ในช่วงเวลาที่ผู้คนทั่วประเทศกำลังหวาดกลัวกับวิกฤตโควิด-19 เชียงใหม่กลับไม่ได้เผชิญหน้าแค่เพียงสถานการณ์โรคระบาด หากยังรวมถึงปัญหาฝุ่นควันจากการเผาไหม้ผืนป่าที่คล้ายว่าจะรุนแรงกว่าทุกๆ ปี
ท่ามกลางประชาชนชาวเชียงใหม่ได้รับความเดือดร้อนจากสองวิกฤตการณ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่คือคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เพียงแต่ชีวิตจะดำเนินไปข้างๆ ดอยสุเทพฯ ที่ลุกไหม้ หากพวกเขายังต้องรับมือกับความไม่แน่นอนของรูปแบบการศึกษาที่เปลี่ยนไปภายใต้การรับมือกับโรคระบาด
พีรณัฐ พฤกษารัตน์, รสริน คุณชม, ทักษิณ บำรุงไทย, ธีร์ธวัช คำวังพฤกษ์ และชัยวิทย์ เทียมทองอ่อน คือกลุ่มนักศึกษาปริญญาโท และปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ลุกขึ้นยื่นข้อเสนอกับมหาวิทยาลัยว่า ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 และปัญหาฝุ่นควันที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ มหาวิทยาลัยควรมีมาตรในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับนักศึกษา โดยข้อเสนอหลักของพวกเขาคือ เสนอให้มหาวิทยาลัยลดค่าธรรมเนียมการศึกษาลง 30 เปอร์เซ็นต์ในภาคการศึกษาหน้า เพราะไม่เพียงจะช่วยลดภาระทางการเงินของนักศึกษาอย่างถ้วนหน้า หากยังรวมถึงการช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่ย่อมจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 “เราต้องทำให้การศึกษาไม่ใช่อุปสรรคของชีวิต” พีรณัฐกล่าวเสียงหนักแน่นระหว่างการสนทนา
ในวันที่ฝุ่นควันยังคงปกคลุมเชียงใหม่ ในวันที่โควิด-19 ยังคงเป็นเงื่อนไขที่หยุดชะงักทุกๆ อย่าง นี่คือเรื่องราว คือความคิด คือพลังของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลุ่มหนึ่ง
นี่คือเสียงของพวกเขา
ช่วยเล่าถึงช่วงเวลาก่อนหน้าที่ฝุ่นควันจะกลายเป็นวิกฤตหน่อยได้ไหม
รสริน : ช่วงที่เราเข้ามหา’ลัย ปี 52 ปัญหาฝุ่นควันไม่ได้หนักเท่าตอนนี้ ยังใช้ชีวิตปกติ ไม่มีความกังวลเรื่องหมอกควันเลย จนพอปี 3 – 4 ปัญหาหมอกควันเริ่มมา ไม่ได้หนักหนา เราเริ่มมองเห็นฝุ่นควัน เกิดการเผาป่า แต่ยังไม่หนักหนาถึงขั้นมองไม่เห็นดอยสุเทพ เมื่อก่อนปัญหาฝุ่นควันจะเกิดขึ้นช่วงมีนาคม – เมษายน ซึ่งถือว่าอยู่ในช่วงปิดเทอม
