ต้นเดือนมิถุนายน 2565 หลังจากที่ผู้เขียนวางแผนมานับเดือนว่าอยากเขียนซีรีส์บทความใหม่ ว่าด้วยปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากวัฒนธรรม ‘ลอยนวลพ้นผิด’ (Immunity) และระบอบอุปถัมภ์ในภาครัฐ รวมถึงวิธีครอบงำกลไกกำกับดูแล (Regulatory Capture) ของกลุ่มผลประโยชน์ โดยเฉพาะปัญหาในการป้องปรามและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ก็เกิดกรณีอื้อฉาวอีกรอบเกี่ยวกับ ‘ไม้ล้างป่าช้า’ – GT200 เครื่องตรวจระเบิดลวงโลก

  ผู้เขียนเห็นว่ากรณีนี้น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่อยากเขียนถึง จึงคิดว่าควรสรุปประเด็นประหลาดต่างๆ ที่ค้านสายตาประชาชน (ซึ่งอาจเรียกเป็นภาษาวัยรุ่นได้ว่า ‘อิหยังวะ’) ของเรื่องนี้มาจั่วหัวประเดิมซีรีส์ใหม่

  ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า เวลาผ่านมามากกว่า 1 ทศวรรษ นับจากวันที่สังคมไทยถกเถียงกันว่าเครื่องนี้เป็นของจริงหรือของเก๊ จนเจ้าของบริษัทผู้ผลิตชาวอังกฤษถูกศาลตัดสินจำคุกในข้อหาต้มตุ๋น และถูกศาลตัดสินยึดทรัพย์ไปชดเชยลูกค้าผู้เสียหายไปแล้ว

  ผ่านมาอีกหลายปี จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีนายพลหรือข้าราชการระดับสูงคนไหนในไทยต้องขึ้นศาลแต่อย่างใด มีแต่ผลการตัดสินของศาลอาญาที่ระบุว่าบริษัทผู้ขาย (นำเข้าจากอังกฤษ) มีความผิดฐานฉ้อโกง และผลการตัดสินของศาลปกครองที่ให้บริษัทเดียวกันนี้จ่ายชำระหนี้แก่กองทัพบก

  ราวกับว่าเวลาถูก ‘หยุด’ ไว้ ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 วันที่ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดคดีเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 และ Alpha6 รวม 20 สำนวน จากการไต่สวนทั้งหมด 25 สำนวน มีผู้ถูกกล่าวหาประมาณ 100 ราย โดยถูกชี้มูลทั้งความผิดทางอาญา และความผิดทางวินัย ส่วนใหญ่ผู้ถูกชี้มูลเป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างฯ และคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างฯ ของหน่วยงานนั้น” (ข่าวจากสำนักข่าวอิศรา)

ผ่านมาอีกเกือบปี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 ในการพิจารณาร่างงบประมาณฯ ปี 2566 จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส. พรรคก้าวไกล เปิดโปงว่ากองทัพบกใช้งบประมาณ 7.57 ล้านบาท ไปจ้างตรวจสอบ GT200 ทุกเครื่องของกองทัพ โดยตั้งคำถามว่า “นี่เป็นการใช้งบประมาณที่สิ้นเปลืองของประเทศหรือไม่ ทำไมต้องเสียเงินค่าตรวจสอบ GT200 ที่รู้แน่ๆ ว่าใช้การไม่ได้ และถูกเก็บอยู่ในกรุมาตั้งนานแล้ว… ส่วนพวกเซนเซอร์ การ์ด ก็เป็นพลาสติกเปล่าๆ ไม่มีอะไรเลย บัตรประชาชนยังซับซ้อนกว่า… ผมอยากรู้ว่ากลาโหมเอาเงินภาษีพี่น้องประชาชน 7.57 ล้านบาท ไปจ้างเขาตรวจสอบกล่องพลาสติกสีดำในราคาชิ้นละ 10,000 บาท จำนวน 757 ชิ้น เพื่อ? เพื่ออะไรครับ ตรวจทำไมครับ ทั้งโลกเขาก็รู้ว่าข้างในมันไม่มีอะไร คือถ้าใช้งบแบบไร้สติสตางค์แบบนี้ กับอีแค่แงะกล่องพลาสติกออก ขันน็อต 14 ตัว ได้หมื่นบาท รวยเละสิครับแบบนี้”

