดอร์นา 8 ล้านโดสคือใคร เหตุใดจึงเสนอขายวัคซีนชนิดนี้ ‘ครึ่งโดส’ หรือ 50 มิลลิกรัมเท่านั้น แทนที่จะเป็น 100 มิลลิกรัม ตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต

สุดท้าย ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนที่ผลักดันเรื่องนี้มายาวนาน ควรตอบคำถามว่า ได้รักษาผลประโยชน์ของประชาชนที่จ่ายเงินจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าเต็มจำนวนล่วงหน้านานหลายเดือนอย่างสุดความสามารถแล้วหรือไม่ รวมถึงต้องตอบคำถามเรื่อง ‘การค้ากำไรเกินควร’ และการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เช่น การคืนเงินจอง

ในคอลัมน์นี้ ผู้เขียนจะมาไล่เรียงประเด็นเหล่านี้ไปทีละข้อ ทีละฝ่าย 

วันนี้ลองดูคำถามสำคัญที่สุดที่ รัฐบาล/กระทรวงสาธารณสุข ยังไม่เคยตอบกันก่อน 

คำถามแรกที่รัฐบาลต้องตอบคือ ‘ทำไม’ โมเดอร์นาจึงต้องเป็น ‘วัคซีนทางเลือก’ ไม่ใช่วัคซีนหลักของประเทศ

เราไม่เคยได้คำตอบที่ชัดเจนแต่อย่างใด โมเดอร์นาเป็นวัคซีนชนิด mRNA ประสิทธิผลสูง หลายประเทศต่างแย่งกันซื้อตั้งแต่ปลายปี 2563 เนื่องจากผลการทดลองออกมาดีมาก แถมยังสามารถเก็บในตู้เย็นอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ได้นาน 30 วัน และเก็บในอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียสได้ 6 เดือน เรียกว่า ‘เหนือชั้น’ กว่าคู่แข่ง mRNA อย่างไฟเซอร์-ไบออนเทค ซึ่งตอนนั้นยังต้องเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ก่อนที่จะพัฒนาในเวลาต่อมา

วัคซีนประสิทธิผลสูง อ้างไม่ได้ว่า ‘เก็บรักษายาก’ เหมือนกับที่เราได้ยินข้ออ้างเรื่องความอิดออดไม่ยอมซื้อไฟเซอร์-ไบออนเทค ทำให้โมเดอร์นาควรอยู่ในบัญชี ‘วัคซีนหลัก’ ของประเทศมาตั้งแต่ต้น 

ภาคเอกชนเคลื่อนไหวติดต่อขอซื้อโมเดอร์นามาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ตามการให้ข่าวของนายแพทย์ บุญ วนาสิน แต่ภาครัฐไม่ยอมเซ็นให้ ผ่านมาถึงวันที่ 19 มกราคม 2564 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช (และกรรมการบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ผู้รับจ้างผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา) กล่าวว่า “ประเทศไทยจะนำเข้าวัคซีนสองตัว ได้แก่ โมเดอร์นา วัคซีน mRNA จากสหรัฐฯ และซิโนแวค วัคซีนเชื้อตายจากจีน”

เรียกได้ว่าเราเห็นชื่อโมเดอร์นาในเวลาใกล้เคียงกับซิโนแวค แต่ในขณะที่ซิโนแวคกลายเป็น ‘วัคซีนหลัก’ ของรัฐที่จัดหามาได้อย่างรวดเร็ว โมเดอร์นากลับกลายเป็น ‘วัคซีนทางเลือก’ ที่ประชาชนต้องจ่ายเงินซื้อเอง

เพียงเพราะภาครัฐ ‘ตัดสินใจ’ ไปแล้วว่า จะไปเจรจากับไฟเซอร์, สปุตนิก วี และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ส่วนภาคเอกชนต้องไปจัดซื้อวัคซีนยี่ห้ออื่น เพราะรัฐบาลอ้างว่า “เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับภาครัฐ” โดยไม่อธิบายเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น (ทำไมต้องไม่ซ้ำซ้อน? แล้วทำไมถึงจะไปเจรจากับสามยี่ห้อนี้เท่านั้น ไม่รวมโมเดอร์นาด้วย?)