ทักษิณ : เราอยู่เชียงใหม่ตลอด ถึงแม้จะไม่ได้เรียนซัมเมอร์แต่ปิดเทอมก็ยังอยู่ที่มหา’ลัย ตอนนั้นเราไม่ได้รับผลกระทบจากสุขภาพ ไม่ได้รู้สึกถึงผลกระทบขนาดว่าต้องพกแมสก์ ถึงเราเป็นภูมิแพ้แต่ก็ไม่ได้เซนซิทีฟกับอากาศที่แย่ลง ช่วงนั้นมันก็ไม่ได้แย่เท่านี้ แต่พอตอนนี้ถ้าเราไม่ได้พกแมสก์ มันเห็นชัดเลยว่า น้ำหูน้ำตาไหล ไอ ตอนเช้าก็มีเลือดกำเดา
แล้วเริ่มรู้สึกว่า ฝุ่นควันมีผลกระทบต่อชีวิตเมื่อไหร่
ชัยวิทย์ : ผมเข้าเรียนที่นี่ช่วงเดือนกรกฎาคม เป็นฤดูฝนพอดีเลยไม่ค่อยเห็นฝุ่นควันเท่าไหร่ แต่พอถึงเดือนมีนาคมแล้วเริ่มปรากฏฝุ่นควัน ผมก็ถามเพื่อนว่า เกิดอะไรขึ้น ปกติเชียงใหม่เป็นแบบนี้เหรอ เขาก็บอกว่า ปกติไม่เป็นขนาดนี้นะ ช่วงสองปีที่ผ่านมาเลยเริ่มมีการใส่แมสก์มากขึ้น มีการซื้อเครื่องฟอกอากาศมาวางไว้ในห้อง ออกไปข้างนอกน้อยลง สั่งอาหารผ่านแอปฯ มากขึ้น ก่อนที่ผมจะเลือกมาเรียนเชียงใหม่ ผมคิดว่าที่นี่คงเป็นเมืองที่อากาศดี ซึ่งช่วงแรกๆ ที่เปิดเรียนมันก็อากาศดีจริงๆ นะ แต่พอเข้าหน้าร้อนปุ๊บก็อย่างที่เห็น ฝุ่นมาเต็มเลยครับ มันแย่กว่าที่คิดมากๆ เพราะสมัยที่อยู่ภาคกลาง ผมไม่เคยได้ข่าวอะไรพวกนี้เลย ผมไม่รู้เรื่องการเผาป่าเลยด้วยซ้ำ
ทักษิณ : ที่เปลี่ยนจริงๆ คงเป็นช่วง 2 – 3 ปีหลังมานี้ เริ่มมีตัวเลขที่ชี้วัดชัดเจนว่า คุณภาพอากาศเป็นสีแดง สีม่วง เราก็ต้องเริ่มดูแลตัวเองแล้ว แต่ถ้ารู้สึกว่า ปัญหาฝุ่นควันเป็นข่าวจริงๆ คงเป็นเพราะผลกระทบที่เกิดกับกรุงเทพฯ เวลาอะไรเกิดที่นั่นก็มักจะเสียงดังกว่าที่อื่น มันทำให้เราคิดว่า อ้าว เชียงใหม่ก็เกิดมานานแล้วนี่หว่า เราอยู่กับสิ่งนี้มานาน แต่พอเกิดที่กรุงเทพฯ ปุ๊บ เรื่องนี้มันเลยเห็นชัดขึ้น PM2.5 เลยกลายเป็นเรื่องดังขึ้นมาในหมู่คนไทย หลังจากนั้นคนเชียงใหม่จึงเริ่มเห็นว่า ฝุ่นควันเป็นเรื่องอันตรายนะ เราจะต้องดูแลตัวเองมากขึ้น ปกติเราจะไม่ค่อยเงยหน้ามองดอยสุเทพฯ แต่พอมันหายไปจริงๆ พอวันไหนที่มองไม่เห็นดอยสุเทพฯ เลยเป็นสัญญาณว่า เราต้องพกแมสก์แล้ว
ธีร์ธวัช : ผมเป็นคนเชียงใหม่อยู่แล้ว มันก็เหมือนกับที่พี่ๆ เขาบอกว่า ปัญหาฝุ่นควันเพิ่งมาแย่จริงๆ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เมื่อก่อนเราสามารถใช้ชีวิตปกติโดยไม่ต้องพึ่งแมสก์ แต่พอปัญหาฝุ่นควันหนักขึ้น มันเริ่มรู้สึกว่า ไม่กล้าหายใจได้เต็มปอด มันเป็นความรู้สึกน้อยใจด้วยว่า ปัญหาฝุ่นควันที่เชียงใหม่มันเกิดขึ้นทุกปี ทำไมรัฐไม่ตระหนัก หรือคิดจะช่วยเหลือเลย พอไปลงที่กรุงเทพฯ ทุกคนกลับแห่ระดมจัดการ แต่ทำไมเชียงใหม่ที่เจอมาทุกปีกลับไม่เคยได้รับการแก้ปัญหา มันน้อยใจนะ เพราะภาษีเราก็จ่ายเหมือนกัน
