หลังจากที่เงียบๆ ไปในเดือนเมษายนที่เป็นช่วงหยุดยาวสงกรานต์ เดือนพฤษภาคมจนถึงมิถุนายนวงการละครเวทีก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง นี่ลองนับแบบคร่าวๆ สองเดือนนี้น่าจะมีการแสดงอย่างน้อยก็สิบงานได้ และในสัปดาห์นี้ก็มีการแสดงให้เลือกดูสองเรื่องที่บังเอิญมีธีมว่าด้วยครอบครัวทั้งคู่ หากแต่เป็นครอบครัวที่ห่างไกลจากรูปแบบในอุดมคติอย่างสิ้นเชิง

เรื่องแรกคือ Chicken Burrito ผลงานจากคณะ Shut up and play theatre ของพันธกิจ หลิมเทียนลี้ ซึ่งต้องสารภาพว่าผู้เขียนไม่คุ้นชื่อคณะละครนี้นัก ในเรื่องนี้พันธกิจทำหน้าที่เขียนบท ส่วนผู้กำกับคือนินาท บุญโพธิ์ทอง แห่งคณะหน้ากากเปลือยที่คอละครคงรู้จักกันดี

ตามข้อมูลระบุว่า Chicken Burrito ดัดแปลงจากหนังสือ ‘ไร้เลือด’ (Senza sangue) ของอเลซซานโดร บาริกโก (ว่าด้วยเด็กสาวคนหนึ่งที่รอดชีวิตจากการสังหารหมู่) ผสมผสานกับหนังหลายเรื่องของ เควนทิน ทารันติโน ฟังดูแล้วคิดว่าละครต้องยาวแน่นอน เพราะผลงานของนินาทมักมีความยาวที่ 2-4 ชั่วโมง แต่ปรากฏว่า Chicken Burrito ยาวเพียง 90 นาทีเท่านั้น คงเป็นเพราะคราวนี้นินาทเป็นผู้กำกับแต่ไม่ได้เขียนบทเอง

จากตัวเรื่องอ้างอิงตั้งต้น เดาได้ไม่ยากว่า Chicken Burrito จะเป็นละครเวทีแนวอาชญากรรมและแก๊งสเตอร์ ละครของนินาทไม่ได้เน้นโปรดักชันสวยงามราคาแพงมาแต่ไหนแต่ไร อย่างเรื่องนี้เล่นในร้านอาหารตามสั่งหน้าตาธรรมดา แต่ทีมงานก็สามารถจัดไฟให้ฉาบไปด้วยสีแดงทั้งเรื่องจนบรรยากาศดูตึงเครียด ส่วนตรงกลางร้านเป็นกล่องลังที่สามารถกลายสภาพเป็นได้ทั้งบ้าน โรงแรม เตียง และรถยนต์

ทางด้านของเนื้อเรื่องนั้น Chicken Burrito มีสองเส้นเรื่องด้วยกัน หนึ่ง—พ่อและลูกชายที่หนีการตามล่าของแก๊งมาเฟีย สอง—ลูกสาวผู้ห่างเหินและความสัมพันธ์ของเธอกับหนุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นตำรวจ ละครเล่าทั้งสองเส้นเรื่องสลับไปมา และพาทุกตัวละครมาบรรจบกันได้ในที่สุด เป็นบทที่เข้าใจได้ไม่ยาก ต่างจากละครที่นินาทเขียนบทเองซึ่งมักทำให้ผู้ชมปวดหัว (ในทางที่ดี) กับการเชื่อมโยงตัวเรื่อง

