ภายในระยะเวลาเพียง 6 สัปดาห์ หลังปีใหม่ 2566 เป็นต้นมา
เราได้เห็นตัวอย่างมากมายหลายกรณีที่ไม่เพียงแต่บ่งชี้ ‘ปัญหา’ ที่เรื้อรังซึมลึกของการทุจริตคอร์รัปชัน ความไร้ประสิทธิภาพ การเอื้อประโยชน์เอกชน หรือการใช้งบประมาณอย่างสิ้นเปลืองของหน่วยงานราชการเท่านั้น
แต่ ‘วิธีรับมือกับปัญหา’ ยังบอกเราได้ดีกว่าตัวปัญหาเสียอีกว่า ปัญหานั้นๆ น่าจะดำรงอยู่ไปนานขนาดไหน รากสาเหตุที่แท้จริงน่าจะได้รับการแก้ไขหรือไม่ เพราะตัว ‘ปัญหา’ บอกเราได้แต่ว่าเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ขณะที่ ‘ท่าที’ ของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงและผู้มีหน้าที่ตรวจสอบ บอกเราว่าจะมีการแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหา (Accountability) นั้นๆ อย่างครบถ้วน และมีมาตรการแก้ปัญหานั้นอย่างยั่งยืนหรือไม่
ผู้เขียนเห็นว่าในยุคที่เราเห็นรูปธรรมของ ‘การฉ้อฉลเชิงอำนาจ’ และ ‘การยึดกุมกลไกกำกับดูแล’ อย่างโจ๋งครึ่มมากมาย ดังหลายตัวอย่างที่ผู้เขียนทยอยเขียนถึงในคอลัมน์นี้ การรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นชนิดมักง่าย (หรือแย่กว่านั้นอีกคือย้อนถามว่า ‘แล้วจะให้ทำอย่างไร’) หาแพะหรือจำกัดประเด็นการสอบสวนเพื่อไม่ให้สาวไปถึงคนที่ ‘เส้นใหญ่’ หรือมีอำนาจมาก
พฤติกรรมการ ‘รับมือ’ กับปัญหาเหล่านี้ล้วนบ่งชี้ว่ากลไกความรับผิดในองค์กรที่เกิดปัญหาไม่ทำงาน สิ่งที่ทำงานมีเพียง ‘ระบอบลอยนวลพ้นผิด’ ที่ไร้ความรับผิด (Accountability) ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณี เรือรบหลวงสุโขทัยอับปาง ป้ายชื่อใหม่ของสถานีกลางบางซื่อ 33 ล้าน อดีตผู้บังคับบัญชากองทัพอากาศเอาเครื่องบินขับไล่ F-16 ไปลอยอังคารบิดาตนเอง ตำรวจรีดไถดาราไต้หวันและเพื่อน ตำรวจท่องเที่ยวรับจ้างนำขบวนนักท่องเที่ยวจีน ตำรวจช่วยเหลือทุนจีนเทา และตำรวจนายบ่อนออนไลน์ ที่ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาเปิดโปงอย่างต่อเนื่องน่าติดตามไม่แพ้ซีรีส์โทรทัศน์สนุกๆ
กรณีเหล่านี้และอีกมากมายล้วนนำไปสู่การตั้งคำถามของสังคมว่า ‘รากปัญหา’ จะได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนมากน้อยเพียงใด หรือว่าผลการสอบสวนจะออกมาว่าเป็นแค่ความผิดของบุคลากรแย่ๆ ไม่กี่คน หรือว่าเป็น ‘อุบัติเหตุ’ หรือ ‘ภัยธรรมชาติ’ ที่ไม่มีใครคาดการณ์หรือวางแผนรับมือล่วงหน้าได้
ตราบใดที่ปัญหาถูกชี้ว่าเกิดจากความผิดส่วนบุคคล อุบัติเหตุหรือภัยธรรมชาติ เพียงเท่านั้น พูดง่ายๆ คือ ตัดตอนสาเหตุให้เหลือแค่ ‘สาเหตุใกล้ชิด’ (Proximate Cause) โดยไม่สืบสาวไปถึง ‘สาเหตุต้นตอ’ (Ultimate Cause) ต่างๆ ที่อาจสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งที่ข้อเท็จจริงในกรณีนั้นบ่งชี้ว่าน่าจะมีสาเหตุต้นตอมากมาย – ตราบนั้นนอกจากปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนแล้ว เรายังจะได้เห็นว่า ‘ระบอบลอยนวลพ้นผิด’ ในองค์กรนั้นๆ แข็งแกร่งมากเพียงใด
