คอลัมน์นี้ตอนที่แล้วผู้เขียนเขียนถึง ‘ประตูหมุน’ (revolving door) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับเอกชน ซึ่งเมื่อขาดการกำกับดูแลอย่างถูกต้องก็สามารถกลายร่างเป็นกลไกสำคัญที่เอื้อให้บริษัทเอกชน ‘ยึดกุม’ กลไกกำกับดูแลภาครัฐได้
อย่างไรก็ดี ในซีรีส์นี้ตอนก่อนๆ ผู้เขียนสรุปรูปแบบของการยึดกุมจากวรรณกรรมปริทัศน์ในสาขาเศรษฐศาสตร์การกำกับดูแลว่า มีได้ทั้งแบบ ‘แข็ง’ และแบบ ‘อ่อน’ ซึ่ง “ปัจจัยทางวัฒนธรรม เช่น ระบอบอุปถัมภ์ การเลี้ยงดูปูเสื่อ การใช้เส้นสายในชีวิตประจำวัน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างและพยุงการยึดกุมแบบอ่อนได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานกำกับดูแล ‘ข้ามฟาก’ มาจากภาคเอกชน หรือสนิทสนมกับผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นอย่างดี ก็อาจมีแนวคิดและวิธีทำงานที่ ‘คิดแบบนักธุรกิจ’ มากกว่า ‘คิดแบบเจ้าหน้าที่รัฐ’ ที่ต้องปกป้องประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นจึงดำเนินนโยบายที่เอื้อประโยชน์ธุรกิจโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว”
ผู้เขียนเห็นว่าการยึดกุมกลไกกำกับดูแลแบบ ‘อ่อน’ นั้นพบเห็นได้ทั่วไปในยุคนี้ กรณีที่เพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ ณ ต้นปีกระต่าย 2023 ก็คือเรื่องโกลาหลอลหม่านทั้งหลายทั้งปวงเกี่ยวกับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2022 จากประเทศกาตาร์ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าสะท้อนภาวะที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ถูก ‘ยึดกุม’ อย่างชัดเจน เนื่องจากเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ทรู
คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู) เอกชนรายใหญ่ที่ร่วมลงขัน 300 ล้านบาท ในทางที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงระหว่าง กกท. กับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้อนุมัติเงินสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ก้อนใหญ่ที่สุดในกรณีนี้คือ 600 ล้านบาท จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)
ความโกลาหลอลหม่านในการถ่ายทอดบอลโลก 2022 ส่วนหนึ่งมาจากความไม่สมเหตุสมผลของประกาศ Must Have และ Must Carry ของ กสทช. ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี 2012 ฉบับหนึ่งกำหนดให้ผู้ที่ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดบอลโลกรอบสุดท้ายต้องถ่ายทอดผ่านฟรีทีวี และอีกฉบับกำหนดว่าผู้บริการโทรทัศน์ที่อยู่ใต้กำกับของ กสทช. ต้องนำรายการในช่องฟรีทีวีไปออกอากาศทุกช่องทาง (ห้ามจอดำ) ตามลำดับ ประกาศสองฉบับนี้รวมกันทำให้ผู้ประกอบการขาดแรงจูงใจที่จะไปซื้อลิขสิทธิ์ เนื่องจากต้องจ่ายแพงมากเพื่อให้ผู้ใช้งานดูได้ ‘ทุกช่องทาง’ ตามกฎของ กสทช.
ประกาศสองฉบับนี้ทำให้เอกชนเข็ดขยาดมาตั้งแต่ปีแรกที่มีผลบังคับใช้ โดยบริษัทในเครือของ บมจ. อาร์เอส ฟ้อง กสทช. ขึ้นศาลปกครอง เนื่องจากทำสัญญาถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2010 และ 2014 กับฟีฟ่า มาตั้งแต่ปี 2005 แต่ กสทช. มาออกประกาศ Must Have และ Must Carry ภายหลัง คดีนี้สู้กันสามศาล จนสุดท้ายศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนให้บริษัทลูกของ บมจ.อาร์เอส ชนะคดี ไม่ต้องถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ครบ 64 นัดตามกฎ Must Have ของ กสทช.