  2 วันต่อมา วันที่ 4 มิถุนายน 2565 โฆษกกระทรวงกลาโหมชี้แจงว่า “ที่ตั้งงบประมาณไว้ เนื่องจากเป็นไปตามคดีอาญาที่กองทัพบกได้ฟ้องบริษัทผู้ขาย กับพวก รวม 5 คน ต่อศาล ฐานร่วมโกง และศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ก็ตัดสินชี้มูลมาแล้วว่าจำเลยมีความผิด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แต่ขณะเดียวกันคดีในทางปกครอง กองทัพบกได้ฟ้องบริษัทผู้ขาย โดยศาลปกครองกลางได้สั่งให้ต้องชำระหนี้กับกองทัพบก เป็นเงินกว่า 683,000,000 บาท แต่เมื่อต่อมา ทางบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นว่า การตรวจเครื่อง GT200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้ทุกเครื่อง ทั้ง 757 เครื่อง เป็นสาระสำคัญของคดี จึงมีความจำเป็นให้กองทัพบกตรวจสอบทุกเครื่องว่าใช้งานได้หรือไม่ 

  2 วันถัดจากนั้น รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ให้สัมภาษณ์สื่อว่า “อสส. เคยแนะนำให้กองทัพบก (ทบ.) ไปตรวจสอบ GT200 ที่เคยซื้อมาทั้งหมด 757 เครื่อง เพื่อพิสูจน์ทราบว่าเป็นของที่ไม่ได้คุณภาพตามสัญญา ตั้งแต่ต้นปี 2560 โดยจะตรวจอย่างไร ราคาเท่าไร เป็นเรื่องของ ทบ. ทางอัยการไม่อาจก้าวล่วง ซึ่งต่อมาคดีก็เดินต่อไปในศาลปกครองชั้นต้น กระทั่งมีคำพิพากษาในวันที่ 1 กันยายน 2564 ให้ ทบ. ชนะคดี”

  เนื้อข่าวระบุว่า “ต่อมา วันที่ 23 ก.ย. 2564 เอกชนที่ถูกฟ้องยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 ก.พ. 2565 ทางเอกชนที่ถูกฟ้องได้ยื่นขอถอนอุทธรณ์ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดอนุญาตในวันที่ 7 มี.ค. 2565 ทำให้คดีนี้ ‘ถึงที่สุด’”

  รองโฆษก อสส. ย้ำว่า “ในส่วนของอัยการที่เรายืนยันในเวลาขณะนั้นให้ตรวจเพราะมีความจำเป็นทางคดี เเต่เมื่อคดีมันเดินมาถึงที่สุดเเล้ว ฟ้องชนะคดีมา 600 กว่าล้าน ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปตรวจอะไรอีก”

  ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องนี้มี 3 ประเด็น ที่น่าสังเกตและตั้งคำถามดังต่อไปนี้

1. การแนะนำให้ตรวจสอบ GT200 ทุกเครื่อง ในปี 2564 ดู ‘ไม่มีความจำเป็นทางคดี’ ดังที่สำนักงานอัยการสูงสุดอ้างแม้แต่น้อย เนื่องจากเราเห็นผลการตรวจชัดเจนตั้งแต่ปี 2553 หรือ 11 ปีก่อน เมื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในยุคนั้น สั่งให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำการทดสอบเครื่อง GT200 ผลปรากฏว่าเครื่องนี้บอกตำแหน่งระเบิดที่ถูกต้องได้แค่ 4 ครั้งจาก 20 ครั้งเท่านั้น คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต่างอะไรจากการเดาสุ่ม หลังจากนั้นก็มีการพิสูจน์กันชัดๆ ออกโทรทัศน์ด้วยการแกะเครื่อง GT200 “ปรากฏว่า ด้านในไม่มีอะไรเลย เป็นแค่พลาสติกธรรมดาๆ กับเสาอากาศ 1 อันเท่านั้น ไม่มีเทคโนโลยีใดๆ ทั้งสิ้น ต้นทุนจริงๆ อยู่ที่ไม่เกิน 300 บาทเท่านั้น แต่เอามาปั่นหลอกขายในราคาอันละเกือบล้านบาท”

