เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ ‘ชิคุนกุนยา’ (Chikungunya Fever) ระบาดในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี จำนวน 45 ราย โดยในจำนวนนี้ 14 รายเป็นนักเรียนและครูชาวสิงคโปร์ที่มาทัศนศึกษาในประเทศไทย
ตอนแรกท่านผู้อ่านคิดเหมือนกันกับผมไหมครับว่าโรคนี้เกี่ยวอะไรกับประเทศญี่ปุ่นรึเปล่า แต่ความจริงแล้วชื่อ ‘ชิคุนกุนยา’ เป็นภาษาชนเผ่าในประเทศแทนซาเนียและโมซัมบิก (ไม่ต้องเปิดแผนที่นะครับ ผมเตรียมมาให้ด้านล่างแล้ว) แปลว่า ‘บิดเบี้ยว’ จากอาการปวดข้อรุนแรง ซึ่งนำมาตั้งเป็นชื่อโรคภาษาไทยว่า ‘ไข้ปวดข้อ’
ภาพที่ 1 แผนที่แสดงประเทศที่เคยมีการระบาดของโรคชิคุนกุนยาจนถึงปัจจุบัน โดยแทนซาเนีย (ดาวสีเหลือง) เป็นประเทศที่มีรายงานการพบโรคนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2495 (ดัดแปลงจาก CDC)
ส่วน ‘ยุงลาย’ ที่ห้อยท้าย ก็เพราะว่าเป็นยุงพาหะนำเชื้อไวรัสชิคุนกุนยามาติดเชื้อในคน ใช่แล้วครับ! ถ้าใครเคยได้ยินคำขวัญรณรงค์ของกรมควบคุมโรคที่ว่า ‘3 เก็บ 3 โรค’ นอกจากยุงลายจะเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกอย่างที่รู้จักกันเป็นอย่างดีแล้ว ยังสามารถนำอีก 2 โรคที่พบการระบาดในประเทศไทย คือ ไข้ซิกา (Zika fever) และชิคุนกุนยาที่กำลังพูดถึงมาด้วย
พื้นที่ระบาดเป็นประจำในประเทศไทยคือภาคใต้ เพราะถึงแม้ยุงพาหะในทวีปแอฟริกาจะเป็น ‘ยุงลายบ้าน’ (Aedes aegypti) เป็นหลัก แต่ในประเทศไทยพบว่า ‘ยุงลายสวน’ (A. albopictus) ก็เป็นพาหะนำโรคได้เช่นกัน เกษตรกรทางภาคใต้ซึ่งทำสวนยางพาราและสวนผลไม้จึงมีโอกาสถูกยุงลายสวนกัดมากกว่าภาคอื่น รวมทั้งภูมิอากาศที่มีฝนตกเกือบตลอดทั้งปี ทำให้มีแหล่งน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงรอบสวน
ภาพที่ 2 แผนที่ประเทศไทยแสดงจำนวนผู้ป่วย รายจังหวัด ปี 2561 (ที่มา: สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง)
การระบาดของโรคชิคุนกุนยาในประเทศไทย 2 ครั้งหลังสุดคือในปี 2538 (เลย นครศรีธรรมราช และหนองคาย) และ 2551-2552 (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และกระจายมายังภาคอื่น) ห่างกัน 13 ปี จนในที่สุดเมื่อปลายปีที่แล้ว 2561 (อีก 10 ปีต่อมา) ก็เริ่มพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ติดพันมาจนถึงกลางปีนี้ ซึ่งตอนนี้พบทุกภาคของประเทศไทยแล้ว เช่น ลำปาง แพร่ หนองคาย ชัยภูมิ บุรีรัมย์ กรุงเทพฯ ชุมพร นครศรีธรรมราช กระบี่ เป็นต้น
และไม่แน่ว่าอาจลากยาวถึงปลายปีเลยก็ได้ แต่จะสังเกตว่าวงจรการระบาดของโรคนี้กินเวลาเป็นทศวรรษ ต่างจากไข้เลือดออกที่จะระบาดปีเว้นปี หรือปีเว้น 2 ปี
แผนภูมิที่ 1 จำนวนผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาในประเทศไทย
โดยพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2561 (เส้นสีน้ำเงิน) ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2562 (แท่งสีส้ม) ที่ค่อยๆ ลดลงในฤดูร้อน
เทียบกับค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี (เส้นสีเขียว) ซึ่งจะเห็นว่ามีผู้ป่วยไม่มาก (ที่มา: กรมควบคุมโรค)
โรคนี้มีอาการคล้ายกับกับอีก 2 สหายที่นำโดยยุงลาย คือไข้สูง ปวดศีรษะ มีผื่นแดงตามร่างกาย แต่ที่ต่างจากโรคอื่นคืออาการปวดตามข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า และข้อนิ้วมือ หลายข้อพร้อมกันแบบสมมาตรทั้ง 2 ข้าง และมีลักษณะย้ายที่ไปเรื่อยๆ บางครั้งอาจรุนแรงจนขยับข้อไม่ได้ (สมชื่อ ‘ชิคุนกุนยา’) โดยจะเริ่มแสดงอาการ 2-10 วันหลังจากโดนยุงกัด แต่อาการปวดข้อจะหายไปภายใน 1 สัปดาห์หรืออาจนานได้ถึง 3 เดือน
และเกล็ดเลือดจะไม่ต่ำ จึงไม่มีอาการ ‘เลือดออก’ และรุนแรงจนถึงขั้นช็อค เหมือน ‘ไข้เลือดออก’
ส่วนการรักษาก็คล้ายกันเช่นกันคือรักษาตามอาการ ได้แก่ กินยาแก้ปวดลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำ และนอนหลับให้เพียงพอ เพราะการติดเชื้อไวรัสกลุ่มนี้สามารถหายเองได้ แต่ถ้าหากกินได้น้อย หรือซึมลงต้องมาพบแพทย์
ผมขอย้ำอีกครั้งว่าชิคุนกุนยาติดต่อผ่านยุงลาย ในทวีปเอเชียไม่พบว่าลิงในป่าเป็นแหล่งรังโรคเหมือนทวีปแอฟริกา ดังนั้นการป้องกันและควบคุมโรคจะต้องป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัดในเวลากลางวัน เช่น ทายากันยุง สวมเสื้อแขนยาวกางเกงขายาว และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นประจำ เพราะวงจรชีวิตจากไข่กลายเป็นยุงใช้เวลาประมาณ 9 วัน ส่วนถ้ามีการระบาดถึงจะมีการพ่นยากำจัดยุงตัวเต็มวัยด้วย
ภาพที่ 3 ภาพรณรงค์มาตรการ 3 เก็บ 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้าน เก็บขยะ และเก็บน้ำ เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง (ที่มา: กรมควบคุมโรค)
Tags: โรคระบาด, ยุงลาย, ชิคุนกุนยา, ไข้ปวดข้อ, โรคไข้ปวดข้อยุงลาย