-1-

ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีโอกาสได้ไปฟังเสวนาของอาจารย์แดง – ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ที่หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ การเสวนาที่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีลงนามร่วมกันพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นย่านแห่งการเดินเท้าระหว่างเทศบาลกับภาคเอกชน โดยหัวใจสำคัญคือการที่อาจารย์แดงยกข้อมูลมาประกอบข้อเสนอที่ว่าการออกแบบผังเมืองให้คนเดินเท้าได้ง่ายขึ้น จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของเมืองอย่างไร

ก่อนหน้าจะไปฟังอาจารย์แดง ผมมีโอกาสได้ฟังเสวนาเกี่ยวกับเมืองอีกหลายเวที และได้พบความเห็นที่สอดพ้องกันของหลายท่านที่มองว่าเชียงใหม่อยู่ในภาวะประชากรบวมล้น โดยเฉพาะกับจำนวนผู้คนที่ไม่สัมพันธ์กับสาธารณูปโภค —ใจกลางเมืองเต็มไปด้วยโรงแรมและเกสท์เฮ้าส์ ขณะที่คนท้องถิ่นย้ายไปอยู่บ้านจัดสรรนอกเมือง 

อีกปัญหาหนึ่งก็คือเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศที่ดันไม่มีวัฒนธรรมการใช้ระบบขนส่งมวลชน เมืองทั้งเมืองจึงแน่นขนัดไปด้วยรถยนต์ส่วนตัว หลายคนทราบดี การขับรถหลุดเข้ามาในถนนบางเส้นในเมือง (นิมมานเหมินท์ เป็นอาทิ) ในเวลาเริ่ม/เลิกงาน ไม่ต่างอะไรกับการที่รถของคุณคืบคลานไปบนถนนลาดพร้าวขณะก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า 

เมื่อเมืองเติบโตด้วยถนน ทางเท้าส่วนใหญ่จึงถูกลดบทบาทให้เป็นเพียงองค์ประกอบของทัศนียภาพ หักพังหรือมีหลุมบ่ออย่างไร เมื่อคนเมืองไม่เดิน ใครล่ะจะไปสนใจ นี่จึงเป็นเมืองที่แน่นไปด้วยรถรา หากกลับดูเหมือนไร้ผู้คน 

แต่นั่นล่ะ เมื่อย้อนกลับไปในเวทีเสวนาของอาจารย์แดงในวันนั้น น้อยคนจะคาดคิดว่าสถานการณ์การระบาดของโคโรน่าไวรัสจะเหมือนคลื่นสึนามิที่มากวาดทุกอย่างสิ้น หลายคนอยู่มาจวนสิ้นอายุ ยังไม่เคยเห็นเมืองเงียบได้มากขนาดนี้

-2-

วันเดียวกับที่นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวกับประชาชนภายหลังแถลงการณ์รับมือโควิด-19 ว่า “ประเทศไทยต้องชนะ” ผมมีโอกาสได้คุยกับพี่ธี – ธีรศักดิ์ รูปสุวรรณ 

หลายคนอาจคุ้นชื่อพี่ธีรศักดิ์จากการเป็นหนึ่งในแกนนำต่อต้านบ้านป่าแหว่ง (บ้านพักข้าราชการตุลาการที่สร้างด้วยการถางพื้นที่ป่าเชิงดอยสุเทพอย่างเห็นแก่ตัวและน่ารังเกียจ) ในฐานะที่เขาเป็นคนขับร่มบินและพบการก่อสร้างดังกล่าว จนจุดกระแสให้ภาคประชาสังคมออกมารวมตัวกันต่อต้านได้สำเร็จ 

วันนั้นผมไปสัมภาษณ์พี่ธีในฐานะที่เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการอาสาช่วยหน่วยงานรัฐเฝ้าระวังการเกิดไฟป่า เนื่องจากเขาและเพื่อนมักจะนำพารามอเตอร์ขึ้นบินเหนือน่านฟ้าชานเมืองเชียงใหม่ในทุกเช้าและเย็น บ่อยครั้งที่เขาเห็นไฟบนภูเขา และบางครั้งเขาก็เห็นใครบางคนกำลังจุด 