พีรณัฐ : ฝุ่นควันส่งผลกระทบให้การใช้ชีวิตเรายากขึ้น หนึ่งก็คือเรื่องค่าใช้จ่าย เราต้องเสียเงินหลายร้อยถึงหลายพันไปกับอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น ซึ่งหน้ากากดีๆ ก็มีราคาสูงอีก มันเป็นค่าใช้จ่ายที่เราคิดว่า เราไม่ควรจะต้องใช้เงินตัวเองไปเสียกับอุปกรณ์พวกนี้ แน่นอนว่ามันจำเป็น แต่เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ผู้ที่มีอำนาจในการจัดการ ทำไมเขาไม่จัดการอะไร ทำไมถึงปล่อยให้เราต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้
ต่อกรณีฝุ่นควัน นักศึกษาได้ดำเนินการอะไรในการเรียกร้องจากมหาวิทยาลัยบ้างไหม
ทักษิณ : ถ้าที่เห็นชัดๆ น่าจะเป็นปีที่แล้วที่เริ่มมีข้อเรียกร้องให้มหา’ลัยช่วงสนับสนุนหน้ากาก ซึ่งมหา’ลัยก็แจกอย่างจริงจังนะ แม้ว่าจะแจกแค่คนละอัน แต่ก็ถือเป็นมาตรการเบื้องต้นที่มหาลัยก็เริ่มจะมองเห็นความสำคัญ มันก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้บ้าง เพียงแต่หน้ากากหนึ่งชิ้นก็มีอายุการใช้งานของมัน สัปดาห์หนึ่งก็เต็มที่แล้ว
รสริน : มันจะมีเครื่องฟอกอากาศด้วย ก็แล้วแต่คณะว่าจะสั่งให้นักศึกษาหรือเปล่า แต่เท่าที่เห็นก็ยังมีไม่ทั่วถึงทั้งมหา’ลัยนะ
ทักษิณ : เราคลุกคลีกับเจ้าหน้าที่มหาลัยอยู่บ้าง เลยจะเห็นว่า ทุกห้องของเจ้าหน้าที่จะมีเครื่องฟอกอากาศนะ แต่พอเป็นห้องเรียนกลับไม่ได้มีเครื่องทุกห้อง
พีรณัฐ : สิ่งที่เราตกใจที่สุดคือ เรารู้สึกว่า ทุกบ้านในเชียงใหม่ต้องมีเครื่องฟอกอากาศ คุณต้องมีเงินถึงจะมีโอกาสได้หายใจอากาศที่บริสุทธิ์ ทุกวันนี้ เหมือนว่าเราต้องกอดเครื่องฟอกอากาศแทนหมอนข้าง
รสริน : สถานการณ์ปีนี้หนักมากๆ นะ เพราะได้กลิ่นควันลอยเข้ามาในห้องเลย
มองว่ามันส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพทางการศึกษาไหม
พีรณัฐ : สำหรับเรา มันส่งผลต่อการเรียนแน่ๆ ยิ่งพอเราเป็นภูมิแพ้อยู่ด้วย เวลาที่มีฝุ่นพิษ เราก็จะรู้เพราะร่างกายบอก เริ่มจากอาการคันตามผิวหนัง และเลือดออกทางจมูก เราไปหาหมอบ่อยมาก ซึ่งหมอเขาก็บอกว่า ปัญหามาจากฝุ่นนี่แหละ มันเลยส่งผลต่อการเรียนในแง่ที่ว่า เราต้องเสียเวลาไปหาหมอ แล้วยาที่หมอจ่ายให้พอกินเข้าไปก็ง่วงมากๆ
