ในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้ เชลซี แมนนิ่ง อดีตพลทหารในกองทัพบกสหรัฐฯ และผู้เผยแพร่เอกสารลับของรัฐบาลสหรัฐฯ ไปให้วิกิลีกส์ มีกำหนดจะพูดในที่สาธารณะหลายเวทีในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ทางการนิวซีแลนด์อนุญาตให้แมนนิ่งยื่นขอวีซ่าได้ ส่วนรัฐบาลออสเตรเลียยังอยู่ระหว่างการพิจารณา หลังจากตอนแรกตัดสินใจว่าจะไม่ให้เธอเข้าประเทศ
เชลซี แมนนิ่ง ถูกตัดสินจำคุก 35 ปี ตั้งแต่ปี 2013 แต่เพิ่งได้รับการลดโทษจากประธานาธิบดี บารัค โอบามา มาเมื่อพฤษภาคม 2017
แมนนิ่งต้องใช้ช่องทางพิเศษในการขอวีซ่าเพื่อเข้าประเทศนิวซีแลนด์ อันเป็นส่วนหนึ่งของการเดินสายพูดที่จะเริ่มขึ้นในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ เธอจะขึ้นพูดในเวทีต่างๆ ที่เมืองโอคแลนด์และเวลลิงตันในเดือนหน้า
ด้านออสเตรเลียออกประกาศแจ้งให้ บริษัท Think Inc. ผู้จัดการเดินทางของแมนนิ่งรับทราบแล้วว่า ออสเตรเลียจะปฏิเสธไม่ให้เธอเข้าประเทศ
ซูซี จามิล (Suzi Jamil) ผู้อำนวยการบริษัทให้สัมภาษณ์กับเดอะการ์เดียน ออสเตรเลียว่า หากแมนนิ่งไม่ได้วีซ่าภายในเช้าวันศุกร์ เธอจะไม่สามารถมาปรากฏตัวได้ที่งานเทศกาล Antidote ในซิดนีย์ในวันอาทิตย์ที่ 2 ก.ย. นี้ เท่าที่รู้ตอนนี้ก็คือ กำลังอยู่ในกระบวนการทำงาน “พวกเขาจะแจ้งให้เรารู้ แต่ก็อาจจะไม่ทันในเวทีที่ซิดนีย์”
ในนิวซีแลนด์ แมนนิ่งมีคุณสมบัติเข้าข่ายว่าเป็นผู้ที่ไม่สามารถเข้าประเทศได้ ภายใต้กฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติ (good character) ของผู้เข้าประเทศ นิวซีแลนด์สามารถปฏิเสธไม่ให้ผู้ที่ถูกจำคุก 5 ปีขึ้นไป หรือคนที่เคยต้องโทษจำคุก 12 เดือนขึ้นไปในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้เข้าประเทศ ออสเตรเลียก็มีกฎหมายนี้เช่นกัน แต่ให้อำนาจแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองเป็นผู้ตัดสินใจ
แถลงการณ์ของหน่วยงานด้านการเข้าเมือง นิวซีแลนด์ระบุว่า แม้แมนนิ่งถูกลงโทษด้วยข้อหาร้ายแรงและต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 35 ปี แต่เธอก็ได้รับการลดโทษจากประธานาธิบดีโอบามาในปี 2017
“จากการพิจารณา เห็นว่าแมนนิ่งไม่ได้กลับมาทำผิดอีกตั้งแต่ถูกปล่อยตัว และดูเหมือนว่าความเป็นไปได้ที่จะกระทำความผิดในนิวซีแลนด์ก็น้อย ต้องบอกด้วยว่าเธอเดินทางไปหลายประเทศแล้วเพื่อพูดในงานแบบเดียวกัน และสอดคล้องกับเงื่อนไขของการออกวีซ่า” จึงไม่มีเหตุผลใดที่ทำให้คิดว่าแมนนิ่งจะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการได้รับวีซ่าจากนิวซีแลนด์
อย่างไรก็ตาม วุฒิสมาชิกฝ่ายค้านคนหนึ่งบอกว่า แมนนิ่งทรยศต่อประเทศของตัวเอง
เจซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์กล่าวรับรองการตัดสินใจนี้ว่า ความคิดเห็นของแมนนิ่งน่าจะเป็นประโยชน์และประชาชนควรจะได้ฟังสิ่งที่เธอพูด
ส่วนออสเตรเลีย สมาชิกพรรคกรีนและกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนพยายามล็อบบี้ให้รัฐบาลยอมให้แมนนิ่งเข้าประเทศ โดยให้เหตุผลว่านี่เป็นเสรีภาพในการพูด ขณะที่กระทรวงมหาดไทยไม่ได้ให้ความเห็นใดๆ ต่อเรื่องนี้
ที่มา:
- https://www.theguardian.com/us-news/2018/aug/31/chelsea-manning-cleared-new-zealand-speaking-tour-visa
- https://www.voanews.com/a/new-zealand-allows-chelsea-manning-entry-for-speaking-tour/4551958.html
- https://www.9news.com.au/national/2018/08/31/10/51/push-for-chelsea-manning-ban-rethink
ที่มาภาพ: REUTERS/Axel Schmidt
Tags: WikiLeaks, นิวซีแลนด์, เสรีภาพ, ออสเตรเลีย, วิกิลีกส์, เชลซี แมนนิง