พี่ธีและเพื่อนจะใช้กล้องมือถือบันทึกไว้ ส่งภาพให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ และหลายครั้งที่ไฟลุกลามเข้าไปใหญ่ ก็ได้ทีมงานร่มบินถ่ายรูปเส้นทางที่ปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดับไฟได้สะดวก ตอนหลังพี่ธีชักชวนกลุ่มนักบินโดรนให้มาร่วมด้วย หน่วยงานรัฐจึงได้เทคโนโลยีที่ลงทุนโดยภาคประชาชนมาร่วมเป็นหูเป็นตาด้วยอีกแรง 

ใช่, ภาพที่เราเห็นดอยสุเทพลุกเป็นไฟที่เผยแพร่กันเป็นพันเป็นหมื่นแชร์ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็มาจากกล้องของทีมงานนี้เอง

อย่างไรก็ดี จำได้ว่าไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ดีหลังจากที่เราคุยกัน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ออกมาประกาศขอให้ทีมโดรนอาสาฯ งดแชร์ภาพภูเขาไฟไหม้ออกไปสู่สาธารณะ เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของจังหวัด เพื่อตอบรับการขอความร่วมมือ ในวันที่ 30 มีนาคม 2563 พี่ธีที่อาสาช่วยงานโดยไม่ได้รับอามิสสินจ้างจากใครมาเป็นปีๆ ก็ประกาศถอนตัวจากภารกิจครั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานราชการสบายใจ (อ้างอิง: https://www.matichon.co.th/region/news_2104708

-3-

วันสุดท้ายของเดือนมีนาคม ผมสวมหน้ากากอนามัย (และอย่างพึงระลึกถึงระยะห่างจากคู่สนทนา) ฝ่าหมอกควันในยามใกล้เที่ยงไปสนทนากับ ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ที่บ้านของอาจารย์ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเชิงดอยสุเทพ

อาจารย์มิ่งสรรพ์เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักวิจัยอาวุโส คอลัมนิสต์ และที่ปรึกษาให้หน่วยงานรัฐและเอกชนอีกหลาย วันนั้นผมไปคุยกับอาจารย์เรื่องที่อาจารย์เสนอให้ใช้นโยบายสาธารณะระดับประเทศแก้ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ 

เพราะเราต่างรู้กันว่าปัญหาหมอกควันสำคัญหาได้มาจากแค่การที่ชาวบ้านจุดไฟเพื่อเผาขยะหรือหาของป่า จนเกิดเลยเถิดอย่างไม่อาจควบคุมเพียงปัจจัยเดียว แต่มาจากวิถีการปลูกข้าวโพดและอ้อยเพื่อป้อนแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารรายใหญ่ของประเทศ เมื่อผลผลิตได้รับการเก็บเกี่ยว เกษตรกรก็จำต้องเผาพื้นที่หลังเก็บเกี่ยวเพื่อเริ่มการปลูกใหม่ หากไม่เผา เกษตรกรก็ต้องจ้างรถไถมาถางพื้นที่เป็นต้นทุนที่สูงขึ้น การเผาจึงเป็นต้นทุนที่ถูกและสะดวกที่สุด 

ผมขอสรุปข้อเสนอที่อาจารย์เล่าให้ฟังโดยคร่าวว่าเป็น ‘การที่ผู้บริโภคจ้างให้เกษตรกรไม่เผา’…

“แต่เดิมหลักการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราใช้กันแพร่หลายคือ ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter pays policy) แต่หลักการที่อาจารย์เสนอนี้คือผู้ได้รับผลประโยชน์จากการลดมลพิษเป็นผู้จ่าย (Beneficiary pays policy) เพราะอย่าลืมว่าเกษตรกรผู้ผลิตมีรายได้ที่น้อยกว่าผู้บริโภคอย่างเรา ถ้าเราใช้นโยบายให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวโพดหรืออ้อยจากไร่ที่ไม่มีการเผาในราคาที่สูงกว่าผลิตผลจากไร่ที่เผา และผู้บริโภคยอมจ่ายเงินซื้อผลิตผลในราคาที่สูงกว่าเพื่อให้เงินส่วนต่างตรงนี้เป็นค่าดำเนินการไม่ให้เกิดการเผาพื้นที่อันเป็นต้นเหตุของปัญหาหมอกควัน 