ผู้เขียนจึงสรุปได้ว่า ‘ไม่จำเป็น’ แม้แต่น้อย ที่โมเดอร์นาจะต้องเป็น ‘วัคซีนทางเลือก’ ตั้งแต่ต้น

หลังจากนั้น เมื่อองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กลายเป็นหน่วยงานที่ต้องลงนามในสัญญาสั่งซื้อ เพราะบริษัทผู้ผลิตมีนโยบายไม่ขายให้กับเอกชน ณ จุดนี้ รัฐบาลก็สามารถตัดสินใจได้ว่า จะซื้อโมเดอร์นามาเป็น ‘วัคซีนหลัก’ ฉีดฟรี เพราะไหนๆ ก็ซื้อได้แล้ว และหน่วยงานของรัฐต้องลงนามแทนเอกชน (ส่วนการต้องจ่ายเงินจองคืนให้กับประชาชนที่จ่ายเงินไปแล้ว ก็ไม่ใช่ปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น ทุกวันมีการคืนค่าสินค้ากันเป็นปกติ)

แต่รัฐบาลกลับไม่ตัดสินใจ ปล่อยให้โมเดอร์นาเป็นวัคซีนคุณภาพสูงราคาแพงที่ประชาชนต้องจ่ายต่อไป

ประเด็นต่อไปที่ผู้เขียนอยากชวนคิดก็คือ ลำพังข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัทผู้ผลิต ‘ไม่ขายให้เอกชน’ ไม่ได้แปลว่ารัฐจะช่วยเหลือเอกชนไม่ได้เลย ไม่ได้แปลว่ารัฐทำได้แค่สั่งให้หน่วยงานของรัฐไปเจรจาและลงนามแทน

ลองหยุดคิดกันสักคิดว่า บริษัทผู้ผลิตบางแห่ง เช่น ไฟเซอร์และโมเดอร์นา มี ‘เหตุผล’ อะไรที่จะไม่อยากขายวัคซีนโควิด-19 ให้กับเอกชน 

เหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คือ บริษัทผู้ผลิตเหล่านี้ไม่เชื่อว่าเอกชนที่ซื้อไปจะสามารถยกเว้นภาระรับผิด (indemnities) ทั้งหมดที่อาจเกิดจากวัคซีน (ความที่วัคซีนทั้งหมดได้รับอนุญาตให้ ‘ใช้เฉพาะในกรณีฉุกเฉิน’ เท่านั้น มีความไม่แน่นอนสูง) ให้กับตัวเองได้ แน่นอนว่าบริษัทผู้ผลิตย่อมไม่อยากรับภาระใดๆ ที่อาจเกิดในขั้นตอนการเก็บรักษา การฉีด ไปจนถึงผลข้างเคียงจากวัคซีน มีเพียง ‘รัฐ’ เท่านั้นที่รับภาระทั้งหมดนี้ได้ และสามารถยกเว้นความรับผิดทั้งหมดให้กับผู้ผลิตได้ (อ่านข้อสังเกตของผู้เขียนต่อสัญญาวัคซีน)

ในเมื่อ ‘รัฐ’ ต้องเป็นผู้ทำสัญญาซื้อกับบริษัทผู้ผลิตเหล่านี้ ก็แปลว่าเอกชนที่อยากนำเข้าวัคซีนจะทำอะไรไม่ได้เลย ต้องนั่งรอตาปริบๆ ให้รัฐจัดการ เช่นนั้นหรือไม่

คำตอบคือไม่ใช่ ผู้เขียนชวนดูตัวอย่าง ‘วิธี’ ที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนและหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องการนำเข้าวัคซีนเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐ

สิ่งที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ทำก็คือ ร่างและผลักดันกฎหมายใหม่ ชื่อ ‘COVID-19 Vaccination Program Act of 2021’ (กฎหมายโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ปี 2021) ผ่านสภาสูงและสภาล่าง กฎหมายนี้อนุญาตให้บริษัทเอกชนและรัฐบาลท้องถิ่นสามารถจัดหาวัคซีนทุกชนิดที่ อย. ฟิลิปปินส์อนุมัติ โดยมาทำสัญญาสามฝ่ายกัน ระหว่างบริษัทหรือรัฐบาลท้องถิ่นที่อยากซื้อ กับรัฐบาลกลาง (โดยกระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงานระดับชาติเรื่องโควิด-19) และบริษัทผู้ผลิตวัคซีน 

ภายใต้กฎหมายและ ‘สัญญาสามฝ่าย’ นี้ รัฐบาลกลางฟิลิปปินส์จะรับผิดชอบความเสียหายและผลข้างเคียงทั้งหมดที่เกิดขึ้น ยกเว้นความรับผิดให้กับบริษัทผู้ผลิต และสร้างหลักประกันว่า วัคซีนที่ซื้อมาจะนำไปขายเชิงพาณิชย์ไม่ได้ และการฉีดจะต้องอยู่ภายในกรอบการจัดลำดับความสำคัญที่รัฐบาลประกาศเท่านั้น

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังให้ยกเว้นภาษีอากรทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าวัคซีน และจัดตั้ง ‘กองทุนชดเชยโควิด-19 แห่งชาติ’ วงเงิน 500 ล้านเปโซ หรือ 328 ล้านบาท เพื่อจ่ายค่าชดเชยให้กับประชาชนทุกคนที่เจออาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน

ตัวอย่างจากฟิลิปปินส์บอกเราอย่างชัดเจนว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ ‘รัฐ’ สามารถทำได้ ถ้าอยากอำนวยความสะดวกให้กับการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของทุกฝ่ายจริงๆ ถ้าไม่อยากผูกขาดอำนาจในการจัดหาไว้กับตัวเองฝ่ายเดียว

ถ้าเอกชนประสงค์จะเก็บเงินค่าวัคซีน เพราะประชาชนจำนวนมากยินดีจ่าย รัฐก็สามารถควบคุมราคาให้สมเหตุสมผล แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ รัฐต้องประกาศว่าจะรับผิดชอบความเสียหายและผลข้างเคียงทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนทุกชนิด เพื่อที่เอกชนจะได้ไม่ต้องไปควานหาและจ่ายค่าประกัน ซึ่งก็จะทำให้วัคซีนแพงเกินจำเป็น

จึงเป็นตลกร้ายไม่น้อยที่รัฐบาลไทย คือรัฐบาลทหาร ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้อำนาจตัวเองเต็มมือ แต่กลับไม่สามารถใช้อำนาจนั้นในการอำนวยความสะดวกให้กับการจัดหาวัคซีนของภาคเอกชนได้เลย 

คำถามต่อไปที่ผู้เขียนอยากชวนคิดก็คือ ‘โครงสร้าง’ การจัดหาวัคซีนโมเดอร์นา โดยเฉพาะสัญญาแรก 5 ล้านโดส จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีความซับซ้อนวุ่นวายขนาดนี้ และ ‘การจัดสรร’ วัคซีนจะใช้หลักเกณฑ์อะไร 

สัญญาแรก 5 ล้านโดส มีหน่วยงานของรัฐและองค์กรสาธารณะที่ใช้เงินงบประมาณเข้ามาเกี่ยวข้องมากถึง 5 หน่วย ตั้งแต่รัฐบาลกลาง โรงพยาบาลของรัฐ สภากาชาดไทย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การเภสัชกรรม 

ความวุ่นวายที่ว่านี้แสดงเป็นแผนภาพได้ดังนี้

กราฟิกโดย น้ำใส ศุภวงศ์

มาร่วมกันค้นหาคำตอบใน มหากาพย์วัคซีน ตอนต่อไป

Tags: , , , , ,