หลังจากที่รัฐบาลสมัยนั้นสั่งให้เลิกใช้ ต่อมาอีก 3 ปี ในปี 2556 ความจริงก็ปรากฏชัดเจน เมื่อรัฐบาลอังกฤษฟ้อง แกรี โบลตัน เจ้าของบริษัทผู้ผลิต GT200 ขึ้นศาล ศาลตัดสินจำคุก 7 ปี ในข้อหาต้มตุ๋น “เช่นเดียวกับผู้ผลิต ADE-651 และ Alpha 6 ก็โดนรัฐบาลอังกฤษไล่จำคุกพร้อมยึดทรัพย์ โดยนี่เป็นเรื่องที่สร้างความเสื่อมเสียให้อังกฤษเป็นอย่างมาก ที่คนในประเทศ ส่งของเก๊ออกไปขายให้ชาติอื่น”

ยังไม่นับข้อเท็จจริงที่ว่า ทั้งคดีอาญาก่อนหน้านี้ที่กองทัพบกฟ้องบริษัทผู้นำเข้าในไทย และคดีปกครองที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาในเดือนกันยายน 2564 ก็นำไปสู่คำตัดสินของศาลที่ให้กองทัพบกชนะคดีทั้งคู่ – โดยไม่มีการตรวจ ‘ทุกเครื่อง’ เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลแต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้ กองทัพบกจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะสอบถามสำนักงานอัยการสูงสุด และเมื่อถามไปแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ อีกเช่นกัน ที่จะตอบกลับมาในปี 2560 หรือ 4 ปีหลังจากที่ศาลอังกฤษตัดสินจำคุกผู้ผลิต ว่า “การตรวจเครื่อง GT200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้ทุกเครื่อง ทั้ง 757 เครื่อง เป็นสาระสำคัญของคดี” ให้เปลืองเงินภาษีของประชาชนไปเปล่าๆ ปลี้ๆ

2. ถ้าหาก อสส. แนะนำให้ตรวจ GT200 ‘ทุกเครื่อง’ ตั้งแต่ปี 2560 เหตุใดกองทัพบกจึงเพิ่งมาดำเนินการจ้างตรวจในเดือนกันยายน 2564 ภายหลังจากที่ศาลอาญา และศาลปกครองชั้นต้นโดยลำดับตัดสินให้ชนะคดี (ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ชนะได้โดยไม่ต้องใช้ผลการตรวจทุกเครื่องแต่อย่างใด)

โดยเรื่องนี้พบว่า กรมสรรพาวุธทหารบกทำสัญญาจ้างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 2 งวด คือ งวดแรก ทำสัญญาเมื่อ 28 กันยายน 2564 ตรวจ GT200 จำนวน 320 เครื่อง เป็นเงิน 3.2 ล้านบาท และงวดที่ 2 เมื่อ 12 พฤษภาคม 2565 ตรวจ GT200 อีกจำนวน 437 เครื่อง เป็นเงิน 4.57 ล้านบาท

รวมเป็นเงิน 7.57 ล้านบาท ตามคำอภิปรายของ ส.ส.จิรัฏฐ์

พูดง่ายๆ คือเพิ่งมาจ้างตรวจตอนที่ ‘ไม่จำเป็น’ อย่างสิ้นเชิงที่จะตรวจ เพราะมีคำพิพากษาของทั้งศาลไทยและศาลอังกฤษรองรับสนับสนุนแล้ว

3. จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีคำตอบว่าเหตุใดคดีทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง GT200 และ Alpha6 ในประเทศไทยจึงไม่เดินหน้าเลยนับตั้งแต่ 19 กรกฎาคม 2564 วันที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดบุคคลราว 100 คน รวม 20 สำนวน

อีกทั้งไม่มีคำตอบว่า เหตุใดจึงไม่มีการตั้งข้อหาแก่ข้าราชการระดับสูงและนักการเมือง ทั้งที่ค่อนข้างชัดเจนว่า การจัดซื้อจัดจ้างเหล่านี้น่าจะมี ‘ส่วนต่าง’ ค่อนข้างมาก ไม่ใช่เรื่องของการ ‘รู้เท่าไม่ถึงการณ์’ หรือ ‘โดนบริษัทหลอก’ เท่านั้น

เรารู้ต้นทุนและราคาขายของบริษัทผู้ผลิต ‘ไม้ล้างป่าช้า’ เหล่านี้ เนื่องจากศาลอังกฤษไม่เพียงตัดสินจำคุก แกรี โบลตัน ผู้ก่อตั้งบริษัทผู้ผลิต GT200 ในข้อหาฉ้อโกง ในปี 2556 เท่านั้น แต่ยังตัดสินจำคุก แซมมวล ทรี ผู้ผลิตและขาย Alpha6 (‘ไม้ล้างป่าช้า’ อีกยี่ห้อ) ให้แก่อียิปต์ ไทย และเม็กซิโก ในปีเดียวกันเช่นกัน (รายละเอียดจากข่าวบีบีซีไทย) – จากข่าวอังกฤษ ชัดเจนว่าต้นทุนของ ‘ไม้ล้างป่าช้า’ พวกนี้อย่างมากก็อยู่ที่ประมาณ 700 บาทเท่านั้น แต่โดนหลอกขายแพงถึงเครื่องละประมาณ 175,000 บาท – ที่น่าสนใจคือหน่วยงานต่างๆ ในไทยซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ (หลายหน่วยงานซื้อรวมกันเกือบ 1,400 เครื่อง โดยมีกองทัพบกซื้อมากที่สุด) ไม่ได้จ่ายราคาเท่ากัน “ยกตัวอย่างเช่น กรมศุลกากร ซื้อมาเครื่องละ 420,000 บาท แต่พอกองทัพเรือซื้อ กลับต้องจ่ายเงินเฉลี่ยเครื่องละ 1,200,000 บาท เป็นต้น” (ข่าว WorkpointTODAY)

งบประมาณที่ใช้ไปแล้วและกำลังจะใช้ไปกับการตรวจ ‘ไม้ล้างป่าช้า’ 757 เครื่อง ทั้งที่ไม่จำเป็นแม้แต่น้อย และทั้งที่โลกรู้มานานหลายปีแล้วว่ามันเป็นของปลอม เจ้าของบริษัทผู้ผลิตในอังกฤษติดคุกจนครบกำหนดแล้ว จึงนับเป็น ‘ค่าโง่’ ครั้งใหม่ ที่ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่าเกิดขึ้นแล้ว

คำถามจึงมีอยู่ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างไร โดยเฉพาะ ‘ค่าโง่’ รอบใหม่ ในรูปเงินภาษีของประชาชน 7.57 ล้านบาท ที่กำลังถูกใช้ไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง และเราต้องรออีกนานเพียงใดกว่าจะเห็นการดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ‘ไม้ล้างป่าช้า’ ที่รวมมูลค่าความเสียหายเป็นหลักพันล้าน ยังไม่นับชีวิตของทหารที่ต้องสูญเสียไปกับระเบิดในภาคใต้เพราะฝากชีวิตไว้กับเครื่องตรวจระเบิดเก๊

สุดท้าย มหากาพย์ GT200 บอกอะไรเราได้บ้างเกี่ยวกับวัฒนธรรม ‘ลอยนวลพ้นผิด’ และระบบอุปถัมภ์ในภาครัฐ

โปรดติดตามตอนต่อไป

Tags: , , ,