“การแก้ปัญหาตรงนี้จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐที่ทำหน้าที่ออกและควบคุมนโยบายสาธารณะ, เกษตรกรผู้ผลิต, กลุ่มทุนที่รับซื้อผลิตผลจากเกษตรกร และผู้บริโภคอย่างเราที่ต้องยอมซื้อผลิตผลในราคาที่สูงขึ้น” อาจารย์มิ่งสรรพ์ กล่าว

ทั้งนี้อาจารย์บอกว่าสิ่งที่ต้องเกิดพร้อมกันมาคือระบบที่สามารถตรวจสอบที่มาของสินค้าเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม, แรงจูงใจทางเศรษฐกิจให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรอย่างยั่งยืน รวมถึงตลาดที่มั่นคงมารองรับ 

“ส่วนไฟป่าที่เกิดแถวดอยสุเทพและดอยคำ ไม่ใช่การเผาไร่ข้าวโพดแน่นอน เราอาจใช้ภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลังมาดูกันว่าใครเป็นคนจุดไฟ หรือที่มีอาสาสมัครใช้โดรนคอยเฝ้าระวังก็สามารถตามตัวคนก่อไฟได้ ถ้าต้องการแก้ปัญหาหมอกควันกันจริงๆ ผู้บริโภคอาจต้องยอมเสียสละ สิ่งเหล่านี้ต้องทำควบคู่กันไป” อาจารย์มิ่งสรรพ์ ทิ้งท้าย

-4-

โคลิน เชสวูด เป็นนักข่าวอิสระจากสหรัฐอเมริกา มีแฟนเป็นคนเชียงใหม่ และเขาดันมาเชียงใหม่ในช่วงก่อนที่ไวรัสจะมาถึงประเทศไทย อยู่ได้ไม่นานประเทศก็ล็อคดาวน์ เขากลับประเทศตามกำหนดไม่ได้ จึงต้องสวมหน้ากากอนามัยไปเข้าแถวร่วมกับผู้คนจากสหประชาชาติเพื่อต่อวีซ่าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง นั่นคือช่วงเวลาที่เชียงใหม่เริ่มมีคนติดเชื้อแล้ว และรัฐบาลขอความร่วมมือให้ทุกคนอยู่บ้าน-หยุดเชื้อ-เพื่อชาติ 

แฟนโคลินเป็นเพื่อนผม เธอบอกว่าเธอไม่เข้าใจว่าในเมื่อทุกคนตระหนักในสถานการณ์เท่ากัน เหตุใดหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวจึงไม่ผ่อนผันวีซ่าออกไปโดยอัตโนมัติ ปล่อยให้ชาวต่างชาติมาเสี่ยงติดโรคต่อคิวดำเนินการเช่นนี้ ที่สำคัญคิวในวันนั้นก็ไม่สามารถรองรับผู้มาใช้บริการได้ครบ บางคนจำเป็นต้องมาทำเรื่องใหม่ในวันรุ่งขึ้น

เรื่องของโคลินยังทำให้ผมคิดถึงโครงการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในเว็บไซต์ ‘เราจะไม่ทิ้งกัน’ ที่ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบจะต้องทำเรื่องลงทะเบียนและ ‘รอลุ้น’ ว่ารัฐบาลจะเห็นว่าพวกเขาเข้าเกณฑ์ในการได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทหรือไม่

“ไม่เข้าใจว่าเรามีบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดไว้ทำไม ในเมื่อสุดท้ายเราต้องลงทะเบียนยืนยันตัวตนใหม่ทุกครั้งเพื่อขอรับสิทธิ์จากรัฐ” แฟนของโคลิน ผู้เป็นหนึ่งในผู้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้บ่นให้ผมฟัง

-5-

หลายคนรู้จักพี่ต้น – ศิรศักดิ์ ไชยเทศ ในฐานะนักเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิของคนข้ามเพศและสิทธิมนุษยชน กระนั้นอีกบทบาทหนึ่งของลูกหลานคนเวียดนามที่มาปักหลักในไทย เขาคือหนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจนวดไทยในเชียงใหม่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ปัจจุบันเขามีร้านนวดที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในร้านที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่อยู่ในย่านไนท์บาซาร์ 