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าตำรวจจำนวนไม่น้อยรีดไถนักท่องเที่ยวอย่างแพร่หลายเป็นประจำหลายสถานี เป็นส่วนหนึ่งของการ ‘ส่งส่วย’ ถึงนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ต่อไปเป็นทอดๆ การตัดสินใจโยกย้ายหรือลงโทษตำรวจชั้นผู้น้อยที่เป็นคนรีดไถตรงๆ ย่อมไม่ใช่มาตรการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะระบบส่วยในองค์กรยังดำรงอยู่ต่อไป
ถ้าหากเรือรบหลวงสุโขทัยอับปางจากการตัดสินใจผิดพลาดของผู้บังคับบัญชาส่งเรือที่ไม่พร้อมออกไปร่วมประกอบพิธีกรรมในวันที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ (จนถึงวันนี้กองทัพเรือยังไม่ยอมเปิดเผยต่อสาธารณะว่า เรือรบหลวงสุโขทัยออกไปทำภารกิจอะไรกันแน่ในวันที่อับปาง บอกแต่เพียงภารกิจทั่วๆ ไปของเรือ) และถ้าหากความไม่พร้อมของเรือรบลำนี้ส่วนหนึ่งอาจมาจากการทุจริตคอร์รัปชันในการซ่อมแซมเรือ การตีกรอบการสอบสวนให้เหลือเพียงแค่เหตุการณ์เฉพาะหน้าในวันนั้น เช่น สาเหตุใกล้ชิดที่ทำให้เรือจม หรือประสิทธิภาพของการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ย่อมไม่เพียงพอและไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
ในเมื่อผลการสอบสวนเป็นเครื่องมือสำคัญในการระบุสาเหตุของปัญหาและเลือกวิธีแก้ปัญหา ความน่าเชื่อถือของ ‘คณะกรรมการสอบสวน’ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่เรามองข้ามไปไม่ได้
แล้วเราจะประเมินความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการสอบสวนได้จากปัจจัยอะไรบ้าง ผู้เขียนเห็นว่ามีปัจจัยสำคัญ 7 ประการดังต่อไปนี้
1. ความเป็นอิสระของคณะกรรมการสอบสวน
คณะกรรมการสอบสวนควรเป็นอิสระจากหน่วยงานนั้นๆ ดังนั้นจึงควรเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับกรณีที่เกิดขึ้น และไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ของการสอบสวน
สำหรับคณะกรรมการสอบสวนที่จัดตั้งขึ้นภายในองค์กร ซึ่งอาจไม่อยากเปิดให้มีบุคคลภายนอกมาร่วมด้วย เนื่องด้วยเหตุผลว่ากลัวความลับด้านความมั่นคงหรือความลับทางการค้ารั่วไหล อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ควรให้ใครก็ตาม หรือฝ่ายไหนก็ตามที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ที่เป็นปัญหา เข้ามาร่วมอยู่ในคณะกรรมการสอบสวนด้วย คณะกรรมการสอบสวนควรมาจากฝ่ายอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ
ยกตัวอย่างเช่น หลายองค์กรมี ‘ฝ่ายตรวจสอบภายใน’ ที่รายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ (ถ้าเป็นบริษัท คณะนี้จะเป็นกรรมการอิสระของบริษัท) และฝ่ายนี้จะทำหน้าที่สอบสวนเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น เนื่องจากเป็นฝ่ายที่มีความเป็นอิสระจากฝ่ายอื่น ตรวจสอบและสอบสวนเป็นงานหลัก
