ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ยืมคำจากชาวบ้านไปทั่ว และด้วยความที่เป็นภาษาตะวันตก เจ้าหนี้ส่วนจึงเป็นภาษายุโรปเสียส่วนใหญ่ ถ้ารุ่นเก๋าหน่อยก็เป็นพวกภาษากรีกโบราณกับภาษาละติน หรือใหม่ขึ้นมาหน่อยก็อาจเป็นภาษาฝรั่งเศส (ซึ่งก็ยืมกึ่งขโมยจากกรีกและละตินมาอีกทอด)

แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้แปลว่าภาษาอังกฤษจะหยิบยืมแต่จากภาษาบ้านใกล้เรือนเคียงเท่านั้น เพราะภาษาอังกฤษได้แผ่ขยายไปไกลเรียกได้ว่าแทบจะทุกมุมโลก จึงได้มีโอกาสหยิบยืมคำจากโลกตะวันออกไปเช่นกัน เช่น ภาษาญี่ปุ่น (เช่น karaoke และ ninja) ภาษาฮินดี (เช่น bungalow และ cheetah) และภาษามาเลย์ (เช่น bamboo และ satay) รวมไปถึงภาษาไทย (เช่นคำว่า bong ที่แปลว่า บ้องกัญชา ยืมของดีไปเสียด้วย!)

แน่นอนว่า ภาษาจีนก็ไม่รอดพ้นเงื้อมมืออีลูกช่างยืมอย่างภาษาอังกฤษเช่นกัน

เนื่องในโอกาสที่เทศกาลตรุษจีนกำลังจะมาถึง สัปดาห์นี้เราไปดูกันว่า มีคำน่าสนใจอะไรบ้างที่ภาษาอังกฤษยืมมาจากภาษาจีน

   

Brainwash

คำนี้ดูเผินๆ แล้วคงมีน้อยคนที่จะสะดุดใจว่าคำนี้เป็นคำยืมมาจากภาษาอื่น เพราะทั้ง brain ที่แปลว่า สมอง และ wash ที่แปลว่า ล้าง เป็นคำอังกฤษแท้ๆ ทั้งคู่ แต่อันที่จริงแล้ว คำนี้แปลสำนวนจีนมาอีกที สำนวนนั้นคือ 洗腦 (สีเหน่า) แปลตรงตัวได้ว่า ล้างสมอง ใช้หมายถึงวิธีการปรับทัศนคติ เอ๊ย ปรับวิธีคิดของพวกต่อต้านรัฐบาล ด้วยเทคนิคต่างๆ เพื่อชำระล้างความคิดที่ทางรัฐถือว่าไม่ถูกไม่ควรออกจากสมอง

 คำว่า brainwash เริ่มปรากฏในภาษาอังกฤษในสมัยสงครามเกาหลี ในขณะนั้นมีทหารอเมริกันถูกกองกำลังจีนคอมมิวนิสต์จับไปเป็นเชลยสงครามจำนวนมาก ปรากฏว่าในจำนวนนี้มีทหารบางคนที่อยู่ๆ ก็ให้ความร่วมมือกับพวกจีนคอมมิวนิสต์เสียอย่างนั้น เริ่มแปรพักตร์หันไปภักดีกับผู้ที่จับตัวเองไปกักขัง จึงมีการลือกันว่ากองกำลังของจีนมีเทคนิคในการเปลี่ยนความคิดผู้คนโดยใช้สารเคมี การทรมาน และกลเม็ดทางจิตวิทยาต่างๆ จนทำให้มีนักหนังสือพิมพ์คิดคำว่า brainwash ขึ้นมาใช้โดยอ้างอิงจากคำจีนที่ใช้เรียกวิธีการเปลี่ยนความคิดคนเช่นนี้นี่เอง

 ในปัจจุบัน คำว่า brainwash ใช้กันอย่างแพร่หลายในภาษาอังกฤษและไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงสงครามเท่านั้น เช่น Many people who are serious about weight loss have been brainwashed into believing that fat is to be avoided at all costs. หมายถึง คนที่ตั้งใจลดน้ำหนักจำนวนมากถูกล้างสมองจนเชื่อว่าห้ามแตะไขมันเด็ดขาด