เวลากินยาแต่ละครั้งเราจะคิดนะว่า ทำไมเราต้องรับผิดชอบทุกอย่างเลยวะ ทั้งค่ารักษาพยาบาล เวลาในการทำงานก็หายไป เราพึ่งอะไรอย่างอื่นไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่รัฐควรจะมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบชีวิตพลเมืองไม่ใช่เหรอ แต่ทำไมเขาไม่ดูแลเราให้ดีกว่านี้ ทำไมเราต้องจัดการเองทุกอย่างเลย ไปหาหมอก็ต้องจ่ายเงินเอง หน้ากากอนามัยก็ต้องซื้อเอง
รสริน : อีกประเด็นคือ ในเรื่องการบริจาค คือถ้าไม่มีจริงๆ เราก็เห็นด้วยกับการบริจาคที่ชาวบ้านและประชาชนจะมาช่วยนะ แต่ถ้าจะให้เราบริจาคตลอดไปแบบนี้ แล้วเราจะมีรัฐไปทำไม แล้วเราจะเสียภาษีให้รัฐไปทำไม ถ้าเมื่อเกิดวิกฤตอะไรเราก็ต้องบริจาคอยู่เรื่อยๆ ภาษีที่จ่ายไปคืออะไร ทำไมต้องจ่ายแล้วจ่ายอีก แค่เงินจะกินยังไม่มี เรายังต้องมาแสดงน้ำใจด้วยการบริจาคอีก ทำยังไงส่วนกลางถึงจะหันมาสนใจจังหวัดอื่นบ้าง
แล้วกับเรื่องโควิด-19 ล่ะ แต่ละคนได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง
ธีร์ธวัช : ผมได้รับผลกระทบจากโควิดเต็มๆ เพราะบริษัทที่ผมทำงานพิเศษอยู่เขาเริ่มขาดทุนตั้งแต่เดือนมกราคมที่จีนปิดประเทศ บริษัทก็ยื้อตัวเองมาเรื่อยๆ จนถึงเดือนมีนาคม บริษัทขาดทุนติดลบจนเขาสั่งหยุดงานไปเลย โดยที่ไม่มีอะไรจ่ายชดเชยให้พนักงาน ทุกคนโดนลอยแพ บางคนที่มีเงินประกันสังคมก็ยังพอได้เงินเยียวพอ แต่ในส่วนของผมที่เป็นนักศึกษา เราไม่ได้รับแม้กระทั่งประกันสังคม เงินรายเดือนก็ไม่ได้ หนำซ้ำยังมีรายจ่ายเข้ามาเรื่อยๆ ผมไม่ได้กลัวโรคนะ แต่กลัวจะอดตายมากกว่า ปีก่อนทุกอย่างยังดำเนินไปตามปกติ เพราะฝุ่นก็คล้ายว่าเราจะชินไปแล้ว แต่พอปีนี้มีโควิด ทุกอย่างต้องหยุดหมดเลย เชียงใหม่กลายเป็นเมืองร้าง เกิดมายี่สิบปีเราไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้
ทักษิณ : เราได้ไปลงพื้นที่ในเมืองแล้วเห็นชัดเลยว่า คนในเมืองเริ่มไม่มีกินแล้ว ช่วงเดือนกุมภาพันธ์เขายังได้ทำงาน ส่วนมีนาคมก็ใช้เงินของเดือนก่อนไป แต่พอเข้าเดือนเมษายนเงินมันเริ่มหมด ทรัพยากรมันเริ่มหมด ตลาดนัดปิดหมดเลย แม่ค้ารายย่อยก็ไม่สามารถออกมาขายของได้ คนกลัวกับโรคนี้จนไม่กล้าออกไปไหน อย่างวันก่อนเราไปรับข้าวสารจากบนดอย ซึ่งตอนนี้คนบนดอยเขาพยายามรวบรวมข้าวสารอาหารแห้งลงมาให้คนพื้นราบ ซึ่งเราไม่เคยเห็นภาพนี้เลย เพราะโดยปกติต้องเป็นคนพื้นราบที่เอาของไปให้คนบนดอย