ถึงแม้กรณีนี้สุดท้าย กสทช. ต้องควักเงินจ่ายค่าชดเชยบริษัทก็ตาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อาร์เอส ถึงกับออกมากล่าวว่า เงินชดเชย 427 ล้านบาทนั้นถือว่า ‘ได้ไม่คุ้มเสีย’ เมื่อคำนึงว่าบริษัทต้องจ่ายมากกว่านั้นอีกถ้าหากลูกค้านำกล่องบอลโลกมาคืนให้กับบริษัท และในเมื่อบริษัทต้องสูญเสียรายได้ที่เคยประเมินไว้ 700 ล้านบาท จากการขายกล่องบอลโลกและรับสมัครสมาชิกช่องเวิลด์คัพ
ในเมื่อประสบการณ์การถ่ายทอดบอลโลกตามกฎเหล็กของ กสทช. เต็มไปด้วยวิบากนานัปการในอดีต จึงไม่แปลกที่ใครจะคาดหมายว่าการถ่ายทอดบอลโลก 2022 จะเผชิญกับความล่าช้าไม่แน่นอนและภาวะขาดแรงจูงใจของเอกชนเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ไม่ควรเกิดแต่ดันเกิดในรอบนี้ก็คือ กสทช. เป็นเจ้าของเงินก้อนใหญ่ที่สุดที่ใช้ในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอด คือ 600 จาก 1,400 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43 แต่ประชาชนจำนวนมากที่วันนี้ดูทีวีผ่านไอพีทีวี (กล่องที่ให้ดูทีวีผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ต) กลับดูไม่ได้! ขัดกับประกาศของ กสทช. เองอย่างชัดเจน
ข้อมูลที่เรารู้แน่ชัดแล้วว่าเป็นข้อเท็จจริง ณ วันนี้ นานหลังจากที่บอลโลก 2022 ปิดฉากลงไปแล้วก็คือบันทึกข้อตกลงที่ กสทช. ทำกับ กกท. เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่าย 600 ล้านบาท จากกองทุน กทปส. (อนุมัติโดย กสทช.) ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ระบุชัดเจนว่า ให้ถ่ายทอดสดบอลโลก 2022 ทุกช่องทาง ซึ่งย่อมหมายรวมถึงไอพีทีวีด้วย (สิทธิในการแพร่ภาพ แพร่เสียงในประเทศไทย แบบไม่จำกัดจำนวนการรับส่งสัญญาณผ่านช่องทางและระบบ หรือรูปแบบการออกอากาศ)
แต่แล้ว 5 วันต่อมา กกท. กลับไปทำบันทึกข้อตกลงกับทรู ว่า ‘ไม่ให้ถ่ายทอดบนไอพีทีวี’
(ความใจดีของ กกท. ที่มีต่อทรู ส่งผลต่อมาให้ทรูชนะคดีที่ฟ้องคู่แข่งขึ้นศาลทรัพย์สินทางปัญญา โดยศาลสั่งระงับถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ระบบไอพีทีวีและโอทีทีของผู้ประกอบการรายอื่น ด้วยเหตุผลที่ว่า ทรูได้รับสิทธิในการเผยแพร่การแข่งขันบอลโลก 2022 ‘แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย’ ทำให้ผู้ใช้กล่องไอพีทีวีต้องจอดำ และทำให้เกิดคำถามดังกว่าเดิมอีกว่า ตกลงประกาศ Must Carry ของ กสทช. มีไว้ทำไม)
แม้ก่อนหน้าที่ข้อมูล MOU สองฉบับจะปรากฏ กกท. ก็ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงทั้งจากคนในและนอกวงการโทรทัศน์ว่า ไปทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์บอลโลกให้ทรูจัดการทุกช่องทาง ‘แต่เพียงผู้เดียว’ ทั้งที่ทรูสนับสนุนเงิน 300 ล้านบาท น้อยกว่าเงินที่ กสทช. ออกถึงสองเท่า
ผลลัพธ์ของการยอมให้ทรูจัดการ ‘แต่เพียงผู้เดียว’ ก็คือกลุ่มบริษัททรู (ออกเงิน 21.4% ของทั้งหมด) ได้สิทธิ์ถ่ายทอด ‘แต่เพียงผู้เดียว’ ทางทีวีดิจิทัล มากถึง 50% คือ 32 นัดจาก 64 นัด แถมยังมีสิทธิเลือกคู่ถ่ายทอดเองด้วย