2. ประสบการณ์และความรู้ความเชี่ยวชาญ
คณะกรรมการสอบสวนควรมีประสบการณ์และความรู้ความเชี่ยวชาญมากพอที่จะสามารถวิเคราะห์เจาะลึกถึงสาเหตุของปัญหาได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน ทั้งสาเหตุใกล้ชิด และสาเหตุต้นตอต่างๆ
3. ความเป็นภววิสัยของการสอบสวน
คณะกรรมการสอบสวนควรทำงานอย่างเป็นภววิสัยให้ได้มากที่สุด ปราศจากอคติ ไม่มีการตั้ง ‘ธง’ ไว้ล่วงหน้า เพื่อขจัดความเสี่ยงที่ผลการสอบสวนจะออกมาอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผล ยกตัวอย่างเช่น กรณีป้ายชื่อใหม่ของสถานีกลางบางซื่อที่ประชาชนฮือฮาว่าใช้งบถึง 33 ล้านบาท และบริษัทที่ได้งานไม่ผ่านกระบวนการประมูล ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน แถลงผลการตรวจสอบว่า
“ไม่พบว่า รฟท. มีการดำเนินการที่เชื่อได้ว่านอกเหนือจากขอบเขตงาน และการกำหนดราคากลางของ รฟท. ในการดำเนินการ โครงการครั้งนี้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพที่สามารถตรวจสอบได้”
แต่กลับใส่เป็นข้อเสนอแนะว่า รฟท. ควรใช้วิธีเปิดประมูลทั่วไปตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ใช่วิธีแบบเฉพาะเจาะจงอย่างที่ทำ
คำถามก็คือ ในเมื่อ รฟท. ไม่เปิดประมูลงาน แต่ใช้วิธีจ้างแบบเฉพาะเจาะจง คณะกรรมการตรวจสอบจะมั่นใจได้อย่างไรว่า มูลค่างาน 33 ล้านบาท นั้น ‘สมเหตุสมผล’ แล้ว เพราะถ้าหากว่าเปิดประมูล เอกชนที่ชนะการประมูลอาจเสนอราคาต่ำกว่านี้มากก็ได้ อีกทั้งการจ้างทำป้ายชื่อนี้ก็ไม่เข้าเงื่อนไขข้อยกเว้นที่จะไม่ใช้วิธีประมูลของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 แม้แต่ข้อเดียว (ตัวอย่างข้อยกเว้นเช่น เปิดประมูลแล้วไม่มีคนมายื่นซอง พัสดุที่จะจัดซื้อจัดจ้างนั้นซับซ้อนมากจึงต้องเลือกผู้บริการ มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้พัสดุ ต้องใช้ในราชการลับ ฯลฯ)
การย้ายประเด็น ‘ไม่เปิดประมูล’ ไปอยู่ในส่วนของข้อเสนอแนะ แทนที่จะพบว่าเป็นความผิดจึงก่อให้เกิดคำถามว่าคณะกรรมการตรวจสอบทำงานอย่างเป็นภววิสัย ไร้ ‘ธง’ ใดๆ จริงหรือไม่
4. ความถี่ถ้วนรอบคอบของการสอบสวน
การสอบสวนของคณะกรรมการควรสอบสวนทุกมิติของเหตุการณ์นั้นๆ อย่างถี่ถ้วนและรอบคอบ พิจารณาข้อมูลหลักฐานทั้งหมดอย่างละเอียด
5. การใช้ระเบียบวิธีที่ถูกต้อง
คณะกรรมการสอบสวนควรใช้ระเบียบวิธีที่ถูกต้องในการสอบสวน วิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งพยานบุคคล วัตถุ เอกสาร ถ้าเป็นอุบัติเหตุก็ควรมีการจำลองเหตุการณ์และวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวกับมนุษย์ ทั้งหมดนี้เพื่อจะได้สืบสาวไปถึงสาเหตุต้นตอได้
6. การสื่อสารและความโปร่งใส