บางคนบอกเราว่า ตอนนี้ต่อให้มีเงินก็ซื้ออะไรไม่ได้ เพราะไม่มีใครเอาของออกมาขาย มันเลยเริ่มเห็นชัดว่า ถ้าวิกฤตนี้ยังยาวไปจนถึงสิ้นปี แล้วอาหารจะมาจากไหน เพราะคนก็ไม่ทำขาย หรือวัตถุดิบต่างๆ เช่น ผักที่เคยขายได้ แต่พอมาตอนนี้กลับขายไม่ได้ ไม่มีตลาดให้ขาย เขาก็ต้องลดจำนวนการผลิตลง อนาคตมันอาจแย่ลงไปกว่านี้
พีรณัฐ : เราคิดว่า ปัญหาฝุ่นควันกับไวรัสมีความเกี่ยวข้องกัน เพราะเมื่อมีไวรัสระบาด มันก็ต้อง social distancing เรามานึกถึงตัวเองว่า เราก็อยากอยู่บ้านนะ แต่จะอยู่ยังไงล่ะ ร้อนก็ร้อน แล้วไม่มีเครื่องกรองอากาศอีก ตายห่าพอดี เราก็เลยต้องไปอยู่ในสถานที่ที่มีเครื่องกรองอากาศ และจะเปิดให้เราเข้าไปอยู่ได้ เช่น ในมหา’ลัย แต่ปัญหาคือ ห้องต่างๆ ในมหา’ลัยก็ปิดอีก ต่อให้เราอยู่ในห้องพัก ถึงเราจะไม่ติดโควิดก็จริง แต่เรากลับจะตายเพราะฝุ่นควัน
รสริน : พอเกิดโรคนี้ขึ้น เราเลยยิ่งต้องระมัดระวังค่าใช้จ่ายขึ้นมาก เพราะมันไม่รู้อนาคตว่าจะเป็นยังไง ก็ต้องเก็บเงินไปก่อน ทำงานก็ไม่ได้อีก ปกติเราเป็นนักศึกษาก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่พอมีโควิดปุ๊บ อ้าว แล้วเงินจะทำยังไง ต้องมาคิดถึงแผนการใช้เงินระยะยาว
พีรณัฐ : ถ้าเกิดสภาวะนี้จะอยู่ต่อไปอีกนาน ยังไม่มีนโยบายรัฐที่จะช่วยเหลือเรา และสุดท้ายมันต้องพึ่งตัวเอง เราคิดว่า คนจะยิ่งเป็นหนี้กันมากขึ้น
แล้วในแง่ของการศึกษาบ้างล่ะ เรามองเห็นผลกระทบอะไรจากวิกฤติโควิดบ้าง
ชัยวิทย์ : มหา’ลัยต้องปรับรูปแบบการเรียนเป็นออนไลน์มากขึ้น แต่มันก็ทำให้เกิดประเด็นหลายอย่าง เช่น ถ้าเกิดมหา’ลัยปรับเป็นรูปแบบออนไลน์ แล้วปีการศึกษาหน้าที่น้องๆ รุ่นใหม่จะเข้ามา พวกเขาจะต้องทำยังไง ต้องเรียนออนไลน์ไปจนถึงเมื่อไหร่ ซึ่งมหา’ลัยก็ยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ รวมถึงปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการเรียนของน้องๆ รุ่นต่อไป
พวกคุณรู้สึกอย่างไรต่อการเป็นนักศึกษารุ่นแรกที่ต้องมาพบเจอกับการเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์ มันมีอุปสรรคอะไรไหม
ชัยวิทย์ : เป็นเรื่องอุปกรณ์ที่ขาดแคลน เพราะนักศึกษาแต่ละคนก็ไม่ได้มีความพร้อมในอุปกรณ์ที่เท่าเทียมกัน อย่างการเรียนผ่านซูมก็ต้องมีอินเตอร์เน็ตที่เร็วพอสมควร มีอุปกรณ์ที่สามารถใช้โปรแกรมซูมได้ แต่ถ้าอุปกรณ์ของนักศึกษาเขาไม่พร้อมล่ะ จะทำยังไง