ส่วนอีกสองช่องทางคือไอพีทีวีและโอทีทีนั้น ปรากฏว่าทรูได้ถ่ายทอด ‘แต่เพียงผู้เดียว’ ทั้ง 100% คือ 64 นัด
เรียกว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างมหาศาล
ในขณะที่ผู้ประกอบการโทรทัศน์รายอื่นๆ กลับต้องจับฉลากถ่ายทอดคู่ที่เหลือ แต่ละรายได้ถ่ายทอดเพียง 1-2 นัดเท่านั้น ร้อนถึงสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ทำหนังสือร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช. ก่อนที่ทรูจะยอมคืนโควตาถ่ายทอดสดบอลโลก 16 นัด กลับมาให้ กกท. จัดสรรใหม่ โดยให้ถ่ายทอดคู่ขนานไปกับช่องของทรู
นอกจากทรูจะได้สิทธิประโยชน์เกินสัดส่วนเงินที่ตัวเองออกแล้ว เส้นทางที่ทรูได้ประโยชน์ก็แปลกประหลาดมากอีกเช่นกัน กล่าวคือ กกท. เป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการจากฟีฟ่าในการถ่ายทอดสดบอลโลก แต่ กกท. กลับมา ‘มุมมิบ’ มอบสิทธิให้ทรูจัดการแต่เพียงผู้เดียว
ทั้งที่ กกท. จะเปิดเผยวิธีคิดและกระบวนการตั้งแต่แรกก็ได้ว่า เอกชนที่สนใจจะมาขอร่วมถ่ายทอดสดด้วยจะต้องทำอย่างไร ต้องจ่ายเท่าใดด้วยหลักเกณฑ์อะไร เช่น ถ้าอยากถ่ายทอดรอบแรกต้องจ่ายเท่าไร นัดชิงเท่าไร หรืออาจตั้งเกณฑ์การจ่ายเงินตามจำนวนผู้รับชมในแต่ละช่องทางก็ได้
วิธีในการออกแบบหลักเกณฑ์มีมากมาย แต่ กกท. กลับไม่ทำ กลับใช้วิธีไป ‘ระดมทุน’ จากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ราวกับเป็นงานการกุศล แถมหลังจากที่ระดมทุนครบแล้ว กลับโอนสิทธิในการจัดการ ‘แต่เพียงผู้เดียว’ ไปให้กับบริษัทเอกชนเพียงแห่งเดียวที่ควักเงิน 21.4% น้อยกว่า กสทช. สองเท่า แถมโอนสิทธิให้จัดการในทางที่ขัดกับข้อตกลงที่ตัวเองทำกับ กสทช. ด้วย
เรื่องเหลือเชื่อยังไม่หมดเพียงเท่านี้ – ในวันที่ 13 ธันวาคม 2022 กกท. ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ประกอบการไอพีทีวี ขอให้พิจารณาจ่ายเงินให้กับ กกท. ถ้าอยากถ่ายทอด 4 นัดสุดท้าย(คู่ขนานไปกับทรู) สนนราคาตั้งแต่ 4 ล้านบาทต่อนัด ในรอบรองชนะเลิศ จนถึง 8 ล้านบาทต่อนัด ในรอบชิงชนะเลิศ มูลค่ารวม 22 ล้านบาท
สามวันถัดมา กลุ่มทรูร่อนหนังสือว่า ‘ยินดีร่วมมือกับผู้ให้บริการไอพีทีวีทุกราย’ ให้กล่องไอพีทีวีสามารถถ่ายทอดสดบอลโลกสองนัดสุดท้ายได้ฟรี โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าตอบแทน
บอลโลก 2022 ปิดฉากลงไปแล้ว แต่เรื่องวุ่นๆ เกี่ยวกับการถ่ายทอดบอลโลกยังไม่สิ้นสุด เราคงต้องติดตามกันต่อไปผ่านคดีความต่างๆ ที่ทยอยเดินทางมายังศาล
กรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่า นอกจากจะจุดประกายให้เราร่วมกันอภิปรายถึงความจำเป็นของประกาศ Must Carry และ Must Have กับกรณีการถ่ายทอดบอลโลกแล้ว ยังควรชี้ให้เราเห็นด้วยว่า การยึดกุมกลไกกำกับดูแลหรือหน่วยงานภาครัฐในยุคนี้นั้น สามารถเกิดขึ้นได้แทบทุกพื้นที่และบริบทเลยทีเดียว
แม้กระทั่งการยึดกุมข้ามอุตสาหกรรมก็ทำได้!
Tags: กกท., Citizen 2.0, Regulatory Capture, การยึดกุมกลไกกำกับดูแล, WorldCup2022, ฟุตบอลโลก2022, Regulatory, ทรู, กสทช.