Kowtow

คำนี้ในภาษาอังกฤษอ่านว่า คาวทาว เป็นกริยา หมายถึง พินอบพิเทา ศิโรราบ หงอ ซึ่งให้ภาพเหมือนลงไปหมอบกราบแทบเท้ายังไงยังงั้น เช่น I hate how you kowtow to your boss like he’s your master. ก็จะหมายถึง เกลียดจริงๆ ที่แกพินอบพิเทากับเจ้านายอย่างกับมันเป็นเจ้าชีวิตแก

คำนี้มาจากคำจีน 叩頭 (ภาษาจีนกลางอ่านว่า โข้วโถว แต่ยืมผ่านจีนกวางตุ้ง อ่านว่า คาวถ่าว) แปลตรงตัวได้ว่า กระแทกศีรษะ ใช้หมายถึง การคุกเข่าหมอบกราบแบบหน้าผากจรดพื้น แบบที่เราเห็นในหนังจีนเวลาที่ตัวละครต้องการแสดงว่ายอมอีกฝ่ายอย่างศิโรราบ ดังนั้น เมื่อนำมาใช้ในภาษาอังกฤษว่า kowtow จึงให้ภาพว่ายอมทุกอย่างแบบลงไปคุกเข่าหมอบกราบแทบเท้านั่นเอง

Gung-ho

คำนี้จะเขียนติดกันเป็นคำเดียวว่า gungho เขียนแยกกันว่า gung ho หรือใส่ hyphen เป็น gung-ho ก็ได้ เป็นคุณศัพท์ใช้ในภาษาอังกฤษ หมายถึง กระตือรือร้น กระเหี้ยนกระหือรือ มีความพร้อมไฟต์ เช่น I have no problem with the band. It’s their gung-ho supporters that I have a problem with.  ก็จะหมายถึง เราโอเคกับวงนี้นะ แต่ที่ไม่โอเคคือพวกแฟนคลับที่บ้าจัดๆ

คนที่เป็นผู้นำคำนี้มาสู่ภาษาอังกฤษ คือ พันโทเอแวนส์ เอฟ. คาร์ลสัน (Evans F. Carlson) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พันโทนายนี้ได้มีโอกาสเดินทางไปคลุกคลีตีโมงกับกองกำลังกองโจรฝ่ายจีนคอมมิวนิสต์และได้ไปพบเจอสมาคมสหกรณ์อุตสาหกรรมจีน ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อจ้างคนงานมาทำงานผลิตของเพื่อสนับสนุนการทำสงคราม

พันโทคาร์ลสันประทับใจความสมัครสมานสามัคคีของสมาชิกสมาคมมากๆ บังเอิญว่า สมาคมนี้ชื่อ工業合作社 (กงเย่เหอจั้วเช่อ) และใช้สโลแกนย่อมาจากชื่อสมาคมว่า 工合 (กงเหอ) แปลว่า ร่วมกันทำงาน พันโทคาร์ลสันก็เลยหยิบยืมสโลแกนนี้กลับไปใช้กับหน่วยรบในกองทัพเรือ หวังว่าจะสร้างความสามัคคีแบบที่เห็นมาในจีน เวลามีประชุมหารือเพื่อคิดแก้ปัญหาร่วมกันก็จะเรียกว่า ประชุม Gung Ho ไปๆ มาๆ กองพันของพันโทนายนี้ก็เลยเรียกตัวเองว่า Gung Ho Battalion

ในเวลาต่อมา คำนี้ก็แพร่หลายไปทั่วกองทัพเรือ อีกทั้งยังเป็นชื่อภาพยนตร์เกี่ยวกับเรื่องกองพันนี้ด้วย ทำให้คำว่า gung-ho กลายเป็นที่แพร่หลายและกลายมามีความหมายอย่างในปัจจุบัน

Shanghai

หากให้พูดชื่อเมืองในประเทศจีนสักสามเมือง ก็เป็นไปได้สูงว่าเราจะนึกถึงเมืองเซี่ยงไฮ้ (上海ในภาษาจีนกลางอ่านว่า ช่างไห่) ขึ้นมา ชื่อเมืองนี้ประกอบจากคำที่แปลว่า บน เหนือ รวมกับคำว่า ทะเล รวมแล้วหมายถึง เมืองริมทะเล หรือ เมืองท่า แต่คำนี้นอกจากจะเป็นชื่อเมืองแล้ว ยังนำมาใช้เป็นกริยาในภาษาอังกฤษด้วย!