นอกเหนือจากความเป็นอิสระของคณะกรรมการในข้อแรกแล้ว ‘ความโปร่งใส’ ของการทำงานก็นับเป็นปัจจัยที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของการสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชน
ความโปร่งใสนี้หมายความว่า ข้อค้นพบทั้งหมดควรได้รับการสื่อสารอย่างชัดเจนต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และควรเผยแพร่รายงานการสอบสวนต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชน ยกตัวอย่างเช่น กรณีแท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ของบริษัทบีพีระเบิดในปี 2553 (เหตุแท่นขุดเจาะระเบิดที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมน้ำมัน) นอกจากจะมีคณะกรรมการสอบสวนนับสิบคณะจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงคณะกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจที่ประธานาธิบดี บารัก โอบามา (Barack Obama) ลงนามแต่งตั้งแล้ว บริษัทบีพีเองก็ได้มีดำเนินการสอบสวนกรณีนี้ โดยใช้ทีมสอบสวนภายในของบริษัท และเมื่อการสอบสวนแล้วเสร็จก็ได้เผยแพร่รายงานการสอบสวนทั้งฉบับต่อสาธารณะ
ในกรณีที่หัวข้อการสอบสวนคือเหตุการณ์สะเทือนใจที่มีผู้เสียชีวิตและความสูญเสียจำนวนมาก คณะกรรมการสอบสวนยิ่งควร ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ คำนึงถึงความรู้สึกและหัวอกของญาติมิตรผู้สูญเสีย ทุกครั้งที่ออกมาสื่อสาร (หรือตัดสินใจว่าจะไม่สื่อสาร) เพราะถ้าหากญาติมิตรของผู้สูญเสียไม่ไว้ใจคณะกรรมการสอบสวน คนทั่วไปที่อยู่วงนอกออกมาอีกก็ย่อมไม่ไว้ใจตามไปด้วย
7. การติดตามและการลงมือปฏิบัติตามข้อเสนอแนะ
แน่นอนว่าต่อให้คณะกรรมการสอบสวนเต็มไปด้วยคนที่น่าจะเป็นอิสระ น่าจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญ และสื่อสารต่อสาธารณะเป็นระยะๆ สุดท้ายปัจจัยที่จะชี้วัดความน่าเชื่อถือก็คือ ‘ผลการสอบสวน’ ที่อยู่ในรายงานการสอบสวน ผลการสอบสวนควรแจกแจงข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมอย่างละเอียด ครอบคลุมมาตรการที่รับมือกับสาเหตุต้นตอ ไม่ใช่เฉพาะสาเหตุใกล้ชิดเท่านั้น
นอกจากนี้ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว คณะกรรมการสอบสวนควรติดตามอย่างต่อเนื่องว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อเสนอแนะไปปฏิบัติจริงมากน้อยเพียงใด ถ้าไม่ทำ ไม่ทำเพราะอะไร และรายงานผลการติดตามให้ประชาชนรับรู้เป็นระยะๆ
ทั้งหมดนี้คือ 7 ปัจจัยที่ผู้เขียนเห็นว่า สำคัญต่อการสถาปนา ‘ความน่าเชื่อถือ’ ของคณะกรรมการสอบสวน เหรียญอีกด้านก็คือยิ่งคณะกรรมการสอบสวนหรือคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ใส่ใจที่จะทำงานอย่างน่าเชื่อถือ เราก็จะยิ่งได้เห็นธาตุแท้ของ ‘ระบอบลอยนวลพ้นผิด’ ในองค์กรนั้นๆ และองคาพยพที่เกี่ยวข้อง
Tags: การเมืองไทย, Politics, Citizen 2.0, ประชาชน 2.0