ธีร์ธวัช : อย่างอาจารย์บางคนเขาก็ต้องเร่งสอนให้เสร็จ แล้วตัดจบเลย ออกข้อสอบเทคโฮม แล้วกำหนดวันเวลาส่ง ผมยังกังวลในแง่ที่ว่า ถ้าเราเรียนออนไลน์แล้วประสิทธิภาพมันไม่เต็มที่ เราไม่ได้ติดต่อกับอาจารย์โดยตรง กลัวในเรื่องของเกรดที่อาจลดลงไป ผมเลยอยากให้มหา’ลัยปรับเปลี่ยนเป็นแค่ผ่าน หรือไม่ผ่านมากกว่าการมาให้เกรด A B C เพราะนั่นจะไม่แฟร์กับนักศึกษาบางคน ที่เขาอาจไม่มีอุปกรณ์ที่เพียบพร้อม มันเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ
ทักษิณ : ค่าใช้จ่ายของนักศึกษามันเพิ่มขึ้น แต่มหา’ลัยก็ยังไม่มีมาตรการอะไรจะเยียวยา ยกเว้นการจัดตั้งกองทุนฯ ซึ่งเราก็ไม่รู้อีกว่า กองทุนฯ นี้นักศึกษาจะได้รับทุกคนมั้ย
รสริน : ทุกคนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเงินจากปกติ แต่รายได้กลับลดลงเพราะผู้ปกครองก็ได้รับผลกระทบ เราก็ทำงานพิเศษช่วยตัวเองไม่ได้อีกเพราะทุกอย่างหยุดไปหมด
พีรณัฐ : เราคิดว่า ความคิดเห็นของทุกๆ คนล้วนเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายหมดเลย เมื่อทุกๆ อย่างของสภาวะแบบนี้คือค่าใช้จ่าย ทำไมมหา’ลัยถึงไม่ลดเงินค่าเทอมให้เราล่ะ เรื่องนี้จริงๆ ไม่ต้องให้นักศึกษาเรียกร้องเลยด้วยซ้ำ เพราะมหา’ลัยเมื่อเห็นว่า สถานการณ์เป็นแบบนี้ คุณควรจะประกาศลดค่าเทอมให้นักศึกษาเลย
ทีแรกเราคิดไปไกลถึงขนาดว่า ไม่ต้องให้นักศึกษาจ่ายค่าเทอมเลยด้วยซ้ำ เพราะเราคิดว่า การจะเข้าถึงการศึกษาได้ ทำไมต้องมีค่าใช้จ่ายด้วย แต่เราก็เข้าใจว่า เพราะอยู่ในโลกแบบนี้ที่ทุกอย่างต้องใช้เงิน เพราะฉะนั้นแม้ว่าคุณจะยังเก็บค่าเทอมเราอยู่ แต่คุณก็ควรลดค่าธรรมเนียมให้เราบ้าง ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่แบบนี้ คุณจะยังให้เราจ่ายไปถึงไหน แค่จะใช้ชีวิตยังลำบากพอแล้ว
อะไรทำให้พวกคุณคิดว่า ข้อเสนอให้มหาวิทยาลัยลดค่าเทอมจึงสมเหตุสมผล
พีรณัฐ : หนึ่งคือ เรามองว่า โดยพื้นฐานแล้ว ทุกๆ คนควรจะเข้าถึงระบบการศึกษาได้ โดยไม่ควรมีเงื่อนไขใดๆ มาเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา สองคือ วิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้เป็นกรณีพิเศษ เราไม่สามารถควบคุมได้ ฉะนั้นมหา’ลัยซึ่งมีงบประมาณจำนวนมากจึงควรรับผิดชอบชีวิตของนักศึกษาโดยการลดค่าเทอมของเราบ้าง อีกประเด็นคือ มหา’ลัยอาจอ้างว่า ค่าเทอมคือค่าใช้จ่ายหลายๆ แต่เราอยู่ในช่วงเวลาที่นักศึกษาในฐานะหนึ่งในผู้บริโภคกลับไม่ได้เข้าถึงบริการต่างๆ ของมหา’ลัย เราไม่ได้เข้าไปใช้ไฟฟ้า หรือน้ำของมหา’ลัย ทุกคนอยู่บ้านของตัวเอง เราดูแลตัวเองมากพอแล้ว คุณควรจะช่วยเหลือเราบ้าง เราต้องทำให้การศึกษาไม่ใช่อุปสรรคของชีวิต