ย้อนกลับไปในสมัยศตวรรษที่ 19 ในยุคนั้นการเดินเรือไกลๆ เป็นเรื่องที่ทั้งอันตรายและลำบาก เลยไม่มีใครอยากสมัครเป็นลูกเรือเพราะไม่อยากเอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยงภัย แต่บริษัทเดินเรือทั้งหลายก็จำเป็นต้องใช้ลูกเรือ ไม่อย่างนั้นก็ดำเนินธุรกิจไม่ได้ จึงต้องใช้ทุกวิถีทางหาคนมาเป็นลูกเรือ ไม่เว้นแม้แต่การลักพาตัวหรือมอมเหล้าแล้วจับขึ้นเรือ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้เดินเรือระยะทางไกลๆ ส่วนใหญ่แล้วก็เพื่อจะไปเมืองเซี่ยงไฮ้ ชื่อของเมืองนี้เลยถูกเอามาใช้เป็นกริยา to shanghai หมายถึง การลักพาตัวหรือมอมยาแล้วจับมาเป็นลูกเรือ นั่นเอง

ต่อมาภายหลังเริ่มมีการปราบปรามการลักพาตัวแบบนี้ ประกอบกับวิทยาการพัฒนาไปไกลขึ้น เดินเรือไกลๆ ก็ไม่ได้หาคนลำบากจนต้องมอมยาลักพาตัว คำว่า shanghai ก็เลยเริ่มถูกเอามาใช้นำความหมายที่เบาลง หมายถึง ถูกหลอกหรือบังคับให้ทำอะไรที่ไม่ได้อยากทำ เช่น สมมติวันอาทิตย์ตั้งใจไว้แล้วว่าจะนอนสบายใจเฉิบอยู่บ้าน แต่ไม่รู้ทำอีท่าไหนอยู่ๆ ถูกลากไปวัดกับแม่เฉยเลย ก็อาจจะพูดว่า I was shanghaied into going to a temple with my mom.

Yen

หลายคนเห็นคำนี้อาจจะนึกถึงค่าเงินเยนของญี่ปุ่น แต่ที่จริงแล้วคำนี้มีอีกความหมายหนึ่งในภาษาอังกฤษ หมายถึง ความปรารถนาอย่างแรงกล้า ความใคร่ปรารถนา ถ้าจะใช้ภาษาปากหน่อยก็ต้องเรียกว่า เสี้ยน ใช้ได้ทั้งกับอาหาร เช่น I have a yen for somtam. (เปรี้ยวปากอยากกินส้มตำ) กิจกรรมที่เราอยากทำ เช่น I have a yen for a trip to Japan. (เสี้ยนอยากไปเที่ยวญี่ปุ่นมาก) หรือสิ่งอื่นที่เราอยากได้ก็ได้ เช่น It is the yen for knowledge that has brought humankind to where it is today. (ความกระหายใคร่รู้ของมนุษย์คือสิ่งที่พามนุษยชาติมาสู่จุดที่อยู่ในปัจจุบัน)

 คำนี้เริ่มปรากฏใช้ในความหมายนี้ประมาณต้นศตวรรษที่ 20 หลังช่วงสงครามฝิ่น ว่ากันว่ามาจากคำว่า (อ่านว่า หยิ่น ในภาษาจีนกลาง แต่ภาษาอังกฤษรับผ่านภาษาจีนกวางตุ้งมา อ่านว่า หยัน) แปลว่า อาการติดยา หรือ อาการเสี้ยนฝิ่น นั่นเอง

บรรณานุกรม

Tags: , , , , ,