อย่างไรก็ดีหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่ผมจะคุยกับพี่ต้น เขาเพิ่งปิดกิจการที่ร้านสาขาในย่านถนนท่าแพไปอย่างเสียมิได้ – ปิดด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจที่แย่อยู่ก่อนหน้า หากไม่กี่วันต่อมา รัฐบาลก็ขอความร่วมมือให้ร้านนวดทุกแห่งปิดทำการชั่วคราวด้วยซ้ำ จากความซบเซาของเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้วโควิด-19 ก็ทำให้ฐานที่มั่นสุดท้ายในย่านไนท์บาซาร์ของพี่ต้นต้องหยุดทำการไปอย่างน้อยหนึ่งเดือน

หนึ่งเดือนเป็นอย่างน้อย ที่มีความหมายเดียวกับที่พนักงานนวดกว่า 50 ชีวิตของพี่ต้นต้องหยุดงานโดยไม่มีรายได้ใดๆ 

“เราเห็นด้วยว่าจำต้องหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อยับยั้งการระบาดของโรค แต่ก็อดโกรธไม่ได้ที่รัฐก็รู้อยู่ตั้งนานแล้วว่ามีโรคระบาดซึ่งกำลังเข้ามาในไทย จนสุดท้ายก็ควบคุมไม่ได้ และก็เหมือนเพิ่งจะคิดได้ว่าต้องมีมาตรการทางเศรษฐกิจมารองรับ ภายหลังประกาศล็อคดาวน์สถานประกอบการไปสักพักแล้ว” พี่ต้น กล่าว

ที่ผ่านมาพี่ต้นควักกระเป๋าตัวเองจ่ายเงินเดือนให้พนักงานของเขา 50% ในช่วงที่ธุรกิจต้องหยุดดำเนินการ เขาบ่นเจ็บตัว แต่ก็พอทนรับไหว เพราะนั่นยังไม่หนักเท่าผู้ใช้แรงงานจริงๆ ที่ต้องพึ่งพารายได้แบบวันต่อวัน ในห้วงเวลาที่ไม่อาจประกอบอาชีพหารายได้ติดต่อกันหลายๆ วัน และอาจนานหลายเดือน

-6-

ในความหดหู่ เชียงใหม่ช่วงนี้ก็ไม่ได้แย่ไปเสียหมด เพราะตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์มาจนถึงทุกวันนี้ เราได้เห็นภาคประชาสังคมต่างระดมความช่วยเหลือด้วยวิถีทางที่แต่ละคนถนัด – เราได้เห็นการรวมตัวกันของ ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ ช่วยกันแก้ปัญหาหมอกควันในแง่มุมต่างๆ รวมถึงการเปิดรับบริจาคสิ่งของให้อาสาสมัครดับไฟป่า   

ได้เห็นเหล่าคนทำอาหารและผู้ประกอบการในย่านทิศใต้ของเมืองก่อตั้งกลุ่ม ‘สายใต้ออกรถ’ เปิดรับบริจาควัตถุดิบประกอบอาหารเพื่อทำข้าวกล่องมอบให้อาสาสมัครดับไฟป่า รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่รับมือกับวิกฤตโรคระบาด 

‘กองทุนป่าเขาลมหายใจเรา’ เปิดรับบริจาคเงินเพื่อนำไปสมทบทุนซื้ออุปกรณ์ดับเพลิงและสินค้าอุปโภคและบริโภคให้แก่อาสาสมัคร เช่นเดียวกับ ‘กลุ่มโดรนอาสา’ ที่แม้พี่ธีจะประกาศถอนตัวจากภารกิจเฝ้าระวังไฟป่าไปแล้ว หากสุดท้ายเขาก็นำทีมกลับมาช่วยงานต่อ ฯลฯ

ยังไม่นับกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้อยู่เชียงใหม่อีกไม่น้อย อาทิ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ที่โพสต์เฟซบุ๊คระดมเงินเพื่อนำไปสมทบทุนอาสาสมัครดับไฟป่าที่เชียงใหม่ได้สามแสนกว่าบาท กระนั้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จู่ๆ ก็มีบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรมาแจ้งวรรณสิงห์ให้เดินทางขึ้นมาเชียงใหม่ทันทีเพื่อมามอบเงินที่รวบรวมได้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ให้หน่วยงานรัฐนำไปดำเนินการเองต่อไป… [อ้างอิง: https://www.matichon.co.th/politics/news_2097899]   