จุดเด่นอีกอย่างในละครของนินาทคือการทำงานและให้โอกาสกับนักแสดงรุ่นเยาว์ แต่นั่นก็กลายเป็นจุดอ่อนในตัวเอง เพราะหลายครั้งที่เหล่านักแสดงต้องเล่นบทที่ค่อนข้างเข้มข้นและไกลจากตัวเอง สำหรับ Chicken Burrito ถือว่านักแสดงทำหน้าที่ในระดับพอใช้ รุ่นน้องของผู้เขียนตั้งข้อสังเกตได้น่าสนใจว่านักแสดงเต็มไปด้วย ‘แอ็คชั่น’ แต่ยังขาด ‘รีแอ็คชั่น’ อันหมายถึงการรับส่งกับนักแสดงคนอื่น อย่างไรก็ดี ละครได้ ขรรค์ชัย กลีบการะเกตุ (หนึ่งในนักแสดงคู่บุญของนินาท) ผู้รับบทพ่อคอยช่วยอุ้มชูละครเอาไว้ตลอดทั้งเรื่อง

อีกสิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับผู้เขียนคือดนตรีประกอบที่ดูจะดังไปสักหน่อย แถมนักแสดงบางคนยังโปรเจคต์เสียงเบาเกินไปจนทำให้ไม่ได้ยินบทพูด แต่ที่สุดแล้วฉากเต้นที่ชัดเจนว่าทริบิวต์ให้หนังเรื่อง Pulp Fiction ก็ทำออกมาได้น่ารักน่าชัง

โดยรวมแล้ว Chicken Burrito ออกจะเป็นละครเวทีแก๊งสเตอร์ที่ตรงไปตรงมา เป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมที่คาดเดาได้ง่าย ไม่ได้ลุ้นระทึกเหมือนตอนที่อ่าน ‘ไร้เลือด’ หรือตอนเจอความหักมุมชวนหงายหลังแบบหนังของทารันติโน เปรียบไปแล้วคงเหมือนการกินเบอร์ริโต้ที่อร่อยกลางๆ จบแล้วจำรสชาติไม่ได้ แต่ถ้าพ่อครัวมีเมนูใหม่มาเสนอก็คงไม่ปฏิเสธ

 

ละครเรื่องที่สองที่ผู้เขียนได้ดูมาคือ ‘เจ้าบ้าน’ The Host Story กำกับโดย ทัพอนันต์ ธนาดุลยวัฒน์ ซึ่งก็เป็นอีกครั้งที่ผู้เขียนไม่คุ้นชื่อผู้กำกับ ทว่าละครเรื่องนี้กลับเต็มไปด้วยนักแสดงรุ่นเก๋า/รุ่นกลางฝีมือดีมากมาย อาทิ จรรยา ธนาสว่างกุล, สายฟ้า ตันธนา, นวลปณต ณัฐ เขียนภักดี และจตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ

ละครนี้เรื่องแสดงที่ Buffalo bridge gallery ย่านสะพานควายซึ่งกลายเป็นหนึ่งในสถานที่แสดงหลักตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หลังจากไต่บันไดขึ้นไปห้าชั้นและเดินเข้าบริเวณการแสดง ผู้เขียนก็ต้องอึ้งกับฉากละครขนาดกว้างที่เต็มไปด้วยพร็อพมากมาย ทั้งโซฟา เตียง โต๊ะ ประตู และสารพัดของประกอบที่อัดแน่นไปทุกส่วนไม่ว่าจะตุ๊กตา โปสเตอร์ สติกเกอร์ หรือกระทั่งที่นั่งเองก็ยังมีเก้าอี้หลากหลายแบบให้เลือก

สิ่งที่เห็นในแรกพบนี้เป็นตัวเซ็ตอารมณ์ว่า The Host Story เป็นละครที่มีแนวทางตรงข้ามกับแนวคิดแบบมินิมอล อย่างตัวเรื่องเองก็มีถึงสามเส้นเรื่องด้วยกัน ได้แก่ ฟรีแลนซ์สาวกับแม่ที่ไม่ลงรอยกัน, ความสัมพันธ์เสียวซ่านของช่างภาพกับนางแบบสาว และนักวิทยาศาสตร์กับนักเล่าเรื่องหนุ่มที่ละครไม่ได้บอกที่มาที่ไปของพวกเขานัก