รสริน : มหา’ลัยควรจะมีมาตรการที่ช่วยแบ่งเบาภาระของนักศึกษาให้มากที่สุด ซึ่งการลดค่าเทอมจะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองที่หนักหนาอยู่แล้วเพราะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
พีรณัฐ : ข้อเสนอหลักๆ ของเราคือลดค่าเทอมของเทอมหน้าลง 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะเรามองว่า การจะลดค่าเทอมของเทอมนี้ที่จ่ายไปแล้วมันอาจคืนยาก แล้วนี่ก็ใกล้เวลาที่เราจะต้องจ่ายค่าเทอมสำหรับเทอมหน้าแล้วด้วย
รสริน : ซึ่งเทอมหน้าก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่มากด้วยว่าเราจะต้องเรียนออนไลน์ต่อไป
ทักษิณ : เรามองว่า 30 เปอร์เซ็นต์นี้คือส่วนที่เราไม่ได้ใช้แน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟของมหา’ลัย หรือค่ากิจกรรมนักศึกษาที่จะไม่เกิดขึ้น
รสริน : มันเป็นสิ่งที่มหา’ลัยทำได้แน่ๆ แต่อยู่ที่ว่า ผู้บริหารจะเห็นใจนักศึกษาหรือเปล่า ถ้าเราไม่เสนอเรื่องไป ทุกอย่างมันก็จะเงียบ แล้วมันก็จะไม่เกิดอะไรขึ้น
เคยรู้สึกสิ้นหวังที่เกิดเป็นนักศึกษาในยุคนี้ไหม
พีรณัฐ : เราไม่สิ้นหวังนะ เราคิดว่า การเป็นนักศึกษามีสถานะพิเศษบางอย่าง คือมีเวลามากพอในการจะไปคิดในสิ่งที่คนอื่นๆ เขาอาจไม่มีเวลาพอที่จะคิด แต่นักศึกษากลับคล้ายจะมีอภิสิทธิ์ต่อการจะคิดถึงเรื่องของคนอื่นบ้าง เราคิดว่า วิกฤตการณ์นี้มันทำให้มองเห็นว่า ชีวิตที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ ยังไม่ใช่ชีวิตที่ดีพอ มันสามารถดีกว่านี้ได้ เราไม่ปฏิเสธนะว่า ส่วนหนึ่งของโควิด และไฟป่าเป็นปัญหาทางธรรมชาติ แต่เราคิดว่า มันก็เป็นปัญหาที่สามารถจะจัดการได้
รสริน : คำถามนี้จะไม่เกิดกับเราเลยเพราะสำหรับเรา ยุคนี้ไม่มีหวังอยู่แล้ว แต่สิ่งที่บังคับให้เรายังมีหวัง เพราะเรายังมีชีวิตอยู่ เราต้องใช้ชีวิตดำเนินต่อไป เราต้องสู้ เราต้องมีชีวิตต่อไปให้ได้ แค่นี้เลยจริงๆ
ทักษิณ : ช่วงนี้ทำให้เรามองไม่เห็นอนาคตว่าจะดำเนินต่อไปยังไง เพราะสิ่งที่คิดว่าจะพึ่งได้ เช่น รัฐ หรือมหา’ลัย ก็ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนเลยว่า เราจะสามารถหายใจได้เต็มปอดเมื่อไหร่ มันมองไม่เห็นเลย เหมือนตอนนี้ที่มองไม่เห็นดอยสุเทพฯ รู้ว่ามีอยู่แหละ แต่เรามองไม่เห็น
Tags: ไฟป่าเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่, โควิด-19