ในบางช่วงเวลาที่ผมพบว่าเชียงใหม่ยังมีความหวังจากการลุกขึ้นมาช่วยเมืองของภาคประชาชนอย่างไม่รอการช่วยเหลือของภาครัฐ ข่าวจากวรรณสิงห์ก็ทำให้ผมพบว่าสิ่งที่น่าเศร้ากว่าบรรยากาศเงียบและมัวไปด้วยฝุ่นควันของเชียงใหม่ คือความพยายามรักษาหน้าของหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาเมืองโดยตรง

-7-

ผมไม่ค่อยมีโอกาสได้คุยกับข้าราชการระดับสูงหรือนักการเมืองเท่าไหร่ กระนั้นแทบทุกครั้งที่ได้พูดคุย หรือมีโอกาสไปร่วมงานอะไรบางอย่างที่มีการเรียนเชิญคนเหล่านี้มากล่าวเปิดงาน มักมีคำศัพท์ที่ได้ยินบ่อยๆ หลุดจากปากของพวกเขาตรงกันก็คือคำว่า ‘บูรณาการ’

“หน่วยงานต่างๆ ต้องทำงานอย่างบูรณาการร่วมกันอย่างนั้น…” 

“ภาคเอกชนกับรัฐต้องบูรณาการร่วมกันอย่างนี้…” 

“ชุมชนต้องมีแผนพัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการ…” 

บูรณาการ บูรณาการ และบูรณาการ…

ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำนี้ว่าเป็น การทำให้เป็นเนื้อเดียวกันโดยรวมหรือผสมผสานส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน หรือการเชื่อมหรือประสานสิ่งอื่นหรือหน่วยงานอื่น ส่วนภาษาอังกฤษแปลความคำนี้ได้ว่า ‘integration’  

นี่คือคำคุ้นหูที่ได้ยินจากภาครัฐจนผมคิดว่า ‘คำ’ คงกลมกลืนเข้ากับวิถีการทำงาน หรือกมลสันดานของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานรับใช้ประชาชนในทุกภาคส่วน 

แต่นั่นล่ะ, บางทีการบอกกล่าวซ้ำๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้กล่าวมีความเข้าใจและนำไปปฏิบัติจริง 

-8-

ป่าน-ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์ บรรณาธิการ themomentum.co แชทมาชวนให้เขียนถึงสถานการณ์ที่เชียงใหม่ในห้วงเวลาที่ผู้คนต้องสวมหน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อโควิด-19 พร้อมไปกับฝุ่น PM2.5 ที่กำลังปกคลุมเมือง

ผมรับปากป่านว่าจะเขียนให้ โดยขอเวลาสัก 2-3 วัน

กระนั้นก็ดี ล่วงผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าว หมอกควันที่ปกคลุมทุกทิศทุกทาง และความเงียบของถนนหนทางที่ซึ่งทุกคนจำต้องเก็บตัวอยู่บ้านเพราะโรคระบาด ผมก็ยังไม่อาจส่งต้นฉบับชิ้นนี้ได้

ความขี้เกียจและไร้วินัยแบบที่ผู้สถาปนาตัวเองเป็น ‘ไลฟ์โค้ช’ บางคนก่นด่าชาวบ้านก็อาจใช่ แต่เอาเข้าจริง หรืออาจเป็นเพราะความหมองหม่นของบ้านเมือง ระบบราชการที่อุ้ยอ้ายและล้าหลัง หรือเพราะการขาดไร้ซึ่งวิสัยทัศน์ของผู้บังคับบัญชา ฯลฯ

ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเพราะอะไร รู้แค่ว่ามันยุ่งเหยิงเสียจน ไม่รู้จะเริ่มเขียนถึงสถานการณ์ที่ทำให้เราต้องสวมหน้ากากอนามัยในชีวิตประจำวันอย่างบูรณาการเช่นนี้ จากตรงไหน 

Tags: , ,