จุดเด่นของ The Host คือการที่ผู้กำกับเล่าเรื่องราวทั้งสามพาร์ทไปพร้อมกัน มีหลายฉากที่ตัวละครจากต่างพาร์ทปรากฏตัวพร้อมกัน แต่ก็เดินสวนไปมาแบบไร้ปฏิสัมพันธ์ราวกับอยู่คนละโลก เป็นเสน่ห์ของการการเบลอพื้นที่และเวลาของเนื้อเรื่องแต่ละตอนเข้าหากัน เนื่องจากสเปซของ Buffalo bridge gallery มีพื้นที่ให้ใช้งานได้เยอะทั้งระเบียงและบันไดขึ้นชั้นลอย พอตัวละครเดินเข้าออก/เปลี่ยนตำแหน่งไปมาหลายรอบ จากความรู้สึกตื่นตาตื่นใจก็เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นความหงุดหงิดใจ

ละครเรื่องนี้ไม่ได้รุ่มรวยแค่เรื่องการเล่นกับพื้นที่หรือของประกอบฉาก แต่ในแง่การแสดง มันมีส่วนผสมของหลาย genre อยู่ด้วยกัน มีทั้งความดราม่า ความหลอนสยอง และแทรกความตลกบ้าง (โดยเฉพาะมุกล้อ BNK48 ที่ผู้เขียนขำไม่หยุด) แต่วิธีการนำเสนอเช่นนี้กลับทำให้ละครมีลักษณะก้ำๆ กึ่งๆ ไปเสียหมด หรือในส่วนความสัมพันธ์ของตัวละครก็เป็นอะไรที่ไม่ต้องรสนิยมผู้เขียนนัก เรื่องของฟรีแลนซ์กับแม่ดูจะหนักมือความฟูมฟามไปสักหน่อย คู่ของช่างภาพกับนางแบบเป็นความอีโรติกที่ออกจะทื่อมะลื่อจนไม่ชวนพิสวาส ความสัมพันธ์ที่ผู้เขียนชอบที่สุดน่าจะเป็นคู่นักวิทยาศาสตร์ที่ลึกลับชวนค้นหา

‘ความเยอะ’ ของ The Host Story ยังกินความไปถึงเทคนิคการจัดไฟและดนตรีประกอบที่เมื่อผสมผสานกับองค์ประกอบทุกอย่างที่บรรยายมาในข้างต้นก็กลายเป็นความล้นเกินและพะรุงพะรังจนน่าเสียดาย ละครเรื่องนี้มีนักแสดงชั้นดีอยู่หลายคน แต่เทคนิคต่างๆ ที่ผู้กำกับเลือกใช้ดูจะทำให้ละครออกมาไม่กลมกล่อมนัก

อย่างไรก็ดี มีจุดหนึ่งใน The Host Story ที่ผู้เขียนชื่นชอบเป็นพิเศษ กล่าวคือการเบลอเรื่องพื้นที่ในข้างต้นยังสอดคล้องกับสถานะและอัตลักษณ์ของเหล่าตัวละคร แม้จะดูละครจบไปแล้วเราก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าพวกเขามีสัมพันธ์กันหรือไม่ อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้นคือคนไหนที่เป็นคนหรือคนไหนที่เป็นผี แต่ที่แน่ๆ ทุกคนดูไม่มีความสุขในสถานะของตัวเอง ซึ่งถ่ายทอดผ่านการที่ตัวละครวนเวียนติดอยู่ในบ้านทั้งเรื่อง เมื่อพวกเขาไม่มีความสุขแม้แต่ในบ้านของตัวเอง ความหมายของบ้านจึงถูกตั้งคำถามอย่างน่าครุ่นคิด

เช่นนั้นแล้ว The Host Story อาจเป็นละครที่มีความไม่ลงตัวหลายอย่าง แต่ก็มีอะไรที่ทำให้ผู้เขียนคิดถึงมันต่อไปหลายวันทีเดียว

Fact Box

  • Chicken Burrito แสดงถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 ณ The Extra เจริญกรุง 69 (BTS สะพานตากสิน) ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/203743483546872/
  • เจ้าบ้าน The Host Story แสดงถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 ณ Buffalo Bridge Gallery (BTS สะพานควาย) ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/105677856933555/
Tags: , , , , ,